วาระบุญวาระกรรมของแต่ละคนสั้นยาวไม่เท่ากัน หากพลาดรอบนี้แล้ว ไม่รู้เมื่อไรจะมีโอกาสอีก

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 มีนาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,642
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,256
    ค่าพลัง:
    +25,968
    D747766D-3F7A-43D1-9832-E623148E92FD.jpeg

    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพไม่สามารถที่จะบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนในช่วงค่ำได้ เพราะว่าช่วงนั้นจะมีงานพิธีเปิดงานประจำปีปิดทองรอยพระพุทธบาทวัดท่าขนุน และงานทำบุญอุทิศอดีตเจ้าเมืองหน้าด่าน ๗ หัวเมือง จึงต้องขยับมาบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนในช่วงเช้านี้แทน

    พวกเราที่มาปฏิบัติธรรมในวันนี้ก็ถือว่าเป็นรุ่นที่ ๒/๒๕๖๖ แต่ว่าหลายท่านก็พลาดไปเพราะความนิ่งนอนใจของตนเอง ก็คือเมื่อมาถึงวัดแล้ว เข้าที่พักบ้าง เข้าห้องน้ำบ้าง บางคนก็มัวแต่โทรศัพท์หรือส่งไลน์แจ้งทางบ้านบ้าง ปรากฏว่าในศาลาแห่งนี้ กระผม/อาตมภาพนำเจริญพระกรรมฐานไปแล้ว

    พวกเราต้องเข้าใจว่าในเรื่องของวาระบุญวาระกรรมนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นวงเวียน คือการหมุนวนอย่างหนึ่ง อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า กิเลสคือ รัก โลภ โกรธ หลง ก่อให้เกิดกรรม คือการกระทำ เมื่อมีการกระทำก็ส่งให้เกิดผลแห่งการกระทำ ที่เรียกว่าวิบาก ในเมื่อมีวิบาก ย่อมส่งผลให้กิเลสสามารถเกาะกินได้ ก็หมุนเวียนกันไม่รู้จบในลักษณะแบบนี้

    แต่คราวนี้การหมุนเวียนที่กล่าวถึงในที่นี้ ก็คือวาระบุญวาระกรรมของพวกเราทั้งหลาย ที่กล่าวว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมนี่เอง ถ้าหากว่าวาระบุญมาหนุนเสริม ไม่ว่าเราจะคิด จะพูด จะทำอะไร ก็ง่ายดาย ประสบความสำเร็จไปหมด แต่ถ้าวาระกรรมเข้ามาสนอง จะคิด จะพูด จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด

    ยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติธรรมแล้ว วาระบุญวาระกรรมยิ่งสำคัญมาก เหตุก็เพราะว่าในวาระที่บุญส่งผล เราปฏิบัติธรรมก็จะก่อให้เกิดผลง่าย กำลังใจเกาะความดีได้ง่าย แล้วขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าผลบุญช่วงนั้นส่งผลมากจริง ๆ ก็อาจจะได้มรรคได้ผลกันไปเลย

    แต่พวกเราก็มักจะประมาท ปฏิบัติธรรมในลักษณะที่กระผม/อาตมภาพกล่าวไว้ว่า "ทำเหมือนกับแก้บน" ก็คือไม่จริงไม่จัง ทำแบบคนมีเวลามาก ประมาณว่าจะเริ่มเมื่อไรก็ได้ โดยที่ไม่ได้คิดถึงว่าความตายอยู่แค่ลมหายใจเข้าออก

    ถ้าหากว่าความตายเข้ามาถึง สิ่งที่เราคิดว่าจะทำ ก็ยังไม่ทันจะได้ทำ แล้วผลดีที่คิดว่าจะเกิด ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเกิดได้ ถ้าหากว่าวาระกรรมเข้ามาเบียดบัง ช่วงจังหวะที่ดีที่สุดของชีวิตได้เลยไปแล้ว ก็ต้องรอจนกว่าจะหมุนวนมาครบรอบใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไร

    ถ้าพวกเราลองนึกถึงภาพของสุริยจักรวาลของเราที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ประกอบไปด้วยดาวพุธ ดาวศุกร์ โลกของเรา ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวมฤตยู ดาวเกตุ ตอนหลังดาวพระยมเขาตัดออกไปแล้ว ก็เหลือแต่ดาวดาวอัฏฐเคราะห์ ไม่ถึงกับเป็นดาวนพนพเคราะห์

    ถ้าหากว่าเป็นดาวพุธ วงโคจรก็สั้นที่สุด ถ้าหากว่าอย่างโลกของเรานั้น ๓๖๕ หรือ ๓๖๖ วันก็ครบรอบ แต่ถ้าหากว่าเป็นพระเกตุ พระยมก็หลายปี ในเมื่อวาระบุญวาระกรรมของแต่ละคนสั้นยาวไม่เท่ากัน ตามแต่กรรมดีกรรมชั่วที่ทำมา พระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้พวกเราประมาท แต่พวกเราก็มักจะประมาทอยู่เสมอ เพราะลืมตัวว่าเราจะต้องตาย..!

    สำหรับญาติโยมหญิงชายก็ยังพอให้อภัย แต่ว่าพระภิกษุสามเณรที่บวชอยู่กับวัดท่าขนุนเองแท้ ๆ หาคนที่มาทันเจริญกรรมฐานได้ไม่กี่รูป นอกนั้นส่วนใหญ่ก็เสียงตามสายรอบเช้ามืดไปแล้วครึ่งหนึ่งบ้าง ไปจนจบไปแล้วบ้าง หนักกว่านั้นก็คือ บางทีทำวัตรจวนจะเสร็จอยู่แล้ว มาถึงยังไม่ทันจะคุกเข่ากราบพระ พวกก็อุทิศส่วนกุศลแล้ว ถ้าในลักษณะแบบนี้ โอกาสที่จะได้ดี อย่าว่าแต่ชาตินี้เลย อีกหลายชาติก็ยังเอาดีไม่ได้ เพราะว่าไปประมาทในการใช้ชีวิต..!

    ถ้าหากว่าวงจรของบุญเป็นระยะช่วงที่ยาวมาก กว่าจะหมุนเวียนวนมาบรรจบอีกทีก็นาน แล้วเรายังสร้างบุญไม่ทัน ไม่มีอะไรมาผ่อนเบาแรงกรรมที่จะเข้ามาสนองได้เลย ชีวิตเราก็จะลำบากแสนสาหัส แล้วก็ไปเที่ยวบ่นว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ? สวดมนต์ ไหว้พระ เจริญกรรมฐานอยู่ทุกวัน อยากจะถามว่าสิ่งที่เราทำสมควรกับสิ่งที่เราจะได้รับหรือไม่ ? สร้างกรรมไว้เหมือนกับภูเขาพระสุเมรุ สร้างบุญไว้เหมือนกับทรายเม็ดหนึ่ง แล้วจะไปค้ำภูเขาพระสุเมรุที่ล้มลงมาทับได้อย่างไร..!?

    ดังนั้น..สิ่งที่พวกเราทำ พึงสำนึกสำเหนียกอยู่เสมอว่าชีวิตนี้เป็นของน้อย จะสิ้นลงไปเมื่อไรก็ไม่แน่ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเรายังประมาทอยู่ อาจจะไม่ได้ความดีอะไรติดตัวไปเลย พูดง่าย ๆ ก็คือตายไปแบบเสียชาติเกิด..!

    ส่วนคนอื่น แม้ว่าจะเร็วกว่าเราแค่ก้าวเดียว แต่ว่าเขานั่งลงเจริญพระกรรมฐาน อย่างน้อยช่วงที่กระผม/อาตมภาพนำอยู่ ก็ยังระลึกถึงพุทธานุสติได้ อานิสงส์ยิ่งใหญ่มหาศาล ถ้ายิ่งสามารถทำให้ต่อเนื่องได้ ก็เหมือนอย่างกับน้ำสะอาดจำนวนมากที่เทลงไปในแหล่งน้ำสกปรก ก็ย่อมเจือจางความสกปรกนั้นให้ลดลงไป ถ้าได้ทำบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ ท้ายที่สุด น้ำสะอาดมีมากกว่า ก็ท่วมทับความสกปรกจนกลืนหายไป

    ก็แปลว่า ในเรื่องของการสร้างบุญนั้นไม่ได้ลบล้างกรรม แต่อาศัยกำลังบุญที่มีมากกกว่า ทำให้กรรมนั้นส่งผลไม่ได้ ชีวิตเราก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ถ้าหากว่ากำลังใจของเรามั่นคง ชีวิตในโลกหน้า คือชาติต่อ ๆ ไปก็มีความสุขความเจริญต่อไปด้วย หรือถ้าหากว่าสามารถที่จะปล่อยวาง ปลดกำลังใจออกจากการยึดเกาะทั้งปวง เราก็มีโอกาสที่จะหลุดพ้นเข้าพระนิพพาน

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร เป็นปัจฉิมโอวาท คำสอนครั้งสุดท้ายว่า วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ขอให้ทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

    แต่ปรากฏว่าเท่าที่สังเกตดู พวกเราถึงพร้อมด้วยความประมาท รอจนกระทั่งวัดจัดการปฏิบัติธรรมทีหนึ่งค่อยมา แถมยังมาแล้วก็ไม่ได้ทุ่มเทอีกต่างหาก ทำตัวเอ้อระเหยลอยชายไปวัน ๆ ไม่ได้คิดที่จะเอาดีอย่างแท้จริง ยิ่งพระภิกษุสามเณรบวชเข้ามาแล้วทำตัวเหมือนปลาตายลอยน้ำ คิดว่าปฏิบัติในคันถธุระ ก็คือศึกษาเล่าเรียนและหน้าที่ของตนแล้ว ก็ถือว่าบวชมาเป็นพระที่ดี ขอให้เข้าใจว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างแรง..!

    พระภิกษุสามเณรที่ดีจะต้องตั้งหน้าตั้งตาขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเอง พัฒนาให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีแต่ความดีความงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งท้ายที่สุด ถ้าสามารถดีถึงที่สุด เข้าสู่พระนิพพานได้ จึงจะถือว่าเป็นการบวชที่ไม่เสียทีที่ปฏิญาณตนว่าเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส

    ไม่เช่นนั้นแล้ว แค่ในส่วนของการสวดมนต์ ทำวัตร เจริญพระกรรมฐาน ก็ไม่สามารถที่จะมาให้ทันเวลาได้ แล้วอย่างอื่นจะมีประโยชน์อะไร ? ก็เพราะว่างานหลักของพุทธบริษัท ๔ คือการค้ำจุนพระพุทธศาสนา ในเมื่อเราจะค้ำจุนพระพุทธศาสนา เราต้องมีความแข็งแรงมากเพียงพอ ความแข็งแรงนั้นจะเกิดได้ก็จากการปฏิบัติในไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญา

    หลายท่านรักษาศีลได้ครบถ้วน บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็คิดว่าดีแล้ว ถ้าไปดูในอุทุมพริกสูตรนั่นเป็นแค่สะเก็ดเท่านั้น บุคคลที่รักษาศีลและทรงสมาธิภาวนาได้ ก็ยังไม่เข้าถึงแก่นธรรมอย่างแท้จริง บุคคลที่จะเข้าถึงแก่นธรรมอย่างแท้จริง ต้องปฏิบัติตนจนเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

    แล้วความเป็นพระโสดาบันก็ยังถือว่าประมาทมาก เพราะว่ายังต้องเกิดมาทุกข์ยากลำบากอีก ถึงแม้ว่าไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ว่าถ้านับดูอายุของพวกเราแล้ว แต่ละชาติต้องทุกข์ยากอยู่หลายปี ก็แปลว่าในส่วนของความเป็นพระโสดาบันนั้นยังไม่ดีจริง

    การเป็นพระสกทาคามีก็ยังต้องลงมาเกิดอีกวาระหนึ่ง ถ้าบรรดาเวรกรรมทั้งหลายประเดประดังมาให้เราชดใช้ในวาระนั้นในชาตินั้น ก็แปลว่ายังสาหัสอยู่..!

    แม้กระทั่งความเป็นพระอนาคามี ถึงไม่ต้องลงมาเกิด แต่ว่าการที่จะต้องรอวาระ รอเวลา ตามบุญตามกรรมที่ตนเองสร้างมาเพื่อจะเข้ามรรคผล เราลองนึกถึงคนที่ต่อคิวยาวเหยียดอยู่ว่าเมื่อไรจะถึงคิวของตนเอง จะมีความทุกข์ไหม ?

    วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายใหญ่สุดของการปฏิบัติธรรม เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวเอาไว้ว่า จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา คือการก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราทั้งหลายนับว่าห่างจากจุดหมายจนกระทั่งมองปลายทางไม่เห็น ถ้าหากว่าเดินทางรอบโลก ก็ไม่รู้ว่าจะต้องวนอีกกี่รอบกว่าที่จะไปถึง
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องตระหนัก และต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างที่สุด ในการที่จะนำพาตนเองไปสู่จุดหมายปลายทางให้ได้ แม้ว่าไม่สามารถไปถึงปลายทาง ก็ต้องให้เหลือระยะทางที่สั้นที่สุด เพื่อที่การเกิดของเราจะได้เหลือให้น้อยที่สุด ความทุกข์ยากที่เราจะต้องเผชิญจะได้ลดลงเหลือต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    .....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com

    ขอบคุณภาพจากคุณ ภัทร์ษกรณ์ จิระประเสริฐสุข
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...