วิธีจับ " สติ " โดยใช้ (วงกลม )

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มะลิหอม, 21 กรกฎาคม 2005.

  1. มะลิหอม

    มะลิหอม สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +14
    สติ สมาธิ ปัญญา[​IMG]



    ...เรานั่งอยู่มันละเอียด มันสงบ สงบในองค์ของฌาน แม้ว่าเราเดินไปเดินมาเราก็มีสติอยู่ มันสงบได้เพราะว่ามันมีสติอยู่อันนั้นมันเป็นองค์ทำให้เกิดปัญญา เราจะต้องบำเพ็ญมันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ คล้ายๆว่าเราหยุดเหมือนไม่หยุด เราเลิกเหมือนไม่เลิก เหมือนกับสายบัวนั้น จับสายบัวขึ้นมาแล้วหักพั๊บ มันก็ขาดจากกันนะ แต่ส่วนละเอียดของใยบัวนั้นมันยังติดต่อกันนะ นั่นมันติดต่อกันอยู่อย่างนั้น

    เมื่อเราออกจากสมาธิแล้ว แต่สำนึกว่ายังไม่ออก มันออกแต่การพูด ส่วนความสำนึก ความรู้สึกของเราก็เหมือนกับสายบัวที่หักออกจากกันอย่างนี้ มันก็ขาดจากกัน แต่ส่วนละเอียดของสายบัวใยบัวนั้นยังติดต่อกันอยู่ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ที่เราเรียกว่าเราเลิกจากสมาธิ มันไม่เลิก เป็นคำพูดโดยปริยาย ความเป็นจริง ความรู้สึกนึกคิดของเรานั้นนะ ความรู้สึกของเราในการกระทำเพียรนั้นมันยังติดต่อกันอยู่ เมื่อติดต่อกันอยู่เมื่อไร " สติ " ก็ยังมีอยู่ เมื่อสติมันมีอยู่ " สมาธิ " มันก็ยังมีอยู่ ประสบกับทุกข์เราก็รู้จัก ประสบสุขเราก็รู้จัก พอประสบอารมณ์ทุกข์ก็นำอารมณ์นั้นกลับมาบ้าน พอจิตของเรากระทบอารมณ์ รู้สึกมีอารมณ์แล้วนะ มันก็กลับมาสู่ที่ของมัน อยู่กับที่นั่นแหละ เมื่อมีอารมณ์มากระทบอีกก็รู้อีก เมื่อรู้แล้วมันก็จัด " สมาธิ " ของมัน อยู่ในความสงบอย่างนี้ตลอดวัน ตลอดกลางวันกลางคืน มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ ทำไมมันจะไม่เกิดปัญญาล่ะ มันก็เกิดซิ



    อาตมาเชื่อแน่ว่าคนเราปฏิบัติพรรษาสองพรรษานี้ การปฏิบัติอย่างแท้จริงอาจจะไม่ถึง ๑๕ วันเลย อยู่ไปสองพรรษาสามพรรษา...อยู่ไปอย่างนั้นแหละ แต่การปฏิบัติจริงๆอาจไม่ถึงสิบห้าวันเลยมั้ง มันขาดมันจะไม่ติดต่อ อาการของจิตที่มันติดต่อกันอย่างนี้ ปีหนึ่งจะมีกี่วันละ ถ้าเราไม่รู้จักอันนี้ โดยมากออกจากสมาธิแล้วนึกว่าออกก็ออกเลย จิตมันก็ไม่ติดต่อกัน มันไม่เกิดเป็นวงกลม

    อาตมาเคยไปนั่งฟังพักเดียวเท่านั้น พระอาจารย์มั่นท่านพูดให้ฟังว่า " ขณะปฏิบัตินั้นจะต้องให้เป็นวงกลมนะท่านนะ "อาตมาได้ยินเสียงนั้นมากระทบ ท่านพูดว่า " เป็นวงกลม " เท่านั้น เกิดความรู้สึกหลายอย่าง วงกลมนี้กว้างไม่ถึง ๒ เมตร แต่ว่าวงกลมนั้นอาจจะยาวมากที่สุด เหมือนวงล้อของเกวียนนั้นแหละโคมันจะลากไปยาวจนกว่าเกวียนจะพังหรือโคจะตายนั่นแหละ มันไปสิ้นสุดตรงนั้น



    ถ้าโคยังไม่ตาย เกวียนนั้นไม่พัง รอยเกวียนมันยาวไปไม่มีจบสักทีเลย ฉะนั้นวงกลมเป็นอย่างนี้ มันยาวมันก็ออกจากวงกลม วงกลมนี้มันก็กลายเป็นความยาว ความยาวนั้นเมื่อเราพิจารณาแล้วมันจะเป็นวงกลม การภาวนาที่ท่านว่าให้เป็นวงกลมนั้นน่ะ คือให้มี " สติ " ติดต่อกันไม่มีเสร็จสักทีเลย คนเราหากว่าขาดสติแล้วก็เป็นบ้าเลย ขาดสติ ๕ นาที ก็เป็นบ้า ๕ นาที เอ้า!...ลองดูซิ ผู้มีสติคืนมานั้นจะหายบ้า เมื่อใครไม่มีสติควบคุมอยู่จะเป็นบ้าเลย ขาดไปชั่วโมงหนึ่งหรือสองวันสามวัน ก็เป็นบ้าชั่วโมงหนึ่งหรือสองวันสามวันทั้งนั้นแหละ " สติ " นี้เป็นของสำคัญมากกว่าเขามากที่สุดละ ดังนั้นอาตมาพิจารณาว่า การภาวนาเป็นวงกลมนี้ลึกซึ้งที่สุดที่พระอาจารย์มั่นท่านสอน แต่คนเราก็ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาถึงขนาดนั้น เมื่อเราเข้าใจในธรรมะของท่านข้อเดียว " มันเป็นวงกลม " วงกลมมันจะจบตรงไหนล่ะ มันติดต่อกันทั้งนั้นแหละ...วงกลมนี้ วงกลมมันยาวที่สุดนั่นแหละ มันกว้างที่สุดนั่นแหละ แล้วมันก็แคบที่สุดอีกแหละ มันรู้ทั่วถึง ทำไมปัญญามันจะไม่เกิด



    ถ้าพิจารณาอยู่ไม่หยุดวงกลมมันจะยาว ปัญญามันจะเกิดทุกแง่ทุกมุม เมื่อเราเห็นสภาพอย่างนี้อยู่ในจิตของเราแล้ว ก็ไม่มีอะไร มันรู้จักอารมณ์ทุกๆอย่างเมื่อเราตามรักษาอยู่ อย่างตรงนี้...ลานวัดของเราตรงแคบๆนี้ เราพยายามกวาดมันอยู่เสมอ พยายามกวาดมันอยู่ ใบไม้ใบไร่มันก็ไม่มี เมื่อเรากวาดไปแล้วก็ดูอยู่ ใบไม้ที่มันปลิวมาตกเมื่อไรเราก็รู้จัก เราก็หยิบมันออกเสีย ก็เพราะเรารักษาอยู่

    อาการเช่นนี้ ลานวัดที่เรารักษานั้นมันก็จะไม่รกรุงรัง เพราะเรารักษา ตามรักษาอยู่ จิตใจเรานั้นมันจะสว่าง มันจะสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ก็เพราะว่าเรารักษามันอยู่ ไม่มีความประมาทอยู่ ...คนประมาทแล้วก็เหมือนคนตาย คนไม่ประมาทนั้นก็เหมือนคนไม่ตาย โอวาทครั้งสุดท้ายนั้นท่านกล่าวว่า " ภิกษุทั้งหลาย ท่านจงยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น " ก็เนื่องจากการภาวนา มีความรู้สึกว่ามันเป็นวงกลม...ไม่หลงอารมณ์ ถ้าไม่หลงอารมณ์มันก็ต้องรู้อารมณ์ ถ้าเราไม่รู้อารมณ์เราก็หลงอารมณ์ ถ้าเราเป็นวงกลมอยู่แล้วนะมันก็รู้อารมณ์ เมื่อรู้อารมณ์มันก็ไม่หลงอารมณ์ในเวลานั้นเราอยู่ด้วย " สติสัมปชัญญะ " ตลอดกาล ตลอดเวลา

    ถึงแม้ว่าเราจะจำวัดหลับไป...ตื่นขึ้นมา อันนี้มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ จะเดินเหินไปทางไหน มองดูจิตของเจ้าของว่ามันมีความรู้สึกเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ทำไมปัญญามันจะไม่เกิด ทำไมมันจะไม่รู้ ทำไมมันจะไม่เห็น ที่เราภาวนาว่าไม่รู้ไม่เห็น ก็เพราะว่าเราหนีจากที่นี่ เราดูที่ความจริงมันเป็นอยู่อย่างนี้สารพัดอารมณ์ทั้งหลายมันก็ไหลเข้ามาโดยไม่รู้สึกตัว รู้ก็รู้ไม่จริง รู้แต่อารมณ์ ไม่รู้จักแยกอารมณ์กับจิตของเราออก กรณีความรู้สึกอย่างนี้มันจะรู้อารมณ์รู้จิตของเรา อันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นอารมณ์ อารมณ์มันเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ เราก็แยกออกจากกันได้ อันนี้มันเป็นกิเลส อันนี้มันไม่ใช่กิเลส อันนี้มันเป็นอารมณ์ อันนี้มันไม่ใช่อารมณ์ อันนี้เป็นความรู้ อันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นอารมณ์ มันก็แยกออกเป็นส่วนๆ

    ถึงแม้เราจะทำอะไรก็ช่างมันเถอะ ถ้ามีอารมณ์ เรารู้อารมณ์แล้วพูดไป พอพูดจบพั๊บมันก็กลับมาสู่บ้านเดิมของมัน มันไม่ส่งออกไปข้างนอก มันไม่วิ่งตามอารมณ์ไปทั่วทิศ ประโยชน์อันนี้ก็คือ กลับมาอยู่ที่ของมัน เหมือนกับแมงมุมน่ะ แมงมุมมันจะทำบ้านของมันเป็นตาข่ายใหญ่ๆ สำหรับจับสัตว์ไว้กิน เมื่อมันทำเสร็จแล้ว แมงมุมมันก็มาจับอยู่กลางบ้าน เฉยอยู่ เหมือนกับเศษอะไรอันหนึ่งที่มันทิ้งไว้อยู่ พอสัตว์แมลงต่างๆมันบินมาถูกเครื่องจับสัตว์ของมัน ถูกบ้านของมัน มันจะมีความกระเทือน แมงมุมก็ตื่นตัววิ่งออกไปจับเอาสัตว์ฆ่าแล้วเก็บไว้ เสร็จแล้วก็กลับมาอยู่ที่เก่าของมันอีก อยู่ไปๆ เมื่อแมลงบินมากระทบอีก มันก็รู้สึกอีกมันก็วิ่งออกไปจับเอาสัตว์นั้นมาอีก พอจับสัตว์ไว้ดีแล้ว มันก็กลับมาอยู่ที่เก่าของมันอีก สติของเราก็เป็นอย่างนั้น พอมีสติอยู่มันรู้จักอารมณ์ธรรมชาติ ที่ว่าไม่ชอบใจก็รู้จัก รู้แล้วก็กลับมาอยู่ที่ของเรา อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ที่ชอบใจ มันก็รู้จัก รู้แล้วมันก็กลับมาอยู่ที่ของเราเสมอ อย่างนี้ตลอดเวลา อันนั้นธรรมชาติสัตว์มันเป็นอย่างนั้น มันจับอาหาร...มันจับสัตว์เป็นอาหาร อันนี้ก็เหมือนกันเรารู้จักอารมณ์แล้วก็ต้องอยู่อย่างนี้ เมื่อพูดแล้วทำแล้วก็กลับมาอยู่ที่ของเรา อย่างเราที่ทำงานอะไรต่างๆ เมื่อเราทำไป ความรู้สึกเราก็รู้จัก เพราะรู้อยู่เสมอ มันก็เป็นคนไม่ประมาทเท่านั้นแหละมันก็เป็นเรื่องที่ว่า ภาวนาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ติดต่อกันเป็นวงกลมอย่างนั้น ที่มันจะพร่องอยู่ก็เรียกว่ามันไม่เอาจิตจดจ่อมัน วันนี้หนึ่งภาวนาให้เป็นวงกลม สองให้คัดเอาอันดีๆไป อะไรที่มากระทบก็ให้โยมคิดว่า...อันนี้มันไม่เที่ยง เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นเป็นกัมมัฏฐานอยู่ในความรู้ของเจ้าของ ตรงนี้แหละ ตรงที่จะให้เกิดปัญญา ปัญญามันก็เกิดไปจากนี้ นอกเหนือนี้ไปเป็น " วิปัสสนา "
     
  2. โอมพุทโธกิเตศวร

    โอมพุทโธกิเตศวร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    140
    ค่าพลัง:
    +198
    จักรแห่งธรรม ( เพื่อชนะกิเลส ไม่ใช่เพื่อชนะผู้ใด )

    ............................. วงกลมการวิ่งของจิต ไปที่สิ่งกระทบภายนอก(ณ หู ตา จมูก ลิ้น กายสัมผัส สมองคิด ) แล้วกลับมาที่ใจ (ตัวรู้ภายใน) มีสติสัมปชัญญะ ไม่ถูกมัดติดด้วยแรงตัณหา ไม่ปรุงด้วยกิเลส เป็นรอบหนึ่งๆ คือ จักรธรรม
    ..............................แต่เมื่อ วงกลมการวิ่งของจิตไปยังสิ่งกระทบภายนอก แล้วกลับมารู้ที่ใจ(ตัวรู้ภายใน) ขาดสติ สัมปชัญญะ ถูกตัณหาร้อยรัด รับผลจากการปรุงแต่งของกิเลส การรู้ครั้งนั้นจะมีทุกข์ตามมา นั่นคือ จักรมาร

    ..............................ที่แท้ สภาวะที่จะทุกข์ หรือ จะเหนือทุกข์ สามารถพบได้ตรงนี้

    วันนี้ครบรอบวันประกาศธรรมจักรแห่งองค์พระบรมศาสดา หรือวันอาสาฬหบูชา เราผู้ใช้นาม โอมพุทโธกิเตศวร ขอร่วมหมุนกงล้อนี้ เป็นปฏิบัติบูชา..............................
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...