สมองกับอัศจรรย์แห่งสมาธิ

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย หลบภัย, 25 มิถุนายน 2013.

  1. หลบภัย

    หลบภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,209
    ค่าพลัง:
    +3,129
    นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการแพทย์

    ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นสมอง และการฝึกสมาธิ ถึงแม้จะเป็นการค้นพบเพียงน้อยนิด แต่ก็ทำให้เราทราบว่าสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออก รวมถึงยังทำให้ทราบว่าการฝึกสมาธิทำให้เกิดผลดีกับสมอง

    คำสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งในพระไตรปิฎกคือคำสอนในเรื่องการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำเป็นหลักคือ การตามลมหายใจ หรือ “อานาปานสติ” ซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งที่สำคัญตามมาคือ “สติ” โดยในพระไตรปิฎกได้บันทึกคำสอนเกี่ยวกับอานาปานสติไว้ดังนี้
    “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

    เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว

    เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น

    สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง”

    สำหรับสาเหตุที่พระพุทธเจ้าให้เราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการให้ได้มาซึ่งสตินั้น ก็เป็นเพราะว่าลมหายใจเป็นของที่มีติดอยู่กับตัวของเราทุกคน ไม่ว่าจะไปที่ไหนอย่างไร เราจึงไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวในการนำลมหายใจติดตัวไปด้วย

    ลมหายใจกับสมอง
    การตามลมหายใจหรือการทำสมาธิแบบอานาปานสติ นอกจากจะทำให้เราเกิดความสงบในจิตใจแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ยังพบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการทำงานของสมองด้วย ในต่างประเทศมีการทำวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว อาทิเช่น นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองกับพระภิกษุที่ปฏิบัติสมาธิมาอย่างดี รวมถึงได้ทำการทดลองกับปุถุชนธรรมดาที่ฝึกนั่งสมาธิมาเป็นระยะเวลานาน 1 ปี ผลการวิจัยพบว่า คนที่ฝึกสมาธิเหล่านี้มีความจำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงยังมีการจัดตารางชีวิตประจำวัน หรือจัดตารางการทำงานได้เรียบง่ายและมีความสับสนน้อยกว่าคนอื่น โดยระดับคลื่นสมองของพระภิกษุมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดระหว่างเข้าสมาธิ หรือแม้แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็พบว่าคลื่นสมองของท่านยังอยู่ในระดับที่ต่างจากคนปกติเป็นอันมาก ส่วนในปุถุชนนั้น จำนวนการปฏิบัติสมาธิและระยะเวลาในการฝึก จะมีผลโดยตรงต่อคลื่นสมองแกมมา (คลื่นสมองแกมมาเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงความทรงจำ ระดับการเรียนรู้ ระดับสมาธิและการมองโลกในแง่ดี) คือ ยิ่งทำสมาธิมากและทำได้ดี ระดับคลื่นสมองแกมมาก็จะยิ่งสูง
    ขณะที่ผลการตรวจคลื่นสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI) ก็พบว่า การฝึกนั่งสมาธิแม้เพียง 2-3 เดือนจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญาและการเปลี่ยนแปลงทางสมองได้ ในขณะที่ผู้ฝึกเองยอมรับว่า สามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น และหลับได้สนิทมากกว่าเดิม รวมถึงมีปัญหาเรื่องความวิตกกังวล อาการเครียด อาการซึมเศร้าลดลงเช่นกัน หลังจากเริ่มฝึกสมาธิ

    คลื่นสมองกับสมาธิ
    ในทางวิทยาศาสตร์ เราแบ่งคลื่นสมองออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

    1. คลื่นเบต้า (beta wave) เป็นคลื่นในภาวะปกติของคนเรา เกิดจากการรับรู้ข้อมูลผ่านประสาทสัมผัส ยิ่งมีข้อมูลที่ต้องสนใจเข้ามามาก คลื่นยิ่งมีความสับสน คลื่นยิ่งสูง คล้ายกราฟรูปฟันปลา

    2. คลื่นอัลฟา (alpha wave) เกิดขึ้นในขณะที่เจ้าของอยู่ในสภาวะสงบ ไม่วุ่นวาย คลื่นจะมีรอบน้อยกว่าคลื่นเบต้า เป็นคลื่นที่มีความถี่น้อยกว่า แต่ขนาดของคลื่นจะใหญ่กว่าคลื่นเบต้า

    3. คลื่นธีต้า (theta wave) จะมีความถี่น้อยลงไปอีก แต่มีขนาดคลื่นสูงใหญ่กว่าแบบอัลฟา แต่ไม่ค่อยพบคลื่นแบบนี้ในคนปกติ นานๆ จึงจะเห็นสักครั้ง โดยอาจเกิดขึ้นในขณะครึ่งหลับครึ่งตื่น

    4. คลื่นเดลต้า (delta wave) เป็นคลื่นที่มีความถี่น้อยที่สุด แต่ขนาดคลื่นจะใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นในขณะหลับลึก
    ส่วนในบางตำราจะจัดให้มีคลื่นแบบที่ 5 เรียกว่า คลื่นคอสมิก
    โดยในหนังสือของ “พระธรรมวิสุทธิกวี” หรือ “พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)” ได้เปรียบเทียบคลื่นของสมองกับระดับของการฝึกสมาธิไว้ดังนี้

    1. คลื่นเบต้า คือ คลื่นสมองของคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิ ซึ่งก็คือปุถุชนธรรมดา

    2. คลื่นอัลฟา คือ คลื่นสมองของคนที่เริ่มฝึกสมาธิแบบ “ขณิกสมาธิ” (คือสมาธิที่เป็นไปชั่วคราว)

    3. คลื่นเธต้า คือ คลื่นสมองของคนที่จิตสงบมากจนเกือบถึงขั้นจะเป็น “อุปจารสมาธิ”

    4. คลื่นเดลต้า คือ คลื่นสมองของคนที่มีจิตสงบมากขึ้น

    5. คลื่นคอสมิก คือ คลื่นสมองของคนที่มีจิตใจสงบมากเทียบได้กับระดับ “อัปปนาสมาธิ”

    จะเห็นว่าการฝึกสมาธิด้วยการตามลมหายใจดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุไว้ใน “อานาปานสติสูตร” ดังกล่าวแล้วจะทำให้คลื่นสมองของเรามีระเบียบ โดยยิ่งเราทำให้คลื่นสมองเป็นระเบียบได้มากเท่าไร (หรืออีกนัยหนึ่งทำให้คลื่นเบต้ามีน้อยที่สุด) ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวเรามากขึ้นเท่านั้น เพราะทำให้ร่างกายและจิตใจมีการผ่อนคลายจากความเครียดในชีวิตประจำวันได้มากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมคนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจะเป็นคนที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ร้ายๆ ได้ดีกว่าคนทั่วไป

    :: www.HealthTodayThailand.com :: - Viewpoint -
     
  2. Ndantchor

    Ndantchor เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    276
    ค่าพลัง:
    +1,124
    [๗๓๑] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา
    จักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส
    จักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัสและวิญญาณ
    ที่อาศัยเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัสจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส และ
    วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัสจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส และ
    วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัสจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส และ
    วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่กายสัมผัสจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส และ
    วิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัสจักไม่มีแก่เรา
    ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

    [๗๓๒] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
    เราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอาโปธาตุ และวิญญาณที่อาศัย
    อาโปธาตุจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเตโชธาตุ และวิญญาณที่อาศัย
    เตโชธาตุจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวาโยธาตุ และวิญญาณที่อาศัย
    วาโยธาตุจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสธาตุ และวิญญาณที่อาศัย
    อากาสธาตุจักไม่มีแก่เรา
    ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

    [๗๓๓] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เรา
    จักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา และวิญญาณที่อาศัย
    เวทนาจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสัญญา และวิญญาณที่อาศัย
    สัญญาจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสังขาร และวิญญาณที่อาศัย
    สังขารจักไม่มีแก่เรา
    พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัย
    วิญญาณจักไม่มีแก่เรา
    ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

    ..............ฯลฯ

    [๗๓๗] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ อนาถบิณฑิกคฤหบดี
    ร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะนั้นท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้
    ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านยังอาลัยใจจดใจจ่ออยู่หรือ ฯ

    อ. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจดใจจ่อ แต่
    ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระศาสดาและหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจมาแล้วนาน ไม่เคยได้สดับ
    ธรรมีกถาเห็นปานนี้ ฯ
    อา. ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาเห็นปานนี้ มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว
    แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต ฯ
    อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาเห็นปานนี้ จง
    แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตา
    น้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์กล่าวสอนอนาถบิณฑิก
    คฤหบดีด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ

    [๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเมื่อท่านพระสารีบุตรและท่าน
    พระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล ครั้งนั้น ล่วง
    ปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตรมีรัศมีงามส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว
    เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ
    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย
    คาถาเหล่านี้ว่า

    พระเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อัน
    พระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์
    สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑
    วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร
    หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็ง
    เห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะ
    บริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อม
    บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริง
    ภิกษุผู้ถึงฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรนี้ ฯ

    อนาถบิณฑิกเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ต่อนั้น
    อนาถบิณฑิกเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยจึงถวายอภิวาทพระผู้มี
    พระภาค แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง ฯ

    [๗๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบ
    ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้น คงจักเป็น
    อนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่ เพราะอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในท่าน
    พระสารีบุตร ฯ
    พ. ดูกรอานนท์ ถูกแล้วๆ เท่าที่คาดคะเนนั้นแล เธอลำดับเรื่องถูก
    แล้ว เทวบุตรนั้นคืออนาถบิณฑิกเทวบุตร มิใช่อื่น ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี
    พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

    อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 25 มิถุนายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...