ภาษาอีสาน เสียงเพลงเป็นสะพานทอดเชื่อมวัฒนธรรม

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 3 สิงหาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b8aae0b8b2e0b899-e0b980e0b8aae0b8b5e0b8a2e0b887e0b980e0b89ee0b8a5e0b887e0b980e0b89be0b987e0b899.jpg

    คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น

    วันหนึ่ง มีผู้ปฏิบัติธรรม (สมาธิภาวนา) โทร. บอกผมว่า ได้ติดตามฟังเทศน์และคำบรรยายของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ มานาน จนทุกวันนี้ฟังภาษาอีสาน (ไทยอีสาน) รู้เรื่องแล้ว โดยไม่รู้ตัว เพราะพระอาจารย์มักจะพูดภาษาอีสาน ปนภาษาไทย (ภาคกลาง) อยู่เสมอ

    ทั้งๆ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติธรรมไปจากภาคกลางไม่น้อย (มีคนฟังทั้งที่วัด (ในจ.สกลนคร) และทางมือถือทั่วประเทศ เป็นจำนวนมาก)

    ประจวบกับ “เพลงลูกทุ่งอีสาน” ก็มาแรงทางออนไลน์ แม้แต่ทางทีวีก็มีรายการสดของ “หมอลำ” โดยเฉพาะ

    ระหว่างนี้ ผมอยู่ที่ภาคอีสาน และใช้ภาษาอีสานมาแต่กำเนิดจึงรู้สึกว่า ภาษากำลังเปิดตัว-เปิดพื้นที่อย่างเต็มตัวโดดเด่นกว่าภาษาใดๆ ของประเทศ

    นักร้องหลายคนเปิดเผยตัวตนว่าเป็นคนอีสาน โดยไม่มีใครรู้มาก่อนเพลงลูกทุ่งอีสานหลายเพลงมีคนเข้าไปดู (view)นับเป็นหลายร้อยล้านวิว

    เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเพลง

    กล่าวเฉพาะพระสงฆ์องค์เจ้า ที่กำลังมีชื่อเสียง(ทางพูด) เช่น พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ก็เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ (และโคราช) จัดว่ามีโดดเด่นที่สุดในทาง “ทอล์กโชว์” เผยแพร่ธรรมะในยุคนี้ ใจวงการผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งมีพระอาจารย์ 3-4 รูป มีบทบาทเป็นอันมากในการปฏิบัติธรรมก็ดูเหมือน พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ มีความโดดเด่น เป็นที่ศรัทธาเป็นอันดับ 1 ก็ว่าได้

    พระอาจารย์สมภพนั้นใช้ภาษาอีสาน ตั้งในรู้กาพย์กลอนอีสานและคำผญา สำนวนเก่าได้คล่องแคล่วที่สุด

    จึงเป็นการประจวบเหมาะระหว่างเทศนากับเพลงลูกทุ่งอีสาน ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทางภาคอีสาน อย่างน่าสังเกต

    ว่าไปแล้ว พระอาจารย์สมภพเป็นคนร่วมสมัยกับเพลงลูกทุ่งอีสานที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ขณะนี้ ความจริง เพลงลูกทุ่งอีสานเริ่มปรากฏตัว (ฮีต) ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เกิดในภาคกลางแถวจังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ (ในยุคของไวพจน์ แก้วสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ หรือแม้แต่ในสมัยต่อมาในยุคของ “ผึ้ง” พุ่มพวง ดวงจันทร์,สายัณห์ สัญญา ฯลฯ) หรือจะเรียกว่ายุคสมัยของเพลงลูกทุ่ง (อีสาน) แถวลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ว่าได้ ส่วนเพลงลูกทุ่งอีสานที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ขณะนี้ อยู่แถว จ.อุบลราชธานี (ลุ่มแม่น้ำโขง)

    เป็นยุคเพลงลูกทุ่งอีสานที่แสดงตัวชัดเจนในแนว “หมอลำ” ใช้ภาษาอีสานหรือภาษาลาว อย่างไม่เคอะเขิน แม้กระทั่งการเล่นลูกคอหรือการ “เอื้อน” แบบหมอลำก็ชัดขึ้น

    การร้องรำ (และ “ลำ”) ของชาวอีสาน เป็นวัฒนธรรมเก่าแของชาวอีสาน (และสปป.ลาว) มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของศิลปะและศิลปิน (หมอลำ,นักร้อง นักลำ) ต่างจาก “ลิเก” ของภาคกลาง ที่ทำท่าว่าจะซบเซาลงไป

    คำว่า “ลำ” คือการร้องเป็นเพลง ส่วนคำว่า “รำ” เป็นภาษาของคนภาคกลาง คือการฟ้อน เป็นกิริยาแสดงออกทางกาย

    มีคำหลายคำในภาษาไทยภาคกลางที่ไปจากภาษาอีสานหรือภาษาลาว เช่นคำว่า “ส้มตำ” “แซ่บ” “กลิ้งโค่โร่” ฯลฯ น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ภาษาลาวหลายคำ เข้าใจได้ง่าย เพียงแต่เปลี่ยนการออกเสียง ร เป็น ฮ เช่น รัก เป็น ฮัก เป็นต้น แต่เพลงลูกทุ่งอีสานวันนี้ กล้าใช้คำแปลกๆ ที่คนภาคอื่นอาจไม่เข้าใจ เช่นคำว่า “สิ” (แปลว่า “จะ”) เป็นต้น

    เพลงชื่อ “สิฮิน้องบ่” ฮิ แปลว่า รังเกียจ, ยอมรับได้ (หมายความว่า จะยอมรับน้องได้ไหม่ หรือ จะรังเกียจน้องไหม)

    คำบางคำของลาว (หรืออีสาน) แม้จะต่างไปบ้างก็พอเข้าใจได้เช่น เพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” (คำว่า ถิ่ม คือทิ้ง) เพลง “สิเทน้องให้บอกแน” (เท คือ ทิ้ง คำว่า “แน” แปลว่า บ้าง,หน่อย ลาว (สปป.ลาว) ออกเสียงเป็น “แด” (เพลงนี้ บอกว่า “จะทิ้งน้องให้บอกหน่อย”)

    มีคำบางคำ ที่คนภาคอื่นอาจไม่เข้าใจ เช่นคำว่า “ทำ” ลาวพูดว่า “เฮ็ด” (คำเมืองของชาวเหนือพูดว่า “ยะ”) แต่ก็ไม่มากนัก

    น่าสังเกตว่า คำที่แสดงถึงอวัยวะเพศในขณะที่คนภาคกลางถือเป็นคำค่า หรือคำหยาบโลน แต่อีสานและลาวพูดได้เป็นปกติ เช่นเพลง “ห่อหมกฮวกไปฝากป้า” (ฮวก คือ “ลูกอ๊อด” หรือลูกอ่อนของกบเขียดฯลฯ)มีคำว่า “ฝนตกฮำ น้ำ(ฝน)ย้อยเปียกหำ” (คำว่า “หำ” คือ ลูกอัณฑะของผู้ชาย) คนอีสานฟังเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าเป็นคำหยาบโลนแต่อย่างใด

    คำอีสานบางคำ มีความหมายต่างจากภาษาไทยภาคกลางมาก เช่นคำว่า “ชู้” (อีสานเดินหมายถึง คนที่เป็นผัวเมียกันหรือคนรัก หรือ “แฟน”) ในกลอนหมอลำได้ยินบ่อย ชู้ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม ต่างจากคำว่า “แอบมีชู้” (มีคนนอกใจ) ของคนภาคกลาง คำว่า “ส้วม” (อีสานเดิมหมายถึง “ห้องนอน”โดยเฉพาะห้องนอนของคนที่เป็นผัวเมียกัน) คนภาคกลางเรียกห้องถาน (สำหรับถ่ายหนักถ่ายเบา) ว่าห้องส้วม เรียกห้องสำหรับอาบน้ำ,ล้างหน้า ว่า “ห้องน้ำ)

    มีบางคำ คนภาคอื่นออกเสียงไม่ถูก ทำให้รู้ว่า เมื่อร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน ไม่ใช่คนอีสานแน่ๆ เพราะ (เหมือน) อักษรบางตัวหายไป โดยเฉพาะอักษร ญ

    มักพูดกันว่า เสียง ญ ในภาษาลาว คือเสียง ย ขึ้นนาสิก (ทำเสียงขึ้นจมูก)

    แต่ความจริง ญ ในภาษาลาว(และอีสาน) อยู่ในกลุ่มอักษรหมวด จ (บาลีเรียกว่า จ วรรค) ซึ่งมี 5 ตัว คือ จ ฉ ช ฌ ช ญ อักษร 5 ตัวนี้ เมื่อออกเสียงใช้ลิ้นแตะที่เพดานปาก จึงเรียกว่า ตาลุชะ(หรือ “ตาลุชา”) ในภาษาไทย (ภาคกลาง) เสียง ย กับ ญ ออกเป็น เสียง ย หมด ไม่ว่าจะพูดว่า “ยาย” หรือ “ใหญ่” ก็ออกเสียงเป็น ย เหมือนกันหมด ส่วนคนอีสาน (และคนลาว) ออกเสียง “ยาย” (เมียของตา) เป็น “ญาย” และ “ใหญ่” (ออกเสียง เป็น ญ ตาลุชะ ไม่ใช่ ย)

    ถ้าออกเสียง “ยาย” (ตาลุชะ) เป็นเสียง ย ก็จะมีความหมายคนละอย่าง คือหมายถึง “เรี่ยราย” หรือ “กระจาย” เช่น ถ้าอีสานพูดว่า เอาเหรียญออกมายาย หมายถึงเอาเหรียญออกมาวางเรียงรายหรือกระจายเหรียญ

    เคยฟังท่านเจ้าคุณฯ (ชาวเนปาล) ที่วัดบวรนิเวศ ออกเสียงพระนาม “สมเด็จพระญาณสังวรฯ” คำว่า “ญาณ” ท่านออกเสียง ญ เป็น “ญ ตาลุชะ” ซึ่งต่างจากเสียงของคนไทย

    เพลง “ไงง่อง” ของ ตั๊กแตน ชลดา มีคำว่า ยาว-ยาว คนที่ไม่รู้ภาษาอีสานมักจะออกเสียงเป็น “ยาว” (ที่คู่กับคำว่า สั้น) แต่ความจริงต้องออกเสียงเป็น “ญาว” (ย ตาลุชะ) หมายถึงเต้นสนุกครื้นเครงไม่หยุด
    พูดถึงตัว ญ ในภาษาไทย ก็สงสัยอยู่จนทุกวันนี้ว่า มีความเป็นมาอย่างไร จึงมีเชิงข้างล่าง (เช่นเดียวกับตัว ฐ) แต่พอพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์หรือกดตัวอักษรในมือถือ เชิงข้างล่าง (ทั้ง ญ แล ฐ) กลับหายไปเมื่อใส่สระ อุ หรือ อู หรือใส่จุดข้างล่าง (เมื่อเขียนเป็นบาลี ก็ไม่ต้องมีเชิงข้างล่าง?)

    ผมมักจะเผลอใส่สระ อุ , สระ อู และจุดใต้ตัวอักษรทั้งสอง ซ้อนกับเชิงใต้ตัว ญ และ ฐ (เมื่อเขียนด้วยลายมือ) ทำให้รกรุงรัง และงงไปเอง

    ตัว ญ และ ฐ ที่พิมพ์ใส่ สระอุ สระอู หรือ จุด คือ

    ญุ ญู ญฺ ฐุ ฐู ฐฺ

    จะเห็นว่า ญ และ ฐ ไม่มีเชิงข้างล้างโดยอัตโนมัติ (เมื่อพิมพ์)

    นักเรียนบาลีโปรดทราบว่า เมื่อเขียนคำบาลี อักษร ญ และฐ ไม่มีเชิงข้างล่างครับ

    เขียนถึง “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ” มาหลายครั้งแล้ว (คงจะต้องเขียนถึงท่านอีกในโอกาสต่อๆ ไป) เพราะทึ่งในอัจฉริยภาพของท่านในด้านความจำ เชื่อว่าเมื่อท่านต้องการเรียนรู้ภาษาใดๆ ก็สามารถจะใช้ภาษานั้นได้ทันที ทั้งๆ ที่ท่านเรียนจบแค่ ป.4 (ไม่ได้เรียนต่อ ได้อนุปริญญาหรือปริญญาใดๆ) ด้านความรู้ทางธรรม ท่านก็ไม่ได้เรียนทั้งนักธรรมทั้งบาลีชั้นใดๆ

    ความจำด้านภาษาอีสานพระอาจารย์สมภพจำกาพย์กลอนในคัมภีร์ในลานเก่าๆ ได้ ส่วน “คำผญา” ที่คนอีสานพูดเป็น “กลอนสด” กันนั้น ท่านจำไว้มากมาย แม้แต่เพลงกล่อมลูกของคนอีสานซึ่งท่านได้ฟังสมัยเป็นเด็กเล็ก ท่านก็ยังจำได้ทั้งถ้อยคำและท่วงทำนองเหมือนแม่กำลังกล่อมลูกจริงๆ

    ที่น่าแปลกอย่างยิ่งก็คือ ภาษาบาลี ทั้งในบทสวดมนต์และในพระไตรปิฎก ท่านกล่าวแทรกได้ทันทีพร้อมทั้งแปลให้ฟังด้วย เฉพาะบาลีในพระไตรปิฎกนั้น ท่านบอกเลขเล่มเลขหน้าและเลขข้อ (กำกับย่อหน้า) ทุกครั้ง เพื่อให้ผู้ฟังตามไปค้นได้

    ผมเคยเห็นครูบาอาจารย์บางท่านมีความแม่นยำในพระไตรปิฎกชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น “ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่” ได้ทราบว่า ท่านเหล่านั้นต้องใชความขยันหมั่นเพียรอย่างมาก

    แสดงว่า พระอาจารย์สมภพ นอกจากเป็นพระนักปฏิบัติแล้วยังขยันอ่านพระไตรปิฎกเป็นพิเศษ การอ่านพระไตรปิฎกของท่านนั้น ดูเหมือนจะอ่านทั้งฉบับแปลและฉบับบาลี (ฉบับสยามรัฐ) ด้วย ส่วนบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์ใช้สวดนั้น ท่านจำได้หมดและแปลได้ทั้งหมด

    ทำให้เทศนาของพระอาจารย์สมภพน่าฟัง น่าเชื่อถือ และทุกเรื่องไม่ได้พูดเอาเอง-คิดเอาเอง

    ในบรรดาพระสงฆ์ภาคอีสาน โดยเฉพาะพระนักปฏิบัติที่จังหวัดสกลนครนั้น (เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, ฯลฯ) เห็นจะยกให้พระอาจารย์สมภพเป็นรูปหนึ่งที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน

    ท่านเป็นคนอีสานคนหนึ่งที่กำลัง “ทอดเชื่อม” วัฒนธรรมภาษาอีสาน (หรือภาษาลาว) แก่คนในภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างกลมกลืน ให้คนในทุกภาคของไทยเข้าใจภาษาอีสานได้โดยภาษาธรรมของท่าน

    ขอขอบคุณที่มา
    https://siamrath.co.th/n/94383
     

แชร์หน้านี้

Loading...