ส่งท้ายปีเก่า 61 ต้อนรับปีใหม่ 62 ด้วยหลักธรรม ‘หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต’

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 30 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b2e0b8a2e0b89be0b8b5e0b980e0b881e0b988e0b8b2-61-e0b895e0b989e0b8ade0b899e0b8a3e0b8b1e0b89ae0b89b.jpg
    ผู้เขียน วิชัย เทียนถาวร

    ความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาในอาณาจักรสุวรรณภูมิ นับเนื่องจากอดีตเกิดขึ้นจากการที่แผ่นดินนี้มีพระมหากษัตริย์ ผู้ประเสริฐ เห็นพระคุณในพระพุทธศาสนา เหล่ามหาราชานับแต่โบราณกาลจึงประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ น้อมถึงพระรัตนตรัย นำพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แม้มีบางช่วงบางขณะบ้านเมืองเกิดภัยพิบัติ องค์พระมหากษัตริย์รวมถึงบรรพบุรุษทุกรุ่นเหล่า ต่างก็พร้อมเสียสละเลือดเนื้อ เพื่อรักษาชาติ ธำรงพระศาสนาเอาไว้

    ในปีพุทธศักราช 2549 อันเป็นช่วงเวลามหามงคลนี้ มูลนิธิพุทธสมุนไพรคู่แผ่นดินไทยได้จัดทำหลักศิลาจารึกพระธรรมคำสอนของสมณนักปราชญ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จำรวน 38 หลัก ซึ่งรวมถึงพระสถูปศิลามหามงคลบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์ไว้ ณ พุทธสถานทรัพยากรวัดแสงอรุณ (วัดป่าดานวิเวก) จังหวัดหนองคาย เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐนับแต่อดีตกาลเป็นต้นมา และรำลึกพระคุณบรรพบุรุษของชาติที่สละชีวิต กู้บ้านกู้เมือง รักษาพระศาสนาไว้

    เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ผู้เขียนได้รับแจกหนังสือ “หลักธรรมชุดศิลาจารึก พระภูริทัตโต หลวงปู่มั่น” และได้อ่านบทความ เรื่อง “ทาน ศีล ภาวนา ศีล 5” พบว่าทรงคุณค่ามากควรแก่การเผยแพร่ ความว่า…

    ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิต ต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้การเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆ ก็ตามที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้หวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศล คือ ความดีที่เกิดจากทานนั้นซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชนโดยไม่นิยมรูปร่างลักษณะ ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก จะตกทิศใด แดนใด ย่อมไม่อดอยากขาดแคลน หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตา รู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจแม้แต่คนที่มั่งมีแต่แสนตระหนี่ถี่เหนียว ก็ยังหวังต่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้อื่นเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วๆ ไป ไม่ต้องพูดถึงคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ไม่หวังให้ผู้อื่นช่วยเหลือ จะไม่มีในโลกเมืองไทยเรา

    อำนาจทาน ทำให้ผู้มีใจชอบบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์บันดาลไม่ให้อดอยาก ในภพที่เกิดกำหนดที่อยู่นั้น ๆ ฉะนั้นทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทานการเสียสละ จึงเป็นเครื่องและเป็นผู้ค้ำจุนหนุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่ยังมีการสงเคราะห์กันอยู่ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิงเหลือแต่ซากคือแผ่นดินแน่ๆ

    ทาน จึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่วๆ ไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป

    ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน และทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน ศีล คือ พืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยม ที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเสีย เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น และเป็นเครื่องประดับตัวเสียเลย ก็คือกองเพลิงแห่งมนุษย์เราดีๆ นี่เอง การเบียดเบียนและทำลายกัน ย่อมมีไปทุกหย่อมหญ้าและทั่วโลกดินแดน ไม่มีเกาะมีดอนพอจะเอาศีรษะซุกนอน ให้หลับสนิทได้โดยปลอดภัย แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์บนท้องฟ้า แต่ความรุ่มร้อนแผดเผา จะทวีคูณยิ่งกว่า พระอาทิตย์เป็นไหนๆ โลกจไม่มีที่ปลงใจได้เลย ถ้ายังมัวคิดว่าวัตถุมีค่ายิ่งกว่าศีลธรรมอยู่ เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติของจอมมนุษย์ คือ “พระพุทธเจ้า” ผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์ พอให้สว่างไสว ร่มเย็นอาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรม เป็นเครื่องปัดเป่ากำจัด

    ลำพังความคิดของมนุษย์ที่มีกิเลส คิดผลิตอะไรออกมา ทำให้โลกร้อนจะบรรลัยอยู่แล้ว ยิ่งจะปล่อยให้คิดตามอำนาจ โดยไม่มีกลิ่นแห่งศีลธรรมช่วยเป็นยาแก้และชโลมไว้บ้าง ก็น่ากลัวความคิดนั้นๆ จะผลิตยักษ์ใหญ่ตัวโหดร้ายที่ทรงพิษขึ้นมากี่แสนกี่ล้านตัว ออกเที่ยวหากว้านกินมนุษย์ให้ฉิบหายกันทั้งโลก ไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูงสุด คือ พระพุทธเจ้า มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้ง กับความคิดที่เป็นไปด้วยกิเลส ที่มีผลให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน จนจะคาดไม่ถึงนี่แล เป็นความคิดที่ผิดกันอยู่มาก พอจะนำมาเทียบเคียงเพื่อหาทางแก้ไข ผ่อนหนักผ่อนเบาลงได้บ้าง ไม่จมไปกับความคิดประเภทนั้นจนหมดทางแก้ไข

    “ศีล” จึงเป็นเหมือนยาปราบโรค ทั้งโรคระบาดและโรคเรื้อรัง อย่างน้อยก็พอให้คนไข้ที่สุมด้วยกิเลสกินอยู่หลับนอนได้บ้าง ไม่ถูกบีบคั้นด้วยโรคที่เกิดแล้วไม่ยอมหายนี้ตลอดไป มากกว่านั้นก็หายขาดอยู่สบาย ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาสั่งสอนฆราวาส ให้รู้คุณของศีลและให้รู้โทษของความไม่มีศีลอย่างถึงใจจริงๆ ฟังแล้วจับใจไพเราะ แม้ผู้เขียนเอง พอได้ทราบว่าท่าน (พระอาจารย์มั่น) สั่งสอนประชาชนให้เห็นโทษเห็นคุณในศีลอย่างซาบซึ้งจับใจเช่นนั้น ยังเผลอตัวไปว่า “อยากมีศีล 5 กับเขาบ้าง” ทั้งๆ ที่ขณะนั้นตนก็มีศีลอยู่ถึง 227 ศีลอยู่แล้ว เพราะความปีติผาดโผนไปบ้าง เวลานั้นจึงขาดสติไปพักหนึ่ง พอได้สติขึ้นมาเลยนึกอายตัวเองและไม่กล้าบอกใคร กลัวท่านเหล่านั้นจะหาว่าเราบ้าซ้ำเข้าไปอีก เพราะขณะนั้น เราชักจะบ้าๆ อยู่บ้างแล้ว ที่คิดว่าอยากมีศีล 5 กับฆราวาสเข้าโดยไม่คลำดูศีรษะบ้างเลย อย่างนี้แล

    [​IMG] [​IMG]

    คนเราเวลาคิดไปทางชั่วจนถึงกับทำชั่ว ตามความคิดจริงๆ ก็คงเป็นไปในลักษณะดังกล่าวมา จึงควรสำเหนียกในความคิดของตนไปทุกระยะ ว่าคิดไปในทิศทางดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดต้องคอยชักบังเหียนไว้เสมอ ไม่เช่นนั้นมีหวังเลยเถิดได้แน่นอน

    ภาวนา คือ การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรมรู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้ติดผาดโผนโลดเต้นแบบ ไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผลอันจะเป็นทางแห่งความสงบสุขใจที่ยังมิได้รับรองอบรมจากภาวนา จึงยังเป็นเหมือนสัตว์ ที่ยังมิได้รับการฝึกหัดให้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนมากน้อยก็ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ตามประเภทของมันก่อน ถึงจะได้รับประโยชน์ตามควร ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัวเสียบ้างจะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลายทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ทั้งภายในและภายนอกผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่ค่อยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่แน่ใจ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ตน และผู้เกี่ยวข้องตลอดส่วนรวมเมื่อผิดพลาดลงไป

    การภาวนาจึงเป็นไปเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต ไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง ประโยชน์สำคัญคือประโยชน์เฉพาะหน้าที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนาจะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ทำก็ไม่ทำแบบขอไปที แต่ทำด้วยความใคร่ครวญและเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้ว จะไปมาในทิศทางใด จะทำอะไรย่อมเล็งถึงผลได้เสียเกี่ยวกับการนั้นๆ เสมอ การปกครองตนก็สะดวกไม่ฝ่าฝืนตัวเอง ซึ่งเป็นผู้มีหลักเหตุผลอยู่แล้ว ถือหลักความถูกต้อง เป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจประจำตัว ไม่ยอมเปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากไป อยากมา อยากทำ อยากพูด อยากคิด ที่เคยเป็นดั้งเดิม เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิดถูกดีชั่วเสียมากต่อมาก และพาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วนประมาณไม่ถูก จะเอาโทษกับมันก็ไม่ได้ นอกจากยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย แล้วพยายามแก้ตัวใหม่เท่านั้น เมื่อยังมีสติอยู่บ้างพอจะหักล้างกันได้ ถ้าไม่มีสติพอระลึกบ้างเลยแล้ว ทั้งของเก่าก็เสียไป ทั้งของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย ไม่มีวันกลับฟื้นตัวได้เลย นี่แลเรื่องของกิเลส ต้องพาให้เสียหายเรื่อยไป

    ฉะนั้น การภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้างความลามกไม่มีเหตุผลของตนได้ดี แต่วิธีภาวนานั้นรู้สึกลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นการบังคับใจ ซึ่งเหมือนบังคับลิงให้อยู่เชื่องๆ พองามตาบ้าง ย่อมเป็นของลำบากฉันนั้น

    อานิสงส์ของการรักษาศีล 5 : 1.ทำให้อายุยืนปราศจากโรคภัยเบียดเบียน 2.ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวีเบียดเบียนทำลาย 3.ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภรรยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุกไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกราย ต่างครองกันอยู่ด้วยความเป็นสุข 4.พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ ด้วยศีล 5.เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลังจับโน่นชนนี่เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้ ผู้มีศีลเป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลกให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

    ศีลนั้นอยู่ที่ไหน มีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษา แล้วก็รู้ว่าผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหวไม่มีเรื่อง หลงหา หลงขอ คนที่หา คนที่ขอต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไรยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญ

    กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้จากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว รักษาได้ ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล

    ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่ง บริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่อด ไม่อยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์ จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวรหมดภัย หากยิ่งเข้าสู่ “ทาน ศีล ภาวนา” ย่อมนำไปสู่ธรรมะ ที่ว่า คือ “ไตรสิกขา” ศีล สมาธิ ปัญญา ในที่สุดไงเล่าครับ

    อนึ่ง เนื่องในวันพรุ่งนี้ วันที่ 31 ธ.ค.61 วันส่งท้ายปีเก่า และ วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นวันต้อนรับปีใหม่ ผู้เขียนและหนังสือพิมพ์มติชน ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ประทานพรให้มวลสมาชิกหนังสือพิมพ์มติชน ตลอดจนประชาชนทั้งประเทศ 65 ล้านคน จงมีสุขภาพร่างกาย สมบูรณ์แข็งแรง สุขกายสุขใจ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า พบแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย สมหวังและโชคดีตลอดไปด้วย “หลักธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ สำหรับชาวไทยนะครับ

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/columnists/news_1293673
     

แชร์หน้านี้

Loading...