เรื่องเด่น สะพานร้องไห้ หญิงปริศนา และน้ำตาแห่งอาลัย

ในห้อง 'เรื่องผี' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 23 ธันวาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    tnews_1514043431_1991.jpg

    สะพานร้องไห้ หญิงปริศนา และน้ำตาแห่งอาลัย



    00-Cover.jpg

    เรื่อง วาทิต ชาติกุล
    ภาพ จารุพัฒน์ มนูญพงษ์



    กรุงเทพมหานครฯ เมื่อเริ่มสร้างราว ๒๐๐ ปีมานี้ การคมนาคมก็อาศัยทางน้ำเป็นหลัก โดยต้นกำเนิดเกิดจากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาความเจริญทางพลเมือง ทางราชการ การค้าขาย การคมนาคมทางบกก็เริ่มมีความสำคัญแทนที่ ประกอบกับสิ่งก่อสร้างอันเป็นภูมิสถาปัตย์ของชาวตะวันตก เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕-๖ นี้


    งานศิลปะของยุโรปและศิลปะที่สวยงามตามแบบตะวันตก ได้ไหลทะลักเข้ามาในยุคนี้ และก็ได้เป็นแบบอย่างแห่งวิวัฒนาการให้หลงเหลือได้ดูเป็นตัวอย่างและเป็นประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี


    การที่ได้พบกับความเจริญแห่งยุคสมัย และเป็นตัวอย่างแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ของคนไทยก็ต้องเอาความเป็นไทยมาผสมผสานเป็นหลักใหญ่ของการสืบสานความเป็นไทยให้อยู่ร่สมกันได้กับความเป็นตะวันตก เช่นอย่างน้อยแม้แต่จะเช่าบ้าน เช่าหอพัก ที่เป็นแบบตะวันตก แต่อย่างน้อยพอก็ต้องหา “ศาลพระภูมิ” ไว้เป็นหลักใหญ่ของจิตใจ


    เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ เรามีอัจฉริยะบุคคลผู้ครองความเป็นเอกแห่งศิลปะและการออกแบบคนสำคัญของชาติไทยเกิดขึ้น ท่านผู้นั้นคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์



    00-naris.jpg

    สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

    ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) ชื่อเสียงของพระองค์เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางดีอยู่แล้วในยุคปัจจุบันนี้แม้ฝรั่งต่างชาติ ซึ่งสนใจในการศึกษาได้รู้จักพระองค์ท่านดีไม่แพ้เรา


    คงจะมีผู้คิดพิศวงสงสัยว่า เหตุไฉนสมเด็จบรมครูทางศิลปะ จรัสแสงอยู่แต่ผู้เดียว ในขณะนั้นทำไมไม่มีผู้อื่นเข้ามาแข่งพระบารมีพระองค์ท่านบ้าง ข้อนี้ขอเฉลยว่าผู้ที่มีฝีไม้ลายมือก็คงจะมีอยู่บ้าง


    แต่เมื่อเราได้ศึกษาจากผลงานของสมเด็จฯ ทุกชิ้นแล้ว ก็คงยอมรับว่าอัจฉริยบุคคล ที่ได้ประทานพรวิเศษมาจากธรรมชาติโดยเฉพาะ และสมเด็จกรมพระยาพระนริศรานุวัติวงศ์ ก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งเราคนไทยควรภูมิใจในฝีมือ และสติปัญญาอันมหัศจรรย์ของท่าน


    มีสุภาษิตจีนอยู่บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ถ้าไม่เดินทางนับหมื่นลี้ ไม่อ่านหนังสือหมื่นเล่ม ไฉนเลยจักเขียนภาพได้ดีเล่า ข้อนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นที่เข้าใจอย่างซึมซาบดีในวงการศิลปะ ด้วยศิลปินเอกของโลกล้วนแล้วแต่ศึกษาหาความรู้ ในวิชาแขนงต่างๆ มาแล้วอย่างโชกโชน ดังเช่น ลีโอนาโด ดาวิชี เป็นปราชญ์เอกทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ อีกหลายสาขา ท่านจึงเขียนภาพโมนาลิซ่าได้ลึกซึ้งยิ่งนัก


    ปีเตอร์ ปอลรูเบนส์ จิตรกรเอกของโลกชาวเฟรมมิช ยักษ์ใหญ่ของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เขาอ่านหนังสืออย่างเป็นบ้าเป็นหลัง พูดได้หลายภาษา เมื่อเขาไปเยี่ยมเยียนประเทศใดก็ได้รับเป็นราชทูตจากชาวเฟรมมิชไปพร้อมกัน

    ซามูเอล เอฟ. บี. มอร์ส จิตรกรคนสำคัญชาวอเมริกันก็สนใจ หลายสาขาวิชาเขาเป็นคนแรกประดิษฐ์วิทยุโทรเลขขึ้น ยังมีศิลปินเอกของโลกอีกหลายท่าน ซึ่งสามารถรอบรู้วิชาต่างๆ เป็นผลให้งานของเขามีความลึกซึ้งเป็นพิเศษ



    00-%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99(1).jpg

    ซามูเอล เอฟ. บี. มอร์ส ปฏิมากรรม และผู้ดูแลควบคุมการปั้นงานศิลปะ

    ศิลปินเอกของโลกเท่าที่เปิดเผยออกมาล้วนแต่เผยให้เห็นความสงบเสงี่ยมเจียมตัว และความสุภาพของศิลปินทั้งนั้น จะมีที่บ้าระห่ำหลงตัวเองอย่างเป็นบ้าเป็นหลังก็เพียงไม่กี่คน


    ย้อนกลับมากล่าวถึงสมเด็จพระบรมครูที่พระองค์ท่านถือสันโดษ สุภาพเรียบร้อยและเป็นที่พึ่งของบุคคลต่างๆ จากการบอกเล่าของคุณเฉลิมศักดิ์ รามโกมุธ ถึงชีวิตที่ได้ใกล้ชิดกับพระองค์ว่า ท่านเองเข้ามาเป็นเด็กรับใช้ในบั้นปลายชีวิตของพระองค์ท่านด้วย

    “ก๊ก” ของคุณลุงเฉลิมศักดิ์เป็น “กรมวังนอก” (ช่างหลวง) ในครั้งนั้นคุณลุงเฉลิมศักดิ์เก็บเศษงานศิลป์ของพระองค์ท่านยังเหลือใช้กระทั่งบัดนี้ และคุณลุงเฉลิมศักดิ์ก็ได้สนองพระเดชพระคุณโดยหน้าที่สี่ตำรวจหลวง เชิญพระโกศศพพระองค์ท่านตั้งบนจิตกาธานที่พระเมรุสนามหลวง เป็นการถวายกตัญญูต่อพระองค์ท่าน

    องค์สมเด็จพระบรมครูเป็นที่รู้ทางปราชญ์ทางศิลปะศาสตร์ พระองค์ท่านไม่เคยปิดบังความรู้ บางครั้งทรงจ้ำจี้จ้ำไชในแนวทางประพฤติปฏิบัติให้ผู้รับความรู้อย่างได้ผลที่แท้จริง และผลอันปรากฏชัดสู่สายตาโลกแล้วในเรื่องสถาปัตยกรรมโครงสร้างหลังคา ของทุกประเทศทั่วโลก

    ประเทศไทยเราก็ติดอันดับกับเขาด้วย คือโครงสร้างหลังคาโบสถ์วัดเบญจมบพิตร โดยฝีพระหัตถ์สมเด็จพระบรมครูกรมพระยาพระนริศรานุวัติวงศ์ และทรงเป็นศิลปินเอกนักออกแบบที่ยิ่งใหญ่ของเอเชียอาคเนย์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕

    ก็เพราะมีสิ่งแวดล้อมสนับสนุน นั่นก็คืองานออกแบบของยุโรป ยุคสมัยที่ดีงามที่สุด ไหลทะลักเข้าสู่เมืองไทย เหมือนสายธารอันชื่นฉ่ำเอิบอาบทั่วไป



    ศิลปะดัตซ์เคยครองความเป็นเอกของโลกมาแล้วในขณะที่ฮอลันดากำลังเป็นเจ้าโลก ส่งเรือทะเลไปค้าขายทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ และมาได้เป็นใหญ่ที่ปัตตาเวีย ทั้งยังส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรจะมาปิดอ่าวไทย จนพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยาต้องคบค้ากับฝรั่งเศสเพื่อเตรียมตัวสู้กับดัตซ์

    สมัยนั้นดัดซ์มีความเจริญทางศิลปะทุก ๆ ด้าน สเปนก็เช่นกัน เคยเป็นเจ้าโลกมาสมัยหนึ่งก่อนหน้าอังกฤษยุคสเปนมั่งคั่งร่ำรวยมาก ขนเอาทองคำจากทวีปอเมริกา ข้ามไปทวีปของตนจำนวนมหาศาล ศิลปะของสเปนยุคนั้น ยังคงครองความยิ่งใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทุกอย่างจะวิวัฒนาการรุ่งโรจน์ได้อย่างสำคัญต้องมีภูมิหลังที่ดี ถ้าหากว่าอิตาลีในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ไม่มั่งคั่งเจริญด้วยศิลปะ เช่น ไมเคิล แองเจโล หรือราฟาเอง หรือทิเชียลขึ้นมาได้

    ถ้าหากว่าฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ไม่เป็นศูนย์กลางของศิลปะโลกก็คงไม่รู้จัก เดอลาครัวซ์ แองเกรส โคโรท์ มาเน่ท์ และเซซาน เป็นแน่ ศิลปินเอกเหล่านี้เป็นดอกไม้งามอันอยู่ในกระถางงาม ด้วยมีสิ่งแวดล้อมอันดีงามสนับสนุนอยู่

    เราได้พบความจริงว่างานออกแบบในสไตล์ของยุโรป เมื่อปลายรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตลอดรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นงานอันยิ่งใหญ่ ออกแบบอย่างประณีตบรรจง ก่อสร้างกันดีอย่างวิเศษนับเป็นงานคลาสิกที่คู่ควรแก่การศึกษายิ่งนัก

    การออกแบบการวางลวดลายในจุดอันพอดี และการทำขายคากันสาดอันบางประณีต และเราก็ตระหนักถึงความจริงอันสำคัญว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นภูมิหลังที่วิเศษสุด สมเด็จฯ ได้ทรงนำเอาลักษณะสถาปัตยกรรมแบบขอมอันสง่างามและแฝงความขลังมาดัดแปลงเป็นไทยสมัยใหม่ได้สำเร็จอย่างยอดเยี่ยม

    เช่น หอสมุดแห่งชาติ (เดิม) ข้างวัดมหาธาตุ และยังมีตึกเก่าๆ ที่ยังมีสภาพแข็งแรงประกอบด้วยลวดลายสไตล์บารอคแถวบ้านหม้อริมคลองหลอดยังหลงเหลือให้เห็น และยังมีอีกหลายแห่ง ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้

    ส่วนในเรื่องที่จับเค้ามาเล่าเรื่องลี้ลับส่วนนี้คือ เรื่องสะพานร้องไห้นั้นเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของการก่อสร้างชุดสะพานต่างๆ ได้เริ่มสร้างเป็นล่ำเป็นสันในเมื่อวาระเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งเรียกกันว่าสะพานชุดเฉลิม

    โดยใช้ชื่อเฉลิมนำหน้าชื่อสะพาน เช่น สะพานเฉลิมโลกอยู่ที่ประตูน้ำปทุมวัน สะพานเฉลิมหล้าอยู่ที่ราชเทวี และยังมีเรื่องราวและความสำคัญของอีกมาก ซึ่งยังหลงเหลืออยู่บ้าง และยังอยู่ให้เห็นเด่นชัดก็คือสะพานมหาดไทยอุทิศนั้นอยู่ถัดไปจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศทางทิศใต้ประมาณ ๑๐๐ เมตร

    มีสะพานเรียกกันโดยสามัญว่า “สะพานร้องไห้” แต่ชื่อที่แท้จริงคือสะพานมหาดไทยอุทิศเนื่องจากรูปประติมากรรมที่ประดับสะพานเป็นรูปผู้ใหญ่อุ้มลูกถือดอกซ่อนกลิ่นและรูปผู้ใหญ่ยืน และเด็กยืนยกมือไหว้ (ทำความเคารพ)

    04(118).jpg

    ภาพนูนสูง ผู้ใหญ่อุ้มลูกถือดอกซ่อนกลิ่น





    05(112).jpg

    ภาพนูนสูงเด็กยืนยกมือไหว้

    ซึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์ในการนำพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวังไปสุสานหลวงวัดเทพศิริทราวาสและมีช่อชัยพฤษ์ รูปพวงหรีดล้อมรูปราชสีห์อันเป็นความหมายของผู้สร้างก็คือ กระทรวงมหาดไทย และมีชื่อปรากฏว่า สะพานมหาดไทยอุทิศ



    06(107).jpg ป้ายชื่อสะพานอย่างเป็นทางการคือ สะพานมหาดไทยอุทิศ

    สะพานมหาดไทยอุทิศนี้ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ เพื่อให้การคมนาคมทางบกซึ่งเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในสมัยพระองค์ ได้มีความสะดวกสบายมากขึ้น จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองฝั่งคลองมหานาค


    โดยเป็นการออกแบบร่วมกันของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับประติมากรชาวอิตาเลี่ยน วิตโตริโอ โนวี (Vittorio Novi) ที่เข้ามารับราชการอยู่ในสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 และยังเป็นผู้ปั้นลวดลายประดับตกแต่งพระที่นั่งอนันตสมาคม เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทิพยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 5 หรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก


    แต่ไม่ทันได้ก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหานาคนี้เลยค้างคาอยู่นาน


    ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงรื้อฟื้นการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ โดยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยร่วมกับข้าราชการของกระทรวงทั่วประเทศร่วมกันบริจาคค่าก่อสร้าง


    และเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการสวรรคตของพระปิยมหาราช พสกนิกรจึงร่วมใจกันบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนในการสร้างสะพานแห่งนี้ ทางทีมงานก่อสร้างได้มีการปรับเปลี่ยนภาะประติมากรรมนูนสูงที่แต่เดิมเป็นช่อชัยพฤกษ์แต่เพียงอย่างเดียว ให้เป็นรูปพสกนิกรยืนร่ำไห้และไว้อาลัยในการจากไปของพระปิยมหาราช

    โดยได้ทำการค้นหาต้นแบบพสกนิกรที่จะนำมาเป็นแบบในประติมากรรมนูนสูง ในครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับประติมากรชาวอิตาเลี่ยน วิตโตริโอ โนวี (Vittorio Novi) ได้คัดเลือกตัวชาวบ้านร้านถิ่นเพื่อมาถ่ายรูปเป็นแบบ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเสียส่วนใหญ่เพราะชาวบ้านในสมัยนั้น ยังหวาดกลัวกับการถ่ายรูป เพราะเชื่อว่า กล้องจะดูดเอาวิญญาณไป

    แต่ก็ได้หญิงชาวบ้านปริศนาไม่ทราบหัวนอนปลายตีนกับลูกคนหนึ่งมาเป็นแบบให้ถ่ายรูป ซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความอาลัยรัก ความอาดูร ความสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่งอย่างสมเด็จพระปิยะมหาราชได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นภาพที่ใครได้เห็นต้นฉบับจริงจะต้องเสียน้ำตา น้ำตาซึม และร้องไห้ตามอารมณ์ของภาพอย่างแน่นอน

    ส่วนภาะผู้ชายและเด็กน้อยที่ยีนไหว้นั้น คุณลุงเฉลิมศักดิ์รามโกมุธ ได้เล่าว่าเป็นบ่าวคนหนึ่งของ กรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ ชื่อนายพุ่ม เพิ่งหลุดจากการเป็นทาส สมเด็จฯ ท่านได้ชุบเลี้ยงไว้ และนำมาถ่ายเป็นแบบพร้อมลูกชาย

    ต่อมาประติมากรชาวอิตาเลี่ยน วิตโตริโอ โนวี (Vittorio Novi) ได้ปั้นภาพประติมากรรมนูนสูงด้วยดินเหนียวก่อนที่จะถอดพิมพ์ด้วยปูนซีเมนต์ แล้วนำขึ้นไปติดกับสะพานที่ออกแบบไว้แล้ว ซึ่งประติมากรรมนูนสูงรูปหญิงอุ้มเด็กก็ได้ทำให้ผู้ที่ยืนชมถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาเหมือนถูกสะกดด้วยความเศร้าเสียใจในการเสด็จสวรรคต เหมือนถูกต้องมนต์สะกดของภาพผู้หญิงปริศนานางนี้


    เรียกได้ว่านอกจากความสวยงามและเรื่องราวของความอาลัยในพระปิยะมหาราชแล้ว หญิงปริศนาไม่ทราบที่มา ก็เป็นสิ่งประหลาดเป็นอย่างยิ่งที่สะกดคนดูให้ร้องไห้เสียตามเมื่อได้เพ่งพินิจ นับได้ว่าเป็นเรื่องพิศดารอีกสิ่งสำหรับสะพานแห่งอนุสรณ์ของความรักที่พสกนิกรไทยมีต่อองค์พระปิยะมหาราชอย่างแท้จริง

    จากเดิมที่ชื่อสะพานมหาดไทยอุทิศ ก็ถูกเรียกเสียใหม่ตามพสกนิกรคือ สะพานร้องไห้ ตามภาพประติมากรรมนูนสูงที่เสาสองต้นของสะพาน สะพานแห่งนี้สิ้นค่าก่อสร้างไปทั้งสิ้น 57,053 บาท 29 สตางค์

    08(60).jpg

    “สะพานมหาดไทยอุทิศ” มีความพิเศษกว่าสะพานอื่นๆ ตรงที่ โครงสร้างเดิมของสะพาน ยังมีความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประติมากรรมและลายปูนปั้นประดับสะพาน หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน 95 -98 เปอร์เซ็นต์

    มีการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งครบ ๑๐๐ ปีของสะพานนี้โดยคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้เก็บข้อมูลรูปถ่ายประติมากรรม และโครงสร้างทั้งหมด เป็นฐานข้อมูล

    และได้ส่งข้อมูลและของบประมาณไปยังกรมศิลปากร เพื่อให้กรมช่างสิบหมู่ได้ทำการบูรณะภาพประติมากรรมในส่วนที่ชำรุด และในส่วนโครงสร้าง ได้มีทีมช่าง และวิศวกร สถาปนิกจากกรมศิลป์ เข้ามาดูแลให้คงสภาพเดิมมากที่สุด

    แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ภาพนูนสูงพสกนิกรที่เสาสองข้างของสะพาน ยังคงแสดงได้ถึงความอาลัยรักที่มีต่อพระปิยมหาราชได้อย่างมีมนต์ขลังชวนให้หลั่งน้ำตาเหมือนเมื่อร้อยกว่าปีผ่านมา
    ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กล่าวกันว่า “สะพานมหาดไทยอุทิศ” เป็นหนึ่งใน “เพชรน้ำงาม” ของ “มรดกเมือง” ที่ยังหลงเหลืออยู่ของกรุงเทพมหานคร

    และสิ่งหนึ่งที่เป็นปริศนาตลอดมาและชวนให้ขบคิดถึงหญิงสาวไม่ทราบหัวนอนปลายตีนที่ยืนสะกดคนดูให้หลั่งน้ำตาได้นับร้อยปี คนนั้นเป็นใคร หรือว่าคุณรู้


    เรียบเรียงโดย

    วาทิต ชาติกุล
    http://www.tnews.co.th/index.php/contents/393970
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 24 ธันวาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...