เรื่องเด่น พิจารณาขันธ์ ๕ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 28 มกราคม 2018.

  1. อกาลิโก!

    อกาลิโก! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    609
    กระทู้เรื่องเด่น:
    531
    ค่าพลัง:
    +3,731
    1510974570_702.jpg

    วันนี้วันพระตรงกับวันอังคารที่ ๑๖ มกราคม แรม ๑๕ ค่ำ เดิอน ๒ ปีระกา

    ขอให้ทุกท่านมีความสุขในธรรม

    เรื่อง..พิจารณาขันธ์ ๕


    ๒๓๕) ในเมื่อเราเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกแล้ว เราก็ยังคิดรักร่างกายเราอีกหรือ เราจะเห็นว่าร่างกายของเราจุดไหนมันเป็นส่วนสะอาด นี่พระพุทธเจ้าให้คิดแบบนี้น่ะ ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณาหาความชั่วของร่างกาย นี่ถ้าสิ้นลมปราณอย่างเดียว สิ่งสกปรกทั้งหลายมันหลั่งไหลออกมา
    แล้วก็เราเองเวลานี้ยังมีลมปราณ กำลังของจักรกลทั้งหลาย ในร่างกายยังมีเครื่องบังคับ ไอ้สิ่งสกปรกทั้งหลายเหล่านี้มันยังไม่ปรากฏ แต่ความจริงมันมีอยู่แล้ว
    ฉะนั้น ก็จงคิดว่าที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้เราเห็นว่าร่างกายเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็น “อสุภกรรมฐาน” หาความสะอาดไม่ได้ เป็นสิ่งโสโครก นี่เป็นความจริง
    แล้วไอ้การพิจารณาเห็นว่าเป็นความจริง นี่ต้องเป็นเอกัคคตารมณ์นะ คือมีอารมณ์เป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นซากศพเป็นของน่าเกลียดฉันใด นึกถึงร่างกายของเราขึ้นมาเมื่อไร ก็คิดว่าร่างกายของเรานี่ไม่ช้ามันก็เน่าแบบนี้ ไม่น่าคบ ถ้าเราจะเกิดมาเอาร่างกายแบบนี้อีก เราก็โง่เต็มที
    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก ในเมื่อร่างกายของเราสกปรกเสียอย่างเดียวแล้ว ร่างกายใครในโลกจะสะอาดบ้าง ให้เห็นตัวเราเสียก่อน ถ้าเราเห็นตัวของเราแล้ว คนอื่นไม่สำคัญ โดยมากแล้วเรามักจะเห็นว่าคนอื่นเขาสกปรก แต่เรามองไม่เห็นความสกปรกของเรา

    ๒๓๖) นํ้าที่เราจะบริโภคนี้เราก็พยายามเลือกแล้วเลือกอีก ว่านํ้านี่ต้องบริสุทธิ์ นํ้านี่สะอาด มีเชื้อโรคหรือไม่มีเชื้อโรค เลือกนํ้าที่สะอาดที่สุด
    สำหรับอาหารที่เราจะบริโภคก็เหมือนกัน อาหารที่จะบริโภคต้องเป็นอาหารที่สุกแล้วปราศจากเชื้อโรค เป็นอันว่าอาหารที่เราจะกินเข้าไป มันเป็นของดีทุกอย่างที่เราต้องการ พอไปบริโภคเข้าไปแล้ว เศษอาหารที่ร่างกายไม่ต้องการ มันเริ่มหลั่งไหลออกมาจากร่างกาย ที่เราเรียกกันว่าอุจจาระ นี่ส่วนที่เป็นอาหาร สำหรับนํ้านี่เราเรียกกันว่าปัสสาวะ
    ตอนนี้บรรดาท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูว่า อาหารที่เราเลือกแล้วเลือกอีกว่ามันมีรสอร่อยบ้าง เป็นของดีบ้าง เป็นของสะอาดบ้าง ถ้าเหลือแต่กาก ไอ้กากนี่เราต้องการหรือเปล่า
    สมมติว่าถ้าเราเกิดความหิวขึ้นมาใหม่ เราจะเอากากอาหารที่มันหลั่งไหลออกมาจากร่างกาย ที่เราเลือกแล้วเลือกอีกบริโภคเข้าไป บริโภคใหม่ ป้องกันความหิวนี่จะทนไหวไหม เป็นอย่างไร กินไม่ได้ ใช่ไหม มันอร่อยเกินไปหรืออย่างไร
    นี่เรากินกันไม่ได้ ทำไมจึงกินไม่ได้ ก็เพราะว่ามันสกปรก

    ๒๓๗) สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่งมีรูปร่างสดสวยงดงาม แต่ว่าบังเอิญร่างกายของบุคคลนั้นถูกนํ้าร้อนลวก หนังกำพร้าหลุดไปเหลือแต่เนื้อ ร่างกายที่เราเห็นว่าสวยนี่เราจะพอใจไหม ความจริงเราก็เลิกพอใจแล้ว สวยแสนสวยขนาดไหนก็ทนดูไม่ได้ เพราะเห็นว่าไม่น่าดู ไม่น่าชม
    นี่ความจริงสิ่งที่เราหลงก็แค่หนังกำพร้าเท่านั้น เหลือแต่เนื้อถ้าเราเห็นเนื้อเราก็เห็นเลือด เลือดของเราจริงๆ ตอนอยู่ในร่างกาย เราปล่อยให้มันหลั่งไหลไปตามร่างกายได้ตามความสบาย แล้วเราก็มีความต้องการในเลือด แต่ว่าเลือดของเราเองถ้ามันหลั่งไหลออกมานอกกาย เราเกิดความรังเกียจในเลือดของเราเอง หาว่าเหม็นคาวบ้าง สกปรกบ้าง นี่ก็อยากจะถามว่าเลือดนี้มันมาจากไหน มันก็ออกมาจากร่างกาย
    นี่ก็ว่ากันไปอีกทีของที่มองเห็นง่ายกว่านั้น อันนี้ได้แก่นํ้าลาย นี่ “ปฏิกูลบรรพ” ก็คือ “กายคตานุสสติกรรมฐาน” ใน “วิสุทธิมรรค” เป็นของอย่างเดียวกัน กรรมฐานบทนี้มีความสำคัญมาก หากว่าท่านผู้ใดปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าไม่สามารถจะทำจิตให้ปลงตกในด้าน “กายคตานุสสติกรรมฐาน” เห็นว่าร่างกายสกปรกจนกระทั่งจิตเป็น “เอกัคคตารมณ์”
    คำว่า “เอกัคคตารมณ์” มีอารมณ์อย่างเดียว โดยเห็นว่าร่างกายของเราก็สกปรก ร่างกายคนอื่นก็สกปรก เป็นของไม่น่ารัก ถ้าไม่สามารถผ่านกรรมฐานบทนี้ไปได้ ความเป็นพระอรหันต์ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลนั้น

    ๒๓๘) องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ให้พิจารณาหาความเป็นจริง ว่าร่างกายของเราทุกส่วนนี้ที่เราเห็นว่าสวยว่างามว่าดี ว่าสะอาดหรือว่าวิเศษวิโส อะไรก็ตามที แต่ความจริงร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ไอ้ที่เรามองไม่แน่ว่ามันสกปรก มันมีอยู่นิดเดียว คือหนังกำพร้าบางๆ หนาไม่ถึงครึ่งเซ็นต์ มันปกปิดเข้าไว้ แต่ส่วนภายในจริงๆ ไม่เป็นเรื่อง ใช่ไหม
    นี่มันไม่ดีจริงๆ แบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงทรงแนะนำว่าอย่าไปหลงมันเลย

    ๒๓๙) ร่างกายนี้ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือว่า ธาตุนํ้า ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ
    ไอ้เจ้าธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้ ถ้ามันยังสามัคคีกันเพียงใด ร่างกายก็ยังทรงสภาวะเป็นปกติ
    เพราะอะไร เพราะธาตุดินมีความเข้มแข็ง ธาตุนํ้าทำให้ดินเหลว ในเมื่อธาตุทั้ง ๒ ธาตุมาประกอบกันเข้า ความเข้มแข็งของดินมันก็แข็งอยู่ไม่ได้ แต่ว่าอาศัยธาตุไฟเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง คือธาตุไฟเป็นธาตุกลาง ช่วยทั้งนํ้าและดินให้ทรงตัวอยู่ได้ ปล่อยแต่ดินกับนํ้ามาผสมกัน ดินมันก็เละ มันทรงตัวไม่ได้ นี่ไฟก็มาช่วยความอบอุ่นให้เกิดขึ้น ให้ทรงกายไว้ก็ดี นํ้ากับดินมีกำลังพอต่อต้านกันได้ แล้วก็มีธาตุลมปรนปรือเข้าไว้
    เป็นอันว่าธาตุทั้ง ๔ นี้ ถ้ายังสามัคคีกันอยู่เพียงใด ร่างกายของเราก็เป็นร่างกายปกติ นี่เรายังไม่เห็นความเน่าความเปื่อย
    ทีนี้เวลาที่เราตายแล้วธาตุลมขาด เขาเคยถามกัน คนจะตายหรือสัตว์จะตายเพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย เขาจะตอบว่าอย่างไรนั่นมันเป็นเรื่องของเขา แต่สำหรับเรื่องของเรา เราก็คิดเอาแต่เพียงว่า ถ้าเราไม่มีลมหายใจเมื่อไร มันก็ตายลงเมื่อนั้น
    เมื่อธาตุลมหายไป ธาตุไฟก็ไปด้วย เราจะเห็นว่าพอสิ้นลมปราณเมื่อไร ร่างกายของคนตายก็มีแต่ความเย็น ไม่มีความอบอุ่น ตอนนี้สิเหลือแต่เพียงธาตุนํ้ากับธาตุดิน ดินมันมีความเข้มแข็งจริง แต่ว่ามันแข็งไม่จริง ถ้าถูกนํ้าละลายหนักๆ เข้ามันก็ไป มันก็ทนไม่ไหว ในเมื่อมันทนไม่ไหวก็เกิดอาการเละ ทีนี้ความเน่าก็ปรากฏ เพราะไม่มีความร้อนเข้ามาประคับประคอง

    ๒๔๐) เราจะตัดตัณหา ความทะยานอยากได้ ก็เพราะอาศัย
    (๑) มีศีลบริสุทธิ์
    (๒) มีอารมณ์สมาธิตั้งมั่น
    (๓) มีปัญญาพิจารณา มีความเข้าใจว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือที่เราเรียกว่ากายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา
    เมื่อจิตใจของเราวางขันธ์ ๕ เสียได้เมื่อไร ก็ชื่อว่าเราเข้าถึง “อริยสัจ” เมื่อนั้น จัดว่าเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง คือ “พระอรหันต์”

    ๒๔๑) การที่จะปฏิบัติให้เป็นโลกุตรธรรมนี่เขาทำกันอย่างไร
    ถ้าเราคิดว่าเราจะไปอยู่บนมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นที่ไม่ถูกใจของเรา เราต้องการไปนิพพาน จะเอา กรรมบถ ทั้ง ๑๐ ประการนี้ไปนิพพานได้อย่างไร ทำอย่างไร เราต้องใช้กำลังใจให้สูงไปกว่านั้น กำลังใจสูงๆ นี่ถ้าพูดยากไป โยมบอกมันยาก เอาแบบพูดง่ายๆ ก็แล้วกัน ใครได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป ใช่ไหม
    คือว่ากำลังใจเราต้องมีความเด็ดเดี่ยว คิดถึงตัวเราและคิดถึงตัวเขา ว่าร่างกายของเราความจริงมันเป็นเรา มันเป็นของเรา เราเป็นมัน มันเป็นของเรา ใช่หรือเปล่า ร่างกายเป็นของเราหรือ
    ต้องคิดว่าที่องค์สมเด็จพระบรมครูท่านตรัสว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีใน ตามศัพท์หนังสือเขาเรียกว่า “ขันธ์ ๕”
    อาตมาเห็นว่าฟังยากเกินไป ขันธ์ ๕ ก็คือร่างกาย ถ้าบอกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปวดหัวเปล่าๆ เอาร่างกายเฉยๆ ให้คิดว่าร่างกายนี้ ความจริงมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    ทั้งนี้เพราะอะไร ถ้าร่างกายมันเป็นเราจริง เป็นของเราจริง ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการอยู่ในมนุษยโลก ถึงวาระที่เราจะต้องไป ถึงกาลแล้วที่เราจะต้องไป เราก็ต้องยกกายนี้ไปโลกอื่นด้วย
    เป็นอันว่าที่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้นำเอาร่างกายนี้มาด้วย ร่างกายเก่าเราไม่ได้เอามา
    และต่อไปถ้าเราจะไปโลกใหม่ต่อไป เมื่อกาลเวลาอยู่มนุษยโลกไม่ได้ เราก็ไม่สามารถนำร่างกายนี้ไปได้ แต่สิ่งที่เราจะนำไปได้ก็ได้แก่ จิตใจ

    ๒๔๒) ร่างกายของเราแบ่งเป็นอาการ ๓๒ ที่มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น อาการ ๓๒ ทั้งหมดรวมแล้วในกายมันมีสภาวะของความสกปรก ร่างกายเราเบื้องบนตั้งแต่ปลายผมลงไปเบื้องตํ่าถึงปลายฝ่าเท้า เบื้องตํ่าขึ้นมาจากฝ่าเท้า ขึ้นมาถึงเบื้องบนคือปลายผม มันมีแต่ความสกปรก ในเมื่อสภาวะของร่างกายเป็นอย่างนี้
    ถ้าหากว่าเราจะคิดพิฆาตเข่นฆ่า ทำลายคนอื่นด้วยความโกรธ มันก็ไม่ได้มีความดีสำหรับเรา
    คนที่ทำให้เราไม่ชอบใจ เราจะฆ่าเขาให้หมดทั้งโลก ก็เราเองก็แก่ลงไปทุกวัน มันไม่ช่วยให้เราหนุ่มขึ้น ใช่ไหม ฆ่าเขาไป ฆ่าเขามาตัวเองก็ตาย เราจะคิดประทุษร้ายให้เขามีความลำบากเราก็ไม่ได้มีความสุข
    เนื้อแท้จริงๆ ความโกรธเป็นปัจจัยของความทุกข์
    ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะว่าถ้าเราโกรธเขา เราจะคิดฆ่าเขา ความจริงเราไม่ฆ่าเขา เขาก็ตาย ถ้าเราจะกลั่นแกล้งให้เขามีความทุกข์ เราไม่แกล้งเขา เขาก็มีความทุกข์อยู่แล้ว ถ้าเราไปคิดแกล้งเขา คิดประทุษร้ายเขา เราเพิ่มความทุกข์

    ๒๔๓) จิตต้องยึดเป็นอารมณ์ว่า ถ้าตายคราวนี้เรามุ่งนิพพาน ต้องคอยชำระจิต ก็หมายความว่า
    อย่าให้ความโลภคลุมใจ
    อย่าให้กามฉันทะมันคลุมใจ
    ความโกรธและโมหะอย่าให้คลุมใจ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งหันเข้ามาตัดจุดเดียวคือ ขันธ์ ๕ ของเรา ตัดให้ขาดทุกอย่าง มันจะเกาะไม่ได้

    ๒๔๔) พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
    “สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันงามตระการดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ว่าท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่”
    นี่แม้ว่าพวกท่านทั้งหมดโง่ทั้งนั้น แถมฉันอีกคนดันเสือกเกิดมาได้ นี่เราเกิดมาอย่างนี้ก็เพราะว่าเราโง่
    เราโง่เพราะ
    กิเลส ความเศร้าหมองของจิต ที่ไม่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา
    ตัณหา อยากได้ในสิ่งที่เป็นโทษ เข้าใจว่าเป็นคุณ
    อุปาทาน ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นโทษ ที่มันจะต้องสลายตัวไป หาว่ามันจะทรงตัวอยู่ได้ แล้วก็
    อกุศลกรรม ความชั่วที่ทำขึ้น ทำด้วยอำนาจของความชั่วคิดว่าเป็นความดี
    นี่สิ่งทั้ง ๔ ประการนี้ที่เราปฏิบัติมา เราปฏิบัติเพราะความโง่ เพราะเรามีความโง่เราจึงยึดถือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ในที่สุดเราก็ต้องเกิด เกิดแล้วก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้
    นี่เพราะอะไร เพราะว่าในสมัยนั้นเรายึดถือร่างกายคือ ขันธ์ ๕ ที่เรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสรณะ ถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ยึดถือว่ามันประเสริฐ ยึดถือว่ามันวิเศษ คนชาวบ้านเขาตายให้ดูเท่าไรก็ตาม เราไม่เคยคิดว่าเราจะตาย เขาแก่ให้เราดูทุกวันเวลา ไปไหนก็พบแต่คนแก่ เราก็ไม่เคยคิดว่าเราจะแก่
    นี่อาการทรุดโทรมทั้งหลายเกิดจากร่างกาย ความลำบากทั้งหลายปรากฏ เราไม่เคยคิดว่ามันลำบาก เพราะเราเมามันอยู่ในร่างกาย นี่เพราะอาศัยความโง่เป็นปัจจัย เป็นเครื่องสอนเรา เราจึงเข้าไปยึดถือ ขันธ์ ๕
    (คัดลอกจากหนังสือ “โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง” เล่ม ๒)

    ภาพโดย คุณสุพัฒน์
    โพสต์โดย ACHAYA



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     

แชร์หน้านี้

Loading...