หลวงปู่ขำ อริยสงฆ์รัตตัญญู แห่งเมืองตักสีลานคร มหาสารคาม

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย momotaro67, 18 สิงหาคม 2018.

  1. momotaro67

    momotaro67 เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    7,026
    ค่าพลัง:
    +5,457
    ?temp_hash=a5c1f4d0c602022a3edd1fdc855b65b1.jpg

    หลวงปู่ขำ เกสโร อริยสงฆ์รัตตัญญู แห่งเมืองตักสีลานคร มหาสารคาม
    "พระครูโสภณสราธิการ" หรือที่ชาวบ้านมักเรียกขานว่า "หลวงปู่ขำ เกสโร" ด้วยเป็นนามที่คุ้นเคยต่อการเรียกขานของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ รวมทั้ง ผู้ใกล้ชิดที่เลื่อมใสศรัทธา เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย มีจิตใจเปี่ยมด้วยความเมตตา เป็นพระนักพัฒนา นักปกครอง นักการศึกษา อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง เป็นพระเกจิชื่อดังมหาสารคาม เป็นศิษย์สืบสายธรรม หลวงปู่เนาว์ ยโสธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองแดง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม

    ปัจจุบัน หลวงปู่ขำ เกสโร สิริอายุ 91 พรรษา 71 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองแดง ต.หนองกุง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม และที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลหนองกุง ถือเป็นพระเถระที่อายุพรรษามากที่สุดรูปหนึ่ง มีนามเดิมว่า นายขำ ธรรมดา เกิดเมื่อ พ.ศ.2471 ที่บ้านหนองแดง ต.หนองกุง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม บิดา-มารดา ชื่อ นายโด่ และ นางเข็ม ธรรมดา ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

    ชีวิตในวัยเด็ก เป็นคนที่เรียบง่าย อ่อนน้อม ถ่อมตน นิสัยชอบเข้าวัดฟังธรรม ผิดกับเด็กอื่นวัยเดียวกัน เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ก่อนออกมาช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีจิตใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรม เมื่ออายุ 13 ปี บิดา-มารดานำไปฝากที่วัดในหมู่บ้าน และให้บรรพชาเป็นสามเณร กระทั่งอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ.2492 เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบ้านค้อธิ มีหลวงปู่รอด พรหมสโร วัดหนองกุง อ.นาเชือก เป็นพระอุปัชฌาย์, เจ้าอธิการเนาว์ วัดหนองแดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อสุบิน วัดหนองม่วง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบท จำพรรษาอยู่วัดบ้านเกิด มุมานะศึกษาพระธรรมวินัย สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก

    นอกจากนี้ยังขอฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษา วิทยาคมจากหลวงปู่เนาว์ ยโสธโร อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองแดง มีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาได้กราบลาหลวงปู่เนาว์ พระอาจารย์ออกเดินธุดงค์ เสริมสร้างบารมีธรรมไปยังสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขาในเขตพื้นที่ภาคอีสาน และบางปีขึ้นไปไกลถึงเขตอำเภอบางมูลนาก จ.พิจิตร ในปี พ.ศ.2501-2503 มีโอกาสเข้ากราบนมัสการและฝากตัวเป็นศิษย์พระเถระชื่อดังรูปหนึ่งของจังหวัดพิจิตร คือ หลวงปู่เขียน ธัมมรักขิโต วัดสำนักขุนเณร ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ตามแนวทางครูบาอาจารย์สั่งสอน จนเป็นที่พึงพอใจ

    จากนั้น ออกเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ จำพรรษาที่ อ.พร้าว เป็นระยะเวลา 2 พรรษา ช่วงนั้นมีโอกาสเข้ากราบนมัสการและสนทนา ธรรมกับ "หลวงปู่แหวน สุจิณโณ" วัดดอยแม่ปั๋ง พระมหาเถระแห่งล้านนาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น ต่อมาเดินทางกลับมายังทางภาคอีสาน โดยได้อยู่จำพรรษาที่วัดโนนสว่าง อ.หนองบัว ลำภู จ.อุดรธานี เป็นระยะเวลากว่า 7พรรษา จนถึงปี พ.ศ.2512 หลวงปู่เนาว์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองแดง ซึ่งเป็นพระอาจารย์รูปแรกของท่าน อาพาธหนัก จึงได้สั่งให้ญาติโยม ไปนิมนต์ท่านกลับมาที่วัดบ้านหนองแดง

    ภายหลังหลวงปู่เนาว์มรณภาพ ท่านได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาสวาสวัดบ้านหนองแดง สืบแทนพระอาจารย์เรื่อยมาตราบจนถึงปัจจุบัน ด้วยความที่หลวงปู่ขำ เป็นพระปฏิบัติดี ทำให้ชื่อเสียงของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอนาเชือกและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจึงมีญาติโยมจำนวนมากเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เสริมความเป็นสิริมงคลกับท่านอย่างไม่ขาดสาย

    ส่วนปัจจัยที่ได้จากการบริจาค ท่านนำมาพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้ ก่อสร้างถาวรวัตถุอย่างมากมาย อาทิ กุฏิ ศาลาการเปรียญ กำแพงแก้ว ประตูโขง หอระฆัง เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านยังให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาสงฆ์ บริจาคปัจจัยส่วนตัวให้การสนับสนุนการเรียนการสอนแก่พระภิกษุสามเณรลูกวัดมาโดยตลอด หากพระภิกษุ-สามเณรรูปใดมีความตั้งใจเรียนและเรียนดี ท่านจะจัดหาทุนมอบให้ทุกปี หากรูปใดไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านก็ใช้ความเมตตาคอยชี้แนะอบรมสั่งสอน

    ลำดับสมณศักดิ์ ในปี 2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูโสภณสราธิการ พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ในราชทินนามเดิม ด้านการสร้างวัตถุมงคลของหลวงปู่ขำ ไม่ได้จัดสร้างบ่อยนัก นานครั้ง ในวาระพิเศษจึงจะมีการจัดสร้างสักครั้งหนึ่ง ท่านจะเน้นคำสอนให้ลูกศิษย์นำไปปฏิบัติมากกว่า ด้านวัตถุมงคลของท่าน มีจำนวนไม่มากนัก แต่ได้รับความนิยมไม่น้อย เช่น เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก เป็นต้น

    แม้หลวงปู่ขำจะอยู่ในช่วงปัจฉิมวัย แต่สภาพร่างกายยังคงแข็งแรง ส่วนหลักธรรมคำสอนที่พร่ำสอนมาโดยตลอด เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์ร่วมโลก และให้ยึดศีล 5 ไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพียงเท่านี้จะทำให้ชีวิตพานพบแต่ความสุขความเจริญ นับเป็นพระเถระรัตตัญญูที่น่ากราบไหว้โดยแท้

    ?temp_hash=a5c1f4d0c602022a3edd1fdc855b65b1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...