วิกฤตมนุษยศาสตร์ ส่งผลให้ธรรมาภิบาลวิกฤต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 22 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,123
    กระทู้เรื่องเด่น:
    348
    ค่าพลัง:
    +64,476
    วิกฤตมนุษยศาสตร์ ส่งผลให้ธรรมาภิบาลวิกฤต

    คอลัมน์ สยามประเทศไทย

    สุจิตต์ วงษ์เทศ



    ใครต่อใครพากันพูดถึงธรรมาภิบาล นายกรัฐมนตรีก็พูดบ่อยๆ ว่าธรรมาภิบาลเป็นวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติที่คนไทยทั้งประเทศควรมี เพื่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

    เมื่อเป็นวัฒนธรรมตามที่ท่านนายกฯบอก ธรรมาภิบาลก็ไม่ได้อยู่โดดๆ ลอยๆ เป็นแท่งๆ หรือกลมๆ แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ อีกมากมายก่ายกองทั้งทางรูปธรรมที่มองเห็น จับต้องได้ และทางนามธรรมที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เรียกรวมๆ กว้างๆ ว่าวิชาความรู้ทางมนุษยศาสตร์ ประกอบด้วยประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ภาษา ศิลปะ ฯลฯ รวมทั้งศาสนา

    แต่แล้วก็อนิจจังทุกขัง เมื่อได้อ่านงานวิจัยของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากเว็บไซต์ที่มีผู้สำเนาตัวพิมพ์ส่งมาให้อ่านเรื่อง "ความเป็นไทย" กับวิกฤตมนุษยศาสตร์ มีความตอนหนึ่งสรุปว่า

    ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ไทยยังมีพลังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อชีวิตคนไทยและสังคมไทย ในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับ " ปัญญา" และ "อารมณ์ความรู้สึก"

    ขณะเดียวกันความรู้ทางมนุษยศาสตร์จำนวนมากที่ได้รับการสร้างขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จรรโลงโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทย เนื่องจากได้รับการสร้างขึ้นด้วยวิธีคิดที่มาจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ผู้เขียนจึงเห็นว่า การสร้างความรู้ทางมนุษยศาสตร์มีปัญหามากในระดับที่สามารถเรียกได้ว่า "วิกฤตมนุษยศาสตร์"

    "วิกฤตมนุษยศาสตร์" ที่อาจารย์สายชลวิจัยมาให้รู้ทั่วกันนี้ มีเหตุจากวิธีคิดเรื่องความเป็นไทยและชาติไทยที่หยุดนิ่งอยู่กับข้อเท็จ (ไม่มีข้อจริง) ของยุคอาณานิคมกับยุคสงครามเย็นต่อเนื่องกัน แต่นักมนุษยศาสตร์ไม่รู้เท่าทัน ไม่ปรับเปลี่ยนลักษณะล้าหลัง-คลั่งชาติ จึงไม่เอื้อต่อธรรมาภิบาล ด้วยเหตุนี้อาจารย์สายชลจึงมีความเห็นเสนอแนะว่า

    "หากวงวิชาการมนุษยศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลงตนเองมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยปรับเปลี่ยน "ความเป็นไทย" ให้มีพลวัตเพียงพอที่จะตอบสนองคนทุกกลุ่มที่ประกอบกันขึ้นเป็น "สังคมไทย" อย่างทันท่วงทีแล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งส่งผลให้สำนึกปัจเจกชนของไทยเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้คนไทยขาดความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคนอื่น กับสังคมไทย และกับมนุษยชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คนไทยแต่ละคนก็จะทำทุกอย่างให้ตัวเองอยู่รอด โดยมีอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลไปตามความจำเป็นเฉพาะหน้า

    เมื่อถึงตอนนั้น "ความเป็นไทย" ที่วงการมนุษยศาสตร์มอบให้ ก็จะเป็นเพียง "ความจริง ความดี ความงาม" ที่น่าเบื่อหน่ายที่ถูกบังคับให้เรียน ให้ภาคภูมิใจ และให้ยึดมั่นหวงแหนโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอา "ความเป็นไทย" ไปวางไว้ตรงไหน ในวิถีชีวิตที่แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "ความเป็นไทย" อีกแล้ว นอกจากเอาไว้ขายนักท่องเที่ยว หรือขายให้แก่คนไทยที่ยังมีความต้องการที่จะบริโภค "ความเป็นไทย" เป็นครั้งคราว"

    วิกฤตมนุษยศาสตร์นี่เอง ส่งผลให้ธรรมาภิบาลวิกฤตไปด้วย จึงเห็นแต่ความเป็นไทยเหลี่ยมจัด แล้วกะล่อนอยู่ทุกวงการทั้งซ้าย-ขวา และวิชาการรัฐ-เอกชน คนเขียนหนังสือก็ไม่เว้น



    ---------------------

    ที่มา:มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra09221149&day=2006/11/22
     

แชร์หน้านี้

Loading...