สังฆเภท แปลว่า การทำสงฆ์ให้แตกกั

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย tuanong, 20 สิงหาคม 2012.

  1. tuanong

    tuanong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    134
    ค่าพลัง:
    +559
    [ame=http://www.youtube.com/watch?v=rj1LbUIGjL8&feature=related] พุทธประวัติ 27 พระเทวทัตทำสังฆเภท - YouTube[/ame]


    สังฆเภท แปลว่า การทำสงฆ์ให้แตกกัน การทำลายสงฆ์ ความแตกกันแห่งสงฆ์

    สังฆเภท หมายถึงการยุยง การขวนขวายให้สงฆ์แตกความสามัคคีกัน ไม่ปรองดองกันจนถึงกับแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรม แม้จะมีการห้ามปรามตักเตือนจนสงฆ์ประชุมกันให้เลิกละการกระทำอย่างนั้นเสียก็ยังไม่ปฏิบัติตาม ยังฝืนทำเช่นนั้นอีก เช่นนี้จัดเป็นสังฆเภท

    สังฆเภท จัดเป็นอนันตริยกรรมคือกรรมที่มีโทษหนักที่สุดเท่ากับโทษฆ่าบิดามารดา มีผลถึงห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานทีเดียว ผู้ที่ทำลายสงฆ์ท่านมุ่งเอาเฉพาะภิกษุเท่านั้น คำว่า ทำลายสงฆ์ หมายเอาการทำให้สงฆ์แตกแยกกันเป็น ๒ ฝ่าย หรือมากกว่านั้น โดยที่สงฆ์เหล่านั้นไม่ยอมทำอุโบสถกรรม ปวารณากรรม หรือสังฆกรรรมอย่างอื่น ๆ ร่วมกัน เพราะเกิดความแตกแยก ความรังเกียจ หรือความอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน

    อุกเขปนียกรรม

    คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึง วิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติ แล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย(ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา
    หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิ เสมอกับภิกษุทั้งหลาย หรืออีกนัยหนึ่งว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว

    บุคคลผู้ทำสังฆเภท

    บุคคลผู้อาจทำสังฆเภทได้นั้น จะต้องเป็นภิกษุเท่านั้น และต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ

    ๑. เป็นปกตัตตะภิกษุ หมายถืง ผู้เป็นพระภิกษุโดยปกติ ที่ประกอบด้วยสีลสามัญตา
    คือ มีศีลเสมอเป็นอันเดียวกันกับภิกษุทั้งหลายโดยปกติ คือ ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิก
    หรือถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
    ๒. เป็นสมานสังวาส คือ เป็นภิกษุผู้มีการอยู่กินร่วมเสมอกัน มีความพร้อมเพรียงกัน
    ทำสังฆกรรมร่วมกัน ทำอุโบสถกรรมร่วมกัน เป็นต้น กับภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น ฯ
    ๓. อยู่ในสีมาร่วมกัน หมายถึง อยู่ในเขตกำหนดสงฆ์ที่สงฆ์ได้ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลาย
    ภายในเขตกำหนดหนึ่ง ๆ ที่จะต้องทำสังฆกรรมหรือทำอุโบสถร่วมกัน ในวัดเดียวกันที่เป็นพัทธสีมา
    หรืออพัทธสีมาก็ตาม

    บุคคลผู้ไม่อาจทำสังฆเภท

    บุคคลผู้ไม่อาจทำสังฆเภท คือ ทำลายสงฆ์ให้แตกแยกกันได้ แต่บุคคลเหล่านี้เป็นแต่เพียงสนับสนุน ส่งเสริม ยุยงให้สงฆ์แตกแยกกันให้ทำสังฆเภท มี ๖ ประเภท คือ

    ๑. ภิกษุณี
    ๒. นางสิกขมานา
    ๓. สามเณร
    ๔. สามเณรี
    ๕. อุบาสก
    ๖. อุบาสิกา

    สาเหตุที่ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน มี ๒ ประการ คือ

    ๑. มีความเห็นปรารภพระธรรมวินัยต่างกัน จนเกิดเป็นวิวาทาธิกรณ์ขึ้น คือ เสียทิฏฐิสามัญญตา
    ๒. มีความประพฤติปฏิบัติไม่สม่ำเสมอกัน มีศีลไม่เสมอกัน ยิ่งหย่อนกว่ากันจนเป็นเหตุให้เกิด
    ความรังเกียจขึ้น คือ เสียสีลสามัญญตา

    อาการที่สงฆ์จะแตกแยกกัน ในคัมภีร์บริวารท่านกล่าวไว้ว่าด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

    ๑. ด้วยกรรม ได้แก่ทำสังฆกรรม
    ๒. ด้วยอุทเทส ได้แก่ การสวดพระปาฏิโมกข์
    ๓. กล่าวด้วยโวหาร ได้แก่ตั้งญัตติ
    ๔. ด้วยอนุสาวนา ได้แก่ประกาศด้วยกรรมวาจา
    ๕. ด้วยการให้จับสลาก ได้แก่ให้ลงคะแนนชี้ขาด

    ความแตกต่างแห่ง สังฆเภท สังฆราชี และสังฆสามัคคี

    สังฆเภท คือ ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม ปวารณากรรม และสังฆกรรมน้อยใหญ่อย่างอื่นภายในสีมาเดียวกัน พร้อมเพรียงกันด้วยสังฆสามัคคี แต่เมื่อไรก็ตามที่ภิกษุทั้งหลายแตกกันเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นพวก แยกกันทำอุโบสถกรรม แยกกันทำปวารณากรรม หรือแยกกันทำสังฆกรรม หรือกรรมน้อยใหญ่ภายในสีมาเดียวกัน ซึ่งการทำสังฆเภทนี้จะต้องประกอบไปด้วยภิกษุที่ครบองค์สงฆ์ คือ ประกอบด้วยภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปทั้งสองฝ่าย การกระทำเหล่านี้จัดเป็น สังฆเภท

    สังฆราชี คือ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ เมื่อภิกษุสองฝ่าย ต่างมีจำนวนครบองค์สงฆ์ คือ ๔ รูปขึ้นไป มีความเห็นไม่ลงรอยกัน ประพฤติปฏิบัติไม่เสมอกัน แต่ยังไม่ถึงกับแยกกันทำอุโบสถกรรม ปวารณากรรม และสังฆกรรมน้อยใหญ่อื่น ๆ คือถึงแม้จะแตกแยกร้าวรานทะเลาะเบาะแว้งกันแต่ยังคงทำสังฆกรรมร่วมกันภายในสีมาเดียวกันเป็นปกติ จัดเป็นเพียง สังฆราชี

    สังฆสามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงกันแห่งสงฆ์ ความปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทส คือ ฟังปาติโมกข์ร่วมกัน มีวัตรปฏิบัติเสมอกัน มีการทำสังฆกรรมร่วมกันอย่างสามัคคี ย่อมอยู่ผาสุกและความพร้อมเพรียงกันแห่งสงฆ์ย่อมเป็นมูลเหตุแห่งความตั้งมั่น และความเจริญยั่งยืนแห่งพระศาสนา ซึ่งในบาลีโกสัมพีขันธกะ ได้แสดงสังฆสามัคคีไว้ ๒ ประการ คือ

    ๑. สงฆ์ไม่วินิจฉัยเรื่อง ไม่สาวเข้าไปหามูลเหตุ การทำสังฆสามัคคีอย่างนี้ทำให้เสียอรรถคือเนื้อความ
    ได้แต่พยัญชนะไม่เป็นธรรม
    ๒. สงฆ์วินิจฉัยเรื่อง สาวเข้าไปหามูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ จัดว่าเป็นธรรม

    สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น อาจจะแตกแยกกันได้ง่าย เมื่อแตกแยกกันแล้วจะสามัคคีกันได้ยากมาก เพราะเหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสเตือนให้คำนึงถึงการแตกแยกกันให้มาก ๆ ไม่ควรเอาแต่ใจตนเอง ควรมุ่งความสามัคคีเป็นใหญ่ ไม่ดื้อรั้นด้วยอำนาจทิฏฐิมานะ การจะประพฤติปฏิบัตินั้น ให้มุ่งเอาความเจริญรุ่งเรืองความมั่นคงแห่งพระศาสนาและพระธรรมวินัยเป็นหลัก

    เชิญท่านทั้งหลายพิจารณาว่าปัจจุบันกำลังมีเหตุสังฆเภทบ้างหรือไม่ แล้วเราจะสืบรักษาศาสนานี้ไว้ให้ไพบูลย์ได้อย่างไรบ้าง
     

แชร์หน้านี้

Loading...