สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้พาศักยภาพสตรีไทย ไปอวดชาวโลกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 25 มกราคม 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4.jpg

    ในสมัยก่อนผู้หญิงไทยยังมีบทบาททางสังคมไม่มากนัก มีหน้าที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ดูแลเรื่องข้าวปลาอาหาร และงานเย็บปักถักร้อยเป็นหลัก ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ก็ถูกปลูกฝังและอบรมส่งสอนกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก นั่นทำให้ผู้หญิงไทยส่วนมากมีความสามารถด้านงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย การปรุงอาหาร ยิ่งถ้าเป็นสาวชาววัง สตรีชั้นสูงในสังคม ไปจนถึงระดับเจ้านายก็ยิ่งถูกฝึกให้ทำงานฝีมือที่มีความประณีตวิจิตรบรรจงกว่าผู้หญิงชาวบ้านทั่วไป

    ด้วยความสามารถทางด้านงานฝีมือหรืองานศิลปหัตถกรรมที่เป็นจุดเด่นของสตรีสยามในยุคนั้น ทำให้สตรีไทยหลายคนได้รับโอกาสรับผิดชอบหน้าที่สำคัญ ซึ่งโอกาสในบางครั้งก็สำคัญถึงระดับเป็นหน้าเป็นตาของประเทศเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อร้อยกว่าปีก่อนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ทรงบริหารจัดการงานหัตถกรรมสตรีสำหรับการออกร้านด้านเครื่องอุปโภคบริโภคในงานแสดงนิทรรศการสินค้าแห่งสยาม (National Exhibition) ซึ่งสินค้าของพระองค์จำหน่ายได้ดีเป็นที่นิยมอย่างมาก

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-1.jpg

    หลังจากงานนั้นราว 10 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านงานหัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระองค์จึงทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สมเด็จพระบรมราชเทวีทรงรับผิดชอบบริหารจัดการงานลักษณะเดียวกันเพื่อเข้าร่วมงานแสดงนิทรรศการสินค้าโลก ชื่องาน “เวิลด์โคลัมเบียนเอ็กซ์โปซิชั่น 1893” (World’s Columbian Exposition 1893) หรืองาน ชิคาโกเวิลด์แฟร์ 1893 (Chicago World’s Fair 1893) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสครั้งแรก ๆ ที่สตรีไทยได้พาความสามารถด้านศิลปหัตถกรรมออกไปอวดโฉมในงานระดับโลก

    ขั้นตอนการเตรียมงานเพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงเป็นพระธุระดำเนินการเตรียมงานอย่างเต็มพระกำลัง โดยมีบรรดาสตรีที่เป็นชายาเจ้านาย ภริยาขุนนาง-ข้าราชการ ซึ่งล้วนเป็นผู้มีฝีมือความรู้ในด้านงานศิลปหัตถกรรมมาช่วยกันระดมความคิดและแบ่งงานกันตามความถนัดของแต่และคน

    ในงานแสดงนิทรรศการสินค้าโลกนี้ มีสิ่งของ ผลงาน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นานาชาติรวมทั้งจากประเทศไทยส่งไปจัดแสดง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แต่ละประเทศคัดสรรว่าเป็นสิ่งที่มีคุณภาพและสวยงาม งานนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดประกวดผลผลิต ประดิษฐกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าร่วมจัดแสดง ซึ่งผลการตัดสินปรากฏว่าราชอาณาจักรสยามคว้ารางวัลรวมทั้งสิ้น 101 รายการ ซึ่ง 22 รายการในนั้นเป็นผลงานฝีพระหัตถ์และสิ่งของส่วนพระองค์

    120 ปีหลังจากงานนั้น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งนครชิคาโก (Chicago History Museum) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดนิทรรศการ “Siam : The Queen and the White City” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาฯ ที่ทรงมีคุณูปการในการดำเนินการจัดเตรียมสิ่งของไปร่วมแสดงในอาคารแสดงศิลปหัตถกรรมสตรีอีกด้วย

    นอกจากพระปรีชาสามารถด้านศิลปหัตถกรรมที่กล่าวมาแล้ว พระองค์ยังทรงมีคุณูปการภายในประเทศอีกมากมาย อย่างเช่น ทรงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา “สภากาชาดไทย” ทรงเป็นแรงบันดาลใจแก่องค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการจัดตั้ง “มูลนิธิขาเทียมฯ” ทรงเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “หน่วยแพทย์เคลื่อนที่” ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่อำเภอศรีราชา ฯลฯ ถ้าหากว่าใครสนใจอยากศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ก็สามารถไปชมกันได้ที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม

    พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯให้อนุรักษ์ “พระตำหนักใหญ่” เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสืบสานพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจเรื่องการสาธารณกุศลของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชปรารภของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงให้ดำเนินการอนุรักษ์ “พระตำหนักใหญ่” แห่ง “วังสระปทุม” ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-2.jpg

    โดยปกติแล้ว พิพิธภัณฑ์นี้จะเปิดให้เข้าชมนิทรรศการทุกปีในช่วงกลางเดือนธันวาคมถึงสิ้นเดือนมีนาคม แต่ด้วยเหตุที่พิพิธภัณฑ์ได้ทำการปิดบูรณะมาตั้งแต่ปลายปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือนธันวาคม 2563 ดังนั้น ปีนี้ทางมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดนิทรรศการ “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 สยามพารากอน เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทดแทนการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ที่ขาดช่วงไป

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-3.jpg

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-4.jpg

    นิทรรศการ “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” จัดแสดงทั้งรูปถ่ายและข้อมูลประกอบเล่าเรื่องราว รวมถึงการแสดงเอกสาร จดหมายเหตุ และสิ่งของส่วนพระองค์สมเด็จพระพันวัสสาฯ อาทิ ฉากผ้าปักอายุกว่า 100 ปี สมุดรูปเล่าเรื่องสยาม (จำลอง) ซึ่งเคยพระราชทานมิสซิสพาล์เมอร์ (Mrs.Palmer) ประธานกรรมการผู้จัดงานฝ่ายสตรีของงานนิทรรศการสินค้าโลก รวมถึงขนมไทยโบราณที่เคยส่งไปร่วมประกวดในงาน นิทรรศการจัดแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ภาค ได้แก่

    ภาคที่ 1 “บรมอัยยิกาพงศานุประวัติ” จัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-5.jpg

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-6.jpg

    ภาคที่ 2 “ไพรัชวิวิธทัศนประสิทธิ” จัดแสดงพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมที่ทรงมีส่วนร่วมในงานนิทรรศการสินค้าโลก

    ภาคที่ 3 “ราชกรณียกิจวรประกาศ” จัดแสดงพระราชกรณียกิจสำคัญน้อยใหญ่ที่สมเด็จพระพันวัสสาฯทรงปฏิบัติบำเพ็ญตลอดพระชนม์ชีพ

    ภาคที่ 4 “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” จัดแสดงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

    b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4-7.jpg

    นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสาธิตและทดลองการทำอาหารและงานฝีมือไทยแทรกอยู่ในภาคต่าง ๆ ให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ ขนมปั้นสิบ ขนมทองเอก งานร้อยมาลัย งานพับดอกบัว ฯลฯ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

    สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมนิทรรศการ “ปทุมนิวาสราชพิพิธภัณฑ์” และร่วมกิจกรรมได้ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2562 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน


    ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็น
    เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat


    e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b1e0b899e0b8a7e0b8b1e0b8aae0b8aae0b8b2e0b8ade0b8b1e0b8a2e0b8a2e0b8b4.png

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-414325
     

แชร์หน้านี้

Loading...