เรื่องเด่น ยิ่งอยู่เย็น-โลกยิ่งร้อน!

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 9 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    “การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (United Nations Framework Convention on Climate Change) สมัยที่ 24 หรือ “COP24” ซึ่งมีสมาชิก 197 ประเทศเข้าร่วม ที่เมืองคาโตวิช สาธารณรัฐโปแลนด์ เริ่มขึ้นเมื่อ 3 ธ.ค. ลากยาวไปจนถึง 14 ธ.ค.

    แม้ผลการวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จะย้ำเตือนถึงมหันตภัยจากวิกฤติ “โลกร้อน” ที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนการแก้ปัญหายังห่างไกลความสำเร็จ เพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจยังตั้งแง่เกี่ยงงอน ไม่จริงจังจริงใจแก้ปัญหาเท่าที่ควร เนื่องจากกลัวเสียผลประโยชน์และกระทบเศรษฐกิจของตนเอง

    ภายใต้ “ข้อตกลงปารีส” ปี 2558 ตั้งเป้าจำกัดอุณหภูมิโลกภายใน พ.ศ.2573 ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะจัดสรรเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2563 ช่วยชาติยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด ทั้งน้ำท่วม คลื่นความร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไฟป่า พายุรุนแรง

    ชาติยากจนต้องการให้เงินนี้มาจากงบรัฐบาล แต่ชาติร่ำรวยต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและได้กำไรจากโครงการนี้ด้วย จึงเถียงกันไม่จบ ซ้ำร้าย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ มหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ผู้ชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส และไม่ยอมจ่ายเงินช่วยชาติยากจนที่รัฐบาลชุดก่อนรับปากไว้ 2,000 ล้านดอลลาร์

    การประชุม “COP24” จึงอาจเป็นโอกาสสุดท้าย! ถ้าไม่สามารถตกลงในกฎกติกาใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะ “เรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น และตกลงกันเรื่องงบช่วยเหลือชาติยากจนไม่ได้ ข้อตกลงปารีส
    ก็อาจหมดความหมาย การต่อสู้โลกร้อนจะยิ่งหมดหวัง!

    0b8b9e0b988e0b980e0b8a2e0b987e0b899-e0b982e0b8a5e0b881e0b8a2e0b8b4e0b988e0b887e0b8a3e0b989e0b8ad.jpg
    ประชุมสู้โลกร้อน-นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 หรือ “COP24” ที่เมืองคาโตวิช โปแลนด์ เมื่อ 3 ธ.ค. เพื่อหาทางบรรลุข้อตกลงสู้โลกร้อน (เอเอฟพี)

    ระหว่างการประชุม มีรายงานชิ้นหนึ่งของสำนักข่าว “เอเอฟพี” ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้มนุษย์กำลังต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับยิ่งทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งมีการใช้ “เครื่องปรับอากาศ” (Air Condi-tioners-AC) หรือที่บ้านเราเรียกว่า “แอร์” มากขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด

    ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือที่ “อินเดีย” ซึ่งแอร์กลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกมหึมา!

    อินเดียประเทศที่มีประชากรมากอันดับ 2 ของโลก กว่า 1,300 ล้านคน และมีแนวโน้มจะแซง “จีน” แชมป์เก่าในไม่ช้านี้ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรง แต่ละปีชาวอินเดียในหลายพื้นที่ต้องต่อสู้กับฤดูร้อนมหาโหดยาวนานกว่า 4 เดือน ขณะที่อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี

    ปี 2560 ซึ่งเคยเป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ อุณหภูมิที่เมือง “พาโลดี” ในรัฐราชสถาน ทำลายสถิติร้อนที่สุดในอินเดียถึง 51 องศาเซลเซียส! ร้อนถึงขั้นทำให้ถนนยางมะตอยละลาย ผู้คนหลายล้านตกอยู่ในอันตราย หลังจากปี 2558 มีผู้เสียชีวิตเพราะเป็นลมแดดเกือบ 2,500 คน

    แม้จะยากจน ชาวอินเดียจึงพยายามดิ้นรนซื้อหาแอร์มาติดที่บ้านสู้ความร้อนตับแตก แม้ปัจจุบัน ครัวเรือนชาวอินเดียมีแอร์ใช้แค่ราว 5% เทียบกับ 90% ในสหรัฐฯ และ 60% ในจีน แต่ตลาดแอร์ในอินเดียเติบโตเร็วสุดๆ เพราะประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและเข้าถึง “ไฟฟ้า” ได้มากขึ้น

    คาดว่าภายใน พ.ศ.2593 หรือ 32 ปีข้างหน้า จะมีแอร์ถึง 1,000 ล้านเครื่องในอินเดีย! จากปัจจุบันราว 30 ล้านเครื่อง และจะกลายเป็นประเทศที่ใช้ไฟฟ้าสำหรับแอร์มากที่สุดในโลกด้วย โดยไฟฟ้าราว 2 ใน 3 ของอินเดียผลิตจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ และคาดว่ายังต้องพึ่งพาพลังงานไฮโดรคาร์บอนนี้เป็นหลักอีกหลายสิบปี

    นอกจากถ่านหินและก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมามหาศาล สารทำความเย็นในแอร์และความร้อนจากคอมเพรสเซอร์ของแอร์ ก็ทำให้อุณหภูมิในเขตเมืองสูงขึ้นอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสด้วย

    ขณะนี้อินเดียเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่จีนและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยแต่ละปีอินเดียเผาถ่านหินกว่า 800 ล้านตัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมหาศาล คาดว่าเมื่อตลาดแอร์เติบโต อินเดียต้องผลิตไฟฟ้ารองรับเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปัจจุบัน

    สำหรับชาวอินเดียจำนวนมากที่ทนทุกข์จากความร้อน แอร์จึงเป็นเสมือน “ของขวัญจากพระเจ้า” เลยทีเดียว แม้มีรายได้ต่ำแต่ต้องมีแอร์ให้ได้ เพื่อจะได้นอนหลับพักผ่อนสบายขึ้น เอาแรงไว้สู้งานหนักวันต่อวัน

    8b9e0b988e0b980e0b8a2e0b987e0b899-e0b982e0b8a5e0b881e0b8a2e0b8b4e0b988e0b887e0b8a3e0b989e0b8ad-1.jpg
    ตลาดแอร์บูม-คนงานเร่งประกอบเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ฯ ที่โรงงานของบริษัทไดกิ้นในเมืองนีมมารา ห่างกรุงนิวเดลี ราว 120 กม. ขณะที่ตลาดแอร์หรือ AC ในอินเดีย ซึ่งอากาศร้อนจัดเติบโตเร็วมาก จนคาดว่าจะพุ่งถึง 1,000 ล้านเครื่องใน 32 ปีข้างหน้า ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้โลกร้อนขึ้น (เอเอฟพี)

    ในรอบ 10 ปีหลัง ตลาดแอร์ในอินเดียเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ร้านขายแอร์มากมายมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 150% ทุกปี ร้านเล็กๆ บางร้าน เผยว่า ปีนี้ปีเดียวยอดขายกระฉูดกว่า 300 เครื่องแล้ว ยุคนี้จึงเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมผลิตแอร์ บริษัทต่างๆเร่งทำการตลาดเพิ่มยอดขายแข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

    แค่นึกภาพแอร์ในอินเดียที่จะเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านเครื่องก็น่าสยดสยองแล้ว แต่เชื่อว่าประเทศอื่นๆทั่วโลกก็มีสภาพไม่ต่างกัน คือยิ่งโลกร้อนขึ้น คนยิ่งต้องใช้แอร์มากขึ้น โลกก็จะยิ่งร้อนขึ้นเป็นงูกินหาง

    เป็น “วังวนอุบาทว์” ที่ต้องรีบหาทางแก้ ควบคู่ไปกับมาตรการสู้โลกร้อนอื่นๆ!

    บวร โทศรีแก้ว

    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1440156
     

แชร์หน้านี้

Loading...