เรื่องเด่น มัฌชิมาปฏิปทาของแต่ละคนไม่เท่ากัน...เป็นไปตามกำลังใจ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย Komodo, 7 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    ?temp_hash=2fbcc2bea23cdea910a124125e245b71.jpg

    มัฌชิมาปฏิปทาของแต่ละคนไม่เท่ากัน...เป็นไปตามกำลังใจ

    ถาม :
    ผมสังเกตว่า...(ฟังไม่ชัด)...หลวงปู่มั่น ท่านทำ...(ฟังไม่ชัด)...จริง ๆ ไหมครับ ?
    ตอบ : ทางสายอีสานที่ต้องปฏิบัติลำบากนั้น เราต้องดูด้วยนะ ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะการทำมาหากินของทางสายอีสานนี่ จะลำบากมาก ยิ่งสมัยก่อนที่การชลประทานยังไม่เหมือนสมัยนี้ อีสานแห้งแล้งจริง ๆ การต่อสู้ดิ้นรนของเขาต้องมากกว่าปกติ กำลังใจของเขาจะต้องเข้มแข็งมาก ถ้าไม่ได้เจอการทรมานมาก ๆ นี่จะเอาไม่ลง

    ดังนั้น..สายหลวงปู่มั่นถึงได้ถนัดเกี่ยวกับธุดงควัตร บางคนบอกว่าธุดงควัตร ๑๓ ข้อ ของพระพุทธเจ้าเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือ ทรมานตัวจนเกินไป อันนี้ไม่ใช่ ธุดงค์ แปลว่าการแผดเผากิเลส จะเหมาะสำหรับท่านที่กำลังใจเข้มแข็ง กลายเป็นพอดีของท่าน ไม่ใช่การทรมานตน

    ถาม :
    .......(ไม่มีเสียง)........
    ตอบ : คนอื่นเขาไม่เก่งเลยไปพระนิพพานกันหมด พวกเราเก่งก็เลยอยู่กันอีกนาน ไม่ค่อยจะกลัวนรกกัน มัฌชิมาปฏิปทาของแต่ละคนไม่เท่ากัน เป็นไปตามกำลังใจ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมมา เป็นไปตามบารมีที่สั่งสมมา
    อย่างหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า กำลังใจของท่านก็คือ ทรงอารมณ์เกาะพระนิพพานไว้ตลอดเวลา ไม่ยอมพร่องแม้แต่วินาทีเดียว นั่นตอนที่ก่อนท่านจะบรรลุมรรคผล แล้วเราทำได้ไหม ? เป็นเราทำก็เครียดตายเลย..ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้น..มัชฌิมาปฏิปทาของเราก็เลยไม่เหมือนกัน

    ทางสายหลวงปู่มั่น ของท่านจะต้องเข้มงวดขนาดนั้น เพราะสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมมา การดำรงชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบากของชาวอีสาน ทำให้จะต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น กำลังจิตถึงจะยอมลงให้ อย่างที่หลวงตาบัวท่านบอกว่า นั่งสมาธิกันข้ามวันข้ามคืน นั่งกันจนก้นแตก ลุกขึ้นมานี่น้ำเหลืองนองเลย คือร้อนจนพองแล้วแตก นั่นแหละท่านบอกว่าจิตถึงจะยอมลง ไม่อย่างนั้นก็ดิ้นรน กระโดดโลดเต้นไปเรื่อย

    คราวนี้แนวการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้นั้นมีอยู่ ๔ แบบ คือ

    ⭐️ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่าย ๆ บรรลุก็เร็ว
    ⭐️ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติยากลำบาก แต่บรรลุเร็ว
    ⭐️ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก บรรลุก็ยาก
    ⭐️ สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติง่าย แต่บรรลุยาก

    ปฏิบัติง่ายบรรลุเร็ว ปฏิบัติง่ายบรรลุช้า ปฏิบัติยากบรรลุเร็ว ปฏิบัติยากบรรลุช้า ก็ขึ้นอยู่กับว่า แบบไหนที่จะเหมาะสมกับแต่ละคน แต่ละสถานที่ ถ้าเอามัฌชิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ท่านอธิษฐานว่า เมื่อท่านนั่งลงไปแล้ว แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ชีวิตินทรีย์นี้จะเสื่อมสลายไปก็ตาม ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลเมื่อไร พระองค์ท่านจะไม่ลุกขึ้น ถ้าเราไปตั้งใจอย่างนั้นก็ตาย เพราะว่าปัญญาไม่ได้อย่างท่าน

    ถาม : หมายความว่า ตัวเองเป็นคนกำหนดใช่ไหม ?
    ตอบ : ตัวเองควรจะรู้เองว่าอะไรเหมาะสม เราจะรู้เลยว่า ตรงนี้เราขี้เกียจ แล้วเราก็รู้ว่าตรงนี้เรายังขยันไม่พอ

    ถาม : แสดงว่าเราก็ทำไปตามที่มโนสำนึกเราบอกว่า อันนี้ดีใช่ไหม ?
    ตอบ : ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหว ให้ฝืนต่ออีกหน่อย ถ้ายังฝืนได้ แสดงว่านั่นเป็นตัวถีนมิทธะชวนให้ง่วง ชวนให้ขี้เกียจ ถ้าลองฝืนแล้วไม่ไหวจริง ๆ ไปไม่รอดก็เลิก เเล้วรักษาอารมณ์เอาไว้

    สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๔
    ที่มา : เว็บวัดท่าขนุนดอทคอม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...