พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย คนหลงเงา2, 19 มกราคม 2018.

  1. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง



    พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

    ..................................

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ

    ..................................


    พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอน เรื่องนี้ไว้ดังนี้

    ๑. เรื่องสัญญา ความจำของชาวโลก มักจักไม่เที่ยง ฟังอะไรไม่ถ่องแท้ เข้าใจไม่ตลอด ก็มักจักจำความอะไรที่ผิดๆ แล้วนำไปพูดต่อในทางที่ผิด จึงทำให้คนที่ฟังต่อๆ ไปเข้าใจผิดอย่างมากมาย แต่นั่นก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับการฟังธรรมคำสั่งสอนแล้วตีความหมายผิดๆ เอาสัญญาความจำที่ไม่เที่ยงมาตู่คำสอน และเอาปัญญาที่มีอยู่ในตน ตีความหมายเอาตามความคิดเห็น อันเป็นอุปาทานส่วนตัวมาบังหน้า แล้วนำธรรมนั้นออกไปเผยแพร่กระจายออกสู่สาธารณะชน คนฟังก็จำธรรมนั้นโดยการฟังที่คล้อยตาม จุดนี้ซิอันตราย

    ๒. คนมักจักพูดโอ้อวดธรรมที่ไม่มีในตน โดยมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้เลิศประเสริฐในการเข้าใจพุทธพจน์บทพระบาลีอ้างพระธรรมคำสั่งสอนว่าเป็นคำตรัสของพระตถาคตเจ้าขึ้นนำหน้า แต่ในภายหลังที่อรรถาธิบาย ก็มักจักสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตนตีความหมายของธรรมนั้น ตามอุปาทานแห่งตน กล่าวเป็นเชิงโอ้อวดตนว่าเข้าถึงในธรรมนั้นๆ

    ๓. ที่ตถาคตกล่าวมานี้ ก็เพื่อให้พวกเจ้าสำรวมจิต หรืออารมณ์ที่ทะนงตนว่าเป็นผู้เข้าถึงธรรมเอาไว้ดีๆ อย่าหลงตัวหลงตนคิดว่าดีแล้วเป็นอันขาด จักทำให้จิตพลาดจากความดีไปอย่างหน้าเสียดายอย่างยิ่ง

    ๔. พูดมากเท่าใด ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น จงพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จักพูดทุกครั้ง เล็งเห็นสาระหรือประโยชน์ในการพูดแต่ละครั้งด้วย อย่าพูดให้เสียเปล่าหรือพูดให้เป็นโทษ เป็นที่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น คุมจุดนี้เอาไว้ให้ดีๆ ชาวโลกหมองใจฆ่ากันตาย ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเพราะวจีกรรมมามากต่อมากแล้ว

    ๕. เมื่อห้ามปากแล้วก็มาห้ามใจ การห้ามปากและห้ามใจก็ดี จงห้ามที่ตนเอง อย่าไปห้ามที่บุคคลอื่น เรื่องของการห้ามใจ คือ ให้พิจารณาอารมณ์คิดดูว่าขณะจิตหนึ่งๆ นั้นมีอารมณ์ที่เป็นสาระหรือประโยชน์ในความคิดหรือความสงบนั้นบ้างไหม เป็นคุณหรือเป็นโทษ เบียดเบียนตนเองหรือไม่ เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นหรือไม่ อารมณ์ใดถ้าหากตกเป็นทาสของกิเลส จักโกรธ โลภ หลง ก็ตาม อารมณ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นโทษและเบียดเบียน จักต้องหมั่นรู้ธรรมของจิตอยู่เสมอ จึงจักแก้อารมณ์กิเลสได้

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    …………………………….


    ที่มาของข้อมูล

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ มีนาคมตอน ๑

    หนังสือ ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม

    หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......

    http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html

    ถ้าเป็นเสียงตอนนี้มีเล่ม ๗/ ๘/ ๑ /๑๑/๑๔/๑๕ หาได้จาก youtube

    ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น

    ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธเจ้าหรือ

    หลวงพ่อหรือพระอริยะเจ้าทั้งหลายในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ

    …………………………………
     
  2. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    พวกพุทธจริต ก็คือพวกที่ลาพุทธภูมิ นั่นเอง

    พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

    -------------------------

    สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสว่า

    พวกพุทธจริต ก็คือพวกที่ลาพุทธภูมิ นั่นเอง ดังนั้นการจบกิจก็ต้องเรียนรู้หมดตามจริตของตนจึงจะผ่านได้ เพราะฉะนั้นเอ็งและหมอห้ามบ่นเรื่องเหนื่อยและหนักในการปฏิบัติ เพราะเสือกเลือกกันมาเองทั้งนั้น อยากไปทางลัดก็ต้องเร่งรัดกันอย่างนี้แหละ (ในข้อนี้ พวกเราเกือบทุกคนล้วนเคยปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนทั้งสิ้น เมื่อลาพุทธภูมิจึงมีพุทธจริต จัดเป็นพวกฉลาด มีปัญญา จึงไม่มีใครอยากจะเกิดมามีร่างกายให้พบกับทุกข์ โทษและภัยของการเกิดอีกหลักสูตรมีอยู่พร้อมแล้ว อยู่ที่ความเพียรของแต่ละคน ใครเพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว ใครเพียรน้อยพักมากก็จบช้า ขอย้ำอีกครั้ง ให้อ่านคำสอนของสมเด็จองค์ปฐมที่เขียนไว้ในข้อที่ ๒ ในเรื่องนี้ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผล)

    พุทธภูมิมีงาน ๓ ลำดับ คือ งานศึกษา, งานโยธา และก่อสร้าง, งานสอนพระกรรมฐานซึ่งหนักที่สุด เพราะบริวารมีมาก เป็นกรรมที่ทำร่วมกันมา ศิษย์จึงมากตอนเร่งรัดบารมีต้องเหนื่อย และหนักด้านโยธาจนกว่าจะตาย (ในข้อนี้ท่านเน้นงานสอนกรรมฐาน ซึ่งหนักที่สุด ก่อนท่านจะทิ้งเปลือกหรือขันธ์ ๕ ที่ท่านอาศัยอยู่ชั่วคราวไปพระนิพพาน ท่านได้มอบหมายหน้าที่ตอบปัญหาธรรมให้กับผมไว้ ให้ผมทำหน้าที่แทนท่านเมื่อท่านไม่อยู่ ท่านเคยเล่าให้ผมฟังเป็นการส่วนตัวว่า พอท่านกลับจากซอยสายลมมาถึงวัด วันแรกท่านหมดแรง นอนแผ่หลาทุกที กรรมนี้ขณะนี้มาอยู่กับผมแล้ว ซึ่งก็ต้องอดทนและต้องทนให้ได้ เพราะเป็นชาติสุดท้ายแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือเป็นการตอบแทนพระคุณของพระพุทธองค์และของหลวงพ่อท่าน อันหาค่ามิได้ ผมไม่ขอเขียนรายละเอียด ผู้ใดสงสัยกรุณากลับไปอ่านเรื่องอารมณ์อีโก้ ซึ่งสมเด็จองค์ปัจจุบันตรัสสอนไว้อีกครั้ง แล้วท่านจะเข้าใจดี)

    ขนาดจบกิจพระศาสนาแล้ว งานยิ่งหนักขึ้น เพราะท่านมีลูกหลานบริวารมาก การถวายเงินก็มีเข้ามามาก ทำให้การก่อสร้างยิ่งมาก เพื่อเป็นวิหารทาน อันเป็นบันไดให้เขาไปสู่สรรค์ (ทานัง สักกะโส ปานัง ทานเป็นบันไดให้ไปสู่สวรรค์) เป็นกำลังใจขั้นต้นของการปฏิบัติบูชาในพุทธศาสนา ขั้นต่อไปก็รักษาศีลและเจริญภาวนาตามลำดับ ตามกำลังใจของแต่ละคนเพื่อก้าวเข้าสู่พระนิพพาน (ในข้อนี้ยังมีผู้ไม่เข้าใจอยู่มาก ทำให้สงสัยว่าหลวงพ่อก็อายุมากแล้ว กิจที่จะต้องทำเพื่อตัดกิเลส - ตัณหา - อุปาทานและอกุศลกรรมก็ไม่มีแล้ว ทำไมท่านถึงยังเหนื่อยเรื่องก่อสร้างวัดอยู่อีก

    ผมขออธิบายว่าเงินที่ถวายเข้ามา บางคนเน้นเฉพาะเจาะจงว่าเพื่อสร้างโน่นสร้างนี่ แต่บางคนก็ไม่เน้น หลวงพ่อท่านฉลาดจึงเอาเงินที่ถวายท่านส่วนใหญ่ไปสร้างเป็นวิหารทาน เพราะเป็นบุญสูงสุด ในวัตถุทานให้พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ขออธิบายย่อ ๆ ว่าพระองค์ตรัสว่า อานิสงส์ผลบุญจากการถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง ยังสู้ถวายวิหารทานครั้งเดียวไม่ได้ วิหารทานจึงเป็นบุญสูงสุดในวัตถุทาน อันเป็นอริยทรัพย์ที่พวกเราเอาติดตัว (ติดใจ) ไปได้ พวกเราจึงโชคดี มีวิมานที่สวยงาม ผิดธรรมดา มิใช่มีวิมานงดงาม ซึ่งแปลว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่ได้เรื่อง ไม่น่าดู วิมานพวกเราทุกคนจึงประดับ หรือสร้างด้วยเพชร ๗ ประการบ้าง ๙ ประการบ้าง มิใช่สร้างด้วยทองคำหรืออย่างอื่น รายละเอียดยังมีอีกมาก ขอเขียนย่อ ๆ เพียงแค่นี้

    จึงขอสรุปว่าหลวงพ่อท่านเหนื่อยเพื่อพวกเราโดยตรง ขอให้เข้าใจไว้ด้วย เพราะบุญทั้งหลายเต็มแล้วสำหรับท่าน จะทำบุญอีกเท่าไหร่ก็ไม่เพิ่มยิ่งไปกว่านั้น และประการสำคัญ พระอรหันต์ทุกท่าน เป็นผู้ที่พร้อมอยู่ในความไม่ประมาท แม้ท่านจะจบกิจแล้ว บุญเต็มแล้ว ท่านก็ไม่ประมาท ตราบใดที่ชีวิตหรือร่างกายยังทรงอยู่ ท่านก็ไม่เว้นจากการทำบุญ ทำทาน ทำความดีตลอดเวลา ขอให้พวกเราซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน จงเอาท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น องค์สมเด็จท่านก็ตรัสไว้ชัดเจนตามเอกสารที่แจกให้ท่านไปแล้ว)
     
  3. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    ผลบุญจากธรรมทาน ซึ่งชนะทานทั้งปวง เพราะสร้างปัญญาให้เกิด

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

    ๑. การให้ธรรมเป็นทาน คือ การให้เขาอ่านหรือฟัง หรือดูแล้วเกิดปัญญา เป็นการเพิ่มปัญญาบารมีให้กับตนเองด้วยและกับผู้อื่นด้วย จักทำให้มีปัญญาตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ เข้าถึงพระนิพพานเร็วเข้า

    ๒. อย่าลืมเราให้ทานอันใด เราย่อมได้ทานอันนั้นตอบสนอง จักหวังผลหรือไม่หวังผลตอบแทนก็ตาม แต่กฎของกรรมก็เที่ยงอยู่อย่างนี้แหละ

    ๓. อนึ่ง แม้เรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เจ้าเขียนนั้น การเขียนบรรยายธรรมไว้ใต้ภาพ ก็อย่าให้ย่อมากไปจนเสียใจความของธรรมะ ความใดควรยาวก็ให้ยาวเข้าไว้ ความใดควรสั้นก็สั้นตามนั้น ต้องให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจในธรรมปฏิบัติได้เป็นสำคัญ นั่นแหละจึงจักมีอานิสงส์ที่สมบูรณ์

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ กันยายนตอน ๑

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านครับ

    -----------------------
     
  4. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    หลวงปู่ บุดดา ถาวโร ทิ้งขันธ์ ๕

    ทั้งทีวีและน.ส.พ.ออกข่าวว่า หลวงปู่ บุดดาฯ ทิ้งขันธ์ ๕ ไปเมื่อวันพุธที่ ๑๒ ม.ค. ๒๕๓๗ เวลา ๒๐.๐๐ น. โดยประมาณ ด้วยอาการสงบ เพื่อนของผมท่านเล่าว่า ขณะที่กวาดวัดในตอนเช้าพอรู้ข่าวทั้ง ๆ ที่ตนเองก็รู้ล่วงหน้าว่าท่านจะทิ้งขันธ์หลังวันเกิดท่าน เมื่อ ๕ ม.ค. ๒๕๓๗ แต่อารมณ์จิตก็อดหวั่นไหวมิได้ ซึ่งก็เป็นของธรรมดา เพราะรู้ว่าตนยังมีอารมณ์ ๒ อยู่ (พอใจกับไม่พอใจ) พอทำจิตให้สงบลง ก็เห็นหลวงปู่กับหลวงพ่อยืนอยู่ หลวงปู่ท่านสอนว่า

    ๑. ขันธ์ที่ช่วยตัวเองไม่ได้อย่างนี้ ไม่มีใครต้องการเอาไว้หรอก ข้าเหมือนคนอยู่บ้านผุๆ หลังคาก็รั่ว เพดานก็โหว่ บันไดก็ใช้การอะไรไม่ใคร่จะได้ มันซ่อมไม่ไหว ก็ต้องไปดีกว่า นี่มันเรื่องธรรมดานะท่านฤๅษี

    ๒. ไอ้คนโง่เท่านั้นแหละที่มันไม่ยอมรับธรรมดา ร่างกายไม่ดีมันก็บอกว่าดี ร่างกายสกปรกมันก็ว่าสะอาด ร่างกายมันจะไปไม่ไหว มันก็บอกว่าไปไหว มันฝืนความจริง เกาะร่างกายแจอย่างนี้ มันจะไปนิพพานได้อย่างไรกัน (ฟังแล้วสะอึกเพราะท่านพูดแทงใจดำ)

    ๓. เอ็งเห็นดอกไม้ที่ร่วงไหม? ก็รับว่าเห็นดอกที่ร่วงอยู่นี้ มีทั้งดอกอ่อนที่ยังไม่ตูม ดอกที่ตูมแล้วยังไม่บาน ดอกที่บานแล้วยังไม่โรย ดอกที่โรยแล้วยังไม่เหี่ยว ดอกที่เหี่ยวแล้วยังไม่แห้ง ดอกที่แห้งแล้วเป็นที่สุดก็มี นี่มันร่วงลงมาจากต้นไม้เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่สภาวะของมันไม่เท่ากัน

    ๔. ชีวิตร่างกายของคนก็เหมือนกัน บางรายตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางรายคลอดออกมาแล้วตาย บางรายตายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก บางรายตายตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว บางรายตายตอนวัยกลางคน บางรายตายเมื่อแก่ อย่างข้านี่ตายเมื่อแก่ ก็ไม่ต่างกับดอกไม้ที่แห้งคาต้น แล้วร่วงหล่นลงมา สภาวะความจริงมันเป็นอย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในโลกมีอนัตตาเป็นที่สุด อย่างร่างกายก็คือตายไปในที่สุด

    ๕. แล้วเอ็งเห็นดอกไม้ร่วงหล่นอยู่นี่ เอ็งมีความเศร้าโศกบ้างหรือเปล่า (ก็ตอบว่าเปล่า)

    ๖. นั่นซิ มันร่วงมันหล่นมากมายเกลื่อนกลาดอย่างนี้ มันก็เป็นปกติของมัน ร่างกายก็เหมือนกัน มันร่วงมันหล่นก็เป็นปกติของมัน จะเศร้าโศกเสียใจอยู่ทำไม ภาวะปกติมันเป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นธรรมดา ก็จงอย่าไปฝืนมัน ไม่มีใครหรอกที่เกิดมาแล้วไม่ตาย

    ๗. จากนั้นหลวงปู่บุดดา ท่านก็เมตตามาปรากฏอยู่ตรงหน้า เป็นรูปกายพระสงฆ์ก่อน แล้วเปลี่ยนกายเป็นพระวิสุทธิเทพ เป็นกายแก้วใสสะอาดตา แล้วสอนว่า กายนี้ซิสบาย - ไม่เจ็บไม่ป่วย - ไม่แก่ - ไม่ตาย ตับ - ไต - ไส้ - ปอดไม่มี เครื่องในไม่มี สะอาดเกลี้ยงเกลา ถ้าอยากได้กายนี้ ก็ต้องพยายามวางอารมณ์เกาะยึดร่างกายลงเสียให้ได้ ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความเพียรนะลูก

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ มกราคมตอน ๑

    -----------------
     
  5. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    แปลกแต่จริง ทำชั่วง่าย ทำดีทำยาก

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอน เพื่อนผมในเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญโดยย่อว่า

    ๑.เป็นวิสัยของคนโง่ ทำชั่วทำได้โดยไม่เสียเวลาที่จักต้องคิดแม้สักขณะจิตเดียว กรรมชั่วนั้นก็ให้ผล แต่พอจักกระทำกรรมดี คิดแล้วคิดอีก ลังเลแล้วลังเลอีก ขี้เกียจแล้วขี้เกียจอีก แต่กรรมชั่วขยันทำ คนเยี่ยงนี้ปล่อยจิตให้ตกอยู่ในสภาพนี้ ก็มีหวังลงอบายภูมิได้ง่ายๆ

    ๒. จงใช้ความเพียรให้ถูก ยุติกรรมใหม่เสีย ไม่ว่าทางกาย-วาจา-ใจ พยายามกำหนดรู้เข้าไว้ พิจารณากรรมเข้าไว้ให้เข้าในหลักธรรมวินัย ให้จิตมีสติ-สัมปชัญญะเข้าไว้ว่า กรรมที่เสวยอยู่ในกาย-วาจา-ใจ อันเป็นกรรมปัจจุบันนั้น เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ผิดหรือถูกพระธรรมวินัย ถ้าถูกก็จงกระทำไป ถ้าผิดก็จงละเสีย

    ๓. การปฏิบัติให้มุ่งถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ให้เกิดแก่กาย - วาจา - ใจของตนเป็นหลักสำคัญก่อน อย่าไปมุ่งที่บุคคลอื่น ช่วยตนให้ดีพร้อมก่อน จึงจักช่วยผู้อื่นให้ดีงามพร้อมตามได้ แต่ต้องไม่พ้นวิสัยกฎของกรรม

    ๔. สำหรับบุคคลผู้มีกรรมไม่พอรับการสงเคราะห์ ก็ไม่มีประโยชน์ที่ไปเสียเวลาสงเคราะห์ เช่น ไม่ยอมเจริญอานาปานุสสติ ซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่ทำให้จิตสงบเป็นสุข ไม่ยอมรักษาศีล ซึ่งเป็นฐานใหญ่ในการรองรับพระธรรมในพุทธศาสนา เป็นผู้มีความประมาทในความตายเป็นต้น

    ๕. ในการปฏิบัติพระกรรมฐานเมื่อพบอุปสรรค ชอบบ่นว่ายาก ทั้งๆ ที่ไม่มีประโยชน์อันใด เป็นการทำร้ายจิตตนเองทุกครั้งที่บ่น แต่เวลาทำกรรมชั่ว ไฉนไม่บ่นบ้างว่าทำยาก คนเรานี่ก็แปลก จะกระทำกรรมดีได้แต่ละครั้ง ก็บ่นแล้วบ่นอีก ต่างกับความชั่วที่เข้ามาบงการอารมณ์ของจิตโดยเฉพาะโทสะ บางครั้งไม่ถึงครึ่งเสี้ยวของวินาที ก็ลุแก่ โทสะจริต ฆ่าคู่อริตายไปเสียแล้วก็มี แสดงว่ากรรมชั่วทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องบ่นหรือว่าท้อแท้ มันจึงแปลกแต่จริงตรงนี้แหละ (เพลงลูกทุ่ง จึงเอาพระธรรมจุดนี้ไปแต่งเป็นเพลง ความว่ามันแปลกจริงหนอ สิ่งที่ควรจะจำกูกลับลืม สิ่งที่ควรจะลืมกูกลับจำ เป็นต้น)

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ กุมภาพันธ์ตอน ๓

    --------------------
     
  6. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    เรื่อง รูป - นามไม่เที่ยง

    เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ มิ.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมกับผม ท่านยังไม่เข้าใจดีเรื่องรูป ๑ กับนามอีก ๔ ว่า รูปนั้นมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่นามอีก ๔ ตัว ตาไม่เห็นแต่สัมผัสได้ด้วยใจ มันชอบสร้างปัญหาให้กับใจให้ไม่สงบอยู่เสมอ ๆ และรู้เท่าทันมันยาก หลวงพ่อฤๅษี ท่านก็เมตตามาสอนให้ ดังนี้

    ๑. ก็ให้คิดว่านามมันก็ไม่เที่ยงเหมือนรูปนั่นแหละ ๕ ตัวนี้มันมาด้วยกัน สภาพมันก็เหมือนกัน เราบังคับมันไม่ได้ ก็อย่าไปสนใจยึดมั่นถือมั่นในมัน รูปนามเกิด - เสื่อม - ดับอยู่เป็นปกติ เวลาไหนมันบอกว่าดี เออ กูไม่เชื่อมึงหรอก เวลาไหนมันบอกว่าไม่ดี เออ ก็เรื่องของมึง

    ๒. ดูวิญญาณสัมผัส ที่มันรายงานมาให้จิตรับทราบตลอดเวลา (วิญญาณของขันธ์ ๕ คือ ระบบประสาทรับสัมผัสของตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ไม่ยึดไม่ถืออาการนั้นมาเป็นสาระ เพราะมันเกิดเสื่อมดับอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ มีเวทนาบอกให้จิตเรารู้อยู่ตามปกติ

    ๓. คอยดูสังขารตัวปรุงแต่งเอาไว้ให้ดี ระวังอย่าให้มันหลงปรุงแต่งธรรมเข้าเท่านั้น

    ๔. อ้ายสัญญาก็เหมือนกัน พยายามรู้เท่าทันมัน วิสัยโลกียชนมันก็จะจำแต่ของเลว จำโกรธ รัก โลภ หลง เราก็พยายามลืม ๆ มัน ทำเป็นไม่จำทิ้งมันไปเสีย เอาปัญญามาพิจารณาให้รู้เท่าทันความเป็นจริงของรูปนามนี้ว่า มันไม่เที่ยง เกิดเสื่อม ดับอยู่เป็นปกติทุก ๆ ขณะจิตที่ลมหายใจเข้าออกก็ว่าได้ แล้วเรื่องอะไรจะไปยึดถือในมัน

    ๕. มองใคร ๆ ก็เห็นว่าไม่ช้าก็ตายหมด แม้ในที่สุดร่างกายของเราก็ต้องตาย พิจารณาไปว่า ไม่ว่าเราจะยึดมั่นถือมั่นในร่างกายว่าเป็นเราแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดร่างกายหรือรูปนาม มันก็ต้องตาย ตายแน่ไม่มีใครบังคับมันได้ แต่จิตนี่ซิ ถ้ามันยังไม่ปลอดจากอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง มันก็ต้องกลับมามีร่างกายที่เกิดเสื่อมดับ เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้อีก เราไม่เอาแน่ ตายเมื่อไหร่ ขอไปพระนิพพานจุดเดียว



    และในวันเดียวกันนั้น สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนต่อให้ ดังนี้

    ๑. จงหมั่นรักษาอารมณ์ยอมรับนับถือในความตายนี้เอาไว้ให้ดีตัดเยื่อใยในร่างกายแม้ชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังนับได้ว่าจิตของเจ้าเข้าถึงความดี คลายความเกาะยึดในร่างกายลงเสียได้ เป็นการซักซ้อมอารมณ์สังขารุเบกขาญาณเอาไว้ในตัว

    ๒. จำไว้อารมณ์นี้ไม่ใช่ท้อแท้ แต่เป็นอารมณ์วางเฉย ช่างมัน จิตไม่มีอารมณ์เบื่อ แต่มีอารมณ์พร้อมที่จะละไปเสียจากร่างกาย จิตมีความเบามีความสบาย รักพระนิพพานเป็นอารมณ์

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕ เดือนมิถุนายน ๒๕๓๖ ตอน ๑

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านครับ

    ----------------------
     
  7. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    ความหวังดีไม่จำเป็นที่ต้องจักให้เป็นวัตถุ การรักษาศีลและกรรมบถ ๑๐ อันบริบูรณ์ ก็คือการหวังดีกับคนและสัตว์ทั้งโลกแล้ว

    พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

    ----------------------

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้มีความสำคัญดังนี้

    ๑๐. ดูคนทุกคนที่มีลีลาชีวิตต่าง ๆ กันไป ให้เห็นเป็นกฎของกรรม และทุกอย่างเป็นของธรรมดา ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเท่านั้น อย่าถืออะไรมาเป็นสาระที่จริงจังของชีวิต ในยามนี้มีชีวิตอยู่ก็ให้เกื้อหนุนกันไป ด้วยความสงสาร และมีความเมตตาปราณี เป็นการทำจิตให้อ่อนโยนและทำให้เป็นผู้มีมิตรมาก แต่จำไว้ว่าอย่าเบียดเบียนตนเองมากจนเกินไป การกระทำทุกอย่างให้อยู่ในสายกลาง คือ ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ให้มีจิตเมตตาหวังดีกับคนทั้งโลกหรือสัตว์ทั้งโลก ความหวังดีไม่จำเป็นที่ต้องจักให้เป็นวัตถุ การรักษาศีลและกรรมบถ ๑๐ อันบริบูรณ์ ก็คือการหวังดีกับคนและสัตว์ทั้งโลกแล้ว ถ้าหากรักษาได้ อย่าขวางทางบุญและบาปของใคร เพราะพื้นฐานของจิตใจของแต่ละคนเกี่ยวกับบุญและบาปมีต่างกัน ไม่เท่ากัน จิตเมื่อจักวางในจริยาของบุคคลอื่น ก็จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ ลงตัวธรรมดาให้ได้ แล้วจิตจึงจักปล่อยวางกรรมของคนอื่น ๆ ลงได้ ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมเลว

    ๑๑. ให้เห็นการเกิดและการตายเป็นของคู่กัน เกิดเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น การตายจึงเป็นของธรรมดา แม้พวกเจ้าเองก็เช่นกัน ยังมีความประมาทในความตายแฝงอยู่มาก ให้สอบจิตตนเองดูจักรู้ว่าใน ๒๔ ชั่วโมง ระลึกนึกถึงความตายอย่างยอมรับความจริงได้สักกี่ครั้ง การนึกถึงความตายอย่างนกแก้วนกขุนทองนั้น หาประโยชน์ได้น้อย เพราะเป็นสัญญาล้วน ๆ จำไว้ มรณานุสติกรรมฐานเป็นฐานใหญ่ ที่จักนำจิตตนเองให้เข้าถึงความไม่ประมาทได้โดยง่าย และเป็นตัวเร่งรัดความเพียร ด้วยเห็นค่าของเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตจริง ๆ ดั่งเช่นเปลวเทียน วูบ ๆ วาบ ๆ แล้วก็ดับหายไป เกิดใหม่ก็ดับอีก หากไม่เร่งรัดปัญญาให้เกิด ก็ยังจักต้องเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน

    ๑๒. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มิใช่ของจริง ตัวจริง ๆ คือจิต ให้พิจารณาแยกส่วนออกมาให้ได้ ร่างกายนี้สักเพียงแต่ว่าเป็นที่อยู่อาศัย เสมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานจิตวิญญาณก็จักออกจากร่างกายนี้ไป ทุกร่างกายมีความตายไปในที่สุดเหมือนกัน แล้วพิจารณาการอยู่ของร่างกาย ทุกลมหายใจเข้า-ออกคือทุกข์ เนื่องด้วยความไม่เที่ยง หาอันใดทรงตัวไม่ได้ พิจารณาให้เห็นชัดจึงจักวางร่างกายลงได้ในที่สุด เรื่องของบ้านเมือง เรื่องของเศรษฐกิจเวลานี้ สับสนวุ่นวาย ให้พิจารณาเห็นเป็นธรรมดา เพราะดวงเมืองไทยเป็นอย่างนี้เอง จักต้องทำใจให้ยอมรับสถานการณ์ให้ได้ทุก ๆ สภาพ เพราะล้วนแล้วเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๑๐ เดือนตุลาคม ๒๕๔๐

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    -----------------------
     
  8. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    รักเป็นกับรักไม่เป็น พระพุทธเจ้าองค์ปฐม หลวงพ่อฤๅษี

    ------------------------

    รักเป็นกับรักไม่เป็น


    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ส.ค. ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ได้เล่าให้ผมฟังถึงการปฏิบัติธรรมของท่าน มีความสำคัญดังนี้

    ในการปฏิบัติกรรมฐานตอนเย็น เมื่อทำจิตให้สงบด้วยอานาปานัสสติแล้ว ได้ยกเรื่องจริต ๖ ซึ่งหลวงพ่อฤๅษีท่านสอนมีธรรมตอนหนึ่งว่า ความโศกเศร้าเสียใจเกิดจากความรัก ถ้าเราไม่รักเสียอย่างเดียว คนตายกี่แสนคนก็ไม่เศร้า ท่านยกเอาธรรมจุดนี้มาใคร่ครวญหรือธัมมวิจยะ เพื่อให้เกิดปัญญาทางพุทธศาสนาที่แท้จริง ท่านคิดว่า เพราะเรารักและเคารพหลวงพ่อ เท่ากับเรารักขันธ์ ๕ ท่าน ถ้าหลวงพ่อไม่มีตัวตน เราจะรักท่านได้อย่างไร นี้เพราะอาศัยรูปเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดความรัก คิดได้แค่นี้หลวงพ่อท่านก็มาสอนว่า

    ๑. การรักอย่างนั้นเรียกว่าเจือด้วยกิเลส โดยเหตุหลงรูปอันไม่ใช่ตัวจริง ก็ถามหลวงพ่อว่า แล้วเมื่อไม่เห็นรูปจะรักได้อย่างไรท่านก็ตอบว่า

    ๒. รูปมันมีแค่ขันธ์ ๕ หรือ ฟังแล้วก็งง เพราะไม่เข้าใจ ท่านก็บอกว่า

    ๓. อย่างเอ็งเห็นพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ในพุทธกาลนั้น จัดว่าเป็นรูปหรือเปล่า ก็รับว่าเป็น

    ๔. นั้นซิ รูปในนามอย่างนั้น เอ็งเห็นแล้ว เอ็งรักเคารพท่านหรือเปล่า ก็รับว่าเคารพ

    ๕. แล้วในความรักเคารพนั้น มันมีความโศกเศร้าเสียใจเจือปนอยู่ด้วยหรือเปล่า ตอบว่า เปล่า

    ๖. นั่นแหละ เป็นความรักเคารพ ที่ไม่ได้เจือปนไปด้วยกิเลส เพราะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ ก็คิดว่าก็เมื่อท่านไม่มีร่างกาย แล้วจะไปเศร้าโศกเสียใจกับกายท่านได้อย่างไร

    ๗. แล้วอย่างนั้นจะเรียกว่าท่านตายได้หรือเปล่า ก็รับว่า เปล่าตาย

    ๘. นั่นซิที่ตายนั้นเป็นร่างกาย เป็นธาตุ ๔ ไม่ใช่ท่านตายเอ็งก็ยังพบท่านเห็นท่านได้ในสภาวะจิตพบจิต

    ๙. ถ้าอารมณ์ในขณะนั้นมีกิเลส เอ็งก็พบท่านไม่ได้ ความรักเคารพอย่างนี้ซิจึงจะเป็นของดี จิตไม่เศร้าหมอง มีสิทธิ์ที่จะไปพระนิพพานได้ แต่ความรักเคารพอาลัยโศกเศร้าเสียใจในขันธ์ ๕ ของพ่อนั้นเป็นของไม่ดี เป็นกิเลส มีความเศร้าหมองของจิต ตายแล้วไปพระนิพพานไม่ได้

    ๑๐. พยายามเข้าซิ ตัดความอาลัยเศร้าโศกเสียใจในขันธ์ ๕ ของพ่อลงเสียให้ได้ พ่อในสมัยที่ยังทรงชีวิตอยู่ เป็นผู้ไม่หวังในขันธ์ ๕ เพียงใด ขอให้เอ็งจงหมั่นทำจิตให้เป็นผู้ไม่หวังในขันธ์ ๕ เพียงนั้น ไม่ว่าขันธ์ ๕ ของพ่อหรือขันธ์ ๕ ของใคร หรือแม้แต่ขันธ์ ๕ ตัวเอง เพราะในที่สุดของขันธ์ ๕ คือความตายทุกรูปทุกนาม ความจริงมันเป็นอย่างนี้ แล้วจะไปหวังขันธ์ ๕ ทำไมกัน

    ๑๑. รัก รักให้เป็น รักพ่ออย่างพระพุทธเจ้าซิ รักอย่างพระอริยสงฆ์ในพุทธกาลซิ จิตจะได้ผ่องใส ขอให้คิดดี ๆ (ธรรมจุดนี้ ผมขอให้หัวเรื่องว่า รักเป็นกับรักไม่เป็น)

    หลังจากนั้น สมเด็จองค์ปฐม ได้ทรงพระเมตตาตรัสสอนต่อมีความสำคัญดังนี้

    ๑. หากเจ้าต้องการจักเป็นผู้ไม่หวังในร่างกาย ก็จักต้องหมั่นพิจารณาให้ถึงที่สุดของร่างกายนั้นว่า ธรรมภายในเป็นเยี่ยงไร เมื่อกำหนดรู้จนถึงที่สุดของร่างกาย ร่างกายบุคคลอื่นอันเป็นธรรมภายนอกก็เยี่ยงนั้น

    ๒. จงกำหนดรู้อารมณ์แห่งจิตด้วย กำหนดรู้สภาวะของร่างกายด้วย การพิจารณาจักต้องควบคู่กันไป อย่าทิ้งจุดใดจุดหนึ่ง โดยยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเข้าไว้เสมอ อารมณ์จิตหากยังเศร้าหมองอยู่ การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานก็จักสำเร็จได้ยาก จิตหากยังเป็นผู้หวังในร่างกายอยู่ ก็ยากที่จักบรรลุมรรคผลนิพพานได้เช่นกัน

    ๓. เจ้าได้เห็นสภาพอของการมีร่างกาย ที่กลายมาจากปภัสราพรหมแล้ว ทุกขั้นตอนมีแต่ความทุกข์ ขนาดมิต้องจุติจากครรภ์มารดา แล้วยังจักปรารถนามุ่งหวังในการมีร่างกายอีกหรือ (ก็รับว่าไม่ต้องการ) จิตเจ้าบอกไม่ต้องการ แต่ในขณะเกิดกระทบกระทั่ง จักด้วยอายตนะภายนอกก็ดี อายตนะภายในก็ดี เจ้าก็ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในอาการของร่างกายอยู่ ว่านั้นเป็นเขา นี่เป็นเรา จึงยังไม่ปฏิบัติได้ตามต้องการที่จักไม่มุ่งหวังในการมีร่างกาย

    ๔. สังโยชน์ ๔- ๕ คือ การละและตัดซึ่งอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะ ทำได้เมื่อไหร่การที่ต้องจุติมามีร่างกายก็สิ้นสุดเมื่อนั้น การกำหนดรู้อารมณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ พยายามอย่าประมาทอารมณ์ของจิต หมั่นสำรวจตรวจดูให้รู้แน่ชัดว่า ในขณะจิตหนึ่งๆ นั้นมีอารมณ์อะไร ตั้งใจกำหนดรู้ตั้งแต่เช้ายันหลับไปเลย

    ๕. ถ้ารู้ก็แก้ไขอารมณ์ได้ ถ้าไม่รู้ก็แก้ไขอารมณ์ไม่ได้ จริตหก อย่าสักเพียงแต่ว่าท่องจำ พรหมวิหาร ๔ ก็อย่าสักแต่ว่านึกได้ จักต้องนำมาประพฤติปฏิบัติได้ด้วย

    พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๔

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    ---------------------------
     
  9. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    รำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร พระอริยเจ้าผู้ไม่เกิด ไม่ตายตลอดกาล ตอน ๓

    โดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

    ------------------------

    : เรื่องที่ ๕

    “กายป่วย แต่จิตไม่ป่วย และเรื่อง การกินอาหาร”

    (๙ ก.พ. ๓๖ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.)

    ลูกสาวในอดีตของท่าน ทราบข่าวว่าหลวงปู่ท่านป่วย จิตก็วิตกและกังวลเป็นห่วงร่างกายของท่าน และท่านก็มีอายุมากแล้ว คิดเท่านี้หลวงปู่ท่านก็มาสอนมีความว่า

    ๑. “ใครบอกเอ็งว่าข้าป่วย เปลือกข้ามันป่วยต่างหากล่ะ มันเป็นธรรมดาของคนที่มีเปลือก ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา เรื่องเปลือกของข้า เอ็งจงอย่าสนใจ จะคิดถึงอย่างไรก็ขึ้นกราบพระ (บนพระนิพพาน) มากราบตัวจริงของข้าดีกว่า พูดคุยกันได้ด้วย ดีกว่าคิดที่จะไปกราบเปลือก แล้วเปลือกมันเวลานี้ ข้าจะบังคับมันให้อ้าปากสักทีมันก็ยังไม่อยากจะตามใจข้าเลย ในที่สุดข้าเลยตามใจมัน มันจะเอาอย่างไรก็ตามใจมัน มันจะอยู่ มันจะพัง ก็เรื่องของมัน นานโขแล้วที่เปลือกมันจองจำข้าไว้ เอ็งอย่าคิดว่า แค่เพียงชาตินี้ชาติเดียว ไม่รู้ตั้งกี่แสนอสงไขยกัปที่เปลือกเหล่านี้มันจองจำข้าไว้ มาชาตินี้แหละ ที่ข้าได้ปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระพุทธชินสีห์ให้กระจ่าง จนหลุดพ้นออกจากเปลือกนี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากมันจะพังหรือจะอยู่ก็เรื่องของมัน พวกเอ็งอย่าไปสนใจ สนใจแต่วิธีที่พระท่านชี้ให ้เห็นทางหลุดพ้นจากเปลือกวัฏจักรที่หมุนวนนี้ดีกว่า”

    ๒. “เอ็งอย่าไปตำหนิกรรมเรื่องการกินอาหารของผู้อื่น ว่าเขาต้องกินข้าวร้อน ๆ อาหารกินซ้ำ ๆ เขาก็ไม่อยากจะกิน เรื่องอาหารเป็นอุปาทานของใครของมัน เอ็งไปว่าเขาติดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วตัวเอ็งมันติดหรือเปล่า ให้เลิกสร้างกรรมนี้เสีย ต่อไปอย่าไปสนใจ ตัวใครตัวมัน กรรมใครกรรมมัน เวลาเอ็งกินอาหาร เคยคิดหรือเปล่าว่ามันอร่อย แล้วมันอร่อยที่ไหน (ตอบว่าที่ลิ้น) นั่นซิ อ้ายจิตระยำมันไม่ยอมปล่อยให้ลิ้นทำงานอย่างเดียว เลือกเอารสอร่อยนั้นมาปรุงแต่งเสียอีก จริง ๆ แล้ว พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้กำหนดรู้เวทนาของกาย รู้แค่ว่าคุณหรือโทษของอาหารที่บริโภคเข้าไปเท่านั้น เพราะหลักความเป็นจริงแล้ว อาหารมันเป็นของสกปรกทั้งสิ้น อีกทั้งหาความทรงตัวไม่ได้ ขอให้ใช้ปัญญาพิจารณาดู

    ๓. “การหิวอาหารมันเป็นเวทนาของกาย การกินอาหารรสใด ก็ต้องพิจารณาดูว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ร่างกายก่อน กินแล้วเบียดเบียนกายของตนหรือเปล่า กายเหมือนบ้าน กระเพาะเหมือนยุ้งฉางที่เก็บอาหาร ถ้าเอาไฟร้อน ๆ เช่น อาหารเผ็ดจัด ๆ เข้าไป ยุ้งมันจะทะลุหรือเปล่า นี่เป็นคุณ-โทษของอาหาร ที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้พิจารณา”

    ๔. “เวทนาของกายต้องหมั่นเรียนรู้ แล้วแยกมันให้ได้จากเวทนาของจิต ระหว่างที่กินอาหารถามจิตดูว่า อร่อยตามลิ้นหรือเปล่า ถ้าอร่อยก็รับรู้ว่าอร่อยแล้วเฉย ไม่มีปรุงแต่ให้เกิดอุปาทานกันต่อไปอีกว่าต้องการบริโภคมาก ๆ ก็ใช้ได้ แค่ใช้ได้ไม่ใช่ว่าดี ดีนั้นต้องถามจิตต่อไปว่า บริโภคตามความอร่อยแล้ว ความเหมาะสมแห่งเวทนาของกายนั้นอยู่ตรงไหน กินมากไป ยุ้งฉางมันจะแตกหรือเปล่า อึดอัดไหม มีอารมณ์เสียดายเกิดขึ้นกับจิตไหม ที่บริโภคอาหารอร่อย ๆ นั้น ไม่หมด ถามมันต่อไปเรื่อย ๆ จิตมันก็จะหาคำตอบในธรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการบริโภคอาหารได้ในที่สุด”

    ๕. “จงอย่ากลัวความสกปรก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในขันธ์ ๕ เกิดมาจากความสกปรกทั้งหมด อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ หาความสกปรกของอาหารให้พบ ยอมรับความสกปรกอันเป็นพื้นฐานแห่งชีวิตของมนุษย์โลกนี้ แห่งธาตุขันธ์ในโลกนี้ เราล้วนอยู่ในความสกปรกเหล่านี้ทั้งสิ้น มันเป็นธรรมดาของโลก พวกเอ็งต้องหาความธรรมดาแห่งความสกปรกนี้ให้พบ เมื่อนั้นจิตของพวกเอ็งจักคลายจากราคะและปฏิฆะลงได้อย่างสิ้นเชิง”

    : เรื่องที่ ๖

    “ธรรมพอดีของหลวงปู่บุดดา ” (๒๘ มี.ค. ๓๖)

    เมื่อนึกถึงธรรมพอดีของหลวงปู่ หลวงปู่ท่านก็มาสอน มีความว่า

    ๑. “อะไรที่ทำให้เราต้องกระทบ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม มันล้วนแต่กฎของกรรมทั้งนั้น ไปพบชาวโลก เขาด่า เขานินทา เขาสรรเสริญ เขาใช้เราทำโน่นทำนี่ ก็ต้องถือว่าพบพอดี เราทำเขาไว้ก่อน ถ้าไม่ทำไม่เจอหรอก พอดีอย่างนั้น

    ๒. “บารมีธรรมก็เหมือนกัน ถ้าไม่สั่งสมกันมา มันก็ไม่เจอพอดีเหมือนกัน ค้นให้ตายก็ไม่พอดีสักที ทีนี้ถ้าสั่งสมกันมาก็เจอพอดี อยู่ที่พวกเอ็งไปค้นกันให้ดี ๆ ถ้าพบพอดีเมื่อไหร่สบายเมื่อนั้น”

    ๓. “ที่สำคัญคือดูให้มันพอดีกับอารมณ์ความต้องการของจิตเรา ที่แสวงหาวิโมกขธรรม (ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น) และพอดีกับความไม่เบียดเบียนร่างกาย คือ ไม่ตึง-ไม่หย่อนจนเกินไป หาให้เจอนะในจิตกับในกายของตนเองนี่ อย่าไปเที่ยวส่งจิตออกไปหาที่อื่น มันจะยุ่ง เพียรให้ตายแล้วตายอีกก็ไม่ได้ผล

    ๔. หลวงพ่อฤๅษีกับหลวงปู่บุดดาท่านสำทับว่า “พระท่าน หลวงปู่ หลวงพ่อหลาย ๆ องค์ เมตตาพวกเอ็งถึงปานนี้ ต้องรีบขยันหมั่นเพียรโจทย์จิตตนเองเข้าไว้ ให้ละความชั่วให้ได้เร็วไว โกรธ โลภ หลง พยายามเขี่ยมันออกไปให้ได้มากที่สุด ผลของการปฏิบัติของพวกเอ็งนี่แหละ คือการตอบแทนความเมตตาของพระท่าน หลวงปู่ หลวงพ่อทั้งหลาย”


    รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๒ ตอนรำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    ----------------------
     
  10. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    ผู้ใดเกาะสังฆาฏิของตถาคตอยู่ แต่ไม่ประพฤติในพระธรรมวินัย ก็เสมือนหนึ่งอยู่ไกลคนละฟากฟ้า ผู้ใดอยู่ไกลคนละฟากฟ้า แต่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยอยู่ ก็เสมือนหนึ่งอยู่ใกล้เกาะชายสังฆาฏิของตถาคตอยู่

    พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

    -------------------------

    ร่างกายนี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า

    เมื่อวันอังคารที่ ๙ พ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงพระเมตตาตรัสสอน เพื่อนผมไว้ดังนี้

    ๑. "ขันธ์ ๕ ย่อมไม่มีในใครทั้งหมด ร่างกายไม่ใช่ตถาคต ร่างกายไม่ใช่ท่าน สัมพเกสี ร่างกายนี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ร่างกายนี้ไม่ใช่พระอรหันต์ ปกติของร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปตามสภาวธรรมของโลกนั้น ๆ"

    ๒. "พระพุทธเจ้าเป็นได้เพราะพระธรรม ตถาคตคือพระธรรม ท่านสัมพเกสีเป็นพระอรหันต์ได้ ก็เพราะพระธรรม พระธรรมนั้นไม่เกิด ไม่ตาย พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จึงไม่เกิดไม่ตายตามสภาวะของธรรมนั้นๆ"

    ๓. "จำได้ไหมที่ตถาคตตรัส ผู้ใดเกาะสังฆาฏิของตถาคตอยู่ แต่ไม่ประพฤติในพระธรรมวินัย ก็เสมือนหนึ่งอยู่ไกลคนละฟากฟ้า ผู้ใดอยู่ไกลคนละฟากฟ้า แต่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยอยู่ ก็เสมือนหนึ่งอยู่ใกล้เกาะชายสังฆาฏิของตถาคตอยู่

    ประการแรก หมายถึง ผู้อยู่ใกล้ร่างกายของตถาคต แต่ไม่สนใจศึกษาปฏิบัติในพระธรรม ก็เสมือนหนึ่งอยู่ไกล เพราะตถาคตคือจิตที่เข้าถึงพระธรรม บุคคลผู้ไม่สนใจพระธรรม จึงไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธเจ้าได้

    ประการหลัง บุคคลใดแม้อยู่ห่างไกลจากร่างกายของตถาคต แต่ยังเคารพนบนอบปฏิบัติในพระธรรมอยู่เสมอ จึงได้ชื่อว่ายังจิตให้เข้าถึงพระธรรม พระธรรมก็ย่อมโยงจิตให้สัมผัสกับจิตของตถาคตได้ จึงเสมือนอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าตลอดไปฉันนั้น

    ๔. "อนึ่งเจ้ายังจำได้ไหม ที่ตถาคตตรัสกับพระอานนท์เมื่อใกล้จักปรินิพพานว่า อานันทะดูก่อนอานนท์ หลังจากตถาคตได้ปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัยทั้งหลายนี่แหละจักเป็นพระศาสดาสอนเธอ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต"

    ๕. "ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมจนจิตเข้าถึงธรรมแล้ว เขาจักเห็นตถาคตคือจิต มิใช่ร่างกาย ความใกล้ตถาคตเห็นตถาคต จึงอาศัยพระธรรมโยงจิตให้เข้าถึงจิตโดยประการฉะนี้"

    ๖. "บุคคลผู้ใดเห็นธรรม จึงมีการเห็นพระพุทธเจ้า ยิ่งหลังจากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ก็ยิ่งทราบชัดว่าร่างกายนั้นมิใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือจิตที่เข้าถึงพระธรรม ท่านต่างหากที่เป็นพระอรหันต์ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าจักมาหลงอยู่ในร่างกายเพื่อประโยชน์อันใด เพราะมีร่างกายจึงมีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจใช่หรือไม่ (ก็รับว่า ใช่) แล้วท่านสัมพเกสี ใช่ร่างกายหรือไม่ (ตอบว่าย่อมไม่ใช่) แล้วร่างกายนั้นใช่ท่าน สัมพเกสีหรือไม่(ตอบว่า ย่อมไม่ใช่) ท่าน สัมพเกสี คือ จิตไม่ใช่ร่างกาย ตถาคตก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าคือจิตไม่ใช่ร่างกาย"

    ๗. "จิตนั้นย่อมไม่เกิดไม่ตาย ถ้าหากปฏิบัติพระธรรมโดยตั้งใจให้เข้าถึง โลกุตรวิมุติ จิตเจ้านั้นย่อมสัมผัสได้กับจิตของตถาคต หรือจิตของ ท่านสัมพเกสี และเมื่อร่างกายที่เจ้าอาศัยอยู่ถึง กาลัง ละกัตวา (ตาย) จิตของเจ้าที่เต็มไปด้วยพระธรรมวินัยนั้น ก็จักมาอยู่รวมกันที่พระนิพพาน ดินแดนอมตะแห่งนี้ ได้อยู่ร่วมกันกับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุก ๆ องค์ รวมทั้งท่านสัมพเกสีด้วย ความพลัดพรากจากกันจักไม่มีอีก ความโศกเศร้าเสียใจจักไม่มีอีก"

    ๘. "ที่ตถาคตตรัสมาทั้งหมด ขอให้เจ้าใคร่ครวญด้วยปัญญาเถิด มิใช่ตรัสให้เชื่อ แต่ตรัสเพื่อเจ้าจักได้เกิดความเห็นชอบด้วยปัญญา การหลงเกาะติดอยู่กับร่างกาย ไม่ว่าของตนเองก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี ของสัตว์ก็ดี ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความทุกข์ อันมี ชาติปิทุกขา มรณังปิทุกขัง โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส สุปายาส เป็นต้น อารมณ์เหล่านี้จักทำให้จิตของเจ้าเศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยหลัง และมีอบายภูมิเป็นที่ไป หรือไม่ก็จักต้องกลับวนเวียนเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ ๗ ชาติ จักมีประโยชน์อันใด แค่ชาตินี้ชาติเดียวยังรู้ทุกข์ไม่พออีกหรือ (รับว่าทุกข์พอแล้ว)"

    ๙. "เมื่อรู้ว่าทุกข์ ก็จงวางภาระขันธ์ ๕ หรือร่างกายนี้เสีย หันมาตั้งใจปฏิบัติในพระธรรม เพื่อยังจิตให้เข้าถึงพระนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน จดจำไว้เสมอ พระพุทธเจ้าก็คือจิต ท่าน สัมพเกสีก็คือจิต เจ้าเองก็คือจิต ยังจะติดร่างกายเพื่อประโยชน์อันใด ให้เร่งรีบทำจิตตามพระธรรมคำสอน บริสุทธิ์ถึงที่สุดเมื่อไหร่ จิตที่เป็นวิมุติของเจ้านั้นจักได้พบพระพุทธเจ้า และท่าน สัมพเกสีอย่างถาวรเมื่อนั้น คำว่าพลัดพรากจากกันจักไม่มีอีก ถ้าหากมัวแต่หลงผิดติดร่างกาย ทำอารมณ์จิตให้เศร้าหมอง อีกนานนักหนากว่าจักได้พบกันอีก ขอให้คิดดูให้ดี ๆ"

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖ ตอนอารมณ์ใจร้อนเป็นปฏิฆะกับการบรรลุของพระอานนท์

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    -------------------------
     

แชร์หน้านี้

Loading...