สรงพระมุรธาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 4 พฤษภาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    ช่วงที่สำคัญที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พิธีสรงพระมุรธาภิเษก ทรงรับน้ำอภิเษก พิธีถวายสิริราชสมบัติ เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงราชศัสตราวุธ และสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นขั้นตอนสำคัญแห่งพิธีเพื่อแสดงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ นับจากนี้การออกพระนามทั้งหมดจะต้องขานพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    แต่เดิมความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ น้ำที่ได้พลีกรรมตักมาจากสถานศักดิ์สิทธิ์ในราชอาณาจักรไทยทั้ง 8 ทิศ มีความหมายว่า เพื่ออัญเชิญให้สมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงแผ่อาณาปกครองประชาชนในทิศทั้ง 8 แต่ต่อมาอนุโลมการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสำคัญตามคติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลำดับพิธีการนี้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย ฯลฯ พระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง

    หลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐแล้ว พระครูพราหมณ์ฝ่ายต่างๆ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะมีพระปฐมบรมราชโองการเป็นภาษาไทย

    ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 5 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2416 โปรดให้เพิ่มพระปฐมบรมราชโองการภาษามคธอีกหนึ่งภาษา พระปฐมบรมราชโองการ จึงประกอบด้วยภาษาไทยและภาษามคธ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมา

    ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 หลังจากคณะพราหมณ์ถวายพระพรชัยมงคล พระราชครูพราหมณ์ถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยด้วยภาษาไทย พระราชครูพราหมณ์รับพระบรมราชโองการด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักร

    พิธีสรงพระมุรธาภิเษก คำว่า “มุรธาภิเษก” ประกอบด้วย มุรธ [มุ-ระ-ทะ] หมายถึงหัวหรือยอด กับคำว่า อภิเษก ซึ่งแปลว่า แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ มุรธาภิเษกจึงใช้หมายถึงการรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ และหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่นๆ

    การสรงพระมุรธาภิเษก ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้นเจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ (อินเดีย) และน้ำเบญจสุทธคงคา แม่น้ำสำคัญทั้งห้าของราชอาณาจักรไทย น้ำสี่สระ เจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรมตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และเจือด้วยน้ำพระพุทธปริตรที่ได้ทำพิธีเตรียมไว้

    รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในแถลงเรื่องขอมดำดินว่า “ตามคัมภีร์พิธีไสยศาสตร์…น้ำที่ควรใช้เป็นน้ำมุรธาภิเษกนั้น ต้องนำมาจากห้วงน้ำล้วนแต่ที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ น้ำในที่มีสวัสดิมงคลแห่งใดๆ แว่นแคว้นพระราชอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นก็ต้องนำมาถวายเป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกด้วย..”

    พิธีทำน้ำพระมุรธาภิเษก หนังสือประเพณีวังและเจ้า ของ หม่อมราชวงศ์ เทวาธิราช ป.มาลากุล ได้อธิบายว่า เมื่อจะทำน้ำพระมุรธาภิเษก เจ้าพนักงานตั้งพระพุทธรูปเป็นประธานพร้อมด้วยโต๊ะหมู่บูชาเป็นแท่นที่บูชาและตั้งภาชนะสำหรับใส่น้ำพระมุรธาภิเษกมีพานแว่นฟ้ารองรับ ภาชนะดังกล่าวเรียกว่า พระครอบมุรธาภิเษก ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้านนอกหุ้มทองลงยา พระครูปริตรไทย 4 รูป และพระครูปริตรมอญ 4 รูป เป็นผู้สวดพระปริตร

    ยังมีเรื่องที่น่ารู้เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยพระนิพนธ์ของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร นำมาลงไว้ในหนังสือ “บรมราชาภิเษก” ตอนหนึ่งว่า “ราชประเพณีสรงพระมุรธาภิเษกมี 2 อย่าง อย่าง 1 ถ้าวันไหนทิศไหนเป็นสิริมงคลแล้ว เวลาสรง สมเด็จพระมหากษัตริย์ก็ทรงแปรพระพักตรสู่ทิศนั้น เพื่อสิริมงคลแด่พระองค์ อีกอย่าง 1 วันสรงจะเป็นวันใดก็ตาม เวลาสรงทรงแปรพระพักตรสู่ทิศบูรพา คือ ทิศตะวันออก พระราชปฏิบัติเช่นนี้ เป็นพระราชปฏิบัติเพื่อสวัสดิสุขแด่ปวงชน ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ท่านทราบ สรงพระมุรธาภิเษกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก(รัชกาลที 9) ครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงแปรพระพักตรสู่ทิศบูรพา”

    พิธีสรงพระมุรธาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่9) ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ (ตั่งไม้มะเดื่อ) ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เพื่อทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา เวลาพระฤกษ์ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรไขสหัสธารา จากนั้นสมเด็จพระสังฆราชถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกริ่งที่พระปฤษฎางค์ (หลัง) และครอบยันตรนพคุณที่พระหัตถ์ พระบรมวงศ์ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ที่พระหัตถ์ พระยาโหราธิบดีทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้านพเคราะห์ให้ทรงรับไปสรงที่พระอังสาซ้ายขวา พระราชครูพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ และถวายใบมะตูมทรงทัด และใบกระถินทรงถือ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรถวายพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏตามขัตติยราชประเพณี

    ขณะทรงสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึกและเครื่องดุริยางค์ ทหารยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 21 นัด (ตามกำลังวันศุกร์) เฉลิมพระเกียรติ

    พิธีถวายน้ำอภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงสรงพระมุรธาภิเษกแล้ว เสด็จฯ ไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกจากหอพระสุลาลัยพิมาน ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) เป็นปฐม ผู้แทนซึ่งแต่เดิมนั้นราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนสมาชิกรัฐสภาทั้ง 8 ทิศ เป็นนัยแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

    0b8a1e0b8b8e0b8a3e0b898e0b8b2e0b8a0e0b8b4e0b980e0b8a9e0b881-e0b980e0b889e0b8a5e0b8b4e0b8a1e0b89e.jpg

    8a1e0b8b8e0b8a3e0b898e0b8b2e0b8a0e0b8b4e0b980e0b8a9e0b881-e0b980e0b889e0b8a5e0b8b4e0b8a1e0b89e-1.jpg

    จากนั้นพระราชครูพราหมณ์กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธและภาษาไทย แล้วน้อมกล้าฯ ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร ขณะนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานแกว่งบัณเฑาะว์ ประโคมฆ้องชัย แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์

    พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธ ทรงรับวางไว้บนโต๊ะ 2 ข้างพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นตอนสำคัญแห่งพิธี

    จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรมจริยา เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรกและถวายพระพรลา เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์ดับเทียนชัย เป็นเสร็จพิธี

    8a1e0b8b8e0b8a3e0b898e0b8b2e0b8a0e0b8b4e0b980e0b8a9e0b881-e0b980e0b889e0b8a5e0b8b4e0b8a1e0b89e-2.jpg

    8a1e0b8b8e0b8a3e0b898e0b8b2e0b8a0e0b8b4e0b980e0b8a9e0b881-e0b980e0b889e0b8a5e0b8b4e0b8a1e0b89e-3.jpg

    เสด็จออกมหาสมาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากผู้มาเข้าเฝ้าฯ มีพระราชดำรัสตอบขอบใจผู้มาเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

    พิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูง ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ และถวายต้นไม้เงินทองบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกต่อที่ชุมนุมสงฆ์

    พิธีถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่ จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท เสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี

    อนึ่ง ริ้วขบวนราบใหญ่รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พ.ศ.2493 ประกอบด้วย นายหน้า นายท้ายช้าง เชิญธงหักทองขวาง นำริ้ว มโหระทึก ตำรวจหลวง เข้าริ้วคู่กับมหาดเล็ก กลองชะนะ จ่าปี่ จ่ากลอง แตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ เครื่องสูงหน้า พระเสนาธิปัติ พระฉัตรชัย พระเกาวพาห พระแสงระหว่างเครื่องหน้า ผู้บอกสัญญา กรับสัญญา พราหมณ์พิธีเป่าสังข์ สมุหพระราชพิธี ราชองค์รักษ์เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ (ซ้าย) ราชองค์รักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ (ขวา) พระที่นั่งพุดตานทอง กำกับพระที่นั่ง พระแสงรายตีนทอง พัดโบก บังพระสูรย์ พระกลด เชิญพระทวย คู่เคียงพระที่นั่ง ราชองค์รักษ์เชิญพุ่มดอกไม้เงิน กรมวังเชิญพุ่มดอกไม้ทอง เครื่องสูงหลัง พระแสงระหว่างเครื่อง หลัง พระแสงอัษฎาวุธ เชิญเครื่องตาม พระราชยานทองลงยา (พระที่นั่งรอง) พนักงานภูษามาลา แพทย์ท้ายกระบวน ประตูหลัง ฯลฯ

    8a1e0b8b8e0b8a3e0b898e0b8b2e0b8a0e0b8b4e0b980e0b8a9e0b881-e0b980e0b889e0b8a5e0b8b4e0b8a1e0b89e-4.jpg

    เฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จตอนค่ำเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร เปรียบเสมือนการขึ้นบ้านใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุข

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ที่แท้เป็น 2 พิธี คือ พิธีราชาภิเษก (เฉลิมพระยศ) และพิธีเฉลิมราชมณเฑียร (เสด็จขึ้นประทับพระราชมณเฑียรสถาน) ทั้ง 2 พิธีไม่จำเป็นต้องทำด้วยกัน ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เคยทำห่างกันเป็น 2 คราวก็มี

    เครื่องที่เชิญตามเสด็จขึ้นไปประทับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ประกอบด้วยเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภค โดยเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง ต่อมาสิ่งของสำหรับการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรได้เพิ่มมากขึ้น เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือกผู้ สมัยรัชกาลที่ 7 มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี ผู้อุ้มไก่ขาวจะเป็นผู้เชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ด้วย ทั้งนี้การเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร แต่โบราณมากำหนดให้เฉพาะนางเชื้อพระวงศ์เป็นผู้เชิญซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า

    8a1e0b8b8e0b8a3e0b898e0b8b2e0b8a0e0b8b4e0b980e0b8a9e0b881-e0b980e0b889e0b8a5e0b8b4e0b8a1e0b89e-5.jpg

    ส่วนเครื่องราชูปโภค ประกอบด้วย พระสุพรรณศรี พานพระศรี พานพระโอสถ และพานพระมาลา

    ขอขอบคุณที่มา
    https://siamrath.co.th/n/77811
     

แชร์หน้านี้

Loading...