ศาสนา.....และ ชีวิตวิทยา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 3 กันยายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    ศาสนา.....และ ชีวิตวิทยา
    โดย พระอธิการสุรทิน ญาณสุโภ
    วัดสวนร่มบารมี ๙๙ หมู่ ๑ ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก
    วิทยาการที่ว่าด้วย...ชีวิต
    การดำเนินชีวิตและจุดหมายปลายทางอันชีวิตควรดำเนินไปให้ถึงนั้น เป็นวิทยาการอันสูงสุดยิ่งกว่าวิทยาการใด ๆ เท่าที่มนุษย์ได้แสวงหา และที่สูงส่งอย่างยิ่ง ก็คือ วิชาการอันทำให้มนุษย์พ้นทุกโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องวกวนเวียนอยู่ในทุกข์อย่างน่าเบื่อหน่ายโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด.
    ชีวิต..มีเงื่อนไขมาก ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเหตุปัจจัยต่างเป็น ............ หรือ Conditionality อยู่เสมอ การตอบปัญหาชีวิตจึงต้องตอบแบบ "วิภัชชวาท" คือ แยกตอบอย่างมีเงื่อนไขเสียเป็นส่วนมาก จึงจะทำให้คำตอบนั้นค่อนข้างสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีปัญหาว่า ควรให้นักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่กับพ่อแม่ดีกว่าหรืออยู่หอพักดีกว่า ถ้าจะให้ตอบยืนยันไปในข้างใดข้างหนึ่ง ก็เป็นการตอบปัญหาชีวิตแบบ "เอกังสวาท" เป็น Unconditionality แต่ในชีวิตจริง ๆ ของคนเรา มีเงื่อนไขอยู่มาก ต้องมองปัญหาหลาย ๆ ด้าน และดูเหมือนว่า ในโลกียวิสัยนี้ ไม่มีอะไรเป็นจริงโดยเด็ดขาด โดยไม่มีเงื่อนไข แม้แต่ในสิ่งที่เรายอมรับว่าจริงแล้ว ก็ยังมีข้อยกเว้นอีก และ ข้อยกเว้นของสิ่งต่าง ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ นี้เองที่เราเรียนไม่รู้จบ เราจึงวินิจฉัยอะไร ๆ ผิดพลาดอยู่เสมอ.
    ประสบการณ์และความรู้ในชีวิตของคนแต่ละคนมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความเป็นไปของชีวิตมนุษย์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีความวิจิตรพิสดารสุดจะพรรณาได้ เพราะมนุษย์ มีตัณหาอันวิจิตร มากมายหลากหลาย จึงได้สร้างกรรมอันวิจิตรมากมายหลากหลาย กรรมอันมากมายหลากหลายนั่นเอง สร้างสรรค์ให้สัตว์ทั้งหลายเป็นไปต่าง ๆ ยากที่จะรู้ ยากที่จะเข้าใจ ผู้รู้แล้วเข้าใจแล้ว จะแสดงชี้แจงให้ผู้อื่นรู้ตาม เข้าใจตามก็แสนจะยาก เพราะสัตว์ทั้งหลาย ถูกคล้องไว้ด้วยเชือกอันเหนียวแน่น คือ ทิฎฐิอันคนปักใจเห็น ปักใจเชื่อ เพราะได้ฟังมา ได้ชอบใจมา ได้ถือสืบ ๆ กันมา เป็นต้นว่า "นี้เท่านั้นที่เป็นจริง อย่างอื่นเท็จหมด "สัจจาภินิเวส" หรือ Dogmatieiam จึงฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์แต่ละคนอย่างยากที่จะรื้อถอนได้
    ทำอย่างไร ? จึงจะเข้าใจชีวิตได้พอสมควร เราจะต้องเฝ้าสังเกตุ พิจารณาความเป็นไปแห่งชีวิต ทั้งของตนและของผู้อื่น อย่างรอบคอบและด้วยใจเป็นธรรม รู้จักโยงเหตุไปหาผล และ จัดผลได้แล้ว สาวไปหาเหตุอยู่เสมอ ๆ ลึก ๆ แล้วมนุษย์เราย่อมรู้อยู่บ้างเหมือนกันว่า ผลอะไรเกิดขึ้น เพราะเหตุอะไร แต่เขาไม่ค่อยยอมรับว่า เขาเป็นคนทำมันขึ้นมาเองในส่วนที่ไม่ดี แต่ในส่วนที่ดี เขาจะรีบรับและก็โฆษณาที่เกินจริงไปก็มาก....
    มนุษย์เรา จะเข้าใจชีวิตได้อย่างไร? ถ้าเขามัวคร่ำครวญหา เรียกร้องเอา แต่ผลดี ๆ ไม่ยอมรับ เบี่ยงเบน ผลักไสไล่ส่งผลร้ายแม้ที่เขาก็รู้ว่า เขาก่อเหตุนั้นขึ้นมาเอง ใจเขาจะสงบได้อย่างไร ในเมื่อเขาอ้าแขนรับแต่เรื่องดีและวิ่งหนีผลร้าย ใจจ้องแต่จะตะครุบเอาความสุข เลี่ยงหนีความทุกข์อยู่ร่ำไป โดยมิได้ตระหนักว่า สุข-ทุกข์ เป็นฤดุกาลของชีวิต เพื่อให้เราได้เรียนรู้ชีวิตและเข้าใจชีวิตอย่างถูกต้องถ่องแท้ในที่สุด.
    ภัยใหญ่ของมนุษย์คือ ความทุกข์ การดิ้นรนขวนขวายของมนุษย์ โดย ประการต่าง ๆ ก็เพื่อบำบัดความทุกข์ หรือ แก้ทุกข์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ หรือ ที่คาดว่าจะมีมาในภายหน้าที่มนุษย์วิตกกังวลถึง และวิตกกังวลถึงทุกข์ที่ยังมองไม่เห็นนั่นเอง สิ่งที่มนุษย์เราเผชิญหน้าอยู่ทุก ๆ วัน และ เป็นปัญหาประจำวันก็คือความทุกข์ กับวิธีแก้ไขทุกข์หรือความดับทุกข์นั่นเอง เมื่อความทุกข์ดับลงหรือลดลง ครั้งหนึ่งเราก็เรียกว่าสุข ความทุกข์เป็นของจริง แต่ความสุขเป็นสิ่งสมมุติ.
    ศาสนาทุกศาสนาเกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ของมนุษย์ แม้จะเป็นวิธีแก้ที่ต่างกันก็จริง แต่จุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือ แก้ปัญหาเรื่องทุกข์นั่นเอง ระบบเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ปรัชญา สังคม ตลอดถึงการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก็เพื่อแก้ทุกข์ของมนุษย์นั่นเอง หรือ อย่างน้อยก็เพื่อให้ความขัดข้อง ความไม่สะดวกต่าง ๆ ลดน้อยลง แต่สิ่งเหล่านั้นมีทั้งคุณและโทษเจือปนกันอยู่ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง.
    ศาสนาเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ตรงที่ อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาความทุกข์ของมนุษย์นั่นเอง โดยเฉพาะควาทุกข์ทางใจ แม้ความทุกข์ทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยหลักธรรมทางศาสนา ถ้ามีคนมีคุณธรรมพอ มีสุขภาพจิตที่ดีพอ ปัญหาอื่น ๆ ก็จะลดลงได้เอง ถ้าเราสามารถพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นได้แล้ว ทุก ๆ อย่างจะบรรลุเป้าหมายได้หมด คุณธรรมเป็นแกนของระบบต่าง ๆ ทั้งหมด ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และ ชีวิตส่วนบุคคล รวมทั้งชีวิตครอบครัวด้วย.
    มนุษย์เราต้องการสันติสุขส่วนบุคคลและสันติภาพของสังคม ๒ อย่างนี้ กล่าวได้ว่า เป็นเป้าหมายของชีวิตและสังคม สันติสุขส่วนบุคคลนั้นในฐานะเป็น ฆราวาส เราก็ใช้หลักธรรมที่เรียกว่า "ฆราวาสธรรม" คือหลักธรรมสำหรับฆราวาส ๔ ประการคือ:-
    ๑. สัจจะ ๒. ทมะ ๓. ขันติ ๔. จาคะ
    ๔ ประการนี้ มีความหมายดีมาก สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน คือ สอนให้เราเป็น คนจริง ทำจริง พูดจริง และจริงใจ ทั้งต่อตนเอง และ ต่อผู้อื่น อันนี้ คือ สัจจะ ต่อไปสอนให้ฝึกคนที่เรียกว่า ทมะ ฝึกให้ใช้การได้ดีเหมือนการฝึกสัตว์ เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์ ทีแรก ๆ มันต้องพยศ เราฝึกให้หายพยศก่อน ตัวของเราเองก็พยศมาก ในการฝึกนี้เราต้องใช้ธรรมะ อีกข้อหนึ่งเข้ามาช่วย คือ ขันติ ความอดทน มิฉะนั้นเราจะฝึกไม่สำเร็จ เราจะท้อถอยเสียก่อน นอกจากนี้เราจำเป็นต้องเสียสละสิ่งที่เราควรเสียสละ เช่น สละความชั่ว ความเคยชิน ที่ไม่ดีออกไปเรียกว่า จาคะ ความเคยชินนั้นเหมือนเชือกที่ฝั้นเป็นเกลียวทีละเกลียว นานวันไปก็ยากที่จะทำลายมันได้ เพราะฉะนั้น ขอให้ฝึกให้ชิน ในทางที่ดีไว้ สันติภาพของสังคมนั้น ถ้าเราต้องการบรรลุเป้าหมายนี้ เราต้องใช้ ธรรมะที่เรียกว่า ทิศ ๖ หรือ หลักปฏิบัติ สำหรับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ๖ คู่ ฝรั่งเรียกธรรมกลุ่มนี้ว่า Social Philosophy of Buddhism ปรัชญาสังคมของพระพุทธศาสนา อันที่จริง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ทุกระดับ สำหรับบรรลุประโยชน์ทุกประการ ที่บุคคลต้องการ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักธรรม สำหรับที่จะบรรลุประโยชน์นั้น ๆ เหมือนยาที่เหมาะแก่โรคนั้น ๆ เมื่อกันยาอย่างถูกต้อง ก็ทำให้หายโรคได้ เรื่องของชีวิตประจำวันก็เช่นเดียวกัน เช่น ถ้าต้องการเป็นที่รักของผู้อื่น อย่างไม่จืดจางก็ต้องใช้หลักที่เรียกว่า สาราณียธรรม ๖ และ สังคหวัตถุ ๔ พรหมวิหาร ๔ เป็นต้น..
    มาถึงตอนนี้ ขอแวะมาพูดเรื่อง ความหมายของศาสนา ปรัชญา และ จริยศาสตร์ เล็กน้อย ศาสนานั้น ตามตัวอักษา แปลว่า คำสั่งสอน หรือ แปลว่า การปกครองก็ได้ ในความหมายแห่งคำสั่งสอนนั้น เรารู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว คำสั่งนั้นเป็นวินัย คำสอนเป็นธรรมะ ในความหมายแห่งการปกครองนั้น หมายถึง การปกครองตนเอง เพื่อให้การปกครองตนเองเป็นได้ด้วยดี เราจะต้องฝึกตนให้เป็นคนมีวินัยในตน (Self Discipline) สามารถบังคับตนเองให้ได้ เว้นสิ่งที่ควรเว้น ทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ควรเว้น และ ไม่เว้นในสิ่งที่ควรทำ หลักพระพุทธศาสนาโดยย่อก็มี ๓ หลักใหญ่ ๆ คือ เว้นความชั่ว ทำความดี และ ทำใจให้บริสุทธิ์ ลำพังเว้นชั่วทำดีนั้นก็ยังไม่พอ ยังไม่พอที่จะพ้นความทุกข์ได้ เพราะคนชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว คนดีก็ทุกข์อย่างคนดี ต้องทำใจให้บริสุทธิ์ จึงจะพ้นทุกข์ โดยประการทั้งปวงได้
    ปรัชญา แปลว่า ความรักในความรู้ หรือ ความรู้อันประเสริฐ ในความหมายแห่งปรัชญาตะวันตก หมายถึงความรักในความรู้ การแสวงหาความรู้ ส่วนในปรัชญาตะวันออก หมายถึง ความรู้อันประเสริฐ ซึ่งรู้แล้วทำให้พ้นทุกข์ได้ ไม่ต้องวนเวียน แหวกว่ายอยู่ในทุกข์อีกต่อไป เช่น พุทธปรัชญา เป็นต้น
    จริยศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติ มีลักษณะคล้ายคลึงกับศีลธรรม แต่จริยศาสตร์ ช่วยให้ข้อมูลอันถูกต้อง แก่ศีละรรมเพื่อให้ฝ่ายศีลธรรม ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้ง ๒ อย่างนี้ อาศัยกันเหมือนเทคนิคการแพทย์กับอายุรแพทย์ นักศาสนาได้อาศัย ข้อมูลจากจริยศาสตร์เป็นอันมาก จึงสามารถยืนยัน คำสอนของตนว่าถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และสอดคล้องกับอุดมคติ.
    ทั้ง ๓ อย่างนี้ คือ ศาสนา ปรัชญา และ จริยศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ในศาสนาแต่ละศาสนาก็มีปรัชญาของตนอยู่ ไม่มีศาสตร์อันใดที่อยู่นอกขอบเขตของความคิดและไม่มีความคิดใดอยู่นอกขอบเขตของปรัชญา สำหรับจริยศาสตร์ คือหลักแห่งความประพฤตินั้น ก็มีอยู่ในทุกศาสนาและทุก ๆ สำนักปรัชญาด้วย เช่น จริยศาสตร์ของ โซเครตีส เพลโต้ อริสโตเติล จริยศาสตร์ของ เหลาจื้อ ขงจื้อ และ จื้ออื่น ๆ ในสำนักปรัชญาจีน ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง ก็เป็นปรัชญาของพระในศาสนาคริสต์ทั้งนั้น.
    สำหรับ จริยศาสตร์ ใน พระพุทธศาสนา นั้นพูดอย่างคร่าว ๆ แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นต้นได้แก่ ศีล ๕, ขั้นกลางได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ และขั้นสูงคือ มรรคมีองค์ ๘ ทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้ เป็นไปเพื่อสันติสุขส่วนบุคคล และ สันติภาพของสังคมทั้งสิ้น มนุษย์ต้องมีหลักใจ จึงจะสามารถ ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ มนุษย์ต้องการความรัก ความอบอุ่น มนษย์ไม่ได้ร้องการเพียงอาหารกายเท่านั้น อาหารใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ สมมุติว่าเรามีปัจจัย ๔ พร้อมบริบูรณ์ ไม่ขาดแคลนเลย แต่เราอยู่ในบ้าน ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ การยอมรับของคนในบ้านเป็นต้น เราเหมือนคนแปลกหน้าของทุก ๆ แห่ง เราจะรู้สึก ว่าเหว่ เหวา และ เศร้าเพียงใด เราอาจจะถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับเอาทีเดียว ทั้ง ๆ ที่มีอันจะกินอย่างเหลือเฟือ และมีที่นอนอันอ่อนนุ่ม ในห้องที่เย็นไปด้วยไอเย็นวิทยาศาสตร์ แต่เรากลับรู้สึกร้อนรุ่มไปหมด แต่ที่ใดมีความรัก ความอบอุ่นใจ ที่นั่นเป็นสวรรค์ของเรา จริยะธรรม จะช่วยในเรื่องนี้ดีที่สุด จริยธรรมจะทำให้มนุษย์เข้าใจกัน เห็นใจกัน และ เกื้อกูลต่อกัน ในสังคมไทย เรามีญาตะรรมอยู่พอสมควร แต่มนุษย์ธรรมได้ลดน้อยลงไปมาก คือเรามีน้ำใจแก่คนที่เป็นญาติ หรือ คนที่รู้จัก แต่กับคนทั่วไปนั้นเราแล้งน้ำใจไปมาก เหตุการณ์ในรถเมล์ รถประจำทาง พิสูจน์ความจริงข้อนี้ได้ดี.
    การปลูกฝังคุณธรรมเป็นเรื่องยากในหมู่มนุษย์ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นผู้เห็นแก่ตัว และ พวกพ้องของตัว ทำนองเดียวกับสัตว์โลกประเภทอื่น ๆ แต่ มนุษย์มีศักยภาพ (Potentialily) ที่จะพัฒนาให้มีคุณธรรมสูงได้ ได้มากกว่าสัตว์โลกประเภทอื่น ๆ ด้วยความเชื่อว่า มนุษย์มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาได้นี้ จึงได้มีมนุษยศาสตร์ขึ้น เพื่อพัฒนามนุษย์ให้ขึ้นสู่ระดับสูงหรือให้เจริญงอกงามตามวิถีทางของตน ในการนี้จะต้องมีเทคนิควิธีการ ในการฝึกอบรมอันเหมาะสาม เหมือนการเพาะเมล็ดพืชให้เจริญงอกงาม
    ในการพัฒนามนุษย์นั้น ธรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างดีที่สุด ธรรมนั่นเองอภิเษกมนุษย์ให้เป็นสัตว์พิเศษกว่าสัตว์ประเภทอื่น ๆ สมดังคำที่ว่า
    อาหาร นิททา ภย เมถุนญ
    สามญญเมตมปสุภิ นราน˚
    ธมโม หิ เตส˚ อภิโก วิเสโส
    ธมเมน หีนา ปสุภิ สมานา
    แปลว่า อาหาร การนอน ความกลัวภัย เมถุนคือการเสพกาม มีอยู่เหมือนกันหมด ทั้งมนุษย์และสัตว์ ธรรมนั่นเอง ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์ คนที่ไม่มีธรรม หรือเสื่อมจากธรรม จึงเสมอกันกับสัตว์
    เมื่อเป็นเช่นนี้... สิ่งที่เราควรจะเคารพให้สูงสุดก็คือ ธรรม แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคารพธรรม การปฏิบัติธรรม จึงเป็นการปฏิบัติที่สูงสุด.
    ธรรม คือ อะไร ? หน้าที่ที่เราควรทำนั่นแหละคือ ธรรมะ การทำงานให้ถูกต้องตามหน้าที่ คือ การปฏิบัติธรรม อย่าเข้าใจผิด ๆ ว่า การงานอย่ที่บ้าน ธรรมะอยู่ที่วัด ที่ใดมีหน้าที่การงานที่ถูกต้อง ที่นั่นแหละมีธรรมะ ในโบสถ์อาจจะไม่มีธรรมะ ในทุ่งนา ในออฟฟิส อาจมีธรรมะอย่างมากมายก็ได้ ธรรมะ นั้นเป็น สภาพที่ทรงไว้สำหรับผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกต่ำไปในทางที่ชั่ว ใครบ้างเล่าอยากตกไปในทางที่ชั่ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    "จะเป็นคนเจริญหรือเป็นคนเสื่อมก็รู้ได้ง่าย ผู้ชอบธรรมะ เป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมะ เป็นผู้เสื่อม"
    ธรรมะ คือ หน้าที่ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญ คือ ผู้รักหน้าที่ ผู้เสื่อม คือผู้ชังหน้าที่ นักเรียนที่เรียนเก่ง ก็เพราะเขารักหน้าที่ รักการเรียน เขาจึงเจริญในเรื่องการเรียน คนที่ทำงานเก่งก็เพราะเขารักการงาน มีธรรมะของผู้นำ ของผู้ทำการงาน การทำความดี เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของมนุษย์ ผู้ที่รักที่จะทำความดีจึงเป็นมนุษย์ที่ดี มั่งคั่ง พรั่งพร้อมไปด้วยความดี ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร เขาต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ขอให้สำนึกอยู่เสมอ ๆ ว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เป็นของยาก ยากอย่างไร ขอให้นึกเปรียบเทียบดู กับ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเถิดว่า มันมีจำนวนท่วมท้นกว่าจำนวนของ มนุษย์มากมายเพียงใด
    พวกโจร หรือ พวกพาลชน อาจอ้างว่า เขาก็ทำหน้าที่ของเขาเหมือนกัน มันถูกของเขา แต่มันไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย สิ่งที่ถูกต้องตามะรรม ต้องพิสูจน์ประโยชน์ คือ เป็นประโยชน์แก่ทุกคนในด้านใดด้านหนึ่งโดยชอบธรรม การทำหน้าที่อันถูกต้องชอบธรรม ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พ่อค้าต้องมีธรรมอย่างพ่อค้า ไม่เอากำไรเกินไป ไม่ปลอมของขาย ไม่เอาของเลยปลอมปนมาในของดี แล้วขายในราคาของดี ไม่ขายของหมดอายุการบริโภค ขายของเพื่อประโยชน์ของชุมชน ไม่ใช่เพื่อขูดรีดผู้บริโภค ตนเองพออยู่ได้และสบายใจ
    มนุษย์ควรมีหน้าที่ ๒ ระดับคือ
    ๑. บริหารชีวิตให้อยู่รอด มีสุข เป็นสุข
    ๒. ใช้ชีวิตนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
    ต้องมีความตั้งใจไว้อย่างนี้ เราจึงจะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้ ชีวิตมีประโยชน์เป็นชีวิตอมตะ คือ ไม่รู้จักตาย
    เราควรปลูกฉันทะ คือ ความพอใจในหน้าที่ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่อันดีของมนุษย์ คนส่วนมากไม่ค่อยหาความสุขจากการทำหน้าที่ เห็นการทำหน้าที่เป็นความทุกข์ เมื่อจะหาความสุข ก็ไปหาจากอบายมุข ไม่พักผ่อนด้วยการทำงานที่มีประโยชน์ แต่ไปพักผ่อนด้วยอบายมุข เช่นเดียวกัน.
    เราควรทำหน้าที่ คือ ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้โดยเร็วที่สุด อย่าทำตนให้เป็นภาระของพ่อแม่ ญาติพี่น้องนานเกินไป ดูตัวอย่างธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ เมื่อมันเติบโตได้พอสมควรแล้ว มันให้ร่มเงา ดอก หรือ ผล หรือ ออกซิเจนแก่เราผู้ปลูก ควรทำงานให้เป็นผู้หนักแน่นในคุณธรรมความดี เหมือนไม้จันทร์ แม้แห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น เมื่อคนเข้าไปโค่นต้น ยังให้ความหอมติดคมขวานไปด้วย คนชั่วเมื่อเข้ามาใกล้ ๆ เราผู้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี เขาย่อมละอายที่จะทำชั่ว ที่จะเป็นคนชั่ว อยากเป็นคนดี เพราะความหอมของเราได้ติดเขาไปแล้ว ของเหม็นนั้น แม้ตั้งอยู่ที่เดียว แต่กลิ่นเหม็นก็ฟุ้งไปทั่วทิศ คนชั่วก็เช่นเดียวกัน.
    การศึกษา ก็คือการทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เช่น เราอยู่ในวัยที่ต้องศึกษา มารดา บิดาต้องการให้เราศึกษาเรียนรู้อะไร ๆ ไว้ เราก็ปฏิบัติ ตามความประสงค์ อันดีของพ่อแม่ นี่ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง การศึกษาของเราในลักษณะดังกล่าวนี้ กลายเป็นการประพฤติธรรมไป ในการศึกษาเพื่อให้ประสบความสำเร็จด้วยดี ก็ต้องใช้ธรรมะเป็นอันมาก เช่น ความเพียร ความอดทน ความเสียสละ ความกตัญญูกตเวที ความเคารพอ่อนน้อมครูอาจารย์ ความมีน้ำใจต่อเพื่อนฝูง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ต้องกินแหนง ชิงชังหรือทะเลาะ วิวาทกัน การศึกษานั้น ควรให้ได้รับผล ๓ อย่าง คือ
    ๑. การรู้วิชาการต่าง ๆ เพื่อเปิดหูเปิดตา
    ๒. สามารถประกอบอาชีพ ได้เป็นหลักฐาน
    ๓. มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น
    เพื่อวัตถุประสงค์ในประการที่ ๓ นี่แหละจึงต้องมีจริยธรรม และ ศาสนาเข้ามาในการศึกษาของเรา มีหลักมนุษย์ศาสตร์เข้ามา เพื่อให้นักศึกษาของเราได้เรียนรู้ ฝึกฝน ปฏิบัติเพื่อมนุษย์ที่ดีของสังคม ลำพังแต่โลกนั้นไม่อาจช่วยตัวเอง เป็นไปเพื่อความยุ่งเหยิงและเศร้าหมอง ต้องเอาธรรมเข้ามาช่วย แม้ในการศึกษาทางโลกเพื่อให้โลกหลุดพ้นจากความยุ่งเหยิง และตั้งอยู่ในความสงบ อย่าแยกตัวเองออกไปให้เป็นเรื่องของชาวบ้านล้วน ๆ ที่เรียกว่า Secularization ถ้าแยกตัวออกไปไม่สนใจธรรมเลย จะเอาตัวไม่รอด เหมือนเด็กที่อวดดี ยังไม่พร้อแยกตัวออกไปจากพ่อแม่ ลูกนกที่ขนปีกยังไม่แข็งแรง แยกตัวออกไปจากพ่อแม่นก มันจะมีแต่ความพินาส ล่มจมและวอดวาย
    การศึกษาที่ถูกต้องนั้น จะต้องดำเนินตามหลักไตรสิกขา ของพระพุทธศาสนา คือการศึกษา และปฏิบัติเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา โดยใจความสำคัญคือ ฝึกฝนตนเองให้มีระเบียบวินัย (ศีล) มีจิตใจมั่นคง มีอุปนิสัยดี มีคุณธรรมประจำใจ ตามวิสัย สมควรแห่งวัยและอาชีพ (สมาธิ) มี ดวงตา รือ ปัญญาสว่างไสวด้วยเหตุผล รู้ว่าอะไรเป็นอะไร พ้นจากความหลงงมงาย สามารถเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความเป็นจริง อย่างถูกต้องถ่องแท้ (ปัญญา) คนบางคนมีบารมีธรรมน้อย มีอาสวะมาก เข้าใจเรื่องดี ๆ ได้ช้า หรือ ไม่เข้าใจเอาเสียเลย แต่เข้าใจเรื่องชั่ว ๆ ได้เร็ว ทำความชั่วขึ้น เรียกว่า เรื่องชั่ว ๆ เลว ๆ แล้วไม่ถอยหนีแต่เรื่องดี ๆ ไม่สู้
    บางคนมีอาสวะอยู่น้อย มีบารมีการสร้างสมบุญมามาก เข้าใจเรื่องชั่ว ๆ ได้ช้า แต่เข้าใจเรื่องดี ๆ ได้ง่าย ทำความดีขึ้น เรียกว่าเรื่องดี ๆ แล้วไม่ถอย แต่เรื่องถ่อยไม่สู้
    บางคนมีอัธยาศัยหยาบ ต้องขัดเกลานานจึงจะรู้ธรรมได้ บางคนมีอัธยาศัยประณีตขัดเกลาได้ง่าย เข้าใจสิ่งละเอียดอ่อนได้เร็ว
    บางคนมีสันดานดี บริสุทธิ์ มีใจน้อมไปในทางที่ดีอยู่เสมอ ใจไม่ลงรอยกับความชั่ว
    บางคนมีสันดานชั่ว ไม่บริสุทธิ์ มีใจน้อมไปในทางชั่วอยู่เสมอ ไม่ลงรอยกับความดี หรือ คนดี ๆ
    บางคนมีอุปนิสัยในทางธรรม มีบารมีในทางธรรมที่สั่งสมมามาก
    บางคนไม่มีอุปนิสัยเช่นนั้น บางคนสอนง่าย บางคนสอนยาก
    เรื่องบุญ เรื่องบาป เป็นเรื่องที่สอนให้เข้าใจจริง ๆ ได้ยาก จนกว่าจิตใจของบุคคลนั้น ๆ จะมีความแก่รอบ (ปริปักกะ) พอที่จะรู้เรื่องนามธรรมที่ลึกซึ้งได้ ทางทีเราจะเห็น ทางที่จะให้เข้าถึงเรื่องเหล่านี้ (คือเรื่องบุญ-บาป นรก-สวรรค์) อย่างแท้จริงด้วยความเชื่อ อันมีเหตุมีผลในใจของตนเองก็คือ การค่อย ๆ อบรมศึกษาไปทีละน้อย โดยการอ่าน การฟัง การคิด ไตร่ตรอง สอบถาม ท่านผู้รู้อยู่เรื่อย ๆ ไม่ท้อถอย หรือ รีบตัดปัญหาเสียว่า "เรื่องนี้ไม่จริง ฉันไม่เชื่อ"
    คนธรรมดาสามัญก็พอจะรู้ว่า สิ่งที่เราไม่เชื่อ หรือไม่เห็นนั้น มิได้หมายความว่าจะไม่มีอยู่จริงเสมอไป เมื่อเป็นดังนี้ ไฉนผู้มีการศึกษามาดี ซึ่งยอมรับนับถือตนเองว่า เป็นปัญญาชน จะมารีบด้วยปฏิเสธเรื่องที่ตนเองยังไม่รู้ ไม่เห็นว่า เป็นเรื่องเหลวไหลเล่า คนอื่น ๆ เขาอาจจะรู้อาจจะเห็นก็เป็นได้.
    อีกประการหนึ่ง ถ้าจะตำหนิผู้เชื่อเรื่องโลกหน้า สังสารวัฏว่างมงายแล้ว เพราะไม่ได้รู้แจ้ง ไม่ได้เห็น ตนเองก็งมงายอยู่เหมือนกัน เพราะตนเองก็ไม่ได้รู้แจ้งเรื่องเหล่านั้นเช่นกัน แต่ยังกล้าปฏิเสธ และดูเหมือนจะงมงายกว่าผู้ที่เชื่อเสียอีก เปรียบเหมือนเด็กสองคน เถียงกันเรื่องช้างน้ำ คนหนึ่งเชื่อว่ามี เพราะผู้ใหญ่บอกว่ามี แม้ตนยังไม่เคยเห็นช้างน้ำก็ตาม อีกคนหนึ่งไม่ยอมเชื่อ เพราะอ้างว่าตนไม่เคยเห็นช้างน้ำเลย ในเด็กสองคนนี้ คนไหนโง่ คนไหนฉลาด กว่ากัน ความจริงเด็กที่เชื่อบิดามารดา ครูอาจารย์ ในสิ่งที่ตนไม่เคยรู้ เคยเห็นมาก่อน และยอมปฏิบัติตามนั้น ย่อมได้รับประโยชน์เป็นอันมาก ทีแรกก็เชื่อไปก่อน เมื่อเติบโตขึ้นย่อมตรองเห็นเหตุและผลได้เอง เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และประวัติบุคคลสำคัญมากมายในอดีต เราก็ไม่เคยเห็นได้ด้วยตนเอง แต่ทำไมเราเชื่อ หรือ เห็นว่า ใครเขาก็เชื่อกัน หากเป็นเช่นนั้น เราจะไม่กลายเป็นคนงมงายไปหรือ !!???
    เรื่อง นรก สวรรค์ เรื่องโลกหน้านั้น ท่านผู้มีญาณ - มีญาณ คือมี หูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ ยืนยันว่ามี ทุกท่านไป นรก สวรรค์ โลกทิพย์จึงต้องรู้ด้วยสิ่งที่เป็นทิพย์ เช่นเดียวกัน
    มีหนังสือ เกี่ยวกับเรื่อง นรก สวรรค์ ตายแล้วเกิด ชาติหน้าชาติก่อน ก็มีอยู่มากมายหลายเล่มเขียนโดยชาวพุทธในเมืองไทยเรานี่เอง ท่านต้องการความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ควรอ่าน ไม่ควรปล่อยตนให้ตกอยู่ในความสงสัยตลอดไป เรื่อง โลกทิพย์ และชีวิตหลังความตาย น่าอ่านมาก ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน เรื่องโลกอื่น ก็มีคุณค่าแก่การอ่าน การค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง ชี้ให้เห็นผลของกรรมดี กรรมชั่ว ที่ไปรอบุคคลอยู่ในโลกอื่น โลกหน้า นอกจากนี้ยังมี เรื่องภพอื่นและเรื่องควรคำนึง พิสูจน์บุญบาปในปัจจุบัน เอกสารรายงารการค้นคว้า เรื่องวิญญาณ มีจริงหรือไม่เป็นต้น ล้วนน่าอ่าน เรื่องเหล่านี้เป็นชีวิตของคนไทย ในปัจจุบันทั้งสิ้น.
    ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงเรื่องนรกสวรรค์ เรื่องโลกนี้ โลกหน้า และเรื่องผลบุญ ผลบาป ไว้มากมายหลายเรื่อง เป็นเครื่องยืนยัน ถ้าคำสอนเหล่านั้น เชื่อไม่ได้แล้ว อะไรในโลกนี้จะน่าเชื่ออีกเล่า ???
    บรรดาบุคคลที่น่าเชื่อทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่น่าเชื่อที่สุด เพราะพระองค์ทรงอบรมศีล อบรมจิต และ อบรมปัญญามาดีแล้วอย่าเลิศ พระทัยของพระองค์ ได้รับการพัฒนาขึ้นถึงขั้นสูงสุด ผ่องแผ้ว และ สว่างไสว พระองค์ผู้น่าเชื่อถือเช่นนี้ ตรัสว่า โลกหน้ามี นรกมี สวรรค์มี สัตว์ย่อมเวียนว่ายตายเกิดตามกรรมของตน เมื่อสิ้นกิเลส สิ้นกรรม ภพชาติ การเวียนว่ายตายเกิด ก็สิ้นสุดลง ข้อความทำนองนี้มีอยู่มากมาย ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ทั้งในชั้นพระไตรปิฎก และ อรรถกถา
    ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน เพื่อมิให้เราท่านทั้งหลาย ได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธแค่เพียงในทะเบียนบ้าน สิ่งใดอันเป็นประโยชน์แก่ท่าน เห็นมีแต่ตัวท่านเท่านั้นที่จะนำพาตนให้ข้ามพ้นสังสารวัฏนี้ได้ด้วยตนเอง...ไม่มีใครสามารถจะพาท่านหรือบุคคลอันเป็นที่รักข้ามพ้นไปได้นอกจาก ตนเอง.....
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,418
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018

แชร์หน้านี้

Loading...