รวมคำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตเถระ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 27 กันยายน 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    ครั้งที่ 19 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน

    ประจำวันที่ 7 กรกฏาคม 2552


    ท่านพระอาจารย์มั่นท่านฝึกอบรมพระเณรเพื่อเห็นผลประจักษ์ในการบำเพ็ญ ท่านมีอุบายปลุกปลอบด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวมา ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามท่านด้วยความเคารพเทิดทูนจริง ๆ ย่อมได้รับคุณธรรมเป็นการถ่ายทอดข้อวัตรวิธีดำเนินจากท่านมาอย่างพอใจ ตลอดความรู้ความฉลาดภายในใจเป็นที่น่าเลื่อมใส และนำมาสั่งสอนลูกศิษย์สืบทอดกันมาพอเห็นเป็นสักขีพยานว่า ศาสนายังทรงมรรคทรงผลประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติตลอดมาอย่างไม่ขาดสูญ ถ้าพูดตามความเป็นมาและการอบรมสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ควรเรียกได้อย่างถนัดใจว่า "ปฏิปทาอดอยาก"

    คือที่อยู่ก็อดอยาก ที่อาศัยก็ฝืดเคือง ปัจจัยเครื่องอาศัยโดยมากดำเนินไปแบบขาด ๆ เกิน ๆ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ ความเป็นอยู่หลับนอน ที่ล้วนอยู่ในสภาพอนิจจังนั้น ถ้าผู้เคยอยู่ด้วยความสนุกรื่นเริงและสมบูรณ์ไปเจอเข้า อาจเกิดความสลดสังเวชใจในความเป็นอยู่ของท่านเหล่านั้นอย่างยากที่จะปลงตกได้ เพราะไม่มีอะไรจะเป็นที่เจริญตาเจริญใจสำหรับโลกผู้ไม่เคยต่อสภาพเช่นนั้น จึงเป็นที่น่าทุเรศเอาหนักหนา แต่ท่านเองแม้จะเป็นอยู่ในลักษณะของนักโทษในเรือนจำ


    แต่ก็เป็นความสมัครใจและอยู่ได้ด้วยธรรม เป็นอยู่หลับนอนด้วยธรรมลำบากลำบนทนทุกข์ด้วยธรรม ทรมานตนเพื่อธรรมอะไร ๆ ในสายตาที่เห็นว่าเป็นการทรมานของผู้ไม่เคยพบเห็นจึงเป็นเรื่องความสะดวกกายสบายใจสำหรับท่านผู้มีปฏิปทาในทางนั้น ดังนั้น จึงควรให้นามว่า "ปฏิปทาอดอยาก" เพราะอยู่ด้วยความตั้งใจทรมานอดอยาก ฝืนกายฝืนใจจริง ๆ คือ อยู่ก็ฝืนไปก็ฝืน นั่งก็ฝืน ยืนก็ฝืน นอนก็ฝืน เดินจงกรมก็ฝืน นั่งสมาธิก็ฝืน ในอิริยาบททั้ง 4 เป็นท่าฝืนกายฝืนใจทั้งนั้น ไม่ยอมให้อยู่ตามอัธยาศัยใจชอบเลยบางครั้งยังต้องทนความหิวไม่ฉันจังหันไปหลายวัน เพื่อเร่งความเพียรทางใจ ขณะที่ไม่ฉันนั้นเป็นเวลาทำความเพียรตลอดสาย ไม่มีการลดหย่อนผ่อนตัวว่าหิวโหย แม้จะทุกข์ก็ทราบว่าทุกข์ในเวลานั้น แต่ก็ทราบว่าตนทนอดเพื่อหิวเพื่อความเพียร

    เพราะผู้ปฏิบัติบางรายจริตนิสัยชอบทางอดอาหารถ้าฉันไปทุกวันร่างกายสมบูรณ์ความเพียรทางใจก็ไม่ก้าวหน้า ใจอับเฉา ไม่สว่างไสว ไม่องอาจกล้าหาญก็จำต้องหาทางแก้ไข โดยมีการผ่อนและอดอาหารบ้าง อดระยะสั้นบ้าง ระยะยาวบ้าง พร้อมกับความสังเกตุตัวเองว่า อย่างไหนมีผลมากน้อยอย่างไรบ้าง เมื่อทราบนิสัยของตนว่าถูกกับวิธีใดก็เร่งรีบในวิธีนั้น รายที่ถูกจริตกับการอดหลายวันจึงจำเป็นต้องยอมรับตามนิสัยของตน และพยายามทำตามแบบนั้นเรื่อยไป แม้จะลำบากบ้างก็ยอมทนเอา เพราะอยากดี อยากรู้ อยากฉลาด อยากหลุดพ้นจากกองทุกข์ ผู้ที่จริตนิสัยถูกกับการอดในระยะยาวย่อมทราบได้ในขณะที่กำลังทำการอดอยู่ คืออดไปหลายวันเท่าใดใจยิ่งเด่นดวงและอาจหาญต่ออารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึก ใจมีความคล่องแคล้วแกล้วกล้าต่อหน้าที่ของตนมากขึ้น นั่งสมาธิภาวนาลืมมืดลืมสว่าง เพราะความเพลิดเพลินกับธรรม ขณะในสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมย่อมไม่สนใจต่อความหิวโหยและกาลเวลา มีแต่ความรื่นเริงในธรรมทั้งหลายอันเป็นสมบัติที่ควรได้ควรถึงในเวลานั้น จึงรีบตักตวงให้ทันกับเวลาที่กิเลสความเกียจคร้านอ่อนแอความไม่อดทนเป็นต้น กำลังนอนหลับอยู่พอจะสามารถแอบปีนขึ้นบนหลังหรือบนคอมันบ้างก็ให้ได้ขึ้นในเวลานั้น ๆ หากรั้ง ๆ รอ ๆ หาฤกษ์งามยามดีพรุ่งนี้มะรืนนี้อยู่ เวลามันตื่นขึ้นมาแล้วจะลำบากใจไม่ดีอาจสู้มันไม่ได้และกลายเป็นช้างให้มันโดดขึ้นคอ แล้วเอาขอสับลงบนศีรษะคือหัวใจแล้วต้องยอมแพ้มันราบคาบ

    เพราะใจเราเคยเป็นช้างให้กิเลสเป็นนายควาญบังคับมานานแสนนานแล้ว ความรู้สึกกลัวที่เคยฟังใจมานานนั้นแลพาให้ขยาด ๆ ไม่กล้าต่อสู้กับมันอย่างเต็มฝีมือได้ ทางด้านธรรมท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็นคู่อริกัน แต่ทางโลกเห็นว่ากิเลสกับใจเป็นคู่มิตรในลักษณะบ๋อยกลางเรือนอย่างแยกกันไม่ออกฉะนั้นผู้มีความเห็นตามธรรมจึงต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้าศึก เพื่อเอาตัวรอดและครองตัวอย่างอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับกิเลสเป็นผู้คอยกระซิบสั่งการ แต่ผู้ที่เห็นตามกิเลสก็ต้องคอยพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจ ที่มันแนะนำหรือสั่งการออกมาอย่างไรต้องยอมปฏิบัติตามทุกอย่างไม่ขัดขืนมันได้ ส่วนผลที่ได้รับจากมัน เจ้าตัวก็ทราบว่ามีความกระเทือนต่อจิตใจเพียงใด แม้ผู้อื่นก็ย่อมทราบได้จากการระบายออกของผู้เป็นเจ้าทุกข์

    เพราะความกระทบกระเทือนทางจิตใจที่ถูกกิเลสกลั่นแกล้งและทรมานโดยวิธีต่าง ๆ ไม่มีประมาณโทษทั้งนี้แล ทำให้ผู้มีความรักตัวสงวนใจต้องมีมานะต่อสู้ด้วยความเพียรทุกด้านอย่างไม่อาลัยเสียดายชีวิต ถึงจะอดก็ยอมอด ทุกข์ก็ยอมทุกข์ แม้ตายก็ยอมพลีชีพเพื่อยอมบูชาพระศาสนาไปเลย ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้ไว้เพื่อกิเลสได้หวังมีส่วนร่วมด้วย จะได้ใจ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ปลุกใจพระเณร ให้มีความอาจหาญร่าเริงต่อความเพียรเพื่อยกตนให้พ้นทุกข์เครื่องกดถ่วงจิตใจ เพราะท่านได้พิจารณาทดสอบเรื่องของกิเลสกับธรรมมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเห็นผลประจักษ์ใจแล้ว จึงได้กลับมาภาคอีสานและทำการสั่งสอนอย่างเต็มภูมิแห่งธรรมที่ท่านรู้เห็นมาเป็นคราว ๆ ในสมัยนั้น ธรรมที่ท่านสั่งสอนอย่างอาจหาญและออกหน้าออกตาแก่บรรดาศิษย์อยู่เสมอได้แก่ พลธรรม 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาโดยให้เหตุผลว่า ผู้ไม่เหินห่างจากธรรมเหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดทุนและล่มจม เป็นผู้มีหวังความเจริญก้าวหน้าไปโดยลำดับ ธรรมทั้ง 5 ข้อนี้ ท่านแยกความหมายมาใช้สำหรับท่านเองเป็นข้อ ๆ ...
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


    ครั้งที่ 20 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน ประจำวันที่ 8 กรกฏาคม 2552

    ท่านแยกความหมายมาใช้สำหรับท่านเองเป็นข้อ ๆ ซึ่งโดยมากเป็นไปในทางปลุกใจให้อาจหาญ มีใจความว่า ศรัทธา เชื่อศาสนธรรมที่พระองค์ประทานไว้เพื่อโลก เราผู้หนึ่งในจำนวนของคนในโลกซึ่งอยู่ในข่ายที่ควรได้รับแสงสว่างแห่งธรรมจากข้อปฏิบัติที่ทำจริงแน่นอนไม่เป็นอื่น และเชื่อว่าเกิดแล้วต้องตายแต่จะช้าหรือเร็วไม่สำคัญ ที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะตายแบบแพ้กิเลสวัฏฏ์วน สามนี้ก่อนจะตาย คำว่าแพ้ไม่เป็นสิ่งพึงปรารถนาแม้แต่เด็กเล่นกิฬากันต่างฝ่ายเขายังหวังชนะกัน เราจึงควรสดุดใจ และไม่ควรทำตัวให้เป็นผู้แพ้


    ถ้าเป็นผู้แพ้ก็ต้องทนอยู่อย่างผู้แพ้ ทุก ๆ อาการของผู้แพ้ต้องเป็นการกระเทือนใจอย่างมาก และระทมทุกข์จนหาทางออกไม่ได้ ขณะที่จิตจะคิดหาทางออกของผู้แพ้มีอยู่อย่างเดียวคือ ตายเสียดีกว่า ซึ่งตายไปแบบที่ว่าดีกว่านี้ก็ต้องเป็นการตายของผู้แพ้ต่อข้าศึกอยู่นั้นเอง อันเป็นทางกอบโกยโรยทุกข์ใส่ตัวเองจนไม่มีที่ปลงวาง จึงไม่มีอะไรดีเลยสำหรับผู้แพ้ทุกประตูแล้ว ถ้าจะตายอย่างผู้ชนะดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน ก็ต้องเชื่อแบบท่าน ทำแบบท่าน เพียรและอดทนแบบท่าน มีสติรักษาใจ รักษาตัวรักษากิริยาที่แสดงออกทุกอาการแบบท่าน ทำใจให้มั่นคงต่อหน้าที่ของตน อย่าโยกเยกคลอนแคลนแบบคนจวนตัวไม่มีสติเป็นหลักยึด

    แต่จงทำให้ให้มั่นคงต่อเหตุที่ทำเพื่อผลอันพึงพอใจจะได้ไม่มีทางที่เกิดขึ้นได้ อันเป็นแบบที่ท่านพาดำเนิน ศาสนาคือคำสั่งสอนของท่านผู้ฉลาด ท่านสอนคนเพื่อให้เกิดความฉลาดทุกแง่ทุกมุม ซึ่งพอจะพิจารณาตามท่านได้แต่เราอย่างฟังเพื่อความโง่ อยู่ด้วยความโง่กินดื่มทำพูดด้วยความโง่ คำว่าโง่ไม่ใช่ของดี คนโง่ก็ไม่ดี สัตว์โง่ก็ไม่ดี เด็กโง่ ผู้ใหญ่โง่ ไม่ใช่ของดีทั้งนั้น เราโง่จะให้ใครเขาชมว่าดีจึงไม่ควรทำความสนิทติดจมอยู่กับความโง่โดยไม่ใช้ความพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ใช่พ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง จึงไม่ควรแก่สมณะเพศที่ใคร่ครวญไตร่ตรอง นี่คื่อความหมายในธรรม 5 ข้อที่ท่านคิดค้นขึ้นมาพร่ำสอนท่านเองและหมู่คณะที่ไปอบรมศึกษากับท่าน รู้สึกว่าเป็นคติดีมากเพราะเป็นอุบายปลุกใจให้เกิดสติปัญญาและอาจหาญ ทั้งเหมาะกับสภาพการณ์และสถานที่ของพระธุดงค์ผู้เตรียมพร้อมแล้วในการรบพุ่งชิงชัยระหว่างกิเลสกับธรรมเพื่อความชนะเลิศ คือวิมุติพระนิพพาน อันเป็นหลักเขตแดนมาหาชัยที่ปรารถนามานาน

    พระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านเล่าให้ฟังว่า เวลาอยู่กับท่าน แม้จะมีพระเณรจำนวนมากด้วยกัน แต่มองดูอากัปกิริยาของแต่ละองค์เหมือนพระเณรที่สิ้นกิเลสแล้วทั้งนั้น ไม่มีอาการแสดงความคึกคะนองใด ๆ แม้แต่น้อยให้ปรากฏบ้างเลย ต่างองค์ต่างสงบเสงียมเจียมตัวทั้งที่อยู่โดยลำพังตนเอง ทั้งเวลามารวมกันด้วยกิจธุระบางอย่างและเวลารวมประชุมฟังการอบรม ต่างมีมรรยาทสวยงามมาก ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเกี่ยวกับภูมิจิต เวลาท่านสนทนากันกับท่านอาจารย์บ้าง ก็อาจให้เกิดความสงสัยหรือเชื่อแน่ว่าแต่ละองค์คงสำเร็จพระอรหันต์กันแน่ ๆ แต่พอเดาได้จากการแก้ปัญหาธรรมะที่ท่านสนทนากันว่าองค์ไหนควรอยู่ในภูมิธรรมชั้นไหน

    นับแต่สมาธิและปัญญาขั้นต้นขึ้นไปจนถึงสมาธิและวิปัสสนาขั้นสูง การแก้ปัญหาในเวลามีผู้ไปศึกษาก็ดี การแสดงธรรมอบรมพระเณรในเวลาประชุมก็ดี ท่านแสดงด้วยความแน่ใจและอาจหาญพอให้ผู้ฟังทราบได้ว่าธรรมที่แสดงออกเป็นธรรมที่ท่านรู้เห็นทางจิตใจจริง ๆ ไม่แสดงด้วยความลูบคลำหรือสุ่มเดาว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่าเป็นธรรมที่ส่อแสดงอยู่กับใจของทุกคนแม้ยังไม่รู้ไม่เห็นและคงมีสักวันหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้จำเพาะตนหากไม่ลดละความเพียรไปเสีย วิธีให้การอบรมพระเณรและฆราวาส รู้สึกว่าท่านแสดงให้พอเหมาะสมกับขั้นภูมิความเป็นอยู่และจริตนิสัยของผู้มาอบรมศึกษาได้ดี และได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ขณะที่ฟังอยู่ด้วยกัน เพราะท่านอธิบายแยกแยะธรรมออกเป็นตอน ๆ ซึ่งพอเหมาะกับภูมิของผู้มาฟังจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้ โดยมากเวลาท่านสอนฆราวาสญาติโยมโดยเฉพาะ ท่านแยกธรรมเกี่ยวกับฆราวาสขึ้นแสดงมีทาน ศีล ภาวนา เป็นพื้นโดยให้เหตุผลว่าธรรมทั้งสามนี้เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์และเป็นรากแก้วของพระศาสนา ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มา อย่างน้อยต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นเชื้ออยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติอย่างแท้จริง

    ทาน คือเครื่องแสดงน้ำใจมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้การเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครืองสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่าง ๆ ก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้หวังคำตอบแทนใด ๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควร
    ให้แก่กันในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชนโดยไม่นิยมในรูปร่างลักษณะ

    ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตา รู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ แม้แต่คนที่มั่งมีแต่แสนตระหนี่ถี่เหนียวก็ยังหวังต่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้อื่นเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไปไม่ต้องพูดถึงคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้แต่ไม่หวังให้ผู้อื่นช่วยเหลือจะไม่มีในโลกเมืองไทยเรา อำนาจทานทำให้ผู้มีใจชอบบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิดกำเนิดที่อยู่นั้น ๆ ฉะนั้น ทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทาน การเสียสละ จึงเป็นเครื่องและเป็นผู้ค้ำจุนหนุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่ยังมีการสงเคราะห์กันอยู่ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิง เหลือแต่ซากคือแผ่นดินแน่ ๆ ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่ว ๆ ไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มชื่น ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป

    ศีล คือรั้วกั้นความเบียดเบียนและทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 21 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน




    ศีล คื่อรั้วกั้นความเบียดเบียน

    และทำลายสมบัติของร่างกายและจิตใจของกันและกัน ศีล คือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติ

    มนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเสีย เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้นและเป็นเครื่องประดับตัวเสียเลย ก็คือกอง

    เพลิงแห่งมนุษย์เราดี ๆ นี่เองการเบียดเบียนและทำลายกันย่อมมีไปทุกหย่อมหญ้าและทั่วโลกดินแดน ไม่มี

    เกาะมีตอนพอจะเอาศีรษะซุกนอนให้หลับสนิทได้โดยปลอดภัย แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระ

    อาทิตย์บนท้องฟ้า แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไหน ๆโลกจะไม่มีที่ปลงใจได้เลย

    ถ้ายังมัวคิดว่าวัตถุมีคุณค่ายิ่งกว่าศีลธรรมอยู่ เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติของจอมมนุษย์ คือพระพุทธเจ้า ผู้

    ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์ให้สว่างไสวร่มเย็น ควรอาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรม

    เป็นเครื่องปัดเป่ากำจัด ลำพังความคิดของมนุษย์ที่มีกิเลสคิดผลิตอะไรออกมาทำให้โลกร้อยจะบรรลัยอยู่

    แล้ว ยิ่งจะปล่อยให้คิดตามอำนาจโดยไม่มีกลิ่นแห่งศีลธรรมช่วยเป็นยามาแก้และชะโลมไว้บ้าง ก็น่ากลัว

    ความคิดนั้น ๆ จะผลิตยักษ์ใหญ่ตัวโหดร้ายที่ทรงพิษขึ้นมากี่แสนกี่ล้านตัวออกเที่ยวหากว้านกินมนุษย์ให้ฉิ-

    บหายกันทั้งโลก ไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณค่าอย่างสูงสุดคือพรพุทธเจ้า

    มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้งกับคึวามคิดที่เป็นไปด้วยกิเลสที่มีผลให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความ

    เดือดร้อนจนจะคาดไม่ถึงนี่แล เป็นความคิดที่ผิดกันอยู่มาก พอจะนำมาเทียบเคียงเพื่อหาทางแก้ไขผ่อนหนัก

    ผ่อนเบามาลงได้บ้าง ไม่จมไปกับความคิดประเภคนั้นจนหมดทางแก้ไข ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค ทั้ง

    โรคระบาด และโรคเรื้อรัง อย่างน้อยก็พอให้คนไข้ที่สุมด้วยกิเลสกินอยู่หลับนอนได้บ้าง ไม่ถูกบีบคั้นด้วยโรค

    ที่เกิดแล้วไม่ยอมหายนี้ตลอดไป มากกว่านั้นก็หายขาดอยู่สบาย

    ภาวนา คือการอบรมใจให้สะอาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่ง

    ทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้น ความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ใน

    เหตุผลอันเป็นทางแห่งความสงบสุข ใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนาจึงยังเป็นเหมือนสัตว์ที่ยังไม่ได้รับ

    การฝึกหัดให้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์มีจำนวนมากน้อยก็ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร จึงต้อง

    ฝึกหัดให้ทำประโยชน์ตามประเภคของมันก่อนจึงจะได้รับประโยชน์ตามสมควร ใจจึงควรได้รับการอบรม

    ให้รู้เรื่องของตัวเสียบ้าง จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลายทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่

    ทั้งภายในภายนอก ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่ค่อยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงต่อ

    การกระทำที่ไม่แน่ใจ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องตลอดส่วนรวมเมื่อผิดพลาดลงไป การ

    ภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต ไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง ประโยชน์สำคัญคือประโยชน์

    เฉพาะหน้าที่เรียกว่าทิฎฐธรรมมิกัตถประโยชน์ การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนาจะสำเร็จลงด้วย

    ความเรียบร้อย ขณะที่ทำก็ไม่ทำแบบขอไปที แต่ทำด้วยความใคร่ครวญและเล็งถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ

    จากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้วจะไปมาในทางทิศใด จะทำอะไร ย่อมเล็งถึงผลได้เสียเกี่ยวกับการนั้น ๆ เสมอ

    การปกครองตนก็สะดวก ไม่ฝ่าฝืนตัวเอง ซึ่งเป็นผู้มีหลักเหตุผลอยู่แล้ว ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทาง

    เดินของกาย วาจา ใจ ประจำตัว ไม่ยอมเปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความ

    อยากไป อยากมา อยากทำ อยากพูด อยากคิด ที่เคยเป็นมาดั้งเดิม เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งไม่

    เคยสนใจต่อความผิดถูกดีชั่วเสียมากต่อมาก และพาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วนประมาณไม่ถูก จะเอาโทษกับมันก็

    ไม่ได้ นอกจากยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดายแล้วพยายามแก้ตัวใหม่เท่านั้น เมื่อยังมีสติอยู่บ้างพอจะหักล้าง

    กันได้ ถ้าไม่มีสติพอระลึกได้บ้างเลยแล้ว ทั้งของเก่าก็เสียไปทั้งของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย ไม่มีวันกลับฟื้นตัว

    ขึ้นได้เลย นี่แลเรื่องของกิเลส ต้องพาให้เสียหายเรื่อยไป ฉะนั้นการภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้าง ความลามก

    ไม่มีเหตุผลของตนได้ดี แต่วิธีภาวนานั้นรู้สึกลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นการบังคับใจซึ่งเหมือนการบังคับลิง

    ให้อยู่เชื่อง ๆ พองามตาบ้าง ย่อมเป็นของลำบากฉะนั้น

     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    คำเทศนาของหลวงปู่มั้น ภูริทัตโต
    ครั้งที่ 22
    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน

    วิธีภาวนา วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตุตัวเองนั้นแล คือสังเกตุจิตที่มีนิสัยหลุกหลิกเหมือนถูกไฟหรือถูกน้ำร้อนลวก ไม่อยู่เป็นปกติสุขด้วยสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นคำบริกรรมเพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา ตามที่นิยมใช้กันมากและได้ผลดีก็มี อาณาปานสติบ้าง พุทธโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง มรณานุสติบ้าง หรือ เกษา โลมานขา ทันตา ตโจ โดยอนุโลม ปฏิโลมบ้าง หรือใช้บริกรรมเฉพาะบทใดบทหนึ่งบ้าง พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา ใจที่อาศัยบทธรรมอันเป็นอารมณ์ที่ให้คุณไม่เป็นภัยแก่จิตใจ ย่อมจะเกิดความสุขขึ้นมาในขณะนั้น ที่เรียกว่าจิตสงบ

    หรือจิตรวมเป็นสมาธิคือความมั่นคงต่อตัวเองไม่อาศัยธรรมบทใด ๆ เป็นเครื่องยึดเหนียวในเวลานั้น เพราะจิตมีกำลังพอดำรงตนอยู่โดยอิสระได้ คำบริกรรมที่เคยมากำกับใจก็ระงับกันไปชั่วขณะจิตที่จิตปล่อยอารมณ์เข้าพักสงบตัว ต่อเมื่อถอนขึ้นมา ถ้ามีเวลาทำต่อไปอีกก็นำคำบริกรรมที่เคยกำกับมาบริกรรมต่อไป พยายามทำอย่างนี้เสมอด้วยความไฝ่ใจไม่ลดละความเพียร จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอ ก็จะค่อยรู้สึกตัวและปล่อยวางตามลำดับ และมีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ ไม่ถูกบังคับถูไถเหมือนขั้นเริ่มแรกซึ่งเป็นขั้นกำลังฝึกหัด จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิเป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม ถ้าได้ปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียว ย่อมเป็นเครื่องปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างประหลาด หากไม่ปรากฏอีกในวาระต่อไปทั้งที่ภาวนาอยู่ในใจ จะเกิดความเสียดายอย่างบอกไม่ถูก อารมณ์แห่งความติดใจและความเสียดายในจิตประเภคนั้นจะฝังใจไปนาน นอกจากจิตจะเจริญก้าวหน้าสู่ความสงบสุขอันละเอียดไปเป็นลำดับเท่านั้น

    จิตถึงจะลืมและเพลินในธรรมชั้นสูงเรื่อยไปไม่มาเกี่ยวข้องเสียดายจิตและความสงบที่ผ่านมาแล้วแต่เมื่อพูดถึงการภาวนาแล้วเราอาจจะรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจและอ่อนปวกเปียกไปทั้งร่างกายและจิตใจ ว่าตนมีวาสนาน้อย ทำไม่ไหวเพราะว่ากิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้านตลอดงานสังคมต่าง ๆ ลูกหลานก็มีหลายคนล้วนแต่ต้องมีภาระเลี้ยงดู จะมัวมานั่งหลับตาภาวนาอยู่ก็เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา ต้องอดตายแน่ ๆ แล้วทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจไม่อยากทำ ประโยชน์ที่ควรได้ผ่านเลยไป ความคิดเช่นนั้นเคยเป็นความคิดที่เคยฝังนิสัยมาตั้งแต่เดิม และอาจเป็นความคิดที่คอยกีดกันทางเดินเพื่อการระบายคลายทุกข์ทางใจไปเสีย ถ้าไม่พยายามคิดแก้ไขเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป แท้จริงการภาวนาคือวิธีการแก้ความยุ่งยากและความลำบากทางใจทุกประการ

    ที่เคยรับภาระอันหนักหน่วงมานานให้เบาลงและหมดสิ้นไป เหมือนอุบายอื่น ๆ ที่เราเคยมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัวเหมือนที่โลกทำกันมานั่นเอง เช่นเวลาร้อนต้องแก้ด้วยวิธีอาบน้ำ เวลาหนาวก็แก้ด้วยวิธีห่มผ้าหรือผิงไฟหรือวิธีอื่น ๆ เวลาหิวกระหายก็แก้ด้วยวิธีรับประทานและดื่มเวลาเป็นไข้ก็แก้ด้วยวิธีรับประทานหรือฉีดยา ซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่โลกกระทำมาตลอดจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีการผัดเพี้ยนเลื่อนเวลา ว่ายังยุ่งยากยังลำบากและขัดสนจนใจใด ๆ ทั้งนั้น ทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องปฏิบัติกันทั่วโลกแม้แต่สัตว์ก็ยังต้องอาศัยยามาทำการเยียวยารักษาตัว ดังที่เราเห็นเขาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ไปวัน ๆ หนึ่งพอยังชีวิตให้เป็นไปตลอดกาลของเขา ล้วนเป็นวิธีการแก้ไขและรักษาตัว

    แต่ละอย่าง ๆ การอบรมใจด้วยการภาวนาก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว วิธีนี้ยิ่งเป็นงานสำคัญที่ควรสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจของผู้เป็นหัวหน้างานของทุกด้านโดยตรง งานอะไรเรื่องอะไรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัว จิตจำต้องเป็นตัวการอย่างแยกไม่ออกที่จะต้องเข้ารับภาระแบกหามโดยไม่คำนึงถึงความหนักเบาและชนิดของงานว่าเป็นงานชนิดใด จะพอยกไหวไหม แต่จิตต้องเข้ารับภาระทันทีดีหรือชั่วผิดหรือถูกไม่ค่อยสนใจคิด แม้งานหรือเรื่องจะหนักเบาเศร้าโศกเพียงใดซึ่งบางเรื่องแทบจะคว้าเอาชีวิตไปด้วยในขณะนั้น แม้เช่นนั้นใจก็ยังกล้าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงและแบกหามจนได้ โดยไม่คำนึกถึงว่าจะเป็นจะตายเหลือบ่ากว่าแรง มิหนำยังหอบเอาเรื่องมาคิดเป็นการบ้านอยู่อีก จนแทบจะนอนไม่หลับรับประทานไม่ได้ก็ยังมีในบางครั้ง

    คำว่าหนักเกินไปยกไม่ไหว เพราะเกินกว่ากำลังจะคิดและต้านทานนั้นเป็นไม่มี มีแต่จะสู้เอาท่าเดียว งานทางกายยังมีเวลาพักผ่อนและยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด ส่วนงานทางใจไม่มีเวลาได้พักผ่อนเอาเลย จะมีเวลาพักเล็กน้อยก็เวลานอนหลับเท่านั้น แม้เช่นนั้นจิตก็ยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก และไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่าง ๆ นั้นควรหรือไม่ควรแก่กำลังของใจเพียงใด เมื่อเกิดเป็นอะไรขึ้นมาก็ทราบแต่เพียงว่าทุกข์เหลือทน แต่ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนักและเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังที่ใจจะสู้ไหว จึงควรให้นามว่าใจคือนักต่อสู้ เพราะดีก็สู้ ชั่วก็สู้ สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง อารมณ์ชนิดใดผ่านมาต้องสู้ และสู้แบบเหมาไม่ยอมให้อะไรผ่านหน้าไปได้ จิตเป็นเช่นนี้แลจึงสมนามว่านักต่อสู้ เพราะสู้จนไม่รู้จักตายถ้ายังครองร่างอยู่และไม่ได้รับการแก้ไข ก็ต้องเป็นนักต่อสู้เรื่อยไปชนิดไม่มีวันปลงว่างภาระลงได้ หากปล่อยให้เป็นไปตามชอบของใจที่ไม่รู้ประมาณ โดยไม่มีธรรมเครื่องยับยั้งบ้าง คงไม่มีเวลาได้รับความสุขแม้สมบัติจะมีมากมายก่ายกอง เพราะนั่นไม่ใช่กองแห่งความสุขแต่กลับเป็นกองส่งเสริมทุกข์สำหรับใจที่ไม่มีเรือนพักคือธรรมกายในใจ นักปราชญ์ท่านกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ธรรมแลเป็นเครื่องปกป้องทรัพย์

    สมบัติและปกครองใจ ถ้าใจมีธรรมมากน้อยผู้นั้นแม้มีทรพย์สมบัติมากน้อยย่อมจะมีความสุขพอประมาณ ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ลำพังความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ให้ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ เพราะนั่นเป็นเพียงเครื่องอาศัยของกายและใจ ผู้ฉลาดหาความสุขใส่ตัวเท่านั้นถ้าใจไม่ฉลาดด้วยธรรม ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียวจะไปอยู่ในโลกใด และกองสมบัติใดก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเศษเดนอยู่เท่านั้นไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใจแม้นิด.....

     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ ครั้งที่ 23 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน

    ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใจสักนิด ความสมบุกสมบัน ความรับทุกข์ทรมาน ความอดทนและความทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐขึ้นมาให้เจ้าของได้ชมอย่างภาคภูมิใจและอิ่มพอต่อเรื่องทั้งหลายทันที การใช้งานจิตนับแต่วันเกิดจนบัดนี้ปรากฏว่าใช้เอาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ถ้าเป็นเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ มีรถราเป็นต้น จะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ควรพูดถึงการเอาเข้าอู่ซ่อม แต่ควรพูดถึงการแหลกยับเยินของรถจนกลายเป็นเศษเหล็กไปนานแล้วจะเหมาะกว่านี่แลทุกสิ่งเมื่อมีการใช้ก็ต้องมีการบูรณะซ่อมแซม มีการเก็บรักษา จึงจะพอมีทางอำนวยประโยชน์ได้ต่อไป

    จิตเป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาเช่นเดียวกันกับสมบัติทั่วไป วิธีที่ควรแก่จิตโดยเฉพาะก็คือการภาวนาวิธี ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ผู้สนใจในความรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน จึงควรปฏิบัติรักษาจิตด้วยวิธี่ที่ถูกต้องเหมาะสม คือฝึกหัดภาวนาในโอกาศอันควรเพื่อเป็นการตรวจตราดูเครื่องเคราของรถคือจิต ว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไปบ้างจะได้นำเข้าโรงซ่อมสุขภาพทางจิต คือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายในคือ

    ความคิดปรุงแต่งของใจว่าคิดอะไรบ้างในวันและเวลาหนึ่ง ๆ พอมีสาระประโยชน์บ้างไหม หรือพยายามคิดแส่หาแต่เรื่อง หาแต่โทษ และขนทุกข์มาเผาตนเจ้าของอยู่ทำนองนั้น พอให้รู้ความผิดถูกของตัวบ้าง และพิจารณาสังขารภายนอก คือร่างกายของเรา ว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลงในวันและเวลาหนึ่ง ๆ ที่ผ่านไปจนกลายเป็นปีเก่าและปีใหม่ผลัดเปลี่ยนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด สังขารร่างกายของเรามีอะไรใหม่ขึ้นบ้างไหม หรือมีแต่ความเก่าแก่คร่ำคร้าชราหลุดลงไปทุกวัน ซึ่งพอจะนอนใจกับเขาละหรือ จึงไม่พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอทำได้ เวลาตายแล้วจะเสียการนี่คือการภาวนา

    การภาวนาก็คือ วิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรจะแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง ผู้ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อย ๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่าง ๆ บ้าง ใจจะสงบเยือกเย็น ไม่ลำพองพยองตัวและคว้าทุกขมาเผารนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณทั้งหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัวทั้งกายและทางใจ ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่าง ๆ

    คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมายไม่อาจพรรณาให้จบสิ้นลงได้ แต่พระอาจารย์มั่นท่านมิได้อธิบายลึกซึ้งมากไปกว่าฐานะของฆราวาสที่มารับการอบรม ผิดกับการที่ท่านได้อธิบายให้พระเณรฟังอยู่มากเท่าที่เขียนตามท่านอธิบายไว้พอหอมปากหอมคอนี้ ก็ยังอาจมีบทที่รู้สึกว่าเปรี้ยวจัดเค็มจัดแฝงอยู่บ้างตามทรรศนะของนานาจิตตัง จะให้เป็นแบบเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ เท่าที่ได้ตะเกียกตะกายนำมาลง ก็เพื่อท่านผู้อ่านได้ช่วยติชมพอเป็นยาอายุวัฒนะ ผิดถูกประการใดก็ได้โปรดตำหนิผู้เขียน (หลวงตามหาบัว) กรุณาอย่าได้สนใจกับเจ้าของประวัติ เพราะท่านมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย เวลาแสดงธรรมชั้นสูงท่านก็แสดงเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น แต่ผู้เขียนคะนองไปเอง ใจและมือไม่อยู่เป็นสุข ไปเที่ยวซอกแซกบันทึกเอาจากปากคำของพระอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ซึ่งเคยอยู่กับท่านมาเป็นคราว ๆ ในสมัยนั้น ๆ แล้วนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบปฏิปทาการดำเนินของท่านบ้างแม้ไม่สมบูรณ์เพราะปฏิปทาของท่าปรากฏว่าเด็ดเดี่ยวอาจหาญมากแทบจะพูดได้ว่าไม่มีท่านผู้ใดที่เป็นลูกศิษย์ที่เคยพึ่งร่มเงาแห่งบารมีท่านมา จะสามารถปฏิบัติเด็ดเดี่ยวต่อธุดงค์วัตรและจริยธรรมทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอเหมือนท่าน สำหรับองค์ท่าน ทั้งข้อปฏิบัติ ทั้งความรู้ภายในใจ นับว่าเป็นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้

    แถบจังหวัดอุดร และหนองคาย ตามในป่า ตามชายเขา และบนเขาที่ท่านพักอยู่ท่านเล่าว่าพวกเทพ ทั้งเบี้องบนและเบี้องล่างมาเยี่ยมและฟังธรรมท่านเป็นคราว ๆ ครึ่งเดือนบ้าง หนึ่งเดือนบ้างมาหนหนึ่ง ไม่บ่อยนักเหมือนจังหวัดเชียงใหม่ (แต่จะเขียนต่อเมือประวัติท่านดำเนินไปถึง) ระยะนี้ขอดำเนินเรื่องไปตามลำดับเพื่อไม่ให้ก้าวก่ายกัน ท่านเคยไปพักบำเพ็ญเพียรอยู่ชายเขาฝั่งไทยตะวันตกเมืองหลวงพระบางนานพอสมควร ท่านเล่าว่าที่ใต้ชายเขาลูกนั้นมีเมืองพญานาคตั้งอยู่ใหญ่โตมาก หัวหน้าพญานาคพาบริวารมาฟังธรรมท่านเสมอ และมากันมากมายในบางครั้ง พวกนาคไม่ค่อยมีปัญหามากเหมือนพวกเทวดา พวกเทวดาทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างมักมีปัญหามากพอ ๆ กัน ส่วนความเลื่อมใสในธรรมนั้นมีพอ ๆ กัน ท่านพักอยู่ชายเขาลูกนั้น พญานาคมาเยี่ยมท่านแทบทุกคืนและมีบริวารติดตามมาไม่มากนัก นอกจากจะพามาเป็นพิเศษ ถ้าวันไหนพญานาคจะพาบริวารมามาก ท่านก็ได้ทราบก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง ท่านว่าท่านพักอยู่ที่นั้นเป็นประโยชน์แก่พวกนาคและพวกเทวดาโดยเฉพาะ ไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชนนัก พวกนาคมาเยี่ยมท่านไม่มาตอนดึกนัก ท่านว่าอาจเป็นเพราะที่ที่พักสงัดและอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากก็ได้ พวกนาคจึงพากันมาเยี่ยมที่นั่นราว ๆ 22-23 นาฬิกา คือ4 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม ส่วนที่อื่น ๆ มาดึกกว่านั้นก็มี เวลาขนาดนั้นก็มี พญานาคอาราธนานิมนต์ท่านให้อยู่ที่นั่นนาน ๆ เพื่อโปรดพวกเขา เขาเคารพเลื่อมใสท่านมากและจัดให้บริวารมารักษาท่านทั้งกลางวันและกลางคืน โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันมามิได้ขาด แต่เขามิได้มาอยู่ใกล้นัก อยู่ห่าง ๆ พอทราบและรักษาเหตุการณ์เกี่ยวกับท่านได้สะดวก ส่วนพวกเทพฯ โดยมากมักมาดึกกว่าพวกนาค คือ 24 นาฬิกา หรือ ตี 1 ตี 2 ถ้าอยู่ในเขาห่างไกลจากหมู่บ้านพวกเทพฯ ก็มีมาแต่วัน ราว 22 - 23 นาฬิกาอยู่บ้างแต่ไม่แน่นัก แต่โดยมากนับแต่เที่ยงคืนขึ้นไป พวกเทพฯ ชอบมาเป็นนิสัย
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 24

    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน



    ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฉิมวัย

    ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฉิมวัย หลังจากจังหัน (กินข้าว) เสร็จแล้วเข้าทางจงกรมจวนเที่ยงหรือเที่ยงวันเข้าที่พักกลางวันเล็กน้อย หลังจากพักก็เข้าทำสมาธิภาวนาราวชั่วโมงครึ่ง จากนั้นลงเดินจงกรม จนถึงเวลาบ่าย 4 โมง ปัดกวาดลานวัดหรือที่พักเสร็จแล้วสรงน้ำ แล้วเข้าทางจงกรมอีก จนถึงเวลา 1- 2 ทุ่มเข้าที่พักทำสมาธิภาวนาต่อไป ถ้าเป็นหน้าฝนหรือหน้าแล้ง คืนที่ฝนไม่ตกท่านยังลงมาเดินจงกรมอีกจนดึกดื่นถึงจะขึ้นกุฏิหรือเข้าที่พัก ซึ่งเป็นร้านเล็ก ๆ ถ้าเห็นว่าดึกมากไปท่านก็เข้าพักจำวัดปกติท่านพักจำวัดราว 23 นาฬิกา คือ 5 ทุ่ม ไปตื่นเอาตี 3 หรือ 9 ทุ่ม ถ้าวันใด จะมีแขก เทพฯ มาเยี่ยมฟังธรรม ซึ่งปกติท่านต้องทราบไว้ล่วงหน้าในตอนเย็นก่อนแล้วทุกครั้ง วันนั้นถ้าเขาจะมาดึก

    ท่านก็จะรีบพักเสียก่อน ถ้าจะมาราว 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืนก็เข้าที่รอรับพวก เทพฯ อย่างนี้เป็นประจำ ท่านไปพักบำเพ็ญในที่บางแห่ง บางคืนมีทั้งพวก เทพฯ เบื้องบน และ เทพฯ เบื้องล่างจะมาเยื่ยมท่านในเวลาเดียวกันก็มี ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านต้องย่นเวลาคือรับแขกเทพฯ พวกมาถึงก่อนแต่น้อย แสดงธรรมให้ฟังและแก้ปัญหาเท่าที่จำเป็น แล้วก็บอกชาวเทพฯ ที่มาก่อนให้ทราบว่า ถัดจากนี้จะมีชาวเทพฯมาฟังและถามปัญหาอีก พวกที่มาก่อนก็รีบลาท่านกลับไป พวกมาที่หลังซึ่งรออยู่ห่าง ๆ พอไม่ให้เสี่ยมารยาทความเคารพก็พากันเข้ามา ท่านก็เริ่มแสดงธรรมให้ฟังตามแต่บาทคาถาที่ท่านกำหนดนั้นจะผุดขึ้นมา ซึ่งพอเหมาะกับจริตนิสัยและภูมิของเทพฯพวกนั้น ๆ บางทีหัวหน้าเทพฯก็แสดงความประสงค์ขึ้นเสียเองว่าขอฟังธรรมนั้น

    ท่านก็เริ่มกำหนด พอธรรมนั้นผุดขึ้นมาท่านก็เริ่มแสดงให้พวกเทพฯ ฟัง ในบางครั้งหัวหน้าเทพฯขอฟังธรรมประเภคนั้น ท่านสงสัยต้องถามเขาก่อนว่าธรรมนั้นชื่ออะไรในสมัยนี้ เพราะชื่อธรรมที่พวกเทพฯ เคยนับถือกันมาดั้งเดิมแต่สมัยโน้นกับชื่อธรรมในสมัยนี้ต่างกันในบางสูตรบางคัมภีร์ เขาก็บอกว่าอย่างนั้นในสมัยนี้ แต่สมัยโน้นซึ้งพวกเทพฯนับถือกันมาชื่อว่าอย่างนั้น บางครั้งถ้าสงสัยท่านก็จะกำหนดเอง ยอมเสียเวลาเล็กน้อย บางครั้งก็ถามเขาเลยทีเดียว แต่บางครั้งพอเขาขอฟังธรรมสูตรนั้นหรือคัมภีร์นั้นซึ่งเป็นสูตรหรือคัมภีร์ที่ท่านเคยรู้อยู่แล้ว นึกว่าเป็นความนิยมใจชื่ออันเดียวกันท่านเลยไม่ต้องกำหนดพิจารณาต่อไป

    เพราะเข้าใจว่าตรงกันกับที่เขาขอ ท่านก็เริ่มแสดงไปเลย พอแสดงขึ้นเขาก็รีบบอกทันทีว่าไม่ใช่ ท่านยกสูตรหรือคัมภีร์ผิดไป ต้องขึ้นคาถาว่าอย่างนั้นจึงจะถูก อย่างนี้ก็มีท่านว่า พอโดนเข้าครั้งสองครั้งก็จำได้เอง จากนั้นท่านต้องกำหนดให้แน่ใจเสียก่อนว่าตรงกับมนุษย์และเทวดานิยมใช้ตรงกันหรือเปล่าค่อยเริ่มแสดงต่อ บางวันพวกเทพฯ เบื้องบนบ้าง เบื้องล่างบ้างพวกใดพวกหนึ่งจะมาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านในเวลาเดียวกับพวกนาคจะมาก็มี เช่นเดียวกับแขกมนุษย์เรามาเยี่ยมครูอาจารย์เวลาเดียวกันฉะนั้น แต่นาน ๆ จึงจะมีครั้ง ในกรณีเช่นนี้ เมื่อเขามากันตรงในเวลาเดียวกันบ่อย ๆ เข้า ท่านก็ต้องตกลงกับเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างว่าพวกนี้ให้มาเวลาเท่านั้น พวกนั้นให้มาเวลาเท่านั้น และพวกนาคให้มาเวลาเท่านั้น เพื่อความสะดวกทั้งฝ่ายพระฝ่ายเทพ และฝ่ายนาคทั้งหลาย ตามท่านเล่าว่า ท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างเท่าไรนัก แม้จะไปอยู่ในป่าเขาลึก ๆ ก็จำต้องปฏิบัติต่อพวกเทพฯที่มาจากเบื้องบนชั้นต่าง ๆ และมาจากเบื้องล่างชั้นต่าง ๆ กันอยู่นั่นเอง ในคืนหนึ่งพวกชั้นหนึ่งไม่มา ก็ต้องมีพวกอีกชั้นหนึ่ง และพวกรุกขเทพฯที่ใดที่หนึ่งมากันจนได้ จึงไม่ค่อยมีเวลา

    ว่างในเวลากลางคืน แต่ที่เช่นนั้นมนุษย์ไม่ค่อยมี ถ้าลงมาพักใกล้บ้านใกล้เมืองก็เป็นชาวมนุษย์จากที่ต่าง ๆ มาเยี่ยมแต่ต้องต้อนรับเวลากลางวัน ตอนบ่ายหรือเย็น จากนั้นก็อบรมพระเณรต่อไป ขณะที่จะเขียนประวัติของชาวมนุษย์ในอันดับต่อจากชาวเทพฯ ที่มาเกี่ยวข้องกับท่านซึ่งผู้เขียน (หลวงตามหาบัว) มีส่วนได้เสียรวมอยู่ด้วยเพราะความเป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ หากเป็นการไม่งามและไม่สมควรประการใดในเนื้อหาต่อไปนี้ เพราะความจำเป็นที่จำต้องเขียนตามความจริงที่ท่านเล่าให้ฟังเป็นการภายในโดยเฉพาะ แต่ผู้เขียนมีนิสัยไม่ดีประจำตัวที่แก้ไม่ตกในบางกรณี ดังเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำมาเทียบเคียงกันระหว่างชาวมนุษย์กับชาวเทพฯ และถือเอาประโยชน์เท่าที่ควร จึงขออภัยอีกครั้งท่านเล่าว่า การติดต่อและแสดงธรรมระหว่างมนุษย์และเทวดารู้สึกต่างกันอยู่มาก
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 25

    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน



    ท่านเล่าว่า การติดต่อและแสดงธรรมระหว่างมนุษย์กับเทวดารู้สึกต่างกันอยู่มาก คือเวลาแสดงธรรมให้เทวดาฟัง ไม่ว่าเบื้องบน ไม่ว่าเบื้องล่าง หรือรุกขเทวดา พวกนี้ฟังเข้าใจง่ายกว่ามนุษย์เราหลายเท่า พอแสดงธรรมจบลง เสียงสาธุการ 3 ครั้งกระเทือนโลกธาตุ ขณะที่พวกเทพฯ ทุกชั้นทุกภูมิมาเยี่ยมก็มีความเคารพพระอย่างยิ่ง ไม่เคยเห็นพวกเทพฯ แม้รายหนึ่งแสดงอาการไม่ดีไม่งามภายในใจ ทุกอาการของพวกเทพฯ อ่อนนิ่มเหมือนผ้าพับไว้เสมอกันในขณะนั้น ขณะที่มาก็ดี ขณะนั่งฟังธรรมก็ดี ขณะจะจากไปก็ดี เป็นความสงบเรียบร้อยและสวยงามไปตลอดสาย แต่เวลาแสดงธรรมให้มนุษย์ฟังกลับไม่เขาใจกัน แม้อธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ

    นอกจากจะไม่เข้าใจแล้ว ยังคิดตำหนิผู้แสดงอยู่ภายในอีกด้วยว่าเทศน์อะไรฟังไม่รู้เรื่องเลย สู้องค์นั้นไม่ได้ สู้องค์นี้ไม่ได้บางรายยังจะอดเอากิเลสหยาบ ๆ อยู่ภายในของตัวออกอวดไม่ได้ว่า สมัยเราบวชยังเทศน์เก่งกว่านี้เป็นไหน ๆ คนฟังฮากันตึง ๆ ด้วยความเพลิดเพลินไม่มีการง่วงหงาวหาวนอนเลย ยิ่งเทศน์โจทก์สองธรรมาสด้วยแล้ว คนฟังหัวเราะกันไม่ได้หุบปากตลอดกันฑ์

    บางรายก็คิดในใจว่า คนเล่าลือกันว่าท่านเก่งมากทางรู้วาระน้ำจิตคน ใครคิดอะไรขึ้นมาท่านรู้ได้ทันที แต่เวลาเราคิดอะไร ๆ ท่านไม่เห็นรู้บ้างเลย ถ้ารู้ก็ต้องแสดงออกบ้าง ถ้าไม่แสดงออกตรง ๆ ต่อหน้าผู้กำลังคิดก็ควรพูดเป็นอุบายเปรียบเปรยว่า นาย ก นาย ข ไม่ควรคิดเช่นนั้น มันผิด ควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ดังนี้ พอจะจับเงื่อนไขได้ว่าผู้รู้หัวใจคนสมดังคำเล่าลือ บางรายเตรียมจะมาจับผิดจับพลาดด้วยความอวดตัวว่าฉลาดอย่างพอตัว ผู้นั้นไม่มีความสนใจต่อธรรมเอาเลย แม้จะแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังด้วยวิธีใด ๆ ที่เขานั่งฟังอยู่ด้วยในขณะนั้น ก็เป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมานั่นเอง มันสลัดทิ้งหมดทันที ไม่มีน้ำเหลืออยู่บนหลังแม้หยดเดียว ว่าแล้วท่านก็หัวเราะ อาจจะขบขันในใจอยู่บ้าง ที่นาน ๆ ท่านจะได้พบมนุษย์ที่ฉลาดสักครั้งหนึ่ง แล้วก็เล่าต่อไป เวลามาต่างก็แบกทิฐิมานะมาจนแทบจะเดินไม่ไหวเพราะหนักมากเกินกว่ามนุษ์ทั้งคนจะแบกหามได้ ในตัวทั้งหมดมีแต่ทิฐิมานะตัวเป้ง ๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ของเล่น มองดูแล้วน่ากลัวยิ่งกว่าที่จะน่าสงสารและคิดแสดงธรรมให้ฟัง แต่ก็จำต้องแสดงเพื่อสังคมถูไถกันไปอย่างนั้นแล

    ธรรมก็ไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด คิดหาแต่ละบทแต่ละบาทก็ไม่เห็นมีแสดงขึ้นมาบ้างเลย เข้าใจว่าธรรมจะสู้ตัวเป้ง ๆ ไม่ไหวเลยวิ่งหนีหมด ยังเหลือแต่ตัวเปล่าที่เป็นเหมือนตุ๊กตาซึ่งกำลังถูกเหล็กแหลมทิ่มอยู่อย่างไม่มีใครสนใจว่าจะมีความรู้สึกอย่างไรในเวลานั้น ที่เขาตำหนิก็ถูกของเขา เพราะบางครั้งเราก็ไม่มีธรรมโผล่หน้าขึ้นมาเพื่อให้แสดงบ้างเลยจริง ๆ มีแต่นั่งอยู่เหมือนหัวตอ จะได้อรรถได้ธรรมมาจากไหน แล้วท่านก็หัวเราะไปพลางเล่าไปพลาง ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายคนในขณะนั้น บางรายก็เกิดตัวสั่นขั้นมาเอาเฉย ๆ แต่หาไข้ไม่เจอหาหนาวไม่เจอเพราะไม่ใช่หน้าหนาว เลยเดาเอาเองว่าเป็นเพราะความกลัวนั่นเอง ท่านว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่เทศน์ เพราะการเทศน์ก็เหมือนเป็นการโปรยยาพิษทำลายคนผู้ไม่มีความเคารพอยู่ภายใน ส่วนธรรมนั้นยกไว้ว่าเป็นธรรมที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ มีคุณค่ามหาศาลสำหรับผู้ที่ตั้งใจและมีเมตตาเป็นธรรม ไม่อวดรู้อวดฉลาดเหนือธรรม ตรงนี้แลที่สำคัญมาก และทำให้เป็นยาพิษเผาลนเจ้าของผู้ก่อเหตุโดยไม่รู้สึกตัว ผู้ไม่ก่อเหตุ ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะนั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายคนจน ผู้ร้อน ๆ จนจะละลายไปก็มี ผู้เย็น ๆ จนตัวจะลอยขึ้นบนอากาศก็มีมันผิดกันที่ดวงใจดวงเดียวนี้เท่านั้น นอกนั้นไม่สำคัญ เราจะพยายามอนุเคราะห์เขาเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาบ้างก็ไม่มีทาง เมื่อใจไม่ยอมรับแล้วแม้จะพยายามคิดว่า ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่อยากให้เกิดโทษ แต่ก็ปิดไม่อยู่ เพราะผู้คอยจะสร้างบาปสร้างกรรมนั้นเขาสร้างอยู่ตลอดเวลา แบบไม่สนใจกับใครและอะไรทั้งนั้นการเทศน์สั่งสอนมนุษย์นับว่ายากอยู่ไม่น้อย เวลาเขามาหาเราซึ่งมีไม่กี่คน แต่โดยมากต้องมียาพิษแอบติดตัวมาจนได้ ไม่มากก็พอให้รำคาญใจได้ ถ้าเราจะสนใจรำคาญอย่างโลก ๆ ก็ต้องได้รำคาญจริง ๆ แต่นี้ปล่อยตามบุญตามกรรม เมื่อหมดทางแก้ไขแล้วถือว่าเป็นกรรมของสัตว์ ท่านว่าแล้วก็หัวเราะผู้ตั้งใจมาเพื่อแสวงหาอรรถหาธรรม หาบุญกุศลด้วยความเชื่อบุญเชื่อกรรมจริง ๆ ก็มี นั่นน่าเห็นใจและน่าสงสารมาก แต่มีจำนวนน้อย ผู้มาแสวงหาสิ่งไม่เป็นท่าและไม่มีขอบเขตนั้นรู้สึกมากเหลือหูเหลือตาพรรณาไม่จบ ฉะนั้นจึงชอบอยู่แต่ในป่าในเขาอันเป็นที่สบายกายสบายใจ ทำความพากเพียรก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีสิ่งรบกวนให้ลำบากตาลำบากใจ มองไปทางไหน คิดเรื่องอะไรเกี่ยวกับอรรถธรรมก็ปลอดโปล่งโล่งใจ มองดูและฟังเสียงสัตว์สาลาสิงห์พวกลิงค่างบ่างขะนีที่หยอกเล่นกันทั้งห้อยโหนโยนตัวและกู่ร้องโหยหวนหากันอยู่ตามกิ่งไม้ชายเขาลำเนาป่า ยังทำให้เย็นตาเย็นใจไปตาม โดยมิได้คิดว่าเขาจะมีความรู้สึกอะไรต่อเรา ต่างตัวต่างหากินและปีนขึ้นโดดลงตามประสาของสัตว์ ทำให้รู้สึกในอิริยาบทและความเป็นอยู่ทุกด้าน สดชื่นผ่องใสและวิเวกวังเวง หากจะมีอันเป็นอันตายขึ้นมาในเวลานั้น ก็เป็นไปด้วยความสงบสุขทั้งทางกายและจิตใจ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย ตายแบบธรรมชาติคือมาคนเดียวไปคนเดียวแท้ โดยมากพระสาวกอรหันต์ท่านนิพพานแบบนี้กันทั้งนั้น เพราะกายและจิตของท่านไม่มีเกลื่อนกล่นวุ่นวายมาแอบแฝง มีกายอันเดียว จิตดวงเดียว และมีอารมณ์เดียว ไม่ไหล่บ่าแสหาความทุกข์ ไม่สังสมอารมณ์ใด ๆ มาเพิ่มเติมให้เป็นการหนักหน่วงถ่วงตน ท่านอยู่แบบอริยะ ไปแบบอริยะ ไม่ระคนคละเคล้ากับสิ่งที่จะทำให้กังกลเศร้าหมองในทิฎฐธรรมปัจจุบัน สะอาดเท่าใดยิ่งรักษา บริสุทธิ์เท่าใดยิ่งไม่คุ้นกับอารมณ์ ตรงกันข้ามกับที่ว่าหนักเท่าไรยิ่งขนมาเพิ่มเข้า แต่ท่านเบาเท่าไรยิ่งขนออกจนไม่มีอะไรจะขน แล้วก็อยู่กับความไม่มีทั้ง ๆ ที่ผู้ว่าไม่มีคือใจก็มีอยู่กับตัวคือไม่มีงานที่จะขนออกและขนเข้าอีกต่อไป เรียกว่าบรรลุถึงขั้นคนว่างงาน ใจว่างงาน ทางศาสนาถือว่าการว่างงานแบบนี้เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ ผิดกับโลกที่ผู้ว่างงานกลายเป็นคนมีทุกข์มากขึ้น เพราะไม่มีทางไหลมาแห่งโภคทรัพย์
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 26

    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน


    ท่านเล่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเทวดาให้ฟังมากมาย แต่นำมาเขียนเท่าที่จำได้และที่เห็นว่าควรจะยึดเป็นสาระประโยชน์ได้บ้างตามสติปัญญา ที่จะคัดเลือกในแง่ที่เป็นประโยชน์ ที่มีขาดตอนไปบ้างในเรื่องเดียวกัน เช่น เรืองเทวดา เป็นต้น ซึ่งควรจะนำมาเชื่อมโยงติดต่อกันไปจนจบ แต่ไม่สามารถทำได้ในระยะนี้นั้น เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านผู้เป็นเจ้าของ มีประสบการณ์หลายครั้งทั้งในที่และสมัยต่าง ๆ กัน จำต้องเขียนไปตามประวัติที่ท่านประสบเพื่อให้เรียงลำดับกันไป แม้เรื่องเทวดาก็ยังจะมีอยู่อีกในวาระต่อไปตามประวัติที่ผู้เขียนดำเนินไปถึง ตามประสบการณ์นั้น ๆ ไม่กล้านำมาลงให้เคล้าคละกัน จึงขออภัยด้วยหากไม่สะดวกในการอ่าน ซึ่งมุ่งประสงค์ให้จบสิ้นในเรื่องทำนองเดียวกันในตอนเดียวกัน ที่ท่านเล่าระหว่างมนษย์กับเทวดานั้น เป็นเรื่องราวของมนุษย์และเทวดาในสมัยโน้นต่างหาก ซึ่งองค์ท่านผู้ประสบและนำมาเล่าให้ฟังก็มรณภาพผ่านไปราวกว่า 20 ปีมาแล้ว คิดว่ามนุษย์และเทวดาสมัยนั้นคงจะแปรสภาพเป็นอนิจจังไปตามกฏอันมีมาตั้งแต่ดั่งเดิม

    อาจจะยังเหลือเฉพาะมนุษย์และเทวดาสมัยใหม่ ซึ่งต่างก็ได้อบรมพัฒนาการทางจิตใจและความประพฤติกันมาพอสมควร เรื่องมนุษย์ทำนองที่มีในประสบการณ์ของท่านจนกลายเป็นประวัติมานั้น คงจะไม่มีผู้สนใจสืบต่อให้รกรุงรังแก่ตนและประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อีกต่อไป เพราะการศึกษานับวันเจริญ ผู้ได้รับการศึกษามากคงไม่มีท่านผู้ใดมีจิตใจไฝ่ต่ำขนาดนั้นห จึงเป็นที่เบาใจกับชาวมนุษย์ในสมัยนี้ ท่านพักบำเพ็ญและอบรมพระเณรและประชาชนชาวจังหวัดอุดร หนองคาย พอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับไปทางจังหวัดสกลนคร เที่ยวไปตามหมู่บ้านที่มีอยู่ในป่าในเขาต่าง ๆ มีอำเภอวาริชภูมิ พังโคน สว่างแดนดิน วานรนิวาศ อากาศอำนวย แล้วก็เลยเข้าเขตจังหวัดนครพนม เที่ยวไปตามแถบอำเภอศรีสงคราม มีหมู่บ้านสามผง โนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้นซี่งเป็นหมู่บ้านซึ่งเต็มไปด้วยดงหนาป่าทึบและชุกชุมไปด้วยไข้ป่า (มาเลเรีย) ซึ่งหากรายใดเจอเข้าก็ยากที่จะรักษาได้ง่าย ๆ อย่างน้อยก็เป็นแรมปียังไม่หายขาด หากไม่ตายก็พอทรมาน ดังที่เคยเขียนผ่านมาบ้างแล้วว่า "ไข้ที่พ่อตาแม่ยายเบื่อหน่ายและเกลียดชัง"

    เพราะผู้เป็นไข้ประเภคนี้นาน ๆ ไป แม้ยังไม่หายขาดแต่ก็พอไปมาได้และรับประทานได้ แต่ทำงานไม่ได้ บางรายก็ทำให้เป็นคนวิกลวิการไปเลยก็มี ชาวบ้านแถบนั้นเจอกันบ่อยและมีดาษดื่น ส่วนพระเณรจำต้องอยู่ในข่ายอันเดียวกัน มากกว่านั้นก็ถึงตาย ท่านจำพรรษาอยู่หมู่บ้านสามผง 3 ปี มีพระตายเพราะไข้ป่าไปหลายรูป ที่เป็นพระชาวทุ่งไม่ชินกับป่ากับเขา เช่น ชาวอุบล ร้อยเอ็ด สารคาม ไปอยู่กับท่านในป่าแถบนั้นไม่ค่อยได้ เพราะทนต่อไข้ป่าไม่ไหว ต้องหลีกออกไปจำพรรษาตามหมู่บ้านแถวทุ่ง ๆ ท่านเล่าว่า ขณะท่านกำลังแสดงธรรมอบรมพระเณรตอนกลางคืนที่หมู่บ้านสามผง มีพญานาคที่อยู่แถบลำแม่น้ำสงครามได้แอบมาฟังเทศน์ท่านทุกคืน เฉพาะวันพระมาทุกคืน ถ้าไม่มาตอนท่านอบรมพระเณร ก็ต้องมาตอนดึกขณะท่านเข้าที่ภาวนา ส่วนพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมีมาห่าง ๆ ไม่เหมือนอยู่ที่อุดรฯ หนองคาย เฉพาะวันเข้าพรรษา วันกลางพรรษา และวันปวารณาออกพรรษาแล้ย

    ไม่ว่าท่านจะพักจำอยู่ที่ไหน แม้แต่ในตัวเมืองก็ยังมีพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างชขั้นใดชั้นหนึ่งและที่ใดที่หนึ่ง มาฟังธรรมท่านมิได้ขาด เช่นที่วัดเจดีย์หลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่ท่านพักอยู่ที่บ้านสามผง มีเรื่องแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง เวลานั้นเป็นหน้าแล้งพระเณรอบรมกับท่านมากราว 60 -70 รูป น้ำท่ามีไม่พอใช้และขุ่นข้นไปหมด พระเณรพากันมาปรึกษากันกับชาวบ้านว่า ควรจะขุดบ่อให้ลึกลงไปอีก เผื่อจะได้นำที่สะอาดพอกินพอใช้ไม่ขาดแคลนดังที่เป็นอยู่บ้าง เมื่อตกลงกันแล้ว พระผู้ใหญ่ก็เข้าไปกราบเรียนท่านเพื่อขออนุญาต พอกราบเรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ ท่านนึ่งอยู่พักหนึ่งแล้วแสดงอาการเคร่งขรึมและห้ามออกมาอย่างเสียงแข็งว่า " อย่า ๆ ดีไม่ดีเป็นอันตราย " ท่านพูดเท่านั้นก็หยุดไม่พูดอะไรต่อไปอีก พระอาจารย์รูปนั้นก็งงงันในคำพูดท่าน ที่ว่า " ดีไม่ดีเป็นอันตราย " พอกราบท่านออกมาแล้วนำเรื่องมาเล่าให้พระเณรและญาติโยมฟังตามที่ได้ยินได้ฟังมาแทนที่จะมีผู้คิดและเห็นตามที่ท่านพูดและเห็นตามที่ท่านพูดห้ามแต่กลับปรึกษากันเป็นความลับว่าพวกเราไม่ต้องให้ท่านทราบ พากันขโมยทำก็ยังได้ เพราะน้ำบ่อก็อยุ่ห่างไกลจากวัดพอจะขโมยทำได้ พอเที่ยงวันกะว่าท่านพักจำวัดก็พากันเตรียมออกไปขุดบ่อ พอขุดกันยังไม่ถึงไหน ดินรอบ ๆ ปากบ่อก็พังลงใหญ่จนเต็มขึ้นมาเสมอพื้นที่ ๆ เป็นอยู่ดั้งเดิม ปากบ่อเบิกกว้างและเสียหายเกือบหมด

    พระเณรญาติโยมพากันกลัวจนใจหายใจคว่ำไปตาม ๆ กันและตั้งตัวไม่ติด เพราะดินพังเกือบทับคนตายคนหนึ่ง และกลัวท่านจะทราบว่าพวกตนพากันขโมยทำโดยการฝ่าฝืนท่านหนึ่ง พระเณรทั้งวัดและญาติโยมทั้งบ้านพากันร้อนเป็นไฟไปตาม ๆ กัน และรีบพากันหาไม้มากั้นดินปากบ่อที่พังลงด้วยความเห็นโทษ ขออาราธนาวิงวอนถึงพระพุทธคุณท่านให้ช่วยคุ้มครอง พอเอาดินที่พังลงในบ่อขึ้นได้ และได้อาศัยน้ำต่อไป เดชะบุญ พออธิฐานถึงพระคุณท่านแล้ว ทุกอย่างเลยเรียบร้อยไปอย่างน่าอัศจรรย์คาดไม่ถึง จึงพอมีหน้ายิ้มต่อกันได้บ้าง พอเสร็จงาน พระเณรและญาติโยมต่างก็รีบหนีเอาตัวรอด กลัวท่านจะมาที่นั่น ส่วนพระเณรทั้งวัดต่างก็มีความร้อนสุมใจอยู่ตลอดเวลา เพราะความผิดที่พากันก่อไว้แต่กลางวัน ยิ่งตอนที่ถึงเวลาอบรมซึ่งเคยมีประจำทุกคืนก็ยิ่งเพิ่มความไม่สบายใจมากขึ้น ใคร ๆ ก็เคยรู้เคยเห็นและเคยถูกดุเรื่องทำนองนี้มาแล้วจนฝังใจ บางเรื่องแม้ตนเคยคิดและทำลืมไปแล้ว ท่านยังสามารถรู้และนำมาเทศน์สอนจนได้ เพียงน้ำบ่อซึ่งเป็นเรืองหยาบ ๆ ที่พากันขโมยท่านทำทั้งวัด จะเอาอะไรไปปิดไม่ให้ท่านทราบ ท่านต้องทราบและเทศน์อย่างหนักแน่นอนในวันนี้ หรืออย่างช้าก็ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น อารมณ์เหล่านี้แลที่ทำให้พระเณรไม่สบายใจกันทั้งวัด
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 27 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน

    พอถึงเวลาประชุมและที่จะต้องถูกโดนอย่างหนักดังที่คาดกันไว้ ท่านกลับไม่ประชุมและไม่ดุด่าอะไรแก่ใคร ๆ เลย สมกับเป้นอาจารย์ที่ฉลาดสั่งสอนคนจำนวนมากทั้งที่ทราบเรื่องนั้นได้ดี และยังทราบความไม่ดีของพระทั้งวัดที่ล่วงเกินฝ่าฝืนท่านแล้วกำลังได้รับความเร่าร้อนกันอยู่ หากจะว่าอะไรลงไปเวลานั้น ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมผู้กระทำผิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะนั้นผู้กระทำผิดต่างกำลังเห็นโทษของตนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว พอรุ่งเช้าวันใหม่เวลาท่านออกจากที่ภาวนา ปกติท่านจะเดินจงกรมจนได้เวลาบิณทบาต แล้วค่อยขึ้นบนศาลาคลองผ้าออกบิณฑบาต อย่างนั้นเป็นประจำมิได้ขาด เช้าวันนั้นพอท่านออกจากทางจงกรมขึ้นศาลา พระทั้งวัดต่างร้อนอยู่ภายในคอยฟังปัญหาว่าท่านจะออกในแง่ไหนในวันนี้ แต่แทนที่จะเป็นความคิดของพระทั้งวัดซึ่งกำลังกระวนกระวายอยากฟัง แต่เรื่องกลับไปเป็นคนละโลก คือท่านกลับพูดนิ่มนวลอ่อนหวานแสดงเป็นเชิงปลอบใจพระเณรที่กำลังเร้าร้อนให้กลับสบายใจว่า เรามาศึกษาหาอรรถหาธรรม ไม่ควรกล้าจนเกินตัวและกลัวจนเกินไป เพราะความผิดพลาดอาจมีได้ด้วยกันทุกคน ความเห็นโทษความผิดนั่นแลเป็นความดี พระพุทธเจ้าท่านก็เคยผิดพลาดมาก่อนพวกเรา ตรงไหนที่เห็นว่าผิดท่านก็เห็นโทษในจุดนั้น และพยายามแก้ไขไปทุกระยะที่เห็นว่าผิด เจตนานั้นดีอยู่ แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นอาจมีได้ ควรสำรวมระวังต่อไปในทุกกรณี เพราะความมีสติระวังตัวทุกโอกาศเป็นหนทางของนักปราชญ์ เพียงเท่านี้ก็หยุด และแสดงอาการยิ้มแย้มต่อพระเณรต่อไป ไม่มีใครจับพิรุธท่านได้เลย แล้วก็พาออกบิณฑบาตตามปกติ คืนวันหลังก็ไม่ประชุมอีก เป็นแต่สั่งการให้ประกอบความเพียร รวมเป็นเวลาสามคืนที่ไม่มีการอบรม

    พอดีกับระยะนั้นพระเณรกลัวท่านจะเทศน์เรื่องบ่อน้ำอยู่แล้ว ก็พอเหมาะกับท่านไม่สั่งให้ประชุม จนคืนที่สี่มีการประชุม เวลาประชุมก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องบ่อน้ำ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ให้เรื่องเงียบหายไปเลย ตั้งนานจนปรากฏว่าพระทั้งวัดลืมกันไปหมดแล้วเรื่องถึงได้โผล่ขึ้นมาอย่างไม่นึกไม่ฝัน และก็ไม่มีใครกล้าเล่าถวายให้ท่านทราบเลยเพราะต่างคนต่างปิดเงียบ ท่านเองก็มิเคยไปที่บ่อซึ่งอยู่ห่างจากวัดนั้นเลย เริ่มแรกก็อบรมแสดงธรรมอบรมทางปฏิบัติไปเรื่อย ๆ อย่างธรรมดา พอแสดงไปถึงเหตุผลและความเคารพในธรรมในครูบาอาจารย์ ธรรมก็เริ่มกระจายไปถึงผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ว่าควรเป็นผู้หนักในเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องของธรรมแท้ ไม่ควรปล่อยให้ความอยากที่คอยผลักดันอยู่ตลอดเวลาออกมาเพ่นพ่านในวงปฏิบัติ จะมาทำลายธรรมอันเป็นแนวทางที่ถูกและเป็นแบบฉบับแห่งการดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ จะทำให้ทุกสิ่งที่มุ่งปรารถนาเสียไปโดยลำดับ ธรรมวินัยหนึ่ง คำพูดของครูอาจารย์หนึ่ง ที่เราถือเป็นเรื่องที่เคารพไม่ควรฝ่าฝืน การฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและการฝ่าฝืนคำครูอาจารย์เป็นการทำลายตัวเอง และเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีให้มีกำลังเพื่อทำลายตนและผู้อื่นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด น้ำบ่อนี้มิใช่มีแต่ดินเหนียวล้วน ๆ แต่มีดินทรายอยู่ข้างล่างด้วย หากขุดลึกไปมากดินทรายก็จะพังลงไปก้นบ่อและจะทำให้ดินเหนียวขาดตกลงไปด้วย ดีไม่ดีทับหัวคนตายก็ได้จึงได้ห้ามมิให้พากันทำ การห้ามมิให้ทำหรือการสั่งการให้ทำในกิจใด ๆ ก็ตาม ได้พิจารณาก่อนแล้วทุกอย่างจึงได้สั่งลงไป ผู้มารับการอบรมก็ควรพิจารณาตามบ้าง บางอย่างก็เป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ ไม่จำต้องแสดงออกต่อผู้อื่นเสียจนทุกแง่ทุกมุม เท่าที่แสดงออกเพื่อผู้อื่นก็พอเข้าใจความมุ่งหมายดีพอ แต่ทำไมจึงไม่เข้าใจ เช่นอย่าทำสิ่งนั้น แต่กลับทำในสิ่งนั้น ให้ทำสิ่งนั้น แต่กลับไม่ทำสิ่งนั้นดังนี้ เรื่องทั้งนี้มิใช่ไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจกันก่อน แต่ที่ทำไปอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นความดื้อดึงตามนิสัยที่เคยดื้อดึงต่อพ่อแม่มาแต่เป็นเด็กเพราะท่านเอาใจ นิสัยนั้นเลยติดตัวและฝังใจมาจนถึงขั้นพระขั้นเณรซึ่งเป็นขั้นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว แล้วก็มาดื้อดึงต่อครูอาจารย์ต่อพระธรรมวินัยอันเป็นทางเสียหายเข้าอีก

    ความดื้อดึงในวัยและเพศนี้ไม่ใช่ความดื้อดึงที่ควรได้รับอภัยและเอาใจเหมือนคราวเป็นเด็ก แต่ควรตำหนิอย่างยิ่งถ้าขืนดื้อดึงต่อไปอีกก็จะเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีนั้นให้ยิ่งขึ้นและควรได้รับสมัญญาว่า "พระธุดงค์หัวดื้อ" บริขารใช้สอยทุกชิ้นที่เกี่ยวกับตัวก็ควรจะเรียกว่าบริขารของพระหัวดื้อไปด้วย องค์นี้ก็ดื้อ องค์นั้นก็ด้าน องค์โน้นก็มึนและดื้อด้านกันไปทั้งวัด อาจารย์ก็ได้ลูกศิษย์หัวดื้อ อะไรก็จะกลายเป็นเรื่องดื้อด้านไปเสียหมด โลกนี้เห็นจะแตก ศาสนาก็จะล่มจมแน่นอน แล้วก็แสดงเป็นเชิงถามว่า ใครบ้างที่ต้องการเป็นพระหัวดื้อและต้องการให้อาจารย์เป็นอาจารย์ของพระหัวดื้อ มีไหมในที่นี้ ถ้ามีพรุ่งนี้ให้พากันรื้อไปขุดบ่อน้ำอีกให้ดินพังลงทับตาย จะได้ไปเกิดบนสวรรค์วิมานหัวดื้อ เผื่อชาวเทพทั้งหลายชั้นต่าง ๆ จะได้มาชมบารมีบ้างว่าเก่งจริง ไม่มีชาวเทพฯพวกไหนแม้ชั้นพรหมโลกที่เคยเห็นและเคยได้อยู่วิมานประหลาดเช่นนี้มาก่อน จากนั้นก็แสดงอ่อนลงทั้งเสียงและเนื้อธรรม ทำให้ผู้ฟังเห็นโทษของความดื้อดึงฝ่าฝืนของตนอย่างถึงใจ ผู้นั่งฟังอยู่ในขณะนั้นคล้ายกับลืมหายใจไปตาม ๆ กัน พอจบการแสดงธรรมและเลิกประชุมแล้ว ต่างก็ออกมาถามและยกโทษกันวุ่นวายไปว่า มีใครไปกราบเรียนท่านถึงเทศน์ขนาดหนัก ทำเอาผู้ฟังแทบสลบไปตาม ๆ กันในขณะนั้น ทุกข์องค์ต่างก็ปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครกล้าไปกราบเรียน เพราะต่างก็กลัวว่าท่านจะทราบและถูกโดนเทศน์หนักอยู่แล้ว เรื่องก็เป็นอันผ่านไปโดยมิได้ต้นสายปลายเหตุ ตามปกติท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ มาแต่สมัยท่านจำพรรษาอยู่ถ่ำสาริกาจังหวัดนครนายกตลอดมา และมีความชำนาญกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับจนแทบจะพูดได้ว่าไม่มีประมาณ เวลาปกติก็ดี ขณะเข้าประชุมฟังการอบรมก็ดี พระที่อยู่กับท่านซึ่งรู้เรื่องของท่านได้ดีต้องมีความระวังสำรวมจิตอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ตลอดไปจะเผลอตัวคิดไปต่าง ๆ นานา ไม่ได้ เวลาเข้าประชุมความคิดนั้นต้องกลับมาเป็นกัณท์เทศน์ให้เจ้าของฟังอีกจนได้...
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]



    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    ครั้งที่ 28 รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน


    เวลาเข้าประชุมความคิดนั้นต้องกลับมาเป็นกัณฑ์เทศน์ให้เจ้าของฟังอีกจนได้ ยิ่งขณะที่ท่านกำลังให้การอบรมอยู่ด้วยแล้วยิ่งเป็นเวลาสำคัญมากกว่าเวลาอื่นใด ทั้ง ๆ ที่แสดงธรรมอยู่ แต่ขณะที่หยุดหายใจ หรือหยุดพักเพื่อสังเกตุการณ์อะไรก็สุดเดา เพียงขณะเดียวเท่านั้น ถ้ามีรายใดคิดเปะปะออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง ขณะนั้นแลเป็นต้องได้เรื่อง และได้ยินเสียงเทศน์แปลก ๆ ออกมาทันทีซึ่งตรงกับความคิดที่ไม่มีสติรายนั้น ๆ เป็นแต่ท่านไม่ระบุชื่อออกมาอย่างเปิดเผยเท่านั้น แม้เช่นนั้นก็ทำให้ผู้คิดสดุดใจในความคิดของตนทันทีและกลัวท่านมาก ไม่กล้าคิดแบบนั้นต่อไปอีก กับเวลาออกบิณฑบาตรตามหลังท่านนั้นหนึ่ง จะต้องระวัง ไม่เช่นนั้นจะได้ยินเสียงเทศน์เรื่องความคิดไม่ดีของตนในเวลาเข้าประชุมแน่นอน บางทีก็น่าอับอายหมู่เพื่อนที่นั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายท่านซึ่งได้ยินแต่เสียงท่านเทศน์ระบุเรื่องความคิด แต่มิได้ระบุตัวผู้คิด

    ผู้ถูกเทศน์แทบจะมุดดินให้จมหายหน้าไปเลยก็มี เพราะบางครั้งเวลาได้ยินท่านเทศน์แบบนั้น ทำให้ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายท่าน ต่างก็หันมามององค์นั้นชำเรืององค์นี้ เพราะไม่แน่ใจว่าองค์ไหนแน่ที่ถูกเทศน์เรื่องนั้นอยู่ขณะนั้น บรรดาพระเณรจำนวนมากรู้สึกจะมีนิสัยคล้ายคลึงกัน พอโดนเจ็บ ๆ ออกมาแล้วแทนที่จะเสียใจหรือโกรธ พอพ้นเขตดัดสันดานออกมาต่างแสดงความยิ้มแย้มขบขันพอใจ และไต่ถามซึ่งกันและกันว่า วันนี้โดนใคร ? วันนี้โดนใคร ? แต่น่าชมเชยอยู่อย่างหนึ่งที่พระท่านมีความสัตย์ซื่อต่อความผิดของตัวเองและเพื่อนฝูงไม่ปกปิดไว้เฉพาะตัว พอมีผู้ถาม จะเป็นองค์ใดก็ตามที่คิดผิดทำนองที่ท่านเทศน์นั้น องค์นั้นต้องสารภาพตนทันทีว่า วันนี้โดนผมเอง เพราะผมมันดื้อไม่เข้าเรืองไปอาจหาญคิดเรื่อง...ทั้งที่ตามปกติก็รู้อยู่ว่าจะโดนเทศน์ถ้าขืนคิดอย่างนั้น

    แต่พอไปเจอเข้ามันลืมเรื่องที่เคยกลัวเสียสิ้น มี่แต่เรื่องกล้าแบบบ้า ๆ บอ ๆ ออกมาท่าเดียว ที่ท่านเทศน์นั้นสมควรอย่างยิ่งแล้ว จะได้ดัดสันดานเราที่คิดไม่ดีเสียที

    ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ (หลวงตามหาบัวกล่าว) ที่บางเรื่องผู้เขียนก็ไม่สะดวกใจที่จะเขียน แต่เรื่องที่ว่าไม่สะดวกก็มีผู้ก่อไว้แล้ว พอให้เกิดปัญหากลืนไม่ได้คายไม่ออกขวางอยู่ในคอดี ๆ นี่เอง ถ้าได้ระบายออกตามความจริงก็น่าจะเป็นธรรม เหมือนพระท่านแสดงอาบัติ ก็เป็นวิธีที่ทำให้หมดโทษหมดกังวลไม่กำเริบต่อไป จึงขอเรียนเป็นบางตอนพอเป็นข้อคิดจากทั้งท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องทั้งท่านผู้ชำระเรื่อง ทั้งพวกเราผู้มีหัวใจที่อาจมีความคิดอย่างนั้นบ้าง โดยมากนักบวชและนักปฏิบัติที่โดนเทศน์เจ็บ ๆ อยู่บ่อย ก็เนื่องจากอายตะภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้น ที่เป็นวิสภาคต่อกันนั่นเอง มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ต้นเหตุที่ถูกเทศน์โดยมากก็เวลาบิณฑบาตรซึ่งเป็นกิจจำเป็นของพระ จะละเว้นมิได้ เวลาไปก็ต้องเจอ เวลาเจอก็จำต้องคิดไปต่าง ๆ บางรายพอเจอเข้าเกิคความรักชอบ ความคิดกลายเป็นกงจักรไปโดยไม่รู้สึกตัว นี่แลคือต้นเหตุที่สำคัญที่ฉุดลากใจที่ฉุดใจให้คิดออกนอกลู่นอกทางทั้งที่ไม่อยากจะให้เป็นเช่นนั้น พอได้สติรั้งกลับมาได้ ตกตอนเย็นก็มาโดนเทศน์ แล้วพยายามทำความสำรวมต่อไป

    พอวาระต่อไปก็ไปเจอของดีเข้าอีก ทำให้แผลกำเริบขึ้นอีก ขากลับมาวัดก็โดยยาเม็ดขนานเด็ด ๆ ใส่แผลเข้าอีก คือ โดนเทสน์นั่นเอง ถ้าองค์นี้ไม่โดนของดี องค์นั้นก็โดนเข้าจนได้ เพราะพระเณรมีมากต่อมากและต่างองค์ก็มีแผลเครื่องรับของแสลงด้วยกัน ฉะนั้นจึงไปโดนแต่ของดีมาจนไม่ชนะจะหลบหลีกแก้ไข พอมาถึงวัดและสบจังหวะก็โดนเทศน์จากท่านเข้าไปอีก ธรรมดาความคิดของคนมีกิเลสก็ต้องมีคิดไปต่าง ๆ นานา ดีบ้างชั่วบ้าง ท่านเองก็ไม่ใช่นักดุด่าไปเสียทุกขณะจิตที่คิด ที่ท่านตำหนิก็คือสิ่งที่ท่านอยากให้คิด เช่น คิดอรรถคิดธรรมด้วยสติปัญญาเพื่อหาทางปลดเปลื้องตนออกจากทุกข์ อันเป็นความคิดที่ถูกทางและเบาใจแก่ผู้อบรมสั่งสอนนั้นไม่ค่อยชอบคิดกัน แต่ชอบไปคิดในสิ่งที่ไม่อยากให้คิด จึงโดนเทศน์กันอยู่เสมอแทบทุกคืน เพราะผู้ทำให้ท่านต้องเทศน์อยู่บ่อย ๆ มีมาก

    ทั้งนี้กล่าวถึงความรู้ความละเอียดแห่งปรตจิตตวิชชาคือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นของท่านพระอาจารย์มั่น ว่าท่านรู้และสามารถจริง ๆ ส่วนความคิดที่น่าตำหนินั้นก็มิได้เป็นขึ้นด้วยเจตนาสั่งสมของผู้คิด หากแต่เป็นขึ้นเพราะความเผอเรอที่สติตามไม่ทันเป็นบางครั้งเท่านั้น แม้เช่นนั้นในฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์ผู้คอยให้ความรู้ความฉลาดแก่ลูกศิษย์ เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมก็รีบเตือน เพื่อผู้นั้นจะได้สติแลเข็ดหลาบแล้วระวังสำรวมต่อไป ไม่หลวมตัวคิดอย่างนั้นอีก จะเป็นทางเบิกกว้างเพื่อความเสียหายต่อไป เพราะความคิดซ้ำซากเป็นเครื่องส่งเสริม การสั่งสอนพระ รู้สึกว่าท่านได้ทำการสั่งสอนละเอียดถี่ถ้วนมาก ศีลที่เป็นฝ่ายวินัยท่านก็สอนละเอียด สมาธิและปัญญาที่เป็นฝ่ายธรรมท่านยิ่งสอนละเอียดมาก แต่ปัญญาขั้นสูงุสุดจะเขียนลงข้างหน้าตามประวัติท่านที่บำเพ็ญธรรมชั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ ส่วนสมาธิทุกขั้นและปัญญาขั้นกลาง ท่านเริ่มมีความชำนาญมาแล้วจากถ่ำสาริกา นครนายก

    พอมาฝึกซ้อมอยู่ทางภาคอิสานนานพอสมควรก็ยิ่งมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้น ฉะนั้น การอธิบายสมาธิทุกขั้นและวิปัสนาขั้นกลางแก่พระเณร ท่านจึงได้อธิบายได้อย่างคล่องแคล้วมาก ไม่มีการคลาดเคลื่อนจากหลักสมาธิปัญญาที่ถูกต้องเลย ผู้รับการอบรมได้ฟังอย่างถึงใจทุกขั้นของสมาธิและปัญญาขั้นกลาง สมาธิท่านรู้สึกแปลกและพิศดารมาก ทั้งขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ คือขณะจิตรวมเป็นขณิกสมาธิแล้วตั้งอยู่ได้ขณะเดียว แต่มิได้ถอนออกมาเป็นจิตธรรมดา แต่หากถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่มีประมาณ บางครั้งเกี่ยวกับพวกภูติผี เทวบุตร เทวธิดา พญานาคต่าง ๆ นับภพนับภูมิได้ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิประเภคนี้ ซึ่งท่านใช้รับแขกจำพวกมีรูปไม่ปรากฏด้วยตา มีเสียงไม่ปรากฏด้วยหูเป็นประจำ บางครั้งจิตก็เหาะออกจากกายแล้วเที่ยวชมสวรรค์ วิมานและพรหมโลกชั้นต่าง ๆ และลงไปเที่ยวดูภพภูมิของสัตว์นรกที่กำลังเสวยกรรมมีประเภคต่าง ๆ กันอยู่ที่ที่ทรมานต่าง ๆ กันตามกรรมของตน




     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 29

    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


    พระอาจารย์มั่นท่านเล่าว่า ท่านเคยติดอยู่ในภูมินี้มานานเอาการอยู่ เพราะไม่มีผู้ให้อุบายอะไรใด ๆ เลย ต้องลูบคลำกันอย่างระมัดระวังมากกลัวผิดพลาด เพราะทางไม่เคยเดิน เท่าทีสังเกตุรู้ตลอดมาเวลาสติปัญญาละเอียด ธรรมละเอียด ส่วนกิเลสที่จะทำให้หลงก็ละเอียดไปตาม ๆ กัน จึงเป็นความลำบากอยู่ไม่น้อยในธรรมแต่ละขั้นกว่าจะผ่านไปได้ ท่านเล่า น่าอัศจรรย์เหลือประมาณ อุตสาห์คลำไม้คลำตอและขวากหนามโดยมิได้รับคำแนะนำจากใคร นอกจากธรรมในคัมภีร์เท่านั้น กว่าจะผ่านพ้นไปได้และมาเมตตาสั่นสอนพวกเรา ก็อดที่จะนึกถึงความทุกข์ยากอย่างมหันต์ของท่านมิได้ เวลาบุกป่าฝ่าดงไปองค์เดียว มีโอกาศดี ๆ ท่านเล่าถึงการบำเพ็ญของท่านให้ฟังที่น่าสมเพชเวทนาท่านหนักหนา ผู้เขียนเองเคยน้ำตาร่วงสองครั้งด้วยความเห็นทุกข์ไปตามเวลาท่านลำบากมากในการบำเพ็ญ และด้วยความอัศจรรย์ในธรรมที่ท่านเล่าให้ฟังซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง จนเกิดความคิดขึ้นมาว่า เรานี้พอจะมีวาสนาบารมีแค่ไหนบ้างหนอ พอจะถูไถเสือกคลานไปกับท่านได้เพียงใด หรือไม่ก็มีในบางขณะตามประสาของปุถุชนอย่างนั้นเอง แต่คำพูดท่านเป็นเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตัวตื่นใจได้ดีมาก นี่แลเป็นเครื่องพยุงความเพียรไม่ให้ลดละเพื่ออนาคตของตนตลอดมา ท่านเล่าว่าพอเร่งความเพียรทางปัญญาเข้ามาทีไร ยิ่งทำให้จิตใจจืดจางออกจากหมู่คณะมากขึ้นและกลับดูดดื่มทางความเพียรมากเข้าทุกที ทั้งที่ทราบเรื่องของตัวมาโดยลำดับว่ากำลังของเรายังไม่พอ แต่ก็จำต้องอยู่รออบรมหมู่คณะพอให้มีหลักฐานทางใจบ้าง

    ทราบว่าท่านจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดนครพนมหลายปี ตามแถบหมู่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม ถ้าจำไม่ผิดก็ราว 3-4 ปี ที่บ้านห้วยทรายซึ่งตั้งอยู่เขตอำเภอคำชะอี จังหวัดเดียวกัน 1 ปี แถบหมู่บ้านห้วยทราย บ้านคำชะอี หนองสูง โคกกลาง เหล่านี้มีภูเขามาก ท่านชอบพักอยู่แถบนี้มาก ที่เขาผักกูดซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านแถบนั้นท่านว่าเทวดาก็ชุม เสือก็ชุมมาก ตอนกลางคืนเสือก็มาเที่ยวบริเวณรอบ ๆ บริเวณที่ท่านพักอยู่ เทวดาก็ชอบฟังธรรมกับท่านบ่อยเช่นกัน กลางคืนเสียงเสือโคร่งใหญ่กระหึ่มอยู่ใกล้ ๆ กับที่พักท่าน บางคืนมันจะกระหึ่มร้องกันทีละหลาย ๆ ตัว เสียงสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งป่า เสียงมันร้องรับกันเหมือนเสียงคนร้องหากันนี่เอง ทางโน้นก็ร้อง ทางนี้ก็ร้อง กระหึ่มรับกันเป็นพัก ๆ ทีละหลาย ๆ ตัว น่ากลัวมาก พระเณรบางคืนไม่ได้นอนหลับกันเลย กลัวเสือจะมาฉวยไปกิน ท่านฉลาดหาอุบายมาพูดแปลก ๆ ให้พระเณรกลัวเสิอเพื่อจะได้ขยันทำความเพียร โดยพูดว่า ใครขี้เกียจทำความเพียรระวังให้ดีน๊ะ เสือในเขาลูกนี้ชอบพระเณรที่ขี้เกียจทำความเพียรนัก กินก็อร่อยดี ใครไม่อยากเป็นอาหารของมันก็ต้องขยัน ใครขยันทำความเพียร เสือกลัวและไม่ชอบเอาไปเป็นอาหาร พอพระเณรได้ยินดังนั้นต่างก็พยายามทำความเพียรกัน แม้เสือกำลังกระหึ่มอยู่รอบ ๆ ก็จำต้องฝืนออกไปเดินจงกรมแบบสละตายทั้งที่กลัว ๆ เพราะเชื่อคำท่านว่าใครขี้เกียจเสือจะมาเอาไปเป็นอาหารอันอร่อยของมัน เพราะที่อยู่นั้นมิได้เป็นกุฏิเหมือนวัดทั่ว ๆ ไป แต่เป็นร้านเล็ก ๆ พอหมกตัวเวลาหลับนอนเท่านั้นและเตี้ย ๆ ด้วย เผื่อเสือนึกหิวขึ้นมาและโดดมาเอาไปกินก็ต้องเสียท่าให้มันจริง ๆ เพราะฉะนั้น พระท่านถึงกลัวและเชื่อคำของท่านอาจารย์ ท่านเล่าให้ฟังก็น่ากลัวด้วยว่าบางคืนเสือโคร่งใหญ่เข้ามาด้วยโดยเข้ามาถึงที่พักของพระก็มี แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพียงแต่เดินผ่านไปเท่านั้น ตามปกติท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าเสือไม่กล้ามาทำอะไรได้ ท่านว่าเทวดารักษาอยู่ตลอดเวลา คือเทวดาลามาเยี่ยมเพื่อฟังเทศน์ท่าน เขาบอกกีบท่านว่า เขาพากันมาอารักขาไม่ให้มีอะไรมารบกวนและทำอันตรายได้

    และขออาราธานาให้ท่านพักอยู่ที่นั้นนาน ๆ ฉะนั้นท่านจึงหาอุบายมาพูดเพื่อให้พระเณรกลัวและสนใจต่อความเพียรมากขึ้น เสือเหล่านั้นก็รู้สึกจะทราบว่าที่บริเวณที่ท่านพักอยู่เป็นสถานที่เย็นใจ พวกสัตว์เสือต่าง ๆ ไม่ต้องระวังอันตรายจากนายพราน เพราะตามปกติชาวบ้านทราบว่าท่านไปพักอยู่ที่ใดเขาไม่กล้าไปเที่ยวล่าเนื้อที่นั้น เขาบอกว่ากลัวเป็นบาป เพราะกลัวปืนจะระเบิดทั้งลำกล้องใส่มือเขาตายขณะยิงสัตว์ที่ใกล้บริเวณนั้น สิ่งที่แปลกอยู่อย่างก็คือ เวลาที่ท่านไปพักอยู่ ณ สถานที่ใดซึ่งเป็นแหล่งที่เสือชุม ๆ ที่นั้นแม้เสือจะเคยมาเที่ยวหากัดวัวควายกินเป็นประจำตามหมู่บ้านแถบนั้นก็เลิกลากันไป ไม่ทราบว่ามันไปเที่ยวหากินกันที่ไหน เรืองทั้งนี้ท่านก็เลยเล่าให้ฟัง และชาวบ้านหลายหมุ่บ้านที่ท่านเคยไปพักอยู่ก็เคยเล่าให้ฟังเหมือนกัน ว่าเสือไม่ไปทำอันตรายสัตว์เลี้ยงเขาเลย น่าอัศจรรย์มากดังนี้ ยังมีข้อแปลกอยู่อีกอย่างคือเวลาเทวดามาเยี่ยมฟังเทศน์ ท่านหัวหน้าเทวดาเล่าว่าท่านมาพักอยู่ที่นี่ทำให้เทวดาสบายใจทั่วกัน เทวดามีความสุขมากผิดปกติ เพราะกระแสเมตตาธรรมท่านเป็นกระแสที่แผ่กระจายครอบท้องฟ้าอากาศและแผ่นดินไปหมด กระแสเมตตาธรรมของท่านเป็นกระแสที่บอกไม่ถูกและอัศจรรย์มาก ไม่มีอะไรเหมือนเลย ดังนี้ และพูดต่อไปอีกว่า ฉะนี้นท่านพักอยู่ที่ไหน พวกเทวดาต้องทราบกันจากกระแสธรรมที่แผ่ออกจากองค์ท่านไปทุกทิศทุกทาง แม้เวลาท่านแสดงธรรมแก่พระเณรและประชาชน กระแสเสียงของท่านก็สะเทือนไปหมดทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ไม่มีขอบเขต ใครอยู่ที่ไหนก็ได้เห็นได้ยิน นอกจากคนตายแล้วเท่านั้นจะไม่ได้ยิน ตอนนี้ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ อีกด้วย

    จะได้เชิญอาราธนาคำพูดระหว่างท่านพระอาจารย์กับพวกเทวดาสนทนากันมาลงอีกเล็กน้อย ส่วนจะจริงหรือเท็จก็เขียนตามที่ได้ยินได้ฟังมา ท่านย้อนถามเขาบ้างว่า ก็มนุษย์ไม่เห็นได้ยินกันบ้างว่าเสียงเทศน์สะเทือนไปไกลดังที่ว่านั้น
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ
    ครั้งที่ 30

    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    ตอนนี้ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ อีกด้วย จะได้เชิญอาราธนาคำพูดระหว่างท่านพระอาจารย์กับพวกเทวดาสนทนากันมาลงอีกสักเล็กน้อย ส่วนจะจริงหรือเท็จก็เขียนตามที่ได้ยินได้ฟังมา ท่านย้อนถามเขาบ้างว่า ก็มนุษย์ไม่เห็นได้ยินกันบ้างว่าเสียงเทศน์สะเทือนไปไกลดังที่ว่านั้น หัวหน้าเทพฯรีบตอบท่านทันทีว่า ก็มนุษย์เขาจะรู้เรืองอะไรและสนใจกับศีลกับรรมอะไรกันท่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเขา เขาเอาไปใช้ทางบาปทางกรรมและขนนรกมาทับถมตัวตลอดเวลานับแต่วันที่เขาเกิดมาจนกระทั่งตายไปเขามิได้สนใจเกี่ยวกับศีลเกี่ยวกับธรรมเท่าที่ควรแก่ภูมิของตนหรอกท่าน มีน้อยเต็มที่ผู้สนใจจะนำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปทำประโยชน์ คือศีลธรรม ชีวิตเขามีน้อยนิดเดียว ถ้าเทียบกันแล้ว มนุษย์ตายคนละกี่สิบกี่ร้อยครั้ง เทวดาที่อยูภาคพื้นดินแม้เพียงรายหนึ่งก็ยังไม่เคยตายกันเลย

    ไม่ต้องพูดถึงเทวดาบนสวรรค์ชั้นพรหมซึ่งมีอายุยืนกันเลย มนุษย์จำนวนมากมีความประมาทมาก ที่มีความไม่ประมาทมีน้อยเต็มที มนุษย์เองเป็นผู้รักษาศาสนา แต่แล้วมนุษย์เสียเองไม่รู้จักศาสนา ไม่รู้จักศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเยี่ยม มนุษย์คนใดชั่วก็ยิ่งรู้จักแต่จะทำชั่วถ่ายเดียว เขายังแต่ลมหายใจเท่านั้นพอเป็นมนุษย์อยู่กับโลกเขาพอลมหายใจขาดไปเท่านั้น เขาก็จมไปกับความชั่วของเขาทันทีแล้ว เทวดาก็ได้ยิน ทำไมจะไม่ได้ยิน ปิดไม่อยู่ เวลามนุษย์ตายแล้วก็นิมนต์พระมาสาธยายธรรมกุสลาธรรมาให้คนตายฟัง เขาจะเอาอะไรมาฟังสำหรับคนชั่วขนาดนั้น พอแต่ตายลงไปกรรมชั่วก็มัดดวงวิญญานของเขาไปแล้ว เริ่มแต่ขณะสิ้นลมหายใจ จะมีโอกาศมาฟังเทศน์ฟังธรรมได้อย่างไร แม้ขณะที่มีชีวิตอยู่เขาก็ไม่สนใจอยากฟังเทศน์ฟังธรรม นอกจากคนที่ยังเป็นอยู่เท่านั้น พอฟังได้ถ้าสนใจอยากฟัง แต่เขาไม่สนใจฟังหรอกท่าน ท่านไม่สังเกตุดูเขาบ้างหรือ เวลาพระท่านสาธยายกุสลาธรรมาให้ฟัง เขาสนใจฟังเมื่อไร ศาสนามิได้ถึงใจมนุษย์เท่าที่ควรหรอกท่าน

    เพราะเขาไม่สนใจกับศาสนา สิ่งที่เขารักชอบที่สุดนั้น มันเป็นสิ่งที่ต่ำทรามที่สัตว์เดียรฉานบางตัวก็ยังไม่อยากชอบ นั่นแลเป็นสิ่งซึ่งมนุษย์ไม่ชอบศาสนาชอบมากกว่าสิ่งอื่นใด และชอบแต่ไหนแต่ไรมา ทั้งชอบแบบไม่มีวันเบื่อและไม่รู้จักเบื่อเอาเลย ขณะจะขาดใจยังชอบอยู่เลยท่าน พวกเทวดารู้เรื่องของมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะมาสนใจรู้เรื่องของพวกเทวดาเป็นไหน ๆ ท่านนี่แลเป็นพระวิเศษ รู้ทั้งเรื่องมนุษย์ ทั้งเรื่องเทวดา ทั้งเรื่องสัตว์ นรก สัตว์กี่ประเภท่านรู้ได้ดีกว่าเป็นไหน ๆ ฉะนั้น พวกเทวดาจึงยอมตนลงกราบไหว้ท่าน พอหัวหน้าเทวดาพูดจบลง ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเป็นเชิงปรึกษา ว่าเทวดาเป็นผู้มีตาทิพย์หูทิพย์ และเห็นได้ไกล ฟังเสียงได้ไกล รู้เรื่องดีชั่วของมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะรู้เรื่องของตัวและรู้เรื่องของพวกมนุษย์ด้วยกัน จะพอมีทางเตือนมนุษย์ให้รู้สึกสำนึกในความผิดถูกที่ตนทำได้บ้างหรือ หัวหน้าเทวดาตอบท่านว่า

    เทวดายังไม่เคยเห็นมนุษย์มีกี่รายพอจะมีใจเป็นมนุษย์สมภูมิเหมือนอย่างพระคุณเจ้า ซึ่งให้ความเมตตาแก่ชาวเทพฯ และชาวมนุษย์ตลอดมาเลย พอที่เขาจะรับทราบว่าในโลกนี้มีสัตว์ชนิดต่าง ๆ หลายต่อหลายจำพวกอยู่ด้วยกัน ทั้งที่เป็นภพหยาบ ทั้งที่เป็นภพละเอียด ซึ่งมนุษย์จะยอมรับว่าเทวดาประเภคต่าง ๆ มีอยู่ในโลก และสัตว์อะไร ๆ ที่มีอยู่ในโลกกี่หมื่นกี่แสนประเภคว่ามีจริงตามที่สัตว์เหล่านั้นมีอยู่ เพราะนับแต่เกิดมามนุษย์ไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแต่พ่อแต่แม่แต่ปู่ย่าตายาย แล้วมนุษย์จะมาสนใจอะไรกับเทวดาเล่าท่าน นอกจากเห็นอะไรผิดสังเกตุบ้าง จริงหรือไม่จริงไม่คำนึงถึง พวกมนุษย์มีแต่พากันตู่ว่าผีกันเท่านั้น จะมาหวังเตือนดีชอบอะไรจากเทวดา แม้เทวดาจะรู้เห็นพวกมนุษย์อยู่ตลอดเวลา แต่มนุษย์ก็มิได้สนใจจะรู้เทวดาเลย แล้วจะให้เทวดาตักเตือนสั่งสอนมนุษย์ด้วยวิธีใด เป็นเรื่องจนใจทีเดียว ปล่อยตามกรรมของใครของเราไว้อย่างนั้นเอง แม้แต่พวกเทวดาก็ยังมีกรรมเสวยอยู่ทุกขณะ ถ้าปราศจากรรมแล้ว เทวดาก็ไปนิพพานได้เท่านั้นเองท่าน จะพากันอยู่ในลำบากไปนานอะไรกัน

    ท่านพระอาจารย์มั่นถามเขาว่า พวกเทวดาก็รู้นิพพานกันด้วยหรือ ถึงว่าหมดเวรหมดกรรมกันแล้วก็ไปนิพพานได้ และพวกเทวดาก็มีความทุกข์เช่นสัตว์ทั้งหลายเหมือนกันหรือ เขาตอบว่า ทำไมจะไม่รู้ท่าน ก็เพราะพระพุทธเจ้าองค์ใดมาสั่งสอนโลกก็ล้วนแต่สอนให้พ้นทุกข์ไปนิพพานกันทั้งนั้น มิได้สอนให้จมอยู่ในกองทุกข์ แต่สัตว์โลกไม่สนใจพระนิพพานเท่าเครื่องเล่นที่เขาเคยชอบเลย จึงไม่มีใครคิดอยากไปนิพพานกัน คำว่านิพพานพวกเทวดาจำได้อย่างติดใจจากพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มาสั่งสอนสัตว์โลก แต่เทวดาก็มีกรรมหนาจึงยังไม่พ้นจากภพของเทวดาให้ไปนิพพานกัน จะได้หมดปัญหา ไม่ต้องวกเวียนถ่วงตนดังที่เป็นอยู่นี้ ส่วนความทุกข์นั้นถ้ามีกรรมอยู่แล้วไม่ว่าสัตว์จำพวกใดก็ต้องมีทุกข์ไปตามส่วนของกรรมดีชั่วที่มีมากน้อยในตัวสัตว์ ท่านถามเทวดาว่า พระที่พูดกับเทวดารู้เรื่องกันมีอยู่เยอะไหม เขาตอบว่า มีเหมือนกันกับท่านแต่ไม่มากนัก โดยมากก็เป็นพระซึ่งชอบปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาเหมือนพระคุณเจ้านี่แล ท่านถามว่า ส่วนฆราวาสเล่ามีบ้างไหม? เขาตอบว่า มีเหมือนกัน แต่มีน้อยมากและต้องเป็นผู้ใคร่ทางธรรม ปฏิบัติใจผ่องใสถึงรู้ได้ เพราะกายของพวกเทวดานั้นหยาบสำหรับพวกเทวดาด้วยกัน แต่ก็ละเอียดสำหรับมนุษย์จะรู้เห็นได้ทั่วไป นอกจากผู้มีใจผ่องใสจึงจะรู้จะเห็นได้ไม่ยากนัก

    ท่านถามเขาว่า ที่ธรรมท่านว่าพวกเทวดาไม่อยากมาอยู่ใกล้พวกมนุษย์ เพราะเหม็นสาบคาวมนุษย์อย่างไรบ้าง ขณะที่ท่านมาเยื่ยมอาตมาไม่เหม็นสาบคาวบ้างหรือ ทำไมจึงมาหาอาตมาบ่อยนัก เขาตอบว่า มนุษย์ที่มีศีลธรรมมิใช่เป็นมนุษย์ที่ควรรังเกียจ ยิ่งเป็นที่หอมหวลชวนให้เคารพบูชายิ่ง และอยากที่จะมาเยี่ยมมาฟังเทศน์เสมอไม่เบื่อเลย มนุษย์ที่เหม็นคาวน่ารังเกียจ คือมนุษย์ที่เหม็นคาวศีลธรรม รังเกียจธรรม ไม่สนใจในศีลธรรม มนุษย์ประเภคเบื่อศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเลิศในโลกทั้งสาม แต่ชอบในสิ่งที่น่ารังเกียจของท่านผู้ดีมีศีลธรรมทั้งหลาย มนุษย์ประเภคนี้น่ารังเกียจจริงไม่อยากเข้าใกล้และเหม็นคาวฟุ้งไปไกลด้วย แต่เทวดามิได้ตั้งข้อรังเกียจชาวมนุษย์แต่อย่างใด หากเป็นนิสัยของพวกเทวดามีความรู้สึกอย่างนั้นมาดั้งเดิมดังนี้ ท่านเล่าเรื่องเทวดาภูติผีชนิดต่างๆ ให้ฟัง ผู้ฟังเคลิ้มจนลืมตัวและลืมเวล่ำเวลา ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตาม ๆ กัน ประหนึ่งตนก็ใครอยากรู้อย่างนั้นบ้างและคิดว่าจะรู้จะเห็นอย่างนั้นบ้างในวันหนึ่งข้างหน้า แล้วทำให้เกิดความกระหยิ่มต่อความเพียรเพื่อผลอย่างนั้นขึ้นมา กับตอนที่ท่านเล่าอดีตชาติของท่านและของคนอื่นเป็นบางรายที่เห็นว่าจำเป็นให้ฟัง ยิ่งทำให้อยากรู้อดีตชาติของตนจนลืมความคิดที่อยากพ้นทุกข์ไปนิพพาน...
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 31

    รวบรวมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


    โดยมิได้คำนึงว่าผิดหรือถูก ทั้งที่ความจริงการปฏิบัตินั้นเป็นทางผิด และยังมีส่วนกระทบกระเทือนวงพระศาสนาและครูอาจารย์ที่พากันดำเนินมาก่อนให้มีส่วนบอบช้ำเสียหายไปด้วย ส่วนจำพวกหลังนี้ท่านเล่าว่าท่านรู้จักตัวและนามของพระนั้น ๆ ด้วยที่มาทำให้ท่านลำบากในเวลาต่อมา คือพระที่เป็นลูกศิษย์ท่านอยู่ก่อนเป็นแต่ออกไปจำพรรษาอยู่ไม่ห่างกันนัก ซึ่งท่านเองเป็นผู้เห็นชอบและอนุญาตให้ออกไป เมื่อกำหนดดูเหตุการณ์และทราบละเอียดแล้ว ท่านก็มารำพึงถึงพระที่มาทำความทรมานให้ท่านลำบากว่าเป็นพระที่มีความเคารพเลื่อมใสและนับถือท่านมาก ไม่น่าจะทำอย่างนั้นได้ หลังจากนั้นท่านก็คอยสังเกตุความเคลื่อนไหวของบรรดาลูกศิษย์เหล่านั้นตลอดมา โดยมิได้แสดงเรื่องที่ปรากฏในคืนวันนั้นให้ใครทราบเลย ต่อมาไม่กี่วันก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดกับข้าราชการหลายท่าน และพระที่เป็นลูกศิษย์ท่านและเป็นองค์ที่เป็นหัวหน้าเอาไม้พากันเอามาคีบหัวอกท่านมาเยี่ยมท่านที่สำนัก

    ทั้งสองฝ่ายมาแสดงความประสงค์ขอให้ท่านช่วยอนุเคราะห์ประกาศเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านในตำบล อำเภอนั้น เพื่อสร้างโรงเรียนขึ้น 2-3 แห่งอันเป็นการช่วยทางราชการอีกทางหนึ้งด้วย โดยความเห็นของทั้งสองฝ่ายที่ได้ตกลงกันมาก่อนแล้วว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนมาก ท่านพูดอะไรขึ้นมาก็ต้องสำเร็จแน่นอน จึงได้พากันมาหาท่านเพื่อให้อนุเคราะห์ช่วยเหลือ พอทราบความประสงค์ของผู้มาติดต่อแล้ว ท่านก็ทราบทันทีว่า พระทั้งสองรูปนี้เป็นตัวการทำให้ท่านลำบาก ซึ่งเทียบกับเอาไม้มาคีบหัวอกท่าน โอกาศต่อไปท่านได้เรียกพระทั้งสองรูปนั้นมาอบรมสั่งสอนเพื่อให้รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรแก่เพศสมณะปฏิบัติผู้ตั้งอยู่ในความสงบและสำรวมระวัง ที่เรียนนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าจิตเป้นธรรมชาติลึกลับและสามารถรู้ได้ทั้งสิ่งที่เปิดเผยและลึกลับ ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบันดังเรื่องท่านพระอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างมาหลายเรื่อง

    ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติเพื่อความเที่ยงตรงต่ออรรถธรรม มิได้มีความคิดที่เป็นโลกามิสแอบแฝงอยู่ด้วยเลย คำพูดที่ออกจากความรู้ความเห็นท่านแต่ละคำจึงเป็นคำที่ควรสดุดใจว่ามิใช่เป็นคำโกหกหลอกลวงท่านผู้หนึ่งผู้ใดทั้งที่อยู่ใกล้ชิดและทั่ว ๆ ไปให้หลงงมงายเสียหายไปด้วยแต่ประการใด เพราะคำพูดท่านที่นำมาลงนี้เป็นคำพูดที่พูดในวงจำเพาะพระผู้ใกล้ชิด มิได้พูดทั่วไปโดยไม่มีขอบเขต แต่ผู้เขียนอาจเป็นนิสัยไม่ดีอยู่บ้างที่ตัดสินใจนำเรื่องท่านออกมา ความคิดก็เพื่อท่านที่สนใจได้อ่านและพิจารณาดูบ้าง ซึ่งอาจเกิดประโยชน์เท่าที่ควร เรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเรื่องอัศจรรย์และพิศดานอยู่มากในพระปฏิบัติในสมัยปัจจุบัน ทั้งภาคปฏิบัติและความรู้ที่ท่านแสดงออกแต่ละประโยค การสั่งสอนบางประโยคก็บอกตรง ๆ บางประโยคก็บอกเป็นอุบายไม่บอกตรงทั้งสิ่งที่ควรและไม่ควร การทำนายทายทักทางจิตใจนับแต่เรืองขรัวตาที่ชายเขาถ้ำสาริกาเป็นต้นเหตุมาแล้ว ท่านระวังมากทั้งที่อยากเมตตาสงเคราะห์ บอกตามความคิดของผู้มาอบรมนั้น ๆ แสดงออกในทางผิดถูกต่าง ๆ อย่างบริสุทธิ์ใจในฐานะเป็นอาจารย์สอนคน แต่เวลาบอกไปตามตรงว่า ท่านผู้นั้นคิดอย่างนั้นผิด ท่านผู้นี้คิดอย่างนี้ถูกต้อง แทนที่จะได้รับประโยชน์ตามเจตนาอนุเคราะห์ แต่ผู้รับฟังกลับคิดไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นความเสียหายแก่ตนแทบทั้งนั้น ไม่ค่อยมาสนใจตามเหดุผลและเจตนาสงเคราะห์เลย บางราย

    พอเห็นคิดไม่ดีและเริ่มจะเป็นชนวนแห่งความเสียหาย ส่วนใหญ่ท่านตักเตือนบ้างโดยอุบายไม่บอกตรง เกรงว่าผู้ถูกเตือนจะกลัวและอายหมู่เพื่อน เพียงเตือนให้รู้สึกตัวมิได้ระบุนาม แม้เช่นนั้นยังเกิดความรุ่มร้อนแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปต่อหน้าต่อตาทานและหมู่คณะก็ยังมี เรื่องทั้งนี้ก็จะเท่ากับเตือนให้รู้เท่าทันถึงอุบาย วิธีสั่งสอนไปในตัวทุกระยะเหตุการณ์เกี่ยวข้องบังคับอยู่ ต้องขออภัยหากเป็นความไม่สบายใจในบางตอนที่เขียนตามความจริงที่บันทึก และจดจำมาจากท่านเอง และจากครูอาจารย์ที่อยู่กับท่านมาเป็นคราว ๆ หลายท่านด้วยกัน จึงมีหลายเรืองและหลายรสด้วยกัน โดยมากสิ่งที่เป็นภัยต่อนักบวชนักปฏิบัติ และนักบวชนักปฏิบัติชอบคิดโดยไม่มีเจตนา แต่เป็นนิสัยที่ฝังประจำสันดานมาดั้งเดิมก็คื่อ อายตนภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ของเพศที่เป็นวิศภาคกัน นั่นแลคือกัณท์เทศน์กัณท์เอกที่ท่านจำต้องเทศน์และเตือนทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่เสมอ มิได้รามือพอให้สบายใจได้บ้าง


    การนึกคิดอย่างอื่น ๆ ก็มีแต่ถ้าไม่สำคัญนักท่านก็ทำเป็นไม่สนใจ ที่สำคัญอย่างยิ่งเวลาประชุมฟังธรรมซึ่งท่านต้องการความสงบทั้งทางกายและทางใจ ไม่ต้องการอะไรมารบกวนทั้งผู้ฟังและผู้ให้โอวาท จุดประสงค์ก็เพื่อได้รับประโยชน์จากการฟังจริง ๆ ใครเกิดไปคะนองคิดเรืองแสลงเพศแสลงธรรมขึ้นมาในขณะนั้น ฟ้ามักจะผ่าเปรี้ยง ๆ ลงในท่ามกลางความคิดที่กำลังคิดเพลิดเพลินและท่ามกลางที่ประชุม ทำเอาผู้กำลังกล้าหาญคิดแบบไม่รู้จักตายตัวสั่นแทบสลบไปในขณะนั้น ทั้งที่ไม่ได้ระบุตัวบุคคล แต่ระบุเรื่องที่คิด ซึ่งเป็นเรื่องที่กระตุกใจของผู้ที่กำลังคิดเรื่องนั้นอย่างสำคัญ แม้ผู้อื่นในที่ประชุมก็พลอยตกใจ และบางรายตัวสั่นไปด้วยเผื่อคิดเช่นนั้นขึ้นมาบ้างในขณะเผลอ ถ้าถูกฟ้าผ่าอยู่เรือย ๆ ขณะฟังเทศน์ปรากฏว่าจิตของผู้ฟั้งหมอบและมีสติระวังตัวอย่างเข้มงวดกวดขัน บางรายจิตรวมสงบลงอย่างเต็มที่ก็มีในขณะนั้น ผู้ไม่รวมในขณะนั้นก็อยู่ในเกณท์สงบและระวังตัว เพราะกลัวฟ้าจะลงเปรี้ยง หรือเหยี่ยวจะโฉบเอาศีรษะขณะใดก็ไม่รู้ ถ้าเผลอคิดไม่เข้าเรืองในขณะนั้น

    ฉะนั้น ผู้ที่อยู่กับท่านจึงมีหลักใจเป็นที่มั่นคงไปโดยลำดับ อยู่กับท่านไปนานเท่าไรก็ยิ่งทำให้นิสัยทั้งภายในภายนอกกลมกลืนกับนิสัยท่านไปไม่มีสิ้นสุด ผู้ใดอดทนอยู่กับท่านได้นานนานด้วยความไฝ่ใจ ยอมเป็นผ้าขี้ริ้วให้ท่านสั่งสอน คอยยึดเอาเหตุเอาผลจากอุบายต่าง ๆ ที่ท่านแสดงในเวลาปกติหรือเวลาแสดงธรรม ไม่ลดละความสังเกตุ และพยายามปฏิบัติตนให้เป็นไปตามท่านทุกวันเวลา นิสัยความใคร่ธรรมะและหนักแน่นในข้อปฏิบัติทุกด้านนี้แล จะทำให้เป็นผู้มั่นคงทางภายในขึ้นวันละเล็กวันละน้อยจนสามารถทรงตัวได้ ที่ไม่ค่อยได้หลักเกณท์จากการอยู่กับท่าน โดยมากมักจะเพ่งเล็งภายนอกยิ่งกว่าภายใน เช่น กลัวท่านจะดุด่าบ้างเวลาคิดไปต่าง ๆ ตามเรืองความโง่ของตน พอถูกท่านว่าให้บ้างก็เลยกลัวโดยมิได้คิดจะแก้ตัวสมกับไปศึกษาอบรมกับท่านเพื่อหาความดีใส่ตัว ไม่มีเหตุผลอะไรเลย ไปอยู่กับท่านก็ไปแบบเรา อยู่แบบเรา ฟังแบบเรา คิดไปร้อยแปดแบบเรา ที่เป็นทางดั้งเดิม.....
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 32 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    ที่เป็นทางดั้งเดิม อะไร ๆ ก็เป็นแบบเราซึ่งมีกิเลสหน้าอยู่แล้ว ไม่มีแบบท่านเข้ามาแทรกบ้างเลย เวลาท่านไปก็จำต้องไปแบบเรา ที่เคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ชื่อว่าความดีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงพอให้เป็นที่น่าชมเชย แต่ความชั่วที่ทับถมจนมองไม่เห็นนั้นยิ่งสั่งสมขึ้นทุกวันเวลา ไม่มีความเบื่อหน่ายอิ่มพอ ผลจึงเป็นคนอาภัพอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งใดมาฉุดลากพอให้กลับฟื้นตัวได้บ้างเลย ถ้าไปอยู่กับท่านแบบที่ว่านี้ จะอยู่นานเท่าไรก็ไม่ผิดอะไรกับทัพพีกับแกงที่มีรสอร่อย แต่ทัพพีจะไม่รู้เรื่องอะไรกับแกง นอกจากให้เขาจับโยนลงหม้อนั้นหม้อนี้มิได้หยุดหย่อนเท่านั้น กิเลสตัณหาเครื่องพอกพูนความชั่วไม่มีประมาณ จับเราโยนหม้อนั้นหม้อนี้ก็ทำนองเดียวกัน ผู้เขียนก็นับเข้าในจำวนถูกจับโยนลงหม้อนั้นหม้อนี้ด้วยโดยไม่ต้องสงสัย เพราะชอบขยันหมั่นเพียร แต่สิ่งหนึ่งนั้นคอยกระซิบให้ขี้เกียจ ชอบไปแบบท่าน อยู่แบบท่าน ฟังแบบท่าน คิดแบบท่าน อย่างเป็นอรรถเป็นธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่คอยกระซิบให้ไปแบบเรา อยู่แบบเรา คิดแบบเรา อะไร ๆ ก็กระซิบให้เป็นแบบเราเคยเป็นมาดั้งเดิม และกระซิบไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น สุดท้ายก็เชื่อมันจนเคลิ้มหลับสนิทและยอมทำตามแบบดั้งเดิม เราจึงเป็นคนดั้งเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นพอให้ตัวเองและผู้อื่นชื่นชมบ้าง คำว่า ดั้งเดิม จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราและใคร ๆ จนมีรากฝังลึกอยู่ภายใน ยากที่จะถอดถอนออกได้ ถ้าไม่สังเกตุรู้ความเป็นมาและความเป็นไปของตนอย่างเอาใจใส่จริง

    พอตกหน้าแล้ง ท่านพระอาจารย์มั่นก็เริ่มพาโยมมารดาออกเดินทาง พาพักบ้านละคืนสองคืนไปเรื่อยจนถึงบ้าน และพักอยู่ที่บ้านท่านนานพอสมควร ให้การอบรมมารดาและชาวบ้านพอให้ความอบอุ่นโดยทั่วกัน แล้วก็ลาโยมมารดาและญาติออกเดินทางธุดงค์ไปเรื่อย ๆ โดยมุ่งหน้าลงไปทางภาคกลาง ไปแบบธุดงค์กรรมฐาน ไม่รีบ ไม่ด่วน เจอหมู่บ้านหรือสถานที่ซึ่งมีน้ำท่าสมบูรณ์ก็กางกลดลงที่นั้น แล้วพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อย่างเย็นใจ พอมีกำลังกายกำลังใจแล้วก็ออกเดินทางต่อไป สมัยโน้นเดินด้วยเท้ากันทั้งนั้นรถราไม่มีเหมือนสมัยนี้ ท่านว่าท่านมิได้เร่งรีบกับเวล่ำเวลา จุดใหญ่อยู่ที่การภาวนาเท่านั้น เดินทางทั้งวันก็เท่ากับเดินจงกรมภาวนาไปทั้งวัน ขณะท่านจากหมู่คณะเดินทางลงมากรุงเทพ เพียงองค์เดียวนั้น เหมือนช้างสารตัวใหญ่ออกจากโขลงเที่ยวหากินในป่าลำพังตัวเดียว เป็นความเบากายเบาใจเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามออกจากหัวอกที่เคยหนักหน่วงถ่วงกายถ่วงใจมานาน กายก็เบา ใจก็เบา ขณะเดินทางด้วยวิธีจงกรมภาวนาไปแถบทุ่งกว้างที่มีสับกันเป็นตอน ๆ แต่ภายในใจไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเพราะแดดแผดเผาเลย บรรยากาศคล้ายกับเครื่องส่งเสริมการเดินทางให้มีความสะดวกสบายไปเป็นลำดับ บนบ่าที่เต็มไปด้วยบริขารของพระธุดงค์ มีบาตร กลด เป็นต้น ซึ่งรวมหลายชิ้นด้วยกัน ตามปกติก็พอทำความลำบากให้พอดู แต่ในความรู้สึกกลับไม่หนักหนาอะไรเลย กายกับใจที่ถอดถอนความกังวลจากหมู่คณะออกหมดแล้วจึงเป็นเสมือนจะเหาะลอยขึ้นบนอากาศในขณะนั้น เพราะหมดอาลัยหายห่วงโดยประการทั้งปวง โยมมาดาก็ได้อบรมสั่งสอนอย่างเต็มภาคภูมิ จนมีหลักฐานทางจิตใจอย่างามั่นคงหมดห่วงแล้ว มีความรับผิดชอบเฉพาะตัวคนเดียวนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป นี่เป็นคำรำพึงบริกรรมภาวนาไปตามทางซึ่งท่านใช้เป็นบทธรรมเตือนสติตัวเองมิให้ประมาท เดินทางโดยวิธีจงกรมภาวนาไปตามสายทางที่ปราศจากผู้คนสัญจรไปมา ขณะเดินทางตอนกลางวันแดดกำลังร้อนจัด มองดูมีต้นไม้ใบหน้าตามชายป่าก็เห็นว่าเหมาะก็เข้าไปพักอาศัย


    พักพอหายเหนื่อยนั่งภาวนาสงบอารมณ์ใต้ร่มไม้ให้ใจเย็นสบาย พอตกบ่าย ๆ อากาศร้อนค่อยลดลงบ้าง ก็เริ่มออกเดินทางต่อไปด้วยท่าทางของผู้ที่เห็นในวัฎฎสงสารมีสติสัมปชัญญะประคองใจ ไปถึงหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนพอได้อาศัยเขาโคจรบิณฑบาตก็พอแล้ว ไม่ต้องการความช่วยเหลือเฟืออะไรมากไปกว่านั้น ตามองหาที่พักยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านพอประมาณและแวะพักไปเป็นทอด ๆ แล้วแต่ทำเลเหมาะสมจะพักภาวนาสะดวกเพียงไร บางแห่งก็เป็นความสะดวกแก่การบำเพ็ญก็พักอยู่เป็นเวลานาน แล้วเดินทางต่อไป ท่านเล่าว่าตอนเดินทางไปถึงดงพญาเย็น ระหว่างสระบุรีกับนครราชสิมาต่อกัน มีป่าเขาลำเนาไพรมาก ทำให้เกิดความชื่นบานหรรษา คิดอยากพักอยู่ที่นั้นนาน ๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรเสริมกำลังใจที่กระหายต่อการอยู่คนเดียวในป่าในเขามานาน เมื่อมาเจอะเจอทำเลเหมาะ ๆ เข้าก็อยากพักอยู่ที่นั้นเป็นเวลานาน ๆ แล้วค่อยผ่านไปเรื่อย พักไปเรื่อย ท่านว่าท่านก็เพลิดเพลินไปกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เหมือนกัน เพราะป่าเขาแถบนั้นมีสัตว์นานาชนิดชุกชุมมาก มีอีเก้ง หมู กวาง ลิง ค่าง บ่าง ชนี เสือ ช้าง อีเห็น ไก่ป่า ไก่ฟ้า หมี เม่น กระจ้อน กระแต แว้นสัตว์เล็ก ๆ ที่เที่ยวหากินเป็นประจำเสีย สัตว์นอกนั้นยังมาเที่ยวหากินในเวลากลางวัน ท่านเคยเจอเขาบ่อย ซึ่งเขาก็ไม่แสดงอาการกลัวท่านนัก ป่าแถบนี้แต่ก่อนไม่มีหมู่บ้านผู้คน ถึงมีก็อยู่ห่าง ๆ กัน และมีเพียง 3-4 หลังคาเรือน ตั้งอยู่เป็นหย่อม ๆ ซึ่งอาศัยทำไร่ข้าวและปลูกสิ่งต่าง ๆ เป็นอาชีพ ตั้งอยู่ตามชายเขาระหว่างทางที่ไป ท่านอาศัยชาวบ้านเหล่านั้นเป็นโคจรบิณทบาตรเป็นระยะ ๆ หมู่บ้านที่อยู่แถบนั้นเขามีศรัทธาในพระธุดงค์ดีมาก พวกนี้อาศัยสัตว์ป่าเป็นอาหาร เพราะสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีมาก เวลาพักอยู่กับเขาได้รับความสะดวกแก่การบำเพ็ญมาก เขาไม่มารบกวนให้เสียเวลาเลย ต่างคนต่างอยู่และต่างทำหน้าที่ของตน ปรากฏว่าการเดินทางเป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น ทั้งทางกายและทางใจ จนถึงกรุงเทพ ด้วยความสวัสดี....
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 33 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    ท่านเข้าพักวัดปทุมวัน ท่านว่า การขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพกับภาคอีสาน
    ท่านขึ้นล่องเสมอ บางเที่ยวขึ้นรถไฟไปลงเอาที่สุดรถไฟไปถึง
    เพราะแต่ก่อนรถไฟยังไปไม่ถึงที่สุดทาง บางทีก็เดินธุดงค์ไปมาเรื่อย ๆ ก็มี
    เวลาที่ท่านพักและจำพรรษาที่วัดปทุมวัน ได้ไปศึกษาอรรถธรรมกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ
    วัดบรมนิวาศเสมอ ออกพรรษาแล้วหน้าแล้ง ท่านจ้าคุณอุบาลีจะไปเชียงใหม่
    ท่านเลยจะไปเที่ยวทางเชียงใหม่กับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ขณะนั่งรถไฟไปเชียงใหม่
    ท่านเล่าว่าท่านได้นั่งสมาธิภาวนาไปเรื่อย ๆ เกือบตลอดทาง มีพักนอนบ้างก็เวลา
    รถไฟออกจากกรุงเทพ ไปถึงลพบุรี พอถึงอุตรดิตถ์ รถจะเริ่มเข้าเขา
    ท่านก็เริ่มเข้าสมาธิภาวนาแต่บัดนั้นเป็นต้นไป จนจะถึงสถานีเชียงใหม๋จึงได้ถอนจิต
    ออกจากสมาธิ เพราะขณะจะเริ่มทำสมาธิภาวนา ท่านตั้งจิตไว้ว่าจะให้จิตถอน
    จากสมาธิต่อเมื่อรถไฟจะเข้าถึงตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ภาวนาต่อไป
    โดยมิได้สนใจกับอะไรอีก ขณะนั่งทำสมาธิไม่นาน ประมาณ 20 นาที
    จิตก็รวมลงสู่ความสงบถึงฐานของสมาธิอย่างเต็มที่ จากขณะนั้นแล้วก็ไม่ทราบว่า
    รถไฟวิ่งอยู่หรือไม่ มีแต่จิตที่แน่วลงสู่ความสงบระงับตัวจากสิ่งภายนอกทั้งปวง
    ไม่มีอะไรปรากฏ แม้ที่สุดกายก็ได้หายไปในความรู้สึก

    เป็นจิตที่ดับสนิทจากการรับรู้และรบกวนจากสิ่งต่าง ๆ เป็นเหมือนโลธาตุ
    ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ประหนึ่งได้ดับไปพร้อมกับความคิดปรุงแต่งและความสำคัญ
    รับรู้ต่าง ๆ ของขันธ์โดยสิ้นเชิง ขณะนั้น เป็นความรู้สึกว่ากายหายไป
    รถไฟและเสียงรถหายไป ผู้คนโดยสารในรถไฟหายไป ตลอดสิ่งต่าง ๆ
    ที่เคยเกี่ยวข้องกันกับจิตได้หายไปจากความรุ้สึกโดยสิ้นเชิง
    สิ่งที่เหลืออยู่ในเวลานั้นก็น่าจะเป็นสมาธิอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในขณะนั้น
    มิได้สำคัญตนว่าอยู่ในที่เช่นไร จิตทรงตัวอยู่ในลักษณะนี้ตลอดมา แต่
    20 นาทีแรกที่เริ่มเข้าสมาธิจนถึงชานเมืองเชียงใหม่จึงได้ถอนตัวออกมาเป็นปกติจิต
    ลืมตาขึ้นมองดูสภาพทั่วไป ก็พอดีเห็นตึกรามบ้านช่องขาวดาดาษไปทุกทิศทุกทาง
    จากนั้นก็เริ่มออกจากที่และเตรียมจะเก็บสิ่งของบริขาร มองดูผู้คนในรถรอบ ๆ ข้าง
    ต่างพากันมองมานัยน์ตาจับจ้องมองดูท่านอย่างพิศวงสงสัยไปตาม ๆ กัน
    รู้สึกจะเป็นที่ประหลาดใจของคนในรถไฟทั้งขบวนนับตั้งแต่เจ้าหน้าที่รถไฟลงมา
    ไม่น้อยเลย มาทราบได้ชัดเจนเตอนท่านจะขนสิ่งของบริขารลงจากรถ
    ขณะที่รถจะถึงที่เจ้าหน้าที่รถไฟต่างมาช่วยขนสิ่งของลงจากรถช่วยท่าน
    ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทั้งที่ไม่เคยรู้สึกกันมาก่อนเลย ทั้งคนโดยสาร
    และเจ้าหน้าที่รถไฟต่างยืนมองท่านจนวาระสุดท้ายอย่างไม่กระพริบตาไปตาม ๆ กัน
    แม้ก่อนจะลงจากรถก็มีเจ้าหน้าที่รถไฟและคนโดยสารถามท่านว่า ท่านอยู่วัดไหน
    และท่านจะเดินทางไปไหนต่อไป ท่านก็ได้ตอบว่า ท่านเป็นพระอยู่ตามป่า
    ไม่ค่อยมีหลักฐานวัดวาแน่นอนนัก และตั้งใจจะเที่ยววิเวกตามเขาแถบนี้
    เจ้าหน้าที่รถไฟและผู้โดยสารบางคนก็ถามท่านด้วยความเอื้อเฟื้อเลื่อมใสว่า
    ขณะนี้ท่านจะไปพักวัดไหน และมีผู้มารับหรือส่งหรือยัง ท่านแสดงความขอบคุณ
    เจ้าหน้าที่รถไฟ และเรียนว่ามีผู้มารับเรียบร้อยแล้ว เพราะท่านไปกับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
    ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง
    นับตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครลงมากถึงชาวบ้าน

    ขณะนั้นปรากฏว่ามีผู้คนพระเณรไปรอรับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ อยู่คับคั่ง
    แม้รถยนต์ซึ่งเป็นพาหนะหายากในสมัยนั้น แต่ก็ปรากฏว่ามีรถไปรอรับอยู่หลายคัน
    ทั้งรถข้าราชการและพ่อค้าประชาชน รับท่านเจ้าคุณจากสถานีรถไฟมายังวัดเจดีย์หลวง
    เมื่อประชาชนทราบว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ มาพักที่วัดเจดีย์หลวง
    จังหวัดเชียงใหม่ต่างก็พากันมากราบไหว้นมัสการยี่ยมและฟังโอวาทจากท่าน
    ในโอกาศที่ประชาชนมามากนั้น ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้อาราธนาพระอาจารย์มั่น
    เป็นองค์แสดงธรรมให้ประชาชนฟัง ปรากฏว่าท่านแสดงธรรมไพเราะเพราะพริ้ง
    จับใจท่านผู้ฟังมากมาย ไม่อยากให้จบลงง่าย ๆ เทศน์กัณฑ์นั้นทราบว่า
    ท่านเริ่มแสดงมาแต่ต้นอนุปุพพิกถาขึ้นไปเป็นลำดับจนจบลงในท่ามกลาง
    แห่งความเสียดายของพุทธศาสนิกชนที่กำลังฟังเพลิน พอเทศน์จบลงท่านลงมากราบพระเถระ
    แล้วหลีกอกไปหาที่พักผ่อนตามอัธยาศัย ขณะนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
    กล่าวชมเชยธรรมเทศนาสของท่านในท่ามกลางบริษัทว่า ท่านมั่นแสดงธรรมไพเราะมาก
    หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก และแสดงธรรมเป็นมุตโตทัย คือแดนแห่งความหลุดพ้น
    ที่ผู้ฟังไม่มีที่น่าเคลือบแคลงสงสัย นับว่าท่านแสดงได้อย่างละเอียดลออดีมาก
    แม้แต่เราเองก็ไม่สามารถแสดงได้ในลักษณะแปลก ๆ และชวนให้ฟังเพลินไปอย่างท่านเลย
    สำนวนโวหารของพระธุดงคกรรมฐานนี้แปลกมาก ฟังแล้วทำให้ได้ข้อคิดและเพลินไปตาม
    ไม่มีเวลอิ่มพอและเบื่อง่ายเลย ท่านเทศน์ในสิ่งที่เราเหยียบย่ำไปมาอยู่นี่แล
    คือสิ่งที่เราเคยได้เห็นเคยได้ยินอยู่เป็นประจำ แต่มิได้สนใจคิดและนำมาเป็นประโยชน์
    เวลาท่านเทศน์ผ่านไปแล้วถึงได้ระลึกได้ ท่านมั่นท่านเป็นพระกรรมฐานองค์สำคัญ
    ที่ใช้สติปัญญาตามทางมรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้จริง ๆ ไม่นำมาเหยียบย่ำ
    ทำลายให้กลายเป็นโลก ๆ เลว ๆ ไปเสียดังที่เห็น ๆ กัน
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 34 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    ท่านเทศน์มีบทหนักบทเบาและเน้นหนักลงเป็นตอน ๆ
    พร้อมทั้งคลีคลายความสลับซับซ้อนแห่งเนื้อธรรมที่ลึกลับ
    ซึ่งพวกเราไม่อาจแสดงออกมาได้อย่างเปิดเผย และสามารถแยกแยะธรรมานั้น ๆ
    ออกมาให้เราฟังได้อย่างถึงใจโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย นับว่าท่านฉลาดแหลมคมมาก
    ในเชิงเทศนา วิธีซึ่งหาตัวจับได้ยาก อาตมาแม้เป็นอาจารย์ท่าน
    แต่ก็ยกให้ท่านสำหรับอุบายต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถซึ่งมีอยู่เยอะแยะ
    เฉพาะท่านมั่นท่านสามารถจริง ๆ อาตมาเองยังเคยถามปัญหาข้อข้องใจ
    ที่ตนไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังกับท่าน แต่ท่านก็ยังสามารถแก้ได้
    อย่างคล่องแคล้วว่องไวด้วยปัญญา เราเองพลอยได้คติจากท่านไม่มีประมาณ
    อาตมาจะมาเชียงใหม่จึงได้นิมนต์ท่านมาด้วยซึ่งท่านก็เต็มใจมาไม่ขัดข้อง
    ส่วนใหญ่ท่านอาจเห็นว่าที่เชียงใหม่เรามีป่า มีภูเขามาก สะดวกแก่การแสวงหาที่วิเวก
    จึงได้ตกลงใจมากับอาตมาก็เป็นได้ เป็นแต่ท่านมิได้แสดงออกเท่านั้นเอง
    พระอย่างท่านมั่นเป็นพระที่หาได้ยากยิ่ง อาตมาแม้เป็นผู้ใหญ่กว่าท่าน
    แต่ก็เคารพเลื่อมใสธรรมของท่านอยู่ภายใน

    ท่านเองก็ยิ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่ออาตมามากจนละอายท่านในบางคราว
    ท่านพักอยู่ที่นี่พอสมควรก็จะออกแสวงหาที่วิเวกต่อไป อาตมาก็จำต้องปล่อย
    ตามอัธยาศัยของท่านไม่กล้าขัดใจ เพราะพระจะหาแบบท่านมั่นนี้หาได้ยากยิ่ง
    เมื่อท่านมีเจตนามุ่งต่อธรรมอย่างยิ่ง เราก็ควรอนุโมทนา
    เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ตนละประชาชนรวมถึงพระเณรในอนาคตอันใกล้นี้
    ท่านผู้ใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการอบรมภาวนาก็เชิญไปศึกษาไต่ถามท่าน
    จะไม่ผิดหวังแน่นอน แต่กรุณาอย่าไปขอ
    ตะกรุดวิชาคาถาอาคมอยู่ยงคงกะพันชาตรี
    ความแคล้วคลาดต่าง ๆ
    ที่ผิดทาง จะเป็นการไปรบกวนท่านให้ลำบากโดยมิใช่ทาง
    บางทีท่านอาจใส่ปัญหาเจ็บแสบเอาบ้างจะว่าอาตมาไม่บอก เพราะท่านมั่นมิใช่พระประเภคนั้น
    ท่านเป็นพระจริง ๆ และสั่งสอนคนให้เห็นผิดเห็นถูกเห็นชั่วเห็นดีและเห็นบาปเห็นบุญจริง ๆ
    มิได้สั่งสอนนอกลู่นอกทางไปจากคลองธรรม ท่านเป็นพระปฏิบัติจริงและรู้ธรรม
    ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้จริง ๆ

    เท่าที่ได้สนทนาธรรมกับท่านแล้วรู้สึกได้ข้อคิดอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งใคร ๆ
    ไม่อาจพูดได้อย่างท่านเลยเท่าที่ผ่านมาในสมัยปัจจุบัน อาตมาเคารพเลื่อมใสท่านมากภายในใจ
    โดยที่ท่านไม่ทราบว่าอาตมาเคารพ่ท่าน ถ้าท่านไม่ทราบด้วยญาณเองเพราะมิได้พูดให้ท่านฟัง
    ท่านเป็นพระที่น่าเคารพบูชาจริง ๆ และอยู่ในข่ายแห่ง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ
    ขั้นใดขั้นหนึ่งแน่นอนไม่สงสัย แต่ท่านเองมิได้แสดงตัวว่าเป็นพระที่ตั้งอยู่ในธรรมนั้น ๆ
    หากพอรู้ได้ในเวลาสนทนาธรรมกันโดยเฉพาะไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
    อาตมาเองเชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรมขั้นสามอย่างเต็มภูมิ ทั้งนี้ทราบ
    จากการแสดงออกแห่งธรรมที่ท่านรู้เห็น แม้ท่านจะไม่บอกภูมิที่บรรลุว่าภูมินั้น ๆ
    แต่ก็ทราบได้อย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะธรรมที่ท่านแสดงให้ฟังเป็นธรรมในภูมินั้น ๆ
    แน่นอน ไม่ผิดกับปริยัติที่แสดงไว้ ท่านเป็นพระที่มีความเคารถและจงรักภักดี
    ต่ออาตมามากตลอดมา ไม่เคยแสดงอากัปกิริยากระด้างวางตัวเย่อหยิ่งแต่อย่างใดให้เห็นเลย
    นอกจากวางตัวแบบผ้าขี้ริ้วซึ่งเห็นแล้วอดเลื่อมใสอย่างจับใจไม่ได้ทุก ๆ ครั้งไปเท่านั้น

    นี่เป็นคำของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กล่าวชมเชยพระอาจารย์มั่นในที่ลับหลัง
    ให้ญาติโยมและพระเณรฟัง กลังจากท่านแสดงธรรมจบลงแล้วหลีกไป
    พระที่ได้ยินคำชมเชยนี้แล้วนำไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านจึงนำเรื่องนี้มาเล่า
    ให้คณะลูกศิษย์ฟังเวลามีโอกาศดี ๆ

    ท่านพักอยู่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ พอสมควรแล้ว ก็กราบลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
    เพื่อไปเที่ยวแสวงหาที่วิเวกตามอำเภอต่าง ๆ ที่มีป่ามีเขามาก ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
    ก็อนุญาตตามอัธยาศัย ท่านเริ่มออกเที่ยวครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ทราบว่าท่านไปองค์เดียว
    จึงเป็นโอกาศอันเหมาะอย่างยิ่งที่ช่วยให้ท่านมีตนเพียงผู้เดียวในการบำเพ็ญเพียรอย่างสมใจ
    ที่หิวกระหายมานาน นับแต่สมัยที่อยุ่เกลื่อนกล่นกับหมู่คณะมาหลายปี เพิ่งได้มีเวลาเป็นของ
    ตนในคราวนั้น ทราบว่าท่านเที่ยววิเวกไปทางอำเภอแม่ริม เชียงดาว เป็นต้น
    เข้าไปพักในป่าในเขาตามนิสัย ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน การบำเพ็ญเพียรคราวนี้
    ท่านเล่าว่าเป็นความเพียรขั้นแตกหัก ท่านพร่ำสอนตนว่าคราวนี้จะดีหรือไม่ดี
    จะเป็นหรือตายจะต้องเห็นกันแน่นอน เรื่องอื่น ๆ ไม่มียุ่งเกี่ยวแล้ว
    เพราะความสงสารหมู่คณะและการอบรมสั่งสอนก็ทำได้เต็มความสามารถแล้ว
    ไม่มีทางสงสัย ผลเป็นประการใดก็เห็นประจักษ์มาบ้างแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้ว
    ที่จะสงสารตัวเองอบรมสั่งสอนตัวเอง ยกตัวเองให้พ้นจากสิ่งมืดมิดปิดบัง
    ที่มีอยู่ภายในให้พ้นไป ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่มีภาวะเกี่ยวข้องด้วยหมู่คณะ
    เป็นชีวิตที่เกลื่อนกล่นทนทุกข์จนเหลือทน แทบไม่มีเวลาปลีกตัวออกได้
    แม้จะมีสติปัญญาพอเป็นเครื่องพาหลบซ่อนผ่อนคลายความทุกข์ได้บ้างไม่เผาลนจนเกินไปก็ตาม
    แต่ก็จำต้องยอมรับว่าเป็นชีวิตที่กระเสือกกระสนอดทนต่อความทุกข์ร้อนอยู่นั่นเอง
    การบำเพ็ญก็น้อย ผลที่จะพึงได้รับก็นิดเดียว ไม่สมกับความเหนื่อยยากลำบากมานาน
    บัดนี้เป็นโอกาศที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ได้ปลีกตัวออกมาบำเพ็ญอยู่คนเดียวในสถานที่เปล่าเปลี่ยว
    ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด นี่คือชีวิตของบุคคลผู้เดียวไม่เกี่ยวเกาะ นี่คือสถานที่บำเพ็ญที่เป็น
    และที่ตายของบุคคลผู้ตัดความเยื่อใยทั้งภายในและภายนอกออกจากใจ
    มิให้มีสิ่งกังวลเศษเหลืออยู่พอเป็นเชื้อแห่งภพแห่งชาติอันเป็นที่ไหลมาแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
    ซึ่งจะตามมาบีบบังคับให้จำต้องทรมานต่อไปไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้

    นี่คือสถานที่ของผู้มีความเพียรตามติดเพื่อประชิดต่อสิ่งที่เคยก่อภพก่อชาติ
    อันเป็นจอมฉลาดทางปลิ้นปล้อนหลอกลวงให้พลอยหลงตามอยู่ภายในให้ขาดกระเด็น
    ไปจากใจในไม่ช้า อย่ามัวพะว้าพะวงกับสิ่งโน้นสิ่งนี้คนโน้นคนนี้
    อันเป็นเรื่องของเรือพ่วงที่เพียบไปด้วยภาระหนัก จะไปไม่ถึงไหนและใกล้จะอัปปาง
    ทั้งห่างเหินต่อฝั่งแห่งพระนิพพาน เมื่อถึงที่หมายตามใจหวังแล้ว
    ความเมตตาสงสารจะดับไปตามกิเลสความเห็นแก่ตัว ไม่เหลียวแลผู้ใดที่กำลังตกทุกข์
    ก็ขอให้รู้กันในวงแห่งความบริสุทธิ์ที่กำลังมุ่งมั่นหวั่นเกรงจะไม่ถึงอยู่เวลานี้
    ขณะนี้จงห่วงใยตัวเอง เมตตาตัวเอง ให้พอกับความหวังด้วยความเพียร
    ของผู้เป็นศิษย์พระตถาคตผู้ปรากฏเด่นทางความเพียรไม่ลดละและถอยกำลัง
    เราทราบหรือยังว่าเวลานี้เรามาทำความเพียรพยายามเพื่อข้ามโลกข้ามสงสาร
    มีพระนิพพานเป็นหลักชัย ไกลกังวลและพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
    ถ้าทราบแล้วประโยคพยายามของผู้จะข้ามโลกสมมติท่านดำเนินการอย่างไรบ้าง
    พระศาสดาผู้ทรงพาดำเนินและประกาศสอนธรรมไว้ท่านพาดำเนินและสอนไว้อย่างไรบ้าง
    ท่านสอนไว้ว่าพอรู้เห็นอรรถเห็นธรรมแล้วแล้วให้เริ่มห่วงนั้นห่วงนี่ลืมตัวหรืออย่างไร
    แรกเริ่มที่พระองค์ทรงประกาศพระศาสนาแก่หมู่ชน โดยมีพระองค์
    และพระสาวกไม่กี่องค์ที่ช่วยพุทธภาระให้เบาลง
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 35 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    โดยมีพระองค์และพระสาวกไม่กี่องค์ที่ช่วยพุทธภาระให้เบาลง
    และเพื่อศาสนาได้แพร่ไปในหมู่ชนกว้างขวางโดยรวดเร็ว ข้อนั้นควรอย่างยิ่ง
    สำหรับเราไม่เข้าในลักษณะนั้น จึงควรเห็นตนสำคัญในขณะนี้ เมื่อตนชอบยิ่งแล้ว
    ประโยชน์เพื่อผู้อื่นจะตามมาอย่างแยกไม่ออก นี่จัดว่าเป็นผู้รอบคอบและไม่เนิ่นช้า
    ควรนำมาขบคิดเพื่อเป็นคติแก่ตัวเรา เวลานี้เรากำลังเข้าอยู่ในสนามรบ
    เพื่อชิงชัยระหว่างกิเลสกับมรรคคือข้อปฏิบัติ เพื่อช่วงชิงจิตให้พ้น
    จากความเป็นสมบัติสองเจ้าของ มาครองเป็นเอกสิทธิ์แต่ผู้เดียว
    ถ้าความเพียรเย่อหย่อน ความฉลาดไม่พอ จิตก็จำต้องหลุดมือตกไปอยู่
    ในอำนาจของฝ่ายต่ำคือ กิเลส และพาให้เป็นวัฎฎจักรหมุนเพื่อความทุกข์ร้อน
    ไปตลอดอนันตกาล ถ้าเราสามารถด้วยความเพียรและความฉลาดแหลมคม

    จิตจำต้องมาอยู่ในเงื้อมมือและเป็นสมบัติอันล้นค่าของเราแต่ผู้เดียว
    คราวนี้เป็นเวลาที่เรารบรันฟันแทงกับกิเลสอย่างสะบั้นหั่นแหลก
    ไม่รีรอย่อหย่อนอ่อนกำลัง โดยเอาชีวิตเข้าประกัน ถ้าไม่ชนะก็ยอมตาย
    กับความเพียรโดยถ่ายเดียว ไม่ยอมถอยหลังพังทะลายให้กิเลสหัวเราะเยาะเย้ย
    ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายไปนาน ถ้าชนะเราก็ครองอิสระอย่างสมบูรณ์ไปตลอดกาล
    ทางเดินของเรามีทางเดียวเท่านี้ คือต้องต่อสู้จนถึงตายกับความเพียร
    เพื่อเอาชนะอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่นเป็นทางออกตัว เหล่านี้เป็นโอวาทที่ท่าน
    พร่ำสอนตัวเองให้เกิดความกล้าหาญ เพื่อชัยชนะอันเป็นความสมหวังดังใจหมายต่อไป

    ก็เป็นประโยตแห่งความเพียร ที่ดำเนินตามข้อบังคับแบบตายตัวทั้งกลางวันและกลางคืน
    ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่ขณะหลับเท่านั้น นอกนั้นเป็นความเพียรไปตลอดสาย
    สติกับปัญญาหมุนรอบความสัมผัสภายนอกและความคิดภายใน มีสติกับปัญญา
    เป็นผู้วินิจฉัยไต่สวนเรื่องที่เกิดกับใจ ไม่ยอมให้ผ่านไปได้ เพราะสติปัญญาขั้นนี้
    เป็นธรรมจักรหมุนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา

    ท่านเล่าความเพียรตอนนี้ผู้ฟังทั้งหลายต่างนั่งตัวแข็งเหมือนไม่มีลมหายใจไปตาม ๆ กัน
    เพราะเกิดความอัศจรรย์ในธรรมท่านอย่างสุดขีด เหมือนท่านเปิดประตูพระนิพพาน
    ออกให้ดู ทั้งที่ไม่เคยรู้ว่าพระนิพพานเป็นอย่างไรเลย แม้องค์ท่านเองก็ปรากฏว่ากำลัง
    เร่งฝีเท้าคือความเพียรเพื่อบรรลุพระนิพพานอย่างรีบด่วนอยู่เช่นกันในขณะนั้น
    หากแต่ธรรมที่ท่านเล่าเพียงขั้นกำลังดำเนินนั้นเป็นธรรมที่ผู้ไม่เคยได้ยินมาก่อน
    จะทรงตัวอยู่ไม่ได้ จำต้องไหวตามด้วยความอัศจรรย์อยู่โดยดี

    ท่านเล่าว่า จิตท่านทรงอริยธรรมขั้น 3 อย่างเต็มภูมิมานานแล้ว แต่ไม่มีเวลา
    เร่งความเพียรตามใจชอบ เพราะภาระกิจเกี่ยวกับหมู่คณะมีมากตลอดมา
    พอได้โอกาศคราวไปพักเชียงใหม่จึงได้เร่งความเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย
    และก็ได้อย่างใจหมายไปทุกระยะ สถานที่บรรยากาศก็อำนวย พื้นแพของจิต
    ที่เป็นมาดั้งเดิมก็อยู่ในขั้นเตรียมพร้อม สุขภาพทางร่างกายก็สมบูรณ์
    ควรแก่ความเพียรทุกอิริยาบท ความหวังในธรรมขั้นสุดยอด ถ้าเป็นตะวัน
    ก็กำลังทอแสงอยุ่แล้วทุกขณะจิต ว่าแดนพ้นทุกข์กับเราคงเจอกันในไม่ช้านี้
    ท่านเทียบจิตกับธรรมและกิเลสขั้นนี้เหมือนสุนัขไล่เนื้อ ตัวอ่อนกำลังเต็มที่แล้วเข้าสู่ที่จนมุม
    รอคอยแต่วาระสุดท้ายของเนื้อจะตกเข้าสู่ปากและบดเคี้ยวให้แหลกละเอียดอยู่เท่านั้น
    ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น เพราะเป็นจิตที่สัมปยุต (เกี่ยวข้อง.. ผมขอแทรกเพิ่มครับ)
    ด้วยมหาสติมหาปัญญาไม่มีเวลาพลั้งเผลอตัว แม้ไม่ตั้งใจจะระวังรักษา
    เนื่องจากเป็นสติปัญญาอัตโนมัติหมุนกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปโดยลำพังตนเอง
    เมื่อทราบเหตุผลแล้ว ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องมีการบังคับบัญชา
    เหมือนขั้นเริ่มแรกปฏิบัติ ว่าต้องพิจารณาสิ่งนั้น ต้องปฏิบัติต่อสิ่งนี้ อย่าเผลอตัวดังนี้
    แต่เป็นสติปัญญามีเหตุมีผลอยู่กับตัวอย่างพร้อมมูลแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผล
    หรืออุบายต่าง ๆ มาพร่ำสอนสติปัญญาขั้นนี้ให้ออกทำงาน เพราะในอิริยาบททั้งสี่
    เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นเวลาทำงานของสติปัญญาขั้นนี้ตลอดไป ไม่ขาดวรรคขาดตอน
    เหมือนน้ำซับซิมที่ไหลรินอยู่ตลอดหน้าแล้งหน้าฝน
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 37 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    วิ่งออกวิ่งเข้า แหวกว่ายผุดขึ้นดำลง ทั้งปลดทั้งปลง ทั้งปล่อยทั้งวางทั้งตัดทั้งฟัน
    ทั้งขยี้ทำลายสิ่งจอมปลอมทั้งหลายอย่างสุดกำลัง เหมือนปลาใหญ่สนุกแหวกว่าย
    หัวหางกลางตัวในทะเลหลวง ฉะนั้น จิตมองคืนไปข้างหลังที่ผ่านมาแล้ว
    เห็นแต่ความตีบตันมืดมิดและเต็มไปด้วยภัยนานาชนิดสุดที่จะรั้งรออยู่ได้
    ใจสั่นระริก ๆ เพื่อหาทางรอดพ้น มองไปข้างหน้าเห็นมีแต่ความสง่าผ่าเผย
    เว้งว้างไสวสุดความรู้ความเห็นที่จะพรรณาให้จบสิ้นลงได้และยากที่จะ
    นำมาเขียนลงเพื่อท่านได้อ่านอย่างสมใจ จึงขออภัยไว้ด้วยในตอนที่ไม่สามารถ
    นำมาลงซึ่งมีอยู่มากมายตามที่ท่านเล่าให้ฟัง

    ในเวลาไม่นานนักนับแต่ท่านออกรีบเร่งตักตวงความเพียรด้วยมหาสติมหาปัญญา
    ซึ่งเป็นสติปัญญาธรรมจักรหมุนรอบตัวเองและรอบสิ่งเกี่ยวข้องไม่มีประมาณตลอดเวลา
    ในคืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัด ท่านนั่งสมาธิอยู่ชายภูเขาที่มีหินพลาญกว้างขวางและเตียนโล่ง
    อากาศก็ปลอดโปล่งดี ท่านว่าท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวเพียงตามลำพังต้นเดียว
    มีใบดกหนาร่มเย็นดี ซึ่งในตอนกลางวันท่านก็เคยอาศัยนั่งภาวนาที่นั้นบ้างในบางวัน
    แต่ผู้เขียนจำชื่อต้นไม้และที่อยุ่ไม่ได้ว่า เป็นตำบล อำเภอและชายเขาอะไร
    เพราะขณะฟังท่านเล่าก็มีแต่ความเพลิดเพลินในธรรมท่านจนลืมคิดเรื่องอื่น ๆ ไปเสียหมด

    หลังจากฟังท่านผ่านไปแล้วก็นำธรรมที่ท่านเล่าให้ฟังไปบริกรรม
    ครุ่นคิดแต่ความอัศจรรย์แห่งธรรมนั้นถ่ายเดียวว่า ตัวเรานี้จะเกิดมาเสียชาติ
    และจะนำวาสนาแห่งความเป็นมนุษย์นี้ไปทิ้งลงในตนในโคลนที่ไหนหนอ
    จะมีวาสนาบารมีพอมีวันโผล่หน้าขึ้นมาเห็นธรรมดวงเลิศดังท่านหรือเปล่าก็ทราบไม่ได้
    ดังได้นำประวัติท่านมาลงอยู่ขณะนี้ นับแต่ตอนเย็นไปตลอดจนถึงยามดึกสงัด
    ของคืนวันนั้น ท่านว่าใจมีความสัมผัสรับรู้อยู่กับปัจจยาการ คืออวิชชาปัจจายาสังขาร
    เป็นต้น เพียงอย่างเดียว ทั้งเวลาเดินจงกรมในตอนหัวค่ำ ทั้งในเวลาเข้าที่ภาวนา
    จึงทำให้ท่านสนใจพิจารณาในจุดนั้นโดยมิได้สนใจกับหมวดธรรมอื่นใด
    ตั้งหน้าพิจารณาอวิชชาอย่างเดียวแต่แรกเริ่มนั่งสมาธิภาวนา
    โดยอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมาอยู่ภายในอันเป็นที่รวมแห่งภพชาติ กิเลส
    ตัณหามีอวิชชาเป็นตัวการ เริ่มแต่ 20 น. คือ 2 ทุ่มที่ออกจากทางจงกรมแล้วเป็นต้นไป

    ตอนนี้เป็นตนสำคัญมาก ในการรบของท่านระหว่างมหาสติ
    มหาปัญญาอันเป็นอาวุธคมกล้าทันสมัย กับอวิชชาซึ่งเป็นข้าศึก
    ที่เคยทรงความฉลาดในเชิงหลบหลีกอาวุธอย่างว่องไว
    แล้วกลับยิงตอบโต้ให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ยับเยินไม่เป็นท่า
    และครองตำแหน่งกษัตริย์วัฎฎจักรบนหัวใจสัตว์โลกต่อไปตลอดอนันตกาล
    ไม่มีใครกล้าต่อสู้กับฝีมือได้ ในขณะที่ต่อยุทธสงครามกันกับท่านพระอาจารย์มั่นในคืนวันนั้น
    ประมาณเวลาราวตี 3 ผลปรากฏว่า ฝ่ายกษัตริย์วัฎฎวจักร์ถูกสังหาร
    ทำลายบัลลังก์ลงอย่างพินาศขาดสูญ ปราศจากการต่อสู้และหลบหลีกใด ๆ ทั้งสิ้น
    กลายเป็นผู้สิ้นฤทธิ์ สิ้นอำนาจ สิ้นความฉลาดทั้งมวลที่จะครองอำนาจอยู่ต่อไป
    ขณะกษัตริย์อวิชชาดับชาติขาดภพลงไปแล้ว เพราะอาวุธสายฟ้าอันสง่าแหลมคมของท่านสังหาร

    ท่านว่าขณะนั้นเหมือนโลกธาตุหวั่นไหว เสียงเทวบุตร เทวธิดาทั่วโลกธาตุ
    ประกาศก้องสาธุการเสียงสะเทือนสะท้านไปทั่วพิภพ ว่าศิษย์พระตถาคต
    ปรากฏขึ้นในโลกอีกองค์หนึ่งแล้ว พวกเราทั้งหลายมีความยินดีและเป็นสุขใจกับท่านมาก
    แต่ชาวมนุษย์คงไม่มีโอกาศทราบว่าธรรมประเสริฐในดวงใจเกิดขึ้น
    ในแดนมนุษย์เมื่อสักครู่นี้เอง พอขณะอัศจรรย์กระเทือนโลกธาตุผ่านไป
    เหลือแต่วิสุทธิธรรมภายในอันเป็นธรรมชาติแท้ซึ่งแผ่ซ่านไปทัวสรรพางค์ร่างกายและจิตใจ
    แผ่กระจายไปทั่วโลกธาตุในเวลานั้น ทำให้ท่านเกิดความแปลกประหลาด
    และอัศจรรย์ตัวเองมากมาย จนไม่สามารถาจะบอกกับใครได้ ที่เคยมีเมตตา
    ต่อโลกและสนใจจะอบรมสั่งสอนหมู่คณะและประชาชนมาแต่ดั้งเดิม
    เลยกลับกลายหายสูญไปหมดเพราะความเห็นธรรมภายในใจว่าเป็นธรรม
    ละเอียดและอัศจรรย์จนสุดวิสัยของมนุษย์จะรู้เห็นตามได้ และเกิดความท้อใจ
    จนกลายเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่คิดจะสั่งสอนใครต่อไปในขณะนั้น
    คิดจะเสวยธรรมอัศจรรย์ในท่ามกลางโลกสมมติแต่เพียงผู้เดียว
    ใจหนักไปทางรำพึงรำพันถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูทรงรู้จริงเห็นจริง
    และสั่งสอนเวไนยเพื่อวิมุตติหลุดพ้นจริง ๆ ไม่มีคำโกหกหลอกลวงแฝงอยู่ในพระโอวาท
    แม้บทเดียวบาทเดียวเลย แล้วกราบไหว้บูชาพระคุณท่านไม่มีเวลาอิ่มพอตลอดทั้งคืน
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 38 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    แล้วกราบไหว้บูชาพระคุณท่านไม่มีเวลาอิ่มพอตลอดคืน จากนั้นก็คิดเมตตาสงสาร
    หมู่ชนเป็นกำลังที่เห็นว่าสุดวิสัยที่จะสั่งสอนได้ โดยถือเอาความบริสุทธิ
    และความอัศจรรย์ภายในใจมาเป็นอุปสรรค ว่าธรรมนี้มิใช่ธรรมของคนมีกิเลส
    จะครองได้ ถ้าสั่งสอนใครก็เกรงว่าจะถูกหาว่าบ้า ว่าไปหาเรื่องอะไรมาสั่งสอนกัน
    คนดี ๆ มีสติสตังอยู่บ้างเขาจะไม่นำเรื่องทำนองนี้มาสอนกันดังนี้กันทั่วโลก
    จะไม่มีใครอยากรู้เห็นตามได้พอเป็นพยานให้เกิดกำลังใจในการสั่งสอน
    นอกจากอยู่ไปคนเดียวอย่างนี้พอถึงวันตายเท่านั้น ก็พอแล้วกับความหวังที่อุสาห์
    เสาะแสวงมาเป็นเวลานาน อย่าหาเรื่องร้ายใส่ตัวเองเลย จะกลายเป็นว่าทำคุณกลับได้โทษ
    โปรดสัตว์กลับได้บาปไปเปล่า ๆ นี่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นกับท่านขณะได้ค้นพบ
    อัศจรรย์ใหม่ ๆ ยังมิได้คิดอะไรให้กว้างขวางออกไป พอมีทางเชื่อมโยง
    ถึงการอบรมสั่งสอนตามแนวศาสนธรรมที่พระศาสดาพาดำเนินมา ในวาระต่อมา
    ค่อยมีโอกาศทบทวนธรรมที่รุ้เห็นและปฏิปทาเครื่องดำเนิน ตลอดตัวเองที่รู้เห็นธรรม
    อยู่ขณะนั้นว่า ก็เป็นมนุษย์เดินดินกินผักกินหญ้าเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป
    ไม่มีอะไรพิเศษแตกต่างกันพอจะเป็นบุคคลพิเศษสามารถอาจรู้เฉพาะผู้เดียว

    ส่วนผู้อื่นไม่สามารถ ทั้งที่มีอำนาจวาสนาสามารถรู้ดได้อาจมีอยู่เป็นจำนวนมาก
    จึงเป็นความคิดเห็นที่เหยียบย่ำทำลายอำนาจวาสนาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
    เพราะความไม่รอบครอบกว้างขวางซึ่งไม่เป็นธรรมเลย เพราะปฏิปทาเครื่องดำเนิน
    เพื่อมรรคผลนิพพานพระศาสนดามิได้ประทานไว้เฉพาะผู้เดียว แต่ประทานไว้
    เพื่อโลกมั้งมวล ทั้งก่อนและหลังการเสด็จปรินิพพาน ผู้ตรัสรู้มรรคผลนิพพาน
    ตามพระองค์ด้วยปฏิปทาที่ประทานไว้มีจำนวนมหาศาลเหลือที่จะนับจะประมาณ
    มิได้มีเฉพาะเราคนเดียวที่กำลังมองข้ามโลกว่าไร้สมรรถภาพอยู่เวลานี้ พอพิจารณา
    ทบทวนทั้งเหตุและผลทั้งต้นและปลายแห่งพระโอวาทที่ประกาศปฏิปทาทางดำเนิน
    เพื่อมรรคเพื่อผล ว่าเป็นธรรมสมบูรณ์สุดส่วนควรแก่สัตว์โลกทั่วไปไม่ลำเอียง
    ต่อผู้หนึ่งผู้ใดที่ปฏิบัติชอบอยู่ จึงทำให้เกิดความหวังที่จะสงเคราะห์ผู้อื่นขึ้นมา
    มีความพอใจที่จะอบรมสั่งสอนแก่ผู้มาเกี่ยวข้องอาศัยเท่าที่จะสามารถทั้งสองฝ่าย
    แต่การแสดงธรรมผู้แสดงต้องมีความเคารพต่อธรรม ไม่แสดงแก่บุคคลไม่มีความ
    เคารพและไม่สนใจที่จะฟัง ขณะฟังมีผู้ส่งเสี่ยงอื้ออึง ไม่สนใจว่าธรรมมีคุณค่าเพียงไร
    ขณะนี้เป็นเวลาเช่นไรและกำลังอยู่ในสถานที่เช่นไร

    ควรจะใช้กิริยามารยาทอย่างใดจึงจะเหมาะสมกับกรณีเห็นเป็นธรรมดา ๆ
    แบบโลกที่เห็นธรรมมาจนจำเจ ชินชาต่อวัด ชินชาต่อพระ ชินชาต่อธรรม
    เหมือนสิ่งธรรมดาทั่วไป อย่างนี้ก็แสดงไม่ลง เราก็เป็นโทษ ผู้ฟังก็ไม่ได้รับประโยชน์
    ที่ควรจะได้ กว่าจะได้ธรรมมาแสดงก็แทบกระอักเลือดตายอยู่กลางป่ากลางเขาอยู่แล้ว
    เพราะความพยายามตะเกียกตะกายสุดกำลัง แถมยังนำธรรมมาละลายกับน้ำทะเลเสียอีก
    ซึ่งมีที่ไหน ท่านพากันทำสืบมา พอจะไม่คิดคำนึงบ้างสำหรับสมณะซึ่งเป็นเพศที่ใคร่ครวญ
    แม้แต่กะปิเขายังรู้จักที่ที่ควรละลาย ธรรมมิใช่กะปิจึงควรพิจารณาด้วยดีก่อน
    จะนำออกทำประโยชน์ มิฉะนั้นจะกลายเป็นโทษโดยไม่รู้สึกและไม่มีอะไรสำคัญในโลกเลย
    การแสดงธรรมก็เพื่ออนุเคราะห์โลก เหมือนหมอวางยาแก่คนไข้เพื่อหายโรคและทุกขเวทนา
    หวังความอยู่สบายเป็นผล ถ้าเขาไม่สนใจอยากฟังก็จะไปกระวนกระวายแสดงธรรม
    หาประโยชน์อะไร ถ้าเรามีธรรมในใจจริง อยู่คนเดียวก็สบายใจพอแล้ว ไม่จำต้องไป
    แสวงหาเพื่อนหรือใคร ๆ มาคุยด้วยเพื่อแก้รำคาญหรือบรรเทาทุกข์เพราะความ
    อยากเทศน์อยากคุยซึงเป็นการเสริมทุกข์แก่ตัวเปล่า ๆ ผู้ทรงธรรมในลักษณะ
    เช่นนั้นก็เป็นเพียงชือเท่านั้น ไม่เป็นความจริงใจในธรรมอย่างแท้จริง
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    คำเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริภัตตะเถระ

    ครั้งที่ 39 รวบรวมโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    (ต่อจากที่แล้ว)ในธรรมอย่างแท้จริง ที่ว่ารู้ธรรมเห็นธรรมดังพระพุทธเจ้า
    และพระสาวกทรงรู้เห็นสำหรับผมเอง (หลวงตามหาบัว)อยู่คนเดียวเป็นความสนิทใจ
    ว่าได้ปรับตัวทั้งกายและใจได้ดีพอ เพราะผู้มีธรรมก็คือผู้ไม่กระเพื่อมคะนองทางใจนั่นเอง
    ธรรมคือความสงบ ใจที่มีธรรมบรรจุอยู่ก็คือใจดวงสงบระงับจากเรื่องทั้งปวงนั่นแล
    ด้วยความรู้สึกประจำใจอย่างนี้แล จึงชอบอยู่แต่ป่าแต่เขาประจำนิสัย เพราะเป็นที่ให้
    ความสุขทางวิหารธรรมได้ดีกว่าที่ทั้งหลาย การสงเคราะห์โลกเป็นกรณีพิเศษที่มีเป็นบางกาล
    ไม่ถือเป็นความจำเป็นเสมอไป ดังสุขวิหารธรรมที่ควรทำให้มีอยู่เสมอในเวลาขันธ์ยังครองตัวอยู่
    ไม่เช่นนั้นจะไม่สะดวกในการครองตัว ธรรมเมื่อมีอยู่กับเรา เราก็รู้ เห็นอยู่ ทรงอยู่
    จะกระวนกระวายไปไหน ซึ่งล้วนเป็นการแส่หาทุกข์ทั้งนั้น ธรรมอยู่ที่ไหนความสงบสุขก็อยู่ที่นั่น
    ตามหลักธรรมชาติแล้วธรรมนั้นอยู่ที่ใจของผู้ปฏิบัติธรรม ความสงบสุขจึงมักเกิดขึ้นที่นั่น
    ที่อื่นไม่มีทางเกิดความสงบสุขได้ การแสดงธรรมผมระวังเอานักเอาหนา
    ไม่แสดงแบบสุ่มสี่สุ่มห้า การปฏิบัติธรรมก็มิได้ปฏิบัติแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ปฏิบัติอย่างมีกฏเกณท์
    มีข้อบังคับ มีระเบียบแบบแผนตำราพาดำเนิน เวลารู้ก็มิได้รู้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า

    แต่รู้ตามหลักความจริง ตามความสามารถมากน้อยเพียงไร พระนักปฏิบัติจึงควรระวัง
    และสำนึกตัวอยู่เสมอว่า เรามิใช่พระสุ่มสี่สุ่มห้า แต่เป็นพระที่มีระเบียบธรรมวินัย
    คือองค์แทนของพระศาสดาเป็นเครื่องปฏิบัติดำเนิน ความสงบเสงี่ยมเจียมตัว
    ระวังกายวาจาใจมิให้เคลื่อนไปในทางผิดนั่นแลคือพระที่ทรงมรรค ทรงผล ทรงธรรม ทรงวินัย
    จะสามารถทรงตนได้ดีทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่เสื่อมเสีย ท่านว่า ท่านพูดถึงการแสดงธรรม
    แล้วก็ย้อนมาหาธรรมในกายอีกว่า ขณะที่ธรรมแสดงขึ้นกับใจอย่างเต็มที่โดยมิได้คิดอ่าน
    ไตร่ตรองไว้ก่อนนั้นเลย เป็นขณะที่ผิดคาดผิดหมายและสุดวิสัยที่จะคาดคะเน
    หรือด้นเดาให้ถูกกับความจริงของธรรมจริง ๆ ได้รู้สึกเหมือนเราตายแล้วเกิดชาติใหม่
    ขึ้นมาในขณะนั้น ซึ่งเป็นการตายการเกิดที่อัศจรรย์ไม่มีอะไรจะเทียบได้
    ความรู้ที่เปลี่ยนตัวขึ้นมาที่ว่าเกิดใหม่นี้เป็นความรู้ที่ไม่เคยพบเคยเห็นทั้ง ๆ
    ที่มีอยู่กับตัวมาดั้งเดิม แต่เพิ่งมีมาปรากฏอย่างตื่นเต้นและอัศจรรย์เหลือประมาณเอาขณะนั้นเอง
    จึงทำให้เกิดความคิดเห็นไปต่าง ๆ ซึ่งออกจะนอกลู่นอกทางไปบ้าง ตอนคิดว่า
    ไม่มีทางที่จะสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามได้ เพราะธรรมนี้สุดวิสัยที่ใคร ๆ จะรู้ได้ดังนี้

    ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านมีนิสัยผาดโผนมาดั้งเดิมนับแต่เริ่มออกปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ
    ดังที่เรียนแล้ว แม้ขณะจิตจะเข้าถึงจุดอันเป็นวาระสุดท้ายก็ยังแสดงลวดลาย
    ให้องค์ท่านเองระลึกอยู่ไม่ลืม ถึงกับได้นำมาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาฟังพอเป็นขวัญใจ
    คือ พอจิตพลิกคว่ำวัฏฏจักรออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังแสดงขณะเป็นลักษณะ
    ฉวัดเฉวียนเวียนรอบตัววิวัฏฏจิตถึงสามรอบ รอบที่หนึ่งสิ้นสุดลงแสดงบทบาลีขึ้นมาว่า
    "โลโป"บอกความหมายขึ้นมาพร้อมว่า ขณะใหญ่ของจิตที่สิ้นสุดลงนั้น คือการลบ
    สมมติทั้งสิ้นออกจากใจ รอบที่สองสิ้นสุดลงแสดงคำบาลีขึ้นมาว่า "วิมุตติ" บอกความหมายว่า
    ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้น คือความหลุดพ้นอย่างตายตัว รอบที่สามสิ้นสุดลง
    แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า "อนาลโย" บอกความหมายขึ้นมาว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่
    สิ้นสุดลงนั้น คือการตัดอาลัยอาวรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นเอกจิต เอกธรรม จิตแท้ ธรรมแท้มีอันเดียว
    รู้ได้เพียงครั้งเดียว ไม่มีสองมีสามมาสืบต่อสนับสนุนกัน พระพุทธเจ้าและพระสาวก
    ล้วนแล้วแต่รู้เพียงครั้งเดียวก็เป็นเอกจิตเอกธรรมโดยสมบูรณ์ ไม่แสวงเพื่ออะไรอีก
    สมมตติภายในก็คือขันธ์ก็คือขันธ์ล้วน ๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยและทรงตัวอยู่ตามปกติเดิม
    ไม่มีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามความตรัสรู้
     

แชร์หน้านี้

Loading...