รัฐธรรมนูญฉบับวิถีพุทธ สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย คือ~ว่างเปล่า!, 10 ธันวาคม 2008.

  1. คือ~ว่างเปล่า!

    คือ~ว่างเปล่า! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2008
    โพสต์:
    1,647
    ค่าพลัง:
    +473
    รัฐธรรมนูญฉบับวิถีพุทธ สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง

    โดย โสต สุตานันท์


    [​IMG]



    การวิเคราะห์เรื่อง "สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง" นี้ผู้เขียนขอหยิบยกเอากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 และ 277 มาเป็นตัวอย่างสำหรับประกอบการพิจารณา

    [​IMG]



    เนื้อหาสาระจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ กฎมนุษย์ กฎธรรมชาติ และการปรับวิเคราะห์ปัญหา

    ถูก-ผิดอย่างไร ขอผู้อ่านลองพินิจพิจารณาไปพร้อมกัน

    ส่วนแรก - กฎมนุษย์

    แต่เดิม กฎหมายลักษณะอาญาและประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่า ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาตน หรือกระทำชำเราเด็กหญิงซึ่งไม่ใช่ภริยาตนแม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอม ถือว่า เป็นความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปหลายครั้ง แต่หลักการสำคัญในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงอยู่ จนกระทั่งมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเนื้อหาสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป ดังนี้

    (1) แก้ไขถ้อยคำในมาตรา 276 วรรคแรก ที่ว่า "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง" เป็น "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น" ดังนั้น ต่อไปผู้ชายก็อาจถูกข่มขืนกระทำชำเราได้ ไม่ว่าโดยชายหรือหญิง

    (2) เพิ่มคำจำกัดความของคำว่า "กระทำชำเรา" ไว้ในมาตรา 276 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสอง ว่า หมายถึง "การกระทำที่สนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" ดังนั้น การกระทำชำเราจึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการร่วมประเวณีอีกต่อไป

    (3) ตัดคำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาตน" ในมาตรา 276 วรรคแรกออก ดังนั้น สามีจึงอาจมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาตนเองได้

    (4) แก้ไขถ้อยคำในมาตรา 277 วรรคแรก ที่ว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิง" เป็น "ผู้ใดกระทำชำเราเด็ก" ดังนั้น เด็กชายจึงอาจถูกกระทำชำเราได้

    ทั้งนี้ ได้มีการให้เหตุผลในการแก้ไขปรับปรุงไว้ว่า "เพื่อให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งเพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ"

    ส่วนที่สอง - กฎธรรมชาติ

    เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีกฎธรรมชาติสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ

    (1) ธรรมชาติทางด้านสรีระร่างกายของผู้ชายส่วนใหญ่จะมีความแข็งแกร่งมากกว่าหญิง

    (2) หญิงตั้งท้องได้ ชายตั้งท้องไม่ได้

    (3) อารมณ์ทางเพศของชายและหญิงโดยธรรมชาติน่าจะมีความแตกต่างกัน โดยชายน่าจะไวต่อความรู้สึกในอารมณ์ทางเพศมากกว่าหญิง ผู้ชายบางครั้งแม้จะอยู่ในอารมณ์โกรธ เกลียด หรือกลัว ก็สามารถมีอารมณ์ทางเพศและร่วมเพศได้ ขณะที่ผู้หญิงนั้นน่าจะมีอารมณ์ทางเพศได้เมื่อมีสภาพจิตใจที่พร้อมจะสนองตอบเท่านั้น

    (4) ลักษณะอวัยวะเพศของชายและหญิงแตกต่างกัน ชายสามารถร่วมเพศกับหญิงได้เสมอเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ แม้หญิงจะไม่พร้อมหรือไม่มีอารมณ์ทางเพศก็ตาม ในทางตรงข้าม หากชายไม่มีอารมณ์ทางเพศ อวัยวะเพศก็จะไม่แข็งตัว แม้หญิงจะมีอารมณ์ทางเพศ ก็ไม่สามารถร่วมเพศกับชายได้

    (5) การสืบพันธุ์ถือเป็นธรรมชาติของสัตว์โลก ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไป กิจกรรมทางเพศจึงเป็นความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งไม่น่าจะต่างจากการดื่มน้ำ รับประทานอาหาร หรือกิจกรรมอื่นๆ

    ส่วนที่สาม - การปรับวิเคราะห์

    จากกฎธรรมชาติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า โอกาสที่หญิงจะข่มขืนกระทำชำเราชายในความหมายปกติธรรมดา คงเป็นไปได้น้อยมาก อีกทั้งในความเป็นจริงของสังคม ด้วยปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ มากมาย คงเป็นเรื่องยากมากอีกเช่นกันที่หญิงจะคิดข่มขืนชาย หรือแม้จะเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่น่าจะทำให้ชายได้รับความเสียหายอะไรมากนัก เพราะการเสียตัวของผู้ชายไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้าอะไร ประกอบกับชายก็ไม่สามารถตั้งท้องได้

    ดังนั้น เจตนารมณ์ดั้งเดิมของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศ จึงมุ่งประสงค์ที่จะปกป้องคุ้มครองเพศหญิงเป็นสำคัญ การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวจึงไม่น่าจะสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ผลที่ตามมาก็คงจะเป็นไปตามที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้ คือ กฎมนุษย์นั้น ย่อมไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงตามความต้องการของมนุษย์ได้

    ตัวอย่างปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

    (1) การที่กฎหมายให้คำนิยาม คำว่า "กระทำ ชำเรา" โดยให้หมายความรวมถึง การใช้อวัยวะเพศกระทำต่อทวารหนัก หรือช่องปาก และการใช้สิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่อวัยวะเพศกระทำต่ออวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วย อีกทั้งยังแก้ไขถ้อยคำที่ว่า "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง" เป็น "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น" นั้น คาดว่าในอนาคตคงมีประเด็นปัญหาให้ต้องถกเถียงกันอีกมากมายว่า การกระทำนั้นๆ ถือเป็นการกระทำชำเราหรือไม่ อย่างไร

    นอกจากนั้น การให้คำนิยามของคำว่า กระทำชำเรากว้างเกินไป บางครั้งแทนที่จะเป็นการคุ้มครองผู้เสียหาย กลับจะเป็นการทำร้ายจิตใจผู้เสียหายซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก

    อย่างเช่น หญิงถูกบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ใช้วัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ย่อมได้รับการประทับตราจากกฎหมายแล้วว่าถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงและไม่เป็นผลดีต่อผู้เสียหายสำหรับความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคม

    จริงๆ แล้ว หากมุ่งจะคุ้มครองผู้เสียหายไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ เกย์หรือทอม ในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสมหรือผิดธรรมชาติ เราก็มีกฎหมายมาตราอื่นๆ ควบคุมอยู่แล้ว คือ ความผิดเกี่ยวกับชีวิต-ร่างกาย และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ-ชื่อเสียง

    หากเห็นว่าโทษเบาไป หรือลักษณะการกระทำไม่ครอบคลุม เหมาะสมอย่างไร ก็ควรจะไปปรับปรุงแก้ไขตามบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวมากกว่า ไม่น่าที่จะนำมาปะปนในบทบัญญัติในเรื่องของการข่มขืนกระทำชำเรา

    (2) การที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตัดคำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาตน" ในมาตรา 276 วรรคแรกออก ก่อให้เกิดผล คือ ต่อไปหากสามีหรือภรรยาไม่ยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งร่วมประเวณี ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปบังคับขืนใจให้ร่วมประเวณีก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้

    จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การที่กฎหมายเข้าไปยุ่งกับชีวิตครอบครัวประชาชนถึงในมุ้งเช่นนี้ จะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่า

    คำว่า "ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า" ถือเป็นคติเตือนใจที่ดีของคนโบราณ สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตครอบครัวได้เสมอ ไม่ว่ายุคใด สมัยใด สามีภรรยาก็เหมือนลิ้นกับฟัน

    ปกติทั่วไปหากมีการทะเลาะขัดแย้งกัน ถ้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมากมาย ก็จะมีกลไกภายในครอบครัวและเครือญาติที่คอยช่วยให้สามารถปรับความเข้าใจกันได้อยู่แล้ว

    ในชีวิตครอบครัวนั้น การที่ฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะร่วมเพศกับอีกฝ่ายหนึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร อย่างน้อยที่สุดย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าฝ่ายนั้นยังมีความรู้สึกผูกพันรักใคร่อยู่

    หากคิดจะแยกทางกันก็คงไม่คิดจะทำอะไร อย่าว่าแต่กระทำชำเราเลย แม้แต่หน้าก็อาจจะยังไม่อยากมองด้วยซ้ำไป

    ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็นกรณีฝ่ายหนึ่งละเลยไม่ยอมร่วมเพศกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยหันไปร่วมเพศกับบุคคลที่สามมากกว่า

    นอกจากนั้นยังเห็นว่า การควบคุมอารมณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเปิดโอกาสให้คนใจร้อน วู่วาม หรือไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี เข้าถึงกฎหมายได้ง่ายเกินไป น่าจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

    บางครั้งแค่หลบไปนั่งสงบสติอารมณ์สัก 2-3 วัน หรือไปปรึกษาพ่อแม่ญาติพี่น้อง เรื่องก็จบ การตัดสินใจเดินไปหาตำรวจ แทนที่จะช่วยทำให้เรื่องราวจบลงด้วยดี อาจลุกลามบานปลายใหญ่โต กลายเป็นข่าวอื้อฉาว และอาจมีคดีอื่นตามมาหรือถึงขั้นต้องหย่าร้างกันไปเลยก็เป็นได้

    (3) การแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 227 วรรคแรก ที่ว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิง" เป็น "ผู้ใดกระทำชำเราเด็ก" ได้ก่อให้เกิดผลตามมา คือ ต่อไปหากเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี สมัครใจใช้อวัยวะเพศของตน สัมผัสกับอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนักของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อสนองความใคร่ซึ่งกันและกัน ไม่เพียงแต่เด็กชายเท่านั้นที่มีความผิด เด็กหญิงนั้นก็มีความผิดฐานกระทำชำเราเด็กชายด้วย

    นอกจากนั้น กรณีเด็กชายอายุไม่เกิน 15 ปี กับหญิงอายุเกิน 15 ปี (แม้แต่เพียงวันเดียว) หากสมัครใจกระทำการใดๆ ต่อกันอันอยู่ในขอบเขตความหมายของคำว่า กระทำชำเราแล้ว ฝ่ายหญิงย่อมเป็นคนผิด ขณะที่เด็กชายไม่ผิดแต่อย่างใด

    ผลกฎหมายออกมาเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างประหลาด เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรานั้น โดยหลักเราต้องมุ่งคุ้มครองฝ่ายหญิงเป็นสำคัญ ดังเหตุผลที่กล่าวข้างตน

    การพยายามสร้างความเท่าเทียมกัน หรือการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างหญิงชายในกรณีเช่นนี้

    แทนที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับเพศหญิงมากขึ้น กลับกลายเป็นว่า ไปทำร้ายเพศหญิงเสียมากกว่า

    จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ผู้เขียนขอตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" นั้น ถือเป็นกฎมนุษย์ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร และสังคมไทยมีความรู้ ความเข้าใจความหมายของคำว่า สิทธิเท่าเทียมกัน ระหว่างชายหญิง อย่างถ่องแท้ ลึกซึ้ง แค่ไหน เพียงใด

    หากมีคนตั้งคำถามว่า แล้ว "หน้าที่" ล่ะ ทำไมไม่บัญญัติให้เท่าเทียมกัน เราจะยอมให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้โดยเห็นว่าเป็นความประสงค์ของธรรมชาติที่ต้องการควบคุมไม่ให้มนุษย์โลกมีมากเกินไปจนขาดสมดุล หรือถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับกฎธรรมชาติ เพราะอาจทำให้มนุษย์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้

    และประการสุดท้ายจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากเราจะบัญญัติรัฐธรรมนูญไว้ในทำนองว่า "ชายหญิงมีสิทธิหน้าที่เท่าเทียมกันภายใต้เงื่อนไขกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ อันถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม"

    ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านทดลองนำหลักกฎหมายอื่นๆ มาปรับวิเคราะห์ดูว่ามีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่อย่างไร หรืออาจนำเรื่องง่ายๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายมาคิดวิเคราะห์ดูเล่นๆ ก็ได้ เช่น การกิน อยู่ หลับ นอน การแต่งตัว หรือแม้แต่การหายใจของเราเอง ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีคนไทยสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้หลักการหายใจได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ

    อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากไว้เป็นแง่คิดก็คือ ผู้เขียนเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญโดยนำเรื่องการเมือง อำนาจและผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายมาเป็นตัวตั้งเพื่อเจรจาต่อรองกันนั้น โอกาสที่จะทำให้เกิดการทะเลาะขัดแย้งย่อมมีอยู่สูงยิ่ง

    โดยเฉพาะลักษณะสภาพปัญหาของสังคมในปัจจุบันที่มีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่าในอดีตมากมายหลายเท่านัก อย่างมากที่สุดก็อาจจะใช้วิธีประนีประนอมโดยพบกันครึ่งทางดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายหลายครั้งหลายหน แต่ปัญหาก็ยังคงคาราคาซังและหมักหมมอยู่เพื่อรอวันปะทุต่อไป

    แต่หากเราร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบแนวคิดกฎธรรมชาติ - กฎมนุษย์แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นการถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่ปัญญาอย่างแท้จริง เพราะทุกฝ่ายจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่แยกหมู่แยกฝ่าย มุ่งสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของทุกคน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    และที่สำคัญผู้เขียนเชื่อว่าหลักการแนวคิดดังกล่าวจะเป็นหนทางในการที่จะนำพาสังคมไทยก้าวเดินไปสู่สังคมในฝันที่เรียกว่า "ยุคพระศรีอาริยเมตไตร" นั่นเอง


    ------
    [​IMG]
    http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03101251&sectionid=0130&day=2008-12-10
     

แชร์หน้านี้

Loading...