สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาท..ภัยบนท้องถนน

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย Catt Bewer, 6 ธันวาคม 2006.

  1. Catt Bewer

    Catt Bewer เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    3,768
    ค่าพลัง:
    +16,673
    ปัจจุบันพบว่าส่วนหนึ่งของปัญหาอุบัติเหตุ เกิดมาจากการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้ง่วงนอนและหลับใน ยาประเภทนี้ได้แก่ ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยากันชัก ยาแก้โรคซึมเศร้า และยาแก้หวัดลดน้ำมูก สถิติของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ในเขตกรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีการใช้ยาคลายเครียดเพิ่มสูงขึ้น ปี 2544 มีการใช้ยากลุ่มนี้ 167 ล้านเม็ด ปี 2546 เพิ่มเป็น 705 ล้านเม็ด คาดว่าแต่ละวันจะมีผู้ขับขี่บนท้องถนนที่ใช้ยาคลายเครียด 7,000 ราย

    พ.ญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า ยาที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาประเภทนี้มีฤทธิ์เทียบเท่ากับการดื่มสุราที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือปริมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะยานอนหลับและยาคลายเครียด กลุ่มที่นิยมใช้มากได้แก่ยากลุ่ม เบนโซไดอะเซพีน (Benzodiazepine) จะมีฤทธิ์ทำให้เกิดการง่วงซึม การตอบสนองช้าลง การควบคุมการเบรกหรือการบังคับพวงมาลัยจะช้าลง หากขับขี่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถ้ารับประทานยาประเภทนี้อย่างเดียวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึง 5 เท่า หากรับประทานร่วมกับเหล้าจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงกว่า 100 เท่า

    ร.พ.รามาธิบดี โดยศ.น.พ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล พ.ญ.อติพร อิงค์สาธิต และ พ.ญ.ภัทรวัณย์ ได้ศึกษาในผู้ขับขี่ที่ได้รับอุบัติเหตุจราจรอย่างรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาลจำนวน 200 ราย เปรียบเทียบกับผู้ขับขี่ทั่วไปที่ไม่ได้รับอุบัติเหตุ 850 ราย พบว่ายากลุ่มที่กินเพื่อคลายเครียดหรือ กลุ่มเบนโซไดอะเซพีน มีความเสี่ยงต่อการขับขี่ยานพาหนะ 4.5 เท่าซึ่งก็ถือว่าสูงมาก ใกล้เคียงกับต่างประเทศ

    ดังนั้น ถ้าหากต้องรับประทานยาในขณะขับขี่ยานพาหนะ ถ้าเป็นยาคลายเครียดจะมีฤทธิ์ทำให้ง่วงอย่างมากโดยเฉพาะในสัปดาห์แรกที่เริ่มใช้ นอกจากนี้ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้บางตัวและยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทตัวอื่นๆ มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงนอนเช่นกัน ควรหลีกเลี่ยงไปรับประทานตอนกลางคืนจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าจำเป็นต้องรับประทานในตอนกลางวัน แนะนำว่าพยายามหลีกเลี่ยงการขับขี่ให้ได้มากที่สุด

    สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทกับความปลอดภัยทางท้องถนน เป็นประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการดื่มสุรา ซึ่งแพทย์ควรระมัดระวังและควรเน้นย้ำกับผู้ป่วย รวมทั้งตัวผู้ขับขี่เองต้องตระหนักถึงความปลอดภัยบนท้องถนน โดยไม่ลืมว่าไม่ควรรับประทานยาที่มีฤทธิ์ง่วงนอนก่อนการขับขี่


    http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03hea04061249&day=2006/12/06
     

แชร์หน้านี้

Loading...