ฟ้าสางทางความลับสุดยอด

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Bhuddhaarmy, 8 สิงหาคม 2005.

  1. Bhuddhaarmy

    Bhuddhaarmy สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    24
    ค่าพลัง:
    +20
    ฟ้าสางทางความลับสุดยอด

    • ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ตามประสงค์ โดยกฏอิทัปปัจจยตา ดังนั้น ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราเติมธรรมะลงไปได้ตามที่เราต้องการ โดยการปฏิบัติธรรม. (๑)
    • ถ้ามีการศึกษาที่เห็นแจ้งจากภายใน (เป็นสันทิฏฐืโก) แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทาสทางสติปัญญาของใคร แม้แต่ของพระพุทธเจ้า : นี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา (ตามกาลามสูตรข้อสิบ) (๒)
    • ถ้าใช้หลักกาลามสูตรเป็นเครื่องตัดสินว่า เป็นสิ่งที่ควรรับถือเป็นหลักปฏิบัติแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นคำสอนของใคร เป็นของเดิมแท้หรือเป็นของใหม่ ฯลฯ หรือว่ามีประวัติมาอย่างไร (๓)
    • การมีธรรมะแท้จริง ก็คือสามารถดำรงตนอยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวง; ไม่เกี่ยวกับปริญญาบัตร ฯลฯ พิธีรีตอง หรือ หลักปรัชญาชนิดฟิโลโซฟี่ใดๆ (๔)
    • เรามีวิธีทำให้ชีวิตเป็นของเย็น ทุกอิริยาบถตามที่เราประสงค์จะมี ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ : เพื่อตนเอง - เพื่อสังคม - ตามธรรมชาติล้วนๆ (๕)
    • การศึกษา - ศาสนา - วัฒนธรรม - ประเพณี - การเมือง - การปกครอง - การเศรษฐกิจ - ศิลปะ ฯลฯ - วิทยาการใดๆ จะถือว่าถูกต้องได้ เฉพาะเมื่อพิสูจน์การดับทุกข์ได้ในตัวมันเอง (๖)
    • การเรียน - การรู้ - การมีความรู้ - การปฏิบัติ - การใช้ความรู้ให้สำเร็จประโยชน์ เหล่านี้ มิใช่สิ่งเดียวกัน; ระวังการมี การใช้ ให้ถูกต้อง (๗)
    • ชีวิตเย็นเป็นนิพพาน ในปัจจุบัน คือไม่มีกิเลส เกิดขึ้นแผดเผาให้เร่าร้อน ทุกเวลานาที ทุกอิริยาบถ, ในความรู้สึกอย่างสันทิฏฐิโก (คือรู้สึกอยู่ภายในใจ)
    • มีชีวิตเย็นเป็นนิพพาน (นิพฺพุโต) ในปัจจุบันได้โดยที่ทุกอย่างถูกต้องแล้ว พร้อมแล้ว ไม่ว่าสำหรับจะตายหรือจะอยู่; เพราะไม่มีอะไรยึดถือไว้ว่า กูของกู (๙)
    • กิจกรรมทางเพศเป็นของร้อน และเป็นเรื่อง "บ้าวูบเดียว"; แต่คนและสัตว์ (แม้ต้นไม้?) ก็ตกเป็นทาสของมันยิ่งกว่าสิ่งใด (๑๐)
    • อวัยวะสืบพันธุ์ มีไว้สำหรับผู้ต้องการสืบพันธุ์ หรือผู้ต้องการรสอร่อยจากกามคุณ (กามอสฺสาท) อันเป็นค่าจ้างให้สัตว์สืบพันธุ์ ด้วยความยากลำบากและน่าเกลียด; แต่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้จะอยู่อย่างสงบ (๑๑)
    • เรื่องเพศหรือเกี่ยวกับเพศ ธรรมชาติสร้างมาสำหรับมนุษย์ - สัตว์ - พฤกษชาติ ไม่สูญพันธุ์ ; ไม่ใช่ของขวัญที่ใครจะเรียกร้อง ไม่ใช่ของควรบูชาในฐานะสิ่งสูงสุด ว่าเป็นกามเทพ เป็นต้น (๑๒)
    • กามารมณ์เป็นค่าจ้างทางเพศ เพื่อการสืบพันธ์ อันสกปรกเหน็ดเหนื่อยและน่าเกลียดจากธรรมชาติ, มิใช่ของขวัญ หรือ หรรษทานจากเทพเจ้าแต่ประการใด เลิกบูชากันเสียเถิด (๑๓)
    • กามกิจก็เป็นหน้าที่ที่เป็นธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน; แต่ต้องประพฤติกันอย่างถูกต้องและพอดีสำหรับอริยชนที่ครองเรือน (๑๔)
    • การสมรสด้วยจิตหรือทางวิญญาณ (เช่น ทิฏฐิตรงกัน) นั้นเป็น "พรหมสมรส" ยังบริสุทธิ์ สะอาดดี ไม่ก่อให้เกิดทุกข์หรือปัญหาใดๆ ; ส่วนการสมรสทางกาย หรือเนื้อหนัง นั้นสกปรก น่าเกลียด เหน็ดเหนื่อยเกินไป จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นการสมรส (๑๕)
    • กามที่เกี่ยวกับเพศ เป็นได้ทั้งเทพเจ้าและปีศาจ ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ประกอบกิจนั้น มีธรรมะผิดถูกมากน้อยเพียงไร (๑๖)
    • พวกที่ถือพระเจ้า ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่พระเจ้าบันดาล ส่วนชาวพุทธถือว่าแล้วแต่การกระทำผิดหรือถูก ต่อกฏอิทัปปัจจยตา; ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "พระเจ้า" กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง คือมีทั้งที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล และไม่มีความรู้สึกอย่างบุคคล อย่างไหนจะเป็นที่พึ่งได้และยุติธรรม ไม่รับสินบน (๑๗)
    • พระเจ้าคือสิ่งสูงสุดนั้น ไม่ดี-ไม่ชั่ว แต่อยู่เหนือดีเหนือชั่ว จึงสามารถให้เกิดความหมาย ว่าดี ว่าชั่ว ให้แก่ความรู้สึกของมนุษย์ได้ทุกอย่างจนงงไปเอง (๑๘)
    • พระเจ้า คือ กฏ สำหรับบังคับสิ่งที่เกิดจากกฏให้ต้องเป็นไปตามกฏ โดยเด็ดขาด และเที่ยงธรรม; ดังนั้น พระเจ้าจึงอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงได้จริง (๑๙)
    • พระเจ้าเป็นที่รวมแห่งความจริง มิใช่แห่งความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังหละหลวม และเป็นมายาอยู่มาก จนต้องเป็นคู่กันกับซาตานหรือมารร้ายไปเสีย (๒๐)
    • ฟ้าสางทางความลับสุดยอด (๒)
      • ความจริงเป็นสิ่งเดียวไม่มีคู่ (เอกํ หิ สจฺจํ นทุตียมตฺถิ) ; แม้จะมีความไม่จริง (ตามที่ใครบัญญัติขึ้น) มันก็เป็นความจริงของความไม่จริง (๒๑)
      • พระเจ้าที่เป็นทั้งผู้บันดาลให้เกิด และปลดเปลื้องความทุกข์ได้แท้จริง นั้นคือ กฏอิทัปปัจจยตา; จงรู้จักท่านและกระทำต่อท่านให้ถูกต้องเถิด (๒๒)
      • พระเจ้าที่แท้จริง เป็นหัวใจของศาสนาทุกๆ ศาสนา นั่นคือ "กฏ" หรือ ภาวะของความถูกต้องตามธรรมชาติ เพื่อความรอดของมนุษย์"; พุทธศาสนายิ่งมีกฏหรือภาวะนั้นที่เป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา (๒๓)
      • ถ้าอยากพบ "พระเจ้าที่แท้จริง" อย่าตั้งปัญหาอย่างอื่นใดขึ้นมา นอกจากปัญหาว่า อะไรที่สร้าง - ควบคุม - ทำลายโลก - ใหญ่ยิ่ง - รู้สิ่งทั้งปวง - มีในที่ทั้งปวง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิทยาศาสตร์แห่งปัจจุบันนี้ (๒๔)
      • คำสอนของผู้รู้แท้จริง แม้เป็นเวลา ๒-๓ พันปีมาแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนคำพูดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ นั้นคือ คำสอนของพระพุทธองค์แก่ชาวกาลาม ที่เรียกว่า กาลามสูตร (ดังต่อไปนี้) (๒๕)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ฟังตามๆ กันมา"; เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้นก็ได้, เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ฟังตามๆ กันมา ก็ได้ (๒๖)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทำตามสืบๆ กันมา"; เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น หรือ เปลี่ยนไปๆ ตลอดเวลาที่ทำตามๆ กันมา ก็ได้ (๒๗)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน"; เพราะการเล่าลือเป็นการกระทำของพวกที่ไม่มีสติปัญญา, มีแต่โมหะ ก็ได้ (๒๘)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "มีที่อ้างอิงในปิฎก(ตำรา)"; เพราะปิฎกหรือตำราทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป ตามปัจจัยที่แวดล้อมหรือตามกฏอิทัปปัจจยตา ก็ยังได้ (๒๙)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางตรรกะ"; เพราะตรรกะเป็นเพียงความคิดชั้นผิวเปลือก, ใช้เหตุผลและเดินตามเหตุผลชั้นผิวเปลือก (๓๐)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางนยายะ"; เพราะนยายะ เป็นการคาดคะเนที่เดินไปตามเหตุผลเฉพาะหน้าในการคาดคะเน นั่นเอง (๓๑)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามสามัญสำนึก"; เพราะสามัญสำนึกเดินตามความเคยชินของความรู้สึกชั้นผิวเปลือก (๓๒)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน"; เพราะทิฏฐิของเขาผิดได้ โดยเขาไม่รู้สึกตัว (๓๓)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ"; เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเอง ในการพิจารณา (๓๔)
      • อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "สมณะผู้พูดเป็นครูของเรา"; เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเองในการศึกษา (๓๕)
      • ในกรณีเหล่านี้ เขาจะต้องใช้ยถาภูตสัมมัปปัญญา หาวี่แววว่า สิ่งที่กล่าวนั้น มีทางจะดับทุกข์ได้อย่างไร; ถ้ามีเหตุผลเช่นนั้น ก็ลองปฏิบัติดู ได้ผลแล้ว จึงจะเชื่อและปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป กว่าจะถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์ (๓๖)
      • กฏของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมีกาย -ใจ อย่างที่สัตว์ทั้งหลายกำลังมี และให้ใจคิดไปตามผัสสะจากสิ่งแวดล้อม จนมีการบัญญัติเรื่องทิฏฐิ เรื่องกรรม เรื่องสุขทุกข์ เรื่องดีชั่ว เป็นต้น (๓๗)
      • ก ข ก กา แห่งการดับทุกข์ คือการรู้ความลับของอายตนิกธรรม ๕ หมวด คือ อายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก วิญญาณหก ผัสสะหก เวทนาหก ตามที่เป็นจริงอย่างไร ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ต้องหามาศึกษาให้รู้อย่างละเอียด (๓๘)
      • การเกิดทางร่างกายจากท้องแม่ นั้นไม่สำคัญยังไม่เป็นปัญหา, จนกว่าจะมีการเกิดทางจิตใจ คือเกิด ตัวกู-ของกู จึงจะเป้นการเกิดที่สมบูรณ์คือมีปัญหาและมีที่ตั้งแห่งปัญหา กล่าวคือ ความทุกข์ (๓๙)
      • ถ้าพ้นจากการเกิดแห่งตัวกูเสียได้ ย่อมพ้นจากปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงได้ และจะพ้นจากปัญหาแห่งการเกิดทางกายทั้งหมด ได้เองด้วย (๔๐)
        • การได้เกิดมามีชีวิต ยังไม่ควรจัดว่าบุญหรือบาป แต่ยังเป็นกลางๆ อยู่; แล้วแต่ว่าเราจะจัดให้เป็นอย่างไร คือเป็นบุญเป็นบาป หรือให้พ้นบุญพ้นบาปไปเสียเลยก็ได้ (๔๑)
        • มนุษย์ที่ไม่เข้าถึง หรือไม่รู้ความลับสุดยอดของมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ไปได้อย่างไร; มนุษย์คือผู้ที่อาจจะมีจิตใจสูง อยู่เหนือปัญหาหรือความทุกขืพอสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ หรือเหนือปัญหาและความทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นยอดของมนุษย์ (๔๒)
        • มนุษย์ไม่ควรบูชาอะไร นอกจากความถูกต้องของความเป็นมนุษย์เอง คือความมีจิตอยู่เหนือปัญหาเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง ซึ่งความหมายนี้มีความหมายรวมถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ อยู่ด้วย ในฐานะเป็นภาวะที่ถูกต้องถึงที่สุด (๔๓)
        • ถือศาสนาไหนอย่างไร แล้วความทุกข์ไม่มีแก่ท่าน ศาสนานั้นแหละถูกต้องเหมาะสมแก่ท่านอย่างแท้จริง พุทธศาสนารวมอยู่ในศาสนาชนิดนี้ กลัวแต่ว่าท่านจะไม่รู้จักตัวความทุกข์เสียเอง (๔๔)
        • เมื่ออบรมจิตถึงที่สุดแล้ว จิตจะบังคับกายและตัวมันเองได้ในทุกกรณี สำหรับจะไม่มีความทุกข์ในทุกกรณีอีกเช่นกัน; ขอให้เราศึกษาธรรมชาติ หรือธรรมสัจจะข้อนี้กันเถิด (๔๕)
        • ความรู้สึกอันเป็นทุกข์ทรมาน กับลักษณะแห่งความทุกข์ทรมาน มิใช่เป็นสิ่งเดียวกัน; คนอาจจะมีทุกขลักษณะโดยที่จิตไม่มีทุกขเวทนา (๔๖)
        • คนโบราณที่รู้ธรรมะกล่าวว่า "ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ (ไม่น่ารัก)" นั้น มีความจริงว่า ถ้าไปยึดถือเอาด้วยอุปาทานแล้ว ทั้งความชั่วและความดี มันจะกัดผู้นั้นโดยเท่ากัน จงรู้จักมันกันในลักษณะเช่นนี้เถิดทั้งความชั่วและความดี (๔๗)
        • ทารกและปุถุชนรู้จักทำอะไรๆ ก็แต่เพื่อตนหรืออย่างมากก็เพื่อโลก; แต่สัตบุรุษหรืออริยชน รู้จักทำอะไรๆ ก็เพื่อธรรม คือหน้าที่อันถูกต้องของมนุษย์ (๔๘)
        • ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกระดับจะต้องทำเพื่อความรอด ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ซึ่งเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน (๔๙)
        • เมื่อกล่าวโดยพิสดาร คำว่า "ธรรมะ" มี ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติ - ตัวกฏธรรมชาติ - หน้าที่ตามกฏธรรมชาติ - และผลจากหน้าที่นั้นๆ (๕๐)
        • ในคนเราคนหนึ่งๆ กายและใจเป็นตัวธรรมชาติ กฏที่บังคับชีวิตหรือกายใจอยู่ เรียกว่า กฏของธรรมชาติ หน้าที่ที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของกายและใจ เรียกว่า หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ผลเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามที่เกิดขึ้น เรียกว่า ผลเกิดจากหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ (๕๑)
        • ธรรมะสามารถช่วยได้ในทุกกรณีอย่างแท้จริง; หากแต่บัดนี้เรายังไม่รู้จักธรรมะและมีธรรมะ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ โดยนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและทันแก่เวลา (๕๒)
        • เราต้องเตรียมตัวไว้อย่างสำคัญที่สุดสักอย่างหนึ่ง คือเมื่อบางสิ่งหรือแม้ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ แล้วเราก็ยังไม่เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง (๕๓)
        • พวกเราในยุคนี้ ไม่ได้ค้นคว้าพิสูจน์ทดลองธรรมะเหมือนที่เรากระทำต่อวิชาวิทยาศาสตร์ - ประวัติศาสตร์ - เศรษฐกิจ - ฯลฯ ที่เรากำลังหลงใหลกันนัก; ดังนั้น จึงยังไม่มีธรรมะมาช่วยเรา (๕๔)
        • เรารู้ธรรมะไม่ได้ เพราะไม่รู้แม้แต่ปัญหาในชีวิตของตัวเอง ที่กำลังมีอยู่ ว่ามีอยู่อย่างไร จึงได้แต่ลูบคลำธรรมะในลักษณะที่เป็นสีลัพพตปรามาส หรือไสยศาสตร์ ไปเสียหมด (๕๕)
        • คนมีปัญญาแหลมคมอย่างยอดนักวิทยาศาสตร์ ก็มิได้ใช้ความแหลมคมของมัน ส่องเข้าไปที่ตัวปัญหาอันแท้จริงของชีวิต มัวจัดการกันแต่ปัญหาเปลือก อันมีผลทางวัตถุ ร่ำไป (๕๖)
        • อาจารย์สอนธรรมะ แม้ในขั้นวิปัสสนา ก็ยังสอนเพื่อลาภสักการสิโลกะของตนเองเป็นเบื้องหน้า แล้วจะไม่ให้โมหะครอบงำทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ได้อย่างไร (๕๗)
        • คนมาเรียนธรรมะวิปัสสนา หวังจะได้อัสสาทะ(รสอร่อย) แก่กิเลสของเขา ตามรูปแบบนั้นๆ ยิ่งขึ้นไป จึงไม่พบวิธีที่จะลิดรอนกำลังของกิเลสเอาเสียเลย (๕๘)
        • ผู้ที่เรียนโดยมาก ไม่ได้เรียน ด้วยจิตใจทั้งหมด เพราะยังแบ่งจิตใจไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อลองภูมิอาจารย์ หรือ แย่งตำแหน่งอาจารย์ ก็ยังมี ดังนั้น จึงเรียนได้น้อย รับเอาไปน้อย (๕๙)
        • แม้จะเป็นคนบรมโง่สักเท่าไร เขาก็ยังคิดว่า เขายังมีอะไรที่ดีกว่าอาจารย์ อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ; ดังนั้น จึงมองข้ามความรู้ของอาจารย์เสียบางอย่าง หรือมากอย่างก็ยังมี (๖๐)
        • ลูกศิษย์สมัยวัตถุนิยม คิดจะเอาอะไรจากอาจารย์ มากกว่าที่จะให้แก่อาจารย์ มากมายหลายร้อยเท่านัก แม้ที่คิดจะไม่ให้อะไรเลย ก็ยังมี โดยถือว่าอาจารย์เป็นลูกจ้าง (๖๑)
        • ความเคารพเชื่อฟังครูนั่นแหละ คือ กระบุงที่จะตักตวงเอาความรู้จากครู; ขอแต่อย่าทำตนเป็นกระบุงก้นรั่วเสียเอง (๖๒)
        • เหนือฟ้า ยังมีฟ้า; เหนือพระพุทธเจ้า ยังมีสิ่งที่พระองค์ทรงเคารพ นั่นก็คือ กฏอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท อันเป็นมหาอริยสัจ ที่ได้ตรัสรู้และดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง (๖๓)
        • พวกเราส่วนมาก ไม่รู้สัจจภาวะของเราเองที่มีอยู่จริง คือความที่ พระพุทธเป็นพ่อ พระธรรมเป็นแม่ พระสงฆ์เป็นพี่ จึงยังเคว้งคว้างกันไปหมด (๖๔)
        • ธรรมะแท้ คือ หน้าที่อันถูกต้องของตัวใครตัวมัน อันเขาจะต้องทำให้ดีที่สุด จนพอใจตัวเอง ยกมือไหว้เคารพตัวเองได้ อยู่ตลอดเวลา; ใครมีธรรมะอย่างนี้กันบ้าง (๖๕)
        • การงานเป็นสิ่งที่ทำให้สนุกได้ จนวาระสุดท้าย แต่เป็นความลับของธรรมชาติ ซึ่งจะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อรู้ธรรมะอย่างเพียงพอ ถึงความหมายอันสูงสุดของธรรมะนั้น จึงจะมีธรรมะในการงาน (๖๖)
        • ธรรมะคือหน้าที่อันแท้จริงของสิ่งที่มีชีวิต ที่ใครมีแล้ว สามารถดำรงจิตไว้อย่างสุขสงบเย็น ไม่เป็นทุกข์ หรือแม้แต่เพียงเศร้าหมองหงุดหงิดรำคาญ ซึ่งล้วนแต่เกิดมาจากความไม่รู้ธรรมะทั้งนั้น (๖๗)
        • ฆราวาสธรรม มิใช่สำหรับให้ฆราวาสได้จมอยู่ในโลก หากแต่สำหรับให้ฆราวาสนั้น ได้อาศัยยกตัวเองขึ้นมาเสียจากปลักของฆราวาส พ้นทุกข์ เป็นโลกุตตระ เป็นนิพพานในที่สุด (๖๘)
        • ศาสนวัตถุก็ดี ศาสนสถานก็ดี ศาสนพิธีก็ดี ยิ่งมีมาก ยิ่งปิดบังการเห็นธรรม; แม้แต่จะเห็นเปลือกของธรรมก็ยังยาก จะต้องช่วยกันชำระสะสาง ปรับปรุงสิ่งนั้นๆ ให้มีการปิดบังน้อยลงอีกมาก (๖๙)
        • เมื่อพระองค์ยังทรงอยู่ก็ดี เมื่อทรงล่วงลับไปแล้วโดยพระกายก็ดี การเห็นพระองค์โดยแท้จริงมีเพียงอย่างเดียว วิธีเดียวเท่านั้น คือการเห็นธรรม ( ธรรมกาย) (๗๐)
        • ความดับของไฟ หาพบได้ที่ไฟ ความดับของทุกขื หาพบได้ที่ความทุกข์; นิพพานหาพบได้ที่วัฏฏสงสาร, แต่ไม่มีใครเห็นหรือเชื่อ เลยไม่ได้หา จึงไม่พบ (๗๑)
        • นิพพานเป็นของแปลก : ยิ่งต้องการยิ่งหนีไกล; เมื่อไม่ต้องการอะไร ก็วิ่งมาหาเอง ; แต่อย่าพูดอีกเลย จะกลายเป็นแรดกันเสียหมด เพราะแรดไม่รู้จักฟังเสียงปี่ เอาเสียเลย (๗๒)
        • การล้างบาป - การยกเลิกกรรม มีได้แต่โดยการกระทำให้ถูกต้องกฏอิทัปปัจจยตา; มิใช่โดยพิธีรีตอง หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ (๗๓)
        • สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร ไม่ว่าในแง่ของกาย - จิต - วิญญาณ; คำว่า "สัตว์" มีความหมายว่า "ข้อง", คือข้องอยู่ในความมีชีวิต ตามกฏของอิทัปปัจจยตา (๗๔)
        • รสอร่อย (อัสสาทะ) ของกิน - กาม - เกียรติ เป็นสิ่งที่หลงกันเกินไป จนเกิดปัญหา; ที่แท้มันมีความเลวร้าย (อาทีนวะ) ด้วยโดยเท่ากัน เอามันมาใช้เป็นกำลังงาน ในการทำความรอดเสียดีกว่า (๗๕)
        • วัยรุ่นทั้งหลายรู้จักแต่รสอร่อย (อัสสาทะ) ทางระบบประสาท จึงตั้งต้นคิดผิด - ทำผิด - พูดผิด จนเป็นปัญหาตลอดชีวิต ทั้งแก่ตนเอง และแก่สังคม (๗๖)
        • จิตที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ โดยความเป็นตัวกู-ของกู เป็นจิตที่จะทำหน้าที่การงานใดๆ ได้ดีที่สุด แต่ไม่มีใครเคยลอง หรือกล้าลอง เพราะเข้าใจผิดต่อคำว่ายึดมั่นถือมั่น (๗๗)
        • งานมหกรรมระดับชาติที่จัดกันขึ้นอย่างมากมายนั้น เรามองกันแต่เพียงทางวัตถุ; ส่วนความเสียหายด้านจิตใจทางศีลธรรมนั้น ไม่สนใจ (๗๘)
        • ดนตรี - เพลง - รำ นั้น มีได้ทั้งอย่างส่งเสริมกิเลส และรำงับกิเลส โดยเท่ากัน; แต่เรามิได้ทำกันอย่างเลือกเฟ้น ดังนั้น ส่วนใหญ่ จึงมีผลแต่ส่งเสริมกิเลส (๗๙)
        • ทุกขลักษณะ - ทุกขเวทนา - ทุกขตถา (หรือทุกขอริยสัจ) เหล่านี้ ดูให้ดี : มิใช่สิ่งเดียวกัน; แต่ก็มิใช่อื่นจากกัน หรือไม่เกี่ยวข้องกันเสียเลย (๘๐)
          • ทุกข์ในความหมายใดก็ตาม จะเกิดเป็นอาการทุกข์ทรมานขึ้นมา ก็ต่อเมื่อมีอุปาทานเข้าไปยึดถือ; ดังนั้น จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) กันเสียให้ดีๆ เถิด (๘๑)
          • ความรู้สึกเป็นความทุกข์ ส่วนมากเกิดมาจากการทำเล่นๆ อย่างสะเพร่าๆ ให้กับภาวะที่ไม่เป็นทุกข์ ด้วยความขาดสติของท่านเอง; ดังนั้น เลิกการกระทำอย่างนั้นกันเสียเถิด (๘๒)
          • ความรู้สึกทุกข์นั้นเป็นนรก, ความรู้สึกสุขนั้นเป็นสวรรค์, เหนือทุกข์เหนือสุขนั้นเป็นนิพพาน; ขอให้รู้จักแยกแยะกันเสียอย่างถูกต้อง เพราะล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจ อย่างเป็นสันทิฏฐิโกด้วยกันทั้งนั้น (๘๓)
          • ความเจ็บของกาย กับความทุกข์ของใจ นั้นเป็นคนละเรื่องกัน แม้มันจะเนื่องกันอยู่; จงดูให้เห็นชัดจริงๆ, มิฉะนั้น ท่านจะไม่อาจจัดการอะไรกับมันได้เลย (๘๔)
          • "เราเป็นสุข" นั้นไม่อาจจะมีได้, มีได้เพียงแต่ว่า "จิตไม่รู้สึกเป็นทุกข์"; เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่าเรานั้นเป็นเพียงมายา และสุขนั้นก็มิได้มีอยู่จริง, ไม่เหมือนสิ่งที่เรียกว่า "จิต" และ "ทุกข์" ซึ่งมีอยู่จริง (๘๕)
          • ถ้ามันแสดงลักษณะว่าจะไม่ได้ หรือจะต้องตาย, ก็สมัครที่จะไม่เอา หรือสมัครตายเสียก่อนที่จะตายจริง, ก่อนแต่ที่จะมีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะความผิดหวัง; นี้เป็นหลักธรรมที่ดับทุกข์นั้นๆ ได้, เพราะไม่อยาก - ไม่หวัง - ไม่ยึดมั่น เพราะเห็นสุญญตา หรือ อนัตตา ในขั้นสูงสุด (๘๖)
          • ถ้าทำอะไรด้วยสติปัญญา มิใช่ด้วยความอยากหรือความหวัง, ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ เพราะความผิดหวัง; ดังนั้น เมื่อสิ่งใดแสดงอาการต่อต้านในลักษณะที่เรียกว่าผิดหวัง ก็รีบสลัดโยนทิ้งสิ่งนั้นออกไปเสียก่อน เพื่อไม่ต้องมีความผิดหวัง, แล้วก็ทำสิ่งนั้นต่อไปด้วยสติปัญญาล้วนๆ โดยไม่ต้องหวัง จนกว่าจะประสบความสำเร็จ (๘๗)
          • ตู้เย็นเกิดไม่เย็นขึ้นมา ก็เพราะขาดระบบปัจจัยแห่งความเย็น, ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน เกิดไม่เย็นขึ้นมา ก็เพราะขาดปัจจัยแห่งความเย็น ตามกฏอิทัปปัจจยตา ฉันใดก็ฉันนั้น (๘๘)
          • จิตจะเย็นเป็นนิพพานอยู่ทุกเวลานาที ตลอดเวลาที่รู้สึกว่า "ทุกอย่างถูกต้องและเป็นไปดี" นี้เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฏอิทัปปัจจยตา (๘๙)
          • จิตชนิดหนึ่งซึ่งเป็นทุกข์ไม่ได้ แม้ทางกายจะกำลังได้รับทุกขเวทนาสักปานใด ก็ยังไม่ผิดปกติหรือโทมนัสแม้แต่น้อย : นี้ก็ยังเป็นสิ่งที่มีได้ (๙๐)
          • แม้พระอรหันตเถรี ก็ยังกล่าวคำเยาะเย้ยความทุกข์ ในฐานะเป็นสิ่งที่ไม่มีพิษสงอะไร; ท้าให้ฝนตกเมื่อหลังคามุงดีแล้ว! (๙๑)
          • การนมัสการพระพุทธองค์ ควรจะเลยไปถึงสิ่งที่พระองค์ทรงเคารพ คือ พระเจ้าอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทด้วย จึงจะสมบูรณ์ (๙๒)
          • พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ตรัสพระไตรปิฎกไว้จริงหรือไม่ นี้ไม่เป็นปัญหา พักไว้ก่อนก็ได้; พิจารณากันแต่ว่า ถ้อยคำที่ตรัสไว้นั้น ครั้นปฏิบัติตามแล้ว ดับทุกข์ได้หรือไม่ (๙๓)
          • หลักกาลามสูตร (ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) เป็นเครื่องช่วยให้เราไม่ต้องมีปัญหาว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นจริงหรือไม่? คัดลอกกันมาถูกต้องหรือไม่? มีปลอมปนหรือไม่? (๙๔)
          • เมื่อทรงพระชนม์อยู่ ได้ตรัสว่า การเห็นกายของพระองค์ แต่ไม่เห็นธรรม นั้นไม่ชื่อว่า เห็นพระองค์; บัดนี้เราจะเห็นอัฐิธาตุ รูปวาด รูปหล่อของพระองค์ ว่าเป็นพระองค์ได้อย่างไร รีบเห็นธรรมกันเสียเถิด! (๙๕)
          • คนแขวนพระเครื่อง คือคนไม่ถือพระพุทธศาสนา เพราะถือสีลพตปรามาส หวังพึ่งของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ไม่พึ่งตัวเอง ไม่เชื่อกรรม หรือกฏอิทัปปัจจยตา ตามหลักพระพุทธศาสนา (๙๖)
          • ความถูกต้องแท้จริง คือถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ นั้นมิใช่ความถูกต้องของเรา ซึ่งมักจะเป็นความถูกต้องของกิเลส ตามทิฏฐิของเรา (๙๗)
          • หน้าที่ของเรา คือหน้าที่ที่จะต้องสอดส่องไปถึงว่า เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเรา เขาต้องการอะไรและเราจะช่วยเขาได้อย่างไรอีกด้วย แต่หน้าที่นี้ ไม่ค่อยมีใครชอบ (๙๘)
          • สิทธิที่จะเรียกร้องอย่างยุติธรรมนั้น จะเกิดต่อเมื่อได้ทำหน้าที่นั้นๆ แล้วจริงๆ ; แต่คนส่วนมาก เรียกร้องสิทธิก่อนการทำหน้าที่, และยังเรียกร้องมากเกินไปอีกด้วย (๙๙)
          • อย่าหลงไปคิดว่า "ตายดีตายร้ายก็ช่างหัวมันไหนๆ มันก็ตายเท่ากัน"; แต่จงตายให้ดี มีศิลป์ที่สุด คือตายอย่างรู้สึกว่าไม่มีใครตาย มีแต่สิ่งปรุงแต่งเปลี่ยนไป (๑๐๐)
            • การกระทำของมนุษย์ตามธรรมดาที่เรียกว่า "การพัฒนาๆ" ย่อมมีการพัฒนาให้แก่กิเลสรวมอยู่ด้วยอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง; ดังนั้น ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเพิ่มปัญหา (๑๐๑)
            • คำว่า "พัฒนา" (วฑฺฒน) นั้นแปลว่า "รกหนาขึ้น" ดังนี้ก็ได้, ว่า "บ้ากว่าธรรมดา" ก็ได้ ดังนั้นควรระวังสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" นั้นให้ดีๆ มันจะเพิ่มปัญหาให้ (๑๐๒)
            • [​IMG]การพัฒนา เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยโพธิปัญญา; อย่าทำตามลำพังกิเลสตัณหา หรือแม้แต่สัญชาตญาณ; มันจะเลวร้ายกว่าการไม่พัฒนาอีกมากมายนัก (๑๐๓)
            • เพราะเขาเอากิเลสเป็นตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว เขาจึงพัฒนาตัวเอง และช่วยผู้อื่นให้พัฒนาแต่ในทางเป็นทาส หรือเป็นปัจจัยแก่กิเลส ไม่เหมาะแก่ตัวที่เป็นธรรมเสียเลย (๑๐๔)
            • ถ้าท่านมองเห็นว่า พฤติกรรมต่างๆ ของท่านหรือเกี่ยวกับท่าน ได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตาแล้ว ปรกติสุขจะมีแก่จิตใจของท่านทุกเวลานาที (๑๐๕)
            • อย่ามุ่งหมายความสุขอันประเสริฐอะไรๆ ให้มากไปกว่าความปกติของจิตที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่กระทบ; เพราะไม่มีสุขอะไรประเสริฐยิ่งไปกว่าความปกติของจิตนั้น (๑๐๖)
            • ในโลกแห่งมนุษย์ยุคปัจจุบัน คนอยู่กันอย่างกิเลสบังคับคน, มิใช่คนบังคับกิเลส; ดังนั้น การกระทำตามอำนาจของกิเลส จึงเต็มไปทั้งโลก (๑๐๗)
            • สวรรค์อันแท้จริง มีได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือการกระทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ จนยกมือไหว้ตัวเองได้ สวรรค์อื่น - อย่างอื่น - คราวอื่น ทั้งหมด ถ้ามี ก็ขึ้นอยู่กับสวรรค์ที่ว่านี้ (๑๐๘)
            • นรกที่แท้จริง มีได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือบกพร่องผิดพลาดในหน้าที่อันแท้จริงของตน จนเกลียดน้ำหน้าตนเอง; นรกอื่น -อย่างอื่น -คราวอื่น ถ้ามี ก็ขึ้นอยู่กับนรกที่กล่าวนี้ (๑๐๙)
            • การอบรมจิตอย่างแท้จริง คือการรู้ความลับแห่งธรรมชาติของจิต แล้วสามารถควบคุมดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ความรู้สึกอันเป็นทุกข์ เกิดขึ้นไม่ได้ (๑๑๐)
            • เราไม่ทำ และไม่ยอมทำ การศึกษาค้นคว้าเรื่องกิเลสและความทุกข์กันให้มาก เหมือนเรื่องโบราณคดี - วิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี - เศรษฐกิจการเมือง ฯลฯ ดังนั้น ความเลวร้ายฝ่ายวิญญาณ จึงครองโลกทั้งส่วนบุคคลและสังคม อย่างมหาศาล (๑๑๑)
            • ตน มิใช่เป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างเดียว หากแต่เป็นที่ตั้งแห่งความคิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว แล้วทำตนให้เป็นทุกข์ด้วยในคราวเดียวกัน (๑๑๒)
            • ตน (ซึ่งเป็นผลของความยึดมั่นด้วยอุปาทาน) นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำความทุกข์ให้แก่ตน, และจะเปลื้องทุกข์ให้แก่ตนได้ด้วย; จงรู้จักมันให้ถึงที่สุด ทั้งสองทางเถิด (๑๑๓)
            • อย่าคิด - พูด - ทำ ไปในลักษณะที่เหยียดหยามใครๆ ว่าเป็นคนโง่; เพราะเราอาจจะเป็นคนโง่ เช่นนั้นเพราะเหตุนั้น - อยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว (๑๑๔)
            • ถ้าเราประมาทอย่างเต็มที่ขึ้นมาเมื่อไร ก็อาจจะเผลอรู้สึกว่า พี่ชาย - พี่สาว - ป้า - น้า - บิดา - มารดา - ครูบาอาจารย์ - พระสงฆ์องค์เจ้า - แม้กระทั่ง พระพุทธเจ้า เป็นคนโง่ไปทั้งหมดก็ได้ (๑๑๕)
            • คำพูดที่หยิ่งยโสสามหาว คือผลของความโง่ ในการโอ้อวดสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องอวด; มันเกิดมาจากภวตัณหา ที่ปรุงขึ้นมาอย่างไม่ทันรู้สึกตัว (๑๑๖)
            • ความคิดที่ดำเนินไปมากกว่าเหตุ จนไม่คิดที่จะทำอะไร หรือรับผิดชอบอะไร นั้นมิใช่การปล่อยวาง; หากแต่เป็นกิเลสประเภทวิภวตัณหา ที่มีอยู่อย่างไม่รู้สึกตัว เดือดขึ้นมา (๑๑๗)
            • ความไม่รู้ว่า การงานคือการปฏิบัติธรรม, หรือไม่รู้ว่า ธรรมะนั้นหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต : นี่แหละคือความรู้ที่พุทธบริษัทยังขาดอยู่ ในศาสนาของตน (๑๑๘)
            • มีใครสักกี่คน ที่ทำอะไรเป็นที่พอใจตนเอง จนยกมือไหว้ตนเองได้; เพราะรสนิยมของเขาอยู่ที่การบูชา และตกเป็นทาสของกามตัณหา โดยไม่รู้สึกตัว (๑๑๙)
            • เด็กๆ ในครอบครัวของพุทธบริษัท ต้องได้รับการอบรมให้รู้ว่า บิดามารดาเป็นพรหม - เทพ - ครูคนแรก - อาหุเนยบุคคล; มิฉะนั้นจะกลายเป็น เรือนมีนรกครอบครอง (๑๒๐)
            • คัดจากหนังสือ อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ จาก ท่านพุทธทาสภิกขุ ในหัวข้อ ฟ้าสางทางความลับสุดยอด พิมพ์โดย ธรรมทานมูลนิธิ และ สนพ. สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • topsecret.jpg
      topsecret.jpg
      ขนาดไฟล์:
      7.4 KB
      เปิดดู:
      122
    • quote[1].jpeg
      quote[1].jpeg
      ขนาดไฟล์:
      4.4 KB
      เปิดดู:
      119
  2. sukhawadee

    sukhawadee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    332
    ค่าพลัง:
    +130
    ขอบคุณค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...