ภาพเก่าเล่าตำนาน : หมอ…ผู้ถวายการรักษาพระพุทธเจ้า โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 26 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    %E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%81-7-728x546.jpg


    2500 กว่าปีที่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็เคย… ป่วย-ไข้…

    พูดกันอย่างเปิดใจกว้างนะครับ…“พระพุทธเจ้า” ท่านก็คือ มนุษย์คนหนึ่ง… อยู่ในวงจร เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ “คำสอน” ของพระองค์ที่เป็นเหตุ-เป็นผล

    วิชาพุทธประวัติ ที่เคยร่ำเรียนกันมา มีหลายแขนง มากสำนัก มีเรื่องอภินิหาร ปาฏิหาริย์ ที่ผู้เขียนขอข้ามประเด็น… ไม่ขอกล่าวถึง

    “ความจริง” ที่ประจักษ์ คือ พระพุทธเจ้าท่านก็ เจ็บ-ไข้-ป่วย-ดับ

    88e0b8b2e0b980e0b8a5e0b988e0b8b2e0b895e0b8b3e0b899e0b8b2e0b899-e0b8abe0b8a1e0b8ad-e0b89ce0b8b9-1.jpg หมอชีวกโกมารภัจจ์ คือ หมอประจำตัวของพระพุทธเจ้า

    ชีวกโกมารภัจจ์ หรือชีวกะ ดูแลพระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ อาศัยอยู่ในราชคฤห์ ช่วง 600-500 ปีก่อนคริสตกาล

    ท่านได้รับยกย่องให้เป็นแพทย์ต้นแบบของแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศในเอเชีย

    เอกสารทางการแพทย์จำนวนหนึ่งจากยุคกลางของ “อินเดีย” และ “จีน” ที่เชื่อว่า ชีวกเป็นผู้แต่ง ชาวไทยยกย่องว่าท่านเป็นผู้บุกเบิก เริ่มต้นการรักษาพยาบาล

    “จีน” …มาเกี่ยวข้อง มายกย่องท่าน ก็เพราะ “พระถังซัมจั๋ง” รับราชโองการจักรพรรดิ ถังไท่จง ให้ไปเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป

    “พระถังซัมจั๋ง” และคณะจากเมืองจีน ได้เข้าไปศึกษา “พุทธศาสนา” ที่นาลันธา นาน 17 ปี แล้วไปที่วัดที่หมอชีวกโกมารภัจจ์สร้างไว้ …นำพระไตรปิฎก กลับไปเผยแพร่ในแผ่นดินจีน…แถมด้วยวิชาการรักษาของหมอชีวกไปสู่แผ่นดินจีน

    ท่านผู้อ่านคงพอจำเรื่อง ไซอิ๋ว ได้บ้างนะครับ…

    เด็กชายชีวก เป็นบุตรของ “หญิงงามเมือง” ผู้หนึ่ง ถูกมารดาทิ้งแต่กำเนิด ชาววังของพระเจ้าพิมพิสารมาพบเข้าจึงเก็บไปเลี้ยง

    ชีวก…เป็นเด็กเฉลียวฉลาด ไหวพริบปฏิภาณดีมาก หากแต่โดนประณามเหยียดหยามว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ

    เด็กหนุ่มผู้โชคร้าย สามารถเปลี่ยนแรงกดดันรอบตัวมาเป็นพลัง มุมานะที่จะเอาชนะ มุ่งมั่นตั้งใจที่จะหาวิชาใส่ตัว เพื่อทะยานขึ้นมาจากความต่ำต้อย

    “ชีวก” แปลว่า ผู้ยังมีชีวิต ด้วยเหตุที่เจ้าชายในราชสกุลทรงรับเลี้ยงไว้ ทารกเพศชายคนนี้จึงได้ชื่อว่า “โกมารภัจจ์” แปลว่า เด็กซึ่งทรงนำมาเลี้ยง

    ครั้นเติบใหญ่… เขาตัดสินใจเดินทางไปตักศิลา ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เพื่อเรียนวิชาแพทย์ 7 ปี

    (เมืองตักศิลาในสมัยพุทธกาลคือ เมือง Taxila รัฐคันธาระ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในดินแดนประเทศปากีสถาน ในสมัยพุทธกาล ว่ากันว่า เป็นสำนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แต่เฉพาะด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นสำนักเรียนด้านศิลปะศาสตร์ แทบทุกแขนง)

    ศึกษาจบ ครบหลักสูตร …ชีวกขอลาอาจารย์กลับบ้านเกิด

    ระหว่างเดินทางกลับ…ต้องแวะพัก ชาวบ้านได้พบชีวก พูดคุยสารทุกข์สุกดิบ …ทราบว่ามีคนป่วยในชุมชน…

    แพทย์หนุ่มได้มีโอกาสเข้าไปรักษาอาการปวดหัวของภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกตที่เป็นเรื้อรังมานานหลายปี

    หมอชีวกลงมือปรุงยาขนานเดียวก็ “เอาอยู่”

    เศรษฐีใหญ่ ปลื้มยิ่งนัก…ตบเงินรางวัลให้แบบ “จุใจ”

    หมอชีวก กลายเป็นผู้มีชื่อเสียง มีอันจะกินไปในพริบตา

    เมื่อกลับถึงเมืองราชคฤห์ หมอชีวกได้นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัย นึกถึงพระคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา

    เจ้าชายอภัยไม่ทรงรับ… โปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ให้หมอปลูกบ้านอยู่ในวังของพระองค์

    หมอหนุ่ม…ได้มีโอกาสเข้าไปรักษาโรคริดสีดวงทวาร ของพระเจ้าพิมพิสาร ให้บรรเทาและหายขาดในที่สุด…แสดงฝีมือโดดเด่น รักษาคนป่วยไม่หยุด…จนกลายเป็นขวัญใจ ชาวรั้ว ชาววัง

    ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก ได้พระราชทานบำเหน็จจำนวนมาก รวมทั้งได้รับสวนมะม่วงไว้ครอบครอง

    งานเข้าไม่หยุด….หมอชีวกรักษาลำไส้ของบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งให้หายขาด…ฉายาใหม่ คือ หมอเทวดา

    ในช่วงเวลาดังกล่าว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย

    หมอชีวกได้มีโอกาสได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า

    ชีวิตหมอชีวก ทุ่มเทไปกับการรักษาโรค…ช่วยเหลือผู้ป่วยไข้ไม่เลือกยากดีมีจน ดำรงตนเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก

    คนเก่ง…คนดี มีน้ำใจ มีความรู้ ซื่อสัตย์…ใครก็ต้องการ….

    ตลอดชีวิต…หมอชีวกได้บำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น “เอตทัคคะ” (ผู้เป็นเลิศกว่าคนอื่น) เป็นที่รักของปวงชน

    ยิ่งเขาถวายงานต่อพระพุทธเจ้า เขาก็ยิ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนา ที่สุดจึงได้เป็น “พระอุปถัมภก” คนสำคัญของศาสนานี้

    หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านปรารถนาแรงกล้าจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน

    เมื่อเห็นว่า พระเวฬุวัน อยู่ไกลเกินไป หมอจึงสร้างวัดถวายในสวนมะม่วงของตนเรียกกันว่า “ชีวกัมพวัน” (สวนอัมพวันของหมอชีวก ปัจจุบันเหลือซากโบราณสถานให้เห็นเป็นซากหิน)

    เหตุร้ายของบ้านเมือง ที่หมอชีวกช่วยคลี่คลายในเวลานั้น…

    ภายหลัง พระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเพื่อชิงบัลลังก์ หมอชีวกก็มีบทบาทในการทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูยอมมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จนพระเจ้าอชาตศัตรูสำนึกในบาปกรรม

    แม้จะงานหนักเพียงใด…หมอชีวก มักจะหาเวลาเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจในธรรมะจากพระพุทธเจ้าทุกวัน

    มีสูตรบันทึกคำสนทนาและปัญหาของหมอชีวก เช่น ชีวกสูตรในพระไตรปิฎก เล่มที่ 13 เป็นต้น

    ด้วยเหตุที่หมอชีวกอาสาดูแลคณะสงฆ์จำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีคนจำนวนมากมาบวช …เพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัว…

    ชาวบ้านที่ป่วยเจ็บ…พากันหลั่งไหล “มาบวช” ที่วัด เกิดความสับสน ไร้ระเบียบ …”วัด” กลายเป็นที่ซ่องสุม ชุมนุมของพระป่วย

    หมอชีวกเห็นความสับสน วุ่นวาย จึงทูลเสนอพระพุทธเจ้า ให้ทรงบัญญัติข้อ “ห้ามรับบวช” คนเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด และยังกราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่ “จงกรม” และ “เรือนไฟ” เพื่อเป็นที่บริหารกาย ช่วยรักษาสุขภาพของพระภิกษุทั้งหลาย

    พระพุทธเจ้าทรง “เห็นชอบ” ในการจัดระเบียบ

    บันทึกแต่โบราณกาล ที่บอกเล่า “ตรงไปตรงมา” ความว่า

    ในยุคนั้น ได้เกิดโรคร้ายแรง โรคติดต่อ ขึ้นในพระมหานครราชคฤห์ ตลอดถึงเมืองที่ใกล้เคียง โรคติดต่อ 5 ชนิด คือ
    1.กุฏฐัง โรคเรื้อน
    2.คัณโฑ โรคฝีดาษ
    3.กิลาโส โรคกลาก
    4.โสโส โรคไข้มองคร่อ
    5.อปมาโร โรคลมบ้าหมู

    ชีวกโกมารภัจจ์ ทราบดีว่า เกิดแนวรบ 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งภายในราชสำนัก อีกด้านหนึ่ง คือพระสงฆ์ (ที่คนป่วยเข้ามาบวช)

    ทั้ง 2 กลุ่ม จะทอดทิ้งไม่ได้ และยังมีกลุ่มประชาชนอีกต่างหาก

    คฤหัสถ์บางคนที่เป็นโรค คิดอุตริเข้าบวชเป็น เพื่อสิทธิ ได้รับการบำบัดรักษาจากหมอชีวก หมอเทวดา…

    พระป่วยเหล่านี้ เมื่อได้รับการบำบัดรักษาจากหมอชีวก หายป่วย… ก็ลาสิกขาสึกออกมาโดยพลัน…

    นี่เป็นเหตุผลที่ แพทย์ท่านนี้ ทูลขอพระสัมมาพระพุทธเจ้าเพื่อกำหนดระเบียบ ห้ามคนพวกนี้มาบวช “เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ”

    88e0b8b2e0b980e0b8a5e0b988e0b8b2e0b895e0b8b3e0b899e0b8b2e0b899-e0b8abe0b8a1e0b8ad-e0b89ce0b8b9-3.jpg แนวคิด “การควบคุมโรค” และการ “รักษาโรค” ของหมอชีวก เมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว… ไม่ธรรมดานะครับ ถ้าเทียบเคียงกับโควิด-19 ในปัจจุบัน ท่าน คือ หมอที่มีทักษะในการบริหารจัดการเป็นเลิศ

    ชีวกัมพวัน ถือได้ว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

    เมื่อมีประสบการณ์ทางการแพทย์ของตนมาก …ท่านได้เรียบเรียงตำราแพทย์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

    เช่น พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์จลนะสังคหปกรณ์

    เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จสู่พระปรินิพพาน หมอชีวกในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ได้อยู่เฝ้าพระอาการพร้อมกับพระอานนท์เพียง 3 ท่าน

    พระพุทธองค์ ไม่ทรงรับสั่งถึงเรื่องการป่วยเจ็บว่าเกิดจากอะไร

    หมอชีวกขณะนั้นแม้จะอายุล่วงเข้าสู่วัย 70 ปีแล้ว แต่สติยังดีอยู่

    เมื่อพบเห็นพระอาการของพระองค์เช่นนั้น ก็รู้สึกวิตกกังวลเป็นที่สุด

    มีเรื่องบันทึกว่า…หมอชีวกได้ประกอบพระโอสถขึ้นมาเม็ดหนึ่ง หวังให้พระองค์เสวย แต่พระองค์ไม่ยอมเสวย หมอชีวกได้นำยาเม็ดนั้นไปจำเริญที่บ่อ เพราะผู้ใดจะใช้ยานี้ไม่ได้ เพราะเป็นยาสำหรับพระพุทธองค์ ท่านจึงไปจำเริญเสียในน้ำ

    น้ำในบ่อเดือดขึ้นมา สูงขึ้นมาเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์

    หลังจากจัดการเรื่องพระบรมศพของพระพุทธองค์เสร็จแล้ว

    หมอชีวกได้กลับกรุงราชคฤห์ แล้วเข้าไปอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเขาคิชฌกูฏ ทางทิศตะวันออก

    ถ้ำนั้นชื่อว่า “ถ้ำเขาคิชฌกูฏ” และไม่มีใครได้พบเห็นท่านอีกเลย

    ตำรา ความรู้ของ หมอชีวก…มาสู่ปัจจุบัน…ใช้ทำมาหากิน

    “การนวดแผนโบราณ” บางส่วน มีต้นตำรามาจากอินเดียซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลคือมีมานานกว่า 2500 ปี ผู้ค้นคิดริเริ่มการนวดแผนโบราณเพื่อรักษาผู้ป่วยคือหมอชีวกโกมารภัจจ์

    หลังจากที่ท่านเสียชีวิตลูกศิษย์ รักษาโรคต่อและเผยแพร่กว้างขวางออกจนถึงระดับนานาชาติรวมทั้งประเทศไทย

    ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อใด

    บันทึกจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศสในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวถึง “การนวดเพื่อรักษาโรค” ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลงก็จะเริ่มทำเส้นสายยืด …ขึ้นไปบนหลังแล้วใช้เท้าเหยียบ …หญิงมีครรภ์มักใช้เด็กเหยียบ เพื่อให้คลอดบุตรง่าย…

    หลังจากเสียกรุง ตำราการแพทย์แผนไทยสูญหายไป

    รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 1 ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้งที่กรุงเทพฯ ทรงให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ ขึ้นเป็นอารามหลวงและได้รวบรวมตำรายา ตำรานวด แล้วให้แสดงไว้ตามศาลารายเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาโดยทั่วกัน

    ทรงโปรดให้ปั้นรูปปั้นฤาษีดัดตน 80 ท่า ซึ่งทำด้วยดีบุก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงให้หล่อใหม่เป็นโลหะและรวบรวม ตำราการแพทย์แผนไทยและตำรานวดบันทึกไว้บนศิลาหินอ่อน 60 ภาพ แสดงไว้ตามศาลารายให้ประชาชนศึกษาและนำไปรักษาตัวเอง

    สมัยในหลวง รัชกาลที่ 5 ได้เปิดให้มีการสอนวิชาการแพทย์แผนไทยและแบ่งตำราการนวดเป็นภาควิชาหัตถศาสตร์เรียกว่า “ตำรานวดฉบับหลวง”

    วิชาการแพทย์ที่มาจากชีวกโกมาภัจจ์ ยังแพร่กระจายไปถึงแผ่นดินพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761) ของอาณาจักรกัมพูชา ท่านยังได้สร้างสิ่งที่ในจารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่ง

    ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 แบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็น “แผนปัจจุบัน” และ “แผนโบราณ”…

    พ.ศ.2494 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินวัดโพธิ์

    ได้ทรงปรารภว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดให้มีโรงเรียนสอนการแพทย์แผนไทยในวิชาเวชกรรม ผดุงครรภ์ หัตถเวช และเภสัชกรรม เพื่อเป็นวิทยาทาน

    คณะกรรมการวัดพระเชตุพนฯ ได้รับสนองพระราชปรารภและจัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นในนาม “โรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย” และเปิดสอนเป็นแห่งแรก

    โดยแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร คือ เวชกรรม เภสัชกรรม และหัตถเวช ทำให้บทบาทการแพทย์แผนไทยเป็นปึกแผ่นแน่นหนา…

    แต่นั้นมาการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะ “การนวด” ได้มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ผู้ที่ศึกษา อบรม ฝึกหัด…สร้างอาชีพให้คนไทย ออกไปทำมาหากินทั่วโลก

    ช่วงโควิด-19 …สังคมไทยตื่นตัว ยกย่องแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย ในการป้องกัน รับมือ แก้ปัญหาโควิด-19

    (วัดที่หมอชีวกใช้รักษาคนป่วย ยังคงมีซากให้เห็นในอินเดีย)

    18 พฤศจิกายน 2555 ประธานาธิบดีโอบามา เป็นแขกคนสำคัญที่มาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ฯ ฤาษีดัดตนรักษาโรค คือ จุดที่ท่านขอชม

    หมอชีวกโกมารภัจจ์… คือ ต้นสายธารของ วิชาการ ความรู้ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ เป็นที่รักของปวงชน ในวงการแพทย์แผนโบราณนั้น

    หมอชีวกโกมารภัจจ์ คือ “บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ” ผู้กอปรด้วย ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม อันงดงามของแพทย์ โดยเฉพาะ “ความซื่อสัตย์”


    ขอขอบคุณที่มา

    https://www.matichon.co.th/article/news_2847079
     

แชร์หน้านี้

Loading...