รักษาไว้ไม่ให้อันตรธาน - การพิจารณาศรัทธาล้ำปัญญาหรือไม่?

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย siratsapon, 18 กรกฎาคม 2016.

  1. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอโอกาสขออนุญาต อธิบายเรื่องการตรวจสอบว่าเราอยู่ในอาการของศรัทธาล้ำปัญญาหรือไม่? โดยจะประกอบพระสูตรแทรกเข้าไป และจะบอกถึงวิธีประยุกต์ใช้ได้อย่างไร...

    การจะสำรวจใจตัวเองว่าเป็นผู้มีศรัทธามากไปจนขาดปัญญาหรือเปล่านั้น ขอแนะนำวิธีให้ทำการตรวจสอบอย่างเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

    ๑. หาเรื่องที่กำลังศรัทธา : อันดับแรกเราจะต้องดูให้รู้เสียก่อนว่า เรากำลังศรัทธาในเรื่องอะไรอยู่ หรือกำลังศรัทธาใครอยู่ และดูว่าเราศรัทธาอย่างไร หลังจากศรัทธาแล้ว เราได้มีพฤติกรรมพูด ทำ คิดที่แสดงออกมาอย่างไร เพราะหากไม่รู้แล้ว ก็ยากที่จะนำไปตรวจสอบว่าเป็นการศรัทธามากไปจนขาดปัญญาหรือไม่? เหมือนกับเราต้องการที่จะแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะต้องรู้เสียก่อนว่าอาการของปัญหาเป็นอย่างไร และหัวข้อปัญหานั้นคืออะไร

    ๒. ตรวจสอบเรื่องที่ศรัทธา : ข้อนี้เป็นขั้นตอนสืบเนื่องจากข้อแรก โดยหลังจากทำข้อแรก "หาเรื่องที่กำลังศรัทธา" เรียบร้อยแล้ว เราก็นำเรื่องที่กำลังศรัทธา บุคคลที่เราศรัทธา พฤติกรรมการพูด ทำ คิดที่แสดงออกมาหลังจากเกิดศรัทธาแล้วประการต่างๆ มาตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้ ซึ่งเมื่อตรวจสอบเทียบเคียงแล้ว เรื่องที่เรากำลังศรัทธาอยู่ ไม่ตรงกับพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า หรือบุคคลที่กำลังศรัทธาไม่ตรงกับบุคคลที่ควรศรัทธา หรือพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ การพูด การทำ การคิดที่แสดงออกมาเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร เกินเลยไป นั่นแสดงว่าเรากำลังศรัทธามากเกินไปจนขาดปัญญาเสียแล้ว

    ๓. แก้ไขเรื่องที่ศรัทธา : ข้อนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากเราตรวจสอบเทียบเคียงเสร็จแล้ว และรู้ว่าเรากำลังศรัทธาในเรื่องที่ไม่ควรศรัทธาอยู่ หรือเรากำลังศรัทธาบุคคลที่ไม่ควรอยู่ หรือเรากำลังกระทำพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ การพูด การทำ การคิดที่ไม่เหมาะไม่ควรเกินเลยไป เราก็ทำการแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดย

    - หากเราศรัทธาเรื่องที่ไม่ควรศรัทธา : ให้เราเลิกศรัทธาเรื่องดังกล่าวเสียด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้หมั่นทบทวนถึงพระธรรมวินัยที่ได้บอกว่าทำไมเรื่องนี้ถึงไม่ควรศรัทธา, ไปเข้าหานั่งใกล้บุคคลที่นำไปในเรื่องที่ควรศรัทธาแทน, ไปพูด-ทำ-คิดในแง่มุมของเรื่องที่ควรศรัทธาแทน เป็นต้น

    - หากเราศรัทธาบุคคลที่ไม่ควรศรัทธา : ให้เราเลิกศรัทธาบุคคลนั้นๆ เสีย เช่น อาจจะห่างๆ ไป ไม่ยุ่งเกี่ยวหากไม่จำเป็นจริงๆ และหากจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวก็ควรจะควบคุมกาย วาจา ใจให้ดี เป็นต้น

    - หากเรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกินเลยไป : ให้เราเลิกพฤติกรรมที่เกินเลยไปเสีย หันมาทำพฤติกรรมที่เหมาะสมแทน เช่น ทำทานโดยไม่ให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น, ทำทานโดยอธิษฐานพระนิพพาน เพื่อละกิเลส ไม่ใช่เพื่อลาภยศ สรรเสริญ เป็นต้น
     
  2. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
    ตัวอย่างเรื่อง หรือความเห็นที่ควรศรัทธา และไม่ควรศรัทธา
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
    [๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
    ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล
    ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล
    สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล
    ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี
    โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี
    บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
    สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
    ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง
    เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี...นี้มิจฉาทิฐิ ฯ

    ความเห็นข้างต้นเหล่านี้ เป็นระดับโลกียะ จัดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรศรัทธา หากใครก็ตามมาสอนเราให้เชื่อไปในแนวนี้ ขออย่าได้เชื่อ หรือหากเรามีศรัทธา หรือเชื่อไปอย่างนี้ขอให้แก้ไขเสีย หรือหากเรามีพฤติกรรมที่ตอบสนองความเชื่อเหล่านี้ขอให้เลิกเสียเช่นกัน เช่น มีพฤติกรรมไม่ยอมทำทาน ดูถูกคนทำทาน ขอให้เลิกเสีย กลับใจมาเป็นผู้ทำทาน สรรเสริญผู้ทำทานอย่างมีปัญญาแทน เป็นต้น ตรงนี้ยังรวมไปถึงให้เลิกเชื่อคำสอนที่สอนไม่ตรง สอนบิดเบือนกับพระพุทธเจ้าด้วย

    [๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล
    ยัญที่บูชาแล้ว มีผล
    สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล
    ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว
    มีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี
    สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์
    ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
    ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง
    เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่
    นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ


    จาก : พระไตรปิฎก (ไทย) ฉบับหลวง 45 เล่ม - เล่มที่ 14 - หน้า 145

    ความเห็นข้างต้นเหล่านี้ เป็นระดับโลกียะ จัดว่าเป็นเรื่องที่ควรศรัทธา หากใครก็ตามมาสอนเราให้เชื่อไปในแนวนี้ ขอให้เชื่อได้ และหากเรามีศรัทธา หรือเชื่อไปอย่างนี้อยู่ ขอให้เชื่อต่อไป และเพิ่มเติมเหตุผลไปอีกว่า ทำไมเราถึงเชื่อ เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นจริงควรเชื่อถืออย่างไร มีหลักฐานอย่างไร ควรมีพฤติกรรมการทำ พูด คิดอย่างไรแค่ไหนถึงจะเหมาะสม ตรงนี้ยังรวมไปถึงให้มาเชื่อคำสอนที่สอนตรง สอนไม่บิดเบือนกับพระพุทธเจ้าด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 กรกฎาคม 2016
  3. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
    ตัวอย่างบุคคลที่ไม่ควรสมาคม, ไม่ควรคบ, ไม่ควรเข้าใกล้, ควรเกลียด, ควรเฉยๆ เสีย
    และบุคคลที่ควรสมาคม, ควรคบ, ควรเข้าไกล้, ควรสักการะเคารพ
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

    ติกนิทเทส
    . . . . . . . . . .
    [๙๙] บุคคลไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เสื่อมจากศีล จากสมาธิ จากปัญญา
    บุคคลเห็นปานนี้ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ควรเว้นจากความ
    เอ็นดู เว้นจากความอนุเคราะห์

    บุคคลควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เสมอกันด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
    บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า
    ศีลกถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล จักมีแก่เรา
    ทั้งหลาย ทั้งกถานั้น จักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไป
    แก่เราทั้งหลาย [คือจักไม่เดือดร้อน] สมาธิกถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความ
    เป็นผู้เสมอกันด้วยสมาธิ จักมีแก่เราทั้งหลาย ทั้งกถานั้นจักเป็นความผาสุกแก่เรา
    ทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไปแก่เราทั้งหลาย [คือจักไม่เดือดร้อน] ปัญญา
    กถาของสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยปัญญา จักมีแก่เราทั้งหลาย
    ทั้งกถานั้นจักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไปแก่เราทั้งหลาย
    [คือจักไม่เดือดร้อน] เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควร
    เข้าใกล้

    บุคคลที่ควรสักการะเคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้ เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งด้วยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้
    ควรสักการะเคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า
    เราจักได้บำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือเราจักถือเอาตาม ซึ่ง
    ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ เราจักได้บำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่
    บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือเราจักได้ถือเอาตามซึ่งสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาใน
    ที่นั้นๆ เราจักได้บำเพ็ญซึ่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือเราจัก
    ได้ถือเอาตามซึ่งปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น
    บุคคลเห็นปานนี้ ควรสักการะเคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้

    [๑๐๐] บุคคลควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควร
    เข้าใกล้ เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ผู้ประกอบด้วย
    กายกรรมเป็นต้น อันไม่สะอาด และมีสมาจารอันผู้อื่นหรือตนพึงระลึกได้ด้วย
    ความระแวง ผู้มีการงานอันปกปิด ผู้มิใช่สมณะแต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
    มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณตนว่าประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เน่าใน ผู้อัน
    ราคะชุ่มแล้ว ผู้รุงรัง บุคคลเห็นปานนี้ควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่
    ควรเข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าถึงแม้บุคคลผู้คบจะไม่เอาอย่างบุคคลนี้
    แต่กิตติศัพท์อันลามก ก็ย่อมฟุ้งขจรไปสู่บุคคลผู้คบนั้นว่าบุคคลผู้เป็นบุรุษมีมิตรชั่ว
    มีสหายชั่ว คบคนชั่ว ดังนี้ งูที่เปื้อนคูถ ถึงจะไม่กัดคน ก็จริง ถึงอย่างนั้น ย่อม
    เปื้อนบุคคลนั้น ชื่อแม้ฉันใด ถึงบุคคลผู้คบนั้น จะไม่เอาอย่างบุคคลเช่นนี้ก็จริง
    ถึงอย่างนั้น กิตติศัพท์อันลามก ย่อมฟุ้งไปแก่บุคคลนั้นว่า บุคคลผู้เป็นบุรุษ
    มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว คบคนชั่ว ดังนี้ เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงควร
    เกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้

    บุคคลที่ควรเฉยๆ เสีย ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้า
    ใกล้ เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกเขา
    ว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ
    ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ชอบใจ
    ให้ปรากฏ เหมือนแผลเรื้อรัง ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบ ย่อมมีน้ำเลือด
    น้ำหนองไหลออกมากมาย ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ
    มากไปด้วยความคับแค้น ถูกเขาว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ
    ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษ-
    *ร้ายและอาการไม่ชอบใจให้ปรากฏ ก็ฉันนั้น ใบมะพลับแห้งถูกไม้หรือ
    กระเบื้องกระทบแล้ว ย่อมมีเสียงดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะเกินประมาณ ชื่อแม้ฉันใด
    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้น ถูกเขาว่าแม้
    เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง
    ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ชอบใจให้ปรากฏ ก็ฉัน
    นั้น หลุมคูถ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบ ย่อมมีกลิ่นเหม็นเกินประมาณ ชื่อแม้
    ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้น ถูกเขา
    ว่าเพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง
    ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ชอบใจ ให้ปรากฏก็ฉัน
    นั้น บุคคลเห็นปานนี้ควรวางเฉยเสียไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้
    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าเขาจะพึงด่าเราบ้าง พึงบริภาษเราบ้าง พึงกระทำ
    ความฉิบหายแก่เราบ้าง เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรวางเฉยเสีย ไม่ควร
    สมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้

    บุคคลควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลเห็นปานนี้
    ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าถึงแม้ว่า
    บุคคลผู้คบ จะไม่เอาอย่างบุคคลเห็นปานนี้ แต่กิตติศัพท์อันงามก็ย่อมฟุ้งขจรไป
    สู่บุคคลผู้คบนั้นว่า บุคคลผู้เป็นบุรุษ มีมิตรดี มีสหายดี คบคนดีดังนี้ เพราะ
    ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้


    ที่มา : พระไตรปิฎก (ไทย) ฉบับหลวง 45 เล่ม - เล่มที่ 36 - หน้า 124

    พระสูตรข้างต้นที่ได้แสดงไป ทำให้เห็นแล้วว่าเราจะพิจารณาตรวจสอบได้อย่างไรว่าบุคคลที่เราศรัทธาอยู่แท้จริง เราควรศรัทธาหรือไม่อย่างไร หากพิจารณาตรวจสอบดูแล้วเป็นบุคคลที่เราไม่ควรศรัทธา ก็ให้ทำการห่างๆ เสีย ไม่คบหาเสีย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เราควรศรัทธา เราก็ศรัทธาต่อไป ซึ่งเมื่อศรัทธาบุคคลที่ควรศรัทธา ในเรื่องที่ควรศรัทธาแล้ว เราจะต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมหลังจากศรัทธาด้วย ซึ่งจะขอแสดงให้เห็นถึงหลักในการตรวจสอบพฤติกรรมว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างกว้างๆ ดังต่อไปนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 กรกฎาคม 2016
  4. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
    ตัวอย่างในการพิจารณาว่าพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ พูด ทำ คิดเหมาะสมหรือไม่?
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

    เรื่องพระราหุล

    ด้านกาย

    “ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมนั้นเธอพึงพิจารณา เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ดูกรราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่าเราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกายโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำด้วยกาย.

    แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรมด้วยกาย เธอก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแหละว่า เรากำลังทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกกายกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มกายกรรมเห็นปานนั้น.

    ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยกายแล้ว เธอก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแหละว่าเราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกายกรรมใดกายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กายกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ในพระศาสนา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลายผู้วิญญู แล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างและเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ด้วยกายกรรมนั้นแหละ”

    ด้านวาจา

    “ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา เธอพึงพิจารณาวจีกรรมนั้นเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้างเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างและเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรมีสุขเป็นผลดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ.

    ดูกรราหุล แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรมด้วยวาจา เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไรมีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกวจีกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่าเราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรมีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มวจีกรรมเห็นปานนั้น.

    ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยวาจาแล้ว เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้างวจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผยทำให้ตื้น ในพระศาสนาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้วิญญู ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้างวจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยวจีกรรมนั้นแหละ.”

    ด้านใจ

    “ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ เธอพึงพิจารณามโนกรรมนั้นเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ มโนกรรมเห็นปานนี้ เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนบ้างเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรมีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ มโนกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ.

    ดูกรราหุล แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรมใดด้วยใจ เธอก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแหละว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกมโนกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มมโนกรรมเห็นปานนั้น.

    ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมใดด้วยใจแล้ว เธอก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำกรรมใดด้วยใจแล้วมโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำได้แล้วซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงกระดาก ละอายเกลียดในมโนกรรมเห็นปานนั้น ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่าเราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรมีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยมโนกรรมนั้นแหละ.ฯ”


    ที่มา : พระไตรปิฎก (ไทย) ฉบับหลวง 45 เล่ม - เล่มที่ 13 - หน้า 104


    พระสูตรข้างต้นนี้ สามารถนำไปประยุกต์ตรวจสอบได้หลายอย่าง เช่น เวลาเราจะทำทาน เราก็ดูว่าเป็นการทำทานที่เบียดเบียนตนเองหรือไม่ เป็นการทำทานแล้วยิ่งเกิดกิเลส คือ มีความโลภยึดติดถือมั่นในลาภ ยศ สรรเสริญเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า หากเป็นการทำทานที่เบียดเบียนตนเองอย่างนี้ เราก็ไม่ควรทำ เป็นต้น

    นอกเหนือไปจากพระสูตรที่กล่าวมาทั้งหมดยังมีพระสูตรต่างๆ อีกมากมาย ที่เราจะนำมาประยุกต์ปฏิบัติเพื่อใช้ตรวจสอบว่าเรามีศรัทธามากไปจนขาดปัญญาหรือไม่ หากสนใจลองค้นหาเพิ่มเติมได้ เช่น ในเรื่องศีล, คนพาล-บัณฑิต, บุคคลที่ควรรับทักษิณาทาน, หลักปฏิบัติธรรม, หลักนิพพาน, หลักอคติ, มิจฉาทิฐิ ๖๒, หลักโยนิโสมนสิการ ฯลฯ

    สรุป :

    - หากเราเชื่อเรื่องอะไรมาโดยไม่เทียบเคียงสอบสวนความจริง หลักฐานต่างๆ เสียก่อน หรือเราศรัทธาเรื่องที่ไม่ควรศรัทธา หรือศรัทธาบุคคลที่ไม่ควรศรัทธา หรือมีพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจที่แสดงออกต่อศรัทธาไม่เหมาะสม นั่นแหละเราศรัทธามากเกินไปจนขาดปัญญาแล้ว

    - หากเราเชื่อเรื่องอะไรมาโดยผ่านการเทียบเคียงสอบสวนความจริง หลักฐานต่างๆ เสียก่อน และเราศรัทธาเรื่องที่ควรศรัทธา และศรัทธาบุคคลที่ควรศรัทธา และมีพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจที่แสดงออกต่อศรัทธาอย่างเหมาะสม นั่นแหละเราไม่มีศรัทธามากเกินไปจนขาดปัญญาเลย
     

แชร์หน้านี้

Loading...