พลิกโฉม’ท่าเรืออัจฉริยะ’รับเปิดประเทศ ‘แลนด์มาร์กใหม่’บูมท่องเที่ยวทางน้ำ ‘เจ้าพระยา

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 13 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b8a1e0b897e0b988e0b8b2e0b980e0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8ade0b8b1e0b888e0b889e0b8a3e0b8b4e0b8a2e0b8b0.jpg
    ท่ากรมเจ้าท่า

    เมื่อเศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ ทำให้รัฐบาลต้องจำใจเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ปลุกมู้ดเศรษฐกิจที่ฟุบทั้งระบบให้ไปต่อท่ามกลางวิกฤตถาโถม ในเมื่อ ท่องเที่ยว คือ หัวใจปั๊มรายได้เข้าประเทศ

    แม้ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ยังทะยานรายวัน จากหลักพัน ใกล้แตะหลักหมื่น จน รัฐบาล คุมไม่อยู่ ต้องประกาศ ล็อกดาวน์ 10 จังหวัดเสี่ยง

    ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส และยะลา เป็นระยะเวลา 14 วัน เดิมพันการเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน ที่กำลังใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ

    ตามโรดแมปของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2564 นำร่อง 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เชียงใหม่ หัวหิน ชะอำ บุรีรัมย์ และกรุงเทพมหานคร ก่อนเปิดทั้งประเทศในไตรมาส 1 ปี 2565 เพื่อรีสตาร์ตธุรกิจ

    b8a1e0b897e0b988e0b8b2e0b980e0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8ade0b8b1e0b888e0b889e0b8a3e0b8b4e0b8a2e0b8b0-1.jpg
    ท่าราชินี

    หลังเปิด เกาะภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ วันที่ 15 กรกฎาคม เปิดพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้ “สมุย พลัส โมเดล”

    ในเดือนกันยายนไปปักหมุดที่ เชียงใหม่-ชลบุรี ต่อด้วย บุรีรัมย์ ต้นเดือนตุลาคมรับการแข่งขันโมโตจีพี ขณะที่ กรุงเทพมหานคร-ชะอำ-หัวหิน จะเป็นพื้นที่ปิดท้ายของปีนี้

    แต่ยังต้องติดตามเมื่อสถิติการติดเชื้อยังไม่ทุเลา รัฐบาลจะเขย่า สลับสับเปลี่ยนพื้นที่จังหวัดอีกหรือไม่

    เอกชนโหมลงทุน‘สร้างแลนด์มาร์ก-จุดขาย’

    ลัดเลาะเส้นทางท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร นอกจากแหล่งโบราณสถานแล้ว แหล่งท่องเที่ยว ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติถูกใจ

    หลายปีที่ผ่านมามีเอกชนลงทุนโรงแรม คอนโดมิเนียม และโครงการมิกซ์ยูสกระจายสองฝั่งเจ้าพระยา ปั้นเป็น แลนด์มาร์ก ดึงดูดนักท่องเที่ยว

    b8a1e0b897e0b988e0b8b2e0b980e0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8ade0b8b1e0b888e0b889e0b8a3e0b8b4e0b8a2e0b8b0-2.jpg
    วิทยา ยาม่วง

    ไม่ว่าจะเป็น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ของเจ้าสัวเจริญ บนถนนเจริญกรุง นำท่าเรือสินค้าระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรับปรุงตกแต่งสไตล์โคโลเนียล หลังเปิดบริการปี 2555 ล่าสุดจะขยายพื้นที่ด้านข้างและอีกฝั่งถนน พัฒนามิกซ์ยูส มีโรงแรม รีเทล จุดชมวิว เตรียมขึ้น เอเชียทีค 2 ฝั่งตรงข้ามบนถนนเจริญนคร

    จากนั้นมี ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญนคร โปรเจ็กต์มิกซ์ยูสเป็นการร่วมทุนระหว่าง แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ของตระกูลเจียรวนนท์ กับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ร่วมกันพัฒนามาพร้อมความสะดวกสบายการเดินทางทั้งท่าเรือและรถไฟฟ้าสายสีทอง รวมถึงพื้นที่ ริเวอร์พาร์ค ทางเดินริมแม่น้ำ ลานจัดกิจกรรม ความยาว 500 เมตร ให้คนได้พักผ่อนสูดโอโซนริมน้ำ

    ยังมี ตระกูลหวั่งหลี พลิกฟื้นท่าเรือเก่า ฮวย จุ่ง ล้ง ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไทย-จีน ภายใต้ชื่อ “ล้ง 1919”

    ก่อนหน้านั้นมี เดอะ มหาราช ของ ตระกูลพิชัยรณรงค์สงครามเจ้าของเรือด่วนเจ้าพระยา ที่เนรมิต ท่ามหาราช เป็นคอมมูนิตี้สุดชิคริมเจ้าพระยา

    และ ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ก คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์โคโลเนียลใกล้ปากคลองตลาด

    ในปี 2568 เตรียมพบแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในโครงการ โรงภาษีร้อยชักสาม ของกลุ่มบีทีเอส

    ที่บูรณะอาคารเก่าแก่สุดคลาสสิกและพัฒนาอาคารใหม่ในสไตลต์โมเดิร์นผสมผสานสถาปัตยกรรมกรุงเก่า นอกจากมีโรงแรมหรูแล้ว ยังมีมอลล์ให้
    ช้อปปิ้ง และท่าเรือไว้บริการด้วย

    เมื่อแหล่งท่องเที่ยวผุดขึ้นมากมาย กรมเจ้าท่า ต้องปรับปรุงท่าเรือใหม่ให้พร้อมรับเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

    b8a1e0b897e0b988e0b8b2e0b980e0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8ade0b8b1e0b888e0b889e0b8a3e0b8b4e0b8a2e0b8b0-3.jpg
    ท่าเกียกกาย

    พลิกโฉม 29 ท่าเรือเป็น Smart Pier

    “เรากำลังปรับปรุงท่าเรือโดยสารที่ดูแล ตั้งใจอยู่แล้วว่า ถ้าเปิดประเทศเมื่อไหร่ เราพร้อมรับนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวทางน้ำ ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา อันดามัน อ่าวไทย” เป็นคำมั่นสัญญาจาก วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)

    พร้อมเปิดแผนงานจะพัฒนาท่าเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา 29 ท่าเรือให้เป็นสถานีเรือใช้งบประมาณกว่า 992 ล้านบาท เริ่มปรับปรุงตั้งแต่ปี 2562 จะแล้วเสร็จในปี 2567 มี 3 ท่าเรือที่เสร็จแล้ว ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่าน้ำนนทบุรี

    อยู่ระหว่างก่อสร้าง 8 ท่า ได้แก่ ท่าช้าง ท่าเตียน ท่าราชินี ท่าสาทร ส่วนท่าพระราม 7 ท่าพายัพ ท่าเกียกกาย ท่าบางโพ จะแล้วเสร็จในปี 2565

    จะเริ่มปรับปรุงในปี 2565-2566 มีท่าราชวงศ์ ท่าสี่พระยา ท่าพระปิ่นเกล้า ท่าพระราม 5 ท่าเขียวไข่กา ท่าสะพานกรุงธน ท่าพรานนก ท่าเทเวศร์

    “ภาพท่าเรือโทรมๆ ท่าเทียบเรือเก่าๆ โป๊ะเล็กๆ จะหมดไป ทุกท่าจะเปลี่ยนโฉมหมด เป็นมากกว่าท่าเรือ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ใครๆ ก็มาใช้บริการได้ ให้เป็น Smart Pier หรือท่าเรืออัจฉริยะ มีห้องน้ำทุกแห่ง ติดตั้งป้ายบอกทาง ติดระบบซอฟต์แวร์ ระบบบริการ เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ ป้ายแจ้งเวลาเรือเข้าเทียบท่า ตรวจสอบเส้นทาง ตารางเรือ”

    b8a1e0b897e0b988e0b8b2e0b980e0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8ade0b8b1e0b888e0b889e0b8a3e0b8b4e0b8a2e0b8b0-4.jpg
    ท่าบางโพ

    ปีนี้อวดโฉมใหม่‘ท่าช้าง-ท่าเตียน-ท่าราชินี’

    “ท่าเรือด้วยโลเกชั่นสวยอยู่แล้ว แต่ละสถานีจะมีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ในปีนี้จะอวดโฉมใหม่ที่ท่าช้าง ท่าเตียน ท่าราชินี ตามแผนจะกรกฎาคมจะสร้างเสร็จและเปิดใช้สิงหาคมนี้ แต่ติดโควิดปิดไซต์ก่อสร้าง ล่าช้า น่าจะเปิดได้ไม่เกินธันวาคมนี้”

    ส่วนที่เหลือ วิทยา แย้มว่า จะเร่งเปิดให้เร็วขึ้นเป็นปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 เพราะบางแห่งได้ความร่วมมือกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ช่วยกรมพัฒนาท่าเรือพระปิ่นเกล้า ยังร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พัฒนาท่าเรือพระราม 5และท่าเรือพระราม 7 ส่วนท่าเรือพระนั่งเกล้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พัฒนาให้และเปิดให้บริการแล้วจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่

    “ทุกท่าเรือจะเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวริมเจ้าพระยาตั้งแต่นนทบุรีถึงกรุงเทพฯ เช่น ย่านเมืองใหม่มีเอเชียทีค ท่าสาทร ไอคอนสยาม ร้อยชักสาม ตึกCAT ย่านเมืองเก่าจะเป็นท่าเรือกรมเจ้าท่า ปากคลองสาน ล้ง 1919 ภาณุรังษี ราชวงศ์ อีกช่วงกลุ่มสะพานพุทธ ยอดพิมาน ราชินี วัดกัลยาณมิตร โบสถ์ซางตาครู้ส วัดประยุรวงศาวาส และกลุ่มท่าช้าง ท่าเตียน ท่าศิริราช ท่าวังหลังไปจนถึงท่าพระจันทร์”

    ดีไซน์‘สถาปัตยกรรม-อัตลักษณ์’เฉพาะพื้นที่

    วิทยา ลงลึกรายละเอียดจุดท่องเที่ยวที่อยู่รายรอบ โดยยกตัวอย่าง 10 ท่าเรือ เป็นความภาคภูมิใจของกรมเจ้าท่า

    เริ่มจาก ท่ากรมเจ้าท่า ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพง 1.3 กิโลเมตร ปรับปรุงใหม่ให้สวยงามร่วมสมัย ภายนอกตกแต่งเป็นอัตลักษณ์ สถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานสถาปัตยกรรมโบซาร์ ภายในตกแต่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย โดยรอบมีแหล่งท่องเที่ยวเป็นชุมชนเก่าแก่ย่านตลาดน้อยและสถาปัตยกรรมแบบจีน เช่น โบสถ์กาลหว่าร์ ศาลเจ้าโรงเกือก และบ้านโซวเฮ่งไถ่

    “กรมร่วมกับเอกชนเปิดใช้เป็นท่าเรือข้ามฟาก เสริมการท่องเที่ยวชุมชนย่านฝั่งธนบุรีกับย่านตลาดน้อยฝั่งพระนคร มีท่ากรมเจ้าท่าเป็นศูนย์กลางเชื่อมกับท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) ภาณุรังษี ปากคลองสาน มีคนใช้บริการมาก หลังมีโควิดได้หยุดชั่วคราว”

    ท่าราชวงศ์ อยู่ปลายถนนราชวงศ์เป็นท่าเรือโดยสารและเรือข้ามฟากไปยัง “ท่าเรือดินแดง” จะเชื่อมกับถนนเยาวราช ใกล้สำเพ็ง ไชน่าทาวน์ วัดเกาะ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร

    ท่าสะพานพุทธ อยู่ระหว่างสะพานพุทธยอดฟ้าและสะพานพระปกเกล้า ใกล้พาหุรัด คลองถม โบ๊เบ๊ เยาวราช สวนสาธารณะลอยฟ้าบนเจ้าพระยาวัดราชบุรณราชวรวิหาร โบสถ์ซางตาครู้ส

    ท่าราชินี เป็นจุดต่อเชื่อมการเดินทางเข้าเมือง แหล่งท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร โบสถ์ซางตาครู้ส ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ปากคลองตลาด ภายในมีห้องจัดนิทรรศการ พื้นที่พักคอย ให้สอดคล้องกับโครงการรักษ์คูคลองเดิม

    ท่าวัดโพธิ์ ได้บูรณาการร่วมกับวัดโพธิ์ปรับปรุงท่าเรือใหม่สไตล์ทรงไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ตลาดท่าเตียน วัดโพธิ์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พระราชวังเดิม

    ท่าช้าง เป็นท่าเรือโดยสารและท่าเรือข้ามฟาก ไปยังท่าวังหลัง จัดระเบียบพื้นที่ใหม่ โดยรอบมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมมหาราชวังวัดพระแก้ว ท้องสนามหลวง

    ท่าพระปิ่นเกล้า จะเชื่อมฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เป็นจุดเชื่อมต่อไปโรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิลปากร แหล่งท่องเที่ยว เช่น ป้อมพระสุเมรุ สวนหลวงพระราม 8 วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

    ท่าเกียกกาย แบบปรับปรุงใหม่จะสอดคล้องกับอาคารรัฐสภาใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

    และ ท่าบางโพ อยู่ในย่านเก่าแก่ของถนนสายค้าไม้ เชื่อม 3 รถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สีน้ำเงินบางซื่อ-ท่าพระ และสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่

    ยกเครื่อง 6 ท่าเรือทะเล‘อันดามัน-อ่าวไทย’

    ส่วนท่าเรือชายฝั่งทะเล วิทยา บอกว่า เน้นเมืองท่องเที่ยวทะเลอันดามันและอ่าวไทย รับเปิดประเทศใน 120 วัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวทางน้ำ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาจะได้เห็นท่าเรือโฉมใหม่ทั้งหมด

    ในปีนี้จะแล้วเสร็จมีท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ท่าเรือศาลด่าน จังหวัดกระบี่ ยังมีท่าเรือท้องศาลา และท่าเรือหาดริ้น อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่าเรือปากคลองจิหลาด จังหวัดกระบี่ จะให้เสร็จในปี 2565 และท่าเรือเกาะสมุย จะแล้วเสร็จปลายปี 2566

    ดึงเอกชนลงทุน‘ท่าเรือครุยส์’สร้างรายได้

    กรมยังมีแผนให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (เรือครุยส์) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ผลการศึกษาจะเสร็จในปี 2565 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จหลังปี 2568 จะกระตุ้นการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ และเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

    “เชื่อว่าการท่องเที่ยวทางน้ำจะฟื้นในปี 2565 ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ ถ้าเปิดคนมาเที่ยวแน่นอน ทั้งนักท่องเที่ยว เรือครุยส์ เขาพร้อมมาอยู่แล้ว” วิทยากล่าวด้วยเสียงมั่นใจ

    เป็นอีกความคาดหวัง ท่ามกลางโควิด-19 ที่รุมเร้าไม่หยุดหย่อน จนบั่นทอนจิตใจคนไทยทั้งประเทศที่ต้องนำชีวิตมาเป็นเดิมพันสู้กับไวรัสร้ายที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่

    ประเสริฐ จารึก

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2825292
     

แชร์หน้านี้

Loading...