เรื่องเด่น วัดผลการเจริญกรรมฐานตรงที่ระงับใจ ( หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง )

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย NAMOBUDDHAYA, 26 พฤษภาคม 2018.

  1. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    11813364_10153537654494329_6653856854689774611_n_zpspqhi01t4.jpg


    วัดผลการเจริญกรรมฐานตรงที่ระงับใจ


    วิธีที่จะวัดกำลังใจว่าเราปฏิบัติได้ผลหรือไม่ได้ผล นั่นก็คือเขาดูอาการที่ประสบ อย่างที่เราเคยถูกด่า ใช่ไหม ถูกด่า ได้ยินเขาว่า เขานินทา ได้ยินข่าวเราโมโห โมโหโทโสหนัก แล้วก็ไปขังอยู่ที่ในใจ
    ถอยหลังไป ต่อมาที่เรามาปฏิบัติพระกรรมฐานแล้ว ถูกเขาว่า ถูกเขานินทา แล้วเราก็นึกในใจว่า "เราโกรธเท่าเดิม แต่มันขังกี่วัน ถ้ามันขังน้อยลงมานี่ แสดงว่าผลการปฏิบัติของเราเกิดแล้ว" ใช่ไหม คุณชัยณรงค์ โอ้ะ! อย่าง "ชัยณรงค์" นี่ อย่างสมัยก่อนว่า "ไอ้สรชุ่ย" นี่ ๓ ปีไม่หายโกรธเลย ใช่ไหม อ้าว! เวลานี้เราอาจจะเหลือ ๑๐ นาที ๕ นาที ชั่วโมง สองชั่วโมง สามวัน สี่วัน ถ้าดูอาการลดมาอย่างนี้ แสดงว่าการรับ "ปฏิฆะ" ของเรายังแรงอยู่ แต่มันขังไม่นาน

    โกรธกับพยาบาทมี ๒ ตัว ใช่ไหม "ตัวโกรธ" นี่คือความไม่พอใจที่เราพบในเบื้องต้น นี่อารมณ์ที่ขังอยู่นะ ท่านเรียก "พยาบาทจองล้างจองผลาญ" เพื่อการแก้มือ ต้องดูไอ้ตัวพยาบาทนี่มันลดมั่งไหม กำลังมันแรงเท่าเดิม แต่วันเวลามันลดลงบ้างหรือเปล่า ระยะเวลาเหลือสั้นลงมานี่แสดงว่า การปฏิบัติของเรามีผลแล้ว ใช่ไหม
    แล้วก็ถ้าหากว่าเราใช้เวลานานๆ พยายามทำนานๆ เรื่อยๆ ไป มันก็จะมีผลลดตัวลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอันดับพอเขาด่าโกรธ โกรธเท่าเดิม แล้วเดี๋ยวเดียวมันหาย ใช่ไหม แล้วต่อมาจากนั้นมันก็จะถือว่าเขาด่า โกรธน้อยกว่าเก่า จนกระทั่งถึงขั้นว่าเขาด่าวันนี้มะรืนนี้ถึงเพิ่มเริ่มโกรธ นี่มี มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ "ด่าวันนี้ยังไม่รู้สึก พออีก ๒-๓ วันนึกได้ เอ๊ะ! วันนั้นมันด่ากูนี่หว่า เพิ่งนึกออก" ใช่ไหม อันนี้ อันนี้นี่เป็นอย่างนี้จริงๆนะ ผลการปฏิบัติมันค่อยๆ ลดลงไปจนกว่าจะหมด ใช่ไหม

    ไอ้ที่ว่าวันพรุ่งนี้ มะรืน มะเรื่อง "ไปนึกขึ้นได้ก็หมายความว่า ไอ้ตัวโกรธนี่มันดับลงไปมากแล้ว แต่ทว่ามันไม่หมด ที่ไม่หมด ก็มันเหลืออารมณ์ที่เป็นอนุสัย" อนุสัยนี่กำลังมันเบามาก พอจิตเราว่างสงัดขึ้นมาปั๊บ ก็นึกดู อ้อ! เมื่อคืนไอ้นั่นด่ากูนี่หว่า ใช่ไหม เพิ่งนึกได้ พอรุ่งขึ้นไปด่าเขา เขาไม่รู้เรื่อง ด่าเรื่องอะไรนี่ ใช่ไหม นี่มันค่อยๆ ลดตัวไปแบบนี้

    ผลที่จะพิสูจน์ "ต้องพิสูจน์ผลที่เราจะกระทบกับอารมณ์นั้นๆ" อย่างไอ้เรื่องการเสียดายของ ติดอยู่ในของก็เช่นเดียวกัน อันดับแรกๆ ถ้าเด็กหรือว่าใครทำของแตก เช่น ของมีราคาน้อยแต่เราโกรธโมโหหนัก แล้วต่อมาจนกระทั่งมันแตกเพล้งลงไปแล้ว มันก็โกรธเหมือนกันแต่มันยั้งใจทัน บอก เอ่อ! มันพลาดไปแล้ว แต่ว่าต้องดุต้องว่าต้องเตือนกัน ก็เพราะว่าไม่อย่างนั้นความพลั้งพลาดมันจะมีมาก อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ทำ ไม่ทำเสียก็ไม่มีวินัย ไม่อย่างนั้นต้องไม่วางวินัยพระไว้

    จนกระทั่งของมันตกเพล้งไปแตก จิตใจนึก ฮือ! มันเรื่องธรรมดา แต่ไอ้การยับยั้งด้วยการเตือนกันว่ากัน การดุกัน ก็ต้องมี เพราะเขารักษาความดี แต่เนื้อแท้ของใจมันไม่ใช่โกรธจริง นี่ก็ต้องค่อยๆ ลดไปตามนี้นะ ถ้าหากว่าอาการอย่างนี้มันปรากฎ ก็แสดงว่าความหลงของเรามันหายไปมากแล้ว "ไอ้ตัวที่จะโกรธจัดหรือว่าเสียดายจัดอะไรนี่มันมาจากตัวหลง"

    ถ้าฆ่าตัวโลภตัวหนึ่ง กับฆ่าตัวโกรธตัวหนึ่งได้ ตัวหลงก็ไม่ต้องไปฆ่ามัน ถ้าจะหลงมันมีกำลัง ความโลภกับความโกรธมันก็มีกำลังมาก ถ้าตัวหลงมันมีกำลังน้อย ไอ้ตัวโลภกับโกรธก็มีกำลังน้อยเบาไป ฉะนั้นการประหารกิเลสก็ประหาร ๒ ตัวหรือ ๓ ตัว ไอ้สองตัวนี่มันมีสภาพเหมือนกันคือ "ราคะ" ความรัก กับ "โลภะ" ความโลภ นี่มันตัวเดียวกันนะ

    อาตมาเคยพูดแยกกันไว้เสมอ ก็เพื่อความเข้าใจ ถ้าบรรดานักปราชญ์เขามาฟังๆ บางทีเขาจะหาว่าไอ้ห่วยนี่มันพูดส่งเดช มันตัวเดียวกัน ถ้าเราไม่แยกออกก็บางทีไม่เข้าใจ ใช่ไหม ถ้าเราไม่รัก เราก็ไม่อยากได้ ไอ้โลภะนี่เขาแปลว่าอยากได้ ถ้าไม่รักมัน เราก็ไม่อยากได้ นี่มันตัวเดียวกัน แต่ว่าที่พูดเขานิยมพูดแยกออกมา เพื่อให้เข้าใจ

    หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ วัดท่าซุง อุทัยธานี
    จากหนังสือ "ธรรมปฏิบัติ" เล่ม ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ หน้าที่ ๖๔ ถึง ๖๗
    คัดลอกโดย Thamma Sukkho


    *********************************************



     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 มิถุนายน 2018

แชร์หน้านี้

Loading...