เรื่องเด่น พระโอวาท-คติธรรม สมเด็จพระสังฆราช พระโอวาท – ความเสียสละจัดเป็นคุณธรรม

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 31 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b8b2e0b897-e0b884e0b895e0b8b4e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888e0b89e.jpg

    พระโอวาท – ความเสียสละจัดเป็นคุณธรรมสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในสังคมทุกระดับ นอกจากจาคะจะหมายถึงการสละสิ่งของ และความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังหมายรวมถึงการสละละกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายให้ได้อีกด้วย

    ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2562 กองบรรณาธิการข่าวสด ได้น้อมนำพระโอวาท “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ประทานไว้ในวาระสำคัญ เป็นข้อคิด คติธรรม ที่จะช่วยเป็นเครื่องเตือนใจในการใช้ชีวิตอย่างมีสติสืบไป ดังนี้

    วันอังคารที่ 27 ก.พ. 2561

    b2e0b897-e0b884e0b895e0b8b4e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888e0b89e-1.jpg

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระสัมโมทนียกถา ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลและถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และทรงนำเจริญจิตตภาวนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา พุทธศักราช 2561 ที่พุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

    “ท่านทั้งหลายมาพรั่งพร้อมกันในวันนี้ เพราะมีคุณธรรมสำคัญร่วมกันประการหนึ่ง คือความกตัญญูกตเวที

    กตัญญูกตเวทีเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีงาม หมายถึง การระลึกถึงคุณความดีที่บุคคลอื่นทำกับตน แล้วจึงตอบแทนคุณ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนไว้ว่า มีบุคคลสองจำพวกที่หาได้ยาก กล่าวคือ ‘บุพการี’ ผู้กระทำคุณให้แก่ผู้อื่นก่อน 1 และ ‘กตัญญูกตเวที’ ผู้รู้คุณและสนองคุณท่าน 1 ที่ว่าหาได้ยากเพราะเหตุใด?

    ก็เพราะบุคคลย่อมถูกตัณหา ความติดข้องเข้าครอบงำ ส่วนใหญ่การที่สัตว์โลกช่วยเหลือใครต่อใครก่อน ก็เป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์ ต้องการได้รับสิ่งตอบแทนจึงทำ หรือต้องการเป็นที่รัก ต้องการคำสรรเสริญจึงทำ เช่นนี้ชื่อว่าถูกตัณหาครอบงำ การช่วยเหลือในลักษณะนั้น ไม่ชื่อว่าบุพการี

    ซ้ำร้ายบางคนก็ยังไม่คิดช่วยเหลือผู้อื่นเลย เพราะความรักตนเอง ไม่อยากให้ตนเองเหนื่อย ไม่อยากเดือดร้อน จึงไม่ช่วยอะไรใคร ดังนั้น การช่วยเหลือผู้อื่นก่อนด้วยกุศลจิตจึงหาได้ยาก บุพการีบุคคลจึงหาได้ยาก

    ส่วนที่ว่ากตัญญูกตเวทีหาได้ยากนั้น เพราะเหตุใด?

    b2e0b897-e0b884e0b895e0b8b4e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888e0b89e-2.jpg

    ก็เพราะถูกอวิชชาความไม่รู้เข้าครอบงำ สัตว์โลกโดยมากเต็มไปด้วยความไม่รู้ ผู้ที่รู้คุณท่านและสนองคุณท่านย่อมที่จะคิดถูก เพราะมีปัญญาเข้าใจถูกว่าท่านเป็นผู้มีคุณ ควรสนองคุณ เพราะฉะนั้น สัตว์โลกที่รู้คุณและทำคุณตอบแทนผู้มีคุณย่อมมีน้อย เมื่อเทียบกับสัตว์โลกทั้งหมดที่มีความไม่รู้ครอบงำ กตัญญูกตเวทีบุคคลจึงหาได้ยาก

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการีของสัตว์โลก ทรงเป็นบุพการีของเหล่าพุทธบริษัท ทรงชี้ทางแห่งความถูกต้องดีงามให้อย่างไม่เลือกหน้า โดยไม่ทรงปรารถนาสิ่งใดตอบแทน

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเป็นบุพการีของชาวไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อความสุขความเจริญของพสกนิกร โดยไม่ทรงปรารถนาสิ่งใดตอบแทน

    อาตมาจึงขอฝากข้อคิดเป็นคำถามไว้ว่า ชาวพุทธและชาวไทยในทุกวันนี้ เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีแล้วหรือยัง?

    หากท่านทั้งหลายมีใจจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขอจงประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ทำหน้าที่ของตนๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

    หากทำได้เช่นนั้น ท่านทั้งหลายย่อมได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวที เป็นบุคคลที่หาได้ยาก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ”

    b2e0b897-e0b884e0b895e0b8b4e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888e0b89e-3.jpg

    วันพุธที่ 14 มีนาคม 2561

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท ในพิธีประทานประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561

    ที่หอประชุมพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

    “สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ ๑ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๑ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นเครื่องหมายแห่งพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ควรที่ท่านเจ้าอาวาสตลอดจนชาววัดทั้งหลาย ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศนี้ จักได้ถวายอนุโมทนาและถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

    ขอเน้นย้ำต่อท่านพระสังฆาธิการและเจ้าอาวาสทั้งหลาย เหมือนเช่นที่เคยกล่าวไว้ในพิธีเช่นนี้เมื่อปีที่แล้ว ถึงพระราโชบายที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางการดำเนินงานของคณะสงฆ์ ว่า ‘พัฒนาความรู้และคุณภาพพระสงฆ์ ให้เป็นหลักทางใจของประชาชน ให้พระมีความสำนึกและเป็นประโยชน์ในสังคมไทย’

    พระราโชบายนี้เป็นคติเตือนใจที่สำคัญมาก เพราะสอดคล้องกับธรรมะในพระพุทธศาสนาที่เน้นย้ำให้บุคคลถึงพร้อมด้วยการบำเพ็ญ ‘ประโยชน์’ อันเป็นจุดหมายของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ‘อัตถะ’ จำแนกได้ 3 อย่าง กล่าวคือ 1.อัตตัตถะ ประโยชน์ตน 2.ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่นและ 3.อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย หรือประโยชน์ร่วมกัน

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านพระสังฆาธิการและเจ้าอาวาส ทุกรูป จักมีปณิธานร่วมกันกับคณะสงฆ์ ในอันที่จะสนอง พระราโชบายนี้ ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม พากเพียรพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ หนักแน่นมั่นคงในพระธรรมวินัย กฎหมาย และจริยาของเจ้าอาวาส ปกครองดูแลบรรพชิตและคฤหัสถ์ในอาณัติ ให้สมัครสมานสามัคคี และครองตนอยู่ในพระธรรมวินัย และกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด

    พร้อมกันนั้นก็ให้รู้จักเกื้อกูลประโยชน์ชุมชนและสังคมส่วนรวม ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ชี้หนทางแห่งสติปัญญา แก่คนภายในปกครองของท่าน และคนทั่วไป ด้วยน้ำใจตั้งมั่นใน พรหมวิหารธรรม มิเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากที่อาจเกิดมีขึ้นได้แก่ตน

    ถ้าทุกท่านทำได้เช่นนี้ ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายย่อมบังเกิดขึ้น วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตลอดจนคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวมก็จักสถิตสถาพร อยู่ท่ามกลางศรัทธาปสาทะของชาวโลกสืบไปตลอดกาลนาน”[​IMG] [​IMG]

    วันพุธที่ 11 เมษายน 2561

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท ในการบำเพ็ญกุศล 20 ปีศาลรัฐธรรมนูญ และทรงชุบน้ำพระพุทธมนต์ชำระแววพระเนตรพระพุทธรูปประจำสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ทรงเป็นประธาน

    “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้บุคคล โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีหน้าที่ปกครอง และผู้มีหน้าที่ตัดสินอรรถคดี ต้องมีธรรมะที่เรียกว่า ‘พรหมวิหารธรรม’ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็น ‘ธรรมนูญ’ แห่งชีวิตและการทำงานเสมอ

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายและการปกครองบ้านเมือง ธรรมะประการสุดท้ายในพรหมวิหารธรรมคือ ‘อุเบกขาธรรม’ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด อย่างไรก็ตาม ผู้คนทั้งหลายอาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับความหมายของอุเบกขาที่ถูกต้อง

    คำว่า ‘อุเบกขา’ นั้น คนไทยมักแปลกันว่า วางเฉย แล้วก็เลยทำให้พลอยเข้าใจไปว่าหมายถึง ความเฉยเมย หรือเมินเฉย จนเข้าข่ายการวางเฉยเพราะความไม่รู้ ซึ่งจัดเป็นบาปเป็นอกุศล

    อันที่จริง อุเบกขาที่เป็นธรรมะในพรหมวิหารธรรม ต้องเป็นการวางเฉยเพราะความรู้ มีใจอันสงบนิ่งอยู่ด้วยปัญญา จัดเป็นธรรมฝ่ายกุศล คนที่นิ่งด้วยปัญญา ย่อมมีความพร้อมที่จะรักษาธรรมะ คือความถูกต้องไว้ได้

    ตุลาการหรือผู้ทำงานด้านกฎหมายจึงต้องมีอุเบกขา เป็นหลักดำรงตนที่สำคัญที่สุด เพราะอุเบกขานี้เอง ที่จะเป็นตัวควบคุม ไม่ให้ความรู้สึกรัก รู้สึกชัง หรือรู้สึกกลัว เข้ามาครอบงำ จนมีใจสะทกสะท้านและเอนเอียงไป

    นักกฎหมายต้องให้ ‘ปัญญา’ ทำหน้าที่เฉลยความไปตามที่เป็นจริง สภาวะเช่นนี้คือการครองอุเบกขาธรรมไว้ได้อย่างถูกต้อง และสภาวะเช่นนี้เองที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรม’

    ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเช่นท่านทั้งหลาย จำเป็นต้องมีพรหมวิหารธรรมอย่างครบชุด แต่ต้องให้อุเบกขาธรรมเข้ากำกับอยู่ทุกขณะ อย่าเผลออ้างความเมตตา กรุณา หรือมุทิตา ทั้งๆ ที่มี ‘อคติ’ เข้าครอบงำ ถ้าอคติเข้าครอบงำเมื่อไร เมื่อนั้นแปลว่ากำลังเสียอุเบกขา คือความเป็นกลางไป

    เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงขอฝากให้ทุกท่านไปศึกษาทบทวนธรรมะข้อ ‘อุเบกขา’ ให้กระจ่างและถี่ถ้วน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นหลักประกันความยุติธรรมของสังคมไทยสืบไป”

    วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2561

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท ให้ ผอ.โรงเรียนวัดราชบพิธ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยคณะครูและบุคลากร นำนักเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ของโรงเรียน เฝ้ารับประทานพร ในโอกาสเปิดภาคการศึกษา

    “มาเรียนหนังสือ ไม่ใช่เล่นหนังสือ อย่าลืมว่าตนเป็นนักเรียน มีหน้าที่หลักคือเรียนจนจบหลักสูตร จึงขอบิณฑบาตความ ขี้เกียจ อย่าให้มีความเกียจคร้าน เพื่อจักได้ประสบความสำเร็จ”

    วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2561

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท คณะนักกีฬาทีมชาติและ เจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่หน้าพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

    “ในโอกาสที่ท่านจะเดินทางไปเผยแผ่เกียรติภูมิของชาติไทย ด้วยการแข่งขันกีฬา อาตมภาพขอฝากพระพุทธภาษิตเป็นข้อคิด ให้ท่านถือเป็นคติประจำใจไว้ว่า ‘อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย’ แปลความว่า ‘ชนะตนนั่นแลดีกว่า’

    นักกีฬาทุกคนกว่าจะได้เข้าร่วมอยู่ในทีมชาติ และกว่าจะได้ผ่านเข้าสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ ย่อมต้องฝึกฝนซักซ้อมมาอย่างหนัก นั่นหมายความว่าทุกคนต่างก็เป็นผู้ชนะตนเองมาแล้วในระดับหนึ่ง คือเอาชนะความอ่อนแอ ความเกียจคร้าน ความไม่มีวินัย ซึ่งล้วนเกิดจากกิเลสในใจตนเอง

    เมื่อนักกีฬาสามารถเอาชนะตนเองได้สำเร็จ จึงสามารถก้าวออกไปชิงชัยกับนักกีฬาของชาติอื่นๆ ได้ ดังที่ท่านกำลังจะออกไปทำหน้าที่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

    การกีฬาย่อมมีชนะ มีเสมอ มีแพ้ เป็นธรรมดา เมื่อชนะก็ดีใจ เมื่อเสมอก็อาจจะเฉยๆ เมื่อแพ้ก็เสียใจ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นของชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดกาล หากแต่นักกีฬาทุกคน พึงทำตนเป็นผู้ชนะอยู่ตลอดกาลด้วยการเอาชนะใจตนเอง พึงฝึกฝนให้สามารถควบคุมกำกับตนเองให้ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงามทั้งกาย วาจา และใจ อยู่ตลอดเวลา

    ขอจงมีสำนึกอยู่ทุกขณะจิตว่าเรามีธงไตรรงค์ผนึกอยู่บนอกเสื้อ ทุกคนมีหน้าที่ต้องสำแดงเกียรติยศในนามของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยการวางตนเป็นคนน่ารักน่าคบหา ให้นานาชาติชื่นชมว่าคนไทยมีน้ำใจเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง การเอาชนะแบบนี้เท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งสันติภาพในภูมิภาคและในโลก

    ครั้นเมื่อชนะใจตนเองแล้ว ก็ย่อมจะสามารถชนะใจผู้อื่น ก่อเกิดมิตรภาพความจริงใจ อันจะนำมาซึ่งสันติสุขทั่วกัน สมเจตนารมณ์ของการแข่งขันกีฬาในหมู่มิตรประเทศดังเช่นกีฬาเอเชียนเกมส์”

    วันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย.2561

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท ในพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี พุทธศักราช 2561 ณ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อ.ศาลายา จ.นครปฐม

    “ทุกท่านที่สำเร็จการศึกษา ล้วนเป็นผู้ทรงศักดิ์ และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตร สมตามภูมิรู้ที่ตนมีจากการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี ปริญญาบัตรนี้จะไม่มีคุณค่าอย่างใดเลย หากท่านไม่นำความรู้ที่ได้อบรมสั่งสมมา ไปใช้เพื่อประโยชน์ของมหาชนทั้งปวง โอกาสนี้ จึงขอเน้นย้ำคุณธรรมสำคัญที่เรียกว่า ‘จาคะ’ คือความเสียสละ ให้บัณฑิตทุกท่านยึดถือเป็นอุดมการณ์ของการดำเนินชีวิต

    ความเสียสละเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเสียสละแบ่งปันให้แก่กัน ไม่คับแคบ ไม่เห็นแก่ตัว ย่อมเป็นคุณธรรมเครื่องผูกมิตรไมตรี ยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ความเสียสละจึงจัดเป็นคุณธรรมสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในสังคมทุกระดับ นอกจากจาคะจะหมายถึงการสละสิ่งของ และความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังหมายรวมถึงการสละละกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายให้ได้อีกด้วย บุคคลผู้เพิ่มพูนความเสียสละอยู่เป็นนิตย์ ย่อมสามารถละความโลภ ความโกรธ และความหลง ให้เบาบางจางหายไปจากจิตใจ จนสามารถเข้าถึงความสุขอย่างยิ่งได้ในเบื้องปลาย

    หากบัณฑิตทั้งหลายสามารถปฏิบัติตนตามพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘จาคมนุพฺรูเหยฺย’ ซึ่งแปลว่า ‘พึงเพิ่มพูนความเสียสละ’ ให้ได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ความเสียสละ ย่อมนำไปสู่ความละคลายจากต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง การสละอันนำไปสู่การละนี้เอง คือการได้มาซึ่งความซาบซึ้งในรสแห่งอมตธรรม หาใช่การสูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น ความ ‘เสียสละ’ ที่ถูกต้องแท้จริงนั้น จึงเสมอด้วยการ ‘ละ’ อัตตาตัวตนให้เบาบางลง จนหมดสิ้นไป อันนับเป็นกิจสูงสุดแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนา หากบัณฑิตมีอุดมการณ์แห่งชีวิตอันสอดคล้องกับพระพุทธานุศาสนีเช่นนี้ ความสุขความเจริญ ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ย่อมเป็นที่หวังได้โดยแท้”

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.khaosod.co.th/amulets/news_2004678
     

แชร์หน้านี้

Loading...