ยาแก้อักเสบ ยิ่งแรง ยิ่งดี

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 26 ตุลาคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    <CENTER>[​IMG]
    </CENTER>
    <!--images--><!--images--><!--images-->
    คุณรู้จักยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบไหมครับ
    ก็ยาตัวที่คุณกินเวลาเจ็บคอ มีแผล หรือติดเชื้อต่างๆนั่นไงครับ เป็นยาที่หมอจะบอกไว้ว่าต้องกินจนหมด
    หลายๆตัวผมเชื่อว่าคุณๆจะต้องรู้จักกัน อย่างเช่นอะม๊อกซี่ Amoxy นอฟ๊อก Norflox เพราะเห็นหลายๆคนในเวปต่างๆพูดถึงกันมาก

    จากการที่เล่นเนทมาระยะหนึ่ง ได้อ่านคำแนะนำของคนทั่วไปหลายๆคนว่าใช้ตัวนี้แล้วไม่หาย ให้เปลี่ยนไปใช้อีกตัวนึง
    ใช้อะม๊อกซี่Amoxyไม่หาย ให้เปลี่ยนไปใช้อ๊อกเมนตินAugmentin
    ใช้นอฟอกNorfloxไม่หาย ให้เปลี่ยนเป็น ซิโปรเบ Ciprobay
    อันนี้คือความเชื่อผิดๆที่ว่า "ยาแก้อักเสบ ยิ่งแรง ยิ่งดี" ที่เจอได้บ่อยในสังคมไทย

    ตัวอย่างเจอได้บ่อยๆในรพ.ที่ผมอยู่ก็คือ ผู้ป่วยเคยไปรักษาในกรุงเทพฯมาก่อน เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เวลามารพ.ก็จะขอยาแก้อักเสบ"แรงๆ"ตลอด
    ผู้ชายคนนึง เป็นไข้เจ็บคอ ผมตรวจแล้วคอก็ไม่ค่อยแดง ทอนซิลไม่โต ไม่มีไข้ เมื่อผมจะสั่งยาให้กลับบ้านโดยให้เป็นยาลดน้ำมูกแก้แพ้ ยาลดไข้ (และยาละลายเสมหะซึ่งให้ไปงั้นๆ) ปรากฎว่าผู้ป่วยบอกว่า"ต้องการAugmentinเท่านั้น"ถ้าไม่ได้จะไม่ยอมกลับ... ผมใช้เวลากับผู้ป่วยรายนี้อยู่นาน ไม่ว่าจะอธิบายว่าไม่มีความจำเป็นเพียงใด เขาก็ยังยืนยันว่าต้องการยาตัวนี้ และ"หมอจะต้องให้ยาตัวนี้โดยใช้สิทธิสามสิบบาท"
    ผมปฏิเสธไม่ยอมจ่ายยาตัวนี้ ผู้ชายคนนี้จากไปพร้อมกับบอกว่าผมรักษาโดยไม่มีมาตรฐาน
    ผู้ป่วยเด็ก พ่อแม่พอไปรักษาที่คลินิก ได้ยาแก้อักเสบมาตัวนึงชื่อZithromax กินไปได้ช้อนนึงไม่ดีขึ้นก็พามารพ. มาถึงรพ.บอกว่ายาไม่ดี ต้องการเปลี่ยนยาเป็นยาที่แรงกว่านี้
    อ่านดู2กรณีแล้ว นึกอะไรได้ลองนึกไว้ในใจนะครับ

    ปัญหาเชื้อดื้อยา จัดว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงพอสมควรในเมืองไทยขณะนี้ การประชุมโรคติดเชื้อแต่ละปี ก็ต้องมีเรื่องเชื้อดื้อยาเข้ามาเกี่ยวข้อง รายงานเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ทำในรพ.30-40แห่งทั่วประเทศ ก็ชี้ให้เห็นว่าเชื้อโรคเมืองไทยเริ่มดื้อยามากขึ้นทีละน้อย
    บางคนได้ยินว่าเชื้อดื้อยาก็ไม่คิดอะไร ก็บอกแค่ว่า "ก็ให้ยาแรงขึ้นสิ" ไม่เห็นยากอะไร.... ความคิดแบบนี้ยังมีในสังคมทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นความเชื่อที่น่ากลัว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายความเชื่อที่อยากจะนำมาเสนอในครั้งนี้

    1. ป่วย มีไข้ ต้องใช้ยาแก้อักเสบ
    เวลามีคนป่วยมารพ.ด้วยอาการมีไข้ เวลาจ่ายยากลับบ้านแล้วไม่มียาแก้อักเสบ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยจะย้อนกลับมาขอยาแก้อักเสบ
    ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาเชื้อในกลุ่มแบคทีเรีย ส่วนน้อยจะมียาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา
    โรคส่วนใหญ่ของคนที่มารพ. เป็นโรคทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร นั่นคือกลุ่มพวกไข้เจ็บคอ หรือท้องเสีย ซึ่งในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อจะเป็นเชื้อไวรัส .... ซึ่งการให้ยาแก้อักเสบส่วนใหญ่ก็เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์
    การให้ยาแก้อักเสบในผู้ป่วยทุกรายที่ป่วยมีไข้ ก็อาจจะเป็นการรักษาที่เกินไปสักนิดนึง และจะสร้างมาตรฐานที่ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่า ถ้าไม่ได้ยาแก้อักเสบคือไม่มีมาตรฐาน

    2. ยาแพง ยาแรง
    ผู้ป่วยบางคน ดูราคายาแล้วตัดสินว่ารักษาดีหรือไม่ , หรืออย่างง่ายหน่อย ถ้าป่วยแล้วรู้สึกว่าอาการไม่สบายมีมาก ถ้าเห็นชื่อยาแล้วคุ้นหูคุ้นตาก็จะรู้สึกว่าไม่ดีพอ
    คำว่า"ยาแรง" เป็นคำที่ก่อความเข้าใจผิดกันมานานมาก เนื่องจากทำให้เข้าใจว่า ยามีแบบแรงแบบอ่อน
    ที่ร้ายไปกว่านั้น กลายเป็นว่า ถ้ารักษาไม่หาย แปลว่าแพทย์เอายาห่วยๆถูกๆมาให้ ทั้งที่ถ้าเอายาแรงๆมาให้ก็จะหายป่วยได้
    ที่จริงการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ควรใช้คำว่า"ยาแรง" แต่ต้องเรียกว่า ต้องเลือกใช้ยาตามเชื้อที่เป็น
    เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคกันก็มีหลายชนิดแตกต่างกันไป โดยการเลือกใช้ยา ก็ต้องดูว่ายาตัวนี้ สามารถใช้ได้กับเชื้อตัวนี้หรือไม่
    ยาราคาแพงบางตัว ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีความสามารถฆ่าเชื้อไม่กี่ชนิด ... และบ่อยครั้ง ที่ยาราคาแพงบางตัว ไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคง่ายๆได้
    ยกตัวอย่างเช่น โรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ใช้ยาNorfloxacin เม็ดละบาท สามวันหาย , แต่ไปใช้ยาClindamycin ราคาแพงกว่ากันหลายสิบเท่า กลับไม่หาย

    3. หายแล้วก็หยุดกินได้
    จริงๆแล้ว ทุกคนรู้ว่าการใช้ยาฆ่าเชื้อ ต้องกินจนครบ ไม่ควรหยุดก่อนหรือหยุดเมื่อรู้สึกว่าดีขึ้น แต่ในสภาพปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะกินเพียงสองสามวันเท่านั้น หลังจากนั้นก็เก็บเอายานั้นไว้ใช้ในครั้งต่อไป
    การทำเช่นนี้ก่อผลเสียสองอย่างก็คือ อย่างแรก ในครั้งแรก การได้รับยาไม่พอก็จะทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาขึ้นมาบางส่วนและยังไม่ทันถูกฆ่าให้หมดไป... ถึงจะหายป่วย แต่ก็จะมีเชื้อที่ดื้อยาหลงเหลืออยู่
    อย่างที่สอง เมื่อเก็บยาไว้ใช้ในครั้งต่อไป มักจะเก็บไม่ถูกวิธี ยาที่ใช้ก็เสื่อมสภาพไป เมื่อนำมาใช้ก็ให้ระดับยาที่ต่ำเกินกว่าที่จะฆ่าเชื้อได้ ก็จะทำให้เชื้อที่เสี่ยงจะดื้อยาอยู่แล้วเกิดการดื้อยาเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก

    4. เราสามารถซื้อยาตามอาการได้
    เวลาที่ไปร้านขายยา ผมจะเห็นยาที่วางขายให้หยิบจ่ายกันง่ายๆอย่างไม่มีการควบคุม อย่างเช่น "เพนนิซิลิน5แสน" "เตตร้าซัยคลิน" เอาไว้ซื้อหาไว้แก้อาการตามต้องการ เจ็บคอ มีแผล รู้สึกไม่สบาย ก็เดินเข้ามาแล้วสั่งยากัน...
    หรือที่เจอบ่อยๆอีกเช่นกัน ก็คือ เดินเข้าร้านปุ๊บก็บอกว่า "เจ็บคอ ขอซื้อAugmentinหน่อย" ทางร้านก็บ้าจี้ขายให้... แม้แต่ที่เคยลองเอง เจ็บคอ ไปซื้อยาแก้เจ็บคอ ยังเคยได้Amoxyมาเลย
    อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องใช้โดยมีความรู้เรื่องเชื้อเรื่องยา การซื้อเองโดยไม่มีความรู้หรือคิดว่ารู้(แต่จริงๆไม่รู้) นอกจากจะได้ยาไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ ยังอาจเกิดอันตรายได้
    มิฉะนั้น เขาคงไม่ระบุไว้ข้างกล่องหรอกครับว่า "ยาอันตราย"

    5.ใช้ยากว้างๆดีกว่าใช้ยาแคบๆ
    คนที่พอรู้เรื่องยาบ้าง จะรู้ว่ายาบางชนิดมีการออกฤทธิ์ที่กว้าง สามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิด สมัยก่อนเวลาป่วยไม่สบายเป็นอะไรก็ตามไปร้านขายยาก็จะได้ยาพวกเตตร้าซัยคลินหรือด๊อกซี่ซัยคลินมา เนื่องจากเป็นยาที่ราคาถูก และมีการออกฤทธิ์ที่กว้าง ไม่ว่าจะติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ผิวหนัง ถ้าไม่ได้เป็นหนักหนาหรือเชื้อดื้อยานัก ได้ยาพวกนี้ไปอาการก็บรรเทาทั้งนั้น
    ในทางกลับกัน แพทย์จะเลือกยาที่ออกฤทธิ์แคบที่สุดเท่าที่จะแคบได้ในการรักษาโรค
    สาเหตุหนึ่งคือ ราคาถูก
    แต่สาเหตุที่สำคัญกว่าคือ ป้องกันการดื้อยา
    อย่างเช่นปัจจุบัน เจ้ายาด๊อกซี่ซัยคลิน แพทย์ในรพ.จะใช้ต่อเมื่อสงสัยการติดเชื้อกลุ่มRickettsia (ในเมืองไทยก็พวกโรคScrub typhus) และจะพยายามไม่ใช้ยานี้พร่ำเพรื่อนัก เพราะเจ้าโรคScrub typhusที่ว่านี้ เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยแต่มียาให้เลือกแค่ไม่กี่ตัว (บางตัวก็เลิกใช้กันไปแล้วเพราะผลข้างเคียงรุนแรง) ถ้าหากเชื้อเกิดดื้อยาขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่าไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้
    ตอนนี้ในภาคเหนือของเมืองไทยก็เริ่มเกิดเชื้อScrub ที่ดื้อต่อยาด็อกซี่ซัยคลิน และเริ่มเป็นปัญหาในการรักษาแล้ว ...
    หากปกติยาตัวนี้ถูกใช้ตามความจำเป็นจริงๆ เชื่อว่าคงไม่มีปัญหา
    แต่ว่านี่ซื้อหากันง่ายอย่างกับขนม...
    เจ็บคอ.... เตตร้า , ไข้.... เตตร้า , ฉี่ขัด.... เตตร้า , แผลฝี.... เตตร้า , ........................ พอกลายเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้จริงๆเช่นเป็นฉี่หนู เป็นScrub ปรากฎว่าดันไม่หาย เพราะเชื้ออยู่ในชุมชนที่ใช้เตตร้ากันจนชิน กินกันเป็นกิจวัตร


    เชื้อโรค เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ตัวมันเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ กลไกที่สำคัญที่สุดในการจัดการมนุษย์ก็คือการดื้อยา เชื่อกันว่า หากปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต เชื้อก็จะสามารถปรับตัวจนดื้อยาทุกชนิดที่เรามีในโลกได้
    เนื่องจากการดื้อยาของเชื้อโรค สามารถเกิดได้ทุกครั้งที่เชื้อโรคได้เห็นยา ... ดังนั้น หนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยาได้ ก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ...
    ส่วนหนึ่ง ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับยาเช่นแพทย์ เภสัช พยาบาล คนขายยา (และเจ้าของร้านชำบางแห่ง)ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ...
    อีกส่วนหนึ่ง ประชาชน ก็ต้องเลิกพฤติกรรมการเลือกซื้อยาปฏิชีวนะในรูปแบบการเดินจ่ายตลาด อยากได้อะไรก็จะเอา

    มิฉะนั้น ซักวันจะไม่เหลือยาอะไรให้ใช้
     

แชร์หน้านี้

Loading...