รำลึกถึงสมเด็จโตวัดระฆัง ผู้มีเรื่องให้เล่ามากมาย! คู่ปะทะคารมของ ร.๔...

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 22 กรกฎาคม 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b8b6e0b887e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888e0b982e0b895e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8a3e0b8b0e0b886.jpg
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ก็คืออริยสงฆ์ที่โด่งดังที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากพระสมเด็จที่ท่านสร้างจะครองความนิยมสูงสุดมาทุกยุคสมัยแล้ว เรื่องราวของท่านยังเป็นเรื่องที่เล่าขานกันต่อๆมามากมาย และมักจะเป็นเรื่องสนุก เพราะท่านชอบทำตามความพอใจของตน ไม่ยึดถือตามความนิยมของผู้อื่น ไม่ปรารถนาลาภยศใดๆ แม้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานก็ไม่เข้าสอบเปรียญธรรม ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จะโปรดเกล้าฯให้ท่านเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ไม่ยอมรับ จึงเป็นแค่มหามาตลอดรัชกาล

    ท่านมรณภาพที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๑๕ ขณะไปสร้างหลวงพ่อโต ฉะนั้นในวันนี้จึงขอระลึกถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของท่านกันอีกสักครั้ง
    เรื่องที่เล่ากันและยังหาข้อยุติไม่ได้ ก็คือ ใครเป็นบิดามารดาของท่าน มีคณะผู้ค้นหาประวัติสมเด็จโต ตีความจากภาพที่ท่านให้เขียนไว้ที่ผนังโบสถ์วันอินทรวิหาร บางขุนพรหม ซึ่งปัจจุบันลบเลือนไปหมดแล้ว และขยายความจากภาพที่ ๑ ซึ่งเป็นรูปกำแพงเมืองกำแพงเพชร มีขุนนางขี่ม้าออกจากเมือง คณะสอบประวัติสมเด็จพุฒาจารย์โต ขยายความในรูปที่ ๑ นี้จากเรื่องที่เล่ากันมาว่า
    ในศึกพม่าที่อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพออกไปรับศึก โดยพา คุณชายฉิม บุตรชายวัย ๘ ขวบติดตามไปในกองทัพด้วย หลังจากที่ขับไล่กองทัพพม่าออกไปพ้นดินแดนไทยแล้ว ได้ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร เช้าวันหนึ่งเจ้าพระยาจักรีในวัยเพียง ๓๐ เศษได้ขี่ม้าตระเวนดูกองทัพ ม้าได้พาท่านเข้าป่าฝ่าพงไปจนถึงบ้านปลายนาหลังหนึ่งใต้เมืองกำแพงเพชรเมื่อเวลาเย็น เห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพจึงร้องบอกว่ากระหายน้ำเหลือเกิน ขอน้ำกินสักขันหนึ่งเถิด หญิงสาวก็ตักน้ำให้ แต่ได้เด็ดเกสรดอกบัวโรยมาด้วย เจ้าคุณแม่ทัพกินน้ำด้วยความลำบากเพราะต้องเป่าเกสรบัวออกไปก่อน ดื่มน้ำได้หน่อยเดียวก็ต้องคอยเป่าเกสรบัวอีก จนดื่มเสร็จจึงได้ถามนางว่า เหตุใดจึงเอาเกสรบัวโรยมา จะแกล้งทำเล่นกับเราหรือ

    หญิงสาวก็บอกว่า เห็นท่านเหนื่อยมาและกระหายน้ำมาก หากให้ดื่มตามความกระหายก็อาจจะเกิดอันตรายจากการจุกแน่นได้ จึงเอาเกสรบัวโรยลงไปเพื่อให้ดื่มได้พอประมาณเป็นระยะ เจ้าคุณแม่ทัพฟังนางตอบด้วยความฉลาด แถมยังพูดจาอ่อนหวานไพเราะ จึงลงจากหลังม้ามาสนทนา และรอจนตาผลกับยายลา พ่อแม่ของหญิงสาวที่ชื่อ งุด นี้กลับมา เจ้าคุณแม่ทัพก็รวบรัดสู่ขอลูกสาวเสียเลย เสนอสินสอดเป็นเงิน ๒๐ ชั่ง โดยถอดแหวนวางไว้ให้เป็นประกัน จะเอาเงินมาไถ่ทีหลัง สองตายายรู้ว่าผู้สู่ขอเป็นขุนนางมาจากบางกอกก็ยกให้ทันที และทำพิธีแต่งงานกันตามประเพณีชาวกำแพงเพชรในคืนนั้น โดยไม่ต้องมีแขกเหรื่อมาร่วม

    รุ่งเช้าเจ้าคุณแม่ทัพก็กลับไปบัญชาการค่าย พอตกเย็นก็ห่อเงิน ๘๐ ชั่งมายังบ้านปลายนาไถ่แหวน และกลับไปในตอนเช้า เป็นเช่นนี้ตลอดมา ส่วนบุตรชายวัย ๘ ขวบของเจ้าคุณแม่ทัพก็เข้าใจว่าบิดาไปตรวจตราบัญชาการทัพ ประมาณเดือนเศษจึงมีท้องตรามาจากกรุงธนบุรีเรียกให้กองทัพกลับ ขณะสังเกตว่านางงุดตั้งครรภ์แล้ว

    เมื่อมีเงินมีทอง นางงุดก็ซื้อเรือลำใหญ่เป็นที่อยู่ และขนสินค้าเมืองเหนือล่องมาขายสินค้าถึงบางกอก และขนสินค้าจากบางกอกขึ้นไปขายที่นครสวรรค์จนถึงกำแพงเพชร ครั้นถึงวันพุธ เดือนหก ปีวอก จุลศักราช ๑๑๓๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๑๙ นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายบนเรือนใหม่ที่บางขุนพรหม

    แต่ตามประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านเกิดเมิ่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๓๓๑ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ๗ ปี นางงุดคงไม่ตั้งครรภ์ยาวนานถึงขนาดนั้น

    แต่บางฉบับก็กล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออยู่นั้น ส่วนโยมผู้หญิงของท่าน เป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอบางโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้อพยพครอบครัวลงมาค้าขายอยู่แถวอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ในปีหนึ่งมีศึกมาติดหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบ ครั้นเดินทัพไปถึงวัดไชโยในเวลาตะวันบ่าย จึงหยุดทัพเพื่อพักแรม ณ ที่นั้น พอตกเวลาค่ำลงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอจึงรับสั่งใหมหาดเล็กไปหาหญิงสาวที่มาขายของในบริเวณกองทัพ ซึ่งมีรูปลักษณะสมควรจะเป็นบาทบริจาริกาได้ไปถวาย เมื่อพวกมหาดเล็กเห็นโยมของเจ้าคุณสมเด็จฯ ซึ่งเป็นหญิงมีรูปสมบัติสะสวยหมดจดงดงามกว่าบรรดาหญิงสาวที่มาในนั้นก็พาไปถวาย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทอดพระเนตรเห็นเข้าก็พอพระทัย จึงให้นางพักอยู่ ณ ค่ายคืนหนึ่ง

    ฝ่ายบิดามารดาของนางอยู่ทางบ้านได้ทราบว่า ธิดาของตนถูกทหารพาข้าไปในค่าย ครั้นจะตามเข้าไปก็กลัว ไม่กล้าเข้าไปตามหา จนรุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอรับสั่งให้มหาดเล็กพานางไปส่งจนถึงบ้าน แล้วเคลื่อนทัพออกจากอ่างทองไป

    ต่อมาไม่นานนางก็ตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นชาย ตั้งชื่อว่า “โต” ให้ตรงข้ามกับที่ทารกนั้นมีร่างเล็ก
    สำหรับเรื่องนี้ก็เช่นกัน ได้รับคำวิเคราะห์ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐ ก่อมสมเด็จโตเพียง ๙ ปีเท่านั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องที่คนเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อนเล่ากันมา ฉะนั้นเรื่องบิดามารดาของท่านก็คงต้องยึดที่หลายฉบับกล่าวกันว่า “ไม่ปรากฏ”

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชมานานถึง ๒๗ ปีก่อนขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงโปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมกิติ” ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ ๖๕ ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ครั้งนี้ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับ ต่อมาอีก ๒ ปีก็ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์”

    สมณศักดิ์นี้เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปจึงนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง”

    ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนานักองค์ด้วง เจ้าเขมรที่มาอยู่เมืองไทย ให้กลับไปเป็นกษัตริย์เขมร เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์หริรักษ์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์หริรักษ์มีเรื่องกลัดกลุ้มพระทัย ก็ได้ทรงส่งสมเด็จโต ไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระนารายณ์ฯ ที่กรุงกัมพูชา โดยนำเรือไปส่งที่เมืองจันทบุรี แล้วนั่งเกวียนไปทางเมืองตราดต่อไปจนถึงกรุงกัมพูชา ในการเทศนาครั้งนั้น นักองค์จันทร์ พระราชมารดาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้นำเอาราชบุตร ราชธิดามาติดกัณฑ์เทศน์ด้วย แต่สมเด็จโตรับมาแต่พระราชบุตร ฝากพระธิดาให้ช่วยเลี้ยงไว้ ส่วนแก้วแหวนเงินทองที่ได้ติดกัณฑ์เทศน์มามากมาย ท่านได้ขายนำเงินไปสร้งวัดเกษไชโยที่อ่างทอง

    สมเด็จพระพุฒาจารย์โตท่านเป็นผู้แตกฉานพระไตรปิฎก และเทศนาด้วยคารมกล้าหาญองอาจ ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกัน และเป็นจอมปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ทั้งสององค์จะต่างวัยกัน แต่ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนม ให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน มีอัธยาศัยตรงกัน และตีความในพระธรรมไปทางเดียวกันเสมอ

    อย่างในคราวที่ “คุณแม่แฟง” แม่เล้าชื่อดังแห่งยุค เอาเงินที่ได้จากธุรกิจโรงหญิงงามเมืองมาสร้างวัดใหม่ยายแฟง หรือวัดคนิกาผล ที่พลับพลาไชยในปัจจุบัน ตอนแรกสร้าง คุณแม่แฟงได้นิมนต์ “มหาโต” วัดระฆัง ไปเทศน์ในงานฉลองวัด มหาโตท่านเทศน์ประเภทขวานผ่าซากอยู่แล้ว จึงเทศน์ว่า เจ้าภาพทำบุญด้วยทุนรอนจากผลเช่นนี้ ย่อมได้อานิสงส์เพียงสลึงเฟื้องเท่านั้น พร้อมยกนิทานธรรมะประกอบ คุณแม่แฟงได้ฟังคารมเทศน์ของมหาโตก็โกรธจนหน้าแดง แต่ก็เกรงที่มหาโตมีผู้คนทั้งในรั้วในวังนับถือกันมาก จึงได้ยกเครื่องกัณฑ์เทศน์กระแทกถวาย

    คุณแม่แฟงคิดจะแก้หน้าที่ถูกมหาโตเทศน์จนเสียหน้า จึงไปนิมนต์ “ทูลกระหม่อมพระ” จากวัดบวรฯ ก่อนขึ้นครองราชย์ มาเทศน์อีกครั้ง

    ทูลกระหม่อมพระทรงแสดงธรรมเทศนาถึงจิตของบุคคลที่ทำกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตผ่องใสไม่ขุ่นมัว ก็จะได้ผลมาก หากทำด้วยจิตขุ่นมัวก็จะได้ผลน้อย ดังเช่นสร้างวัดนี้ด้วยเรื่องขุ่นมัวทั้งนั้น มหาโตท่านชักนิทานตัดสินบุญรายนี้โดยแบ่งบุญออกเป็น ๘ ส่วน เหมือนเงิน ๑ บาทมี ๘ เฟื้อง โค้งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้องคือ ๕ ส่วน คงได้แค่ ๓ ส่วน ซึ่งก็ยังดี ถ้าเป็นความเห็นของอาตมาแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียง ๒ ไพเท่านั้น

    คุณแม่แฟงนิมนต์ทูลกระหม่อมพระมาจะให้ช่วยแก้หน้า เลยกลับหนักเข้าไปอีก

    แม้จะแตกฉานทางธรรมเหมือนกัน แต่ก็มักจะ “ลองเชิง” กันอยู่เสมอ บางครั้งก็เล่นกันแรงจนถึงขั้นไล่ลงจากธรรมมาสน์ ทั้งยังไม่ให้อยู่ในพระราชอาณาจักร

    การเทศน์ของสมเด็จโตที่ทำให้สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงกริ้วขนาดหนัก ก็เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี เทศน์เรื่องการตั้งกรุงกบิลพัสดุ์และตั้งศากยวงศ์ ในปฐมสมโพธิปริจเฉทที่ ๑ กล่าวถึงสมัยกษัตริย์ในโอกกากราชวงศ์ รัชกาลที่ ๓ พระราชโอรสพระราชธิดาพี่น้อง ๙ องค์ เจ้าชาย ๔ เจ้าหญิง ๕ ได้ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งราชธานีใหม่ ขนานนามว่า กรุงกบิลพัสดุ์ ตามบัญญัติของกบิลฤาษี ต่อไปก็แต่งงานอภิเษกกันเองระหว่างพี่ๆน้องๆ เห็นตามลัทธิคติพราหมณ์ที่นิยมว่าแต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์ ถือมั่นว่าเป็นอสัมภินวงศ์ ไม่แตกพี่แตกน้องแน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศ ก็พลอยเอาอย่างกันสืบๆมา จนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษกและสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

    พอถึงตอนนี้สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงตะบะแตก ไล่ลงจากธรรมมาสน์ทันที และไม่ใช่แค่นั้น ยังไล่ให้ออกไปให้พ้นราชอาณาจักร พระเทพกวีก็ออกจากวังเข้าไปนอนในโบสถ์วัดระฆัง ไม่ยอมออกมาเหยียบดินอีกเลย

    ครั้นถึงคราวถวายพระกฐินเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรเห็นขรัวโตอยู่ที่นั่นด้วย จึงรับสั่งถามว่า

    “อ้าว ไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ทำไมขืนอยู่อีกล่ะ”

    “ถวายพระพร อาตมาไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักร อาตมาอาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันมีพระบรมราชโองการอาตมาไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย”

    “แล้วกินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน”

    “ขอถวายพระพร บิณฑบาตในโบสถ์นี้ฉัน ถานในกระโถน เทวดาคนนำไปลอยน้ำ”

    รับสั่งว่า “โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ”

    “ถวายพระพร โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ถวายพระพร”

    ลงท้ายก็ทรงขอโทษ แล้วถวายพระกฐิน เสร็จการกฐินแล้วก็รับสั่งให้อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามได้

    สมเด็จโตมักทำแปลกๆขำๆอยู่เสมอ แล้วก็ไม่ซ้ำมุขเก่า ตอนที่ท่านดังมีผู้คนไปหาไม่ขาดสายจนไม่มีเวลาว่าง ท่านก็เอาปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง ทาหัวตัวเองจนเหลืองบ้าง และมักจะหลบไปพักผ่อนอารมณ์อยู่ในป่าช้าวัดสระเกศ เพื่อไม่ให้คนไปรบกวน บทจะให้ญาติโยมสนุกสนามก็ได้ฮากันตึงๆ และชอบทำเรื่องประหลาดๆให้คนโจษขานเอาไปร่ำลือกัน ได้รับความนับถือเลื่อมใสมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับพระเครื่องพิมพ์สมเด็จของท่าน
    ครั้นในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จโตไปดูงานก่อสร้างหลวงพ่อโตวัดบางขุนพรหมใน หรือวัดอินทรวิหารในปัจจุบัน ท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคชรา ๑๕ วันก็มรณภาพบนศาลาใหญ่ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๔ พรรษาบริบูรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๒๑ ปี เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปี

    หลังจากได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพแล้ว บรรจุลงโกศไม้ ๑๒ ยกลงเรือมาวัดระฆังโดยฝีพายหลวง และมีเรือของราษฎรพายตามมาเต็มแม่น้ำ ส่วนที่วัดระฆังก็มีคนรอรับอยู่ล้มหลาม พระครูปลัดสัมภิพัฒน์ (ช้าง) ได้ตักพระพิมพ์แจกชำร่วยแก่บรรดาผู้ที่มาส่งศพ เคารพศพ คนละองค์ หมดพระไป ๑๔ กระถางมังกร ราวสามหมื่นองค์ ปัจจุบันที่ยังเหลืออยู่องค์ละเป็นล้านทั้งนั้น

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000074999
     
  2. ice5509876

    ice5509876 พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 เมษายน 2015
    โพสต์:
    131
    ค่าพลัง:
    +77
    สาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...