มหาเถรสมาคมชุดใหม่ กับ การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 21 ตุลาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    ขณะนี้ ประเทศไทยได้มีคณะกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน และมีกรรมการมหาเถรสมาคมอีก 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. 2561

    พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ก่อนการแก้ไข ได้กำหนดให้มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งไม่เกิน 12 รูป แต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2561 กำหนดว่าการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

    พระเถระใหม่ที่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งแรก มีจำนวนถึง 9 รูป หนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย วัดไตรมิตรวิทยาราม) อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดังกล่าวมีสัดส่วนระหว่างธรรมยุติและมหานิกาย ฝ่ายละ 10 รูป เท่ากัน โดยไม่นับสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเป็นพระสงฆ์ธรรมยุติ และมีข้อสังเกตว่า กรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหมดสังกัดอยู่ที่วัดในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น

    กรรมการมหาเถรสมาคม ถือเป็นองค์กรสูงสุดของสงฆ์ในประเทศไทย เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ออกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดอำนาจให้มีหน้าที่เสมือน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ (วินัยธร) ของสงฆ์ อำนาจของคณะกรรมการมหาเถรสมาคมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากได้พระที่มีความกระฉับกระเฉง กระตือรือร้นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้าง หรือที่เรียกกันว่าปฏิรูปกิจการของพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

    ในฐานะที่เคยร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เคยหยิบยกประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

    0b899e0b98ce0b881e0b8b2e0b8a3e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887-e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b980e0b896e0b8a3.jpg

    (1) การจัดการทรัพย์สินในกิจการพระพุทธศาสนา

    ทรัพย์สมบัติของวัดและของพระ ถือเป็นปัญหารูปธรรม จับต้องได้ และประชาชนทั่วไปก็มองเห็นสภาพฟอนเฟะในปัจจุบัน

    ถึงเวลาจะต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพย์สินและรายได้ของวัดและของพระ

    โดย “พุทธบริษัท 4” คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อแบ่งเบาภาระ ตัดทอนกิเลส และทำให้เกิดความโปร่งใสสูงสุดต่อพระพุทธศาสนาส่วนรวม

    หลักสำคัญ คือ ทรัพย์สินเงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการดำเนินการภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา หาใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ใด ไม่ว่าจะพระสงฆ์รูปไหนๆ หรือวัดใดๆ ก็ตาม

    ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ได้เขียนบทความมีข้อเสนอแนะในประเด็นนี้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ยืนยันว่าหลักกฎหมายโดยรวมก็มุ่งเช่นนั้น แต่ได้ระบุถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องที่เป็นช่องทางหลบเลี่ยงในปัจจุบัน และแนะนำว่า

    “ในส่วนที่จะต้องแก้ไขหรือยกเลิกไปเลย ก็คือ มาตรา 1623 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม” จะเห็นได้ว่า ในมาตรานี้มีช่องว่างในทางกฎหมายที่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ โดยนำทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ เช่น เขาถวายที่ดินให้กับวัด แต่ได้ใส่ชื่อเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดนั้นมีชื่อเป็นเจ้าของ ที่ดินตามโฉนด แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วเขามีศรัทธาที่จะถวายให้กับวัดโดยตรง โดยช่องว่างของกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่พระภิกษุจะถึงแก่มรณภาพ หรือถ้าสึกไปก่อน ที่ดินนั้นก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้นไปเลย หรืออาจจะหลีกเลี่ยงได้โดยการจำหน่ายจ่ายโอนในระหว่างมีชีวิตให้กับคนอื่น หรือหลีกเลี่ยงโดยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้กับบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้น เมื่อถึงแก่มรณภาพ ทรัพย์สินนั้นก็จะไม่ตกเป็นสมบัติของวัด

    จึงมีความเห็นสอดคล้องกับท่านผู้รู้ ที่ควรจะได้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ให้เป็นไปในหลักการใหม่ว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น ตั้งแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา” ในกรณีทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (เช่น แก้วแหวนเงินทอง รถยนต์) ที่มีราคาสูง ก็ควรตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด เช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์…”

    ปัจจุบัน วัดถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าอาวาสเป็นตัวแทนของนิติบุคคลที่จะทำนิติสัมพันธ์แต่เพียงผู้เดียว สมควรที่จะพิจารณาให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะเป็นคณะกรรมการดูแลทรัพย์สินของวัด จัดทำบัญชีและเปิดเผยบัญชีอย่างโปร่งใส ให้สามารถตรวจสอบจากคณะกรรมการของมหาเถรสมาคมได้เป็นปัจจุบันทันที เนื่องจากปัจจุบันมีระบบเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศ ที่สามารถเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้และช่วยกันตรวจสอบ

    การให้เจ้าอาวาสซึ่งส่วนมากชราภาพ เป็นผู้มีอำนาจทำนิติสัมพันธ์แต่เพียงผู้เดียว อาจล่วงรู้ไม่ทันกับผู้ที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์จากวัดและพระพุทธศาสนา

    899e0b98ce0b881e0b8b2e0b8a3e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887-e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b980e0b896e0b8a3-1.jpg
    899e0b98ce0b881e0b8b2e0b8a3e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887-e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b980e0b896e0b8a3-2.jpg

    (2) บวชแล้วต้องเรียน ศึกษาและปฏิบัติธรรม

    คนที่ตัดสินใจบวชเป็นพระแล้ว จะต้องศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

    มิใช่เข้ามาบวชเพียงเพื่อหวังจะประกอบอาชีพ หารายได้ส่วนตัว

    โดยจะต้องมีการสร้างระบบให้การศึกษากับพระสงฆ์ มีกลไกบังคับให้พระต้องปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด หากพระสงฆ์รูปใดไม่ปฏิบัติก็จะต้องมีระบบตรวจสอบและขจัดออกจากการเป็นพระ

    (3) จัดการกับพระที่ละเมิดพระธรรมวินัยอย่างเด็ดขาด

    จัดการกับลัทธิที่มีพฤติกรรมทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ใช้โลโก้พระพุทธเจ้า ใช้เครื่องแบบพระพุทธศาสนามาแอบอ้าง เลียนแบบทำปลอมแปลง แสวงหาผลประโยชน์ บิดเบือนพระธรรมคำสอน มุ่งค้าบุญ

    ควรจะต้องมีคณะกรรมการทำหน้าที่ชำระการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย

    ซึ่งกรณีพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนานั้น มีความจริงแท้อยู่แล้ว ควรให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากรณีละเมิดพระธรรมวินัยอย่างตรงไปตรงมา ใครผิดก็จะต้องถูกลงโทษ คล้ายๆ ศาลรัฐธรรมนูญ ใครบิดเบือนหรือกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญก็จะต้องถูกตัดสินว่ามีความผิด ไม่อาจกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ

    (4) กระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมในกิจการพระพุทธศาสนา

    พิจารณาระยะห่าง-ระยะชิด ของอาณาจักรกับพุทธจักร ให้อำนาจรัฐและพุทธบริษัท 4 เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยยึดหลักพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ กฎหมาย
    บ้านเมืองที่จะใช้กับพุทธจักร ก็จะต้องดูแลให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย

    พิจารณากระจายอำนาจของมหาเถรสมาคม ที่มีทั้งอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ (วินัยธร) ให้พุทธบริษัท 4 ในท้องถิ่นต่างๆ ได้มีส่วนอุปถัมภ์ค้ำชู กำกับดูแลกิจการพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัท 4

    (5) ปฏิรูประบบการเรียนรู้ของพุทธศาสนิกชน

    ปฏิรูประบบการเรียนรู้ของพุทธศาสนิกชน ให้เข้าใจแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา และเตรียมความรู้เท่าทันของพุทธศาสนิกชน ให้ตระหนักว่าสังคมส่วนใหญ่ของโลกนับถือหลายศาสนา เช่น นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับเพื่อนมนุษย์ที่นับถือศาสนาอื่นๆ อย่างมีสันติภาพและเข้าใจกันและกัน พึงต้องเข้าใจแก่นธรรมของศาสนาอื่นๆ ด้วย

    การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยคณะกรรมการมหาเถรสมาคมร่วมกับพุทธบริษัท 4 ผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง

    ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของวัดและของพระ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ตามที่กล่าวข้างต้น

    เข้มงวดกวดขันผู้ที่ตัดสินใจบวชเป็นพระต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม

    อีกทั้งจัดการกับลัทธิที่มีพฤติกรรมทำลายพระวินัยให้วิปริตและประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

    นอกจากจะเป็นการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างถูกทางแล้ว ยังจะเกิดกุศลผลบุญ เกิดผลดีทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้อีกด้วย

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.naewna.com/politic/columnist/41807
     

แชร์หน้านี้

Loading...