สตง.สรุปโคตรโกงจารุวรรณนัดส่งคปค./อัยการพร้อมขอตัวแม้ว

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 25 กันยายน 2006.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    สตง.สรุปโคตรโกง'จารุวรรณ'นัดส่งคปค./อัยการพร้อมขอตัว'แม้ว'

    แผลเน่าทุจริตสามานย์ขุดที่ไหนโกงที่นั่น "จารุวรรณ" พบเงื่อนงำบัตรสมาร์ทการ์ดประมูลราคาสูงกว่าปกติ เปิด 10 บัญชีร้อนตั้งแท่นคณะปฏิรูปฯ เชือดยกเข่ง

    <DD>ทั้งเงินกู้เอ็กซิมแบงก์-ซีทีเอ็กซ์-งบประชานิยม "สมชัย" ร้อนตัวตีกัน สตง.อย่าเล่นการเมืองสรุปผลสอบสินบนข้ามชาติ บิ๊กทหารหวั่นฉวยโอกาสทำลายเอกสารโกงบูรณาการ ส่งทหารคุ้มกันเข้มทั้งสำนักงาน "สุดารัตน์" เกาะล้อรถถังหลังตั้งหลักไกลถึงเยอรมนี ปากสั่นพร้อมสยบใต้ท็อปบู๊ต ปชป.วอน "โกวิท" รื้อคดีฆ่าชิปปิ้งหมู เปิดเอกสารสารภาพก่อนถูกฆ่าโยงอดีต รมต.-หลังบ้านอดีตผู้นำ อัยการลั่นพร้อมลากคอ "แม้ว" กลับประเทศหากถูกดำเนินคดีอาญา
    </DD><DD>ได้มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ ที่จะมีการประชุมกันเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 25 กันยายน ศกนี้ รวมถึงความเคลื่อนไหวของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการเตรียมสรุปผลสอบคดีทุจริตต่างๆ ของอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะสินบนข้ามชาติการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ภายในสัปดาห์หน้า
    </DD><DD>สตง.พบสมาร์ทการ์ดส่งกลิ่นฉาว
    </DD><DD>มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงนายไกรศร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) เรื่อง แจ้งผลการตรวจสอบการประกวดราคาจ้างทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ หรือบัตรสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในขั้นตอนการประกวดราคา
    </DD><DD>หนังสือดังกล่าวของ สตง.ระบุว่า ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบประกาศประกวดราคาจ้างจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 8/2549 ลงวันที่ 26 เมษายน 2549 วงเงินงบประมาณ 962,000,000 บาท ผลการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการประกวดราคามีมติเป็นเอกฉันท์ให้กลุ่มกิจการค้าร่วม HST และกลุ่มกิจการค้าร่วม FIMA ไม่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค โดยเฉพาะกลุ่มกิจการค้าร่วม HST ตกคุณสมบัติ ไม่ผ่านการรับรองผลการทดสอบ UL94 ของสถาบัน FILK ซึ่งเป็นคุณสมบัติโดยตรงที่สำคัญของตัวบัตร แต่ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีฯ ได้ใช้ดุลยพินิจในฐานะหัวหน้าส่วนราชการในการพิจารณาข้ออุทธรณ์ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ที่ตกคุณสมบัติมีสิทธิ์เข้าเสนอราคาได้ โดยอ้างว่าได้หารือกรมบัญชีกลางแล้ว และได้รับการยืนยันว่า การดำเนินการของปลัดกระทรวงเทคโนโลยีฯ ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่จัดหาพัสดุนั้น ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ซึ่งต่อมากลุ่มกิจการค้าร่วม HST เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 486,850,000 บาท
    </DD><DD>"สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุผลที่ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีฯ ชี้แจงตามหนังสือที่อ้างถึง ไม่พอรับฟังได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบ เพราะตามหนังสือหารือที่กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารได้หารือไปที่กรมบัญชีกลาง มิได้ระบุว่าเหตุผลที่กลุ่มกิจการค้าร่วม HST ไม่ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค เนื่องจากไม่ผ่านการรับรองผลการทดสอบ UL94 อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของบัตร ดังนั้น กรณีดังกล่าวหากดำเนินการต่อไปจึงอาจเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และกฎหมายอาญาแผ่นดิน จึงขอให้พิจารณาดำเนินการทบทวนการจัดหาให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น" หนังสือดังกล่าวของ สตง.ที่ทำถึงปลัดกระทรวงไอซีทีระบุ
    </DD><DD>นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าหนังสือดังกล่าว สตง.ได้ทำสำเนาส่งถึงพลเอกสนธิ บุญญรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ให้รับทราบด้วยแล้ว
    </DD><DD>แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง.ระบุว่า การตรวจสอบโครงการบัตรสมาร์ทการ์ดดังกล่าวของคุณหญิงจารุวรรณ เป็นการตรวจสอบการประกวดราคาในรอบที่ 2 เพราะก่อนหน้านี้ในการประกวดราคาบัตรสมาร์ทการ์ดของกระทรวงไอซีทีครั้งที่ 1 ที่มีการทำบัตรส่งมอบให้ประชาชนไปแล้วนั้น เป็นช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติผู้ว่าฯ สตง. และคุณหญิงจารุวรรณไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.
    </DD><DD>อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สตง.ได้มีการตรวจสอบย้อนหลังการประกวดราคาทำบัตรสมาร์ทการ์ดรอบที่ 1 ไปด้วยแล้ว ซึ่งพบหลักฐานพอให้เชื่อได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ราคาของบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งต้นทุนการประกวดราคาอยู่ที่ 30-40 บาท แต่ปรากฏว่ามีการตั้งราคากลางการประมูล ซึ่งบริษัทเอกชนส่งมอบให้กับรัฐไว้ที่ 80 บาท เป็นราคาที่แพงเกินความเป็นจริง ดังนั้น สตง.จึงจะมีหนังสือให้กระทรวงไอซีทีส่งมอบรายละเอียดของการประกวดราคาบัตรสมาร์ทการ์ดทั้งหมดมาให้ตรวจสอบ
    </DD><DD>'จารุวรรณ' เตรียมส่งข้อมูลทุจริตให้ คปค.
    </DD><DD>โครงการทำบัตรสมาร์ทการ์ด เป็นอีกหนึ่งผลงานของรัฐบาลไทยรักไทยที่ริเริ่มและจัดทำขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง สตง.อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานความไม่โปร่งใสในหลายด้านเพื่อนำเสนอต่อคณะปฏิรูปฯ ขณะเดียวกัน สตง.ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยรักไทยอีกหลายโครงการ เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีรายงานว่า ในสัปดาห์นี้คุณหญิงจารุวรรณจะเรียกประชุมคณะทำงานสอบสวนเรื่องดังกล่าว เพื่อหารือถึงการสรุปผลสอบซีทีเอ็กซ์ในขั้นสุดท้าย ซึ่งมีรายงานว่าในรายงานของ สตง.จะมีการระบุผู้ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยหลายคน อาทิ นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานบอร์ด บทม.เป็นต้น การตรวจสอบการทุจริตในแต่ละโครงการของสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ - โครงการจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย ที่ใช้งบประมาณกว่า 5 พันล้าน โดยมีระยะเวลาเพียง 10 ปี, โครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการจ้างบริษัทรับประมูลงานรถเข็นภายในสนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพาราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, โครงการหวยบนดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, โครงการเครือข่ายโทรคมนาคมซีดีเอ็มเอของ บมจ.กสท, การปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ที่ปล่อยกู้ให้รัฐบาลทหารพม่าเพื่อจัดซื้อดาวเทียมจากบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, การตรวจสอบงบฉุกเฉินที่รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น การจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนก และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ รวมทั้งโครงการประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทย เช่น การสร้างบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ
    </DD><DD>บิ๊กทหารหวั่นทำลายเอกสาร
    </DD><DD>นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เบื้องต้นการสอบสวนเรื่องคดีซีทีเอ็กซ์ คณะทำงานได้สอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบขั้นสุดท้ายจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการด้านต่างๆ เพื่อให้รายงานสรุปซีทีเอ็กซ์มีความสมบูรณ์มากขึ้น และจะนำเสนอต่อคุณหญิงจารุวรรณได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้พิจารณาชี้ขาดในขั้นสุดท้ายว่าจะดำเนินการอย่างไร
    </DD><DD>"เวลานี้ก็มีข่าวกรองมาว่า จะมีการส่งคนมาบุกทำลายเอกสารการสอบสวนการทุจริตในสำนักงาน สตง. ทำให้ฝ่ายคณะปฏิรูปฯ จึงส่งทหารมาช่วยดูแลยังสำนักงาน สตง.10 กว่าคนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันขึ้น และขอให้ประชาชนไว้ใจได้ว่าผลการสอบสวนของ สตง.ทุกเรื่องประชาชนจะไม่ผิดหวัง และไม่มีการกลั่นแกล้งทางการเมืองเกิดขึ้นแน่นอน ทุกอย่างว่าไปตามข้อเท็จจริง ขอให้มั่นใจได้" นายพิศิษฐ์กล่าว
    </DD><DD>'สมชัย' ตีกันอย่าเล่นการเมืองสรุปซีทีเอ็กซ์
    </DD><DD>นายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวถึงกรณีที่ สตง.เตรียมสรุปผลสอบคดีซีทีเอ็กซ์ว่า มีความมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ทุกกรณี เนื่องจากมีข้อมูลรายละเอียดและหลักฐานชัดเจน ที่สามารถการันตีได้ทุกประการว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใส เพราะกู้เงินของธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือเจบิค ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีการตรวจสอบการใช้จ่ายอย่างละเอียด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจดูความคืบหน้าโครงการทุกเดือน นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ปรึกษาและคณะกรรมการตรวจงานจ้างตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งด้วย แต่เกรงแค่ว่าการตรวจสอบทุจริตครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อเหตุผลทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ
    </DD><DD>'หน่อย' กลับไทยบอกยอมทุกอย่าง
    </DD><DD>ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกันนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย น.ต.ศิธา ทิวารี และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีต ส.ส.ไทยรักไทย เดินทางกลับจากประเทศเยอรมนีด้วยสายการบินลุฟท์ฮันซา เที่ยวบิน LH772 ณ อาคารผู้โดยสารขาเข้า 2 ท่ามกลางสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมากที่ไปรอทำข่าว ทั้งนี้ได้มีลูกสาวและลูกชายทั้ง 3 คน รวมทั้งญาติ ส.ส.พรรคไทยรักไทย และประชาชนประมาณ 10 คนมารอต้อนรับ ซึ่งเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์มาถึงอาคารผู้โดยสารก็ได้เข้าไปกราบบิดาที่มารอรับด้วย
    </DD><DD>คุณหญิงสุดารัตน์ให้สัมภาษณ์ว่า พวกตนเคารพในกติกา แต่กติกาที่ใช้อยู่ในขณะนี้เป็นกติกาที่ คปค.ได้เข้ามาดูแลบ้านเมือง ดังนั้นเรายินดีให้ความร่วมมือกับ คปค.ในทุกประการที่จะทำให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อยกับบ้านเมือง พวกเราคงจะยุติการดำเนินการทางการเมืองตามกติกาที่มีอยู่ เพราะต้องการให้ความร่วมมือเพื่อให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติ เกิดความสงบสุขและเดินหน้าในการพัฒนาต่างๆ ต่อไป พร้อมให้กำลังใจคณะปฏิรูปฯ ด้วย
    </DD><DD>เมื่อถามว่าที่บอกจะหยุดพักทางการเมืองจะหยุดระยะยาวหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เรื่องของวันข้างหน้ายังตอบไม่ได้ เมื่อถามอีกว่าได้มีการประสานมาหรือยังว่าจะให้เข้ารายงานตัววันไหน คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่าคงจะนัดกันเร็วๆ นี้
    </DD><DD>สำหรับเรื่องที่อาจถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ไม่กังวลใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมจะให้ตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องการเมืองกันในเรื่องนี้ แต่ขณะนี้เราทำตามกติกา เมื่อถึงเวลาที่เปิดกติกาเราก็ค่อยเข้ามาทำ
    </DD><DD>คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวต่อว่า ไม่ได้ดูแลครอบครัวมานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะได้มีเวลาชดเชยให้ลูกๆ เพราะลูกชายคนโตกำลังจะเอนทรานซ์ปีนี้ คนเล็กก็ยังเล็กอยู่ ดังนั้นช่วงนี้ก็คงยุติบทบาททางการเมือง
    </DD><DD>คุณหญิงสุดารัตน์เปิดเผยด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้กำชับให้อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยทุกคนให้ความร่วมมือและให้ความสนับสนุนกับ คปค.อย่างเต็มที่ อย่าให้เกิดปัญหาใดๆ เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง และทาง คปค.จะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
    </DD><DD>ต่อข้อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศเมื่อใด คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ไม่ได้คุยอะไรกันมาก
    </DD><DD>ป.ป.ช.เดินเครื่องประชุมวันนี้
    </DD><DD>นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึง การทำหน้าที่ ป.ป.ช.ว่าเรื่องเร่งด่วนที่ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการคือ เรื่องของนักการเมืองที่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ขณะเดียวกันมีเรื่องบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอีกมาก หากตรวจสอบแล้วอาจได้เบาะแสการทุจริต ดังนั้นควรต้องเร่งตรวจสอบควบคู่ไปกับคดีที่ค้างการพิจารณา คาดว่ามีอยู่กว่า 10,000 คดี พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการ ที่เห็นว่าควรปรับใหญ่บทบาทการทำงานและอำนาจของ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง หากเป็นข้าราชการระดับ 8 ลงไปควรให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการ และให้มีกรรมการประจำดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
    </DD><DD>นายวิชายอมรับว่า บางครั้งการจัดการปัญหาทุจริตมีเบาะแสไปถึงตัวการใหญ่ ดังนั้นหากได้ข้อมูลที่ดีจากข้าราชการชั้นผู้น้อยมาเป็นพยานก็ไม่ควรไปเล่นงานก่อน เพราะจะไม่มีใครกล้าเป็นพยาน เรื่องนี้ควรยกเว้น ซึ่งอาจต้องปรับอีกครั้ง เพราะต่างประเทศใช้วิธีการใช้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นพยานในการจัดการนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง หากประชาชนมีเบาะแสการทุจริตสามารถแจ้งมาได้ที่ ป.ป.ช. แต่อยากให้มีน้ำหนักเพียงพอ อย่าไปกลั่นแกล้ง ในส่วนของ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบเรื่องร้องเรียนด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. น่าจะช่วยได้มากเพราะมีประสบการณ์ แต่ตนจะไม่เข้าประชุม ป.ป.ช.ครั้งแรก ในวันที่ 25 ก.ย. เพราะติดคดีที่ศาล แต่นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. จะนำเอกสารต่างๆ มามอบให้
    </DD><DD>นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า ป.ป.ช.ชุดใหม่นี้มีอยู่ 3-4 คนที่เป็นจุดอ่อนเพราะขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ป.ป.ช.ที่ผ่านมา พบว่ามีบางคนใน ป.ป.ช.ชุดนี้มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตเข้ามามากมาย มีบางคนเคยพัวพันและสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณรวมอยู่ด้วย
    </DD><DD>อสส.ระดมทีมรอเชือดนักการเมืองโกง
    </DD><DD>นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของอัยการในการยื่นฟ้องคดีนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นว่า โดยทั่วไปในการดำเนินคดีกับนักการเมืองจะมีอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ อัยการมีความพร้อมตลอดเวลา แต่เนื่องจากการตรวจสอบความผิดทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งกับนักการเมืองครั้งนี้ มีกรณีซึ่งถูกตรวจสอบในหลายเรื่อง ซึ่งคาดหมายว่า สตง.และ ป.ป.ช. อาจจะสรุปสำนวนและพยานหลักฐานให้อัยการพิจารณาหลายเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อความรวดเร็วในการทำงานของอัยการที่จะต้องพิจารณาสำนวนเพื่อยื่นฟ้อง จึงได้สั่งการให้ระดมกำลังพนักงานอัยการอื่น ทั้งส่วนของคดีอาญาและคดีแพ่ง เพื่อร่วมเป็นคณะทำงานกับอัยการฝ่ายคดีพิเศษตรวจสำนวนและนำคดียื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
    </DD><DD>เมื่อถามว่า การดำเนินคดีครั้งนี้นักการเมืองมี พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย จะเกิดความหนักใจหรือไม่ อัยการสูงสุด กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่อัยการหนักใจ การยื่นฟ้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน
    </DD><DD>เมื่อถามว่าหากต้องมีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในประเทศจะดำเนินการอย่างไร นายพชร กล่าวว่า การดำเนินคดีอาญามีขั้นตอนอยู่แล้ว ที่เมื่อพบว่าผู้ต้องหาอยู่ในต่างประเทศ อัยการและกระทรวงการต่างประเทศต้องประสานขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ส่วนการดำเนินแพ่งเรื่องการยึดทรัพย์นั้น ก็ไม่มีปัญหา ขั้นตอนการตรวจสอบทรัพย์สินสามารถทำได้ แม้ไม่มีผู้ถูกกล่าวหามาแสดงตัว ส่วนการพิสูจน์ทรัพย์สินในชั้นพิจารณาคดีของศาล ก็เป็นเรื่องที่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัดไว้นั้นจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าได้มาอย่างไร คปค.อาจจะมีคำสั่งต่อไปที่จะให้อัยการร่วมเป็นคณะตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อประโยชน์การฟ้องคดีเหมือนการให้สิทธิอัยการร่วมเป็นคณะสอบสวนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษในคดีพิเศษ
    </DD><DD>ปชป.คุ้ยแผลเบื้องหลังฆ่าชิปปิ้งหมู
    </DD><DD>นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายกรเทพ วิริยะ หรือชิปปิ้งหมู ในคดีที่ถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2546 ที่ จ.เชียงราย เนื่องจากได้เป็นพยานเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทชิน แชทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หลังจากหลายปีที่ผ่านมาคดีนี้ไม่มีความคืบหน้า ตนจึงได้เอาหลักฐานที่เก็บไว้มาเปิดเผย โดยในวันที่ 25 ก.ย.จะเดินทางไปยื่นเอกสาร 2 ชิ้นต่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามเร่งรัดคดีฆาตกรรม และวันที่ 26 ก.ย.จะยื่นให้กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. เพื่อตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทชินแซทฯ และตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกรณีช่วยกันหลบเลี่ยงภาษี ทำให้ประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์
    </DD><DD>อดีต ส.ส.สงขลากล่าวว่า หลักฐานเหล่านี้จะเป็นเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามในคดี อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่านายกรเทพไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ส่วนนักการเมืองที่มีการระบุถึงนั้นเป็นหน้าที่ของ สตช.ที่จะสืบค้นต่อไป เพราะมีระบุไว้ในหลักฐานคำให้การแล้ว และนักการเมืองคนนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมนายกรเทพด้วย เพราะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร การออกมาเปิดโปงของนายกรเทพมีผลกระทบไปถึงนักการเมืองผู้นี้ และยังโยงไปถึงภรรยานักการเมืองใหญ่ด้วย
    </DD><DD>มีรายงานว่า สำหรับเอกสารที่นายศิริโชคนำมาเปิดเผยนั้น เป็นเอกสารถอดจากการบันทึกวิดีโอที่นายกรเทพเข้าให้ปากคำต่อพรรคประชาธิปัตย์ ความยาว 17 หน้ากระดาษ มีเนื้อหากล่าวถึงหมอคนหนึ่งที่เป็นนักการเมืองใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งภรรยานักการเมืองใหญ่
    </DD><DD>'หม่อมอุ๋ย' หนุน คปค.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบ 50
    </DD><DD>ด้าน ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากการร่วมประชุมทวิภาคีธนาคารกลางที่ฮ่องกงว่า ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองฯ ของไทยที่ผ่านมาให้ที่ประชุมทราบ โดยนักลงทุนและผู้ร่วมประชุมต่างเข้าใจดี และไม่มีใครสงสัยแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าอาจจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์จับตาดูพฤติกรรมการถอนเงินของนักการเมืองชุดที่แล้วเป็นพิเศษ แม้ในช่วงที่ผ่านมาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จะถอนเงินออกไปแล้ว 20 ล้านบาท
    </DD><DD>ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะปฏิรูปฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 เพื่อให้เบิกจ่ายไดัทันนั้น ผู้ว่า ธปท.กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้งบประมาณออกสู่ระบบได้เร็วขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
    </DD><DD>หึ่ง 'เอกชัย' ขอกลับ กกต.
    </DD><DD>มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ประกาศให้ 5 ว่าที่ กกต.ปรากฏกระแสข่าวแพร่ในหมู่พนักงาน กกต.ว่า พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา อดีตเลขาธิการ กกต.ได้พยายามที่จะติดต่อกับ กกต.ชุดปัจจุบัน เพื่อที่จะกลับมาเป็นเลขาธิการ กกต.เหมือนเดิม ทั้งนี้ภายหลังจากที่ศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งจำคุก 3 อดีต กกต. พล.ต.ต.เอกชัยที่ในขณะนั้นยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.ได้ยื่นหนังสือขอลาออก และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. ซึ่งวุฒิสภาในขณะนั้นยังดำเนินการสรรหา กกต.ใหม่ไม่แล้วเสร็จ ทำให้หนังสือลาออกของ พล.ต.ต.เอกชัยค้างการพิจารณาอนุมัติจากประธาน กกต.จนปัจจุบัน และกลายเป็นช่องทางให้นำไปอ้างว่า พล.ต.ต.เอกชัยยังไม่พ้นจากตำแหน่งและสามารถกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กกต.ได้
    </DD><DD>อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.เอกชัยปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวว่า ไม่มีอะไร ยื่นไปแล้วก็ยื่นไปเลย ไม่มีความพยายามที่จะมาขออยู่ นอกจากจะให้ตนทำอะไร เพื่อต้องการเปิดทางให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาได้เต็มที่ ส่วนระเบียบที่ว่า ครบ 30 วันแล้วประธาน กกต.ยังไม่อนุมัติแล้วต้องพ้นไปโดยปริยายนั้น ระเบียบนี้ของ ก.พ.คงเอามาเทียบกันไม่ได้ ต้องรอประธาน กกต.ตัดสินใจเพียงอย่างเดียว ส่วนที่ต้องไปพบคณะปฏิรูปฯ ตอนนั้นถือว่ายังลาพักอยู่ ดังนั้นก็ต้องไป ไม่ไปก็ถือว่าขัดคำสั่ง.</DD>
    หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...