"รัตนโกสินทร์" ลมหายใจที่ไม่สุดสิ้นริมถนนการเมือง

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย sithiphong, 20 มีนาคม 2006.

  1. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,443
    ค่าพลัง:
    +141,948
    [​IMG]
    <!-- CENTER ZONE -->[​IMG]
    วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2549

    "รัตนโกสินทร์" ลมหายใจที่ไม่สุดสิ้นริมถนนการเมือง

    [​IMG] หากท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือเวทีสำคัญในการเคลื่อนไหวความคิดและพลังแห่งประชาชนแล้ว โรงแรมรัตนโกสินทร์ริมถนนราชดำเนินชิดเลียบสนามหลวง ก็คงเปรียบได้กับประจักษ์พยานที่เคียงคู่ถนนประชาธิปไตยมากว่าครึ่งศตวรรษ
    หลังการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2475 ประมาณ 10 ปี รัตนโกสินทร์ผุดขึ้นเป็นโรงแรมห้าดาวแห่งที่สองในกรุงเทพมหานคร ถัดจากโรงแรมโอเรียนเต็ล ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และต่อมา บริษัท อิทธิผล จำกัด ได้เช่าดำเนินการต่อจวบจนปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในนาม "รอยัล โฮเต็ล (Royal Hotel)"
    ด้วยทำเลสถานที่อันมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ "เดือนตุลา" "พฤษภาทมิฬ" กระทั่งการชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุด โรงแรมรัตนโกสินทร์จึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทุกครั้ง ดังปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของ กริช จิราภิรักษ์ รักษาการแทนผู้จัดการโรงแรมวัย 45 ปี หนึ่งในผู้ร่วมทุกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ด้วยความที่พ่อของเขาเคยเป็นพนักงานที่นี่ กริชจึงเคยวิ่งเล่นในโรงแรมแห่งนี้มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย
    "เหตุการณ์ 14 ตุลาคม (2516) ตอนนั้นผมยังเด็ก อายุประมาณสิบกว่าขวบ พ่อผมทำงานที่ร้านจิวเวลรี่ ซึ่งอยู่ในห้องกระจกด้านหน้าของโรงแรม พนักงานเก่าแก่หลายคนเห็นเหตุการณ์ไอ้ก้านยาว กรมประชาสัมพัน์ถูกเผา จำได้ว่ามีคนเข้าๆ ออกๆ เพื่อเข้ามารักษาพยาบาลที่นี่ตลอด" ลูกหม้อรัตนโกสินทร์รำลึกความหลัง
    เมื่อกริชเรียนจบและทำงานเป็นรีเซฟชั่นให้โรงแรม ก็ประจวบเหมาะกับช่วงพฤษภาทมิฬ (2535) พอดี กริช บอกว่า ยังจำได้ดีถึงกลิ่นคาวเลือด ฝูงชนต่างกรูจากท้องสนามหลวงเข้ามาแอบซ่อนในโรงแรม รองเท้าหลุดลุ่ยเกลื่อนกระจาย ฝ่ายข้าราชการจากที่ไม่เคยมีประวัติว่าเข้ามายุ่มย่ามในโรงแรมเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2516 ได้ผงาดเข้ามาตรวจค้นถีบประตูห้องพักโรงแรมเพื่อจับกุม หลังจากนั้นโรงแรมรัตนโกสินทร์จึงแปรสภาพเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวอีกครั้ง โรงแรมเก็บรวบรวมรองเท้าได้เป็นตะกร้าๆ จนเป็นที่มาของข่าวลือว่า ที่นี่กลายเป็นที่ฝังศพคนเดือนพฤษภา คณะกรรมการฝ่ายประชาชนจึงต้องเข้ามาตรวจค้นจนพบว่าไม่มีซอกมุมไหนใช้ซ่อนศพได้ ชื่อเสียงโรงแรมจึงพ้นมลทิน
    หากร่องรอยการรื้อค้น ประกอบกับสถานการณ์การเมืองคุกรุ่น โรงแรมจึงร้างผู้คนอยู่เป็นปีๆ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนกล้าเข้าพัก โรงแรมทำการปรับปรุงซ่อมแซมความเสียหายโดยการควักเนื้อไปเป็นสิบๆ ล้าน ครั้นพอจะฟื้นตัวได้ ก็ต้องประสบปัญหาค่าเงินบาทตกวูบอีก กริช กล่าวว่า ไม่ว่าโรงแรมจะล้มลุกคลุกคลานอย่างไร ที่นี่ไม่เคยปลดและลดเงินเดือนพนักงานกว่า 300 คนเลย หากแก้วิกฤติลดต้นทุนด้านอื่น เช่น ค่าน้ำค่าไฟแทน
    "ด้วยการปฏิบัติกับแขกเหมือนคนในครอบครัว แขกที่นี่ส่วนใหญ่จึงเป็นแขกประจำ โดยรวมเป็นชาวยุโรป 40 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นคนไทยที่จะมาพักกันมากช่วงเดือนตุลาคม เพราะเป็นฤดูสอบข้าราชการ การสัมมนา มีบางคนที่มาเที่ยวกับลูกตัวน้อยๆ พอจะออกไปข้างนอกก็ฝากลูกให้พนักงานเราดูแล จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ลูกเขาโตอายุยี่สิบกว่าๆ ก็ยังมาเข้าพักเลย นามบัตรโรงแรมยังเป็นของเมื่อ 10 ปีที่แล้ว" กริช เล่า พร้อมบอกด้วยว่า ท่ามกลางธุรกิจที่รายรอบบริเวณที่เฟื่องฟูขึ้น หนังสือต่างประเทศเล่มหนึ่งตีพิมพ์แนะนำโรงแรมรัตนโกสินทร์แก่นักท่องเที่ยว ผู้เข้าพักจำนวนไม่น้อยจึงเป็นผู้สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมือง
    อย่างไรก็ดี แม้รัตนโกสินทร์จะเปลี่ยนสภาพจากโรงแรมห้าดาวเป็นสามดาว ด้วยความเก่าแก่ตามกาลเวลา แต่กริชก็มั่นใจว่า "ที่นี่ยิ่งเก่าก็ยิ่งเก๋า" เพราะไม่เพียงตัวตึกทั้งสองแห่งของโรงแรมจะขึ้นทะเบียนอนุรักษ์จากกรมศิลปากร แต่ด้วยสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใครของตัวตึกที่สร้างให้โค้งตามรูปถนน ทำให้ลักษณะของห้องพักแต่ละห้องไม่เหมือนกันเลย ห้องบางส่วนยังคงใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าแก่ ตู้เย็นยี่ห้อธานินทร์ จนมีนักศึกษาขอเข้ามาทำวิทยานิพนธ์เป็นระยะๆ
    "ห้องพักที่นี่ฝรั่งจะชอบ เพราะเป็นห้องโค้ง บรรยากาศไม่เหมือนใคร แต่คนจีนจะไม่มาพัก เขาถือเรื่องฮวงจุ้ย ซึ่งที่นี่ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ถ้าเราคิดราคาห้าดาว จะแพงมาก คนทั่วไปคงไม่สามารถมาสัมผัสประวัติศาสตร์ได้ ที่นี่เคยรุ่งเรืองถึงขนาดเป็นที่กินอาหารกลางวันของ จิม ทอมป์สัน เป็นที่ต้อนรับทูตจากต่างประเทศ นักการเมืองดังๆ มาแล้ว" ตัวแทนโรงแรมแจกแจง
    ด้วยทำเลประวัติศาสตร์ที่ทอดสายมายาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าศึกล่าสุดบนถนนการเมืองภายนอกโรงแรมจะสิ้นสุด ส่งผลให้การตัดสินใจเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งชะงักงัน แต่น่าแปลกที่ห้องของโรงแรมก็ยังเต็มแน่น ครึ่งหนึ่งมาจากการจับจองของผู้สื่อข่าวช่างภาพจากสำนักต่างๆ ทั้งไทย และต่างประเทศ แม้กระทั่งจากผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนนายกรัฐมนตรี
    "สถานการณ์การเมืองมีผลกระทบโดยตรงกับโรงแรมแห่งนี้ ม็อบงวดนี้ดูแล้วไม่น่ารุนแรง ถ้าม็อบกลุ่มหนึ่งมาพัก อีกกลุ่มจะไม่มา เขาจะแยกกันอย่างมีวินัย เราเองไม่ได้สนับสนุนให้ส่วนลด เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็ไม่ได้ขึ้นราคา ปกติห้องหนึ่งจะพักได้ไม่เกิน 2 คน แต่ช่วงนี้นักข่าวและกลุ่มม็อบบางห้องก็พักกัน 5-6 คน เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็แปลกที่บางทีไม่มีแขกเลย จู่ๆ แขกก็มาเอง เราต้องไหว้เจ้าที่ประจำปีทุกครั้ง"
    กริช ยังกล่าวถึงนโยบายจุดยืนเรื่องการเมืองจาก อิน ธำรงวิทวัสพงศ์ ประธานบริษัทว่า ไม่ว่าจะเกิดกรณีร้ายแรงใดๆ ขึ้น พนักงานทุกคนไม่ต้องรายงานถึงท่านประธาน แต่สามารถเปิดประตูรับประชาชนที่หนีร้อนมาซ่อนกำบังภัยได้ทุกเมื่อ ดังเช่นวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา หน่วยแพทย์พยาบาลเคลื่อนที่ก็เข้าประจำการในโรงแรมมาแล้ว
    "ทุกคนรู้กันเลยว่า เราก็เปิดรับทุกกรณี ไม่ใช่ไปปิดประตูใส่เขา การเมืองกับประชาชนอย่างไรก็ต้องผูกพันกัน ต่อไปเชื่อว่าอย่างน้อยโรงแรมก็ยังทรงตัว คงทรุดลำบาก เพราะชื่อเสียงทางด้านการเมืองที่เรามีนี่แหละ ไม่ต้องใช้การตลาดประชาสัมพันธ์อะไร ไปได้เรื่อยๆ ด้วยตัวเอง" ตัวแทนโรงแรมรายเดิมให้มุมมอง รอยเท้าการเมืองที่ย่ำผ่านแต่ละสถานที่ ล้วนจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ได้ทั้งสิ้น หากจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย ต้องอยู่ที่พวกเราคนไทยทุกคน
     

แชร์หน้านี้

Loading...