สัมมาสมาธิ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ไม้ขีด, 21 ธันวาคม 2012.

  1. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    สัมมาสมาธิ
    โดย
    ท่านเจ้าคุณ พระภาวนาพิศาลเถร
    (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
    วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

    1. ศีล 5 สามารถทำให้บรรลุได้
    การปฏิบัติธรรมในด้านจิตนั้น เราจะต้องเริ่มต้นด้วยทำตนเป็นผู้มีศีล ศีลนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นคุณธรรมอันเป็นภาคพื้น เป็นการปรับกาย วาจา และใจ ให้อยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลห้า อันเป็นศีลที่ฆราวาสทั่วๆไปพึงสมาทานปฏิบัติ เป็นศีลหลักใหญ่ และเป็นศีลที่สำคัญ ศ 8 ศีล 10 ศีล 227 ก็รวมลงอยู่ในศีลห้าข้อนี้ จะเป็นผู้ใดก็ตาม ในเมื่อมาตั้งใจสมาทานรักษาศีลห้าข้อ เมื่อทำศีลห้าให้บริสุทธิ์แล้ว และตั้งใจทำสมาธิภาวนา ก็สามารถจะทำจิตให้สงบรู้ซึ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น ยังสามารถให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ ยกตัวอย่างเช่น อุบาสก อุบาสิกา ในอดีตสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็มีหลายท่าน เช่น พระนางวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี ท่านก็เป็นผู้ครองเหย้าครองเรือน แล้วก็มีศีลเพียงห้าข้อเท่านั้น แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุโสดาบัน
    คนในสมัยปัจจุบันนี้ มีเพียงแค่ศีลห้า ก็ยังถือว่ายังน้อยหน้าต่ำตา ศีลของเราไม่มาก บางคนก็สงสัยว่ามีศีลห้าไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ อันนี้เป็นการเข้าใจผิด ความจริงศีลห้าข้อนี้ เป็นศีลที่กำจัดบาปกรรม หรืเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม ที่เราจะพึงทำด้วยกาย วาจา เช่น ปาณาติบาต การเว้นจากการฆ่าสัตว์ อทินนาทาน เว้นจากการหยิบสิ่งของที่เขาไม่ได้อนุญาต กาเมสุมิฉาจาร เว้นจากการประพฤติผิดในกาม มุสาวาท พูดเท็จ สุรา ดื่มของมึนเมา ถ้าใครสมาทานรักษาศีลห้าข้อนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ได้ชื่อว่า เป็นการตัดผลเพิ่มของบาป บาปกรรมที่เราทำ ที่จะต้องไปเสวยผลคือ ไปตกนรกหรือไปทรมานในสถานที่หาความเจริญมิได้นั้น มีแต่การละเมิดศีลห้าข้อเท่านั้น ส่วนอื่นซึ่งเราทำลงไปแม้จะเป็นบาปอยู่บ้าง ก็เป็นแต่เพียงความมัวหมองภายในจิตใจเท่านั้น แต่ถ้าใครมีศีลห้าบริสุทธิ์สมบูรณ์ มีหวังที่จะทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม รู้แจ้งเห็นจริง ในสภาวธรรมได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่สามารถจะมีศีลมากๆขึ้นไปกว่านั้น ก็อย่าพึงทำความน้อยอกน้อยใจว่า ศีลเราน้อยเหลือเกิน กลัวว่าจะไม่ถึงนิพพาน อันนั้นเป็นการเข้าใจผิด ก่อนที่เราจะเพิ่มศีลของตัวเองให้มากขึ้นไปนั้น เราต้องพิจารณาถึงสมรรถภาพของตัวเองว่า เราสามารถจะปฏิบัติและรักษาศีลให้มากๆได้หรือไม่ ถ้าเรายังไม่มีสมรรถภาพพอที่จะรักษาศีลมากๆได้ ก็ให้มั่นคงแต่เพียงในศีลห้าเท่านั้น
    ฆราวาสโดยทั่วไป มีเพียงศีลห้า เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มุสาวาท เว้นการเสพสุรา เรายังประดับตกแต่งด้วยเครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทาได้ ดูหนัง ดูละคร หรือประโคมขับดนตรีก็ได้ นอนบนที่นอน ที่สูง ที่ใหญ่ก็ได้ ไม่ผิดศีล แต่ถ้าเราไปเพิ่มข้อ วิกาลโภช เข้าไป แต่ว่าอดข้าวเย็นไม่ได้ เพิ่มข้อ มาลา เข้าไป แต่ว่าเว้นจากการ
    ประดับตกแต่งไม่ได้ เพิ่มข้อ นัจจคีตะ เข้าไป แต่ว่าเว้นดูละคร ดนตรีไม่ได้ เพิ่มข้อ อุจจาสยนะ เข้าไป แต่ก็พอใจในที่นอนที่สูงที่ใหญ่ เราก็รักษาไม่ได้ เป็นการหาเรื่องเพิ่มบาปให้ตนเองโดยไม่มีเหตุผล การที่ตั้งใจรักษาศีลให้มากๆนั้น เราต้องดูสมรรถภาพของตนเอง เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ตั้งใจทำสมาธิ บำเพ็ญเพียรภาวนาไป เมื่อเราภาวนาเป็นแล้ว ศีลก็จะเพิ่มขึ้นเอง ไม่เฉพาะศีล 8 ศีล 10 เท่านั้น เมื่อมีศีลห้า มีสมาธิ มีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม ความเป็นของตัวเองซึ้งมันเกิดขึ้นในจิตนั่นแหละ ความที่จิตสงบเป็นสมาธิ ความที่มีปัญญารู้จ้าเห็นจริงในสภาวธรรม สามารถทำจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้นั่นแหละ จะเป็นอุบายเพิ่มศีลเข้าไป อย่างว่าแต่ศีล 227 ข้อเลย ต่อให้เป็นหมื่นๆข้อ แสนข้อ ก็เพิ่มได้ ถ้าพื้นฐานของจิตใจดีแล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะปฏิบัติธรรม จะเขยิบฐานะการปฏิบัติของตนให้สูงยิ่งเพียงใด แค่ไหน ก็ขอให้พิจารณาดูสมรรถภาพของตัวเองเป็นสำคัญ อย่าไปทำอย่างงมงาย ทำอย่างมีเหตุมีผล เช่น เขาว่ารักษาอุโบสถได้บุญมาก แต่ในเมื่อเราไปรักษาอุโบสถ อดข้าวเย็น ได้รับทุกขเวทนาอย่างในสมัยที่อาตมาเป็นพระเล็ก เณรน้อย อยู่กับพระอาจารย์เสาร์ แล้วก็ไปพอใจในคำว่า การอดข้าว บางทีเขาชวนกันอดข้าว 3 วัน 5 วัน 7 วัน บางทีก็อดจนถึง 9 วันก็มี แต่เมื่ออดกันไปแล้วผลที่ได้รับ ก็ไม่ได้รับผลเท่าที่ควร การอดทำให้เราเกิดความเพลีย ความหิว ในเมื่อร่างกายเกิดความหิว ไม่ได้อาหารมาบำรุงร่างกาย ก็อ่อนเพลีย ในเมื่อความอ่อนเพลียเกิดขึ้น เราก็ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ แทนที่จะได้ผลดีกลับขาดทุน ดีไม่ดีทำให้เกิดโรคทางกาย โรคกระเพาะ โรคลำไส้ ต้องทนทุกข์ทรมาน พยาบาลรักษาเป็นเวลานานกว่าจะหาย เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เราจะทำลงไป ที่เราเห็นว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือปฏิบัติจริง เราอย่าปฏิบัติกันอย่างงมงาย ทำให้มีเหตุมีผล พิจารณาสมรรถภาพของร่างกายและจิตใจตนเองว่า มีความสามารถเพียงใดหรือไม่ อาตมาขอให้คติเอาไว้
    2. วิธีทำสมาธิ
    เรื่องของธรรมะที่จะนำมาในโอกาสนี้ ก็ควรจะเป็นเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งปัญหาในการปฏิบัติธรรมในสมัยปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าเป็นที่ตื่นอกตื่นใจ หรือเป็นที่สนใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วๆไป สมัยเมื่ออาตมายังเป็นศิษย์ท่านอาจารย์เสาร์อยู่ทางภาคอีสาน คนที่สนใจธรรมะ และตั้งใจนั่งสมาธิภาวนากันส่วนมากมีแต่คนแก่ๆอายุมากแล้ว ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ คนหนุ่ม คนสาว คนแก่ มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม แสดงว่าชาวพุทธทั้งหลายมีความตื่นตัว และเริ่มรู้สึกสำนึกในการแสวงหาที่พึ่งให้แก่ตัวเองมากขึ้นทุกทีๆ แต่บางครั้งก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะ
     
  2. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    อย่างยิ่งการทำสมาธิ เป็นปัญหาที่เราจะต้องทำความเข้าใจว่า การทำสมาธิ ที่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธินั้น มีความมุ่งหมายอยู่ที่ตรงไหน ในหลักคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อพระองค์แสดงธรรม โดยมากมักจะมีธรรมเป็นของคู่กัน เช่น สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ หรือสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ อะไรทำนองนี้ เรื่องความถูกกับความผิดนั้น พระองค์มันจะยกขึ้นมาแสดงคู่กัน
    ดังนั้น ปัญหาเรื่องการทำสมาธิในสมัยปัจจุบันนี้ จะว่าลัทธิของใครถูกของใครผิด จะไม่ขอนำมากล่าว เรื่องถูก หรือผิดอยู่ในความตั้งใจ หรือเจตนาของผู้ทำ ถ้าหากบำเพ็ญสมาธิ มุ่งที่จะให้จิตสงบ ให้มีจิตมั่นคงต่อการทำความดี และเพื่อจะให้เกิดมีสมาธิ มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นอุบายถ่ายถอนราคะความกำหนัดยินดี หรือกิเลส โลภ โกรธ หลง ให้หมดไปจากจิตใจ โดยไม่ได้มุ่งสิ่งอื่น นอกจากความบริสุทธิ์และความพ้นทุกข์ จัดว่าได้ชื่อว่าเป็น สัมมาสมาธิ ความรู้ ความเห็นของท่านเหล่านั้นก็เป็น สัมมาทิฏฐิ ทีนี้โดยวิสัยของการปฏิบัติ หรือภูมิจิต ภูมิธรรมที่เกิดขึ้นนั้น ในระดับต้นๆนี้ ก็ย่อมมีทั้งผิด ทั้งถูก แม้แต่ผู้ที่มีภูมิจิตก้าวขึ้นสู่ภูมิของความเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ยังมีความเห็นผิด เห็นถูก ยกเว้นแต่พระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้น ผู้ที่สำเร็จ โสดา สกิทาคา อนาคา แต่ยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ และทำไมจึงยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ ก็เพราะเหตุว่า สัมมาทิฏฐิ ในขั้นพระอรหัตตมรรค ยังไม่สมบูรณ์ จึงยังข้องอยู่ จึงยังไม่สำเร็จก่อน
    เพราะฉะนั้น ความผิด ความถูกนั้น เราอย่าเพิ่มไปด่วนตัดสินว่า ใครผิด ใครถูก เอากันตรงที่ว่า ใครสามารถทำสมาธิจิตลงไปให้สงบลงไปได้แล้ว สภาพจิตของเราเป็นอย่างไร เรามีกิเลสตัวไหนมาก และควรจะแก้ไขอย่างไร นี้เป็นจุดแรกที่เราจะต้องอ่านตัวของเราเองให้ออก จะว่าสิ่งอื่นผิด สิ่งอื่นถูก นั้นไม่สำคัญ แม้ว่าเราจะรู้อะไรผิดอะไรถูก แต่เป็นเรื่องนอกตัว นั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า เราอ่านจิตใจของเรา แล้วก็ปรับโทษตัวเอง แล้วก็ตัดสินตัวเอง ว่าตัวเองผิด ตัวเองถูกนั่นแหละ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าหากเราไม่สามารถจะจับจุดนี้ได้ เราจะปฏิบัติ หรือบำเพ็ญเพียรภาวนาแค่ไหนก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขตัวเองได้
    อันนี้ เป็นความคิดความเข้าใจของอาตมา ตัวผู้เทศน์ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังกับท่านทั้งหลาย ก็เผื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ช่วยคิดพิจารณา ว่าเป็นการเหมาะสม หรือไม่ประการใด ในฐานะที่อาตมาเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ ก็จะได้นำเรื่องการปฏิบัติสมาธิตามสายท่านอาจารย์เสาร์มาเล่าสู่กันฟัง
    ในขั้นบริกรรมภาวนาตามแบบฉบับของท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น ท่านเป็นพระเถระที่ทรงคุณในทางการปฏิบัติ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานของภาคอีสาน บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น เป็นคนเมืองไหน อาตมาจะได้นำประวัติของท่านมาเล่าโดยย่อๆ ท่านอาจารย์
    เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น เป็นชาวอุบลโดยกำเนิด ท่านอาจารย์เสาร์เกิดที่ อ.เมือง ท่านอาจารย์มั่นเกิดที่ อ.โขงเจียม ทั้งสองท่านนี้ในเมื่อได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว ก็ได้ตั้งใจศึกษาธรรมวินัย เพียงแค่การให้รู้หลักธรรม
    ท่านอาจารย์เสาร์เป็นพระเถระที่ไม่ได้ศึกษาพระปริยัติกว้างขวาง ท่านเรียนรู้เฉพาะข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติโดยตรง ท่านอาจารย์เสาร์สอบนักธรรมตรีก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่สอบ แต่ความเข้าใจเรื่อง พระธรรมวินัยซึ่งเป็นข้อปฏิบัตินั้น รู้สึกท่านมีความเข้าใจ ละเอียดละออดีมาก และท่านอาจารย์เสาร์สอนกรรมฐาน หรือสอนคนภาวนานั้น มักจะยึดหลักภาวนา พุทโธ เป็นหลัก ยกตัวอย่าง ในบางครั้ง มีผู้ไปถามท่านว่า อยากเรียนกรรมฐาน อยากจะภาวนาทำอย่างไร? ท่านอาจารย์เสาร์จะบอกว่า ภาวนา พุทโธ ซิ ภาวนา พุทโธ แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น? ท่านจะบอกว่าอย่าถาม พุทโธ แปลว่าอะไร ถามไปทำไม และท่านจะย้ำว่าให้ภาวนา พุทโธๆๆ อย่างเดียว แล้วการภาวนาให้มากๆ ทำให้มากๆ ทำให้ชำนิชำนาญ ในเมื่อตั้งใจจริง ผลที่เกิดขึ้นไม่ต้องถาม ทีนี้เราไปถามว่า ภาวนาพุทโธแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ทั้งๆที่เรายังไม่ต้องลงมาทำ แม้ว่าผู้ทำเห็นผลมาแล้วท่านให้คำตอบลงไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรับเราผู้ถาม เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องถาม ถ้าหากว่าท่านอาจจะไปเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่ง ที่ท่านสอนให้ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าท่านยังมีความลังเลสงสัยในโอวาทของท่านอาจารย์ของท่านอยู่ ท่านจะภาวนาอย่างไร เพียงไร แค่ไหน ท่านจะไม่ได้รับผลสำเร็จ เพราะฉะนั้น ท่านจะไปเรียนกรรมฐานจากสำนักไหนก็ตาม เช่น จะเรียนจากสำนักสัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ หรือกำหนด นาม รูป อะไรก็ตาม ในเมื่อท่านเรียนมาแล้ว ท่านต้องตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านอย่างจริงจัง จะว่าเอาจริง เอาจัง เชื่อกันจริงๆ อย่างสมมติว่า อาจารย์ของท่าน หลังจากสอนบทภาวนาให้แล้ว อาจารย์ของท่านสั่งว่า ให้ท่านไปนั่งสมาธิบริกรรมภาวนา วันละ 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง แต่ละครั้งขอให้ทำได้ครั้งละ 1 ชั่วโมง ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านอาจารย์ท่านได้ จะเป็นอาจารย์ใดก็ตาม ผลย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าท่านมีความรู้สึกว่า เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ทำไปแล้วก็ไม่ได้ผล อย่าทำดีกว่า
    พุทโธ นี้เป็นคำบริกรรมภาวนา ในอนุสสติ 10 ข้อ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ หรืออนุสสติอื่นๆที่มีคำบริกรรมภาวนา ตั้งแต่ข้อ 1 – 8 เรียกว่า ต้องใช้คำบริกรรมภาวนา ตามบทหรือตามแบบในการภาวนาในข้อนั้นๆ การภาวนาอะไรที่นึกคำบริกรรมภาวนาในใจ เมื่อเราทำแล้วจิตจะสงบลงไปได้แค่อุปจารสมาธิ ใครจะภาวนาอย่างไหน แบบใดก็ตาม ในเมื่อนึกบริกรรมภาวนา จิตจะสงบลงไปแค่อุปจารสมาธิ
     
  3. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    3. ขั้นของสมาธิ
    พระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าวางหลักคำสอนเอาไว้ อันเป็นหลักใหญ่ๆก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุบายหรือเป็นหนทางที่พุทธบริษัทจะต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสร้างคุณธรรมคือความดีให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจ จนถึงขนาดที่ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันเป็นองค์อริยมรรค สามารถเกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาเป็นมหาสติด้วยวิธีการต่างๆ วิธีการที่จะพึงปฏิบัตินั้นเราเรียกๆกันโดยทั่วไปว่า สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน หนทางที่จะเข้าไปสู่ความรู้จริงเห็นแจ้งในภาวธรรมทั้งปวงนั้น เราจะหนีจากหลักแห่งการปฏิบัติสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานไปไม่ได้ ได้กล่าวแล้วว่า การศึกษาธรรมะและการเรียนธรรมะเป็นสิ่งที่เราท่านทั้งหลายได้ศึกษามามากพอสมควรแล้ว การฟังธรรมก็คือการฟังเสียงผู้เทศน์ เป็นการฟังสิ่งที่เข้ามาสัมผัสจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภายนอก
    สำหรับผู้ที่เริ่มใหม่ ซึ่งจิตยังไม่เคยมีสมาธิและไม่เคยเกิดภาวะตัวผู้รู้ขึ้นมาในจิต ให้อาศัยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกบ้าง หรือกำหนดบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ตนชำนิชำนาญ เช่น พุทโธ เป็นต้น ให้กำหนดจดจ่อลงที่จิต แล้วเอาจิตนึก พุทโธๆๆ นึกอยู่อย่างนั้น นึกอยู่เฉยๆ อย่าไปทำความรู้สึกว่า เมื่อไรจิตของเราจะสงบ เมื่อไรจิตจะเกิดสว่าง เมื่อไรจิตจะเกิดความรู้ ความเห็นขึ้นมา
    การภาวนาในเบื้องต้นนี้ ไม่ใช่เพื่อจะรู้เพื่อจะเห็นสิ่งอื่น เพื่อให้รู้ให้เห็นสภาพความจริงของจิตของตัวเอง เราจะเริ่มรู้ความเป็นจริงของจิต ตั้งแต่เราเริ่มกำหนดจิตกับบริกรรมภาวนา รู้อย่างไร รู้อยู่ตรงที่ว่าจิตของเรากับบริกรรมภาวนานั้น มีความสัมพันธ์หรืออยู่ด้วยกันหรือไม่ เมือจิตของเรากับบริกรรมภาวนาสัมพันธ์กันอยู่ด้วยกัน มันมีโอกาสที่จะเผลอส่งกระแสไปทางอื่นหรือไม่นี้ให้เรากำหนดดูความจริงของจิตในตอนนี้ ทีนี้ในขณะที่เรานึก พุทโธๆๆ อยู่นั้น ความรู้สึกของจิตนั้นมันมีอะไรบ้างเกิดขึ้น จิตอยู่กับพุทโธไหม หรือว่ามันลืมพุทโธเป็นบางครั้ง บางขณะ ในขณะที่ลืมนั้นจิตมันไปอยู่ทางไหน ไปอยู่กับสิ่งภายนอก ซึ่งเป็นอดีตสัญญา หรือว่านิ่ง ว่างอยู่เฉยๆ ให้เราสังเกตดูความจริงในตอนนี้ ทีนี้ถ้าหากจิตของเราลืม
    พุทโธแล้วมันไปอยู่ในสัญญาอดีตที่เราเคยนึกคิดและจดจำซึ่งเป็นสิ่งอื่น นอกจากพุทโธ แสดงว่า จิตของเราละทิ้งพุทโธแล้วก็ไปยึดเอาอารมณ์เก่าแก่มาเป็นความรู้สึกนึกคิดตามนิสัยเดิม เป็นอาการของจิตฟุ้งซ่าน
    แต่ถ้าหากจิตลืมคำว่า พุทโธ แล้วไปนิ่งอยู่เฉยๆ เมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ผู้ภาวนาอย่าไปนึกถึงพุทโธอีก ให้กำหนดรู้ลงที่จิตเฉยๆอยู่ แต่ในช่วงนี้ถ้าหากลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึกก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่ เอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ จดจ่อดูอยู่อย่างนั้น อย่าไปสร้างความรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นมา และก็ไม่ต้องไปนึก
    ว่า ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว เป็นแต่เพียงรู้ กำหนดจดจ่ออยู่เฉยๆเท่านั้น ความสั้น ความยาว ความละเอียด ความหยาบ ของลมหายใจ เป็นสิ่งที่จิตรู้อยู่ จิตย่อมรู้ความสั้น ความยาว ความหยาบ ความละเอียด ของลมหายใจอยู่ในที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปนึกสำคัญมั่นหมายว่า ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว หรือลมหายใจหายขาดไปแล้ว กำหนดรู้ลงที่จิตตัวรู้จดจ่ออยู่อย่างนั้น
    อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติในเบื้องต้น ในขณะที่ท่านกำหนดจดจ่อดูอยู่ที่ลมหายใจเฉยอยู่ อะไรจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปคำนึงถึงทั้งนั้น ถ้าในช่วงนี้จิตมันเกิดความสว่างขึ้นมา ก็อย่าไปเอะใจ กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว หากเกิดภาพนิมิตต่างๆขึ้นมา ก็อย่าไปเอะใจ กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว หรือจะมีอะไรเกิดขึ้น เป็นอุทานธรรมะ เป็นภาษิตซึ่งเกิดขึ้น เป็นความรู้ เป็นภาษา ก็อย่าไปสำคัญมั่นหมาย อย่าไปเอะใจ กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว ถ้าหากท่านไปเอะใจ หรือเอาใจใส่กับสิ่งนั้น สภาพจิตมันจะเปลี่ยน เมื่อสภาพจิตเปลี่ยนแล้วสมาธิจะถอน สิ่งที่ท่านกำลังกำหนดรู้อยู่นั้นมันจะหายไปทันที อันนี้ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงระมัดระวัง และในเมื่อท่านจดจ่อเอาจิตรู้อยู่ที่จิต และก็รู้อยู่ที่สิ่งที่จิตรู้ ความตั้งใจกำหนดจดจ่ออยู่อย่างนี้ด้วยเจตนา ท่านเรียกว่า วิตก เมื่อจิตกับอารมณ์สิ่งที่กำหนดรู้ มีความสนิทแนบแน่นไม่พรากจากกัน ทรงตัวอยู่อัตโนมัติ โดยที่ท่านไม่ได้ตั้งใจที่จะควบคุม อันนี้เรียกว่า วิจาร
    เมื่อจิตกับอารมณ์ มีความซึบซาบและมีความซาบซึ้งลงไปในดวงจิต ความดูดดื่มมันก็ย่อมเกิดขึ้น ความดูดดื่มของจิตนั้นเรียกว่า ปีติ ปีติเกิดขึ้นทำให้เรารู้สึกกายเบา จิตเบา บางทีทำให้ตัวโยกโคลง บางทีทำให้ตัวขึ้นจะลอย เหมือนกับขึ้นสู่อากาศ บางทีทำให้รู้สึกหนักตัว ซึ่งสุดแล้วแต่อาการของจิต มันจะปรุงจะแต่งขึ้น ให้ท่านกำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว ตอนนี้ปล่อยให้จิตมันเสวยปีติ ในเมื่อจิตมีปีติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตไม่ฟุ้งซ่านไม่กระวนกระวาย จิตก็มีแต่ ความสุข และก็จะดำเนินสู่สมาธิในขั้นละเอียดต่อไปเป็นลำดับ ซึ่งจุดแรกเราจะปรากฏว่า อุปจารสมาธิเกิดขึ้นมีความรู้สึกนิ่งสว่าง แต่ความรู้สึกในสิ่งภายนอกยังรู้สึกอยู่บ้างนิดๆหน่อยๆ หรือปรากฏอย่างละเอียด
    ในเมื่อจิตผ่านขั้นตอนขั้นนี้ไปแล้ว จิตจะมีความสงบแน่วแน่นิ่งลงไปสู่ความเป็นหนึ่งซึ่งเรียกว่า อัปปนาสมาธิ หรือ เอกัคคตา ในตอนนี้จิตของท่านสงบอย่างละเอียด มีแต่สภาวะจิตสงบนิ่งสว่างอยู่อย่างเดียว
    สมาธิในขั้นต้นนี้โดยส่วนมาก ในเมื่อจิตสงบลงไปถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือเอกัคคตาอย่างแท้จริงแล้ว เราจะรู้สึกว่ากายหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆแล้วในตอนนี้ ผู้ภาวนานั้นไม่มีความสามารถที่จะนึกคิดอะไรอย่างอื่นขึ้นภายในจิตได้ เพราะสมาธิในตอนนี้เป็นสมาธิด้วยความเป็นเองอย่างแท้จริง เป็นสมาธิที่หมดความตั้งใจซึ่งเรียกว่าสมาธิ
     
  4. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราหมดความตั้งใจ เป็นสมาธิที่เป็นอัตโนมัติ เป็นสมาธิที่เป็นเอง ผู้ภาวนาจะน้อมจิตไปอย่างไรก็น้อมไม่ได้ จะถอนจิตออกมาก็ถอนไม่ได้ จนกว่าจิตนั้นจะถอนออกมาเอง นี่คือลักษณะจิตที่เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ หรือเอกัคคตาในขั้นต้น
    สมาธิในขั้นนี้ที่ท่านว่ามันเป็นสมถะ ยังไม่สามารถที่จะให้เกิดความรู้ความเห็นในด้านปัญญาหรือวิปัสสนาขึ้นมาได้ ก็เพราะจิตในขั้นนี้เป็นแต่เพียงว่า จิตดำเนินเข้าไปสู่ความเป็นเดิม สภาพเดิมของจิตที่ยังไม่ได้ประสบกับอารมณ์ใดๆ ย่อมมีลักษณะอย่างนี้ จิตอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ปฐมจิต เรียกว่า ปฐมวิญญาณ เรียกว่า มโนธาตุ เป็นเหตุให้ผู้ภาวนาได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตดั้งเดิมของตัวเอง คือจิตที่ไม่มีอะไรนั้น มันมีลักษณะอย่างไร แล้วเราจะรู้ในตอนนี้ และเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิในขั้นนี้ เมื่อมารับรู้อารมณ์ คือ เกิดความคิดขึ้นมาก สภาพจิตหลังจากที่เกิดมีสมาธิแล้วออกมารับรู้อารมณ์นี้ มันมีลักษณะแตกต่างจากจิตที่ยังไม่เคยมีสมาธิอย่างไร อันนี้ผู้ภาวนาเมื่อทำจิตลงไปถึงขั้นนี้แล้วจะรู้ทันที เพราะฉะนั้น การบริกรรมภาวนาหรือกำหนดอารมณ์เพื่อทำให้จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธินั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ภาวนานั้นรู้สภาพความเป็นจริงของจิตดั้งเดิมของตัวเอง แม้ว่าภูมิจิตในขั้นนี้จะยังไม่เกิด ปัญญาญาณรู้ เห็นอะไรก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นฐานสร้างความมั่งคงของจิต เมื่อจิตผ่านการเป็นสมาธิอย่างนี้บ่อยๆเข้า สิ่งที่จะได้เป็นผลพึงตามมาก็คือ ความมี สติสัมปชัญญะ จะค่อยปรากฏขึ้นทีละน้อยๆ
    ในขั้นแรกจิตสงบเพียงครั้งสองครั้ง เมื่อจิตออกจากสมาธิมาขั้นนี้แล้ว มันก็จะถอยพรวดๆๆออกมาโดยไม่กำหนดอะไรเลย ออกมาสู่ความเป็นซึ่งที่เคยเป็นมาตั้งแต่ก่อนที่ยังไม่เคยทำสมาธิ แต่ถ้าจิตผ่านสมาธิแบบนี้บ่อยๆเข้า เมื่อจิตถอนออกมาเกิดความคิด จะเกิดมีตัวสติตามรู้ความคิดขึ้นมาทันที จิตคิดอะไร สติก็จะจ้องตามรู้ ให้ผู้ภาวนารีบฉวยโอกาสในตอนนี้กำหนดจดจ่อความรู้ ความคิดของตนเองไปเรื่อยๆ จิตคิดอะไรขึ้นมาก็รู้ เพียงสักแต่ว่ารู้อย่างเดียว อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ หรืออย่าไปช่วยมันคิดเพิ่มเติม ปล่อยให้จิตคิดไปเองโดยธรรมชาติของมัน หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินี้มีแต่ตั้งใจตามรู้ความคิดนั้นไปเรื่อยๆ ในเมื่อตัวสติ ตัวที่ตามรู้ความคิด จิตเอาความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตเป็นเครื่องรู้ เป็นเครื่องระลึกของสติ สติสัมปชัญญะก็จะค่อยๆดีขึ้น แล้วก็เพิ่มพลังขึ้นเป็นสติพละ จนสามารถเป็นสติวินโย สามารถกลายเป็นมหาสติ เมื่อจิตกลายเป็นมหาสติขึ้นมาได้เมื่อไรสติวินโยจะเป็นผู้นำ คือเป็นผู้ตาม ตามรู้อารมณ์คือ ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต เมื่อจิตมีสติตามรู้ อารมณ์คือ ความคิดทันกันเมื่อไร เมื่อนั้นความคิดซึ่งเราเคยมีอยู่ก่อนนั้น มันก็จะกลายเป็นภูมิปัญญา
    โดยลักษณะที่ว่า จิตตัวผู้รู้ ก็จะปรากฏรู้อยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก และสิ่งที่ออกไปคิด ค้นคว้าในอารมณ์นั้น ก็จะมีอยู่ส่วนหนึ่งอีกต่างหาก มองๆดูแล้วคล้ายกับว่า เราคนเดียวมีจิต
    2 จิต มีใจ 2 ใจ แต่แท้ที่จริงมันก็เป็นใจเดียวกันนั้นแหละ แต่ใจหนึ่งจิตหนึ่งมันสงบนิ่งเป็นตัวผู้รู้ เพราะอาศัยพลังของสติ ประคับประคองเอาไว้ให้อยู่ในสภาพปกติ แต่อีกอันหนึ่งนั้น กระแสแห่งผู้รู้มันออกไปรับรู้อารมณ์ ในเมื่อรู้ขึ้นมาแล้ว จิตมีสติ อาศัยสติเป็นพละ เป็นกำลัง จึงไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองปรุงขึ้นมา ในเมื่อจิตปรุงความรู้ขึ้นมาโดยไม่มีความยึดถือ อาการของกิเลสมันก็ไม่มี มีแต่รู้เฉยอยู่ อะไรรู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป รู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป
    ในเมื่อจิตมันละเอียดลงไป สติอันนี้มันละเอียดลงไปรู้ทันมันอย่างละเอียดลงไป โดยไม่ขาดสาย สายสัมพันธ์แห่งสติมันเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา ความรู้ความคิดที่เกิดขึ้นในจิตนั้น มันจึงกลายเป็นตัวปัญญา ที่ว่ารู้ธรรมเห็นธรรม รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม ในขั้น วิปัสสนากรรมฐาน นั้นก็หมายถึง รู้ทันความคิดที่เราเคยคิดอยู่แต่ก่อนที่ยังไม่ภาวนา หรือภาวนาไม่เป็น
    เมื่อเราภาวนาเป็นแล้ว มีสติ มีสมาธิดี เรียกว่ามี พละ 5 พร้อมที่จิตมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พร้อมมี ศีล สมาธิ ปัญญา รวมพร้อมกันเป็นหนึ่ง ตัวที่ปรากฏเด่นชัดให้เรามองเห็นก็คือความมีสติ ความรู้เท่าทันอารมณ์นั้นๆ ทีนี้ความคิดที่เคยทำให้เราวุ่นวายเดือดร้อนอยู่นั้นแหละ มันจะกลายมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตกับสติประกอบพลังเป็นอันเดียวแล้ว รู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ มันก็กลายเป็นตัวปัญญา เกิดมาเป็นตัววิปัสสนา มาด้วยประการฉะนี้
    ต่อไปนี้ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดจิต กำหนดรู้ลงที่จิต พยายามจดจ่อลงที่ตัวผู้รู้ หรือผู้ที่ยังภาวนาไม่เป็น ก็กำหนดบริกรรมภาวนาตามที่ตนเคยชำนิชำนาญมาแล้ว ผู้ที่เคยมีสมาธิมาแล้วและทำสมาธิได้เร็ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปบริกรรมภาวนาอีก กำหนดรู้ลงที่จิตเท่านั้น จ้องรู้ลงที่จิตผู้รู้ คอยจดจ่อว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นภายในจิต ในเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นภายจิต จิตมันจะตามรู้ ในขั้นแรกเราจะกำหนดจดจ่อด้วยความตั้งใจ ให้มันตามรู้ แต่เมื่อมันรู้ทันกันจริงๆแล้ว ต่อไปเราไม่ต้องไปกำหนดตามรู้ให้มันลำบาก จิตกับสติเป็นของคู่กัน และจะกำหนดตามรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตเองโดยอัตโนมัติ
    ในตอนนี้เรียกว่า ปัญญาภูมิ ขั้นแห่งวิปัสสนาในภาคปฏิบัติ เกิดขึ้นเองในขั้นอัตโนมัติ คือมันเกิดเป็นความรู้ขั้นมานั่นเอง แต่ความรู้ในขั้นนี้มันก็ยังเป็นภาคปฏิบัติ ในขั้นวิปัสสนา ยังไม่ใช่ตัววิปัสสนาอย่างแท้จริง ในเมื่อจิตกำหนดตามรู้สิ่งที่รู้เรื่อยไป เมื่อจิตรู้ซึ้งในสิ่งที่รู้นั้น บางทีมันอาจจะรู้ซึ้งลงไปว่า ความคิดอ่านทั้งหลายเหล่านี้ มันก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
    พระอรหันต์เช่นอย่างท่าน พระอัญญาโกณฑัญญะ ฟังพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม เห็นว่าอย่างไร เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นธรรมชาติของความรู้แจ้งเห็นจริงภายในจิต ย่อมมีลักษณะ
     
  5. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    อย่างนี้ ใครจะรู้ เห็นมากมายสักปานใดก็ตาม มันก็รวมไปสู่ความว่า ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา ความเห็นความรู้ในขั้นสุดยอด มันมีเพียงแค่นี้ ใครจะเทศน์อย่างไร อธิบายอย่างไร พิจารณาไปอย่างไร ในเมื่อจิตมันรู้แจ้งเห็นจริง มันก็มีแต่ ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ อย่างเดียวเท่านั้น เพราะความรู้อันนี้มันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ อยู่เหนือโลก เป็นความรู้ขั้นโลกุตตรธรรม
    4. เรื่องของสมาธิ
    บางที บางท่านบริกรรมภาวนา จิตอาจจะไม่สงบเป็นอัปปนาสมาธิสักที เพียงแต่สงบลงไปเป็นอุปจารสมาธิ คือ มีอาการเคลิ้มๆลงไป แล้วก็สว่าง จิตยังมีความรู้สึกสัมพันธ์กับร่างกายอยู่ แล้วก็มีความมุ่งหมายที่จะทำจิตให้ไปถึงอัปปนาสมาธิ ชนิดที่เรียกว่าสงบนิ่งลงไปแล้ว ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏรู้สึก ทั้งๆที่ทำไม่ได้ก็พยายามทำอยู่อย่างนั้น เพราะไปหลงเชื่อว่า “ต้องทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ” ถ้าหากท่านผู้ใดปฏิบัติแล้ว มีภูมิจิตเกิดขึ้นมีลักษณะดังที่ว่า ก็ไม่ต้องไปมุ่งหมายที่จะเอาอัปปนาสมาธิ พอทำจิตให้สงบเป็นอุปจารสมาธิบ่อยๆ พอที่จะประคับประคองจิตให้น้อมสู่การพิจารณาแนวทางพระไตรลักษณ์ คือพิจารณากายและความรู้สึก น้อมไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็รีบกำหนดพิจารณาทันที ไม่ต้องคอยจิตสงบเป็นอัปปนาสมาธิ ปฏิบัติไปทำนองนี้ ก็ย่อมจะเกิดผลแก่ผู้ปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าหากต่างว่าเราจะคอยให้จิตสงบเป็นอัปปนาสมาธิเสียก่อน เข้าฌาณให้มันได้ชำนิชำนาญก่อน แล้วจึงไปพิจารณาพระไตรลักษณ์ หรือยกจิตขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา ถ้าเผื่อว่าชั่วชีวิตนี้ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราจะมิตายเปล่าหรือ การทำจิตให้นิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ หรือเข้าฌานได้อย่างชำนิชำนาญนั้น ผลประโยชน์ของการชำนาญในการเข้าฌาณ ชำนาญในการทำสมาธิ ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ แต่เหตุผลนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะท่านอาจารย์เทสก์ ท่านว่า จิตที่เป็นสมาธิอยู่ในฌาณนั้น เป็นสมาธิที่โง่ เพาะจิตที่เข้าฌานนั้น จะต้องเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น อาการที่ว่าความรู้ ภูมิจิต ภูมิธรรมก็ไม่เกิดขึ้น ครูบาอาจารย์ท่านก็ยืนยันว่า สมาธิในฌาณ เป็นสมาธิที่โง่ แม้แต่โดยหลัก ท่านก็ยืนยันไว้ว่า ถ้าจิตไปติดอยู่ในความสงบ ในฌาณ คือ ขั้นสมถะเท่านั้น อย่างดีก็ให้เกิดอภิญญาสามารถที่จะทำฤทธิ์ต่างๆได้ สามารถที่จะรู้ในคนอื่น สามารถที่จะรู้สิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เหตุผลที่จะพึงทำให้หมดกิเลสนั้นยังไม่มี ผู้สำเร็จฌานแล้วจะต้องมาเวียนว่ายตายเกิด เพราะจิตไม่มีปัญญา ลักษณะการรู้จริงเห็นจริงที่เรียกว่า อภิญญา รู้ใจคนอื่น รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า รู้เรื่องในอดีตที่ล่วงมาแล้วนานๆ ในลักษณะอย่างนี้ ไม่ได้จัดเข้าอยู่ในลักษณะปัญญาที่จะเอา
    ตัวรอดได้จากอำนาจของกิเลส เพราะฉะนั้น สมาธิในฌานจึงเป็นสมาธิที่ไม่สามารถจะทำผู้ปฏิบัติให้สำเร็จ มรรค ผล นิพพานได้ ถึงจะมีบ้าง ก็มีจำนวนน้อย แต่สมาธิที่อยู่ในอริยมรรค คือ จิตสงบประชุมลงพร้อมที่ หรืออริยมรรคประชุมพร้อมที่จิตนั้น สามารถทำจิตให้มั่นคงและดำรงอยู่ในความเป็นกลาง เมื่อจิตมีอริยมรรค เป็นเจตสิกประคับประคองอยู่ที่จิต จิตอยู่ที่อริยมรรค อริยมรรคอยู่ที่จิต แม้จะอยู่ในลักษณะสมาธิขั้นอ่อนๆ จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันเหตุการณ์ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ รู้แล้วไม่ยึดถือปล่อยวางไป อาการที่จะเสวยอารมณ์ในขณะที่รู้เห็นอะไรขึ้นมานั้นไม่มี คือ จิตไม่มีอาการซึมซาบเข้าไปในสิ่งที่รู้นั้น เพราะไม่มีความยึด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะสิ่งที่รู้เห็นขึ้นมานั้นเป็นภูมิปัญญาของจิตซึ่งถูกอริยมรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญาประชุมพร้อมกันลงแล้ว สามารถปฏิบัติภูมิจิตไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมขึ้นสูงไปเป็นลำดับ ซึ่งจิตมีลักษณะอย่างนี้ ในขั้นต้นจะรู้อะไรก็ตาม สมมติเรียกว่า ธรรม ก็แล้วกัน อารมณ์ก็คือธรรม ธรรมก็คืออารมณ์
    ในเมื่อรู้อะไรขึ้นมาแล้ว ในตอนต้นๆยังจะมีสมมติบัญญัติเรียกว่าอะไรอยู่ ในตอนนี้เป็นภูมิความรู้ของจิตซึ่งอยู่ในลักษณะ ในขั้นของอุปจารสมาธิอ่อนๆ ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ ในขณะที่จิตสงบลงไปแล้ว ความรู้สึกภายนอกก็ยังมีอยู่ แต่จิตอยู่ในลักษณะแห่งความสงบ แล้วก็มีภูมิจิตภูมิธรรมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในบางครั้งยังพูดอยู่ หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม ลักษณะความสงบของจิตมันมีอยู่ ภูมิรู้สิ่งต่างๆก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าสามารถที่จะพูดจะคุย สามารถที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ในขณะนั้น อันนี้เรียกว่า เป็นภูมิจิตที่มีอริยมรรคประชุมพร้อมลงที่จิต ถ้าหากในขณะที่ท่านผู้ปฏิบัติที่มีภูมิจิตลักษณะอย่างนั้น เมื่อทำสมาธิให้สงบละเอียดลงไป คือ ทำในขณะที่ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น นั่งสมาธิอยู่ในห้องพระคนเดียว เป็นต้น เมื่อจิตสงบลงไปอย่างละเอียดแล้ว เมื่อเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาภายในจิตนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะประกฎการณ์มีลักษณะว่าจิตสงบนิ่ง เด่นสว่างไสว และสิ่งที่ให้รู้มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ความรู้ในขั้นละเอียดนั้น ไม่มีอะไรจะไปมีความสำคัญมั่นหมาย สมมติบัญญัติเรียกชื่อสิ่งนั้นว่าอะไร อันนี้เป็นธรรมชาติของภูมิจิต ภูมิธรรมที่เกิดขึ้นในระดับสูง ในระดับละเอียด ซึ่งอยู่เหนือสมมติบัญญัติ ซึ่งเราเรียกว่า สัจจธรรม เกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ ตัวจริงของท่านผู้นั้นก็เป็นสัจจธรรม ความรู้ของจริงที่เกิดขึ้นก็เป็นสัจจธรรม
    เพราะฉะนั้น สัจจธรรม กับ สัจจธรรม ในเมื่อมาบรรจบกันเข้าจึงเรียกชื่อกันไม่ถูก มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นดับไปๆๆอยู่อย่างนั้น ไปตรงกับคำในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ทำไมจึงเรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ดำรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เป็นเพราะเหตุว่า จะไปบัญญัติชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไรก็บัญญัติไม่ถูกทั้งนั้น เพราะในขณะที่รู้ของจริงนั้น มีแต่เพียงสิ่งใด
     
  6. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    สิ่งหนึ่งเท่านั้น มันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ อะไรที่เราสมมติบัญญัติได้อยู่ สิ่งนั้นไม่ใช่สัจจธรรม นั่นมันเป็นเพียงสมมติ ความรู้จริงเห็นจริงมันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ นี่ขอให้ทุกท่านจงสังเกตดูตรงนี้ให้ดี ถ้าหากว่ามีภูมิจิตภูมิธรรมปรากฏขึ้นแล้ว ให้สังเกตดูให้ดี ความรู้ธรรมะในขั้นละเอียดของจิตนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏการณ์ให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งที่เราจะไปสมมติบัญญัติ จิตก็นิ่ง เด่น อยู่เฉยๆภูมิความรู้ก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ
    ทีนี้มีปัญหาว่าภูมิความรู้ อันนั้นมาจากไหน? มาจากจิต จิตที่มีปัญญาอันละเอียดเฉียบแหลม สามารถปรุงความรู้ขึ้นมา ความรู้อันนั้นคือปัญญาที่เกิดขึ้นกับจิต ตัวที่นิ่งเด่นอยู่นั้นคือ ตัวพุทธะผู้รู้เท่าเอาทันจึงไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้อะไรก็เฉย รู้อะไรขึ้นมาก็เฉย เพราะมันเป็นภูมิปัญญาของจิตที่ฝึกฝนอบรมดีแล้ว จิตจึงไม่หวั่นไหว จิตจึงไม่ติดสิ่งเหล่านั้น ในขณะนั้นเป็นจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน จิตจึงมีปรากฏการณ์อย่างนั้น ถ้าจิตท่านผู้ใดเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกาลไม่กลับกลอก ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ นี่พึงสังเกตและทำความเข้าใจอย่างนี้ ถ้าหากเราทำอย่างนี้ได้บ่อยๆ แม้ว่าเราออกจากการนั่งปฏิบัตินั่งสมาธิหลับตามา มามองดูโลกและเข้าสู่สังคม ในเมื่อเราประสบอารมณ์ต่างๆในสังคมที่เราจะต้องกระทบกระเทือน หรือรับผิดชอบอยู่นั้น ความรู้สึกของเราจะเพียงว่า สักว่าแต่ คือ พูดก็สักว่าแต่พูด คิดสักว่าแต่คิด ทำสักว่าแต่ทำ อันนี้คือสมาธิในภูมิธรรมในอริยมรรค แม้ออกมาจากการนั่งหลับตาสมาธิแล้ว สมาธิก็ยังมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา คือ ตัวสติที่มีกำลังกล้าและเข้มแข็งอยู่นั่นเอง จึงดูคล้ายกับว่าจิตมีความสงบอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่สงบก็ปรากฏอยู่ ส่วนที่ออกมาบงการทำงานก็มีปรากฏอยู่ นี่คือสมาธิตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ทำสมาธิเป็นแล้ว มีภูมิจิตภูมิธรรมสามารถรู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว เราสามารถเอาภูมิธรรม ภูมิจิตมาประกอบประโยชน์ตามวิถีทางของชาวโลก ตามวิถีทางการครองบ้านครองเรือนได้อย่างสบาย ถ้าสมาธิอันใดบำเพ็ญดีแล้ว ปฏิบัติได้ดีแล้ว คือว่าอยู่ในขั้นดีตามความนิยมของผู้ปฏิบัติ มูมิสมาธิสงบดี มีภูมิธรรมสงบขึ้น เกิดเบื่อหน่ายต่อครอบครัว เกิดเบื่อหน่ายต่อโลก ไม่เอาไหน ไม่อยากจะเข้าสู่สังคม ไม่อยากจะทำประโยชน์ต่อใครๆ อยากจะปลีกตัวหนีไปสู่ป่าคนเดียว ทำนองนี้ สมาธิอันนั้นอย่าเพิ่งไปเชื่อ ให้พิจารณามันให้รอบคอบ
    ถ้าหากพระพุทธเจ้า สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้ามีสมาธิ มีพระสติปัญญาดี เมื่อสำเร็จแล้วเกิดความเบื่อหน่ายต่อโลก ไม่อยากอยู่กับโลก ไม่อยากโปรดสัตว์โลก แต่พระองค์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วในบางตอนต้นๆแรกๆนั้น มาพิจารณาว่าธรรมะที่ตรัสรู้นี้ มันเป็นของละเอียด สุขุม ยากที่เวไนยสัตว์พึงรู้ตามเห็นตามได้ บางครั้งก็รู้สึกท้อแท้ในพระทัยไม่อยากจะแสดง กลัวจะไม่มีผู้รู้ธรรม หรือรู้ตาม จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่า มีท้าวมหาพรหมลงมาอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงธรรม ความจริงท้าวมหาพรหมที่มาอาราธนานั้น ก็คือ พรหมวิหารที่อยู่ในพระทัยของพระองค์นั่นแหละ มากระตุ้นเตือนให้พระองค์รู้สึก
    สำนึก ในจารีตประเพณีของผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้าต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อบรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพระองค์ตัดสินพระทัย แสดงพระธรรมเทศนาแก่เวไนยสัตว์ คุณธรรมนั้นจึงได้ชื่อว่า พระมหากรุณาธิคุณ เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ข้อหนึ่งในบรรดาพระคุณทั้งสามประการ แล้วพระองค์ก็ทรงทำประโยชน์แก่โลกอย่างกว้างขวาง จนสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในชมพูทวีปได้ แผ่ขยายกว้างขวางมาสู่เมืองไทยเรา เราได้รับเป็นศาสนทายาทประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะความที่พระพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มิได้เบื่อหน่ายต่อการที่จะทำประโยชน์แก่โลกนั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้มีภูมิจิต ภูมิธรรม หรือมีความรู้แจ้งเห็นจริง ในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็นจึงไม่มีทางที่จะเบื่อหน่ายต่อโลก แต่ไม่ยึดถือโลกด้วยอำนาจของกิเลส จะมีก็มีแต่ความเมตตา มีความหวังดี อันนี้คือ วิถีจิตของผู้ปฏิบัติจะต้องเป็นอย่างนั้น
    ถ้าจะพูดให้ชัดๆลงไป สมมติว่าพ่อบ้าน นั่งสมาธิภาวนาเป็นผู้มีภูมิจิต ภูมิธรรม เบื่อหน่ายครอบครัว อยากจะหนีจากครอบครัว อันนั้นก็ยังไม่ถูกต้อง แม่บ้าน ภาวนาเป็นแล้ว มีภูมิจิต ภูมิธรรม เกิดเบื่อหน่ายต่อการที่จะทำกับข้าวกับปลา หุงข้าว หุงปลา ให้ครอบครัวรับประทาน อันนั้นก็ไม่ชอบด้วยเหตุผล ในเมื่อทำเป็น ภาวนาเป็น รู้ธรรม เห็นธรรม มีภูมิจิต ภูมิธรรมดี จะต้องมีความรู้สำนึกในหน้าที่ ที่ตนจะต้องรับผิดชอบเป็นกิจวัตรประจำวันดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นางกุลธิดา ซึ่งเป็นลูกสาวเศรษฐี และก็เป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก บังเอิญเพราะผลกรรมบันดาล ได้ไปเป็นภรรยาของนายพรานผู้จับสัตว์ป่ามาขายท้องตลาด ทั้งๆที่ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เวลาสามีของท่านจะเข้าป่าไปจับสัตว์ ท่านก็เตรียมเสบียงอาหารให้ เตรียมเครื่องมือให้ แต่ภายในจิตของท่านไม่ได้นึกว่าให้เขาไปจับสัตว์ให้ได้มามากๆ จนกระทั่งมีพระสังฆาจารย์ ตั้งเป็นปัญหาขึ้นมาว่า การที่พระโสดาบันกระทำเช่นนั้น จะไม่ผิดคุณธรรมของพระโสดาบันหรือ? พระอรรถกถาจารย์ก็แก้ว่า ไม่ผิด เพราะท่านปฏิบัติตามหน้าที่ของความเป็นภรรยาที่ดี อันนี้เป็นคติตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ผู้ใดสำเร็จคุณธรรม แม้จะได้ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติตน หรือมีภูมิจิตภูมิธรรมตามสมควรก็ตาม คือได้เป็นอริยบุคคลอย่างที่ไม่มีใครรู้ก็ตาม ย่อมจะมีความฉลาดในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบอยู่เป็นอย่างดี จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในเมื่อจิตตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ และก็มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องประคับประคองจิต จิตย่อมดำเนินไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรมที่ถูกต้องจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ด้วยประการฉะนี้
    ต่อนี้ไป ขอได้โปรดทำความสงบจิตพิจารณาธรรมที่ตนเคยรู้เคยเรียนมาแล้ว การพิจารณาธรรมนั้น สิ่งใดที่เราพิจารณาแล้วทำให้เราเกิดผล เกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา ก็ได้พิจารณาอันนั้น ซ้ำๆซากๆบ่อยๆ ย้ำอยู่ที่ของเก่านั่นแหละ อย่าไปเปลี่ยน เพื่อทำให้ชำนิชำนาญ เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วภูมิจิต ภูมิธรรม มันจะค่อยๆขยายวงกว้างออกไปเป็น
     
  7. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    ลำดับๆ ถ้าจับโน่นวางนี่ไม่เป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว จิตของเราก็จะกลายเป็นจิตที่ไม่ยึดหลัก หรือวิหารธรรมเครื่องอยู่ไม่แน่นอน การปฏิบัติก็จะไม่ประสบผลเท่าที่ควร “เพราะฉะนั้นใครยึดหลักอะไรปฏิบัติก็ยึดให้มั่นคงลงไป” เราจะพิจารณาหลายๆอย่าง ในเมื่อความรู้ความเห็นเกิดขึ้นก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนั่นแหละ อยู่ในลักษณะแห่งความรู้เห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา อันเดียวกันนั่นแหละ เอาสิ่งๆเดียวเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บ่อยๆเข้าเมื่อจิตมันรู้ซึ้งเห็นจริงอย่างเดียวเท่านั้น มันก็ถอนอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่นไปเอง กิเลสตัณหามันก็ค่อยหมดไปเอง เพราะฉะนั้น จึงยึดหลักให้มั่นคง คือว่าเราสามารถจะทำได้ทุกอิริยาบถ หลับตาก็ทำได้ ลืมตาก็ทำได้ นอนทำก็ได้ ถ้าเราไม่นึกอะไร บริกรรมภาวนาในใจ เราก็กำหนดไว้ที่ใจ รู้อะไรแล้วก็ตามรู้ให้มันทันความคิด คิดอะไรขึ้นมารู้ทัน รู้ให้ทัน เราทำอะไร ให้มันทันการกระทำของเรา พูดอะไรให้ทันตามคำพูดของเรา ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา อนนี้เป็นการทำสมาธิ ไม่ต้องบริกรรมภาวนาอะไรก็ได้ สำคัญอยู่ที่การทำสติ เช่น อย่างท่านสอนว่า นั่งหนอ กินหนอ เดินหนอ ยกหนอ ฯลฯ อันนี้คือการทำสติ เป็นการปฏิบัติสมาธิ อย่าเอาไปเถียงกัน นั่นคือ การทำสติ ไปได้ในหลักมหาสติปัฏฐานที่ว่า ก้าวไปก็รู้ ถอยกลับก็รู้ คู้เหยียดก็รู้ แล้วก็นึกคิดอะไรก็รู้ รู้อยู่ตลอดเวลา มันก็เหมือนกันนั่นแหละ อย่าไปเถียงกัน การปฏิบัติถ้ามัวไปเถียงกัน นักปฏิบัติในศาสนาพุทธแทนที่จะช่วยกันทำความเจริญแล้วก็ไปทะเลาะกัน เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันอะไรทำนองนี้ อันนั้นมันเป็นวิธีการ แต่ผลที่มันเกิดขึ้นภายใน เราจะรู้จริงเห็นจริงเหมือนกันหมด
    ลักษณะสังเกตการทำสมาธิ ถ้าหากเราทำสมาธิที่ถูกต้อง ภูมิจิตที่มันเป็นสมาธิที่ถูกต้องนั้น จะมีลักษณะบ่งบอกว่า สมาธิจะต้องทำกายให้เบา ทำจิตให้เบา เบาจนกระทั่งบางครั้งเรารู้สึกว่าไม่มีกาย นี้ลักษณะของสมาธิที่ถูกต้อง แล้วเมื่อเลิกปฏิบัติ คือออกจากสมาธิแล้ว ก็ทำให้กายเบาตลอดเวลา แม้แต่จะลุกจากที่นั่งนี้ อาการเหน็บชา หรืออะไรต่างๆจะไม่ปรากฏ พอจิตออกจากสมาธิลืมตาโพลง ก็ลุกขึ้นเดินไปได้เลย ไม่ต้องดัดแข้ง ดัดขา อันนี้คือสมาธิที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง
    ทีนี้สมาธิบางอย่าง พอลืมตาขึ้นออกจากที่นั่งปฏิบัติแล้ว บางท่านถึงกับนอนให้คนอื่นนวดเส้นนวดเอ็นก่อน อันนี้ไม่ถูกต้องแน่ สมาธิอย่างนี้คล้ายกับมีอำนาจอะไรอย่างหนึ่งบ้าง จะเรียกว่าอำนาจสะกดจิตก็ได้ คือการสะกดจิตนี้นมีอยู่หลายอย่าง สะกดด้วยอำนาจคาถาอาคมบริกรรมภาวนาก็มี อย่างคนที่ปลุกพระนี้ พอเอาพระใส่มือแล้วก็ภาวนา นะมะพะธะๆๆ เดี๋ยวก็สั่นขึ้นๆๆ นั่นถูกอำนาจสะกดจิตแล้ว อำนาจอะไร อำนาจคาถาบริกรรมภาวนา คาถาในทางไสยศาสตร์บางอย่างบริกรรมภาวนาแล้วจะทำให้เกิดปีติอย่างแรง อาการสั่นนั้นคือ อาการปีติ ทีนี้ปีติมันเกิดขึ้นอย่างแรงไม่มีขอบเขต ก็มีอำนาจบังคับจิตของเรา บางที
    บังคับจิตของเราให้ไปดูโน่นดูนี่ อะไรในที่ต่างๆในทำนองนั้น ถ้าใครทำได้ก็ดีอยู่หรอก อย่าไปหลง ให้มันรู้เท่า
    5. ปรากฏการในขณะทำสมาธิ
    ถ้าหากท่านจะบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ ก็ให้ตั้งจิตอธิษฐานภายในใจของตัวเองว่า บัดนี้ ฉันจะทำสมาธิภาวนา เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เพื่อจะให้รู้แจ้งแทงตลอดสภาวธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็นึกในใจของตัวเองว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ , พุทโธ ธัมโม สังโฆ , พุทโธ ธัมโม สังโฆ , แล้วก็น้อมใจเชื่อลงไปว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ แล้วกำหนดลงที่ใจอย่างเดียวเท่านั้น นึกบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ อยู่อย่างนั้น จนกว่าจิตจะมีอาการสงบลงไป ให้พึงสังเกตจิตของตัวเองให้ดี ถ้าจิตมีอาการเคลิ้มๆลงไป คล้ายกับจะง่วงนอน พึงให้รู้เถอะว่า จิตของเรากำลังจะเริ่มสงบแล้ว เพราะจิตที่จะสงบในเบื้องต้นนั้น ถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ อาการนอนหลับ เพราะจิตเมื่อจะสงบก็มีอาการเคลิ้มๆแล้วก็วูบลงไป พอวูบลงไป ก็หยุดวูบ แล้วจิตจะนิ่ง ในเมื่อจิตนิ่งแล้ว ถ้าหากจิตจะนอนหลับ มันก็หลับมืดไปเลย ถ้าหากว่าจิตจะเป็นสมาธิ พอวูบลงไปนิ่งแล้ว จิตก็จะมีอาการสว่างขึ้นมา
    ซึ่งทั้งนี้ มิใช่ว่าจะเป็นในลักษณะอย่างเดียวกันทั้งหมด บางท่านก็รู้สึกว่ามีกายเบา จิตก็เบา แล้วจิตก็ก้าวเข้าไปสู่ความสงบทีละน้อยๆ ไม่มีอาการวูบวาบ จนกระทั่งจิตสงบแน่นิ่งไปจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ แต่ส่วนมากในช่วงนี้ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องบริกรรมภาวนานั้น เมื่อจิตมีอาการเคลิ้มๆสงบลงไป มีอาการสว่างขึ้นแล้ว คำบริกรรมภาวนาที่นึกอยู่นั้นจะหายไป ในเมื่อคำบริกรรมภาวนาหายไปแล้ว เราก็ไม่ต้องไปนึกถึงคำบริกรรมภาวนาอีก ในตอนนี้ให้ผู้ปฏิบัติ กำหนดรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ถ้าหากจิตมีอาการสงบนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ ก็กำหนดรู้ลงที่นั้นอย่างเดียว แต่ถ้าหากช่วงนั้น ถ้าลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึก ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจ เพียงแต่รู้เท่านั้น อย่าไปนึกคิดอะไรทั้งนั้น ลมหายใจสั้นก็ไม่ต้องว่า ลมหายใจยาวก็ไม่ต้องว่า ลมออกสั้นก็ไม่ต้องว่า ลมออกยาวก็ไม่ต้องว่า ลมเข้าสั้นก็ไม่ต้องว่า ลมเข้ายาวก็ไม่ต้องว่า เป็นแต่เพียงกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ โดยธรรมชาติแล้ว อย่าไปแต่งลมหายใจเป็นอันขาด ในช่วงนี้เพียงแต่กำหนดรู้อยู่เท่านั้น ถ้าหากว่า เรากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ ถ้า
    หากลมหายใจแสดงไปในอาการต่างๆเช่น ลมหายใจอาจจะแสดงอาการหายใจแรงขึ้น หรือหายใจแผ่วเบาลงไป หรือบางครั้งอาจจะมองเห็นลมหายใจสว่างเหมือนกับปุยนุ่น ก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว รวมความว่าอะไรเกิดขึ้น ลงไปภายในความรู้สึก ก็เพียงแต่กำหนดรู้เฉยอยู่ อย่าไปทำความเอะใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ถ้าเราไปทำความเอะใจ หรือไปทักท้วงสิ่งที่
     
  8. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เกิดขึ้น จิตจะถอนจากสมาธิทันที เพราะฉะนั้นให้กำหนดรู้อยู่เฉยๆ ในเมื่อจิตมีสิ่งที่รู้คือ ลมหายใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา ตัวสติสัมปชัญญะจะต้องมีกำลังกล้าขึ้น สามารถควบคุมจิตให้อยู่ในสภาพสงบโดยอัตโนมัตินี้ ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจอย่างนี้ และถ้าหากจิตของผู้ภาวนานั้นไม่วิ่งเข้าไปยึดลมหายใจ ก็ย่อมจะส่งกระแสออกไปข้างนอก ในช่วงที่จิตมีความสงบสว่างอยู่นั้น แล้วภาพนิมิตต่างๆจะปรากฏขึ้น จะเป็นภาพอะไรก็ตาม เมื่อภาพต่างๆปรากฏขึ้นแล้ว ก็ให้กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น อย่าไปทำความเอะใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอก
    ถ้าหากเราสามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในความสงบปกติ โดยไม่ไปเอะใจอยู่กับสิ่งทีเกิดขึ้นนั้น จิตก็จะสงบนิ่งเป็นสมาธิอยู่ตลอดไป ถ้าหากเกิดเอะใจขึ้นมาเมื่อไรแล้ว สมาธิก็จะถอน ภาพนิมิตนั้นก็จะหายไป ในตอนนี้มีความสำคัญมากสำหรับนักปฏิบัติ ถ้าหากเรามีความรู้สึกว่า ภาพนิมิตต่างๆเป็นสิ่งอื่นมาแสดงให้เรารู้ เราเห็น บางทีเราอาจจะเข้าใจผิด เช่น อย่างเห็นภาพผีเปรต หรือเทวดา เป็นต้น บางท่านอาจจะคิดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเขามาขอส่วนบุญเรา แล้วเราก็ไปนึกแผ่ส่วนบุญกุศลให้เขา ในเมื่อนึกขึ้นมาอย่างนั้นจิตก็ถอนจากสมาธิ ภาพนิมิตทั้งหลายนั้นก็หายไป อันนี้ไม่ค่อยร้ายแรงเท่าไรนัก แต่ถ้าหากบางท่าน อาจจะมีความรู้สึก หรือมีความเห็นนอกเหนือไปกว่านี้ โดยสำคัญว่าภาพนิมิตทั้งหลายเหล่านั้น เป็นสิ่งที่เข้ามาเพื่อจะดลบันดาลจิตใจของเราให้เกิดความสงบ ให้เกิดความรู้ แล้วบางทีเราอาจจะเผลอๆน้อมรับเอาสิ่งนั้น เข้ามาสิงสู่อยู่ในตัวของเรา แล้วสภาพจิตของเราจะกลายเป็นในลักษณะที่ว่า สภาพผีสิง นี้ถ้าหากเราไปสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตนเป็นตัวขึ้นมาก หรือเป็นสิ่งอื่นขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไปมองเห็นภาพนิมิตของผู้ที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้วิเศษ มาปรากฏกายให้เรามองเห็นแล้ว เราอาจจะน้อมเอาภาพนิมิตนั้นให้เข้ามาสู่ตัวของเรา หรือสู่จิตใจเรา เพราะความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่มองเห็นนั้นเป็นสิ่งที่มาจากที่อื่น ในเมื่อเราน้อมเข้ามาแล้ว จะมีอาการคล้ายๆกับว่า มีสิ่งเข้ามาทรงอยู่ในจิต หลังจากนั้นเราก็จะกลายเป็นคนทรงไป อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะระมัดระวังให้มากๆ การภาวนาหรือการทำจิตนี้เราไม่ได้มุ่งให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วยดลบันดาลให้เราเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เราต้องการจะทำให้จิตมีความสงบนิ่งเป็นสมาธิ โดยความเป็นอิสระของจิตเอง ถ้าหากจิตจะเกิดความรู้ ความเห็นอะไรขึ้นมา ก็เป็นสมรรถภาพของจิตเอง ไม่ใช่สิ่งอื่นบันดาล เพราะฉะนั้น ขอให้นักศึกษาธรรมะและนักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจ ในเรื่องนิมิตต่างๆ ถ้าหากว่า ท่านไม่ไปเอะใจ หรือไม่ไปสำคัญว่านิมิตต่างๆซึ่งไปปรากฏขึ้นนั้น เป็นสิ่งอื่นมาดลบันดาลให้เรารู้ เราเห็น ทำความรู้สึกว่าภาพนิมิตนั้น เกิดขึ้นจากจิตของเรา จิตของเรานั้นแหละเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมา เพราะเรามีความสำคัญว่า เราอยากรู้ อยากเห็น ในเมื่อเราอยากรู้ อยากเห็น พอจิตสงบเคลิ้มลงไปอยู่ในระดับแห่งอุปจารสมาธิ ในตอนนี้จิตของเราจะฝันดีนัก ถ้าหากเรานึกถึงอะไรแล้วจะเกิดเป็น
    ภาพนิมิตขึ้นมา ถ้าหากเราสามารถกำหนดจดจ่อรู้ลงที่จิตอย่างเดียว โดยไม่สำคัญมั่นหมายในนิมิตนั้นๆ ภาพนิมิตจะเป็นอุปกรณ์การปฏิบัติของท่านผู้มีสติปัญญา โดยกำหนดรู้อยู่ที่จิต แล้วภาพนิมิตที่มองเห็นนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถ้าจิตของท่านผู้ปฏิบัตินั้น มีสมาธิมั่นคงพอสมควรก็จะสามารถกำหนดเอานิมิตเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายแห่งความรู้ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ บางทีภาพนิมิตนั้นอาจจะแสดงเรื่องอสุภกรรมฐาน หรือธาตุกรรมฐาน ให้เรารู้เราเห็นก็ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะสามารถทำสติสัมปชัญญะของเราดีขึ้น แล้วเมื่อสติสัมปชัญญะของเราดีขึ้นแล้ว จิตก็จะสงบ รวมตัวสู่ความเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อัปปนาสมาธิ
    เรื่องปัญหา อัปปนาสมาธินั้น บางท่านอาจจะเข้าใจว่า อัปปนาสมาธิ คือความเป็นหนึ่งของจิตหรือเอกัคคตาจิต ไม่สามารถที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นได้ จริงอยู่ผู้ปฏิบัติในขั้นต้น จะเป็นการบริกรรมภาวนาก็ตาม หรือจะเป็นการพิจารณาอะไรก็ตาม เมื่อจิตสงบลงไปนิ่งอยู่ในความเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตา ในช่วงต้นๆนี้ จิตอาจจะไม่สามารถบันดาลให้เกิดความรู้ ความเห็นขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากว่าท่านผู้นั้น เคยพิจารณากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจนชำนิชำนาญ ด้วยการน้อมนึกคิดแล้ว เมื่อจิตนิ่งไปเป็นอัปปนาสมาธิ จิตก็จะสามารถบันดาลให้เกิดความรู้ ความเห็น ในภูมิจิตภูมิธรรมขึ้นมาได้ ดังนั้น เราจึงสามารถแบ่งขั้นของอัปปนาสมาธิได้ 2 ตอน
    ตอนแรกจิตสงบนิ่งลงไปเป็นหนึ่งอยู่ในอัปปนาสมาธิ ถ้าอยู่เป็นสมาธิในขั้นฌาน จะไม่สามารถเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมา เพราะจิตอยู่ในฌานย่อมเพ่งอยู่ในจุดๆเดียว แต่ถ้าหากว่าจิตที่เคยพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานมาแล้วก็ดี เคยพิจารณาธาตุกรรมฐานมาแล้วก็ดี เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปเป็นหนึ่งแล้วจะมีลักษณะคล้ายๆกับจิตถอนตัวออกจากร่าง แล้วก็ส่งกระแสมารู้เรื่องของร่างกาย จิตจะมองเห็นกายในลักษณะต่างๆ จะเป็นนั่งอยู่ หรือนอนอยู่ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็จะสงบนิ่งเฉยสว่างอยู่ และกายที่มองเห็นอยู่ในความรู้สึกของจิตนั้น ก็จะแสดงกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะต่างๆ ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นพิจารณาอสุภกรรมฐานมาจนชำนิชำนาญ ด้วยการน้อมนึก จิตก็จะสามารถรู้เรื่องอสุภกรรมฐานโดยอัตโนมัติ โดยที่กายที่มองเห็นอยู่นั้นจะแสดงอาการขึ้นอืด แล้วก็มีน้ำเหลืองไหล เนื้อหนังหลุดออกไปเป็นชิ้นๆ แล้วยังเหลือแต่โครงกระดูก ในที่สุดโครงกระดูกก็จะแหลกละเอียดลงไป เป็นจุลไป แล้วก็หายไปในที่สุดเหลือแต่ความว่าง
    ในเมื่อจิตว่าแล้ว จิตก็จะสามารถก่อตัว รู้เรื่องของโครงกระดูก ซึ่งจะมาประสานกันเป็นโครงกระดูก แล้วก็จะเกิดมีเนื้อมีหนัง กลับคืนมาอยู่ในสภาพเป็นร่างสมบูรณ์อยู่อย่างเก่า จะมีอาการเป็นไป กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนกว่าจิตจะถอนออกมาจากสมาธิ และในขณะที่จิตรู้เห็นนั้น จะมีลักษณะคล้ายๆกับว่า รู้เห็นด้วยทางจิตอย่างเดียว ไม่ได้
     
  9. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เกี่ยวข้องกับประสาทส่วนกาย คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสาทส่วนตา เป็นความรู้ คามเห็นของจิตล้วนๆ
    แต่ถ้าหากท่านผู้เคยพิจารณาธาตุกรรมาฐาน ก็จะมองเห็นร่างกายนี้แหละละลายลงเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ อย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วก็จะหายไป กลายเป็นความว่าง
    ถ้าหากท่านผู้เคยพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน เช่น พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว แล้วจิตก็จะมีนิมิตอะไรขึ้นมาซึ่งสุดแล้วแต่จิตจะปรุงขึ้นมา แต่ความปรุงแต่งในขั้นนี้ จิตกับสิ่งที่รู้เห็นนั้นคล้ายกับว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ในตอนนี้จิตกับสิ่งที่รู้แยกกันออกเป็นคนละส่วน สิ่งที่รู้นั้นก็แยกอยู่ส่วนหนึ่ง ตัวผู้รู้ก็คือจิตนั้นก็อยู่ส่วนหนึ่ง และส่วนความเปลี่ยนแปลงที่มันจะแสดงไปในลักษณะแห่งพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ก็จะมีอันแสดงไปเอง ถ้าหากท่านผู้ฟังอาจจะมีความสงสัยว่า การแสดงอย่างนั้นใครเป็นผู้แสดง ก็จิตนั้นแหละเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นตัวปัญญาความรู้ ในเมื่อจิตปรุงแต่งขึ้นมาด้วยความรู้เท่าเอาทัน ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่รู้ จิตก็รู้สึกว่า คล้ายๆกับว่าสิ่งที่รู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง และตัวผู้รู้คือจิตนั้นแยกเอกเทศเป็นส่วนหนึ่ง ในตอนนี้เรียกว่า จิตกับอารมณ์สามารถแยกออกจากกันคนละส่วนก็ได้ อันนี้คือลักษณะปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น ภายในจิตของผู้ปฏิบัติ เริ่มต้นแต่บริกรรมภาวนา หรือในขั้นพิจารณาอสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน หรือพิจารณาพระไตรลักษณ์ในขั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเรียกว่าขั้นวิปัสสนา ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจดังที่กล่าวมาแล้วนี้
    ถ้าหากสมมติว่า เราจะไม่พิจารณาอะไรละ เป็นเพียงแค่ว่าเราจะบริกรรมภาวนาให้จิตสงบอย่างเดียวเท่านั้น แล้วจิตของเราสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้หรือไม่ อันนี้ขอตอบว่า สามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้ โดยที่ผู้บริกรรมภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งลงไป เริ่มต้นจากอุปจารสมาธิ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิๆ ในลักษณะที่จิตนิ่งอยู่ในจุดเดียว ไม่มีสิ่งที่รู้ปรากฏขึ้นในจิต มีการสงบนิ่ง มีลักษณะนิ่งและสว่างไสวอยู่ในความรู้สึกอย่างเดียว ความรู้อื่นๆไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น วิปัสสนากรรมฐานเกิดขึ้นได้อย่างไร วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อจิตถอนออกจากความเป็นเช่นนั้นแล้ว มาเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติที่ฉลาดก็ฉวยโอกาสกำหนดความคิดนั้น จิตคิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ คิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ เพียงแต่รู้ว่าจิตมีความคิดอย่างเดียวเท่านั้น รู้แล้วก็ไม่ต้องไปช่วยจิตคิดอะไรเพิ่มเติม หรือวิพากษ์วิจารณ์ เป็นแต่เพียงว่า สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ๆๆอยู่อย่างนั้น และสิ่งใดดับไปก็รู้ เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นทุกข์ เกิดมาแล้วก็เป็นอนัตตา อะไรทำนองนั้น ไม่ต้องไปนึกคิดในขณะนั้น ถ้าหากเรานึกคิดแล้ว สมาธิมันจะถอนขึ้นมาอีก เราจะไม่มีสมาธิควบคุมจิตของเราให้จดจ่อดูความคิดที่เกิดขึ้นนั้นได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ให้นักปฏิบัติพึงระวังให้ดี เมื่อออกจากสมาธิในขั้นบริกรรม
    ภาวนา ถ้าจิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ อย่าด่วนออกจากสมาธิทันทีทันใด ให้ตามกำหนดรู้ความคิดของตัวเองเรื่อยไป จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร จึงค่อยเลิก หรือจึงค่อยออกจากที่นั่งสมาธิ
    ในเมื่อออกจากที่นั่งสมาธิแล้ว มิใช่ว่าเราจะหยุดกำหนดรู้จิต หรือรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตในทันทีทันใดก็หาไม่ เราจำเป็นจะต้องกำหนดรู้ความรู้สึกนึกคิดของเราอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เราก็ให้ตั้งสติ กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวไปมาของ กาย วาจา และใจของเราอยู่ตลอดเวลา การตามรู้ ตามเห็น ความเคลื่อนไหว กาย หรือการพูด การนึก การคิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะจดจ่ออยู่นั้นแหละ คือการปฏิบัติธรรม แบบที่เรียกว่า สามารถให้จิตเกิดความรู้ความฉลาดขึ้นมาได้
    6. วิธีฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน
    คนเราทุกคนนี้เป็นอยู่ด้วยการทำงาน เราจะทำงานทั้งเวลาหลับ ทั้งเวลาตื่น เวลาตื่นเราทำงานทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ แต่เวลานอนหลับเราทำงานโดยอัตโนมัติ จิตของเราก็ยังต้องคิด หัวใจก็ยังเต้น ปอดก็ยังสูดลมหายใจ อันนี้คือการทำงาน เพราะฉะนั้น ชีวิตก็คือการทำงาน งานก็คือชีวิต และสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเรามาพูดถึงว่า สิ่งเหล่านั้นคือธรรม และเป็นธรรมได้อย่างไร
    ในข้อที่ว่า ธรรมะ คือ ชีวิต ชีวิตก็คือธรรมะ อะไรทำนองนี้ ที่เรียกว่าธรรมะ ก็เพราะเหตุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มันเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ และเป็นพื้นฐานที่เป็นเหตุให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มันมีอยู่ มีความเปลี่ยนแปลงและแสดงความจิรงให้ปรากฏตลอดเวลา แม้แต่ลมหายใจของเรานี้มันก็แสดงความจิรงให้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา คือ การสูดลมออก สูดลมเข้า ความจริงมันก็ปรากฏคือ เราต้องมีชีวิตอยู่ ถ้าเราหยุดหายใจเมื่อไร หยุดสูดลมออก ลมเข้าเมื่อไร เมื่อนั้นก็หมายถึงความสิ้นสูญแห่งชีวิต คือ ตายนั่นเอง เพราะฉะนั้นในคำตอบปัญหาข้อที่ว่า ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือชีวิต นี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ผิดแน่นอน
    อีกนัยหนึ่ง การที่เรามาศึกษาธรรมะนี้ ชื่อว่าศึกษาให้รู้ความจริงของชีวิต เราควรจะได้ทราบคำว่า สภาวธรรม สภาวธรรมคือ สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ ตั้งแต่อณู ปรมาณู หรือมวลสารที่เกาะกุมกันเป็นก้อนใหญ่โตหาประมาณมิได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือ ธรรมะด้านสภาวธรรม ธรรมะด้านสภาวธรรมนี้ ก็ย่อมมีปรากฏการณ์แสดงความจริงให้เรารู้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราสามารถกำหนดรู้ทันหรือเปล่า
     
  10. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีปรากฏการณ์ขึ้น ทรงตัวอยู่ แล้วก็สลายตัว อันนี้คือกฎธรรมชาติที่เราจะต้องศึกษาให้รู้
    ภายในตัวของเรานี้ เราก็มีกายกับใจ กายกับใจนี้ ในเมื่อมีความสัมพันธ์อยู่ตราบใด เราก็ยังมีชีวิตเป็นอยู่ตราบนั้น เมื่อมีกาย มีใจแล้ว เราต้องมีส่วนประกอบคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ บางครั้ง พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า อินทรีย์ 6 บางทีก็ว่า ประตู (ทวาร) ซึ่งสุดแล้วแต่โวหารของพระองค์ท่านจะรับสั่งมาเป็นประการใด ทีนี้ถ้ามุ่งถึงความเป็นใหญ่ก็เรียกว่า อินทรีย์ 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ต่างมีความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของเขาแต่ละอย่างๆจะก้าวก่ายกันไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์เราธรรมดาๆ ซึ่งบางทีอาจจะก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกันได้
    ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เขามีหน้าที่เฉพาะตัว ถ้าหูจะอุตริไปดูแทนตา เชิญเลย ไม่มีทาง ทีนี้ตาจะทำหน้าที่อุตริมาทำแทนหู ก็ไม่มีทางทำได้ เพราะอาศัยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงสมมติบัญญัติว่า อันนี้ อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่เฉพาะตัว ในบางครั้งท่านก็กล่าวว่ามันก็เป็นประตู ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เรียกว่าประตู เพราะมีสิ่งผ่านออก ผ่านเข้า รูปผ่านเข้ามาทางตา เสียงผ่านเข้ามาทางหู กลิ่นผ่านเข้ามาทางจมูก รสผ่านเข้ามาทางลิ้น สัมผัสผ่านเข้ามาทางกาย ธรรมารมณ์ผ่านเข้ามาทางจิตใจ
    สิ่งทั่งหลายที่ผ่านเข้ามานี้ ถ้าเรากำหนดให้มันดีๆแล้ว ทีนี้เรารู้ว่ามันผ่านออก ผ่านเข้าอยู่นี้ ใครเป็นผู้รู้ ก็จิตใจของเรานั่นเองแหละเป็นผู้รู้ สิ่งที่รู้ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นสภาวธรรม กาย ใจ เป็นสภาวธรรม ตา หู จมูก ล กาย และใจ ก็เป็นสภาวธรรม สิ่งที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็เป็นสภาวธรรม ในที่สุดแม้ว่าใจผู้รู้ก็เป็นสภาวธรรมอีก สิ่งที่เป็นสภาวธรรมนั้น หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ดังที่ปรากฏให้เรารู้เห็นกันอยู่นี้
    เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ นักปฏิบัติธรรม นักศึกษาธรรมเอาใจมารู้กับสิ่งเหล่านี้ ทำสติกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา เราก็ได้ชื่อว่ามีการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา มาตอนนี้ มาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม อยากจะขอตัดเรื่องราววิธีการปฏิบัติธรรม ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมามากต่อมากแล้ว เช่น บริกรรมภาวนาบ้าง หรือการพิจารณาอะไรซึ่งเกี่ยวกับร่างกาย สังขารบ้างซึ่งเป็นส่วนภายใน อยากจะตีความหมายแห่งสภาวธรรมให้มันกว้างๆออกไป เพื่อที่เราจะได้มีทางปฏิบัติธรรมให้กว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่เราได้เคยได้ยิน ได้ฟังมา เข้าใจว่าสิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิต หรือสิ่งใดที่เราสัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เข้าใจว่าจะเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ควรจะนำเอาเป็นอารมณ์ปฏิบัติกรรมฐานได้
    ถ้าอย่างสมมติว่า ใครสักท่านหนึ่งอาจจะถามขึ้นมาว่า ข้าพเจ้าเรียนมาทางหมอ มีความรู้ทางแพทย์ จะเอาวิชาทางแพทย์มาเป็นอารมณ์ภาวนากรรมฐานนี้ ไม่ต้องเอาพุทโธ หรือ ยุบหนอ พองหนอ จะใช้ได้ไหม คำตอบก็คือ ได้ ทำไมจึงต้องได้ เพราะวิชาหมอ วิลชาแพทย์ที่เราเรียนมานั้น มันผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในเมื่อความรู้อันใดที่ผานเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กาย และใจ เป็นสภาวธรรม สิ่งที่กายรู้ ใจรู้ หรือสัมผัสรู้นั้น ก็เป็นสภาวธรรม มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องวิตก เอามาเป็นอารมณ์ ปฏิบัติกรรมฐานได้ แม้ว่าใครจะเรียนมาในศาสตร์ไหน อย่างไรมาก็ตาม จะเป็นวิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ เรานึกวิตกเอาหัวข้อวิชาการที่เราเรียนมานั้น แล้วเอามาเป็นเครื่องพิจารณาของจิต ซึ่งเป็นวิชาที่เราเรียนมารู้มาก่อนแล้วมันคล่องตัวง่ายดี เช่น อย่างเราอาจจะนึกว่าวิชาแพทย์คืออะไร มีความสำคัญกับชีวิตของเราอย่างไร เวลาเราจะรักษาคนไข้ จะรักษาอย่างไร วางแผนอย่างไร อะไรทำนองนี้ ซึ่งเรายกเป็นหัวข้อมาตั้งเป็นปัญหาแล้วคิด คิดด้วยความมีสติสัมปชัญญะ คิดจนกระทั่งจิตของเรามันสงบ เพราะการคิดอันนั้น จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เราบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ พุทโธคือความคิดเหมือนกัน ยุบหนอ พองหนอ คือความคิดเหมือนกัน สัมมาอรหังคือความคิดเหมือนกัน แต่ถาเราจะเอาเรื่องความคิดที่เราเรียนมานี้ เอาวิชาที่เราเรียนมาทุกอย่างมาเป็นความคิดนี้ มันก็เป็นความคิด ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นความคิด สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำไมเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ บางทีท่านอาจจะสงสัยว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีคำว่า ธรรมะ เจือปนอยู่เลย แล้วเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้อย่างไร
    ในสมัยที่อาตมาเป็นสามเณรน้อย เรียนธรรมบทแปลภาษาบาลี เคยแปลพบเรื่องหนึ่งว่า ช่างไม้นั่งถากไม้อยู่ อาการถากไม้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้สำเร็จพระอรหันต์เหมือนกัน การถากไม้มีคำว่า ธรรมะ เจือปนอยู่ด้วยไหม
    มีอีกคนหนึ่งนั่งทอหูกอยู่ ก็มาพิจารณาชีวิตัวเองเปรียบเทียบกับการทอหูก การทอหูกนี้มันหดสั้นเข้าไปเรื่อยฉันใด ชีวิตของเราก็สั้นเข้าไปทุกทีๆ แล้วก็ได้ความสลดสังเวชได้สำเร็จพระอรหันต์ การทอหูกมีคำว่า ธรรมะ หรือเปล่า
    มีท่านผู้หนึ่งเดินทางไปเห็นพยับแดดเดือนเมษามันร้อน มองเห็นพยับแดดเกิดความระยิบระยับขึ้นมา ก็ไปปลงปัญญาว่า อ๋อ พยับแดดนี้มันก็เปลี่ยนแปลงอย่างนี้นะ จิตก็ได้ความสังเวช ก็สำเร็จพระอรหันต์ พยับแดดมีคำว่า ธรรมะ เจือปนอยู่ด้วยหรือเปล่า
    ที่นำเรื่องต่างๆมาเล่าให้ท่านทั่งหลายฟังนี้ อาตมาภาพอยากจะแก้ไขข้อสงสัยข้องใจบรรดานักศึกษาธรรมะทั้งหลาย เช่น อย่างบางทีว่า สมถะ กับ วิปัสสนา นี้มีนัยต่างกันอย่างไร เมื่อตะกี้นี้ก็ได้ยินคำถาม คำตอบในเทป คำว่าสมถะ กับวิปัสสนา มีความแตกต่างกัน
     
  11. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    อย่างไร ถ้าจะให้ความตอบตรงตามความหมายกันจริงๆ สมถะ และวิปัสสนา ต่างกันแต่วิธีการ แต่จุดมุ่งหมายก็คือความสงบ ท่านจะสังเกตดูข้อเท็จจริง เท่าที่ท่านปฏิบัติผ่านมาก็ได้ ถ้าอยากจะรู้ข้อเท็จจริงที่เราไม่ต้องสงสัย ให้สลัดแบบทิ้งเอาไว้ก่อน การปฏิบัติสมถกรรมฐานตามความเข้าใจโดยทั่วไปคือ บริกรรมภาวนาและการเพ่งกสิณ หรือนึกอยู่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียว หรือนึกถึงลมหายใจ หรือนึกถึงโครงกระดูกเป็นต้น แล้วเป็นการนึกอยู่เฉพาะในวงจำกัด เฉพาะสิ่งหนึ่งๆ เช่น อย่างนึกพุทโธๆๆก็นึกอยู่ที่พุทโธ อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติแบบสมถะ แต่ถ้าท่านผู้ใดมีความคิดมาก สามารถที่จะคิดมากๆ วิตกถึงวิชาความรู้ที่เรียนมา อย่างที่เสนอแนะไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ เช่น อย่างเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มา ก็มานึกถึงหัวข้อวิชาวิทยาศาสตร์แล้วก็ตั้งคำถามตัวเอง ตอบตัวเองไปเรื่อยว่า วิทยาศาสตร์คืออะไร ในเมื่อตอบไปได้แล้ว ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อย่างไร ตอบไปข้อไหน เพราะอะไรๆๆ ถามตัวเอง ตอบตัวเองเรื่อยไป หรือเราจะนึกน้อมเอาร่างกายของเรามาวิตกขึ้นมาว่า ร่างกายของเรานี้ ประกอบด้วย ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็มาใช้ความคิดว่า รูปํ รูป ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกี่ยวกับเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรื่อยไป การปฏิบัติแบบใช้ความคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน หรือปฏิบัติแบบวิปัสสนากรรมฐาน
    ถ้าจะจำกัดความให้มันเข้าใจอย่างชัดเจนก็คือว่า
    บริกรรมภาวนา คือ ปฏิบัติแบบสมถะ
    การปฏิบัติด้วยการใช้ปัญญาค้นคิดพิจารณาเป็นเรื่อง เป็นราว เพื่อเป็นอุบายให้จิตสงบ เป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนา
    ทั้งสองอย่างนี้แหละ การนึกอยู่สิ่งๆเดียวก็ดี หรือการพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวก็ดี มุ่งสู่จุดแห่งความสงบ ตั้งมั่นของจิตในแนวแห่งสมาธิ เพราะทั้งสองอย่างนี้ ถ้าปฏิบิแล้วจะทำให้จิตสงบเหมือนกัน ไม่เชื่อทดลองดูก็ได้ เพราะฉะนั้น ข้อแตกต่างกันนี้ แตกต่างกันเฉพาะวิธีการ
    แต่ถ้าจะถามว่า การปฏิบัติด้วยบริกรรมภาวนานี้ กับการใช้สติปัญญาพิจารณา เมื่อผลเกิดขึ้นแล้วจะมีนัยแตกต่างกันบ้างไหม อันนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง การบริกรรมภาวนา บางทีจิตสงบลงไปแล้ว ก็ไปนิ่งติดอยู่ที่สมถกรรมฐาน ที่ท่านว่าบริกรรมภาวนานี้ได้แค่สมถกรรมฐาน ถูกต้องตามที่ท่านว่า ส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้ที่ใช้สติปัญญาเริ่มต้นพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวไม่ต้องบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบลงทำให้เกิดมีปีติ มีความสุข และมีสมาธิอย่างเดียวกับบริกรรมภาวนา ผู้ที่ใช้ความคิดนั้นในเมื่อมีสมาธิเกิดขึ้นแล้ว จิตจะเดินวิปัสสนาได้เร็วกว่าผู้ที่บริกรรมภาวนา เพราะฉะนั้น 2 อย่างนี้อย่าข้องใจ ใครจะ
    บริกรรมภาวนาก็ได้ จะใช้สติปัญญาพิจารณาก็ได้ แต่ว่าขอเตือนเอาไว้อีกอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นประสบการณ์ ออกจะเป็นเรื่องนอกตำราสักหน่อยหนึ่ง
    การทำสมาธิ การปฏิบัติสมาธิต้องพยายามให้สัมพันธ์กับงานและชีวิตประจำวันที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน เช่น อย่างสมมติว่าท่านขับรถภาวนา พุทโธ ในขณะที่ขับรถภาวนา พุทโธ ถ้าต่างว่าจิตสงบลงไป แล้วมันไปอยู่กับพุทโธ ไม่สนใจกับการขับรถ ท่านลองหลับตานึกดูซิว่า อะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ต้องขับรถไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ถ้าร้ายไปหน่อยรถสวนมากๆ บางทีอาจจะชนเกิดอุบัติเหตุ อันนี้ลองพิจารณาดู เป็นประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟัง และเคยได้พบเห็นมาแล้วด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการทำสมาธินี้ ถ้าพยายามทำสมาธิ ฝึกสมาธิให้มันมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเรื่องจริงของชีวิตประจำวันได้จะดีที่สุด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้กล่าวแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต การปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ เราทำสติรู้อย่างเดียว เรื่องพิธีรีตองนั้นตัดออกไว้เสียก่อน ถ้าเราจะทำให้เป็นพิธีนั้น เอาไว้ทำตอนเช้า ตอนเย็นที่เรามีไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน แต่ถ้าเราจะทำในขณะนี้ ขณะนี้ท่านฟังเทศน์ ท่านอาจจะทำสติกับการฟังเทศน์ เอาเสียงเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ถ้าท่านกำหนดจดจ่อฟังอยู่ แม้ว่าท่านจะจำคำพูดไม่ได้ทุกคำ ท่านอาจจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นมาว่า เสียงนี้มนก็มีสูงๆต่ำๆ มีหนัก มีเบา แล้วมีสั้นมียาว ประเดี๋ยวท่านก็รู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นมาด้วยการกำหนดรู้ปัจจุบัน หรือแม้ในที่สุดท่านอาจจะกำหนดรู้ความเป็นอยู่ในปัจจุบันของท่าน ท่านนั่งนานๆแล้วมันปวดหลัง นั่งนานๆแล้วมันเมื่อย นั่งนานๆแล้วมันง่วง ในเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมามีสติแล้ว ท่านอาจจะได้รู้ธรรมขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่ตลอดเวลา พอเข้ามาในห้องนี้ตอนแรกก็อากาศเย็นเฉียบเพราะฤทธิ์ของแอร์ หนักๆเข้าความอบอ้าวมันเกิดขึ้น จากกลิ่นไอของกันและกัน บางทีอาจจะเกิดความร้อน
    ทีนี้บางทีพระที่พูดที่เทศน์อยู่นี้ ตอนแรกก็ความรู้สึกว่าน่าฟัง ฟังไป ฟังมา มันเหน็ดเหนื่อย อาจจะเกิดรำคาญขึ้นมาก็ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือเหตุการณ์ปัจจุบันที่มันจะเกิดขึ้นส่อแสดงให้เรารู้ธรรมะ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำสมาธิให้มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ให้มันใกล้ที่สุด อย่าให้มันห่างกัน
    ในมหาสติปัฏฐาน ท่านก็ให้กำหนด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด และคิด ทำสติอย่างเดียว ทีนี้ ในสิ่งอื่นๆที่เราทำอยู่ เวลาเราต้องการใช้ความคิดเกี่ยวกับงาน เราก็เอาเรื่องงานมาคิด ทำสติคิดให้มันจดจ่อลงให้มันชัดๆ เวลาทำๆสติอยู่กับงาน เวลาเขียนหนังสือก็ทำสติอยู่กับสิ่งนั้น ทำอะไรก็ทำสติกับสิ่งนั้น ทำสติอย่างเดียว อันนี้คือการปฏิบัติสมาธิเพื่อให้
     
  12. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    เกิดพลังจิตมีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันกับงานที่เราทำอยู่ โดยเอาเรื่องของชีวิตประจำวันเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
    เพราะฉะนั้น จึงใคร่ที่จะขอประมวลหลักการที่จะพึงยึดเป็นแบบฉบับในการปฏิบัติไว้ 3 อย่าง
    1. บริกรรมภาวนา อย่างนี้เราปฏิบัติมาแล้ว อะไรก็ได้
    2. การใช้สติปัญญาพิจารณา โดยวิตกเอาความรู้ที่เราเรียนมา หรือถ้าหารใครรู้เรื่องกาย เรื่องใจมากๆ เรื่องอภิธรรมมากๆ จะวิตกเอาอภิธรรมมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติก็ได้ ถ้าท่านผู้ใดไม่คล่องต่อเรื่องของธรรมะ ก็เอาวิชาการที่เราเรียนมา ที่เรารู้มาที่คล่องๆแล้วนั้น มาเป็นอารมณ์พิจารณาในเบื้องต้น มันจะช่วยให้การพิจารณาของเราคล่องตัวขึ้น อันนี้เป็นขั้นแห่งการพิจารณา จะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ก็ได้
    3. การกำหนดรู้โดยที่เราตั้งใจกำหนดรู้ลงที่จิต ทำจิตให้ว่างอยู่ชั่วขณะหนึ่ง โดยธรรมดาของจิตเมื่อเราตั้งใจกำหนดลง เราจะเกิดความว่าง ในเวลาเมื่อเกิดความว่างขึ้นมาแล้ว เราก็กำหนดดูที่ความว่าง ในเมื่อจิตว่างอยู่สักพักหนึ่งความคิดย่อมเกิดขึ้น เมื่อความคิดเกิดขึ้น ทำสติตามรู้ความคิดนั้น เพียงแต่สักว่ารู้ อย่าไปช่วยมันคิด ความคิดอะไรเกิดขึ้นกำหนดรู้ ความคิดอะไรเกิดขึ้นกำหนดรู้ ยกตัวอย่างเช่น คิดถึงสีแดง ก็เพียงรู้ว่าสีแดง ไม่ต้องไปคิดว่าสีแดงคืออะไร ถ้าหากว่าจิตมันคิดไปโดยอัตโนมัติของมัน เราทำสติตามรู้อยู่ทุกระยะ อย่าเผลอ ในทำนองนี้ จะเป็นอุบายทำให้จิตของเรารู้เท่าทันอารมณ์ สติตัวนี้จะกลายเป็นมหาสติ
    ถ้าสติมันกลายเป็นมหาสติ จะสามารถประคับประคองจิตให้ดำรงอยู่ในสภาพปกติไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย เมื่อสติตัวนี้เป็นมหาสติแล้ว เพิ่มพลังขึ้นด้วยการฝึกฝนอบรม กลายเป็นสตินนทรีย์ เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์แล้ว พอกระทบอะไรขึ้นมา จิตจะค้นคว้าพิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
    เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์ เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับว่า จิตของเราสามารถเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ หรือเอากิเลสมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เพราะ สติตัวนี้เป็นใหญ่ย่อมมีอำนาจเหนืออารมณ์ และสามารถใช้อารมณ์ให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สติตัวนี้จะกลายเป็น สติวินโย ในเมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสติวินโย สมาธิสติปัญญาของผู้ปฏิบัติมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น ท่านผู้นั้นจะไม่มีการหลับ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด และคิดตลอด 24 ชั่วโมง สติสัมปชัญญะเป็นสายสัมพันธ์สืบต่อกันตลอดเวลา แม้หลับลงไปแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองนอนไม่หลับ เพราะสติไม่ขาดตอน สติตัวรู้หรือสติ
    ตัวรู้สำนึก หรือสติเป็นตัวการ ซึ่งเป็นสติวินโยนี้ มันจะคอยจดจ่ออยู่ที่จิตตลอดเวลา พออะไรเข้ามาพลั๊บมันจะฉกเหมือนงูเห่าฉกเหยื่ออย่างนั้น ถ้าสิ่งใดที่มันยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง มันจะยึดเอามาแล้วก็พิจาณา ค้นคว้าจนรู้ความจริง ถ้ามันรู้แล้วก็สัมผัสรู้แล้วมันนิ่ง เวลาเราจะทำงานทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติตัวนี้มันจะคล้ายๆว่าตัวรู้ปรากฏอยู่ในท่ามกลางแห่งทรวงอก ส่วนที่ส่งกระแสออกไปทำงาน มันก็ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราสามารถจะเอาพลังแห่งสมาธิไปใช้ในงานทุกประเภทได้
    การทำสมาธิอันใดทำให้ท่านเบื่อต่อโลก ต่อครอบครัว มันยังไม่ถูกต้องหรอก ถ้าทำสมาธิมีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงดีแล้ว ตองสามารถเอาพลังของสมาธิไปสนับสนุนงานการที่เราทำอยู่ได้ นักศึกษาก็ต้องเอาพลังแห่งสมาธิไปสนับสนุนการศึกษา เคยให้คำแนะนำแก่นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ว่าวันแต่ละวันๆไปเรียนหนังสือ วันนี้อาจารย์ท่านสอนอะไรมา พอกลับมาถึงที่พัก พอเสร็จธุระแล้ว ให้วิตกถึงวิชาที่เราเรียนมาในวันนั้น มาคิดทบทวน เป็นการทบทวนความจำ คิดไป คดมา นึกไป นึกมา อยู่อย่างนั้นด้วยความตั้งใจ ผลปรากฏว่า ทำให้นักศึกษาทั้งหลายที่มีความสนใจปฏิบัติอย่างนี้มีสมาธิแล้วก็สามารเรียนหนังสือเก่งสามารถที่จะเอาสมาธิไปสนับสนุนการศึกษาและงานการที่เราทำอยู่ บางท่านถึงกับเอาพลังสมาธิไปช่วยสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขึ้นมาก็ได้ อันนี้ถ้าหากมีนักศึกษามาฟังอยู่นี้ ลองพิจารณาดู ลองปฏิบัติดู วันหนึ่งไปเรียนอะไรมา วิตกถึงความรู้อันนั้น ค้นคว้าพิจารณาเป็นการทวนความจำ
    ทีนี้ อย่างพ่อบ้านแม่เรือนทั้งหลาย ถ้าท่านผู้ใดเกิดมีปัญหาครอบครัว เช่น อย่างพ่อบ้านแม่บ้านไม่ค่อยจะลงรอยกัน มีมติขัดแย้งอยู่ ก็ให้พยายามตั้งปัญหาถามตัวเองว่า เรามีความบกพร่องอะไร ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งท่านอาจจะเผลอไปเที่ยวดึกดื่นเที่ยงคืน กลับมาแม่บ้านโมโหบิดหูเอา ท่านอย่าเพิ่งไปโกรธ ให้ตั้งปัญหาถามตัวเองก่อนว่าเราผิดอะไร ถ้าเรามีสติยับยั้งถามตัวเองสักพักหนึ่ง เราจะได้ความรู้ ด้วยความรู้สึกว่าเราผิด เพราะเราไปเที่ยวดึกเกินไป อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาครอบครัวและชีวิตประจำวัน การปฏิบัติธรรมนี้ มิใช่ว่าเราต้องากรความรู้ความเห็นมาคุยอวดกันให้เสียเวลา เราต้องการธรรมะอันที่สามารถจะมาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ สามารถแก้ปัญหาหัวใจได้ สามารถแก้ไขปัญหางานการได้ สามารถใช้พลังสมาธิไปสนับสนุนกิจการงานที่เราทำอยู่ได้ทุกประเภท จึงจะชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิแล้วได้ผลคุ้มค่าแก่การเสียเวลา
     
  13. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
    บันทึกท้ายเล่ม
    หนังสือ สัมมาสมาธิ เล่มนี้ ถูกจัดทำขึ้นเพื่อช่วยการเผยแพร่หลักการปฏิบัติธรรมของท่านเจ้าคุณพระภาวนาพิศาลเถร (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ที่ท่านได้มีเมตตาอนุเคราะห์แก่คณะผู้มีจิตศรัทธาในการศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยพระคุณท่านได้โปรดเดินทางไปแสดงธรรม ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งคณะศิษย์ได้บันทึกเทปไว้ และได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรื่องธรรมปฏิบัติ และตอบปัญหาการปฏิบัติธรรม ซึ่งเล่มค่อนข้างจะใหญ่ คณะผู้จัดทำจึงได้ตัดตอน เอาบางตอนของหนังสือธรรมปฏิบัติและตอบปัญหาการปฏิบัติธรรมออกมา เพื่อจะได้ประหยัดและทำให้การเผยแพร่เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง
    หนังสือนี้จะเป็นคู่มือแก่นักปฏิบัติใหม่เป็นอย่างดี จะช่วยให้ได้แนวทางการปฏิบัติธรรมอันเป็นสัมมาสมาธิ และจะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านมีความมั่นใจในการปฏิบัติด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...