รู้จัก “เมืองโบราณศรีเทพ” อีกครั้งก่อนเข้าบอร์ดคุ้มครองมรดกโลกพรุ่งนี้

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 7 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b881-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b982e0b89ae0b8a3e0b8b2e0b893e0b8a8e0b8a3e0b8b5e0b980e0b897.jpg
    ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม มีมติเห็นชอบเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “โบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก” ด้วยมีความโดดเด่นเป็นสากลตามเกณฑ์ที่ 2 การแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรม การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ที่ 3 คุณค่าโดดเด่นความเป็นสากลของแหล่งมรดกวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

    โดยในวันพรุ่งนี้ (8 มี.ค.) ในการประชุมบอร์ดคุ้มครองมรดกโลก หรือ “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการพิจารณาเรื่องการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก เพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกด้วย

    สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่บนเนินดินที่ราบลอนลูกคลื่น ห่างจากแม่น้ำป่าสักไปทางทิศตะวันออก ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่โดยทั่วไปอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 60-80 เมตร จัดอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง หรือขอบด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศ จุดเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า ระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่อง จนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) ทางด้านการค้า

    ทั้งนี้ เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งพื้นที่สำคัญออกเป็น 2 ส่วนคือ เขตเมืองใน จัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรม มีโบราณสถาน 50 แห่ง กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ เช่น โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานปรางค์ฤๅษี กลุ่มโบราณสถานคลังแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตก นอกเมืองโบราณศรีเทพ ห่างไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ “เขาถมอรัตน์” ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ถัดมาในสมัยทวารวดีได้ดัดแปลงถ้ำหินปู ที่ตั้งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน
    881-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b982e0b89ae0b8a3e0b8b2e0b893e0b8a8e0b8a3e0b8b5e0b980e0b897-1.jpg
    ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองโบราณศรีเทพ คาดว่าจะอยู่ราว 700 ปี ก่อนจะค่อยๆลดความสำคัญลงไปในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ใหม่ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา จึงอาจส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลง และถูกทิ้งร้างในที่สุด

    ทั้งนี้ ที่แห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา คือ แหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาแบบเถรวาท จากเมืองโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และศาสนาฮินดู พุทธศาสนาแบบมหายานจากดินแดนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและอาณาจักรเขมรโบราณ ปรากฏผ่านหลักฐานสำคัญ คือ การสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ทั้งพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูในพื้นที่สำคัญบริเวณกึงกลางเมืองใน คือ โบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และยังพบจากรึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ที่มีเนื้อความเกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก เช่น จารึกบนพระพิมพ์ดินเผา อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เนื้อความเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นต้น

    กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพร้อมทั้งเขตที่ดินของโบราณสถาน เมืองโบราณศรีเทพ เขาคลังนอก และปรางค์ฤๅษีในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 หน้า 29 ลงวันที่ 26 มี.ค.2506 รวมทั้งได้มีการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ในปี 2527 เพื่อดำเนินการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ และศาสตร์ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีการบูรณะและปฏิสังขรณ์โบราณสถานตามหลักวิชาการด้านการอนุรักษ์ รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เพื่อให้บริการด้านการศึกษา หรือการท่องเที่ยวในแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ ตามแผนแม่บทการอนุรักษและพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีการดำเนินงานสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เมืองศรีเทพในปัจจุบันยังคงสภาพสมบูรณ์ และได้รับการดูแลรักษา ปกป้องคุ้มครองอย่างดี โบราณสถานสำคัญต่างๆยังคงคุณค่าความสำคัญไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งไม่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่โบราณสถานซึ่งจะเป็นการลดทอนคุณค่าของโบราณสถานลงไป
    881-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b982e0b89ae0b8a3e0b8b2e0b893e0b8a8e0b8a3e0b8b5e0b980e0b897-2.jpg
    เมืองโบราณศรีเทพ จึงมีความโดดเด่นตามเกณฑ์พิจารณาที่ 2 และ 3 ซึ่งคุณค่าดังกล่าวอาจเปรียบเทียบได้กับแหล่งมรดกโลกที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่ ศาสนสถานมิเซิน ประเทศเวียดนาม กลุ่มเมืองโบราณปยุ ประเทศเมียนมาร์ แหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับแหล่งมรดกโลกดังกล่าว แต่ลักษณะที่โดดเด่นที่ทำให้เมืองโบราณแห่งนี้ต่างออกไป คือ การเป็นชุมชนที่มีอายุย้อนหลังไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว และพัฒนาขึ้นเป็นเมืองที่มีการรับวัฒนธรรมจากภายนอก เช่น อินเดีย เขมร ฯลฯ นับแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ปรากฏหลักฐานการสร้างเมืองที่มีลักษณะพิเศษ คือ คูเมือง-กำแพงเมืองล้อมรอบ 2 ส่วนแบบเมืองขยาย เป็นต้น

    ศาสนสถานอิฐ/ศิลาแลงขนาดใหญ่ในเมืองและนอกเมืองโบราณศรีเทพจำนวนมาก ยังแสดงถึงรูปแบบรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น โบราณสถานเขาในคลัง พุทธสถานสำคัญของเขตเมืองใน ส่วนฐานมีการประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ ที่มีลักษณะโดดเด่นไม่เป็นแบบแผน คือไม่ได้พบเฉพาะที่มีส่วนศรีษะเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ยังพบรูปคนแคระที่มีศรีษะเป็นสัตว์ เช่น ลิง สิงห์ ช้าง และโค ในลักษณะท่าแบกหรือค้ำโบราณสถาน

    ขณะที่ประติมากรรมรูปเคารพ ยังมีความโดดเด่นแตกต่างจากประติมากรรมอื่นที่ร่วมสมัยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอื่น จัดอยู่ในกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่มักพบในแหล่งเมืองท่าการค้า หรือ เมืองโบราณที่เจริญอยู่ในช่วงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นที่มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก ทั้งนี้ มีการค้นพบเทวรูปรุ่นเก่าจำนวนมากในเมืองโบราณศรีเทพจำนวนหลายองค์ ได้แก่ เทวรูปพระวิษณุสวมกีรีฎมงกุฎทรงกระบอกแปดเหลี่ยม เทวรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ และเทวรูปพระสุริยเทพ ลักษณะโดยรวมเป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง สลักด้วยความประณีต แสดงถึงความเชี่ยวชาญและความรู้ ปรากฏรายละเอียดลักษณะกายวิภาคของมนุษย์ค่อนข้างชัดเจนผสมผสานกับความงามตามอุดมคติ ฯลฯ

    การพบประติมากรรมพระสุริยเทพที่เมืองโบราณศรีเทพ จำนวน 7 องค์ มากที่สุดในประเทศไทยนำไปสู่ข้อสันนิษฐานของการมีอยู่ผู้นับถือลัทธิเสาระปถะ ที่มีความเชื่อว่าพระสุริยะเป็นวิญญาณสูงสุด ผู้สร้างจักรวาล ซึ่งรูปเคารพที่ค้นพบว่ามีความแตกต่างกับประติมากรรมเขมรสิ้นเชิง ทั้งวิธีการสลักที่วิจิตรบรรจง และลักษณะรูปภาพ โดยประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพอาจเป็นศิลปะแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 อาจได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัยและศิลปะเขมร ซึ่งพัฒนาและส่งรูปแบบไปยังศิลปะลพบุรีในช่วงหลัง และการสร้างประติมากรรมหินในลักษณะนี้ไม่มีสกุลช่างใดทำได้ดีกว่าสกุลช่างศรีเทพ


    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/qol/detail/9620000023232
     

แชร์หน้านี้

Loading...