ในมหามงคลอภิลักขิตกาลที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2555 นี้ ประชาชนคนไทยต่างปลาบปลื้มยินดีปีติโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการของพระองค์ ต่างร่วมใจจัดโครงการต่างๆ ปรารภวโรกาสนี้ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชสดุดีและเฉลิมพระเกียรติ
ทั้งนี้ ก็เพราะว่า นับตั้งแต่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี 2495 เป็นต้นมา ประชาชนชาวไทยต่างก็เฝ้าชื่นชมพระบารมีตามลำดับที่พระองค์ทรงเจริญวัย มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ ทั้งด้านการศึกษาการทหาร และการพระศาสนา
โดยเฉพาะในด้านการศาสนา นับได้ว่าพระองค์มีพระราชศรัทธา สืบสานพระพุทธศาสนาตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชบิดา ได้อย่างสมบูรณ์
ดังที่ปรากฏผ่านอภิลักขิตกาลมงคลวโรกาส และพระราชพิธีสำคัญๆ พระองค์ก็ได้ทรงประกาศพระราชศรัทธา ผ่านพระราชดำรัส และพระราชกรณียกิจเสมอๆ ดังเช่น
วันที่ 3 ม.ค. 2505 ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาในพระรัตนตรัยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็ทรงยึดมั่นในโบราณราชประเพณี ที่บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้ทรงบำเพ็ญเป็นมงคลต้นแบบ
วันที่ 28 ก.ค. 2515 ประชาชนชาวไทยต่างมีความปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาพระองค์ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฏ ว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” ในมงคลวาระนั้น พระองค์ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรเป็นอย่างยิ่งดังความที่ปรากฏว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณ สาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่าข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมารจะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนจะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ สงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”
ความดังกล่าวนี้ นับได้ว่าเป็นพระราชสัจจะที่ได้พระราชทานไว้ และทรงยึดมั่นในพระราชสัจจะนั้น ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตราบจนปัจจุบันนี้
วันจันทร์ที่ 6 พ.ย. 2521 พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ เป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับการถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พ.ย. 2521
ระหว่างทรงผนวชได้ทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจดังกล่าว ที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำคือเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวง ตามพระอารามต่างๆ
พระราชกรณียกิจดังกล่าว เป็นไปเพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาโดยแท้ เพราะในแต่ละครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ นั้น จะมีประชาชนเข้าเฝ้า หรือรับเสด็จเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสได้นำพาปวงพสกนิกรเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง
ส่วนพระราชกรณียกิจในการทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาที่ปรากฏเสมอ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการทรงตั้งเปรียญธรรม พระราชทานแก่พระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียบธรรม 6 ประโยค และ 9 ประโยค ในวันวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สำหรับวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เปรียบเสมือนบุญญานุสรณ์ของพระองค์ เนื่องจากทรงพระกรุณาพระราชทานพระพุทธรูปสำคัญและสิ่งของต่างๆ ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญพระราชกุศลหลายครั้ง ยังความปลื้มปีติให้เกิดแก่พุทธศาสนิกชนชาววัดเทวราชกุญชรเป็นล้นพ้น จึงขอนำมากล่าวที่นี่เพียงบางส่วน
วันที่ 3 พ.ย. 2545 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระราชทานพระพุทธรัตนโกสินทร์มหาวชิราลงกรณ ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว เพื่อประดิษฐานประจำพระแท่นบุษบกวัดเทวราชกุญชร
วันที่ 14 มิ.ย. 2548 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมพระพุทธรูปศิลปะสมัยต่างๆ จำนวน 9 องค์
วันที่ 18 มี.ค. 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดพระวิหาร และสมโภชพระพุทธรูปศิลปะสมัยต่างๆ จำนวน 9 องค์
วันที่ 22 ม.ค. 2551 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ และทรงยกฉัตรถวายพระพุทธเทวราชปฏิมากร
พ.ศ. 2552 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเป็นประธานประกอบพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง
วันที่ 4 เม.ย. 2554 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปปางรำพึง ประจำวันศุกร์ นามว่า “พระสุกกวารโสภณภิธานวัฒนาธิสมบัติอัฏฐจัตตาฬีสพิสุทธิ์” เพื่อเป็นพุทธบูชา
พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของพระราชกรณียกิจทั้งหลาย ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงบำเพ็ญเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป
ขอถวายพระพร
http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใ...ธิราชฯ-สยามมกุฎราชกุมาร-ทรงสืบสานพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสืบสานพระพุทธศาสนา
ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 23 กรกฎาคม 2012.