(มีต่อ ๒)ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย siamgirl, 24 มีนาคม 2008.

  1. siamgirl

    siamgirl เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2007
    โพสต์:
    1,682
    ค่าพลัง:
    +2,742
    ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

    O อานุภาพแห่งพระพุทธศาสนา

    เราต่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา.....เพราะพระพุทธศาสนาจริงๆ
    ดีได้เพียงนี้ ไม่ดีน้อยกว่านี้.....เพราะพระพุทธศาสนา
    ร้ายเพียงเท่านี้ ไม่ร้อยไปกว่านี้.....เพราะพระพุทธศาสนา เราจะไม่เป็นเช่นนี้

    พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้มีความว่า
    “ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี”

    เป็นการเตือนด้วยถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก ควรนักที่จะได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ควรรักษาตนนั้นให้ดี ขอให้ทบทวนคำเตือนนี้ให้เสมอ จะรู้สึกว่าเป็นคำเตือนที่สุภาพอ่อนโยน ไพเราะลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยเมตตา

    เมื่อทบทวนคำเตือนนี้แล้ว ก็น่าจะนึกเลยไปให้ได้ความเข้าใจว่าท่านผู้กล่าวคำเตือนได้เช่นนี้ ต้องมีจิตใจสูงส่ง มีเมตตาปรารถนาดีอย่างที่สุดต่อเราทุกคน

    จึงควรเทิดทูนความเมตตาของท่าน ให้ความสนใจและปฏิบัติให้เป็นไปตามคำของท่าน เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีตอบแทนพระคุณ และน้ำใจงดงามที่ท่านมีต่อเราทั้งหลาย และท่านผู้นั้น คือ พระพุทธเจ้า

    O ความจริงที่ควรระลึกถึงอย่างสม่ำเสมอ

    เรารักตัวเรา คนอื่นก็รักตัวเขา เราไม่อยากให้ใครทำเช่นไรกับเรา คนอื่นก็ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้นกับเขา เราอยากให้คนอื่นทำดีกับเราอย่างไร คนอื่นก็อยากให้เราทำดีกับเขาอย่างนั้น ขอให้พยายามคิดถึงความจริงนี้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะมีสตินึกได้ จะเป็นคุณแก่ตนเองอย่างยิ่ง การคิดพูดทำทั้งหมดจะเป็นไปอย่างดีที่สุด ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

    O เพราะรักตนอย่างยิ่งนั่นเอง
    จึงเป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติดี เพื่อให้ตนเป็นคนดี


    การสามารถรักษาจิตใจ รักษาวาจา รักษาการกระทำ ให้เป็นไปเพื่อไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการถือว่าผู้อื่นเป็นที่รักของตน แต่เป็นการทำเพื่อตนเอง เป็นการถือว่าตนเป็นที่รักของตนอย่างยิ่ง ไม่มีความรักอื่นเสมอด้วยความรักตน

    ผู้ที่สามารถรักษากาย วาจา ใจ ตนให้ดีได้นั้นก็คือ “ผู้ที่รักตนอย่างยิ่ง” นั่นเอง เพราะรักตนอย่างยิ่งจึงประพฤติดีปฏิบัติดีเพื่อให้ตนเป็นคนดี ผู้ที่ถือเอาการได้มาด้วยวิธีต่างๆ ไม่เลือกสุจริต ทุจริต ไม่ใช่คนรักตนเอง ผู้ที่มีกิริยาวาจาหยาบคายก้าวร้าว ทิ่มแทงหลอกลวง ไม่ใช่คนรักตนเอง

    ไม่ใช่คนที่จะทำให้ตนเองสวัสดีได้ ตรงกันข้ามที่ทำเช่นนั้นเป็นการไม่รักตนเอง แม้คนจะคิดว่าการที่ทำเพราะไม่รักผู้อื่นก็ตาม แต่ความจริงแท้เป็นการไม่รักตน เป็นการทำให้ตนต่ำทราม

    เมื่อจะคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วเมื่อใด ขอให้นึกถึงตนเอง นึกว่าตนเป็นที่รักของตน จึงไม่ควรทำลายตนเหมือนตนเป็นที่รังเกียจเกลียดชังอย่างยิ่ง จนถึงต้องทำลายเสีย การคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว เป็นการทำลายตนอย่างแน่แท้

    O ความดีความชั่วเป็นปัจจัยสำคัญให้สังคมวุ่นวาย

    สังคมแห่งมนุษยชาติบางคราวสงบเย็น บางคราวเดือนร้อนวุ่นวาย ก็เพราะมีความดีความชั่วเป็นปัจจัยสำคัญ พระพุทธศาสนาจึงมุ่งแนะนำสั่งสอนให้ประกอบความดี ละเว้นความชั่ว และอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งจะผลักดันให้ทำความดี ส่วนจิตใจชั่วทรามย่อมนำให้สร้างความชั่วเสียหายยังแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น

    O ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี

    ทุกชีวิตมีเวลาจำกัด อย่างมากไม่เกิดร้อยปีก็จะต้องละร่างนี้ ละโลกนี้ไป อย่าผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำความดี เพราะถ้าสายเกินไปเมื่อไร ก็ตนเองนั่นแหละจะต้องได้เสวยผลของการไม่กระทำกรรมดี ไม่มีผู้ใดอื่นจะรับผลของความดีความชั่วที่ตนเองทำไว้ เจ้าตัวเองเท่านั้น จักเป็นผู้รับผลของความดี ความชั่วที่ตนทำ

    O อย่ายอมให้ความชั่วมีอำนาจแบ่งเวลาในการทำดี

    ความดีก็ตาม ความชั่วก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกเวลา แต่จะทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องทำทีละอย่าง จึงต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไหน จะทำความดีหรือจะทำความชั่ว อย่างมีใจอ่อนแอโลเลเพราะจะทำให้พ่ายแพ้ต่ออำนาจของความชั่ว ยอมให้ความชั่วมีอำนาจแย่งเวลาที่ควรทำความดีไปเสีย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง จะเป็นการแสวงหาทุกข์โทษภัยใส่ตัว อย่างไม่น่าทำ

    O ตนนั่นแหละ เป็นผู้นำพาชีวิตของตน

    พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้แปลความว่า “ตนเทียวเป็นคติของตน” คือ ตนนั้นแหละ จักเป็นผู้พาตนเองไป ไปดีไปชั่ว ไปสว่างไปมืด ไปอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ตนจะพาตนเองไป ที่มักกล่าวกันว่าคนนั้นพาคนนี้ไปดีไม่ดีนั้น ไม่ถูกต้องตามความจริง

    ไม่มีผู้ใดจะพาใครไปไหนได้ นอกจากเจ้าตัวเองจะเป็นผู้พาตัวเองไป ผู้อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น แม้ตัวเองไม่พาตัวเองไปดีแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามรถพาไปดีได้อย่างแน่นอน หรือแม้ตัวเองไม่พาตัวเองไปชั่วแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามารถพาไปชั่วไปอย่างแน่นอน เช่น มีผู้มาชวนให้ทำบุญ แม้ตัวเองไม่ทำตาม ก็จะไม่ได้ทำบุญ

    ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งนั้น ถ้าตัวเองไม่เห็นดีเห็นงามตามไปด้วยแล้ว ไม่ทำตามแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดมานำได้ ตนเองเท่านั้น จักนำตนเองไปได้ทุกที่ทุกทาง ทั้งที่ดีทั้งที่ชั่ว ตนเองจึงสำคัญนัก ตนจึงเป็นคติของตนจริง

    O ทุกชีวิต ล้วนปรารถนาไปสู่ที่ดีที่สว่าง

    ทุกคนควรตั้งปัญหาถามตนเอง ว่าชอบจะพาตนเองไปสู่ที่ดีหรือไปสู่ที่ชั่ว ไปสู่ที่สว่างหรือไปสู่ที่มืด คำตอบน่าจะตรงกันทั้งหมด ว่าทุกคนชอบจะพาตนไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่ใช่ไปสู่ที่ชั่ว ไปสู่ที่มืด

    เมื่อรู้คำตอบปัญหาเช่นนี้ ก็ต้องรู้ต่อไปว่า ผู้นำ คือ ตนเองนั้น จะต้องรู้ทางไปสู่ที่ดีที่สว่างให้ถนัดชัดแจ้งถูกต้อง ไม่เช่นนั้ก็จะพาตนไปไม่ถูกต้องดังปรารถนา นั่นก็คือ ต้องรู้ว่าทำอย่างไร จึงจะไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่หลงไปสู่ที่ชั่วที่มืด

    เราเป็นพุทธศาสนิก มีโอกาสดีอย่างยิ่ง มีโอกาสดีกว่าผู้อื่น พระพุทธศาสนาแสดงทางดีทางสว่างไว้ชัดแจ้งละเอียดลออ ดีน้อยดีมาก สว่างน้อยสว่างมาก มีแสดงไว้แจ้งชัดในพระพุทธศาสนา

    พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นแจ้งทุกสิ่งทุกอย่างได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ เพื่อพุทธศาสนิกได้ดำเนินรอยพระพุทธบาทได้ถูกต้อง ได้ไปถึงที่ดีที่สว่างโดยไม่ต้องคลำทางด้วยตนเองให้ลำบาก สำคัญที่ว่าพุทธศาสนิกจะต้องศึกษาพระธรรมคำที่พระพุทธองค์ทรงสอนและต้องปฏิบัติตาม

    O ผู้ปรารถนาความดี ความสว่างแห่งชีวิต
    พึงดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอน


    พระพุทธองค์ทรงตามประทีปไว้แล้ว ให้เราเห็นทางดำเนินไปสู่ที่ดีที่พ้นทุกข์ เราจงอย่าปิดตาจงลืมตาดูแสงประทีปนั้น ให้เห็นทางสว่างด้วยแสงแห่งพระมหากรุณา แล้วพากันน้อมรับพระมหากรุณานั้นดำเนินไปตามทางที่สว่าง จักไม่พบอันตรายที่ย่อมแอบแฝงอยู่ในความมืด

    ความสำคัญจึงมิได้อยู่ที่แสงประทีป ซึ่งพระพุทธองค์ทรงจุดประทานไว้ด้วยพระมหากรุณาเท่านั้น แต่ต้องอยู่ที่ตนเองของทุกคนด้วย ถ้าพากันปิดตาไม่แลให้เห็นแสงประทีป ก็อาจจะเดินไปสู่ที่มืดที่ชั่ว ที่มีอันตรายร้อยแปดประการได้

    แต่ถ้ากาพันลืมตาขึ้น ดูให้เห็นทางอันสว่างไสว แล้วเดินไปตามทางนั้น ก็ย่อมจะเดินไปสู่ที่สว่าง ไปสู่ที่ดี พ้นภยันตรายมากมีทั้งหลาย

    O พึงอบรมตนให้เป็นคติ คือทางที่ดีของตน

    ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะมีหนทางชีวิตที่มืด มีแต่ปรารถนาหนทางชีวิตที่สว่าง ดังนั้นต้องอบรมตนให้รู้จักทาง ทางมืดก็ให้รู้ ทางสว่างก็ให้รู้ ทางไปสู่ที่มืดก็รู้ ทางไปสู่ที่สว่างก็รู้ รู้ทางแล้วยังไม่พอ ต้องศึกษาวิธีเดินทางให้ดีด้วย

    เดินทางสว่างนั้นท่านเดินกันอย่างไรต้องศึกษาให้ดี เดินอย่างไรจะเป็นการเดินทางมืด และต้องรู้ว่าขึ้นชื่อว่าทางมืดต้องมีอันตรายแอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่พึงเดินไปอย่างส่งเดช อบรมใจให้ดีให้ตาสว่าง จะได้เดินถูกทาง สามารถนำไปดีได้ ทำตนให้เป็นคติคือทางที่ดีของตนได้

    O ทุกชีวิต ล้วนตกเป็นเครื่องมือของกรรม

    ความรังเกียจหรือความนิยมยกย่องคนที่ชั่วและคนดี ได้รับเป็นผลแห่งกรรมของตน ไม่ใช่เป็นอะไรอื่น ความรังเกียจที่คนชั่วได้รับ เป็นผลแห่งกรรมชั่ว ความนิยมยกย่องที่คนดีได้รับ เป็นผลแห่งกรรมดี คนทั้งหลายรวมทั้งตัวเราทุกคน เป็นเครื่องมือของกรรมที่จะเป็นเหตุให้ผลของกรรมชั่วและผลของกรรมดีปรากฎชัดเจนขึ้นเท่านั้น

    ผู้มีปัญญาไม่นิยมคำว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ เพราะเป็นความไม่ถูกต้อง ความเสื่อมทั้งหลายเกิดจากความนิยมนี้ได้มากมาย

    O ผู้ยินดีในความถูกต้อง พึงอบรมตนให้มีสัมมาทิฐิ

    แม้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในจิตใจตนได้แล้ว การปฏิบัติที่ถูกต้องก็ย่อมจะต้องตามมาอย่างแน่นอน เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ คือ ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจความเห็นถูกเห็นผิดของใจ

    การอบรมความเห็นให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบ
    ไม่ให้เป็นมิจฉาทิฐิ.....ความเห็นผิด จึงเป็นความสำคัญที่สุดของผู้ยินดีในความถูกต้อง

    ใจของเราทุกคนนี้สำคัญนัก สติก็สำคัญนัก ปัญญาก็สำคัญนัก เมตตากรุณาก็สำคัญนัก ทั้งหมดนี้ไม่ควรแยกจากกัน มีใจก็ต้องให้มีสติ ต้องให้มีปัญญา ต้องให้มีกรุณา ประคับประคองกันไปให้เสมอ อย่าให้มีสิ่งอื่นนอกจากสติปัญญาและเมตตากรุณาเข้ากำกับใจ

    สติและปัญญาพร้อมเมตตากรุณานั้น เมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ จะทำให้ใจมีสัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบได้ ตรงกันข้าม แม้ใจขาดสติปัญญา และเมตตากรุณา ก็จะทำให้มีมิจฉาทิฐิ.....ความเห็นผิดได้ง่าย

    O สติปัญญา เมตตากรุณา สำคัญยิ่งแก่ทุกชีวิต

    สติ ปัญญา และเมตตา กรุณา เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของทุกคน เป็นสิ่งช่วยให้คนเป็นคนอย่างสมบูรณ์ขึ้น งามพร้อมขึ้นจึงพึงเพิ่มพูนทั้งสติ ปัญญา และเมตตา กรุณา ซึ่งสามารถอบรมได้พร้อมกัน ให้เกิดผลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

    ก่อนจะพูดจะทำอะไร พึงมีสติรู้ว่าแม้พูดแม้ทำลงไป จะเกิดผลอะไรตามมา เป็นความเสียหายแก่ผู้ใดหรือไม่ ต้องใช้ปัญญาในตอนนี้ให้พอเหมาะพอควร พร้อมทั้งใช้เมตตากรุณาให้ถูกต้อง เว้นการพูดการทำที่จะเป็นเหตุแห่งความกระทบกระเทือนใจผู้ฟังโดยไม่จำเป็น

    พระพุทธเจ้าทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณา ทรงตั้งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาเพื่อจิตใจ ผู้เป็นพุทธศาสนิกพึงคำนึงถึงความจริงนี้ให้อย่างยิ่ง จะคิด จะพูด จะทำอะไร มีสตินึกถึงจิตใจผู้เกี่ยวข้อทั้งหลาย อย่าให้ได้รับความชอกช้ำโดยไม่จำเป็น

    O ที่พึ่งของชีวิต อันไม่มีที่พึ่งใดเปรียบได้

    พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเพื่อจิตใจโดยแท้ เป็นศาสนาที่ทะนุถนอมจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจให้ห่างไกลจากความเศร้าหมองทั้งปวง อันจักเกิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง

    ศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้จริง ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าว่า ทรงมีพระหฤทัยละเอียดอ่อนและสูงส่งเหนือผู้อื่นทั้งปวง ความอ่อนโยนประณีตแห่งพระหฤทัย ทำให้ทรงเอื้ออาทรถึงจิตใจสัตว์โลกทั้งหลาย ทรงแสดงความทะนุถนอมห่วงใยสัตว์น้อยใหญ่ไว้แจ้งชัด

    สารพัดที่ทรงตรัสรู้อันจักเป็นวิธีป้องกันจิตใจของสัตว์โลก สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาพร่ำชี้แจงแสดงสอนตลอดพระชนม์ชีพที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เช่นนี้แล้วไม่ควรหรือที่พุทธศาสนิกทุกถ้วนหน้า จะตั้งใจสนองพระมหากรุณาเต็มสติปัญญาความสามารถปฏิบัติตามที่ทรงสอน

    เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย ด้วยการแนะนำบอกเล่าให้รู้จัก ให้เข้าใจว่า สมเด็จพระพุทธศาสดานี้ทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณาจึงทรงอบรมพระปัญญา จนถึงสามารถทรงยังให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นได้ เป็นที่พึ่งยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลายได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดเปรียบได้

    O ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด
    พึงรำลึกในพระคุณและน้ำใจของพระพุทธองค์


    ทุกคนที่เคยประสบความขัดข้องในชีวิต ปรารถนาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างที่สุด เมื่อมีผู้ใดมาให้ความช่วยเหลือแก้ไขความขัดข้องนั้นให้คลี่คลาย.....ช่วยให้ร้ายกลายเป็นดี แม้มีจิตใจที่กตัญญูรู้คุณ ผู้ได้รับความช่วยเหลือด้วยเมตตา ให้ผ่านพ้นความมืดมัวขัดข้อง ย่อมสำนึกในพระคุณและน้ำใจ

    ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบแทน พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่เหนือความกรุณาทั้งหลายที่ทุกคนเคยได้รับมาในชีวิต แม้ไม่พิจารณาให้ประณีตก็ย่อมไม่เข้าใจ แต่แม้พิจารณาให้ประณีตด้วยดี ย่อมไม่อาจที่จะละเลยพระคุณได้ ย่อมจับใจในพระคุณพ้นพรรณนา

    (มีต่อ ๓)

    :cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool::cool:

    <table align="center" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="94%"><tbody><tr><td class="postbody" valign="top">พุทธวิธีเพื่อการหัดตาย

    O พุทธวิธีเพื่อการหัดตาย

    การหัดตายที่ปราชญ์ในพระพุทธศาสนาท่านแนะนำ คือ การหัดอบรมความคิด สมมติว่าตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้วตายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริงทั้งหลาย

    O ฝึกอบรมความคิดว่าเมื่อปราศจากชีวิตแล้ว
    สภาพร่างกายของตนที่เคยเคลื่อนไหว จักทอดนิ่ง


    คิดให้เห็นชัดว่าเมื่อตายแล้ว ตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะทอดนิ่ง อย่าว่าแต่เพียงจะลุกขึ้นไปเก็บรวบรวมเงินทองข้าวของที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วย จะเขยิบไปพ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบก็ทำไม่ได้

    เมื่อมีผู้มายกไปนำไป ยังที่ซึ่งเขากำหนดกันว่าเหมาะว่าควร ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้ แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหน เขาก็จะไม่ให้อยู่.....จะยกไปวัด

    เคยนอนฟูกบนเตียงในห้องกว้าง ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง เขาก็จะจับลงไปในโลงศพแคบทึบ ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง ตีตาปูปิดสนิทแน่น ไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้นวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ

    O ถูกทอดทิ้งอ้างว้างตามลำพัง หลังปราศจากชีวิต

    สามี ภริยา มารดา บิดา บุตร ธิดา ญาติสนิทมิตรทั้งหลาย ที่เคยรักห่วงใยกันนักหนา ก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย แม้แต่จะนั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืน ก็ยังไม่มีใครยอม

    บ้านเรือนใครก็จะพากันกลับคืนหมด ทิ้งไว้แต่ลำพังในวัดที่อ้างว้าง มีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพ มีเชิงตะกอน มีศพที่เผาเป็นเถ้าถ่ายแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้างมากมายหลายศพ

    O ทรัพย์สมบัติที่สะสมไว้ ในขณะที่มีชีวิต
    สิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับลมหายใจและชีวิตที่สิ้นสุด


    ทีนี้เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัว เคยรังเกียจ แต่เมื่อตายเราก็หนีไม่พ้น เรามีอะไรหรือในขณะนั้น เราไม่มีอะไรเลย มือเปล่าเกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว เงินสักบาททองสักเท่าหนวดกุ้งก็ไม่มีติด มีแต่ตัวแท้ๆ

    เขาไม่ได้แต่งเครื่องเพชรเครื่องทองมีค่าหรือมอบกระเป๋าใส่เงินใส่ทองให้เลย อย่างดีก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่แต่งศพให้ไปเท่านั้น ซึ่งไม่กี่วันก็จะชุ่มน้ำเหลืองที่ไหลจากตัว มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ๆ ให้ ทั้งๆ ที่สะสมไว้มากมายหลายสิบชุด ล้วนเป็นชอบอกชอบใจว่าสวยว่างาม

    โอกาสที่จะได้ใช้เงินใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องเพชรเครื่องทองเหล่านั้นสิ้นสุดลงแล้ว.....พร้อมกับลมหายใจ พร้อมทั้งชีวิตที่สิ้นสุดนั้นเอง ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากแสวงหามา สะสมโดยไม่ถูกไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นการเบียดเบียนก่อทุกข์ภัยให้ผู้อื่น

    O มองให้เห็นสภาพร่างกายที่ตายแล้ว

    หัดมองให้เห็นร่างกายของตนเอง ที่ตายแล้วอืดอยู่ในโลง เริ่มปริแตก มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลออกจากขุมขน เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดด้วยหนอง ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก นัยน์ตาถลนเหลือกลาน

    รูปร่างหน้าตาของตนเองขณะนั้น อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้ตัวเองก็จำไม่ได้ อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจ สะดุ้งกลัวเลย แม้แต่ตัวเองก็ยากจะห้ามความรู้สึกนั้น

    ผิวพรรณที่อุตสาหะพยายามถนอมรักษาให้งดงามเจริญตา เจริญใจ ใส่หยูกใส่ยา เครื่องอบเครื่องลูบไล้ เครื่องประทินอันมีกลิ่นมีคุณค่าราคาแพงทั้งหลาย มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเชิง เมื่อความตายมาถึง

    O ทรัพย์สมบัติสักนิด เมื่อตายไปก็นำไปไม่ได้

    เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาทะนุบำรุงรักษาร่างกายของเขาไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถ แม้ด้วยเล่ห์กล เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงตัวของเรา ก็ติดร่างไปไม่ได้เลย

    O แม้ร่างกายของเรา ก็ต้องทิ้งไว้ในโลก

    เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า.....ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ให้ความสุข ความสมบูรณ์ ความสะดวกสบาย ความปกป้องคุ้มกันร่างของคนตายไม่ได้ ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพัง เน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ประจำโลกต่อไป ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า “สัตว์ทั้งปวงทิ้งร่างไว้ในโลก”

    O ความเชื่อในชีวิตหลังความตาย

    ผู้มีความเข้าใจว่า ตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้ว จึงไม่มีความหมาย นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั่นเป็นนี่กันในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร

    พุทธศาสนิชนส่วนใหญ่ เชื่อว่ามีชาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยเกิดในชาติอื่นมาแล้ว และก็จะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไป ไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้

    อย่าพลอยเป็นไปกับคนเป็นอันมาก ที่มีโมหะหลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า จบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว ก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาติอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ควรแสวงหาความสุขสมบูรณ์ให้ตนเองให้เต็มที่ในชาตินี้

    ผู้ใดมีโมหะหลงผิดเช่นนี้ จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนทำร้ายแม้กระทั่งถึงชีวิตเขาก็ทำได้ เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองแน่นอน คนจะต้องเสวยผล เสวยทุกขเวทนา ทั้งในโลกนี้และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วตามกรรมของตน ต้องตามพุทธภาษิตว่า “กรรมของตนเอง ย่อมนำไปสู่ทุคติ”

    O ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนาน ไม่อาจประมาณได้

    ปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้น้อยนัก ก็คือ ชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติหน้ายาวนานไม่อาจประมาณได้ ชีวิตในภพข้างหน้าจะสิ้นสุดเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความหมดจดจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น เปรียบชีวิตข้างหน้ากับชีวิตนี้แล้ว ชีวิตจึงน้อยนัก

    O แม้รักตนจริง ควรรักไปถึงชีวิตข้างหน้าด้วย

    แม้รักตนจริง ก็ควรรักให้ตลอดไปถึงชีวิตข้างหน้าด้วย ไม่ใช่จะคิดเพียงสั้นๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น หาความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตนี้ ภายในขอบเขตที่ชอบที่ถูกทำนองคลองธรรมเถิด ผลแห่งกรรมทั้งในชาตินี้และชาติหน้าต่อๆ ไปที่จะต้องเสวยแน่ จะได้ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม ที่ให้ความทุกข์ มิได้ให้ความสุข

    O เมื่อชีวิตดับสลาย.....ทุกสิ่งที่เคยครอง
    ก็ต้องสูญสลายพลัดพราก


    ชีวิตใคร..........ใครก็รัก
    ชีวิตเรา...........เราก็รัก ชีวิตเขา........เขาก็รัก
    ความตาย........เรากลัว ความตาย.....เขาก็กลัว
    ของของใคร.....ใครหวง ของของเรา.....เราหวง
    ของของเขา......เขาก็หวง

    จะลักจะโกงจะฆ่าทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา เราเป็นเขา คือ เขาเป็นผู้ที่จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายเรา เราเป็นเขาผู้ที่จะถูกลักถูกโกงถูกฆ่าถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณา

    ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวแม้ผู้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้ว แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่ ก็น่าสงสารที่สุด พบข่าวเหล่านี้เมื่อไร ขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย

    O ทุกชีวิตต้องตาย.....และจะตายในเวลาไม่นาน

    ชีวิตของมนุษย์นี้ จะยืนนานเกิน ๑๐๐ ปี ก็ไม่มาก ทั้งยังเหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี อีกด้วย คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่ชั่วช้าโหดร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า ในเมื่อชีวิตดับสลายแล้ว ทุกสิ่งที่ชีวิตเคยครอง ก็ต้องสูญสลายพลัดพรากจากไป ทรัพย์สมบัติติดตามคนตายไปไม่ได้

    แต่เหตุแห่งการแสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี ติดตามคนตายไปได้ ให้ผลเป็นความทุกข์ความเดือนร้อนแก่คนที่ตายไปแล้วได้ ทรัพย์จึงไม่ใช่สิ่งที่พึงแสวงหา โดยไม่คำนึงให้รอบคอบถึงความถูก ความผิด ความควร ความไม่ควร

    O ความโลภไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักนัก

    ทรัพย์ที่แสวงหาด้วยความโลภเป็นใหญ่ ได้ทำลายชีวิตและทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของใครต่อใครมาแล้วอย่างประมาณมิได้ ปรากฏให้เห็นอยู่ในชีวิตนี้ ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ทั้งโลภในทรัพย์ ในยศ ในชื่อ ล้วนเป็นทุกข์หนักนักทั้งสิ้น ตนเองก็เป็นทุกข์ ทั้งยังแผ่ความทุกข์ไปถึงผู้อื่นอีกด้วย จึงเป็นกรรมไม่ดี

    O ผู้มีปัญญา มีความฉลาด มีสัมมาทิฐิ
    จักมุ่งเพียรละกิเลสก่อนความตายมาถึง


    ถ้าทุกข์ร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุดในลาภ ในยศ ในชื่อ จะดับทุกข์ร้อนนั้นได้ด้วยการทำกิเลสให้หมดจด ชีวิตในภพชาติข้างหน้าอันยาวนานนักหนา จะเป็นชีวิตดีมีสุขเพียงไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำไว้แล้วทั้งในอดีตชาติและในชาตินี้เป็นสำคัญ

    จะฉลาดนักถ้าจะไม่ลืมความจริงนี้ จะฉลาดที่สุดถ้าจะไม่คำนึงถึงแต่ความสุขเฉพาะในชีวิตนี้ หรือชีวิตหน้า แต่จะมุ่งคำนึงว่าจะพึงปฏิบัติอย่างไรให้เต็มสติปัญญาความสามารถ เพื่อไม่ต้องมีภพชาติข้างหน้าอีกต่อไป

    เพราะความเกิดเป็นความทุกข์แท้ ผู้ฉลาดมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ จักมุ่งมั่นเพียรอบรมสติปัญญาให้สามารถทำลายกิเลสคือราคะ หรือโลภะ โทสะ และโมหะ ให้หมดจด เพื่อพาตนให้พ้นได้จากความเกิดอันเป็นทุกข์

    (มีต่อ ๔)</td> </tr> <tr> <td> </td> </tr> <tr> <td class="postdetails" height="40" valign="bottom">http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10434
    </td></tr></tbody></table>
     
  2. theerakiet

    theerakiet สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    26
    ค่าพลัง:
    +13
    ขอให้ข้าพเจ้า มี สติ ปัญญา พร้อมด้วย เมตตาและกรุณา นำมาซึ่ง สัมมาทิฐิ ด้วยเิทิด

    อนุโมทนาครับ
     
  3. โสภา จาเรือน

    โสภา จาเรือน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    2,013
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,332
    อนุโมทนา...สาธุ

    หากตั้งมั่นในคุณธรรมความดีความงามเพียงศีล ๕ เท่านั้น
    ก็มีอันแคล้วคลาดจากอุบัติภัยทั้งปวงอย่างน่าอัศจรรย์
     

แชร์หน้านี้

Loading...