1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b982e0b8a1e0b989e0b894-e0b89ee0b8b8e0b897e0b898e0b89be0b8a3e0b8b0e0b8a7e0b8b1e0b895e0b8b4-e0b895.jpg

    พุทธประวัติ (ตอนแรก)

    น้าชาติ ประชาชื่น

    nachart@yahoo.com

    ขอพุทธประวัติแบบเรียงลำดับเลยค่ะ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

    หนูแอน

    ตอบ หนูแอน

    ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระนางสิริมหามายา ราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงศ์ ผู้ครองกรุงเทวทหะ พระมเหสีของ พระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติพระโอรส เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ กรุงเทวทหะ (ปัจจุบันคือ ตำบล รุมมินเด ประเทศเนปาล)

    ก่อนกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหม และ เทวราช ในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นฟ้า ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์โลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากร ให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก

    82e0b8a1e0b989e0b894-e0b89ee0b8b8e0b897e0b898e0b89be0b8a3e0b8b0e0b8a7e0b8b1e0b895e0b8b4-e0b895-1.jpg

    พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายก่อน ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ 5 ประการ คือ 1.กาล 2.ประเทศ 3.ตระกูล 4.มารดา 5.อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานที่ควรจะเสด็จจุติลงได้ด้วยจะสำเร็จดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ จึงได้ทรงรับคำทูลเชิญของมวลเทพนิกร

    [​IMG]
    [​IMG]

    เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนนิวา สถานของตนแล้ว เสด็จแวดล้อมไปด้วยเทพบริวารไปสู่นันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จประภาสรื่นรมย์อยู่ในทิพยอุทยานนั้น ครั้นได้เวลาอันสมควรก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ในวันเพ็ญ เดือน 8 ปีระกา และเมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส 10 เดือนบริบูรณ์ ก็มีพระประสูติกาลในวันดังกล่าว

    พระกุมารแรกประสูติเสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ 7 ก้าว แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุปผชาติ อันมีกลีบได้ 100 กลีบ ทรงเปร่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ หมสฺมิ อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวฯ – ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี”

    ครั้งนั้นมีดาบสนาม อสีตดาบส ณ เชิงเขาหิมพานต์ เป็นที่เคารพของราชสกุล รับทราบข่าวการประสูติของพระกุมาร จึงเดินทางมา และได้ทำนายว่า ถ้าพระกุมารอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก

    พระกุมารได้รับการขนานพระนามว่า สิทธัตถะ อันแปลว่า พระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งอันใด สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดังพระประสงค์ รวมถึงพระนาม อังคีรส เพราะมีพระรัศมีโอภาสงามแผ่สร้านออกจากพระสรีรกายเป็นปกติ

    ส่วนสิริมหามายาเทวี เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เข้าล่วงไปได้ 7 วัน ก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถกุมารให้เป็นภาระแก่พระนาง ปชาบดี โคตมี พระเจ้าน้า ซึ่งก็เป็นพระมเหสีของพระองค์ด้วย

    เมื่อพระสิทธัตถกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปะธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์

    82e0b8a1e0b989e0b894-e0b89ee0b8b8e0b897e0b898e0b89be0b8a3e0b8b0e0b8a7e0b8b1e0b895e0b8b4-e0b895-2.jpg

    ครั้นพระกุมารมีพระชันษาได้ 16 ปี ควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาตรัสขอ พระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิษฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา พระสิทธัตถะเสด็จอยู่บนปราสาท 3 หลัง 3 ฤดู บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนม์ได้ 29 ปี มีพระโอรสประสูติแต่นางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร

    ฉบับพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) ตามรอยตรัสรู้และปรินิพพาน



    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_719802
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 25 มกราคม 2018
  2. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    พุทธประวัติ (ตอนจบ)

    1-357-696x399.jpg
    น้าชาติ ประชาชื่น

    nachart@yahoo.com

    เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) “หนูแอน” ถามมาเรื่องพุทธประวัติ เมื่อวานตอบช่วงเวลาประสูติและดำรงพระยศเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว วันนี้อ่านกันต่อ

    วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตร ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ ทรงดำริว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่น มีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้นได้บ้างกระมัง

    แต่การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้น เป็นการยากยิ่งสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริแล้วก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ

    Paintings_of_Life_of_Gautama_Buddha_-_Asalha_Puja.jpg

    ทรงตัดความอาลัยเยื่อใยในราชสมบัติ พระชายา พระโอรส ทั้งสิ้น พระองค์ทรงม้ากัณฐกะฝ่าราตรีกาลสู่แม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้ จวนเวลาใกล้รุ่ง ทรงตัดพระเมาฬี แล้วมอบเครื่องประดับและม้ากัณฐกะให้นายฉันนะ ผู้ติดตาม นำกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้น ฆฏิการพรหม น้อมนำไตรจีวรและบาตรมาจาก พรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของ พระอรหันต์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต

    ระยะแรกหลังจากทรงออกบวช ทรงศึกษาในสำนักอาฬาร ดาบส กรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ เมื่อสำเร็จการศึกษาทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางหลุดพ้นจากทุกข์ตามที่ทรงมุ่งหวังไว้ จึงลาอาฬาร ดาบสและอุทกดาบสเดินทางไปแถบแม่น้ำคยา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม กรุงราชคฤห์ และเมื่อทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะคิดค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเริ่มด้วยการทรมาน พระวรกายตามวิธีการของโยคี เรียกว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา

    ณ แม่น้ำเนรัญชรานั้น พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลา 6 ปี ยังคงมิได้ค้นหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม

    มาตอนเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ดิถีกลางเดือน 6 ปีระกา นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นไทรด้วยอาการสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายทอดข้าวมธุปายาสนั้น ส่วนโสตถิยะพราหมณ์ที่ทรงพบในระหว่างทาง ก็น้อมถวายหญ้าคา 8 กำ พระมหาบุรุษรับหญ้าคาแล้ว เสด็จไปร่มไม้อสัตถ ณ ด้านปราจินทิศ อธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้นบัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตะการก็บรรดาลผุดขึ้น

    พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับรัตนบัลลังก์แก้ว ขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจีนทิศ หันพระปฤษฎางค์ไปทางลำต้นโพธิพฤกษ์ ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าอาตมายังมิได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระโลหิตและพระมังสะจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็จะไม่เลิกละความเพียรเสด็จลุกไปจากที่นี้

    pnart560510001000201.jpg

    เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ เริ่มบำเพ็ญเพียร และในที่สุดทรงชนะความลังเลพระทัย ทรงบรรลุความสำเร็จ เมื่อทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตพ้นจากกิเลสทั้งปวง พระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน 6 ปีระกา ธรรมสูงส่งที่ตรัสรู้นั้นคือ อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้แสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือธัมมจักกัปปวัตนสูตร ณ วันเพ็ญเดือน 8 (เดือนอาสาฬห์) ในขณะที่ทรงแสดงธรรมนั้น ท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ คือพระโสดาบัน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกการบวชครั้งนี้ว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพุทธศาสนา

    ล่วงถึงวาระปรินิพพาน หลังจากพระพุทธเจ้าแสดงปัจฉิมโอวาท ซึ่งวันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน 6) ในยามสุดท้ายของวันนั้น ณ ป่าไม้สาละ ของกษัตริย์มัลละ กรุงกุสินารา พระองค์ประทับใต้ต้นสาละคู่ เสด็จปรินิพพานด้วยพระอาการสงบ ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์นักที่วันประสูติ วันตรัสรู้ และ วันปรินิพพานตรงกัน คือ วันเพ็ญเดือน 6


    ขอบคุณที่มา
    https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_721174
     

แชร์หน้านี้

Loading...