ศีล สมาธิ ปัญญา โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย watnatangnok namai, 16 มีนาคม 2014.

  1. watnatangnok namai

    watnatangnok namai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    293
    ค่าพลัง:
    +3,986
    "..พระธรรมนี่พระสงฆ์นำมาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้ายอมรับนับถือเป็นส่วนตัวก็สามารถจะพ้นนรกได้แน่ นอนชาตินี้ แต่ชาติต่อไปเราก็ไม่แน่ แล้วการที่จะคิดว่าชาติต่อไปเราอาจจะเกิดเป็นคน เราจะยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ต่อไปนี่ไม่แน่นอนนักเพราะการเกิดแต่ละชาติเราไม่ได้รับแต่ผลของความดีฝ่ายเดียว เป็นการรับผลทั้งความดีและความชั่ว จะเห็นว่าคนที่เกิดมาแล้วนี้ไม่ใช่มีความสุขอย่างเดียว อารมณ์ที่ทำให้เกิดเป็นทุกข์ก็มีอยู่ หรือไม่ได้มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว อารมณ์ที่เป็นสุขก็มีอยู่ ขณะใดที่อารมณ์ความเป็นสุขเกิดขึ้น ขณะนั้นถือว่ารับผลของกุศลเก่า คือบุญเก่าที่เราทำไว้แล้วในชาติก่อนๆ มาสนองเรา เราก็มีความสุข

    ผลของทานเป็นปัจจัยให้ได้ลาภสักการะ

    ผลของการรักษาศีลให้เกิดความสุขหลายๆ ประการ

    ผลของการเจริญภาวนาและศึกษาธรรม เป็นเหตุให้เกิดปัญญามีความฉลาด

    ถ้าผลของความทุกข์ ผลของปาณาติบาต ทำให้คนมีอายุสั้นพลันตาย

    ผลของอทินนาทาน ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย

    ผลของกาเมสุมิจฉาจาร ทำให้ลูกหรือบุคคลในปกครองว่ายากสอนยาก ไม่อยู่ในโอวาท แนะนำอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง

    ผลของมุสาวาท เกิดมาชาตินี้ในระหว่างนั้นให้ผล พูดดีเท่าไรก็ไม่มีคนอยากรับฟัง

    ผลของการดื่มสุราเมรัย ทำให้เป็นโรคปวดศีรษะไม่หาย หรือเป็นโรคเส้นประสาทหรือว่าเป็นโรคบ้า

    ทั้งหมดตามที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นผลจากความดี หรือความชั่วในชาติก่อน ที่ยังตามมาสนองเรา ถ้าบังเอิญเกิดในชาตินั้นยามจะตาย ผลของอกุศลก็ครอบงำจิตพอดี เราก็ลืมพระพุทธเจ้า ลืมพระอริยสงฆ์ ทั้งนี้เพราะความมั่นคงของจิตไม่มี ถ้าความมั่นคงของจิตมีต้องปฏิบัติในธรรม ให้ธรรมทรงตัวทรงใจ หมายความว่า การจะพูดก็ดี การจะทำก็ดีการจะคิดก็ดี อยู่ในขอบเขตของพระธรรม เพราะว่า พระธรรมนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราปฏิบัติในด้านของความดี และก็พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนก็ทรงสอนไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ เราจะปฏิบัติกันอย่างไรได้หมด อันนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท อาจจะเป็นเครื่องอัดอั้นตันใจสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเพราะว่าถ้าพูดถึงพระธรรมแล้วไม่รู้จะเอาตรงไหนดี ก็เอากันอย่างนี้ก็แล้วกัน

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้แล้วหลายหมื่นหัวข้อ ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ ท่านบอกว่าให้เลือกปฏิบัติตามที่เราเห็นสมควรที่พอจะปฏิบัติได้ เพราะการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากๆ ก็ทราบว่า อัธยาศัยของคนไม่เสมอกัน กำลังใจของคนก็ไม่เสมอกัน อัธยาศัยต่างกันอย่างหนึ่ง กำลังใจต่างกันอย่างหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องตรัสไว้มาก เพื่อความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

    เวลานี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายกำลังฟังเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นนรกคำว่า "นรก" ก็หมายถึงเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ต้องการจะหนีนรกกันแล้วเราก็ปฏิบัติกันอยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ในเมื่อปฏิบัติอยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็เอาพระธรรมวินัยที่อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็เอาพระธรรมวินัยที่อยู่ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการมาปฏิบัติไม่ใช่ว่ากันดะไปทั้งหมด พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ ก็คือ "ศีลห้า และกรรมบถ ๑๐ " ถ้าการปฏิบัติศีลห้าครบถ้วน ก็ถือว่าได้ความดี หนีนรกได้แบบหยาบๆ ชาตินี้มีความสุขแต่ความสุขน้อยไปหน่อย ชาติหน้ามีความสุขแน่แต่ด้อยไปนิดหนึ่ง กาลเวลาที่จะถึงนิพพานยังไกลอยู่

    ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูจึงได้ตรัสกรรมบถ ๑๐ ประการให้ปฏิบัติอีกจุดหนึ่งถ้าปฏิบัติได้ในกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการด้วย ในศีลห้าด้วยปฏิบัติครบถ้วนตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะตาย ความเป็นอยู่ในความเป็นมนุษย์นี่ก็มีทุกข์ยาก ส่วนใหญ่จะมีแต่ความสุขความทุกข์ก็มีบ้างแต่ไม่หนักนัก ไม่ถึงกับเกิดความเร่าร้อนจุ้นจ้าน แต่ในด้านความสุขนี่มีมาก ถ้าตายจากชาตินี้ไปแล้ว หากว่าไม่พบพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ในสมัยที่เป็นเทวดาหรือพรหม กลับมาเกิดเป็นคนอีกครั้งเดียวก็ไปนิพพาน

    การที่จะปฏิบัติในศีลห้าก็ดี กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการก็ดี บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ต้องมีหัวข้อขึ้นต้น เพราะกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้มีทั้งศีลและธรรม ศีลห้า นี่ก็มีทั้งศีลและธรรมเหมือนกัน แต่ฝ่ายธรรมะนี่คดๆ อยู่ข้างในมองไม่ค่อยเห็น ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วก็มองไม่เห็น ถ้าใช้ปัญญาจึงจะมองเห็น แต่ว่าปัญญาที่ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เห็นเหมือนกัน

    เป็นอันว่าเห็นหรือไม่เห็นก็ยังไม่ต้องพูดกัน มาว่ากันถึงว่า หัวข้อคือบทต้น เรียกว่า "หน้าปก" ถือเอกหน้าปกก็แล้วกัน ก่อนที่จะเข้าถึงศีล ก่อนที่จะเข้าถึงกรรมบถ ทั้ง ๑๐ ประการ นี่ว่ากันเฉพาะฆราวาสนะ ถ้าพระหรือเณรมีศีลแค่ ๕ หรือมีกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการครบถ้วนก็ไม่แคล้วอบายภูมิ เพราะว่าสิกขาบทที่จะต้องปฏิบัติมากกว่านี้สำหรับพระหรือเณรให้ปฏิบัติในสิกขาบทของท่านด้วย แล้วก็ต้องมีกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการครบถ้วนด้วย เท่าที่เคยเห็นมาบางที่ท่านก็เผลอ ๆ เหมือนกัน บางท่านก็เผลอในศีล ๕ บางท่านก็เผลอในกรรมบถ ๑๐ หากว่าท่านผู้ใดเผลอในศีลห้าก็ดี เผลอในกรรมบถ ๑๐ ก็ดี พระหรือเณรท่านนั้นโอกาสที่จะขึ้นสู่สวรรค์ไม่มีเลย ทางที่จะไปก็มีทางเดียว คืออบายภูมิ มีนรกเป็นต้น

    ขอประทานอภัยเถอะครับ ผมพูดเรื่องนรกอยู่เรื่อย ๆ ก็มีข่าวเข้ามาว่า พระสงฆ์ ซึ่งเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้าหรือว่าสาวกของพระพุทธเจ้านั่นเองในปัจจุบัน

    บางท่าน ๆ โกรธท่านบอกว่า "อะไรก็นรก ๆ คนที่เกิดมาก็เลยไม่ต้องไปสวรรค์กัน"

    ก็ขอตอบเสียในที่นี้ว่า "คนที่เขาไปสวรรค์นะมีมากนะครับ คนที่ไปพรหมก็มีมากและปัจจุบันคนที่จะไปนิพพานก็มีมาก ที่ว่าจะต้องตกนรกกัน เพราะว่าท่านลืมทางไปสวรรค์ลืมทางไปพรหมโลก ลืมทางไปนิพพาน"

    ตอนนี้ก็จะขอเปิดประตูให้พบทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก พบทางไปนิพพานซะก่อน เรื่องพระไม่อธิบาย สำหรับพระสำหรับเณรนี่ปฏิบัติอย่างไรไม่อธิบายให้ฟังเพราะท่านเป็นปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านต้องไหว้ต้องบูชาอยู่แล้ว ก็ต้องยอมรับนับถือว่า ทุกท่านคงปฏิบัติความดีครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องอธิบายกัน ก็มาพูดกับฆราวาสเพราะฆราวาสมีเวลาน้อยในการที่จะปฏิบัติความดี เพราะต้องทำมาหากิน ไม่เหมือนกับพระกับเณรต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีวิต จิตที่คิดในด้านของความดีมีมาก มาพูดถึงชาวบ้านชาวเมืองกันดีกว่า

    "ฆราวาส" ประตูที่จะเปิดเข้าสู่ทางสวรรค์ หรือทางพรหมโลก ทางนิพพานหรือว่าประตู ที่จะเข้าถึงศีลและธรรม มีศีลห้า และกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น และเขาก็ใช้ประตู ๒ บาน

    บานที่ ๑ เรียกว่า "หิริ" คือความละอายต่อความชั่ว

    บานที่ ๒ เรียกว่า "โอตตัปปะ" คือเกรงกลัวผลของความชั่ว

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบว่า ประตูจริงๆ น่ะมี ๒ บาน ที่จะเข้าถึงศีลกับธรรม บานที่ ๑ เรียกว่า "หิริ" คือความละอายต่อความชั่ว หรือความละอายต่อบาปอกุศล คือบาปอกุศลนี่ถ้าเราไม่อายมันก็โผล่หน้าเข้ามาถึงเรา ในเมื่ออายแล้วก็พยายามหลบบาป หลบอกุศล "อกุศล" นี่แปลว่า ไม่ฉลาด "บาป" นั่นแปลว่าความชั่ว คือหลบความชั่ว หลบความโง่ ไม่ฉลาดก็คือโง่ "โอตตัปปะ" เกลงกลัวผลของความโง่ หรือเกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ เพราะความโง่ก็ดี ความชั่วก็ดีนำเราไปสู่อบายภูมิแน่นอน นั่นคือว่า นำไปไหน นำไปนรกบ้าง เบามาหน่อยก็นำไปเป็นเปรต เบามาหน่อยก็นำไปอสุรกาย เบามาอีกนิดก็นำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัชฉานเบากว่านั้นหน่อยก็เกิดเป็นคนที่หาความสมบูรณ์แบบไม่ได้

    ก็เป็นอันว่าท่านทั้งหลาย ทุกท่านอันดับแรกตั้งกำลังใจไว้ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจะเป็นคนขี้อาย เราจะเป็นคนกลัวอายความชั่ว กลัวความชั่ว แล้วก็ความชั่วที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระพุทธศาสนานี่มามาก อายหมวดไหนกันก่อน

    อันดับแรก อายการละเมิดศีลห้า

    อันดับที่ ๒ อายการละเมิดกรรมบถ ๑๐

    และอันดับต่อไปก็กลัวผลของการละเมิดศีลห้า กลัวผลของการละเมิดกรรมบถ ๑๐ จะให้ผลสนองเรา เพราะการละเมิดศีลก็ดี การละเมิดกรรมบถ ๑๐ ก็ดีมีผลในชาติปัจจุบัน นั่นหมายความว่าจะสร้างความทุกข์ให้เกิดแก่เราอย่างหนัก แต่ว่าถ้าเราอายได้ เรากลัวได้ เราก็สามารถจะดึงเอาศีลห้าก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี มาไว้กับเราตอนนี้เราจะพบกับความสุขอย่างมหันต์ อย่างที่ท่านทั้งหลายจะไม่เคยพบมาในกาลก่อน ชาตินี้มีความสุขหนักและชาติหน้าก็มีความสุขอย่างหนัก และทุกๆ ชาติเราจะมีความทุกข์เล็กน้อยแต่มีความสุขมาก ชื่อว่าทุกข์ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานไม่มีต่อไปอีก

    ศีลห้า มีอะไรบ้าง?

    ข้อ ๑ ปาณาติบาต พระพุทธเจ้าบอกว่า ทรงให้เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทางที่ดีก็เว้นจากการทรมานสัตว์เสียด้วย

    ข้อที่๒ อทินนาทาน ไม่ถือเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นไม่ให้มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม

    ข้อที่๓ กาเมสุมิจฉาจาร ให้เว้นจากการละเมิดความรัก คือในสามีและภรรยาของบุคคลอื่น ยินดีเฉพาะสามีและภรรยาของตนเอง

    ข้อที่๔ เว้นจากการมุสาวาท คือการไม่พูดให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลผู้รับฟัง

    ข้อที่๕ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย เพราะข้อนี้หนักมาก ถ้าเมาเมื่อไหร่แย่เมื่อนั้นจำอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีเห็นว่าพ่อเป็นเพื่อนไปอีก แต่บางคนเห็นว่าพ่อเป็นฟุตบอลไปก็มีเตะพ่อตีแม่ อย่างนี้ก็มี

    เป็นอันว่าศีลทั้ง ๕ ประการมีตามนี้ ทีนี้ต่อไปก็มาพูดกันถึงกรรมบถ ๑๐

    กรรมบถ ๑๐ นี่จริง ๆ ก็เหมือนกับศีลห้า อยู่มาก แตกต่างกันอยู่นิดหน่อยเท่านั้นเอง กรรมบถ ๑๐ ก็คือ

    ข้อที่ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์

    ข้อที่ ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ (เหมือนศีลห้า)

    ข้อที่ ๓. เว้นจากการกาเมสุมิจฉาจาร คือเป็นชู้กับสามีภรรยาเขา (นี่สำหรับทางกาย ทางกายคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)

    ทางวาจา ท่านจัดไว้ ๔ ศีลห้าจัดไว้แค่ ๑ ทางกายเหมือนศีลห้าเปี๊ยบ ไม่ต่างกันเลย แต่ทางวาจาท่านจัดไว้ ๔

    ๑."ไม่พูดปด" นี่คือศีลห้า ห้ามแค่นี้ กรรมบถ ๑๐ ห้ามต่อไป "ไม่พูดคำหยาบ" และก็ "ไม่พูดวาจาส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน" และก็ "ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์" มี ๔

    ด้านจิตใจนี่ศีลห้า ไม่ได้บอกไว้ แต่ว่ากรรมบถ ๑๐ บอกไว้ว่าจิตใจ คือ

    ๑. จงอย่าอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดมาเป็นของตน คือไม่ขโมยด้วย และก็ไม่นึกด้วย ศีลห้านี่ไม่ได้ขโมยแต่นึกอยากได้นี่ไม่ผิด กรรมบถ ๑๐ ไม่ขโมยแต่นึกอยากได้ผิด

    ต่อไปข้อที่ ๒ ของจิตใจความรู้สึกนึกคิด นั่นก็คือไม่พยาบาทจองล้างจองผลาญใคร คือไม่จองเวรจองกรรมใคร โกรธน่ะโกรธ แต่ทว่าโกรธแล้วก็หายไป ต่อก็ไม่จองล้างผลาญใคร

    แล้วข้อที่ ๓ ด้านจิตใจ มีความเห็นตรงตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือไม่ขัดคอพระพุทธเจ้า พูดกันง่าย ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าตายแล้วเกิดเราก็เชื่อว่าตายแล้วเกิด ไม่ใช่ตายแล้วสูญ อย่างนี้เป็นต้น และสวรรค์มีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง เราก็ไม่เถียง เรายอมรับนับถือด้วยปัญญา ถ้าทำบาปอกุศลก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง อันนี้เราก็ไม่เถียง ยอมรับและการปฏิบัติอย่างไรจะให้พ้นจากความทุกข์เสวยแต่ความสุข อันนี้เราก็ปฏิบัติตามอย่างนี้เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" มีความเห็นชอบ เป็นข้อที่ ๓ ของกรรมบถ ๑๐ ก็จะไม่พูดยํ้ามาก

    ต่อมาก็หันมาดูศีลข้อที่ ๑ ศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี จะอธิบายควบกันไป ถ้าแยกกันนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มันจะยืดยาดมากเกินไป คือว่าอันนี้เวลานี้เราเข้ามาปฏิบัติในข้อที่ว่า "วิจิกิจฉา" ข้อที่ ๒ ของสังโยชน์ (ขอนำเอาข้อที่ ๓ มาพูดรวมกัน) ข้อที่ ๒ บอกว่า ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอมปฏิบัติตาม ที่นี้พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน "คำสั่ง" ก็คือวินัย "คำสอน" ก็ได้แก่ธรรมะ

    "คำสั่ง" หมายถึงห้ามหรือเตือนว่าจงอย่าทำ จงเว้น

    "คำสอน" หมายความว่าจงทำตามนี้ จงปฏิบัติตามนี้ จะมีความสุข (ขอนำมารวมกันกับข้อวิจิกิจฉา คือความสงสัยในสังโยชน์ข้อที่ ๒ เอาสีลัพพตปรามาสมารวมกันเลยถ้าไม่รวมกันแล้วยุ่ง ท่านก็ฟังกันยืดยาด ดีไม่ดีฟังกันเดือนก็ไม่จบ)

    ก็รวมความว่า เวลานี้เรายอมรับนับถือในพระธรรม ได้แก่ "หิริ" และ "โอตตัปปะ" นี่เป็นอันว่าไม่ฝืนแล้ว อาย อายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราอายเรากลัวไม่มีจุดปฏิบัติเราก็ท้อใจมาเริ่มปฏิบัติเริ่มแรก เอากันในเรื่องของศีล สำหรับศีลนี่ข้อไหนเหมือนกับกรรมบถจะบอกว่าเหมือนกัน ข้อไหนที่แยกกันเป็นกรรมบถโดยเฉพาะจะบอกว่านี่แยกกัน เพื่อสะดวกแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท.."

    คาถามหาเสน่ห์
    "..คำว่า "เสน่ห์" แปลว่า "ความรัก" ความรักซึ่งกันและกัน เป็นเยื่อใยแห่งความรัก ที่ดึงกำลังใจของบุคคลอื่นให้มารักเรา และก็เราเอง ถ้าคนอื่นเขาทำเราก็รักเขาเหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างมีมหาเสนห์ บรรดาท่านพุทธบริษัท โลกนี้จะมีแต่ความสุขจะหาความทุกข์ไม่ได้ความทุกข์จะมีบ้างก็แค่เรื่องของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือ ร่างกายมันก็ต้องแก่ มันป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ ๕ คือร่างกาย แล้วมันก็ตาย เราจะมีทุกข์อยู่บ้างเมื่อความแก่เข้ามาถึง เพราะร่างกายไม่ทรงตัว กำลังไม่ดี ความเชื่องช้าก็ปรากฏก็หนักใจอยู่นิดหนึ่ง ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นมันก็มีความลำบากอยู่บ้าง มีความทุกข์อยู่บ้าง ความตายจะเข้ามาถึงก็มีความทุกข์บ้าง เพราะมีทุกขเวทนามาก แต่นอกจากอาการทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เราจะมีแต่ความสุข เพราะคนที่มีเสน่ห์มากก็มีคนรักมาก ถ้าเราพบปะสังสรรค์กับสมาคมใด บุคคลใด เราเป็นคนมีเสน่ห์ สมาคมนั้นเขาไม่เกลียด ผู้ที่เกลียดก็คือว่า คนที่มีเสน่ห์ไม่เท่า เขามีเสน่ห์น้อยเกินไปมีคนรักน้อยเกินไป อาจจะมีการอิจฉาริษยากันได้ นี่เป็นของธรรมดา แต่ถ้าพบหน้ากันเข้าจริงๆ บ่อยๆ อาการอิจฉาริษยาก็จะหมดไป เหลือแต่ความรัก คาถามหาเสน่ห์นี่มีอยู่ ๔ ข้อ ๔ คำ คือ

    ๑. ไม่พูดปด

    ๒. ไม่พูดคำหยาบ

    ๓. ไม่พูดส่อเสียด

    ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

    นี่แหละเป็นคาถามหาเสน่ห์ คำว่า "คาถา" นี่มาจากภาษาบาลี แปลว่า "วาจาเป็นเครื่องกล่าว" ก็หมายถึงคำพูดที่เราพูดไปเอง คำพูดที่เราพูดออกไปนี่ ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า "คาถา" (แต่คนไทยพูดเข้าเลยหาว่าเป็นคาถามหานิยมไปเลย เป็นการเสกคาถาไป) ความจริงไม่ใช่ นี่พระพูด ไม่ใช่หมอไสยศาสตร์ หมอเสน่ห์ลมพูด พระพูดถือบาลีเป็นพื้นฐานเป็นหลัก คาถาในที่นี้ถือว่า วาจาเป็นเครื่องกล่าว คือ คำพูด

    อาตมาจำถ้อยคำของท่านสุนทรภู่ไว้ได้ตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

    "คนเราจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

    หมายความว่า จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปากพูด เสียงที่พูดออกไป จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา คือลิ้นเป็นเครื่องแต่งเสียง (วันนี้ร่างกายไม่ดีมาก แต่ขอทำงานตามหน้าที่ เพราะปล่อยร่างกายดีก็ไม่ได้พูด ถ้าไม่ได้พูดงานก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ก็ขอพูดทั้งๆ ที่เสียงก็ไม่ดีร่างกายก็ไม่ดี เพลียมากเหลือเกิน )

    ก็รวมความว่า คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่ปาก การพูด พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าต้องการมีเสน่ห์

    ๑. อย่างพูดปดมดเท็จ แต่คนพูดปดมดเท็จนี่ ถ้าเขาจับไม่ได้มันก็ดี การยอมรับนับถือยังมีอยู่ ถ้าจับคำพูดปดมดเท็จได้เมื่อไรเมื่อนั้นแหละความเป็นที่เคารพนับถือก็ดีความเป็นมิตรสหายซึ่งกันและกันก็ดี ก็ต้องสลายตัวไป เพราะอะไร? เพราะเราเป็นคนทำลายประโยชน์เขา ในเมื่อเราเป็นคนพูดปด คนที่จะคบหาสมาคมด้วยก็หายาก เพราะว่าถ้าพูดกิจการงานกับเขา เขาก็หวังไม่ได้ว่าเราจะพูดตามความเป็นจริง เรียกว่าเราจะต้องเป็นคนมีทุกข์มาก ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

    สำหรับคำพูดปดนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาลองซ้อมดูแล้ว ความจริงข้อนี้ก็เป็นทั้งศีลทั้งธรรมะ ศีลมีแค่พูดปด กรรมบถ ๑๐ ก็เติมพูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ข้อนี้ก็รวมทั้งศีลและก็กรรมบถ ๑๐ ด้วย

    สำหรับวาจานี่ บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาเคยถามว่าการรักษาศีลห้า ระวังตอนไหน ส่วนมากจริง ๆ บอกว่า หนักใจที่ มุสาวาท เขาว่าเขาจำเป็นต้องโกหก เขาถือว่าจำเป็น อย่างการค้าขายนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไม่โกหกมันก็ขายไม่ค่อยจะได้บางทีไม่จำเป็นต้องโกหกต้องโกหก เดี๋ยวพ่อค้าฟังแล้วเขาจะเกลียดนี่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ความจริงที่ว่าหนักใจก็ได้แก่พวกพ่อค้าแม่ค้า บรรดาท่านสตรีทั้งหลายนี่หนักใจมาก ว่าศีล ๔ ข้อพอรักษาได้ บอกว่าข้อมุสาวาทนี่หนักใจ แต่ความจริงถ้าเราไม่พูดโกหกจะได้ไหม ลองไม่พูดโกหกดู ดูซิจะขายของได้หรือไม่ได้ ของดีเราก็บอกว่า "นี่ของดีจริง ๆ นะ" ไม่หลอกลวงกัน ไอ้ที่ดีขนาดกลางก็บอกว่า นี่ดีขนาดกลาง ไอ้ที่ดีขนาดเลวก็บอกว่านี่ดีขนาดเลว ถ้าถามว่าขนาดเลวทำไมจึงว่าดี ก็เพราะยังเป็นของดีไม่แตกสลายผ้าไม่ขาด ขันไม่แตก แก้วไม่แตก ก็เป็นของดี แต่ว่าอัตราของมันเป็นของเลวหยาบไปหน่อย สวยน้อยไปนิด เนื้อละเอียดน้อยไปหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ก็เรียกว่าดีขนาดเลวเราก็บอกตามความเป็นจริง ข้อนี้หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงคงไม่หนักใจ

    มาอีกตอน เรื่องราคาของของ ราคาของของนี่จำเป็นต้องโกหกกัน ถ้าไม่โกหกกันมันขายราคาแพงไม่ได้ แล้วก็มีปัญหาอยู่ว่า สมมุติว่าของชิ้นนี้ในท้องตลาดเขาขายราคา ๑๐ บาท แต่ว่าต้นทุนจริงๆ มันเป็นบาทหรือสองบาทเท่านั้นไม่มาก ถ้ามีคนเขามาขอซื้อเขาขอลด ไม่ใช่ต่อ บอก ๑๐ บาท เขาขอลด ๙ บาทหรือ ๘ บาท ถ้าต่อนั้นหมายความว่าต้องเป็น ๑๑ บาทหรือ ๑๒ บาท คงไม่มีคนซื้อคนใดเขาต่อให้มันสูงขึ้น มีแต่ว่าขอลดลงว่าขอลดลงมาอย่างนี้ ถ้าเราขายไปเราก็เสียราคาท้องตลาด ถ้าขายถูกเกินไปนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัทในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่อาตมาเคยพบมา ตอนนั้นยังอยู่วัดประยุรวงศาวาส จะไปเทศน์นี่นครปฐม ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้ามาที่พาหุรัด เพื่อขึ้นรถยนต์ที่นั่น รถโดยสาร ไปเจอะกระเป๋าถือลูกหนึ่งชอบใจ ก็เข้าไปซื้อ ตกลงกับเจ๊กว่าตอนเย็นจะมาเอา เขาปิดราคาไว้ ถามเขาบอกว่า จะเอาไปแต่เอาไปไม่ได้เพราะไปเทศน์จะให้สตางค์ก่อนเอาไหม? เถ้าแก่ก็บอกว่าไม่ต้อง เห็นหน้ากันเกือบทุกวัน เขาไว้วางใจแต่ว่าพอกลับมาปรากฏว่าของในร้านทั้งหมด เขาเขียนราคาสูงขึ้นไปหมด ราคาเดิมก็ไม่มีสมมุติว่าราคาเดิมเป็น ๑๐ บาท ตอนเช้ามองดูแล้วมันเป็น ๑๐ บาท แต่ว่าตอนเย็นกลับมามันกลายเป็น ๑๓ บาทไป ของบางอย่าง กระเป๋าลูกนั้นประเภทเดียวกัน ถามเขาเวลานั้นค่าเงินมันสูงเขาเอา ๒๐ บาท ตอนเช้าเขียนราคา ๒๐ บาท ในฐานะที่ชอบกันก็บอกว่า"ฉันเอาลูกหนึ่งฉันไม่ขอลดละ เถ้าแกจะลำบากเพราะรู้จักกันดี"

    เถ้าแก่เลยบอกว่า"ท่านไม่ขอลดผมจะลดให้ ผมเอา ๑๘ บาท" แต่ตอนเย็นพอมาถึงปรากฏว่ากระเป๋าประเภทนั้นราคาขึ้นไปเป็น ๒๕ บาท ก็เลยถามว่า

    "เถ้าแก่ เมื่อเช้านี้มัน ๒๐ บาทน่ะ นี่แค่ตอนเย็นมัน ๒๕ บาท ฉันจะเอาสตางค์ที่ไหนมาซื้อ"

    เถ้าแก่ก็เลยบอกว่า "กระเป๋าของท่านอยู่ข้างในครับ ผมไปเก็บไว้ข้างในแล้วราคาผมก็เขียนเท่านี้เหมือนกัน แต่ว่าผมรับสตางค์จริง ๆ แค่ ๑๘ บาท"

    ก็ถามว่า "ทำไมจำเป็นต้องขึ้นราคากันตามนี้ด้วยล่า มันไวเกินไป"

    เถ้าแก่ก็บอกว่า "หลังจากท่านขึ้นรถไปแล้วไม่นานนัก ประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษก็มีเจ้าหน้าที่เขามาแจ้งบอกให้ขึ้นราคาของไปเท่านั้นเท่านี้ ต้องขึ้นราคาตามนี้ เขาว่าของขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วกัน ให้ขึ้นราคาของไปอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำตามเขา"

    ก็เลยถามว่า "ถ้าเราไม่ขายตามเขาล่ะ เราขายถูกเราจะขายได้ดี เขาขายแพงขายไม่ได้ดี"

    เถ้าแก่บอกว่า "ไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่ขายตามเขา เราขายถูกเขาจะส่งคนมาซื้อหมด เมื่อซื้อหมดแล้วเราก็ไม่สามารถจะหาของราคาเท่านั้นมาขายได้อีก เพราะเขาขายแพงขึ้น"

    มันมีความจำเป็นต้องขายตามเขา แต่ในที่สุดท่านเถ้าแก่ก็เอากระเป๋าให้มาแล้วรับเงิน ๑๘ บาทตามเดิม เขามีความซื่อสัตย์ดี แต่ว่าป้ายที่เขียนไว้นั้นเป็นราคา ๒๕ บาท เถ้าแก่แกก็สั่งไว้ว่า "ถ้าใครเขาถามท่านให้บอกว่าเขาขายราคา ๒๕ บาทนะครับ ไม่งั้นผมเสียแน่"

    แต่ความจริงอาตมามาถึงวัดคนนั้นถาม คนนี้ถามก็บอกว่า "อย่าบอกราคากันเลยราคาไม่ต้องบอกกัน ป้ายเขาเขียนเท่านี้ก็เชื่อเท่านี้ก็แล้วกัน ผมจ่ายเท่าไรเป็นเรื่องของผมให้ถือว่าป้ายเขาเขียนไว้เท่านี้ก็แล้วกัน"

    แต่นั้นมา ถึงญาติโยมพุทธบริษัทที่จะต้องบอกราคาเกิน ความจริงถ้าบอก ของราคา ๒ บาท เราขาย ๑๐ บาท เขาขอลด ๘ บาท แล้วก็บอกว่า

    "ไม่ได้หรอก ฉันซื้อมา ๙.๕๐ บาทแล้วนี่ฉันได้ ๕๐ สตางค์เท่านั้นเอง ถ้าจะลดก็ลดได้เพียง ๒๕ สตางค์" อย่างนี้ก็โกหก เป็นมุสาวาท

    ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมุสาวาท? ก็ต้องตอบเขาเฉย ๆ ว่า "ของต้นทุนมันแพงต้องขายเท่านี้ ถ้าจะลดได้ก็ลดได้แค่ ๕๐ สตางค์ หรือ ๒๕ สตางค์ ลดเกินกว่านั้นไม่ได้เพราะต้นทุนมันแพง"ถ้าเขาถามว่า"ต้นทุนแพงราคาเท่าไร"ก็ตอบเฉยๆ ว่า "ของมันหลายชิ้นด้วยกัน ตอบยากเพราะมันต้องเปิดตำรา"เท่านี้ก็หมดเรื่องหมดราว ไม่เป็นมุสาวาท

    ก็รวมความว่า คนที่พูดมุสาวาทเป็นคนไร้สัจจะ คนเกลียด แต่พูดตามความเป็นจริง บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ไปที่ไหนใครก็ชอบ คนทุกคนต้องการรับฟังวาจาที่ตรงตามความเป็นจริง แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงก็ต้องระวังเหมือนกัน

    การพูดตามความเป็นจริงนั้นต้องเลือกเวลา อย่าพูดจนกระทั่งเขามีความเสียหายต่อหน้าประชาชนเกินไป ต้องใช้ปัญญาด้วย

    ความจริงข้อนี้เราควรจะพูดที่ไหน แล้วเวลาพูดนั้นเป็นเวลาควรจะพูดแล้วหรือยัง? ถ้าเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง เวลาที่เขาอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งพูดความจริง รอเวลาอารมณ์ดีจิตใจเขาสบาย พูดอ้อมหน้าอ้อมหลังไปก่อน เห็นท่าว่าเขาจะยอมรับแล้วก็ไม่โกรธจึงควรพูด ถ้าพูดไปแล้วผู้รับฟังโกรธ บรรดาท่านพุทธบริษัท นั่นหมายถึงความตายจะเข้ามาถึงผู้พูด ตามที่พูดกันว่า "วาจาจริงเป็นวาจาไม่ตาย" แต่คนพูดตามความเป็นจริงอาจจะตายได้ นี่ต้องระวังให้มาก ก็ถือว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงและบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เลือกเวลาเหมาะเวลาสม ใช้ปัญญาหน่อย อย่างนี้ถือว่า วาจาเป็นทิพย์ ท่านจะมีความสุขมากในฐานะที่คนทั้งหลายมีความไว้วางใจในท่าน

    สำหรับกรรมบถ ๑๐ และศีลข้อนี้อธิบายกันยาว เพราะนี่มันยาวไปหน่อยนะ

    ต่อไปข้อหนึ่ง คือ "วาจาหยาบ" วาจาหยาบ เป็นเครื่องสะเทือนใจบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดเลย แต่ความจริงบางโอกาสก็จำเป็นต้องพูดจำเป็นต้องใช้ แต่ควรใช้เฉพาะบุคคล ที่มีความจำเป็นของเรา อย่างคนที่อยู่ในปกครองจะเป็นลูกหรือจะเป็นใครก็ตามเถอะ เพราะคนเรามีนิสัย ๒ อย่าง คนที่มีนิสัยละเอียด นี่เป็นคนดีมาก คนประเภทนี้ชอบปลอบ และค่อยพูดค่อยจามีเหตุผล รับฟังแล้วปฏิบัติตามคนประเภทนี่พูดหยาบตึงตังโครมครามไม่ได้เสียหายกันเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะเธอมาจากสวรรค์ ถ้าบางคนเป็นคนนิสัยหยาบ เธอมาจากอบายภูมิ ถ้าพูดอ่อนโยน อ่อนหวาน เสร็จแก่ขี่คอแน่ คนประเภทนี้ไม่ต้องการวาจาดี ต้องใช้วาจาหยาบ ตึงตัวโครมคราม นี่เฉพาะคนในปกครองของเรา มีความจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะกับนิสัย แต่สำหรับกับเพื่อนบ้าน บรรดาญาติโยมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าใช้วาจาอ่อนโยนดีกว่า วาจาอ่อนโยนและอ่อนหวานนี้เป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าจะพูดที่ไหนใครก็ชอบจะพูดที่ไหนใครก็รัก

    แต่ว่าสำหรับเพื่อนที่คบหาสมาคมกันสนิทก็ไม่แน่นัก บางทีพูดเพราะๆ เข้าแก่ด่าเอาเลย หาว่าดัดจริต ฉะนั้น คำว่า "วาจาหยาบ" นี่ต้องดูเฉพาะบุคคล บางคนถ้าเป็นเพื่อนคบหาสมาคมมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก อาตมาพบท่านๆ หนึ่ง สมัยที่ยังไม่แก่นัก อาตมาก็ยังไม่แก่เกินไปนะเวลานั้น เวลานี้มันหาหนุ่มเกือบไม่ได้อยู่แล้ว มีแรงมาพูดได้ก็บุญตัวเวลานั้นยังไม่แก่เกินไป ไปพบคนๆ หนึ่งเคยเรียนหนังสือชั้นประถมมาด้วยกัน เธอเป็นอธิบดีกรมๆ หนึ่ง พอไปพูดวาจาหวานๆ เข้า แกชักกระชากเสียงว่า "ทำไมต้องพูดอย่างนี้ เมื่อสมัยเป็นเด็กอย่าลืมนะว่าเรียนหนังสือโต๊ะเดียวกัน ความเป็นใหญ่เป็นโต สำหรับเพื่อนรักไม่มีสำหรับเรากับท่าน" เขาว่าอย่างนั้น ว่าเพื่อนกันไม่มีอะไรใหญ่กว่ากัน ห้ามยกย่องสรรเสริญกันแบบนั้น นี่แบบนี้เขาก็มีนะ

    แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งเพื่อนกันที่เขาเป็นฆราวาส เขาก็ไปพบเพื่อนของเขาเหมือนกัน คนนี้ออกมาจากโรงเรียนแล้วก็ไม่มีงานราชการทำ เธอไมอยากจะทำ อยากจะทำงานส่วนตัว ก็เดินไปเดินมาแบบพ่อค้าหาบเร่ แต่ความจริงไม่ได้หาบ ติดต่อของที่โน่นเอามาขายที่นี่ ติดต่อที่นี่ไปขายที่โน่น รู้สึกว่ารายได้ดี รายได้ของเธอดีมาก บางวันสมัยนั้นค่าของเงินยังแพงอยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์ บางวันเธอได้กำไรเป็นร้อยๆ นับเป็นร้อยๆ บางวันถึงพัน อย่างไม่ได้เลยก็ ๒-๓ ร้อยบาท นี่แค่เฉพาะกำไร รวยมาก ดีกว่ารับราชการ เธอไปพบเพื่อนคนหนึ่งเป็นอธิบดีเหมือนกัน (คำว่า "เหมือนกัน" ก็เหมือนกับเพื่อนอาตมาอีกคนหนึ่ง) มาถึงก็ยกมือไหว้ "ท่านครับ" ครับผมเข้าให้ อธิบดีหันมาด่าเลย บอก "นี่..มึงอย่ามาพูดกับกูอย่างนี้ กูไม่ใช่นายมึง กูเป็นเพื่อนของมึงทีหลังห้ามพูดนะ" นายนั่นก็บอกว่า "ท่านเป็นอธิบดี" แกก็เลยกระชากเสียงมาใหม่บอก"กูเป็นอธิบดีสำหรับคนอื่น ไม่ใช่อธิบดีของมึง มึงเป็นเพื่อนกู ไปกินเหล้าด้วยกัน" ชวนไปกินเหล้ากันเลย

    รวมความว่า วาจาหยาบต้องดูเฉพาะบุคคลที่ควรไม่ควร รวมความว่า แหม..ถ้าใช้หวานๆ เกินไปสำหรับเพื่อนก็ไม่ดีเหมือนกัน ถ้ากร้าวเกินไปสำหรับเพื่อนบางคนก็ไม่ดีเหมือนกัน ต้องเลือกวาจาใช้ รวมความว่าใช้วาจานิ่มนวลไมหยาบคายมีประโยชน์กว่า เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป นี่ว่าสำหรับคนทั่วไปนะเป็น "คาถามหาเสน่ห์" เหมือนกัน

    เวลามันเหลือน้อย ยํ้าไปมาก ซอยไปมาก มันจะยุ่งแล้วหลวงตา มันจะจบไม่ทันเสียงก็แห้งลงมาทุกที แรงมันหมด มันยังไม่ตายก็พูดไปก่อน พูดให้มันขาดใจตายไปเลย

    ก็รวมความว่า ต่อไป "วาจาส่อเสียด" เรื่องการยุแยงตะแคงแสะ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าให้มีเด็ดขาด อันนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเลยท่าน เรายุให้เขาแตกแยกกันก็อย่าลืม หอกนั้นมันจะสนองเรา อย่าลืมว่าคนทุกคนนะเขามีปัญญา ทีแรกถ้าเขายังไม่พบหน้าซึ่งกันและกัน เขาอาจจะเชื่อเรา และคนที่มีปัญญาเบาคือจิตทรามไร้ปัญญาก็แล้วกัน เมื่อรับฟังแล้วก็เชื่อเลยประเภทนี้ก็มี แบบนี้สร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นมาเยอะ คนบางคนเขาใชัปัญญาก็มีเหมือนกัน ถ้าบังเอิญเขาพบกันเข้า ไต่ส่วนกันเข้าเมื่อไร วาจาที่เรายุแยงตะแคงแสะไว้มันไม่ตรงตามความเป็นจริง ตอนนี้แหละ ญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง เรื่องร้ายก็ตกกับเรา เขาเกลียดนํ้าหน้า ดีไม่ดีแทนวาจาจะต่อว่ากลายเป็นอาวุธไปก็ได้ เขาอาจจะจ้างคนมาฆ่าให้ตาย หรือเขาจะฆ่าเองก็ได้ ข้อนี้อย่าทำ

    แล้วสำหรับอีกวาจาหนึ่ง คือ "วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล" คือวาจาไร้ประโยชน์ นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าให้มีเป็นอันขาด พูดไปมันก็เหนื่อยเปล่า ถ้าคนเลวเขารับฟังก็ฟังได้ แต่ถ้าเป็นการเล่านิทานไม่เป็นไร ไม่ไร้ประโยชน์ สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดแก่ผู้รับฟัง นิทานใครๆ ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่วาจาที่พูดกับเพื่อน ถึงแม้ว่าไม่ใช่วาจาที่เป็นงานเป็นการ แต่พูดไปไร้เหตุไร้ผลนี่ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน อย่าพูดเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพูดไปเราก็เป็นคนเสีย วันหลังถ้าไปเจอะหน้ากันเข้าหรือเขาไปพบกัน เขาไปพบกับคนอื่นใดเขาจะกล่าวว่า "ไอ้หมอนั่น อีหมอนี่มันไม่ดี พูดส่งเดชไร้ประโยชน์" ต่อไปข่าวนี้กระจายมากไปเท่าไรก็ตามที เราก็เป็นคนเสียเท่านั้นทีหลังจะพูดอะไรกับใครเขา เขาก็ไม่อยากจะฟัง ถ้ามีความทุกข์ปรารถนาจะขอความช่วยเหลือ เขาก็ไม่อยากช่วย เพราะเขาไม่เชื่อวาจาของเรา

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตามที่ท่านสุนทรภู่ท่านว่าไว้ว่า "จะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา" นี่เป็นความจริง ถ้าเราเป็นคนพูดที่ดีคือ

    ๑. พูดตามความเป็นจริง

    ๒. ไม่พูดหยาบคาย ใช้วาจาไพเราะ

    ๓. ไม่ส่อเสียด ไม่ยุยงส่งเสริมเขาให้แตกร้าวกัน

    ๔. ใช้วาจาเฉพาะที่วาจาที่เป็นประโยชน์

    ทั้ง ๔ ประการนี้ คำว่า "โทษ" ไม่มีกับเรา มีแต่คุณเท่านั้น จะไปที่ไหนจะพูดที่ไหน ใครก็อยากรับฟัง เขาถือว่า วาจาเป็นทิพย์.."

    เรื่อง.. สมาธิ
    "..การฝึกสมาธิจิต บรรดาท่านพุทธบริษัท ก็ขอน้อมนำเอาพุทธานุสสติกรรมฐานขึ้นมาก่อน ว่าการฝึกสมาธินี่ "สมาธิ" แปลว่า "การตั้งใจ" ให้จิตใจตั้งไว้ว่าเรายอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ ถ้าจะไปทางไหน มาทางไหนเห็นรูปพระพุทธเจ้าที่เขาทำด้วยกระดาษก็ดี หรือเขาทำด้วยฟางหรือซังก็ดี ปั้นด้วยดินก็ดี ปั้นด้วยปูนก็ดี หล่อด้วยโลหะก็ดี จิตใจพร้อมยอมรับนับถือยกมือไหว้ ถ้าในสถานที่นั้นไม่ควรแก่การไหว้เพราะคนมากเกรงว่าเขาจะติฉินนินทา เพราะจิตใจของเรานี้ยังอยู่ใน โลกธรรมทั้ง ๘ ประการคือยังติดอยู่ในลาภและก็มีความเดือดร้อนในการไม่มีลาภ ลาภเสื่อมไป ติดอยู่ในยศ เดือดร้อนในการเสื่อมยศ ยังหวั่นไหวในคำนินทา พอใจในคำสรรเสริญ พอใจในความสุขไม่พอใจในความทุกข์ ธรรมดาของชาวโลกเป็นอย่างนี้ ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า "นัตถิ โลเก อนินทิโต" คนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก เราก็รู้อยู่แล้ว แต่ยังหวั่นไหวอยู่ ในเมื่อจิตยังหวั่นไหวอยู่ก็อย่าฝืนสังคมมากนัก ถ้าสังคมนั้นเขาไม่ยกมือไหว้เราก็ไม่ไหว้ก็ได้ แต่ใจพร้อมยอมรับนับถือด้วยความเคารพด้วยความจริงใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ใช้ได้ถือว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐานแน่ เป็นผู้ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าแน่

    ในตอนที่ ๗ ได้พูดมาถึง"วิธีปฏิบัติให้จิตมีสมาธิ ให้ใช้กำลังหรือเวลาเพียงไม่มากกำลังนี่จงอย่าให้เครียด บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าเครียดเกินไปไร้ผล ต้องเชื่อองค์สมเด็จพระทศพล คือพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่าย่อหย่อนเกินไปก็ไร้ผลอีก

    คำว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" ท่านแปลว่า "ย่อหย่อน" แต่ความจริง "กาม" แปลว่า"ความใคร่" เพราะเวลาที่ภาวนาไป พิจารณาไป นึกถึงไป ใจเกิดอยากจะได้สมาธิขั้นนั้น อยากได้ฌานขั้นนี้ในเวลานั้น อารมณ์ฟุ้งซ่านก็เกิด ไม่เกิดผล ใช้ไม่ได้อีก ต้องทำใจแบบสบายๆ ให้อารมณ์เป็นสุข ถ้าความสุขมันหมดไป มีแต่ความหวั่นไหว มีแต่ฟุ้งซ่าน เราก็เลิกเสียก็หมดเรื่องหมดราว ทำเอากันแค่มีกำไร อย่าทำให้มันขาดทุนอย่าฝืน ถ้าใครเขาบอกว่า อีตาแก่คนนี้ แกสอนให้คนขี้เกียจ อาตมาก็ยอมรับ ได้บอกไว้แล้วตั้งแต่ตอนที่ ๗ ว่าถ้าขี้เกียจ ทำน้อยๆ แต่ได้ผลมาก เอา..

    ก็ยังมีวิธีอีกวิธีหนึ่งที่บรรดาท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายผู้ทรงคุณพิเศษจริงๆ อาตมาต้องขอยอมรับว่าท่านที่สอนมานั้นทรงคุณพิเศษจริงๆ ถามว่าทราบได้ยังไงก็ต้องตอบว่าทราบด้วยกำลังใจของท่าน และการที่ท่านนึกในใจ อาตมาก็ไม่รู้เรื่องแต่ที่ท่านแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาซิ อย่างนี้รู้เรื่อง เพราะคนอย่างอาตมาไม่ใช่คนได้เจโตปริยญาณขั้นวิเศษวิโส หรือว่านิดหน่อยอาจจะยังไม่ได้ก็ได้ นั่นก็หมายความว่า ยังไม่ได้ดีพอที่จะรู้ใจคน และเวลานั้นเรานึกอะไรไม่ได้กันเลย อาตมานึกเรื่องอะไรขึ้นมาท่านพูดเรื่องนั้นทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่ออกจากปาก หรือว่าท่านคุยกับคนอื่น อาตมานึกปั๊บเรื่องนี้ขึ้นมาท่านหันมาพูดเรื่องนั้นทันที อย่างนี้ต้องยอมรับว่าท่านมีญาณพิเศษจริง แต่ท่านจะเป็นพระอรหันต์หรือเปล่าก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์กัน จะต้องไปพิสูจน์กันทำไมคนรู้ในขั้นนั้นแล้ว รู้จิตใจในขั้นนั้นแล้วไม่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า ท่านจะเป็นหรือไม่เป็นในเมื่อท่านรู้อารมณ์คิดก็แสดงว่า จิตละเอียดมาก จิตท่านมีความสะอาดมาก เราก็ยอมรับนับถือพระประเภทนี้ อาตมาเมื่อหนุ่มๆ บวชใหม่ๆ ระยะนั้นพบหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีการแนะนำเสมออย่างเดียวกัน

    นั่นก็คือว่า เวลาตอนหัวค่ำ ท่านบอกว่าตอนหัวค่ำอย่าขยันมากนัก การนึกถึงพระพุทธเจ้านึกเวลาไหนก็นึกได้ ไม่ห้าม เวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็นึกถึงได้ไม่เป็นไร เรื่องตอนนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท เมื่ออาตมาฝึกใหม่ๆ ท่านรุ่นพี่ ท่านเคยแนะนำว่าเวลาไปถ่ายอุจจาระก็ดี ถ่ายปัสสาวะก็ดี อย่านึกถึงพระพุทธเจ้านะ อย่าภาวนานะถ้านึกถึงตอนนั้นภาวนาเวลานั้น ถือว่าเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า ความจริงรุ่นพี่ท่านไม่ได้ฉลาดจริง ไปเจอะพระที่มีความสำคัญจริงๆ ท่านก็บอกว่า ภาวนาได้ นึกถึงได้ทุกเวลา จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะจะเดินไปเดินมาอย่างนี้ก็ใช้ได้ ยิ่งดีใหญ่ ท่านก็บอกว่าถ้าเวลาเราจะตาย เวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะจะทำยังไง ถ้าปล่อยว่างตอนนั้นกำลังใจเราเกิดฟุ้งซ่านไปถึงด้านอกุศล ก็จะทำให้ใจของตนอทิสสมานกายของตนลงนรกไป ท่านแนะนำดี ท่านก็แนะนำด้านเอากำไร

    ท่านบอกว่าการปฏิบัตินี่ เราต้องปฏิบัติให้มันง่ายๆ และได้กำไรสูง นักค้ากำไรแต่ไม่เกินควร ถ้าเกินควรนั่นก็หมายความว่า คิดต้องการกำไรเลยนิพพานนี่เกินควรแน่ถ้าเป็นมนุษย์ต้องการนิพพาน ยังไม่เป็นการค้ากำไรเกินควร เพราะว่ามนุษย์ทุกคนจะพบจุดความสุขจริงๆ ก็คือที่นิพพาน ยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด จะถือว่ามีความสุขจริงจังนั้นไม่ได้

    การเอากำไรท่านบอกว่าอย่างนี้ เวลาหัวค่ำอย่าลืมว่าเราเหนื่อยมามาก เหนื่อยตั้งแต่ตื่นใหม่ๆ พอตื่นขึ้นมากายยังไม่ทำงานแต่ใจมันคิดแล้ว พอถึงเวลาค่ำร่างกายอยากพักผ่อนเพราะเหนื่อยมาก ถ้าเราไปเคร่งเครียดตอนนั้นจะลำบาก ผลดีจะไม่เกิดไอ้ร่างกายมันจะพักความง่วงมันก็เกิด เราก็ฝืนความง่วง คิดว่าเวลานี้ต้องทำใช้เวลาเท่านั้นใช้เวลาเท่านี้ อารมณ์จิตก็จะเกิดไม่ทรงตัว เมื่อความง่วงเข้ามาครอบงำ ความดีก็ไม่เกิด การนึกถึงอะไรจริงจังก็ไม่มี ท่านก็แนะนำว่าถ้าทำไปจะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี จะยืนก็ดี จะเดินก็ดี การเจริญสมาธิหรือวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่นั่งอย่างเดียว นั่ง นอน ยืน เดิน ใช้ได้ ถ้าอยู่ตามลำพังจะนั่งแบบไหน นั่งเก้าอี้ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งเหยียดขา นั่งห้อยเท้า ได้ทุกอย่าง นอนก็ได้ เอนกายก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ เดินเขาเรียก "จงกรม" เป็นอันว่าทำได้ทุกอิริยาบถ แต่ถ้าบังเอิญเกิดความเพลีย เกิดความง่วงขึ้นมา ท่านบอกจงอย่าฝืน นอนเลย นอนแล้วจับลมหายใจเข้าออก จับคำภาวนา เพียงเท่านี้แล้วภาวนาให้หลับไป ถ้าขณะใดถ้าจิตยังไม่ถึงฌาน จิตมันจะยังไม่หลับ ถ้าจิตถึงฌานเมื่อไร จะตัดหลับทันที แล้วท่านก็บอกว่า เราหลับไปกี่ชั่วโมง ท่านถือว่าเป็นการทรงฌานนั้นตลอดเวลาที่เราหลับ จนกว่าจะตื่น ถ้าตายไปในเวลาหลับจะมีผลตามกำลังฌานทันที นั่นคือตกนรกไม่ได้แล้ว

    ข้อนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบ ว่าขั้นของสังโยชน์ ๓ ทำอะไรไม่หนักถ้ามีกำลังใจแค่ปฐมฌานใช้ได้ สมาธิไม่สูงเลย คำว่า "ปฐมฌาน" ก็มีเครื่องสังเกตก็คือว่าขณะที่ภาวนาอยู่ก็ดี หรือพิจารณาอยู่ก็ดี รู้ลมหายใจเข้าออกก็ตาม ในตอนนั้นหูเราได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง ได้ยินชัดเจนแจ่มใสตามกำลังที่เขาส่งเสียงกัน และขณะนั้นเราสามารถภาวนาก็ได้พิจารณาก็ได้ ไม่รำคาญในเสียงอย่างนี้ท่านเรียก "ปฐมฌาน" ไม่มีอะไรหนัก

    นี่เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นวิธีเบาๆ และก็การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าใช้กำลังใจจับพระรูปพระโฉมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จะเป็นการดีมาก แต่ว่าท่านที่จะทำอย่างนี้ได้เฉพาะท่านที่ได้ ทิพจักขุญาณ คือในหลักสูตรของวิชชาสามเท่านั้น กับหลักสูตรของอภิญญาถ้าได้" มโนมยิทธิ ซึ่งมีทิพจักขุญาณอยู่ด้วยจึงจะทำได้ ถ้าไม่ได้หมวดสองหมวดนี้ ก็ใช้จับรูปพระพุทธรูป ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น คือ ตอนที่ ๗

    ตอนนี้ก็มาคุยกัน การแนะนำเอาแค่นี้พอ ทำแค่นี้พอ ถ้าถามว่า ทำนิดๆ หน่อยๆ จะมีอานิสงส์หรือ? จงอย่าลืมว่าทำครั้งละนิดครั้งละหน่อย ทำครั้งละน้อยๆ ๒-๓ นาที ย่อมมีอานิสงส์ ขณะที่เราทำจิตเป็นสมาธิเมื่อไร เวลานั้นจิตว่างจากกิเลสทันที พระพุทธเจ้ากล่าวว่า

    "บุคคลใดทำจิตว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตหนึ่ง ท่านกล่าวว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตไม่ว่างจากฌาน" ความดีจะสะสมตัวอยู่เสมอ ถ้าถามว่าคนที่ทำความดีวันละเล็กวันละน้อย จะมีอานิสงส์ยังไง? จะมีผลเป็นประการใด?

    ความจริงเรื่องราวในพระพุทธศาสนาก็มีมาก แต่วันนี้ต้องขอประทานอภัยแก่บรรดาพุทธบริษัท ในฐานะที่อาตามาต้องซ้อมตายมาหลายวาระ การตายนี่มันตายจริงๆ ไม่ได้ซ้อม ตายแล้วกลับฟื้นคืนขึ้นมา (ขอประทานอภัยดื่มน้ำนิดหนึ่ง) มันกลับฟื้นขึ้นมาย่อมมีผลในการตายครั้งนั้นๆ ขอเอาความตายตอนต้นมาคุยกัน เหลือเวลาประมาณ ๑๔ นาที ท่านทั้งหลายจะได้ทราบว่า การนึกถึงพระพุทธเจ้าวันละเล็กวันละน้อยทุกๆ วันย่อมมีอานิสงส์

    อาตมาเองเมื่อสมัยที่เป็นเด็กต้องถือว่าพอจำความได้ ท่านแม่ก็บอกให้ภาวนาว่า"พุทโธ" แต่การภาวนาของเด็กไม่มีอะไรจริงจัง ถ้านึกในใจท่านถือว่าไม่ได้ภาวนาตามที่ท่านสั่ง ต้องภาวนาให้ท่านได้ยิน คำว่า "พุทโธ พุทโธ พุทโธ" อย่างนี้ ๓ ครั้งเท่านี้ ท่านบอกใช้ได้ หลับได้ ต่อไปจะนึกยังไงก็ไม่ว่า พอนอนลงไปปั๊บ ต้องบังคับเอ้า ภาวนาว่า "พุทโธ" ให้แม่ฟัง อาตมาเป็นเด็กไม่ภาวนาก็ไม่ได้ เพราะว่าเครื่องลงอาญาอยู่ใกล้ท่าน คือ "ไม้เรียว" ถ้าขืนขัดคำสั่งเดี๋ยวไม้เรียวก็วิ่งมาแล้ว ไอ้เจ้าไม้เรียวนี่มันก็แปลก มันปฏิบัติตามคำสั่งของมือของท่านเด็ดขาดทันทีทันใด ไอ้การกลัวถามว่ากลัวใครก็บอกว่า "กลัวไม้เรียว" ไม่ได้กลัวแม่ แม่จริงๆ ไม่น่ากลัวแต่ไม้เรียวน่ากลัวมาก

    ถ้าวันไหนเผอิญนอนหลับไปก่อนไม่ได้ภาวนาว่า "พุทโธ" ให้ท่านฟัง หรือว่าจะว่าพุทโธแต่ว่าดังหรือไม่ดังก็ตามท่านไม่ได้ยิน เผอิญเข้าที่นอนก่อนท่าน แล้วก็หลับไปเข้าไปแล้วท่านจะปลุกขึ้นมาให้ภาวนาว่า "พุทโธ" ก่อน ก่อนจะหลับนี่ต้องภาวนาว่า "พุทโธ" ก่อน เราจะบอกว่า "ว่าแล้วคุณแม่" ท่านไม่รับฟัง ท่านบอกว่าต้องว่าเดี๋ยวนี้ ก็นอนว่าทั้งๆ ที่ง่วง "พุทโธ่ พุทโธ่ พุทโธ่" ก็ไม่ใช่ "พุทโธ" มันกลายเป็น "พุทโธ่" ไป ท่านก็ไม่ว่าอะไร หลับก็หลับไป อาศัยอย่างนี้ จนกระทั่งเป็นเด็กโตอายุ ๑๐ ปีเศษ

    แต่ว่าพอโตขึ้นมาหน่อยเกิดการกลัวผี ไอ้ผีนี่ อาตมากลัวจริงๆ เคยเห็นผีบ้างหรือเปล่าก็จำไม่ค่อยได้นักตอนเป็นเด็ก แต่ความรู้สึกมันกลัวมาก ถ้ามีใครเขาเผาศพกันที่ไหน ถ้ามีปี่พาทย์ ได้ยินเสียงตะโพนมอญก็ดี หรือว่าตีกลองประโคมศพก็ดี อีตอนนั้นนอนไม่ได้แล้ว คนเดียวนะนอนไม่ได้ต้องหาเพื่อนนอน เวลาจะนอนก็ต้องหาอะไรมาทับตีนมุ้ง อุดร่อง เกรงว่าผีจะลอดจากร่องขึ้นมาบ้าง เกรงว่าผีจะลอดมุ้งเข้ามาบ้างเอาอะไรมาทับตีนมุ้งเข้าไว้ ความกลัวมันกลัวขนาดนี้ แม้กระทั่งเวลากลางวันเข้าห้องข้างในคือในห้อง เขาใช้งานไปหยิบอะไรในห้องก็ตาม ก็ยังกลัวผีตอนกลางวัน ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่ข้างนอกก็ยังกลัว เวลาไปหยิบของแล้วเวลาเดินออกไม่เอาหน้าออก เอาหลังออกถอยหลังมาหาประตู เกรงว่าผีจะมาจับหลัง ในเมื่อท่านแม่ท่านบอกว่า ถ้ากลัวผีอย่างนี้ปกติผีนี่กลัวคำว่า "พุทโธ" คือกลัวพระพุทธเจ้า เป็นอันว่าท่านก็เลยบอกว่า

    "ต่อนี้ไป ถ้าความกลัวเกิดขึ้นเมื่อไรให้ภาวนาว่าพุทโธทันที ถ้าอย่างนี้ผีจะไปไกลแสนไกล ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ว่าขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงช่วยกำจัดผีไปให้ไกลแสนไกล แล้วภาวนาว่า "พุทโธ" ในเมื่อความกลัวเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็ภาวนาว่า "พุทโธ" หากความไม่กลัวไม่เกิดขึ้นก็ไม่ภาวนาว่า "พุทโธ"

    ญาติโยมฟังตอนนี้แล้วก็จำไว้ด้วยนะ อาตมาตอนเด็กไม่มีอะไรจริงจังกับพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นเรื่องแปลกตอนมาบวชแล้วนี่เข้าใจชัด

    ตอนที่บวชใหม่ๆ ตอนพรรษาแรกอยู่กับ หลวงพ่อปาน คือวันหนึ่งลุกขึ้นมาเช้ามืด เจริญพระกรรมฐานเช้ามืดตอนตีสอง ก่อนหน้าตีสองนิดหนึ่งต้องตื่นแบบนั้นทุกวัน เวลานี้ก็ยังตื่นแบบนั้นเป็นปกติ เพราะชินกับเวลาตื่นเวลาตีสอง ก่อนหน้าตีสองประมาณครึ่งชั่วโมงตื่น ก็เรียกว่าตีหนึ่งครึ่ง ก็เกินไปบ้าง ล้างหน้าล้างตาเสร็จ ทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ถึงเวลาตีสองตรง ลุกขึ้นเจริญพระกรรมฐาน คือการนั่งกรรมฐาน ภาวนาตามอัธยาศัย

    มาวันหนึ่งพอตื่นขึ้นมาเปิดหน้าต่างล้างหน้า เห็นผีไม่มีหัว มันโดดเสียไม่มีละ โอ้โฮ เยอะแยะ จำนวนสักสองร้อยคนกว่า โดดที่ชานตึงตัง ก็มองดูอะไรกันแน่เห็นว่าผีไม่มีหัวเท่านั้นแหละ ก็เลยสงสัย (ตอนนั้นความกลัวก็ไม่เกิดขึ้น) ว่าไอ้พวกนี้ไม่มีหัวทำไมโดดได้ เลิกล้างหน้ามาสวดมนต์ มาไหว้พระสวดมนต์มันก็ตามมาโดดในกุฏิ นั่งกรรมฐานมันก็โดดใกล้ๆ ก็ช่างมันใจสบาย พอถึงตีสี่เลิก เพราะพระลุกขึ้นสวดมนต์ ตอนนั้นไปนอนเจ้าผีตนหนึ่งโดดเข้ามาคร่อมอก ก็ตั้งใจจะเอามือขวาหยิบหวายตีผีตีมันมันก็กดมือขวาไว้ พอจะเอามือซ้ายหยิบมันก็กดมือซ้ายไว้กดแขนซ้ายไว้จะว่ายังไงมันก็ว่าตาม พอว่าคาถาขับผีจบ มันบอกว่า "กูไม่กลัว" ว่าอีกบทหนึ่ง มันบอกว่า "บทนี้มึงได้ครึ่งเดียว" มันก็เลยว่าต่ออีกครึ่ง แสดงว่าผีตัวนี้เรียนมามาก ต่อไปก็หมดท่าไม่รู้จะทำแบบไหนก็เลยนึกในใจว่า โอหนอ...โลกนี้ไม่มีใครดีกว่าพระพุทธเจ้า มนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งหมด ไม่มีใครเหนือท่าน นึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้า ขอให้ช่วยกำจัดผีตัวนั้น และนึกภาวนาว่าในใจว่า "พุทโธ"แล้วเป่าพรวดเดียวเจ้าผีก็โดดหกคะเมนเคนเก้ โดดวิ่งหนีไปเลย นี่ละบรรดาท่านพุทธบริษัท ความจริงท่านแม่บอกสมัยเป็นเด็ก ๆ จะว่าท่านหลอกก็ไม่ได้ ผลปรากฏสมัยเมื่อบวชพรรษาแรก

    เรามาว่าถึงผลอีกผลหนึ่ง ต่อมาอายุ ๑๐ ปีเศษๆ ก็เกิดเป็นโรคอหิวาต์ตายกับเขาตอนเป็นโรคอหิวาต์ใหม่ๆ เริ่มท้องเดินใหม่ๆ ท่านแม่ก็ให้ภาวนาว่า "พุทโธ" แล้วท่านเอาพระพุทธรูปมาตั้งให้เห็น ท่านบอกมองดูพระพุทธรูปแล้วก็ภาวนาว่า "พุทโธ" พระพุทธเจ้าจะช่วยให้หายโรค มันเจ็บมันเสียดท้องเหลือเกิน มันเจ็บท้องมาก ท้องถ่ายก็เพลีย มีความร้อนสูง พอถ่าย ๓ ครั้ง ก็เริ่มจะหมดสติ หมดแรง หมดแรงแต่สติยังดีใจก็ภาวนา "พุทโธ" ตอนนี้ลืมตาก็ไม่ค่อยจะไหว กายขยับไม่ไหว ใจก็นึกถึงภาพพระพุทธรูป คิดว่าจะขอพระพุทธเจ้าโปรดช่วยให้หายโรคด้วยเถอะ เห็นจะเป็นแบบเดียวกับ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ภาวนาไปๆ เห็นภาพพระพุทธรูปตอนนี้หลับตาแล้วไม่อยากลืมตาลอยข้างหน้าใสแจ๋วใสสะอาดมากเหลืองอร่าม ภาวนาไปๆ พระพุทธรูปใหญ่ขึ้นมาทุกทีๆ ผลที่สุดก็กลายเป็นพระสงฆ์ และก็สวยงามมากยิ้มแย้มแจ่มใส สดชื่น ตอนนี้ร่างกายไม่รู้สึกทุกขเวทนาเพราะมัวไปสนใจ ความสวยของพระพุทธเจ้าเสีย

    ตอนนั้นเอง จิตออกจากร่างกายที่เรียกว่า "อทิสสมานกาย" เมื่อจิตมันออกจากร่างไป ก็ไปเป็นคน แต่ไม่ใช่คนปกติ เป็นคนผิดปกติ ไอ้คนผิดปกติ เขาเรียกคนบ้าหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เนื้อเป็นแก้ว เนื้อนี่ใสเป็นแก้วสวยจริงๆ และเสื้อก็ดี กางเกงก็ดีมีชฎาด้วย เป็นทองคำทั้งหมด และก็เนื้อทองคำผิวทองคำทั้งหมดประดับไปด้วยเพชรแพรวพราวเป็นระยับ เป็นเพชรใสเป็นประกายมากสวยมาก ร่างกายทั้งหมดจะยกแขนยกขาขึ้นมายังไงก็ตามที มันเบาหมด จะยกย่างไปทางไหนมันเบาหมด ร่างกายไม่ใช่เดิน มันลอย ๆ มันเบาเหมือนกับนุ่นปลิวลม ตอนนั้นก็ไปหาท่านแม่บ้าง ไปหาท่านลุงบ้างเรียกใครก็ไม่มีใครสนใจทุกคนก็นั่งมองแต่ศพที่ตายอยู่ ตอนนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท อาจจะสงสัยถามว่าเสียดายร่างกายไหม? ก็ต้องตอบว่าเวลานั้นไม่รู้สึกเสียดายเลยไม่อยากได้มันด้วย มันสกปรกเหลือเกิน มันมีแต่ความสกปรกมีแต่ความเศร้าหมอง มาดูกายใหม่มันสวยมาก ขนาดเนื้อเป็นแก้วใสแจ๋ว พื้นทั้งหมดของผ้าเสื้อกางเกงมันเป็นทองคำทั้งหมด เครื่องประดับประดาสวยสดงดงามและประดับไปด้วยเพชร เพชรนี่เต็มไปหมด ผ้ายาวขนาดไหนเพชรประดับเต็มขนาดนั้น ไม่เห็นเนื้อทองของเสื้อผ้าเลย

    ในเมื่อไม่มีใครสนใจ ก็ไปยืนอยู่หลังบ้าน คิดว่าจะยืนเที่ยวอยู่หลังบ้านยังไม่คิดจะไปไหน เห็นคนเดินกันมาประมาณ ๒๐๐ คน มีหัวหน้าสูงใหญ่มาก คนทุกคนที่ตามมาหัวแค่เอวบ้าง ไม่ถึงเอวบ้าง และมี ๒ คนขนาบกลาง มีคนหลังหนึ่งคน (เวลามันเหลือน้อย บรรดาท่านพุทธบริษัท) ก็ถามคนหน้าว่า "ลุงจะไปไหนครับ?" เขาก็กางตำราออกมาเปิดปั๊บ เขาบอก "หลานไม่อยู่ในบัญชีไปกับลุงไม่ได้ กลับเข้าบ้านเสีย" อาตมาก็นึกในใจว่าตาลุงนี่บ้า ถามว่าจะไปไหน ดันบอกว่าไม่มีในบัญชี แกจะบอกเราว่าไปไหนสักคำก็ไม่บอก ต่อมาก็ถามคนตรงกลาง ตรงหลัง เขาก็พูดเหมือนกัน ก็เลยปล่อยให้เขาเดินไกลไปประมาณสัก ๑ กิโล ก็เดินตามไปเรื่อยๆ มันไม่รู้สึกเหนื่อย เขาเข้าป่าขึ้นเขาลงเขาเข้าป่าละเมาะไปเรื่อยๆ พอถึงป่าสูงใหญ่ เขาก็สำรวจคนทางด้านโน้นเป็นด้านนรก ยืนบนยอดเขา เห็นสำนักของพระยายมมีอาคาร ๓ หลัง และมีคนประเภทมนุษย์เรายืนเป็นกลุ่มๆ กลุ่มประมาณ ๑๐๐ คนบ้าง เกินร้อยคนบ้าง มีคนตัวใหญ่ๆ แบบนั้นถือฆ้อนบ้าง ถือหอกบ้าง ถือกระบองบ้าง มาคุมอยู่กลุ่มละคน

    ถามท่านลุงว่า "ที่นั่นแดนอะไร?"

    ท่านบอกว่า "ที่นั่นเป็นสำนักของพระยายม ภาพคนที่เห็นนั้นเคยไปจากนรกให้ไปเกิดแล้วกลับไม่ทำความดี เขาจับมาลงโทษใหม่" เห็นคนเดินออกมาจากสำนักพระยายมท่านบอกนั่นพระยายมตัดสินแล้วต้องไปสู่นรก" ชี้ไปแดนข้างหน้าไกลมากแต่ว่าเป็นทะเลเพลิงจับท้องฟ้า

    ท่านบอก "โน่น เอาไปที่โน่น"

    ถามท่านบอกว่า "ผมอยากจะลงไปดูบ้างได้ไหม"

    ท่านบอก "ไม่ได้ หลาน คนที่ภาวนาว่า พุทโธ หรือ อรหัง ก็ตาม หรือภาวนาว่ายังไงก็ตาม ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้าไว้เป็นปกติ คนประเภทนี้ลงไปในแดนนั้นไม่ได้ ถ้าลุงปล่อยให้ลงไปลุงมีโทษ จะต้องถูกทำโทษ ขอให้หลานกลับ" ท่านก็แนะนำว่าทีหลังถ้าต้องการจะรู้อะไรนึกถึงลุงแล้วมาที่นี่ลุงจะให้ดูทุกอย่าง ก็เป็นความจริง ทีหลังพอนึกปั๊บก็ไปถึงที่นั่นทันที นึกถึงลุง ลุงก็มาถึง อยากดูนรกลุงให้ดูนรกอยากดูนางฟ้า เทวดา วิมาน ท่านให้เห็นหมด อยู่ใกล้ๆ

    เป็นอันว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย คำภาวนาว่า "พุทโธ" แม้แต่เล็กน้อยถ้าจิตช่ำชองขึ้นใจประโยชน์มันเป็นอย่างนี้ ตกนรกไม่ได้ แต่ว่าเวลานี้จะพูดไปก็พูดไม่ไหว."

    เรื่อง.. ปัญญา
    "..ปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ปัญญา จงเป็นผู้มีความรอบรู้อยู่เสมอ จงใช้ปัญญาพิจารณาอารมณ์จิตว่า เวลานี้อารมณ์จิตของเรายังมีความผูกพันอยู่กับร่างกายหรือเปล่า ยังเห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเราหรือเปล่า หรือว่าเราไปพอใจร่างกายของบุคคลอื่นเขาหรือเปล่า ถ้าอารมณ์อย่างนี้มีอยู่ก็แสดงว่าเราเลวเกินไป

    สำหรับในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว ไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติตาม เป็นอันว่าสัญชาติของเราก็ไม่น่าจะเป็นสัญชาติมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์มีสัญชาติคือมีอารมณ์ใจสูง ถ้าเราไม่เชื่อฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหุ้มห่อร่างกายด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ก็แสดงว่าเราเลวกว่าสัตว์เดรัจฉานประเภทเลว เพราะว่าสัตว์ประเภทนั้นมันยังไม่เอาผ้าเหลืองไปหุ้มกายมัน มันเป็นการหลอกลวงชาวบ้าน นี่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาตัวของตัวให้ดี กระจกไม่มีก็ไปดูนํ้าใสๆ ชะโงกดูเงาว่าสภาวะรูปร่างของเรา แม้แต่ความเป็นอยู่ของเรามันเหมือนชาวบ้านเขาหรือเปล่า

    ปัญญาต้องใช้จุดนี้นะ พิจารณาอัตภาพร่างกายนี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา หรือว่าด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันไม่ใช่เรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา แล้วปัญญาก็พิจารณาต่อไปว่า เวลานี้เราสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาหรือเปล่า ถ้าสงสัยใช้ปัญญาแก้ซะให้ชัดว่า พระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ที่ทรงสอนน่ะ มันจริงหรือไม่จริง พระพุทธเจ้าโง่หรือว่าเราโง่ ใช้ปัญญานะอย่าใช้สัญญา

    แล้วปัญญาก็มาพิจารณาศีลที่เราจะพึงรักษาตามสภาวะของตัว ถ้าพระก็มีสิกขาบท ๒๒๗ รวมทั้ง อภิสมาจาร ด้วยเป็น ๓๐๐ เศษ สามเณรก็มีศีล ๑๐ สิกขาบท แล้วก็มี เสขิยวัตร อีก ๗๕ รวมเป็น ๘๕ สิกขาบท สำหรับอุบาสกอุบาสิกาก็มีศีล ๕ ศีล ๘ ตามอัธยาศัยที่พึงจะทำได้ ใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาศีลของเราให้เป็นปกติ อย่าให้มันด่างมันพร้อย มันขาดทะลุ อย่าให้บกพร่อง ถ้ามีปัญญาซะอย่างเดียว ไม่มีอะไรยาก

    แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่า ร่างกายของคน ร่างกายของสัตว์ที่เรียกกันว่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เอาร่างกายคนก็แล้วกัน คนก็ดี สัตว์ก็ดี วัตถุก็ดี มันสกปรกหรือสะอาดให้พิจารณาใน "กายคตานุสสติ" และ "อสุภกรรมฐาน" หาความจริงในร่างกายของคนและสัตว์ แม้แต่ของเราให้ได้ว่ามันมีอะไรน่ารักตรงไหน มันมีอะไรยืนยงคงทนตรงไหน มันมีสภาวะทรงตัวหรือว่ามันสลายตัวไปในที่สุด ต้องเอาชนะอารมณ์นี้ให้ได้นะ จะไปติดอยู่ในตัวรักไม่ได้ ต้องเป็นตัวคลายความรัก

    แล้วก็พิจารณาอารมณ์ที่เราโกรธ อารมณ์ที่กระทบกระทั่งคือ ปฏิฆะ อารมณ์ที่เข้ามากระทบกระทั่งสร้างความไม่พอใจ มันเป็นเพราะอะไรจึงไม่พอใจในบุคคลอื่น ที่เขากล่าวอย่างนั้น ที่เขาทำอย่างนั้น เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาดูว่าที่เราไม่พอใจ ที่เราโกรธเขา ที่เราเกลียดเขา คิดอาฆาตมาดร้ายเขาเพราะเรามันเลว ถ้าเราดีเสียอย่างเดียวใครจะว่าอะไรมันก็ไม่หนัก

    ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า

    "นินทาและสรรเสริญนี่ของธรรมดาของโลก เขาสรรเสริญเราว่าดี ถ้าเราเลวมันก็ไม่ดีไปตามคำเขาพูด เขานินทาว่าเราเลว ถ้าเราดีเราก็ไม่เลวไปตามคำเขาพูด"

    ดูที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูก พระนางมาคัณฑิยา จ้างคนด่า ไปบิณฑบาตเขาก็ตามไปด่า ไปเทศน์ที่ไหนก็ตามไปด่า ไปอยู่พักผ่อนที่ไหนก็ตามไปด่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเฉย ไม่เคยสะดุ้งสะเทือน ต่อมา ท่านสัญชัยปริพาชก ท่านก็นั่งด่า นั่งด่าเฉยๆ ไม่พอ ก็ด่าฝากคนอื่นไปให้พระพุทธเจ้าทราบด้วย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงหนักใจ

    ต่อมาอีกพวกหนึ่งก็ได้แก่ สุปิยปริพาชก นั่งด่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดคืนยันรุ่ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงหนักใจ พระองค์ก็ทรงเฉย ไม่เดือดร้อน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าพระองค์ดีเสียแล้ว

    ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ไอ้เรื่องที่ใครเขาจะทำดีเขาจะทำชั่วนะ จะไปนั่งโกรธเขาเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าไม่ถูกใจเราก็แสดงว่าใจของเรามันยังเลว มันยังมีกิเลส อาการที่เขาทำมาที่เขาพูดมาจึงเป็นที่ไม่ถูกใจจึงโกรธ แล้วไอ้ความโกรธมันตัวกิเลสคือ อารมณ์ของความชั่ว จงสังหารความชั่วอันนี้เสียด้วยอำนาจ "พรหมวิหาร ๔" และ "สักกายทิฏฐิ" ร่วมกัน

    ทีนี้ในข้อต่อไปก็ใช้ปัญญาพิจารณาใน รูปฌาน และ อรูปฌาน ว่ารูปฌานและอรูปฌานทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นกำลังของจิตที่จะดึงปัญญาเป็นสะพาน ให้ปัญญาเข้าประหัตประหารกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเท่านั้น ไม่ใช่ดีอยู่แค่นี้

    แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไปว่า ไอ้การที่เราจะถือตัว ถือตน ถือเรา ถือเขา ถือพวก ถือพ้อง ถือหมู่ ถือคณะ ว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา มันไม่มีประโยชน์ คนเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน ไม่ควรจะเอาอะไรเข้าไปเปรียบเทียบ ให้เป็นการแข่งกันและกัน หรือว่าถ่อมเกินไปอะไรพวกนี้ไม่ควรคิด คิดว่าทุกคนเกิดมาก็แก่เหมือนกัน ป่วยเหมือนกัน ตายเหมือนกัน รักสุขเหมือนกัน เกลียดทุกข์เหมือนกัน เราเป็นเพื่อนกันได้แบบสหาย จะเสมอไม่เสมอ จะดีกว่า จะสูงกว่า จะตํ่ากว่า ฉันไม่รู้ รู้อย่างเดียวว่าฉันเป็นมิตรที่ดีของท่านเท่านี้พอ

    อุทธัจจะ ใช้ปัญญาเข้าควบคุมกำลังใจว่าอารมณ์ใดที่จะเกิดขึ้นนั้น เราไม่ต้องการ เรามุ่งเฉพาะพระนิพพานอย่างเดียว

    อวิชชา ใช้ปัญญาเข้าจำแนกแจกลงไปว่า อวิชชา ตัวเกาะ เกาะในอารมณ์ที่เป็น "อนุสัย" ยังมีความหลงใหลใฝ่ฝันท้อแท้อยู่เลย คิดว่าถ้าเราเป็นอนาคามี ราก็มีความสบายไม่ควรทะเยอทะยานมากเกินไปให้มันเหนื่อย ก็ใช้ปัญญาสอนมันว่า ถ้าสิ่งใดก็ตามถ้าเรายังไม่เสร็จกิจ เราก็ต้องทำต่อไป ไหนๆ เมื่อเวลามันมีก็ทำลายให้มันพินาศไป ให้มันหมดกิจไปเสีย ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหมด อย่าให้ปรากฏว่ามีในจิต

    ปัญญาตัวนี้ องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรกล่าวว่า เป็นผู้เข้ามีความเข้าใจใน "อริยสัจ ๔" เห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ป่วยเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ มีกินเป็นทุกข์ ไม่มีกินก็เป็นทุกข์ โลกนี้มันเป็นทุกข์ไปหมด ที่มันจะทุกข์ก็เพราะว่าอาศัยตัณหาความทะยานอยาก เราจะตัดตัณหาความทะยานอยากได้ก็เพราะอาศัย

    (๑) มีศีลบริสุทธิ์

    (๒) มีอารมณ์สมาธิตั้งมั่น

    (๓) มีปัญญาพิจารณา

    มีความเข้าใจว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือว่าที่เราเรียกว่ากายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เมื่อจิตใจของเราวางขันธ์ ๕ เสียได้เมื่อไร ก็ชื่อว่าเราเข้าถึง "อริยสัจ" เมื่อนั้น จัดว่าเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงคือ "พระอรหันต์" นี่เราว่ากันถึงปัญญา.."

    จาก หนังสือ ตายแล้วไม่สูญ...แล้วไปไหน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 19 มีนาคม 2014
  2. Tkkk

    Tkkk Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    86
    ค่าพลัง:
    +79
    ขออนุญาติเผยแพร่นะคับ.
     

แชร์หน้านี้

Loading...