สุวรรณสามชาดก(๑)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Kenny17, 30 มิถุนายน 2011.

  1. Kenny17

    Kenny17 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มกราคม 2011
    โพสต์:
    2,979
    ค่าพลัง:
    +10,866
    <CENTER class=D>สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี</CENTER>
    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระภิกษุรูปหนึ่งผู้เลี้ยงมารดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โก นุ มํ อุสุนา วิชฺฌิ ดังนี้เป็นต้น.
    [​IMG]

    ดังได้สดับมา ในกรุงสาวัตถี มีกุลบุตรผู้หนึ่งเป็นบุตรคนเดียวของสกุลเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งมีทรัพย์สมบัติสิบแปดโกฏิ. กุลบุตรนั้นเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของบิดามารดา. วันหนึ่ง เขาอยู่บนปราสาทเปิดสีหบัญชรแลดูในถนนใหญ่ เห็นมหาชนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อต้องการสดับพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า แม้ตัวเราก็จักไปกับพวกนั้นบ้าง จึงให้คนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปสู่พระวิหาร ถวายผ้าเภสัชและน้ำดื่มเป็นต้นแด่พระสงฆ์ และบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น. ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในกามทั้งหลาย กำหนดอานิสงส์แห่งบรรพชา. ครั้นบริษัทลุกไปแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะกุลบุตรนั้นอย่างนี้ว่า พระตถาคตทั้งหลายไม่ยังบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาตให้บรรพชา. กุลบุตรได้ฟังรับสั่งดังนั้น จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กลับไปเคหสถาน ไหว้บิดามารดาด้วยความเคารพเป็นอันดี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ข้าพเจ้าจักบวชในสำนักพระตถาคต.
    [​IMG]

    ลำดับนั้น บิดามารดาของกุลบุตรนั้นได้ฟังคำของเขาแล้ว ก็เป็นราวกะมีหัวใจแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง เพราะมีบุตรคนเดียว หวั่นไหวอยู่ด้วยความสิเนหาในบุตร ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อผู้เป็นบุตรที่รัก ผู้เป็นหน่อแห่งสกุล ผู้เป็นดั่งดวงตา ผู้เช่นกับชีวิตของเราทั้งสอง. เราทั้งสองเว้นจากเจ้าเสีย จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร. ชีวิตของเราทั้งสองเนื่องในเจ้า เราทั้งสองก็แก่เฒ่าแล้ว จักตายในวันนี้พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ เจ้ายังจะละเราทั้งสองไปเสียอีก. ธรรมดาว่าบรรพชาอันบุคคลทำได้ยากยิ่ง เมื่อต้องการเย็น ย่อมได้ร้อน เมื่อต้องการร้อน ย่อมได้เย็น. เพราะเหตุนั้น เจ้าอย่าบวชเลย. กุลบุตรได้สดับคำของบิดามารดาดังนั้น ก็มีความทุกข์โทมนัส นั่งก้มศีรษะซบเซา ไม่บริโภคอาหารเจ็ดวัน. ลำดับนั้น บิดามารดาของกุลบุตรนั้น คิดกันอย่างนี้ว่า ถ้าบุตรของเราไม่ได้รับอนุญาตให้บวชก็จักตาย. เราจักไม่ได้เห็นเขาอีกเลย บุตรเราเป็นอยู่ด้วยเพศบรรพชิต เราจักได้เห็นอีกต่อไป. ครั้นคิดเห็นกันอย่างนี้แล้วจึงอนุญาตว่า ดูก่อนพ่อผู้เป็นลูกรัก เราอนุญาตให้เจ้าบวช เจ้าจงบวชเถิด. กุลบุตรได้ฟังดังนั้นก็มีได้ยินดี น้อมสรีระทั้งสิ้นลงกราบแทบเท้าบิดามารดา ลาออกจากกรุงสาวัตถีไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร. ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา. พระศาสดาตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้บวชกุลบุตรนั้นเป็นสามเณร.
    [​IMG]

    จำเดิมแต่สามเณรนั้นบวชแล้ว ลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก. สามเณรนั้นยังอาจารย์และอุปัชฌาย์ให้ยินดี. อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว เล่าเรียนธรรมอยู่ห้าพรรษา ดำริว่า เราอยู่ในที่นี้เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ญาติเป็นต้น หาสมควรแก่เราไม่ เป็นผู้ใคร่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ จึงเรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์ ออกจากวิหารเชตวันไปสู่ปัจจันตคามแห่งหนึ่ง อยู่ในป่าอาศัยปัจจันตคามนั้น. ภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาในที่นั้น แม้เพียรพยายามอยู่ถึงสิบสองปี ก็ไม่สามารถยังธรรมวิเศษให้เกิด. ฝ่ายบิดามารดาของภิกษุนั้น ครั้นเมื่อกาลล่วงไปได้ขัดสนลง. คิดเห็นว่า ก็เหล่าชนที่ประกอบการนาหรือพาณิชย์ บุตรหรือพี่น้องที่จะเตือนนึกถึงพาพวกเราไป ไม่มีในสกุลนี้ พวกเขาถือเอาทรัพย์ตามกำลังของตนๆ หนีไปตามชอบใจ แม้ทาสกรรมกรในเรือนเป็นต้น ก็ถือเอาเงินทองเป็นต้นหนีไป. ครั้นต่อมา ชนทั้งสองจึงตกทุกข์ได้ยากเหลือเกิน ไม่ได้แม้การรดน้ำในมือ ต้องขายเรือน ไม่มีเรือนอยู่. ถึงความเป็นผู้น่าสงสารอย่างยิ่ง นุ่งห่มผ้าท่อนเก่า ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานที่นี่ที่นั่น.
    [​IMG]

    ในกาลนั้น ภิกษุรูปหนึ่งออกจากพระเชตวันมหาวิหาร ไปถึงที่อยู่ของภิกษุบุตรเศรษฐีอนาถานั้น. ภิกษุเศรษฐีบุตรนั้นทำอาคันตุกวัตรแก่ภิกษุนั้นแล้ว นั่งเป็นสุขแล้วจึงถามว่า ท่านมาแต่ไหน. ภิกษุอาคันตุกะแจ้งว่ามาแต่พระเชตวัน จึงถามถึงความผาสุกแห่งพระศาสดา และของพระมหาสาวกเป็นต้น แล้วถามถึงข่าวคราวแห่งบิดามารดาว่า ท่านขอรับ สกุลเศรษฐีชื่อโน้นในกรุงสาวัตถีสบายดีหรือ. ภิกษุอาคันตุกะตอบว่า อาวุโส ท่านอย่าถามถึงข่าวคราวแห่งสกุลนั้นเลย. ถามว่า เป็นอย่างไรหรือท่าน. ตอบว่า ได้ยินว่า สกุลนั้นมีบุตรคนเดียว เขาบวชในพระศาสนา. จำเดิมแต่เขาบวชแล้ว สกุลนั้นก็เสื่อมสิ้นไป. บัดนี้เศรษฐีทั้งสองเป็นกำพร้าน่าสงสารอย่างยิ่ง ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน. ภิกษุเศรษฐีบุตรได้ฟังคำของภิกษุอาคันตุกะแล้ว ก็ไม่อาจจะทรงตัวอยู่ได้ มีน้ำตานองหน้าเริ่มร้องไห้. พระเถระเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า เธอร้องไห้ทำไม. ภิกษุเศรษฐีบุตรตอบว่า ท่านขอรับ ชนสองคนนั้นเป็นบิดามารดาของกระผม กระผมเป็นบุตรของท่านทั้งสองนั้น. พระเถระจึงกล่าวว่า บิดามารดาของเธอถึงความพินาศเพราะอาศัยเธอ เธอจงไปปฏิบัติบิดามารดานั้น. ภิกษุเศรษฐีบุตรคิดว่า เราแม้เพียรพยายามอยู่ถึงสิบสองปี ก็ไม่สามารถที่จะยังมรรคหรือผลให้บังเกิด เราจักเป็นคนอาภัพ. ประโยชน์อะไรด้วยบรรพชาเล่า เราจักเป็นคฤหัสถ์เลี้ยงบิดามารดา ให้ทาน จักเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. คิดฉะนี้แล้วมอบสถานที่อยู่ในป่าแก่พระเถระนั้น นมัสการพระเถระแล้ว.
    [​IMG]

    รุ่งขึ้นจึงออกจากป่าไปโดยลำดับ ลุถึงวิหารหลังพระเชตวัน ไม่ไกลกรุงสาวัตถี ณ ที่ตรงนั้นเป็นทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปพระเชตวัน ทางหนึ่งไปในกรุงสาวัตถี. ภิกษุนั้นหยุดอยู่ตรงนั้น คิดว่า เราจักไปหาบิดามารดาก่อน หรือจักไปเฝ้าพระทศพลก่อน แล้วคิดต่อไปว่า เราไม่ได้พบบิดามารดานานแล้วก็จริง. แต่จำเดิมแต่นี้ เราจักได้เฝ้าพระพุทธเจ้าได้ยาก วันนี้เราจักเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วฟังธรรม. รุ่งขึ้นจึงไปหาบิดามารดาแต่เช้าเทียว คิดฉะนี้แล้ว ละมรรคาไปกรุงสาวัตถี ไปสู่มรรคาที่ไปพระเชตวัน ถึงพระเชตวันเวลาเย็น.
    [​IMG]

    ก็วันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งภิกษุผู้เป็นบุตรแห่งสกุลรูปนี้. พระองค์จึงทรงพรรณนาคุณแห่งบิดามารดาด้วยมาตุโปสกสูตร. ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาถึง ก็ภิกษุนั้นยืนอยู่ในที่สุดบริษัท สดับธรรมกถาอันไพเราะ. จึงรำพึงว่า เราคิดไว้ว่าจักเป็นคฤหัสถ์อาจบำรุงปฏิบัติบิดามารดา. แต่พระศาสดาตรัสว่า แม้เป็นบรรพชิตก็ทำอุปการะแก่บิดามารดาได้. ถ้าเราไม่ได้มาเฝ้าพระศาสดาก่อนแล้วไป พึงเสื่อมจากบรรพชาเห็นปานนี้. ก็บัดนี้ เราไม่ต้องสึกเป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตอยู่นี่แหละจักบำรุงบิดามารดา. ภิกษุนั้นถวายบังคมพระศาสดาแล้วออกจากพระเชตวันไปสู่โรงสลาก รับภัตตาหารและยาคูที่ได้ด้วยสลาก เป็นภิกษุอยู่ป่าสิบสองปี ได้เป็นเหมือนถึงความเป็นผู้พ่ายแพ้แล้ว. ภิกษุนั้นเข้าไปในกรุงสาวัตถีแต่เช้าทีเดียว คิดว่าเราจักรับข้าวยาคูก่อน หรือไปหาบิดามารดาก่อน แล้วคิดว่า การมีมือเปล่าไปสู่สำนักคนกำพร้าไม่สมควร จึงถือเอายาคูไปสู่ประตูเรือนเก่าของบิดามารดาเหล่านั้น ได้เห็นบิดามารดาเที่ยวขอยาคูแล้วเข้าอาศัยริมฝาเรือน คนอื่นนั่งอยู่. ถึงความเป็นคนกำพร้าเข็ญใจ ก็มีความโศกเกิดขึ้น มีน้ำตานองหน้ายืนอยู่ในที่ใกล้ๆ บิดามารดาทั้งสองนั้น. บิดามารดาแม้เห็นท่านแล้วก็จำไม่ได้. มารดาของภิกษุนั้นสำคัญว่า ภิกษุนั้นจักยืนเพื่อภิกขาจาร จึงกล่าวว่า ของเคี้ยวของฉันอันควรถวายพระผู้เป็นเจ้าไม่มี นิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด. ภิกษุนั้นได้ฟังคำแห่งมารดา ก็เกิดความโศกเป็นกำลัง มีน้ำตานองหน้ายืนอยู่ตรงนั้นเอง เพราะได้รับความเศร้าใจ. แม้มารดากล่าวเช่นนั้นสองครั้งสามครั้ง ก็ยังยืนอยู่นั่นเอง. ลำดับนั้น บิดาของภิกษุนั้นพูดกะมารดาว่า จงไปดู นั่นบุตรของเราทั้งสองหรือหนอ. นางลุกขึ้นแล้วไปใกล้ภิกษุนั้นแลดูก็จำได้ จึงหมอบปริเทวนาการแทบเท้าแห่งภิกษุผู้เป็นบุตร. ฝ่ายบิดาไปบ้างก็ร้องไห้ตรงที่นั้นเหมือนกัน น่าสงสารเหลือเกิน. ฝ่ายภิกษุนั้นเห็นบิดามารดา ก็ไม่อาจจะทรงกายอยู่ได้จึงร้องไห้. ภิกษุนั้นกลั้นความโศกแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งสองอย่าคิดเลย อาตมาจักเลี้ยงดูท่านให้ผาสุก ยังบิดามารดาให้อุ่นใจแล้วให้ดื่มยาคู ให้นั่งพักในที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว นำภิกษาหารมาอีกให้บิดามารดาบริโภค แล้วแสวงหาภิกษาเพื่อตน ไปสู่สำนักบิดามารดา ถามเรื่องภัตตาหารอีก ได้รับตอบว่า ไม่บริโภค จึงบริโภคเอง แล้วให้บิดามารดาอยู่ในที่ควรแห่งหนึ่ง.
    [​IMG]

    ภิกษุนั้นได้ปฏิบัติบิดามารดาทั้งสองโดยทำนองนี้ตั้งแต่นั้นมา แม้ภัตที่เกิดในปักษ์เป็นต้นที่ตนได้มา ก็ให้แก่บิดามารดา. ตนเองเที่ยวภิกษาจาร ได้มาก็บริโภค. เมื่อไม่ได้ก็ไม่บริโภค ได้ผ้าจำพรรษาก็ตาม ผ้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอดิเรกลาภก็ตาม ก็ให้แก่บิดามารดา ซักย้อมผ้าเก่าๆ ที่บิดามารดานุ่งห่มแล้ว เย็บปะนุ่งห่มเอง. ก็วันที่ภิกษุนั้นได้อาหาร มีน้อยวัน วันที่ไม่ได้มีมากกว่า. ผ้านุ่งผ้าห่มของภิกษุนั้นเศร้าหมองเต็มที. เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติบิดามารดาต่อมา ก็เป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส กายเหลืองขึ้นๆ มีตัวดาษ ไปด้วยเส้นเอ็น. ครั้งนั้นเหล่าภิกษุที่เป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกันมา เห็นภิกษุนั้นจึงถามว่า อาวุโส แต่ก่อนสรีรวรรณะของเธองามสดใส แต่บัดนี้เธอซูบผอม เศร้าหมองไม่ผ่องใส กายเหลืองขึ้นๆ มีตัวดาษไปด้วยเส้นเอ็น พยาธิเกิดขึ้นแก่เธอหรือ. ภิกษุนั้นตอบว่า อาวุโส ข้าพเจ้าไม่มีพยาธิ แต่มีความกังวล แล้วบอกประพฤติเหตุนั้น. ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า อาวุโส พระศาสดาไม่ประทานอนุญาตเพื่อยังของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตกไป. ก็ท่านถือเอาของที่เขาให้ด้วยศรัทธามาให้แก่เหล่าคฤหัสถ์ ทำกิจไม่สมควร. ภิกษุนั้นได้ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นก็ละอาย ทอดทิ้งมาตาปิตุปัฏฐานกิจเสีย.
    [​IMG]

    ภิกษุเหล่านั้นยังไม่พอใจ แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อโน้นยังของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตกไปเลี้ยงดูคฤหัสถ์. พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาตรัสถามว่า แน่ะภิกษุ ได้ยินว่า เธอถือเอาศรัทธาไทยไปเลี้ยงคฤหัสถ์ จริงหรือ. เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลรับว่า จริง พระเจ้าข้า. เมื่อทรงใคร่จะสรรเสริญการกระทำของภิกษุนั้น และทรงใคร่จะประกาศบุพจริยาของพระองค์ จึงตรัสถามว่า แน่ะภิกษุ เมื่อเธอเลี้ยงดูเหล่าคฤหัสถ์ เลี้ยงดูคฤหัสถ์เหล่าไหน. ภิกษุนั้นกราบทูลว่า บิดามารดาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. เพื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุนั้น. พระศาสดาได้ทรงประทานสาธุการสามครั้งว่า สาธุ สาธุ สาธุ แล้วตรัสว่า เธอดำรงอยู่ในทางที่เราดำเนินแล้ว. แม้เราเมื่อประพฤติบุพจริยาก็ได้บำรุงเลี้ยงบิดามารดา. ภิกษุนั้นกลับได้ความเบิกบานใจ. ลำดับนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุพจริยา. พระศาสดาจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
    [​IMG]

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ณ ที่ไม่ไกลแต่กรุงพาราณสี มีบ้านนายพรานบ้านหนึ่งริมฝั่งนี้แห่งแม่น้ำ และมีบ้านนายพรานอีกบ้านหนึ่งริมฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำ ในบ้านแห่งหนึ่งๆ มีตระกูลประมาณห้าร้อยตระกูล นายเนสาทผู้เป็นใหญ่สองคนในบ้านทั้งสองเป็นสหายกัน. ในเวลาที่ยังหนุ่มอยู่ เขาได้ทำกติกาสัญญากันอย่างนี้ว่า ถ้าข้างหนึ่งมีธิดา ข้างหนึ่งมีบุตร เราจักทำอาวาหวิวาทมงคลแก่บุตรธิดาเหล่านั้น. ลำดับนั้น ในเรือนของนายเนสาทผู้เป็นใหญ่ในบ้านริมฝั่งนี้คลอดบุตร บิดามารดาให้ชื่อว่า ทุกูลกุมาร เพราะกุมารนั้นอันญาติทั้งหลายรองรับด้วยทุกูลพัสตร์ในขณะเกิด. ในเรือนของนายเนสาทผู้เป็นใหญ่อีกคนหนึ่งคลอดธิดา บิดามารดาให้ชื่อว่า ปาริกากุมารี เพราะนางเกิดฝั่งโน้น. กุมารกุมารีทั้งสองมีรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดังทองคำ. แม้เกิดในสกุลนายพรานก็ไม่ทำปาณาติบาต.
    [​IMG]

    กาลต่อมา เมื่อทุกูลกุมารมีอายุได้สิบหกปี บิดามารดาพูดว่า จะนำกุมาริกามาเพื่อเจ้า. แต่ทุกูลกุมารมาแต่พรหมโลก เป็นสัตว์บริสุทธิ์ จึงปิดหูทั้งสองกล่าวว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ฉันไม่ต้องการอยู่ครองเรือน โปรดอย่าได้พูดอย่างนี้. แม้บิดามารดาพูดอยู่ถึงสองครั้งสามครั้ง ก็ไม่ปรารถนา. ฝ่ายปาริกากุมารีแม้บิดามารดาพูดว่า แน่ะแม่ บุตรของสหายเรามีอยู่ เขามีรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดั่งทองคำ เราจักให้ลูกแก่เขา. นางปาริกาก็กล่าวห้ามอย่างเดียวกัน แล้วปิดหูทั้งสองเสีย เพราะนางมาแต่พรหมโลกเป็นสัตว์บริสุทธิ์.
    [​IMG]

    ในคราวนั้น ทุกูลกุมารส่งข่าวลับไปถึงนางปาริกาว่า ถ้าปาริกามีความต้องการด้วยเมถุนธรรม ก็จงไปสู่เรือนของบุคคลอื่น. ฉันไม่มีความพอใจในเมถุน. แม้นางปาริกาก็ส่งข่าวลับไปถึงทุกูลกุมารเหมือนกัน. แต่บิดามารดาได้กระทำอาวาหวิวาหมงคล แก่กุมารกุมารีทั้งสอง ผู้ไม่ปรารถนาเรื่องประเวณีเลย. เขาทั้งสองมิได้หยั่งลงสู่สมุทร คือกิเลส อยู่ด้วยกันเหมือนมหาพรหมสององค์ ฉะนั้น. ฝ่ายทุกูลกุมารไม่ฆ่าปลาหรือเนื้อ โดยที่สุดแม้เนื้อที่บุคคลนำมา ก็ไม่ขาย. ลำดับนั้น บิดามารดาพูดกะเขาว่า แน่ะพ่อ เจ้าเกิดในสกุลนายพราน ไม่ปรารถนาอยู่ครองเรือน ไม่ทำการฆ่าสัตว์ เจ้าจักทำอะไร. ทุกูลกุมาร กล่าวตอบอย่างนี้ว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ เมื่อท่านทั้งสองอนุญาต เราทั้งสองก็จักบวช. บิดามารดาได้ฟังดังนั้น จึงอนุญาตว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งสองจงบวชเถิด. ทุกูลกุมารและปาริกากุมารีก็ยินดีร่าเริง ไหว้บิดามารดา แล้วออกจากบ้าน เข้าสู่หิมวันตประเทศทางฝั่งแม่น้ำคงคาโดยลำดับ ละแม่น้ำคงคามุ่งตรงไปแม่น้ำมิคสัมมตา ซึ่งไหลลงมาแต่หิมวันตประเทศถึงแม่น้ำคงคา.
    [​IMG]

    ขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบการณ์นั้น จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสว่า แน่ะพ่อวิสสุกรรม ท่านมหาบุรุษทั้งสองออกจากบ้านใคร่จะบวชเป็นฤาษี เข้าสู่หิมวันตประเทศ ควรที่ท่านทั้งสองนั้นจะได้ที่อยู่. ท่านจงเนรมิตบรรณศาลา และบรรพชิตบริขารเพื่อท่านทั้งสองนั้น ณ ภายในกึ่งเสียงกู่ ตั้งแต่มิคสัมมตานที เสร็จแล้วกลับมา. พระวิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวบัญชาแล้ว ไปจัดกิจทั้งปวงโดยนัยที่กล่าวแล้วในมูคปักขชาดก ไล่เนื้อและนกที่มีสำเนียง ไม่เป็นที่ชอบใจให้หนีไป. แล้วเนรมิตมรรคาเดินผู้เดียว แล้วกลับไปที่อยู่ของตน. กุมารกุมารีทั้งสองเห็นทางนั้น แล้วก็เดินไปตามทางนั้นถึงอาศรมบท. ทุกูลบัณฑิตเข้าสู่บรรณศาลา เห็นบรรพชิตบริขารก็ทราบสักกทัตติยภาพว่า ท้าวสักกะประทานแก่เรา จึงเปลื้องผ้าสาฎกออก นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง พาดหนังเสือบนบ่า ผูกมณฑลชฎาทรงเพศฤาษี แล้วให้นางปาริกาบวชเป็นฤาษิณี. ฤาษีฤาษิณีทั้งสององค์นั้น เจริญเมตตาภูมิกามาพจรอาศัยอยู่ในที่นั้น. แม้ฝูงเนื้อและนกทั้งปวง ก็กลับได้เมตตาจิตต่อกันและกัน ด้วยอานุภาพเมตตาแห่งดาบสดาบสินีทั้งสองนั้น. บรรดาสัตว์เหล่านั้นไม่มีสัตว์ไรๆ เบียดเบียนสัตว์ไรๆ เลย. ฝ่ายปาริกาดาบสินีลุกขึ้นแต่เช้า ตั้งน้ำดื่มและของฉันแล้วกวาดอาศรมบททำกิจทั้งปวง ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้น นำผลไม้เล็กใหญ่มาฉัน แล้วเข้าสู่บรรณศาลาของตนๆ เจริญสมณธรรม สำเร็จการอยู่ในที่นั้นนั่นแล.
    [​IMG]

    ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาสู่ที่บำรุงแห่งพระมุนีทั้งสองนั้น. วันหนึ่งพระองค์ทรงพิจารณาเห็น อันตรายแห่งพระมุนีทั้งสองนั้นว่า จักษุทั้งสองข้างของท่านทั้งสองนี้จักมืด จึงลงมาจากเทวโลกเข้าไปหาทุกูลบัณฑิต นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันตรายจะปรากฏแก่ท่านทั้งสอง ควรที่ท่านทั้งสองจะได้บุตรไว้สำหรับปฏิบัติท่าน ขอท่านทั้งสองจงเสพโลกธรรม. ทุกูลบัณฑิตได้สดับคำของท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวว่า ดูก่อนท้าวสักกะ พระองค์ตรัสอะไร เราทั้งสองแม้อยู่ท่ามกลางเรือนก็หาได้เสพโลกธรรมไม่ เราทั้งสองละโลกธรรมนี้ เกลียดดุจกองคูถอันเต็มไปด้วยหนอน. ก็บัดนี้เราทั้งสองเข้าป่าบวชเป็นฤาษี จักกระทำกรรมเช่นนี้อย่างไรได้. ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องทำอย่างนั้น เป็นแต่เอามือลูบท้องปาริกาดาบสินีเวลานางมีระดู. ทุกูลบัณฑิตรับว่า อย่างนี้อาจทำได้. ท้าวสักกเทวราช นมัสการทุกูลดาบสแล้วกลับไปที่อยู่ของตน. ฝ่ายทุกูลบัณฑิตก็บอกนางปรริกาให้รู้ตัว แล้วเอามือลูบท้องนาง ในเวลาที่นางมีระดู.
    [​IMG]

    นกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องนางปาริกาฤาษีณี กาลล่วงไปได้สิบเดือน. นางคลอดบุตรมีผิวพรรณดั่งทองคำ. ด้วยเหตุนั้นเอง บิดามารดาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุวรรณสามกุมาร เวลาที่ปาริกาดาบสินี ไปป่าเพื่อหามูลผลาผล. นางกินรีทั้งหลายที่อยู่ภายในบรรพต ได้ทำหน้าที่นางนม. ดาบสดาบสินีทั้งสองสรงน้ำพระโพธิสัตว์แล้วให้บรรทมในบรรณศาลา แล้วพากันไปหาผลไม้เล็กใหญ่. ในขณะนั้น นางกินรีทั้งหลาย อุ้มกุมารไปสรงน้ำที่ซอกเขาเป็นต้น แล้วขึ้นสู่ยอดบรรพต ประดับด้วยบุปผชาติต่างๆ แล้วฝนหรดาลและมโนศิลาเป็นต้นที่แผ่นศิลา ประให้เป็นเม็ดที่นลาตแล้วนำมาให้ไสยาสน์ในบรรณศาลา. ฝ่ายนางปาริกากลับมาก็ให้บุตรดื่มนม. กาลต่อมา บิดามารดาปกปักรักษาบุตรนั้น จนมีอายุได้สิบหกปี ให้นั่งอยู่ในบรรณศาลา ตนเองพากันไปป่าเพื่อหามูลผลาผลในป่า. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า อันตรายอะไรๆ จะพึงมีแก่บิดามารดาของเรา ในกาลบางคราว จึงทรงสังเกตทางที่บิดามารดาไป.
    [​IMG]

    อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อดาบสดาบสินีทั้งสองนำมูลผลาผลในป่า กลับมาในเวลาเย็น ถึงที่ใกล้อาศรมบท. มหาเมฆตั้งขึ้นฝนตก ท่านทั้งสองจึงเข้าไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่ง ยืนอยู่บนยอดจอมปลวก อสรพิษมีอยู่ภายในจอมปลวกนั้น น้ำฝนเจือกลิ่นเหงื่อจากสรีระของสองท่านนั้น ไหลลงเข้ารูจมูกแห่งอสรพิษนั้น มันโกรธพ่นลมในจมูกออกมา ลมในจมูกนั้นถูกจักษุทั้งสองข้างแห่งดาบสและดาบสินีนั้น ทั้งสองท่านก็เป็นคนจักษุมืดไม่เห็นกันและกัน เพราะลมนั้น. ทุกูลบัณฑิตเรียกนางปาริกามาบอกว่า ปาริกา จักษุทั้งสองของฉันมืด ฉันมองไม่เห็นเธอ. แม้นางปาริกา ก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน. ทั้งสองมองไม่เห็นทางก็ยืนคร่ำครวญอยู่ด้วยเข้าใจว่า บัดนี้ชีวิตของเราทั้งสองไม่มีละ.
    [​IMG]

    ก็ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้น มีบุรพกรรมเป็นอย่างไร ได้ยินว่า ท่านทั้งสองนั้นในปางก่อนเกิดในสกุลแพทย์. ครั้งนั้น แพทย์นั้นรักษาโรคในจักษุของบุรุษมีทรัพย์มากคนหนึ่ง บุรุษนั้นจักษุหายดีแล้ว ไม่ให้ทรัพย์ค่ารักษาอะไรๆ แก่แพทย์นั้น. แพทย์โกรธเขา ไปสู่เรือนแจ้งแก่ภริยาของตนว่า ที่รัก ฉันรักษาโรคในจักษุของบุรุษนั้นหาย บัดนี้เขาไม่ให้ทรัพย์ค่ารักษาแก่ฉัน เราจะทำอย่างไรดี. ฝ่ายภริยาได้สดับสามีกล่าวก็โกรธ จึงกล่าวว่า เราไม่ต้องการทรัพย์ที่มีอยู่ของมัน ท่านจงประกอบยาขนานหนึ่งให้มันหยอด ทำจักษุทั้งสองของมันให้บอดเสียเลย. สามีเห็นชอบด้วย จึงออกจากเรือนไปหาบุรุษนั้น ได้กระทำตามนั้น. บุรุษผู้มีทรัพย์มากคนนั้น ไม่นานนักก็กลับจักษุมืดไปอีก. ดาบสและดาบสินีทั้งสอง มีจักษุมืดด้วยบาปกรรมอันนี้.
    [​IMG]

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า บิดามารดาของเรา ในวันอื่นๆ เคยกลับเวลานี้. บัดนี้เราไม่รู้เรื่องราวของท่านทั้งสองนั้น จึงเดินสวนทางร้องเรียกหาไป. ท่านทั้งสองนั้นจำเสียงบุตรได้ก็ขานรับ แล้วกล่าวห้ามด้วยความรักในบุตรว่า มีอันตรายในที่นี้ อย่ามาเลยลูก. พระมหาสัตว์ตอบท่านทั้งสองว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งสองจงจับปลายไม้เท้านี้มาเถิด แล้วยื่นไม้เท้ายาวให้ท่านทั้งสองจับ. ท่านทั้งสองจับปลายไม้เท้าแล้วมาหาบุตร. พระมหาสัตว์ถามว่า จักษุของท่านทั้งสองมืดไปด้วยเหตุอะไร. บิดามารดาทั้งสอง ก็เล่าให้พระมหาสัตว์ผู้บุตรฟังว่า ลูกรัก เมื่อฝนตก เราทั้งสองยืนอยู่บนยอดจอมปลวกที่โคนไม้ในที่นี้ จักษุทั้งสองมืดไปด้วยเหตุนั้น. พระมหาสัตว์ได้สดับคำของบิดามารดา ก็รู้ว่าอสรพิษมีในจอมปลวกนั้น อสรพิษนั้นขัดเคืองปล่อยลมในจมูกออกมา. พระมหาสัตว์เห็นบิดามารดาแล้วร้องไห้และหัวเราะ บิดามารดาจึงถามว่า ทำไมถึงร้องไห้ และหัวเราะ. พระมหาสัตว์ตอบว่า ข้าพเจ้าร้องไห้ ด้วยเสียใจว่าจักษุของท่านทั้งสองพินาศไป ในเวลาที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่. แต่ข้าพเจ้าหัวเราะด้วยดีใจว่า ข้าพเจ้าจักได้ปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสองในบัดนี้. ขอท่านทั้งสองอย่าได้คิดอะไรเลย ข้าพเจ้าจักปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสองให้ผาสุก.
    [​IMG]

    พระมหาสัตว์ปลอบโยนให้บิดามารดาทั้งสองเบาใจ แล้วนำมาอาศรมบท ผูกเชือกเป็นราวในที่ทั้งปวงสำหรับบิดามารดาทั้งสองนั้น คือที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม บรรณศาลา ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. จำเดิมแต่นั้นมา ให้บิดามารดาอยู่ในอาศรมบท ไปนำมูลผลาผลในป่ามาเอง ตั้งไว้ในบรรณศาลา กวาดที่อยู่ของบิดามารดาแต่เช้าทีเดียว ไหว้บิดามารดาแล้วถือหม้อน้ำ ไปสู่มิคสัมมตานที นำน้ำดื่มมา แต่งตั้งของฉันไว้ ให้ไม้สีฟัน และน้ำบ้วนปากเป็นต้น ให้ผลาผลที่มีรสอร่อย. เมื่อบิดามารดาบริโภค แลบ้วนปากแล้ว ตนเองจึงบริโภคผลาผลที่เหลือ เสร็จกิจบริโภคแล้ว ไหว้ลาบิดามารดา. มีฝูงมฤคแวดล้อมเข้าป่า เพื่อต้องการหาผลาผล. เหล่ากินนรที่เชิงบรรพต แวดล้อมพระโพธิสัตว์ช่วยเก็บผลาผลให้พระโพธิสัตว์. เวลาเย็นพระโพธิสัตว์กลับมาอาศรม เอาหม้อตักน้ำมาตั้งไว้ ต้มน้ำให้ร้อนแล้วอาบและล้างเท้าบิดามารดาตามอัธยาศัย นำกระเบื้องถ่านเพลิงมาให้ผิง เช็ดมือเท้าของบิดามารดา. เมื่อบิดามารดานั่งแล้ว ก็ให้บริโภคผลาผล. ส่วนตนเองบริโภคเมื่อบิดามารดาบริโภคเสร็จแล้ว จัดวางผลาผล ที่เหลือไว้ในอาศรมบท. พระโพธิสัตว์ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาโดยทำนองนี้ทีเดียว.
    [​IMG]

    สมัยนั้น พระราชาพระนามว่า ปิลยักขราช เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี. พระองค์ทรงโลภเนื้อมฤค จึงมอบราชสมบัติให้พระชนนีปกครอง ผูกสอดราชาวุธห้าอย่างเข้าสู่หิมวันตประเทศ ทรงฆ่ามฤคทั้งหลายเสวยเนื้อ. เสด็จถึงมิคสัมมตานที แล้วถึงท่าที่สุวรรณสามพระโพธิสัตว์ตักน้ำ โดยลำดับ. ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้ามฤค ก็ทรงทำซุ้มด้วยกิ่งไม้มีสีเขียว โก่งคันศรสอดลูกศรอาบยาพิษ ประทับนั่งเตรียมอยู่ในซุ้มนั้น. ฝ่ายพระมหาสัตว์นำผลาผลมาในเวลาเย็น วางไว้ในอาศรมบท ไหว้บิดามารดาลาไปตักน้ำ ถือหม้อน้ำมีฝูงมฤคแวดล้อม ให้มฤคสองตัวเดินเคียงกัน วางหม้อน้ำดื่มบนหลังมฤค ทั้งสองมือประคองไปสู่ท่าน้ำ. ฝ่ายพระราชาประทับอยู่ในซุ้ม ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ดำเนินมา ทรงคิดว่า เราเที่ยวมาในหิมวันตประเทศ ตลอดกาลถึงเพียงนี้ ยังไม่เคยเห็นมนุษย์ ผู้นี้จะเป็นเทวดาหรือนาคหนอ. ถ้าเราจักเข้าไปไต่ถามผู้นี้ ถ้าเป็นเทวดาก็จักเหาะขึ้นสู่อากาศ ถ้าเป็นนาคก็จักดำดินไป แต่เราจะเที่ยวอยู่ในหิมวันตประเทศ ตลอดกาลทั้งปวงก็หาไม่. ถ้าเราจักกลับพาราณสี อมาตย์ทั้งหลายจักถามเรา ในการที่เราเที่ยวในหิมวันตประเทศนั้นว่า เมื่อพระองค์อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้เคยทอดพระเนตรเห็นอะไรอัศจรรย์บ้าง. เราจักกล่าวว่าได้เคยเห็นสัตว์เช่นนี้ เขาก็จักถามว่า สัตว์นั้นชื่ออะไร. ถ้าเราจักตอบว่า ไม่รู้จัก. เขาก็จักติเตียนเรา เพราะเหตุนั้น เราจักยิงผู้นี้ทำให้ทุรพลแล้วจึงถามเรื่อง.
    [​IMG]

    ลำดับนั้น ในเมื่อฝูงมฤคนั้นลงดื่มน้ำแล้วขึ้นก่อน พระโพธิสัตว์จึงค่อยๆ ลงราวกะพระเถระผู้มีวัตรอันเรียนแล้ว อาบน้ำระงับความกระวนกระวาย แล้วขึ้นจากน้ำ นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เอาหนังเสือพาดเฉวียงบ่า ยกหม้อน้ำขึ้นเช็ดน้ำแล้ววางบนบ่าซ้าย. ก็ในกาลนั้น พระราชาทรงคิดว่า บัดนี้เป็นสมัยที่จะยิง จึงยกลูกศรอาบยาพิษนั้น ขึ้นยิงพระโพธิสัตว์ถูกข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย. ฝูงมฤครู้ว่าพระมหาสัตว์ถูกยิง ตกใจกลัวหนีไป. ฝ่ายสุวรรณสามบัณฑิตแม้ถูกยิง ก็ประคองหม้อน้ำไว้โดยปกติ ตั้งสติค่อยๆ วางหม้อน้ำลง คุ้ยเกลี่ยทรายตั้งหม้อน้ำ กำหนดทิศหันศีรษะไปทางทิศาภาค เป็นที่อยู่ของบิดามารดา เป็นดุจสุวรรณปฏิมานอนบนทรายมีพรรณดั่งแผ่นเงิน. ตั้งสติกล่าวว่า ชื่อว่า บุคคลผู้มีเวรของเราในหิมวันตประเทศนี้ย่อมไม่มี บุคคลผู้มีเวรของบิดามารดาของเราก็ไม่มี กล่าวดังนี้แล้วถ่มโลหิตในปาก ไม่เห็นพระราชาเลย เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า

    ใครหนอใช้ลูกศรยิ่งเราผู้ประมาทกำลังแบกหม้อน้ำ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ คนไหนยิงเราซ่อนกายอยู่.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมตฺตํ ความว่า ผู้ไม่ตั้งสติในการเจริญเมตตา. ก็คำนี้พระโพธิสัตว์กล่าวหมายเนื้อความว่า ได้กระทำตนเป็นผู้ประมาทในขณะนั้น. บทว่า วิทฺธา ความว่า ยิงแล้วซ่อนกายอยู่ในที่นี้ ชนชื่อไรหนอ เป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ ใช้ลูกศรอาบยาพิษยิงเรา ผู้กำลังไปตักน้ำที่มิคสัมมตานที คือชนชื่อไรหนอยิงเราแล้วซ่อนกายอยู่ คือปกปิดตนในพุ่มไม้.

    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงความที่มังสะในสรีระของตน เห็นว่าไม่เป็นภักษา จึงกล่าวคาถาที่สองว่า
    [​IMG]

    เนื้อของเราก็กินไม่ได้ หนังก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเข้าใจว่าเราเป็นผู้ควรยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ.

    ในคาถานั้นมีความว่า ท่านมาณพผู้เจริญ เนื้อของเรา คือเนื้อในสรีระของเรา กินไม่ได้ คือมนุษย์ทั้งหลายไม่พึงกิน. หนังของเรา คือหนังในสรีระของเรา ไม่มีประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย. เมื่อเป็นเช่นนี้ คือแม้เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนี้ได้เข้าใจว่าเราเป็นผู้ควรยิง คือควรแทง คือยิงเราโดยไม่พิจารณาด้วยวรรณะอะไร คือด้วยเหตุอะไร.

    ครั้นกล่าวคาถาที่สองแล้ว เมื่อจะถามถึงชื่อเป็นต้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาว่า
    [​IMG]

    ท่านคือใคร หรือเป็นบุตรของใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร. ดูก่อนสหาย เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด ทำไมท่านยิงเราแล้วจึงซ่อนตัวเสีย.

    ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ได้นิ่งอยู่.

    พระราชาทรงสดับดังนั้น ทรงดำริว่า บุรุษนี้แม้ถูกเรายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษล้มแล้ว ก็ไม่ด่าไม่ตัดพ้อเรา เรียกหาเราด้วยถ้อยคำที่น่ารัก ดุจบุคคลจับฟั้นหัวใจ เราจักไปหาเขา แล้วเสด็จไปประทับยืนในที่ใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วตรัสว่า
    [​IMG]

    เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์ เราละแว่นแคว้นเที่ยวแสวงหามฤค เพราะความโลภ. อนึ่ง เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำนัก แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศรของเรา ก็ไม่พึงพ้นไปได้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชาหมสฺมิ ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้าปิลยักษ์นั้นมีพระดำริอย่างนี้ว่า เทวดาก็ตามนาคก็ตาม ย่อมพูดภาษามนุษย์ได้ทั้งนั้น เราไม่รู้จักผู้นี้ว่าเป็นเทวดา หรือนาค หรือมนุษย์ ถ้าเขาโกรธ จะทำให้พินาศได้. เมื่อกล่าวถึงเราว่า เป็นพระราชา ใครๆ ที่ไม่กลัวย่อมไม่มี เพราะเหตุดังนี้นั้น เพื่อจะให้รู้ว่าพระองค์เป็นพระราชา จึงได้ตรัสก่อนว่า ราชาหมสฺมิ ดังนี้. ดูก่อนมาณพผู้เจริญ เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คือของชนผู้อยู่ในกาสิกรัฐ. บทว่า มํ ได้แก่ ประชาชนรู้จักเราโดยนามว่า พระเจ้าปิลยักษ์. บทว่า วิทู ได้แก่ รู้จัก คือเรียก. บทว่า โลภา ความว่า มอบราชสมบัติแก่พระชนนี เพราะความโลภเนื้อมฤค. บทว่า มิคเมสํ ได้แก่ แสวงหา คือค้นหาเหล่ามฤค. บทว่า จรามหํ ความว่า เราเที่ยวไปในป่าผู้เดียวเท่านั้น พระราชาประสงค์จะแสดงกำลังของพระองค์ จึงตรัสคาถาที่สอง. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิสฺสฏฺเฐ ได้แก่ ในธนูศิลป์. บทว่า ทฬฺหธมฺโม ความว่า เป็นผู้สามารถโก่งและลดซึ่งธนูอันหนัก คือธนูหนักพันแรงคนยกได้ ได้ยินกันแพร่หลาย คือปรากฏไปทั่วพื้นชมพูทวีป. บทว่า อาคโต อุสุปาตนํ ความว่า ช้างที่มีกำลังมาในที่ลูกศรของเราตก ก็ไม่พ้นจากที่ไปได้ถึงเจ็ดก้าว.

    พระราชาทรงสรรเสริญกำลังของพระองค์ ดังนี้แล้ว เมื่อจะตรัสถาม ชื่อและโคตรของพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า
    [​IMG]

    ท่านคือใคร หรือเป็นบุตรของใคร พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร ท่านจงแจ้งชื่อและโคตรของบิดาท่านและของตัวท่าน.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเวทย แปลว่า พึงบอก.

    พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้าเราบอกว่า เราเป็นเทวดา นาค ยักษ์ กินนร หรือเป็นกษัตริย์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. พระราชานี้ย่อมเชื่อคำของเรา เราควรกล่าวความจริงเท่านั้น ดำริฉะนี้แล้ว จึงทูลว่า

    แหล่งที่มา www.84000.org
     

แชร์หน้านี้

Loading...