พระไตรปิฎกฉบับสากล จากสถาบันศาลไทย สู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 17 ธันวาคม 2007.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    พระไตรปิฎกฉบับสากล จากสถาบันศาลไทย สู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

    โดย พันตรี สุรธัช บุนนาค กองกฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า



    เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา

    และในเดือนธันวาคมศกนี้กำลังจะมีการพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่ศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทย

    จึงสมควรได้มีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระบบกฎหมายไทยและพระไตรปิฎก ดังนี้

    กฎหมายและพระไตรปิฎก

    ในปี พ.ศ.2548 พระไตรปิฎกบาฬีฉบับสากล (Mahasangiti Tipitaka Buddhavasse 2500 : World Tipitaka Edition in Ronan Script) ได้จัดพิมพ์ขึ้นสำเร็จเป็นอักษรโรมันเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทย รวม 40 เล่ม โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์

    ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของความพยายามกว่า 50 ปี ในการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากลหลังจากที่มีการประชุมสังคายนาระดับนานาชาติ เมื่อ พ.ศ.2500

    นอกจากการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในปี พ.ศ.2548 แล้ว ปีดังกล่าวยังเป็นปีที่ประมวลกฎหมายตราสามดวงในรัชกาลที่ 1 มีอายุครบ 200 ปี ซึ่งได้มีงานวิจัยสำคัญ เรื่อง "กฎหมายตราสามดวง : ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก" ด้วย

    ประเด็นสำคัญต่างๆ ของเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาจสรุปเป็นสามประการ คือ

    ประการแรก หลักการสูงสุดของระบบกฎหมายไทยมีชำระต่อเนื่องจากการสังคายนาพระไตรปิฎก

    ประการที่สอง พัฒนาการของกฎหมายไทยที่ได้บูรณาการกับพระไตรปิฎกก่อให้เกิดความมั่นคงในการปกครอง

    ประการที่สาม ความต่อเนื่องของหลักธัมม์กับวัฒนธรรมกฎหมายไทยมีผลโดยตรงต่อความสงบสุขของสังคมและความมั่นคงของชาติในปัจจุบันด้วย

    ประการแรก

    กฎหมายไทยมีความสัมพันธ์

    กับการสังคายนาพระไตรปิฎกบาฬี

    พระธัมมศาสตร์ ที่ยอมรับแต่บรรพกาลว่าสืบทอดมาจากหลักกฎหมายธรรมชาติที่เป็นสากล (Natural Law) เป็นแหล่งกำเนิดของกฎหมายไทยโบราณ

    ในเนื้อหาคัมภีร์พระธัมมศาสตร์ปรากฏการใช้ศัพท์ภาษาบาฬีอันเป็นภาษาเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ซึ่งเป็นภาษาในพระพุทธศาสนาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎกบาฬีเช่นกัน

    นอกจากนี้ พื้นฐานโครงสร้างในพระธัมมศาสตร์ก็ล้วนเป็นหลักการสำคัญที่นำมาจากพระไตรปิฎกบาฬีทั้งสิ้น

    อาทิ อริยสัจ 4 (คัมภีร์มหาวัคค์ วินัยปิฎก) พุทธคุณ (ธชัคคสูตร สุตตันตปิฎก) และกำเนิดพระพุทธเจ้า (คัมภีร์พุทธวงศ์ สุตตันตปิฎก) เป็นต้น

    ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับพระไตรปิฎกชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกบาฬีทันทีที่ได้ทรงสถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีแห่งใหม่

    การตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งนั้นได้จัดทำสำเร็จในปี พ.ศ.2331 จากนั้นจึงโปรดให้ชำระกฎหมายไทยโบราณและตรากฎหมายตราสามดวงขึ้นในปี พ.ศ.2348

    ดังนั้น การวางรากฐานระบบกฎหมายไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จึงเริ่มจากหลักธัมม์สากลในพระไตรปิฎกบาฬีไปสู่หลักพระธัมมศาสตร์ของสังคมและกฎหมายไทยเป็นลำดับ

    ประการที่สอง

    กฎหมายไทยมีพัฒนาการด้านบูรณาการ

    กับพระไตรปิฎก

    ในด้านพัฒนาการและบูรณาการกฎหมายกับพระไตรปิฎก เห็นได้จากอิทธิพลของวัฒนธรรมพระไตรปิฎกในพระราชนิติศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญ คือ กฎมณเฑียรบาล พระอัยการพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง เป็นต้น

    โดยเฉพาะกฎมณเฑียรบาลในการสืบราชสันตติวงศ์นั้นเป็นการบูรณาการพระไตรปิฎกกับกฎหมาย และราชประเพณีเพื่อความยืนยาวของสถาบันพระมหากษัตริย์

    ในสมัยราชาธิปไตยพระมหากษัตริย์จึงทรงใช้อำนาจตุลาการสูงสุด โดยยึดหลัก "ทศพิธราชธัมม์" แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ธัมมะ พระราชา และความยุติธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    ความเป็นหนึ่งระหว่างธัมมะและความยุติธรรมยังเห็นได้จากประสิทธิผลในทางกฎหมายเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในทางธัมมะ เช่น โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก และทรงยกย่องคณะสงฆ์ผู้อยู่ในสถาบันพระไตรปิฎก

    แต่เมื่อมีบุคคลในสถาบันประพฤติผิด พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นตุลาการวินิจฉัยคดีด้วยพระองค์เอง และจะทรงลงโทษอย่างเด็ดขาด

    เช่นในกรณีพระสงฆ์ระดับสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปผู้ทรงอิทธิพลต้องอาบัติปาราชิกในรัชกาลที่ 1 ก็ลงราชทัณฑ์ ถูกจับสึกและลงโทษไม่มีเว้น

    ตัวอย่างนี้ย่อมทำให้สังคมยำเกรงและปฏิบัติตามพระธัมมวินัยโดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

    ทำให้เห็นว่ากฎหมายมิได้มีอยู่แต่ในตู้และธัมมะก็มิได้มีอยู่แต่ในความคิดเพียงอย่างเดียว

    ปัจจุบันนักนิติศาสตร์ระดับนานาชาติล้วนให้ความสำคัญว่า การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) เป็นปัจจัยหลักของความสงบสุขแห่งนิติรัฐ ซึ่งผู้นำที่มีธัมมะอย่างแท้จริงต้องมีความเด็ดขาดด้วย

    ประการที่สาม

    วัฒนธรรมทางกฎหมาย

    และการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก

    การวิจัยของ สกว. ได้พบว่ากฎหมายตราสามดวงในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นหลักสำคัญของความสงบสุขและความมั่นคงจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

    แต่ที่ควรศึกษาต่อไปคือผลต่อเนื่องสำคัญของวัฒนธรรมพระไตรปิฎกและกฎหมายตราสามดวงรัชกาลที่ 1 ที่ได้มีบูรณาการเพิ่มขึ้นอีกในรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบกฎหมายครั้งสำคัญของชาติไทย ใน ร.ศ.100 หรือ 100 ปี แห่งการสร้างกรุงเทพมหานคร โดยทรงสถาปนาศาลฎีกาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2425 และในทางพระพุทธศาสนาก็โปรดให้พิมพ์พระไตรปิฎกบาฬีอักษรสยาม เป็นชุดหนังสือ 39 เล่ม เป็นครั้งแรกของชาติด้วย

    ดังนั้น การปฏิรูปรากฐานของประเทศด้วยการสร้างสถาบันศาลฎีกาพร้อมกับการตรวจชำระและพิมพ์พระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาจึงเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติที่สำคัญยิ่งในยุคนั้น

    เพราะพระธัมมวินัยของสงฆ์คือรากฐานของศีลธัมม์และจริยธัมม์ในการปกครองและระบบกฎหมายในสังคม การพิมพ์จัดพระไตรปิฎก ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) อักษรสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นโครงการใหญ่ของชาติที่เปลี่ยนจากการใช้มือจารอักษรขอมบน 50,000 ใบลาน และใช้เครื่องจักรตีพิมพ์ด้วยอักษรสยามและเย็บเป็นหนังสือ 39 เล่ม จึงเป็นผลงานทางภูมิปัญญาของชาติไทย

    ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นพระไตรปิฎก ร.ศ.112 เป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาฬีชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาโลก

    การพระราชทานพระไตรปิฎก

    จากฉบับอักษรสยามในอดีต

    สู่อักษรโรมันในปัจจุบัน

    ใ นปี พ.ศ.2436 หรือ ร.ศ.112 เป็นปีที่พระไตรปิฎกอักษรสยามได้ตีพิมพ์สำเร็จ และเป็นปีซึ่งกรุงสยามผ่านพ้นวิกฤตการณ์ข้อพิพาทร้ายแรงจากมหาอำนาจตะวันตกด้วยการเจรจาทางการทูตอย่างสันติ

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามไปทั่วกรุงสยามเนื่องในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี และต่อมายังได้พระราชทานไปยังสถาบันสำคัญในนานาประเทศด้วย ซึ่งมีจำนวน 260 สถาบันใน 30 ประเทศทั่วโลก

    การพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามเป็นพระธัมมทานแก่โลกจึงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในทางธัมม์ด้วย

    คือ เป็นบุญกิริยาเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ไทย และยังเป็นการแสดงความมั่นคงแห่งสยามประเทศที่สามารถธำรงความเป็นไทและพระพุทธศาสนาด้วย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียล้วนถูกรุกรานและตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจตะวันตก

    ด้วยเหตุนี้ในวาระ 12 ปี การพิมพ์พระไตรปิฎก ร.ศ.112 อักษรสยาม ในปี พ.ศ.2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประธานกิตติมศักดิ์ การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกในนานาประเทศ ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช และกุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในปัจจุบัน

    จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยามแก่โลกอีกวาระหนึ่ง

    พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน

    ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

    พ.ศ.2550

    ในปี พ.ศ.2550 บรรดาผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันในประเทศไทย มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเป็นผู้นำในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน (Pali Tipitaka 2005) ชุด 40 เล่ม พร้อมด้วยหนังสือพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง (Tipitaka Studies Reference 2007) ชุด 40 เล่ม รวมเป็น 80 เล่ม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระดับนานาชาติในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

    อันเป็นการจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลการพิมพ์ระบบสีที่ทันสมัย

    ซึ่งสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอัญเชิญพระไตรปิฎกและหนังสืออ้างอิงชุดดังกล่าวไปมอบเป็นพระธัมมทานแก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในประเทศเนเธอร์แลนด์

    ซึ่งเป็นประเทศที่พระปิยมหาราชได้พระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามแก่สถาบันสำคัญต่างๆ ไม่น้อยกว่า 6 สถาบัน เป็นเวลากว่าหนึ่ง

    ศตวรรษมาแล้ว

    จากสถาบันศาลไทย

    สู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

    การพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันแก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ.2550 จึงมีความหมายที่สมควรยินดีและอนุโมทนานานัปการ

    เพราะนอกจากจะเป็นวาระแห่งการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์พุทธมามกะไทยที่ทรงพระชนมพรรษายืนยาวแล้วยังเป็นการประดิษฐานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน ณ สถาบันสำคัญในวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งการสร้างสถาบันศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศด้วย

    ซึ่งปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสถาบันหนึ่งในสหประชาชาติที่มีความเป็นกลางและมีประสิทธิภาพในการยุติข้อพิพาทระหว่างชาติ โดยได้รับความยอมรับนับถือในคำพิพากษาว่าเป็นที่สุดและเป็นสากล

    นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังได้รับขนานนามว่าเป็นพระราชวังแห่งสันติภาพ (Peace Palace) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพของมูลนิธิคาเนกี้ซึ่งมีชื่อเสียงของโลกด้วย

    ดังนั้น การพระราชทานพระไตรปิฎกจากประเทศไทยในฐานะคลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติที่ได้สืบทอดมาในวัฒนธรรมตะวันออกเป็นเวลากว่าพันปีๆ ย่อมเสริมสร้างปัญญาและเหตุผลแห่งความมั่นคงในสถาบันตุลาการและศาลยุติธรรมของโลกแห่งนี้ยิ่งขึ้น

    เพราะประมวลกฎหมายอันเป็น "ฐานความรู้" (Knowledge base) ต้องใช้ควบคู่กับหลักธัมม์ใน "ฐานปัญญา" (Wisdom base) ดังปรากฏในผลการวิจัยของประวัติศาสตร์กฎหมายไทยที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า หลักธัมม์สากลที่บูรณาการกับกฎหมายของชาติย่อมสามารถนำมาซึ่งความมั่นคงและสันติสุขได้

    ดังนั้น หลักแห่งสันติสุขในพระไตรปิฎกของชาวตะวันออกย่อมเป็นประโยชน์ต่อการปกครองในระบบรัฐธรรมนูญของโลกตะวันตกด้วย

    เพราะแม้ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นที่นิยมแพร่หลายแต่ก็เป็นเพียงระบบหนึ่งของฐานความรู้ในระบอบการปกครองที่มีอายุเพียงสองร้อยกว่าปีเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามิได้เป็นเครื่องประกันสันติภาพในทางการเมืองระหว่างประเทศเสมอไป

    นอกจากนี้ แนวคิดในทางรัฐธรรมนูญของโลกตะวันตกก็มิได้เป็นหลักประกันคุณภาพของกลไกในการปกครองของทุกประเทศในโลก ด้วยเหตุนี้หลักธัมม์สากล อาทิ เจตนา ศีล และกฎแห่งกรรม ซึ่งมีบันทึกในพระไตรปิฎกนับพันๆ ปี จึงมีศักยภาพของสัจธัมม์ที่เหนือกว่าในฐานะเป็น "ฐานปัญญา" คือเป็นหลักธรรมชาติที่สถาบันในโลกสากลที่สามารถบูรณาการกับสันติภาพให้เกิดสันติสุขในสังคมด้วย

    ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สถาบันสำคัญที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยคณะตุลาการจากศาลฎีกา ซึ่งเป็นสถาบันศาลสถิตยุติธรรมที่ประชาชนยอมรับนับถือและยำเกรง สามารถใช้อำนาจตุลาการระงับข้อพิพาทอย่างเด็ดขาดในทางนิติรัฐอย่างชัดเจนในเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ที่ผ่านมา จึงเป็นการวินิจฉัยและตัดสินคดีที่ก่อให้เกิดสันติและทั้งทางโลกและทางธัมม์อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

    การประดิษฐานพระไตรปิฎกสากล ณ ศาลฎีกาแห่งราชอาณาไทย สถาบันตุลาการสูงสุดของชาติซึ่งได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวัฒนธรรมพระไตรปิฎกมาแต่บรรพกาล ย่อมเป็นนิมิตหมายแห่งความมั่นคงและสันติสุขอันยั่งยืนของประชาชนชาวไทยในปัจจุบันและอนาคต

    -----------
    ที่มา:มติชน
    http://matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01171250&day=2007-12-17&sectionid=0130
     

แชร์หน้านี้

Loading...