พวกเราควรทุ่มเทเวลาให้กับการภาวนา ดีกว่าทำอย่างอื่น

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 23 พฤศจิกายน 2014.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,611
    [​IMG]



    พวกเรา ควรทุ่มเทเวลาให้กับการภาวนา ดีกว่าทำอย่างอื่น งานภายนอกทำเท่าไหร่ก็จะไม่จบไม่สิ้น ต้องทำไปเรื่อยๆ ต้องบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ แต่ใจของพวกเรานี้ถ้าทำให้ดีแล้ว จะดีไปเรื่อยๆ จะไม่เสื่อม งานต่างๆ ภายนอกนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ทำเท่าที่จำเป็น จะได้มีเวลามาทำงานที่สำคัญจริงๆ คืองานพัฒนาจิตใจ ใจได้รับการพัฒนามากน้อยเพียงไร พวกเราก็จะมีความสุขมากน้อยเพียงนั้น ถ้าใจไม่ได้รับการพัฒนา ก็จะมีแต่ความทุกข์ ความสุขความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เรื่องภายนอก

    แต่ อยู่ที่ใจที่ได้รับการพัฒนาด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจได้มากเท่าไหร่ ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากเท่านั้น ยิ่งใจมีความสุขมากเท่าไหร่ ยิ่งจะเห็นความไม่สำคัญของสิ่งอื่นๆ ภายนอกมากขึ้นเท่านั้น เพราะใจสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้โดยไม่ต้องมีอะไรเลย แม้แต่ไม่มีร่างกายใจก็ยังอยู่ได้ เช่น เวลาใจเข้าสู่ความสงบเข้าสู่สมาธิ ตอนนั้นใจกับร่างกายก็แยกออกจากกันชั่วคราว ใจไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย และเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย เหมือนกับไม่มีอะไร เหมือนกับลอยอยู่ในอวกาศ ไม่มีอะไรมารบกวนใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ ใจเป็นผู้สร้างความสุขและความทุกข์ และใจเป็นผู้รับผลของความสุขและความทุกข์ เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ ถ้าคิดไปทางสมุทัยก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา ถ้าคิดไปทางมรรคก็จะสร้างความสุขขึ้นมา

    หน้าที่ ของพวกเราจึงอยู่ที่การควบคุมความคิดของพวกเรา ถ้าอยากจะมีแต่ความสุขก็ต้องคิดไปในทางมรรค ถ้าคิดไปในทางมรรคไม่ได้ ก็จะคิดไปในทางสมุทัย เพราะใจมีอวิชชาคอยกำกับคอยสั่งให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นผู้กำกับให้สังขารคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัย พอมีเวทนาก็จะเกิดตัณหา เกิดความอยากตามมา ถ้าเป็นสุขเวทนาก็อยากจะให้สุขไปนานๆ ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อยากจะให้ดับไปเร็วๆ แต่สุขกับทุกขเวทนามีเหตุมีปัจจัยของเขา ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของความอยากของใจ เช่น เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา ใจก็จะอยากให้ทุกขเวทนาทางกายหายไปดับไป แต่เขาไม่ดับไปตามความอยาก เพราะเขาเป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใจ เขามีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดขึ้นมา เช่น ยามเจ็บไข้ได้ป่วยเนื่องจากมีเชื้อโรคทำให้ร่างกายผิดปกติ ใจอยากจะให้มันหาย แต่มันก็ไม่หาย พออยากให้หายก็จะมีความทุกข์ทรมานใจซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพราะไม่สามารถห้ามความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

    ถ้า ฝึกใจอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ก็จะไม่ทรมานใจ เช่น เวลาเกิดความเจ็บปวดขึ้นมาทางร่างกาย ก็อย่าไปคิดอยากให้หายปวด ด้วยอุบายที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่น บริกรรมพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะที่มีความทุกข์ทรมานใจกับความเจ็บปวดของร่างกาย ถ้าบริกรรมพุทโธๆ ก็จะควบคุมความคิดไม่ให้คิดในทางสมุทัยได้ พอไม่คิดอยากจะให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยหายไป หรือคิดหนีจากความเจ็บไข้ได้ป่วยไป ก็จะไม่ทรมานใจ ถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดได้ ก็อาจจะคิดฆ่าตัวตายก็ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะความทุกข์ทรมานใจไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่ความคิดปรุงแต่ง ที่ถูกอวิชชาความหลง ความไม่รู้เรื่องของความทุกข์ของใจ ว่าเกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจนี้ พาให้คิดฆ่าตัวตาย ถ้า รู้ว่าความทุกข์ทรมานใจนี้เราสามารถดับได้ ด้วยการควบคุมความคิด ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย หรือให้หยุดคิดชั่วคราว ให้จิตรวมลง ให้เข้าสู่สมาธิ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมด จะเหลือแต่ความเจ็บปวดของร่างกาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทรมานใจแล้ว เป็นเหมือนฟ้ากับดิน เป็น ๑ ต่อ ๑๐๐ เท่า จะเห็นได้ชัดเลยว่าความเจ็บปวดของร่างกายนี้ใจสามารถรับรู้ได้อย่างสบาย ถ้าไม่มีความทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความคิดอยากให้ความเจ็บปวดของร่างกายหาย ไป หรือความคิดอยากจะหนีจากความเจ็บปวดนี้ไป ถ้าใจนิ่งเฉยๆ จะไม่รู้สึกทรมานใจแต่อย่างใด เพราะเราสามารถยับยั้งความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง จะปวดก็ปวดไป อยู่ด้วยกันได้

    ทำได้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ ๑. ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ เพื่อไม่ให้ใจคิดไปในทางสมุทัย ๒. ให้คิดว่าความเจ็บปวดของร่างกายเป็นเรื่องปกติ เป็นเหมือนกับฝนตก ถ้าไม่ได้อยากให้ฝนหยุดตก ก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ถ้าอยากจะให้หยุดตก แต่ยังตกอยู่ ใจก็จะกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ไม่สบายใจ ถ้าคิดไปในทางที่ถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ ใจก็จะสงบ เขาเป็นอย่างนี้ อย่าไปถามว่าทำไม อย่าไปอยากให้เขาหายไป ให้คิดว่าเขาเป็นอย่างนี้ มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดขึ้น จะอยู่นานหรือไม่นาน ก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสั่งให้เขาหายไปได้ แต่สิ่งที่เราสั่งให้หายได้ก็คือสมุทัย ที่สร้างความทุกข์ให้แก่ใจ

    ถ้า สอนใจให้คิดอย่างนี้ ใจก็จะไม่คิดอยากให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อไม่มีความคิดที่เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ใจขึ้นมา ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ อยู่ที่การควบคุมใจด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ที่เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการควบคุมความคิดปรุงแต่ง ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม อยู่ในมรรค.


    กัณฑ์ที่ ๔๑๖ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ เล่มที่ ๒๓)
    “ควบคุมความคิด” : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

    https://www.facebook.com/Suchart.Abhijato

    [​IMG] รวมคำสอน “พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต”
    แสดงกระทู้ - รวมคำสอน “พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต” • ลานธรรมจักร
     

แชร์หน้านี้

Loading...