รวมคำสอน “ท่านพ่อลี ธมฺมธโร”

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 15 มิถุนายน 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลักปฏิบัติทางจิต ๔

    ๔. มรณญฺจ

    หมายถึง ให้ระลึกถึงความตาย
    ความตายนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เป็นสิ่งไม่มีใครต้องการ
    เพราะมันเป็นสิ่งที่คับใจเราอย่างยิ่ง
    ดังนั้น ท่านจึงสอนให้หมั่นระลึกถึงความตายไว้

    ความจริงการระลึกถึงความตายนี้จะเป็นกุศลอย่างสำคัญทีเดียว
    แต่ถ้าเราไประลึกถึงเผินๆ ก็กลัวตาย
    ถ้าเราระลึกถึงความจริงของมันจนเลยออกไปจากความตายแล้ว
    เราก็จะไม่กลัวตาย
    เรื่องตายเป็นปัญหาอย่างสำคัญ
    ถ้าเราไม่ต้องการตายก็ควรจะระลึกให้ถึงความจริงแล้วเราก็จะไม่ตาย

    ความตายอย่างสามัญชนมี ๓ ประเภท

    ประเภทที่ ๑ คือ ตายไปกับความชั่ว
    ประเภทที่ ๒ ตายไปกับความดี
    ประเภทที่ ๓ ไม่ตาย

    ถ้ามนุษย์ทั้งหลายยินดีในการทำชั่วก็ต้องตายไปกับความทุกข์
    บางพวกที่ไม่ประมาท มีสติปัญญาหมั่นเจริญเพ่งพิจารณาว่า
    เราเกิดมาก็ไม่มีอะไรติดตัวมา เวลาตายก็คงไม่มีอะไรไป มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น
    นอกจากความดีความชั่วที่ตนทำไว้แล้วก็คงไม่มีสิ่งใดที่จะติดตัวไปได้

    เมื่อมาพิจารณาอย่างนี้ก็รีบบำเพ็ญตนทำบุญทำกุศล
    เป็นคนไม่ประมาทไปทั้งหมดเพื่อเราจะได้มีอะไรติดตัวไปด้วย

    คนตายชั่ว คือ เวลาที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ประกอบคุณงามความดี
    กระทำแต่ชั่วช้าลามก เวลาตายก็ต้องตายไปกับความทุกข์
    และยังไปเสวยทุกข์ในภายภาคหน้าต่อไปอีก
    ถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีศีลกรรมบถ มีกัลยาณธรรม
    ตายไปก็ไปทางดี ตายไปกับความสุข

    เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสั่งสอนบำเพ็ญบุญกุศล
    รีบเร่งหาเสบียงไว้เสียโดยเร็วเพราะไฟบัลลัยกัลป์มันไหม้เราอยู่ทุกวัน ทุกนาที
    ความเก่าแก่ ความเจ็บ ก็ก่อความเสียหายเป็นไฟไหม้ทั้งนั้น
    ทรัพย์สินเงินทองก็ไหม้ไปตามๆกัน
    เมื่อใครเห็นสิ่งที่ถาวรมีอยู่ก็ทำโลกียทรัพย์ให้เป็น "อริยทรัพย์"
    และตัวเราผู้ใช้ทรัพย์ก็ต้องเป็นคนดีด้วย
    ท่านจึงสอนให้มีกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ที่เรียกว่า "มนุษย์สมบัติ"
    นี้เป็นการระลึกถึงความตายอย่างหนึ่งของตนที่จะมีในภายภาคหน้า

    ถ้าจะพูดกันอีกอย่างหนึ่งแล้ว ความตายไม่ใช่ความจริง ความจริงนั้นไม่ตาย
    ส่วนปรมัตถ์ไม่ใช่ของจริง จริงแต่สมมติบัญญัติ
    ถ้ากล่าวถึงธรรมชาติก็ไม่มีอะไรตาย
    รูปตาย นามตายก็จริง แต่จะกล่าวให้ถึงความจริงแล้ว..ไม่จริง
    "ธรรมธาตุ" ที่เรียกว่า "อสังขตธาตุ"
    คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี้มีมาแต่ต้น
    จนโลกแตกก้คงเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ตามเดิม
    เป็นธาตุแท้ไม่แปรผัน เป็น "ธรรมฐีติธาตุ"

    เมื่อร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย
    ธาตุเหล่านั้นก็กลับไปสู่สภาพเดิมของมัน ไม่ตายไปไหน
    ส่วนดวงจิตก็เหมือนกัน มีอยู่ ๒ ลักษณะ
    ลักษณะ ๑ จิตตาย
    ลักษณะ ๒ จิตไม่ตาย
    แต่เรียกว่า ย้ายไปโดยสถานที่โดยกรรม
    เมื่อจิตยังมีการประสบธาตุ มีเกิดก็ต้องมีดับ
    ถ้าจิตยังประกอบด้วยอาสวกิเลส ก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา

    เปรียบเหมือนกับเมล็ดข้าวสารที่ห่อหุ้มด้วยเปลือกนอกของมัน
    และเก็บไว้ในยุ้งฉางหรือกระสอบ
    เมื่อได้รับสิ่งประสบ คือ คสวามเย็นชื้นแห่งดิน น้ำ และอากาศภายนอกเข้าเมื่อใด
    เมล็ดข้าวเหล่านั้นก็ย่อมจะแตกงอกงามออกมาเป็นต้นข้าว
    มีใบ รวง และก่อพืชพันธุ์สืบต่อไปอีกไม่มีสิ้นสุด
    แต่ถ้าเรานำเมล็ดข้าวนั้นไปกระเทาะหรือฝัดสีข้าวเปลือกนอกออก
    หรือนำไปใส่ภาชนะคั่วไฟเสีย มันก็จะต้องหมดเชื้อหมดยาง นำไปเพาะอีกไม่ได้

    ฉันใดก็ดี ดวงจิตของเราก็เช่นเดียวกัน
    ถ้าเราได้ใช้ความเพียร บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญพรต
    แผดเผากิเลสเกิดขึ้นภายในดวงจิตของเราด้วยการทำสมาธิ
    และพิจารณาธรรมด้วยสติปัฏฐาน ๔
    มีกาย เวทนา จิต ธรรม อยู่เนืองๆแล้ว
    ตัวกิเลสของเราก็จะต้องกระเด็นออกไปเหมือนกับเมล็ดข้าวสารที่ถูกคั่วด้วยไฟ
    และกระเด็นออกไปจากกระทะฉันนั้น

    การบำเพ็ญอย่างนี้เรียกว่า จิตไม่ตาย พ้นจากความตาย กายก็ไม่ตาย จิตก็ไม่ตาย
    นี่แหล่ะที่เข้าถึงความจริงได้ โดยประการฉะนี้

    เมื่อพวกเราทั้งหลายได้สดับธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว
    ก็พึงโยนิโสมนสิการ น้อมนำไปใช้พิจารณาให้มีขึ้นในตน
    เพื่อจักได้เกิดประโยชน์อันเป็นความสุข ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
    และได้เข้าถึงที่สุดแห่งธรรม
    คือ ความไ่ม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย
    อันเป็นความสิ้นทุกข์ทั้งปวง

    พระธรรมเทศนาในอารักขกัมมัฏฐานดังได้แสดงมา็ก็พอสมควรแก่เวลา
    เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


    คัดลอกจาก...
    หนังสือแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน ๒
    พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์
    (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    พิมพ์เผยแพร่โดย ชมรมกัลยาณธรรม หน้า ๗-๑๗
    http://www.dhammajak.net
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อริยทรัพย์เป็นเครื่องบำรุงกำลังใจ

    [​IMG]


    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
    อายุโท พลโท ธีโรติ

    บัดนี้จะได้แสดงธรรมะข้อหนึ่ง
    อันเป็นคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ัฟังสักเล็กน้อย
    เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังกายและกำลังใจ
    คนเรามีชีวิตอยู่ด้วย กำลังกาย และ กำลังใจ
    ถ้าปราศจาก ๒ สิ่งนี้แล้ว ชีวิตก็จะดำรงอยู่ไม่ได้

    กำลังกายนั้นถึงเราจะบำรุงส่งเสริมด้วยปัจจัย ๔
    มีโลกียทรัพย์ เป็นต้น สักเท่าใด
    ก็ไม่วายเสื่อมสิ้นหมดไปด้วยธรรมดาและธรรมธาตุ
    คือ ไม่พ้นจากความแก่ เจ็บ ตาย และยังต้องอาศัยกำลังใจช่วยด้วย
    ส่วนกำลังใจนั้นไม่ต้องอาศัยปัจจัย ๔ คือ โลกียทรัพย์ เลยก็ได้
    ไม่ต้องอาศัยกำลังทางส่วนร่างกาย
    อาศัยแต่ "อริยทรัพย์" อย่างเดียวก็ทรงตัวอยู่ได้
    ดังนั้นกำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่ากำลังกาย

    คนที่ไม่มีกำลังของตัวเองก็ต้องหวังพึ่งคนอื่นไปก่อนจนกว่าจะตั้งตัวได้
    การพึ่งคนอื่นนี้ก็ต้องระวังหาที่พึ่งให้ดี ตรงกับบาลีว่า
    อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจเสวนา
    คือ ต้องเลือกคบคนที่ดี คบแต่นักปราชญ์บัณฑิต
    ท่านจะได้ช่วยแนะนำสั่งสอนให้เราเป็นคนดี
    ถ้าไปคบกับคนพาลก็จะต้องได้รับผลร้าย ที่พึ่งอันนี้จึงไม่จัดว่าดีจริง
    เพราะถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับการยิงนก อาจจะถูกปีกมันบ้างหรือหางมันบ้าง

    ถ้าจะให้ถูกตรงเป้าดำจริงแล้วก็ต้องอาศัยที่พึ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ
    อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือ การพึ่งตนของตนเอง
    อย่างนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมากเป็นอย่างยอด
    เพราะทำให้เราได้รู้จักกรรมดี กรรมชั่วของตนเอง คือ "กมฺมสฺสโกมฺหิ"
    แล้วเราก็จะไม่ต้องไปหวังพึ่งคนอื่นอีกเลย

    การหาที่พึ่งอันนี้ต้องอาศัยธรรม ๕ ประการ คือ
    สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกว่า พละ
    หรือกำลังที่จะเป็นเครื่องช่วยค้ำจุนส่งเสริมให้เรามีกำลังใจก้าวไปสู่ความดี
    รวมลงแล้วก็สงเคราะห์อยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
    คือ ศรัทธา ได้แก่ ศีล
    วิริยะ สติ และสมาธิ เข้าอยู่ใน สมาธิ
    และปัญญาก็เข้าใจในองค์ปัญญา

    ๑.) ศรัทธา

    เมื่อผู้ใดมี "ศรัทธา" ก็เท่ากับมีทรัพย์แล้ว เขาเป็นผู้ไม่จน
    "ศีล" เป็นเหมือนผ้าขาวที่หุ้มห่อพันกายให้งดงาม
    เหมือนกลีบดอกบัวที่ห่อหุ้มความหอมของเกสรไว้
    และเป็นตัว "ปหานธรรม" ที่คอยตัดทำลายความชั่วทุจริตทางกายให้เป็นกายสุจริต
    นี้เป็นตัวศีลแต่ก็ยังไม่ดีนัก และเมื่อมีศีลแล้วก็จะต้องมี "ธรรม" กำกับด้วย

    ๒.) วิริยะ

    "วิริยะ" เป็นตัวขยันหมั่นเพียร บากบั่น
    แกล้วกล้าในกิจการงานไม่ท้อถอย
    เพื่อให้เป็นกำลังเจริญก้าวหน้าในความดี

    ๓.) สติ

    "สติ" เป็นตัวสำรวมระวังในการดำเนินทางกาย วาจา ใจ
    ไม่ให้ผิดพลาด กำหนดรู้ในความดีความชั่ว
    อันเป็นเหตุที่จะไม่ให้ความประพฤติตกไปในทางบาปอกุศลได้

    ๔.) สมาธิ

    "สมาธิ" คือ ความตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว
    คือ "เอกายน มรรค" ไม่ให้จิตโอนเอน
    โยกคลอนหรือหวั่นไหวไปในอารมณ์ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
    ทั้งอดีต และอนาคต ต้องทำใจให้เป็น "มโนสุจริต"

    ทั้ง ๓ องค์นี้ (วิริยะ สติ สมาธิ) เรียกว่า "ศีลธรรม"
    ละวิตก วิจาร พยาปาทะ วิหิงสา เป็น "เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป"
    จิตไม่เข้าไปยินดียินร้ายในกิเลสกามและพัสดุกาม ทั้งดีและชั่ว
    เป็นจิตของ "ผู้บวช" ถึงจะบวชก็ตาม ไม่บวชก็ตาม
    อยู่บ้านก็ตาม อยู่วัดก็ตาม จัดเป็น "ผู้บวช" ทั้งสิ้น



    คัดลอกจาก...
    หนังสือแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน ๒
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
    (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    พิมพ์เผยแพร่โดย ชมรมกัลยาณธรรม หน้า ๕๐-๕๓
    http://www.dhammajak.net
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ศีล ได้แก่ การละเว้นความไม่สะอาด ๓ ประการ

    [​IMG]


    พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงความไม่สะอาด สิ่งปฏิกูลต่างๆ ในร่างกายว่า

    "ความเปื้อนเปรอะเหล่านี้เราไม่รังเกียจ
    เพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมดาของร่างกาย
    แต่ความเปื้อนเปรอะสกปรกอันเกิดขึ้นเพราะบุคคลกระทำชั่วแล้ว
    นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราตถาคตย่อมรังเกียจ"

    :b42: :b42:

    ความไม่สะอาดที่ผิดธรรมชาติ คือ "ความชั่ว"
    อันนี้แหละสกปรกโสมมมาก ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดๆ
    เมื่อใครประพฤติชั่วช้าลามก ปราศจากเสียซึ่งศีลธรรมแล้ว
    ก็ย่อมได้ชื่อว่า เป็นคนสกปรกอยู่เสมอ นักปราชญ์ก็ตำหนิ คนดีก็ยกโทษ
    เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้บุคคลทำร่างกายให้สะอาด
    โดยให้ยกเว้นการกระทำชั่วทั้งหลาย

    "ความชั่ว" ไม่ใช่ของธรรมดาที่เกิดขึ้นในตนเอง
    เพราะเราต้องทำมันจึงจะชั่ว ถ้าไม่ทำ มันก็ไม่เกิด
    นี่จึงเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ

    ความไม่สะอาดอันนี้ย่อมเกิดขึ้นได้โดย ๓ ประการ คือ
    ๑) เกิดจากความประพฤติอย่างหนึ่ง
    ๒) เกิดจากการบริโภคอย่างหนึ่ง
    ๓) เกิดจากการคบคนชั่วอย่างหนึ่ง

    ๑) เสียในส่วนความประพฤติ

    ๑.๑) "ปาณาติบาต" ที่เป็นไปในความประพฤติก็คือ
    คนที่ไม่มีศีล ๕ ชอบฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ กดขี่ ข่มเหงทรกรรม
    บางคนก็ถึงกับฆ่าประหัตประหารกันโดยปราศจากความเมตตาปราณี
    นี่เรียกว่า "ปาณาติบาต" ข้อหนึ่ง

    ๑.๒) "อทินนาทาน" ลักฉ้อ คดโกงปกปิดสิ่งของของคนอื่น
    ซึ่งเป็นสิ่งอันไม่จำเป็นแก่พุทธบริษัทที่เป็นนักบุญเลย

    ๑.๓) "กาเม สุมิจฉาจาร"
    ประพฤติผิดล่วงละเมิดในสามีภรรยาของคนอื่น

    ๑.๔) "มุสาวาท" กล่าวเท็จ ล่อลวง อำพราง

    ๑.๕) "สุราเมรยะ" ดื่มน้ำเมาต่างๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

    เมื่อความประพฤติเหล่านี้มีในบุคคลผู้ใด
    ก้ได้ชื่อว่า ความสกปรกโสโครกเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น
    นี่เป็นความประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า "กายกรรม"
    บางทีก็ชั่วใน "วจีกรรม" เช่น "มุสาวาท" พูดคำไม่จริง
    "ปิสุณาวาท" พูดส่อเสียด "ผรุสวาท" พูดคำหยาบ
    "สัมผัปปลาปวาท" พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล หาสาระประโยชน์มิได้

    เหล่านี้เป็นความเปื้อนสกปรกที่นักปราชญ์ท่านติเตียน
    กายก็เปื้อน วาจาก็เปื้อน ธรรมของที่เื้อนนั้นมันย่อมหนักกว่าของที่สะอาด
    สังเกตดูเสื้อผ้าเก่าๆ ที่สกปรกนั้น เมื่อจับดูจะรู้สึกว่า หนักกว่าผ้าดีๆ
    และเมื่อของนั้นมันสกปรกและหนักอย่างนี้ก็ย่อมหยิบยาก ใช้ยาก จะใช้ก็ไม่อยากใช้
    จะหยิบก็ไม่อยากหยิบเพราะรู้สึกขยะแขยงรังเกียจ ไม่อยากให้ถูกมือเปื้อนเลย

    คนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าใครทำความชั่วมากๆแล้ว
    กายนั้นก็หนักไปไหนไม่รอด
    เช่น คนทำชั่วคิดจะไปวัดก็ให้รู้สึกว่า มันหนักแข้งหนักขาเสียเหลือเกิน
    ไม่กล้าจะไปเพราะอายเขาบ้าง เพราะกลัวคนเขาจะรู้จะเห็นในความชั่วของตัวบ้าง
    ใจก็หนัก กายก็หนัก ยิ่งทำความชั่วหนาก็ยิ่งหนักขึ้นทุกที เลยไปไม่ได้
    นี่เป็นความสกปรกเลอะเทอะในร่างกายซึ่งเป็นความเสียในส่วนความประพฤติ

    ๒) เสียในการบริโภค

    ได้แก่ อาหารการกินต่างๆที่บริโภคเข้าไปนั้น
    ได้มาจากสิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมต่างๆ
    หรือมิฉะนั้นบางคนความประพฤติก็ไม่เสีย การบริโภคก็ไม่เสีย
    แต่เครื่องอุปโภคใช้สอยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี
    เช่น รับซื้อของโจร หรือได้มาจากการทุจริตต่างๆ

    ๓) เสียในการคบคนชั่ว

    บางคนก็ไม่เป็นอย่างนั้น การบริโภคก็ดี การอุปโภคก็ดี
    แต่ชอบคบคนชั่วเป็นมิตรสหาย
    อย่างนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงตำหนิในส่วนร่างกาย

    ถ้าแก้ไขร่างกายดีแต่ใจสกปรก คือ ดวงจิตไม่มีเมตตาพรหมวิหาร
    จิตชอบเกลียด โกรธ พยาบาท
    หรือ คิดนึกตริตรองไปในทางชั่ว ใจนั้นก็ย่อมประกอบด้วยอาสวกิเลส
    คือ มีนิวรณ์ ๕ อย่างเข้าครอบงำ
    เช่น กามฉันทะ, พยาปาทะ, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ, วิจิกิจกฉา เป็นต้น
    ถ้านิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เกิดขึ้นในดวงจิตของผู้ใดแล้ว
    ดวงจิตซึ่งเป็นไปนั้น ก็เป็น "อกุศลจิต" คิดทำความชั่วต่างๆ ได้

    เหตุนั้น ท่านจึงสอนให้เจริญภาวนา ให้วิตกไปในทางบุญทางกุศล
    เป็น "พุทธานุสติ" คือ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
    "ธัมมานุสติ" ระลึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์
    และ "สังฆานุสติ" ระลึกถึงความปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบของพระสงฆ์
    ๓ อย่างนี้เรียกว่า เป็นของง่ายๆ ซึ่งพวกเราทุกคน
    ควรกระทำกันได้โดยไม่น่าจะลำบากใจเลย

    คนที่มีความประพฤติชั่ว เมื่อทำชั่วทางกาย กายก็สกปรก
    เมื่อกล่าวชั่วทางปาก ปากก็สกปรก
    เมื่อคิดชั่วทางใจ ใจก็สกปรก
    ความชั่วนี้เป็น "กัณหธรรม" คือ ธรรมดำ
    เมื่อบุคคลใดมีกัณหธรรม ก็จะต้องเดินลงไปสู่ที่ต่ำ คือ "กองทุกข์"
    อันเป็นความมืดมิด หมดอิสระ หมดความเจริญทุกประการ

    ส่วนบุคคลผู้มีความประพฤติดี
    เป็น "สุกกธรรม" คือ ธรรมขาว ก็จะต้องมีแต่ความสุข
    ความเจริญงอกงาม ตายไปก็ได้ไปบังเกิดในที่สูง
    เช่น สวรรค์ และพรหมโลก เป็นต้น



    คัดลอกจาก...
    หนังสือแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน ๒
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
    (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
    พิมพ์เผยแพร่โดย ชมรมกัลยาณธรรม หน้า ๑๑๖-๑๒๒
    http://www.dhammajak.net
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สรีระสังขารท่านพ่อลี ธมฺมธโร ยังไม่ได้ถวายเพลิงจนทุกวันนี้

    [​IMG]
    สรีระสังขารท่านพ่อลี ธมฺมธโร ที่มรณภาพอย่างสงบ
    เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น.
    ณ กุฏิของท่าน วัดอโศการาม สิริอายุรวมได้ ๕๕ ปี พรรษา ๓๓

    [​IMG]
    จากซ้าย : พระโสภณคุณาธาร (หลวงปู่มหาเนียม สุวโจ),
    พระวิจิตรธรรมภาณี, พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต)
    และพระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)
    บันทึกภาพร่วมกันในงานบำเพ็ญกุศลศพและสวดมนต์อุทิศถวาย
    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมมฺธโร)
    ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

    หลังจาก “ท่านพ่อลี ธมฺมธโร” ได้มรณภาพลง
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
    เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
    วัดมกุฎกษัตริยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
    มีบัญชาให้เก็บสรีระสังขารของท่านพ่อลีไว้ ยังไม่ถวายเพลิง
    เอาอย่าง “ท่านพระมหากัสสปเถระ”
    ที่ในวันหนึ่งในอนาคตกาลจะมีพระศรีอริยเมตไตรย
    มาถวายเพลิงสรีระสังขารพระมหากัสสปเถระอย่างสมศักดิ์ศรี

    ในเวลาที่พระมหากัสสปเถระจักนิพพาน
    พระเถระได้เข้าไปอยู่ในระหว่างภูเขา ๓ ลูกที่เมืองฮ่อ
    (สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ในประเทศจีน)
    ภูเขา ๓ ลูกนั้นได้ประชุมรวมกันเข้าเป็นลูกเดียว
    ปกปิดกำบังร่างของพระเถระเพื่อมิให้ปรากฏแก่มหาชนทั้งหลาย
    ต่อเมื่อในอนาคต พระศรีอริยเมตไตรยได้เสด็จลงมาตรัสรู้
    เป็นพระพุทธเจ้าในโลกแล้ว
    พระองค์ก็จะนำเอาร่างของพระมหากัสสปเถระ
    ยกขึ้นไว้บนฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวา ชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระ
    แล้วเตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของท่าน
    บนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรพุทธเจ้านั้น

    เนื่องจากเวรกรรมที่ท่านทั้งสองได้เคยทำต่อกันในอดีตชาติ
    เมื่อคราวที่พระศรีอริยเมตไตรยเกิดเป็นนายควาญช้าง
    และพระมหากัสสปเถระเกิดเป็นพญาช้างเผือก
    อดีตชาติในครั้งนั้น “นายควาญช้างได้สั่งให้พญาช้างเผือก
    เอางวงอุ้มเหล็กแดงเอาไว้เพื่อเป็นการลงโทษ
    ที่พญาช้างเผือกวิ่งหนีเข้าป่าติดตามกลิ่นสาปของนางช้าง
    พญาช้างเผือกได้รับความเจ็บปวดจากแท่งเหล็กนั้น จนกระทั่งล้มตายในที่สุด
    สรุปคติธรรมที่ได้จากเรื่องนี้คือ “ราคะนี้มีความเผ็ดร้อนทารุณยิ่งกว่าไฟ
    มีพิษร้ายยิ่งกว่าพิษของพญานาค”

    นัยของท่านพ่อลีก็ขอให้เอาเยี่ยงอย่างนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า
    “ผู้มีบุญกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านในวันข้างหน้า
    จะได้มาถวายเพลิงสรีระร่างของท่านอย่างสมศักดิ์ศรี
    ที่เป็นอัศวินนักรบธรรมกรรมฐานผู้มีพลังจิตแก่กล้า
    สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”

    พร้อมนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านยังมีบัญชาอีกว่า
    ให้บำเพ็ญกุศลและสวดมนต์อุทิศถวายท่านพ่อลีทุกคืน
    บรรดาบรรพชิตซึ่งเป็นคณะศิษยานุศิษย์ของท่านพ่อลี
    ก็ได้ปฏิบัติตามบัญชามาโดยตลอด
    และคณะทายกทายิกาได้ทำบุญอุทิศถึงด้วยความเคารพ
    จุดธูปเทียนบูชาด้วยความศรัทธาเลื่อมใส

    ต่อมาระยะหนึ่ง บรรดาศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่ทางฆราวาส
    ปรารภจะทำฌาปนกิจศพของท่านพ่อลีด้วยว่าพระกรรมฐานไม่เก็บศพไว้นาน
    และอีกฝ่ายหนึ่งปรารภจะเก็บไว้สักการบูชาให้เป็นที่อบอุ่นอยู่ตลอดไป

    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีเสียงขึ้นเป็นสองเสียง
    เสียงฝ่ายหนึ่งจะทำฌาปนกิจศพของท่าน
    อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่ควรทำ ควรเก็บไว้อย่างนี้
    เป็นเหตุให้มีการประชุมใหญ่ของบรรดาศิษยานุศิษย์
    ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ลงคะแนนเอาเสียงข้างมาก
    ก็ปรากฏว่าเสียงที่ไม่ให้ทำการฌาปนกิจศพเป็นเสียงข้างมาก
    เนื่องด้วยชาวจันทบุรีที่เลื่อมใสท่านพ่อลี
    พากันแห่มาออกเสียงเป็นจำนวนนับหมื่นคน
    สรุปคือไม่ได้ถวายเพลิง จึงได้เก็บสรีระสังขารท่านไว้ตลอดมาจนทุกวันนี้
    โดยอัญเชิญไว้ในโลงทอง ณ วิหารสุทธิธรรมรังสี วัดอโศการาม

    เป็นที่น่าอัศจรรย์ !! ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
    ดอกไม้บูชาท่านพ่อลีไม่เคยเหี่ยวแห้ง
    เพราะมีผู้คนนำดอกไม้มากราบไหว้บูชาท่านไม่เคยขาด
    เสียงสวดมนต์ปฏิบัติบูชาจากสานุศิษย์
    ตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึง ๔ ทุ่มของทุกวัน ดังกึกก้องมาไม่รู้จบ
    วันมรณภาพเวียนมาบรรจบประชาชนจะหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย
    พระกรรมฐานมารวมกันในคราวจำเป็นในข้อธรรมวินัย ณ วัดอโศการาม
    ซึ่งมีพระธุตังคเจดีย์อันยิ่งใหญ่ได้ปรากฏมาจนกระทั่งทุกวันนี้

    นี่คือท่านพ่อลี ที่รักเคารพบูชาอย่างหาที่สุดมิได้
    สายธารธรรมหลั่งไหลไปไม่มีวันหยุด
    สายน้ำแห่งคุณงามความดีของท่านแผ่ซึมซับไปโดยทั่ว
    ท่านคือพระผู้รุ่งเรืองด้วยเดช ด้วยยศ
    และเป็นพระผู้สละโลกได้อย่างสิ้นเชิง
    สมศักดิ์ศรีเป็นพุทธสาวกที่พระพุทธเจ้าได้ทำนายไว้ว่า
    ในยุคกึ่งพุทธกาลพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในดินแดนสุวรรณภูมิ
    อันเป็นดินแดนสุดท้ายที่ยังมีท่านผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    นับเป็นบุญของพวกเราชาวไทยจริงๆ ที่ผืนแผ่นดินแห่งนี้มีสิ่งอันเป็นมิ่งมงคล
    เรามีทั้งพระพุทธศาสนา มีพระผู้แกร่งกล้า คือ
    ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต,
    ท่านพ่อลี ธมฺมธโร และหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ฯลฯ
    ตลอดจนมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    http://www.dhammajak.net
     
  5. ฐานธมฺโม

    ฐานธมฺโม ทำลายเพื่อสร้างใหม่ ให้ดี ให้งาม..

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 ธันวาคม 2019
    โพสต์:
    12,916
    ค่าพลัง:
    +4,612
    ล้ำค่าจริงๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...