เสียงธรรม "มันสมอง" พล.ต. หลวงวิจิตรวาทการ.

ในห้อง 'ประวัติและนิทานธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nit2599, 1 เมษายน 2017.

  1. nit2599

    nit2599 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กุมภาพันธ์ 2017
    โพสต์:
    11
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +37
    พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ, ชื่อเดิม กิมเหลียง วัฒนปฤดา จีน: 金良 แต่มิได้มีเชื้อจีนแต่ประการใด) เป็นนักคิด นักพูด นักเขียนคนสำคัญของไทย บุตรนายอิน และนางคล้าย เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2441 ที่จังหวัดอุทัยธานี บิดามารดามีอาชีพค้าขาย อายุ 8 ขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง เมื่อจบประถมศึกษา บิดาได้นำไปฝากให้บวชสามเณรอยู่กับพระมหาชุ้ย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

    เมื่อท่านอายุ 13 ปี ในปี พ.ศ. 2453 ท่านได้ศึกษานักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมเอกและเปรียญ 5 ประโยค โดยสอบได้เปรียญ 5 ประโยคเมื่ออายุ 19 ปีใน พ.ศ. 2459 สอบได้เป็นที่ 1ในประเทศได้รับประกาศนียบัตรหมายเลข 1 จากพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 และได้รับความไว้วางใจจากพระศรีวิสุทธิวงศ์ (เฮง เขมจารี) ให้เป็นครูสอนภาษาบาลีอีกด้วย

    ท่านเป็นคนใฝ่รู้อย่างยิ่ง นอกจากเรียนนักธรรมและบาลีแล้วยังแอบเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ต้องแอบเรียนเพราะเขาไม่ให้เรียนวิชาอื่น แต่ด้วยความอยากรู้ท่านจึงแอบเรียนจนมีความรู้ในภาษาทั้ง 2 ดี ได้แปลพงศาวดารเยอรมันเป็นไทยโดยใช้นามปากกาว่า "แสงธรรม"

    เมื่ออายุ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุ อยู่ในภิกขุภาวะได้เพียงเดือนเดียวก็ลาสิกขาออกมารับราชการที่กองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานอยู่เป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน ท่านก็ได้มีโอกาสไปรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ ประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รับราชการที่สถานทูตแห่งนั้นได้ 6 ปีเต็ม แล้วได้ย้ายไปประจำการในสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (ในขณะนั้นสยามยังไม่มีสำนักงานตัวแทนทางการทูตระดับสถานเอกอัครราชทูตประจำอยู่ในยุโรป มีเพียงสถานอัครราชทูตเท่านั้น อีกทั้งเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ที่กรุงปารีส ถือว่าร่วมสมัยกับที่คณะราษฎรได้ก่อตัวขึ้นมา แต่ท่านมิได้ถูกเชิญเข้าร่วมด้วย ในภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านจึงก่อตั้ง "คณะชาติ" ขึ้นมาเพื่อหมายจะเปรียบกับคณะราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงยุติบทบาทไป) หลังจากนั้นได้กลับมาทำงานที่ประเทศไทยอีก

    ในชีวิตราชการ ท่านได้ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ อธิบดีกรมศิลปากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ที่น่าสังเกตคือ ท่านได้เป็น "ปลัดบัญชาการ" สำนักนายกรัฐมนตรี (เทียบเท่าปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันนี้) เป็นคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้าที่ท่านจะได้รับตำแหน่งนี้และหลังจากที่ท่านพ้นตำแหน่งไปแล้ว ไม่มีตำแหน่งปลัดบัญชาการในสำนักนายกรัฐมนตรี มีแต่เพียงตำแหน่งที่เทียบเท่ากันในชื่ออื่น อีกทั้งยังเป็นการรับตำแหน่งในสมัยที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯได้มาจากการที่กระทำการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งที่ท่านมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ที่สนิทสนมและรับใช้จอมพล ป. มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

    ได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์พร้อมคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 โดยใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลได้ว่า วิจิตร วิจิตรวาทการ เมื่อ พ.ศ. 2484

    หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ท่านถูกจับกุมและถูกไต่สวนในข้อหาอาชญากรรมสงครามอยู่ระยะหนึ่ง ร่วมกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ภายหลัง ศาลไทยตัดสินว่ากฎหมาย (ในกรณีนี้คือ พระราชบัญญัติอาชญากรรมสงคราม ซึ่งยกร่างขึ้นหลังจากสงครามสงบแล้ว) ย่อมไม่มีผลย้อนหลัง ท่านจึงได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

    ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505

    หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้แต่งหนังสือ ประวัติศาสตร์สากล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 เล่ม โดยใช้นามปากกาว่า "วิเทศกรณีย์" เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงปลุกใจ ตื่นเถิดชาวไทย และต้นตระกูลไทย เป็นต้น นอกจากนั้นท่านยังแต่งบทละครอิงประวัติศาสตร์ และเพลงประกอบละครเหล่านั้น ไว้หลายเรื่องและหลายเพลง ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

    จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
     

แชร์หน้านี้

Loading...