วัดไตรสิกขาฯ ที่สกลนคร จุดประกาย “สวนป่าชุมชน”

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 สิงหาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b8aae0b8b4e0b881e0b882e0b8b2e0b8af-e0b897e0b8b5e0b988e0b8aae0b881e0b8a5e0b899e0b884e0b8a3-e0b888.jpg

    คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น

    ระหว่างนี้ ผมกำลังติดตามฟังเทศน์ของ “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ” ทางยูทูป หรือ ทางสมาร์ทโฟน (มือถือ) อยู่ เพราะทึ่งและงง ในความจำของท่าน ที่อ้างถึงกาพย์กลอนและคำผญาอีสานเก่าๆ ตลอดถึงคำบาลีในพระไตรปิฎกและภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วเกินกว่าวัสัยมนุษย์ทั่วไปจะทำได้

    คิดว่า ท่านสามารถที่จะใช้ภาษาเวียดนามและภาษาอื่นๆ ได้ด้วย เมื่อท่านต้องการ (เคยฟังท่านพูดเป็นภาษาเวียดนามและภาษาแขกตะวันออกกลาง)

    เมื่อคราวท่านช่วยแปลภาษาตะวันออกกลางเป็นภาษาอังกฤษเพื่อช่วยเหลือคนงานไทยในศาล ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งและน่างงเป็นอย่างยิ่ง

    ทั้งๆ ที่ท่านเรียนจบแค่ ป.4 (ไม่ได้เรียนต่อใดๆ)

    มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์สมภพกล่าวว่า การทำสมาธิช่วยให้ท่านเห็นข้อความต่างๆ (ในภาษาอื่นๆ) ได้อย่างชัดเจน จึงเอะใจว่า หรือเป็นความลึกลับทางจิตหรือทางฌาน?

    พระอาจารย์สมภพเคยบอกว่า(ฝัน) เห็นสภาพป่า ศาลา สระน้ำปรากฏในที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ที่วัดของท่าน)

    แต่ท่านใช้คำว่า “ฝันเห็น” (เหมือนต้องการป้องกันการเป็นอาบัติในเรื่องอวดอุตริมนุสสธรรม?)

    ที่ผมทึ่งและงงเป็นที่สุด คือการอ้างคำบาลีในพระไตรปิฎก ที่ท่านอ้างถึงได้มากมายในการเทศน์ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้

    ผมเคยเห็นครูบาอาจารย์บางท่าน (เมื่อครั้งเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์) ที่อ้างคำบาลีในพระไตรปิฎกเป็นคำตอบบ่อยๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นพุทธวจนะ ส่วนพระอาจารย์สมภพท่านอ้างบาลีที่อยู่ในท้องเรื่องอย่างนิทานได้ด้วย เช่นเดียวกับบทสวดต่างๆ ที่เป็นบาลี ท่านยกขึ้นอ้างพร้อมคำแปลทุกครั้ง เหมือนกางหนังสืออ่าน ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ถือโน้ตหรือกระดาษขึ้นพูด

    เคยเห็นท่าน “โพธิรักษ์” แห่งสันติอโศก อ้างพระไตรปิฎกประกอบการพูด แต่ก็เป็นการพลิกอ่านพระไตรปิฎกแปล (เช่นเดียวกับ นักวิชาการท่านอื่นๆ)

    ดูเหมือนว่า ทุกวันนี้พระอาจารย์สมภพอ่านพระไตรปิฎกฉบับบาลีโดยตรงเป็นหลัก สังเกตได้จากการบอกเล่ม บอกข้อ (ย่อหน้า)และบอกหน้า ของพระไตรปิฎกทุกครั้ง (อันที่จริง บอกเล่มก็เห็นจะพอ เพราะไม่มีใครตามไปอ่านตามท่านแน่ๆ และชื่อพระสูตรก็ไม่จำเป็นต้องบอก เพราะในพระไตรปิฎกฉบับบาลี ไม่มีชื่อพระสูตรเลยมีแต่ในฉบับแปล)

    เข้าใจว่า การอ่านพระไตรปิฎกก่อนบวชของพระอาจารย์สมภพคงอ่านฉบับแปล เพราะท่านสามารอ่านเข้าใจทันที และอ่านด้วยความกระหายใคร่รู้เป็นอย่างมาก ต่อมา ท่านคงอ่านเทียบเคียงกับฉบับบาลทำให้น่าสนใจอีกว่า เป็นวิธีเรียนลัดภาษาบาลีสำหรับผู้ต้องการอ่านพระไตรปิฎกบาลี โดยไม่ต้องเรียนตามหลักสูตรบาลีของพระเณรก็ได้

    การอ้างคำบาลีในพระไตรปิฎกและคำสวดพร้อมคำแปล (ทุกครั้ง) เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของธรรมบรรยายโดยพระอาจารย์สมภพ ทำให้เพิ่มความสนใจและศรัทธา (confidence) แก่ผู้ฟังเป็นอย่างมาก จำนวนผู้ฟังและผูปฏิบัติธรรมกับท่านจึงเพิ่มขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว

    เท่าที่ติดตามฟัง คิดว่า พระอาจารย์สมภพเป็นนักอ่านหนังสือคนหนึ่ง มีหนังสือหลายเล่มที่ท่านอ่าน เป็นหนังสือในภาษาอังกฤษและเป็นหนังสือใหม่ๆ แสดงว่า ท่านติดตามอ่านหนังสือของฝรั่งเป็นประจำ

    แม้ท่านจะเรียนจบแค่ ป.4 แต่ท่านก็อ่านทฤษฎีทางการเมืองและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อยู่ตลอดเวลา

    ชอบใจที่ท่านกล่าวครั้งหนึ่งว่า เรียนจบ ดร. กิเลสมันก็จบ ดร. จบปริญญาโท กิเลสมันก็จบปริญญาโท จบปริญญาตรี กิเลสมันก็จบปริญญาตรี “ผมจบป.4กิเลสมันก็ ป.4” ท่านว่า

    เพื่อจะบอกว่า ดีกรีจากการศึกษา เป็นแค่ “อัตตา” ของคน คือเป็นกิเลสที่ใช้อวดอ้างกัน

    พระอาจารย์สมภพ ปัจจุบันอยู่ในสภาพคนพิการ ท่านเป็นอัมพาตซีกซ้ายของร่างกาย ขาหัก(ตั้งแต่เป็นเด็ก) ถูกตัดม้ามทิ้ง (ด้วยอุบัติเหตุ) นิ้วมือ (บางนิ้ว) ถูกตัด ชิวิตไม่เคยแต่งงานมีครอบครัว (แต่ “หมอลำ” ที่เล่าประวัติของท่าน เอากลอนลำเรื่องอื่นไปต่อลำดับกับประวัติของท่าน ชวนให้เข้าใจว่า ท่านเคยเป็นพ่อหม้ายเมียทิ้ง และมีลูกอยู่ข้างหลัง?)

    พระอาจารย์สมภพเกือบจะมรณภาพ (เฉียดตาย) 3 ครั้ง ท่านพร้อมที่จะตาย

    ทุกวันนี้ พระอาจารย์สมภพทำงานหนัก ยิ่งกว่าพระและชาวบ้านทั่วไป คืนนั่งสมาธิ สวดมนต์ และเทศน์ทุกวัน (เวลาตี 2) รับนิมนต์ไปเทศน์และบรรยายธรรมไม่ได้ว่างเว้นในแต่ละวัน (บางวัน มีรายการซ้อนกัน 2-3 รายการ) ครั้งหนึ่งไปบรรยายธรรมที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นเวลา 30 วัน (30 รายการ)

    ในสภาพคนพิการทุกวันนี้ พระอาจารย์สมภพนั่งวิลแชร์รถเก้าอี้เข็นสำหรับคนป่วย ซึ่งลูกศิษย์ฝรั่งซื้อถวาย ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า

    นึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ป.อ. ปยุตโต ซึ่งกำลังทำงานหนักเช่นกัน

    พระเถระทั้งสองทำงานด้วย “มรณัสสติ” (พร้อมที่จะมรณภาพได้ทุกเมื่อ) ในขณะที่บางส่วนบางท่านกำลังหมกหมุ่นอยู่กับยศถาบรรดาศักดิ์และความสะดวกสบายกันอยู่

    พระอาจารย์สมภพนั้น เคยพยายามจะมรณภาพ (ในห้องที่กุฏิคนเดียว) ในท่าเข้าสมาธินั่ง เมื่อทำไม่ได้ก็เอนกายลงนอน ครั้งหนึ่ง ที่วัดพระธาตุเชิงชุม (ในเมืองสกลนคร) ท่านมีอาการจะสิ้นลม ได้ย่องขึ้นไปนอนบนกองไม้ไผ่ที่เขาจะทำงานก่อสร้าง นึกว่าจะสิ้นลมที่นั่น เรื่องเหล่านี้ท่านเล่าให้พระเณรและผู้ปฏิบัติธรรมฟังในตอนบรรยายธรรมตอนเช้ามืด

    ท่านเคยพูดว่า อยากจะมรณภาพให้สง่างามและสมศักดิ์ศรี คือมรณภาพอย่างมีสติ (สมกับเป็นผู้ได้เจริญสมาธิ)

    ระหว่างนี้ มีข่าวว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะยึดพื้นที่ป่าของวัดไตรสิกขาราม (ชื่อเดิมของวัด คือ “วัดไตรสิกขาทลามลตาราม”) ป่าและวัดไตรสิกขาฯ มีเนื้อที่ 700 ไร่เศษ

    แต่เดิม พื้นที่ป่าและวัดไตรสิกขาฯ เป็นที่แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม่ไม่มีน้ำ มีแต่ “หินแห่” (หินดำ-หินขาว เม็ดเล็กๆ) และดินลูกรังเคยเจาหาน้ำลึกกว่า 40 เมตรไม่พบน้ำ พระอาจารย์สมภพบอกว่า “ฝัน” เห็นน้ำพุงขึ้นมา ณ ที่หนึ่ง จึงให้เขาลองขุดอีก ได้พบน้ำในระยะลึกเพียง 5 เมตรเศษ จึงสระน้ำขนาดใหญ่เลี้ยงชุมชนอยู่จนทุกวันนี้และอุดมด้วยป่า (มีพรรณไม้หายากหลายชนิด) และสัตว์ป่านานาชนิด เช่น นกยูง กระรอก กระแต เป็นต้น

    ป่าที่นั่น ร่วมกันปลูกโดยพระเณรและชาวบ้าน (ทั้งนักเรียน และข้าราชการ) ในหลายจังหวัด ด้วยแรงบันดาลใจจากพระอาจารย์สมภพล้วนๆ

    สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ถือกฎหมายในเรื่องนี้

    จึงเข้าใจได้ว่า พื้นที่ป่าวัดไตรสิกขาฯ เป็นที่ ส.ป.ก.เมื่อเป็นที่ ส.ป.ก. ก็แสดงว่า พื้นที่สวนนี้ ถูกจัดสรรแจกจ่ายแก่ราษฎรในนามที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อให้ทำกิน (คนละประมาณ 50 ไร่) ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย (ตั้งแต่ประมาณปี 2536)

    ป่าวัดไตรสิกขาฯ อยู่ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลแพดและตำบลหนองบัวสิม อ.คำตากล้า

    พระอาจารย์สมภพเคยพูดล่วงหน้าว่า ให้ทำใจว่าทางการจะยึดพื้นที่ (ป่าปลูก) คืน วัดมีสิทธิ์ยึดครอง (ให้ตั้งจังหวัด) ในพื้นที่ 150 ไร่

    ต่อมา สำนักงานปฏิรูปฯ พบว่า มีการพูนดินขึ้นเป็นเนินกว้างเพื่อสร้างที่บรรจุพระธาตุขึ้นในพื้นที่นั้น จึงมีการเจรจากัน

    ทราบจากข่าวว่า ชาวตำบลแพดและชาวตำบลหนองบัวสิม ที่ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ดังกล่าว อยากให้วัดใช้พื้นที่เป็นที่ปฏิบัติธรรมต่อไปเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและเป็นประโยชน์แก่การเผยแผ่พุทธศาสนา

    จังหวัดสกลนครในแถบนี้ ไม่มีภูเขา พื้นดินแห้งแล้ง พระอาจารย์สมภพบอกว่า พระสายปฏิบัติหรือพระกรรมฐาน ซึ่งมีมากที่สุดในประเทศและชอบอยู่ตามป่า และถ้ำ (ในภูเขา) เช่น พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์หลุย พระอาจารย์ปั้น พระอาจารย์วัน ฯลฯ มักจะไม่ผ่านมาทางนี้ แต่ในอดีต พื้นที่แถวอำเภอคำกล้าน่าจะเคยเป็นป่า ระหว่างตำบลแพดและตำบลหนองบัวสิม ที่ ส.ป.ก.แถมนี้น่าจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่หมดสภาพ และรัฐเอามาทำเป็นที่ ส.ป.ก. แจกจ่ายให้ราษฏรทำกิน แต่เมื่อเป็นที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำ ไม่มีต้นไม้ จึงถูกทิ้งร้าง แล้วพระอาจารย์สมภพมาฟื้นฟูจนคืนสภาพป่า มีพรรณไม้เศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ไม้พะยุง ไม้ยางมา ไม้สัก ไม่ยางพารา หรือแม้แต่ปาล์ม เกิดขึ้นหนาแน่ เมื่อเป็นป่า มีน้ำ มีต้นไม้ สัตว์ป่าหลายชนิดก็มาอยู่อาศัย

    ผมเกิดความคิดว่า ผืนดิน เช่นนี้คงจะมีอีกมากมาย น่าจะมีกฎหมายอีกประเภทหนึ่งมารองรับ คือกฎฆมายสนับสนุน “สวนป่า” ควบคู่ไปกับกฎหมาย ส.ป.ก.

    คำว่า “สวนป่า” คือ “อาราม” นั่นเอง เป็นป่าเล็กๆ (ประมาณ 500 ไร่) ที่ชุมชนฟื้นฟูขึ้น ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ถ้ามีวัดอย่างวัดไตรสิกขาฯเป็นศูนญ์กลางก็จะดี เมื่อมีวัดเป็นหลักก็จะช่วยประสานชุมชนให้อยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน สวนป่านั้นก็จะกลายเป็น “สวนป่าชุมชน” เรียกตามชื่อวัด เช่น สวนป่าชุมชนวัดไตรสิกขาฯ นี่แหละ

    สวนป่าชุมชนนั้น จะมีชุมชนเป็นเจ้าของช่วยกันดูแลรักษา ก็จะเกิดป่าของรัฐ ชุมชน (ชาวบ้าน) และวัด คิดว่า พระอาจารย์สมภพคงจะไม่คิดละเมิดกฎหมาย เห็นแก่วัดอย่างเดียว

    ขอขอบคุณที่มา
    https://siamrath.co.th/n/97134
     

แชร์หน้านี้

Loading...