หลวงปู่สาร์ กนฺตสีโล : พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 14 พฤษภาคม 2011.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สงครามอินโดจีน ทิ้งระเบิดเมืองอุบลฯ


    อาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติ ท่านพาไปดูสงครามอินโดจีน ซึ่งมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองอุบลฯ ก็ขอเชิญพวกเราย้อนเวลาตามไปดูเหตุการณ์ในอดีตด้วยกันครับ

    “ลุปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ประเทศไทยเรียกร้องขอดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดไปจากไทย เช่น จังหวัดศรีโสภณ เสียมราฐ พระตะบอง และนครจำปาศักดิ์ ตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ กลับคืน ฝรั่งเศสไม่ยอมคืนทำให้เกิดสงครามอินโดจีนขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

    กองทัพไทยสามารถเข้าไปยึดพื้นที่ที่เรียกร้องคืนมาได้ทั้งในกัมพูชา และ ลาว

    สงครามครั้งนั้น ยุติลงด้วยการช่วยประนีประนอมจากญี่ปุ่นที่เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยให้ประเทศสยามได้จังหวัดในอินโดจีนกลับคืนมา เหตุการณ์สงครามอินโดจีนครั้งนั้น ตรงกับช่วงเวลาที่มีการทำบุญฉลองอายุ ๘๐ ปี ของท่านพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานีพอดี

    คุณตาบุญเพ็ง คุณยายสีฟอง เล่าให้ฟังว่า - วันนั้นเป็นวันทำบุญวันสุดท้าย ตอนเช้าขณะพระสงฆ์กำลังฉันจังหัน มีผู้มาแจ้งว่าให้พากันระมัดระวัง เตรียมพร้อมหลบภัยให้จงดี เครื่องบินฝรั่งเศสจะมาทิ้งระเบิดเมืองอุบลฯ เร็วๆ นี้

    ผู้คนทั้งหลายเกิดแตกตื่น พากันหอบลูกจูงหลานขนข้าวของไปหาที่หลบภัยกันนอกเมืองอย่างโกลาหล ไม่นานนักเมืองอุบลฯ ก็เงียบสงัดราวกับเมืองร้าง เหลือเพียงทหาร ตำรวจ คอยตรวจตราดูแลรักษาบ้านเรือนทรัพย์สินที่ถูกทิ้งไว้

    บ้านไหนมีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ชาย ก็จะแบ่งให้ไปนอนเฝ้าบ้าน คนที่มีความจำเป็นหรือใจกล้าหน่อยก็อยู่เฝ้าทรัพย์สินสิ่งของ นอกนั้นก็เป็นภาระหน้าที่ของตำรวจที่คอยตรวจตรารักษา คุ้มครองบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เป็นที่อบอุ่นใจและที่พึ่งอาศัยของชาวเมืองอุบลฯ ได้อย่างยอดเยี่ยมและดียิ่ง

    ท่านข้าหลวงประจำจังหวัด ผู้ร่วมเป็นร่วมตายกับชาวเมืองอุบลฯ อย่างเข้มแข็งในครั้งนั้นคือ พ.ต.อ.พระกล้ากลางสมร (มงคล หงส์ไกร )

    ครั้งนั้นมารดาพร้อมด้วยคุณยายของข้าพเจ้า (คุณตาบุญเพ็ง) ได้พากันทิ้งบ้านเรือนจากคุ้มท่าตลาด ไปอพยพหลบภัยใช้ชีวิตอยู่บนเรือ จอดหลบอยู่ใต้พุ่มไม้ริมฝั่งปากมูลน้อย เหนือเมืองอุบลฯ แต่เพื่อนบ้านส่วนมากจะพากันหลบไปทางใต้ตามลำน้ำมูล

    เสบียงอาหารที่นำไปก็มีข้าวสารกับเค็มสับปะรด (อาหารขึ้นชื่อของชาวอุบลฯ) แล้วไปหาขุดเอาหอยตามริมน้ำมาประกอบอาหาร

    ตอนกลางคืน ต้องพรางไฟ อากาศหนาวเย็น ไม่นานก็ได้ยินเครื่องบิน หรือที่ผู้สูงอายุรุ่นยายทวดเรียกเฮือเหาะ ส่งเสียงดังกระหึ่มมาจากต้นน้ำมูล บินผ่านเข้าไปในตัวเมือง

    เสียงระเบิดดัง ตูมๆ . ก้องกังวานอยู่ห่างไป เข้าใจว่าอยู่แถวท้ายเมืองอุบลฯ

    “ครั้งนั้นผู้คนตื่นกลัวกันมาก เพราะไม่เคยผจญเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แม้แต่พระเณรบางองค์ก็กลัวเฮือเหาะกัน ชนิดหอบบาตรหนีหายไปจากหมู่พวกจนมองตามแบบไม่ทันเลยก็มี !

    ส่วนองค์ท่านหลวงปู่ผู้เฒ่า (หลวงปู่ใหญ่) นั้นอยู่เป็นประมุขประชาชนในวัดบูรพารามนั่นเอง

    ครั้นตกค่ำ องค์ท่านได้เข้าไปพักในพระอุโบสถ (หลังเก่า) พระอุปัฏฐากเข้าไปอยู่คอยรับใช้ (รวมทั้งคุณตาบุญเพ็ง ซึ่งยังเป็นพระบุญเพ็ง นารโท ด้วย)

    สักครู่หนึ่งองค์ท่านก็บอกว่า -เอาหละ พอสมควรแก่เวลาแล้ว พากันไปพักผ่อนซะ- แล้วองค์ท่านก็ปิดประตูอุโบสถอยู่ภายในองค์เดียว

    พระลูกศิษย์ไม่วายเป็นห่วงองค์ท่าน ได้พากันพักนอนเฝ้าระแวดระวังอยู่ภายนอกอุโบสถนั่นเอง

    แล้วคืนนั้น ! เครื่องบินฝรั่งเศสก็บินมาทิ้งระเบิดจริงๆ !

    ข่าวว่า...ลูกระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่เล้าหมูในเมือง หมูบ้านนั้นตายเกลื่อน

    อีกลูกหนึ่งไปตกนอกเมือง ไม่มีใครเป็นอันตราย

    คุณตาบุญเพ็ง เล่าต่ออีกว่า เครื่องบินฝรั่งเศสจะบินตามลำน้ำมูลมาทิ้งระเบิดในตอนกลางคืนหลายครั้ง และไม่นานหลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็เข้ามาไกล่เกลี่ย..แล้วกองทัพของญี่ปุ่นก็ถือโอกาสขอเดินทัพผ่านไทยสงครามอินโดจีนก็สงบลง.


    ยังครับท่าน! กลิ่นอายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เริ่มครุกรุ่นขึ้นมาแทนที่ ผมของดเว้นการเล่าเรื่องนี้ เพราะตอนนั้นผมยังไม่เกิดครับ!

    <TABLE id=table68 border=0><TBODY><TR><TD align=middle>
    [​IMG]
    </TD></TR><TR><TD align=middle>กุฏิหลวงปู่ใหญ่ วัดดอนธาตุ
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ผึ้งขวางตะวัน


    ครูบาอาจารย์บอกว่า ที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล โดนผึ้งต่อยเป็นเรื่องกรรมของท่าน แล้วก็ยังไม่เห็นมีท่านผู้ใดอธิบายความในเรื่องนี้

    เหตุการณ์ที่หลวงปู่ใหญ่โดนผึ้งต่อย ถูกเล่าถ่ายทอดโดยหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท วัดภูริทัตตปฎิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งคณะศิษย์นำลงในหนังสือ “หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง”

    เรื่องราวมีดังนี้.
    :-

    “ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) ได้เดินทางติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ฉะนั้นในระยะ ๓ ปีนี้เราเป็นพระอุปัฏฐากประจำ

    เมื่อเดินทางถึงสกลนครและพักฟื้นอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสได้ ๒-๓ วัน ท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ก็มีจดหมายมานิมนต์ ท่านพระอาจารย์มั่น เนื่องจากหลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมอบหมายให้เราเดินทางไปอุบลฯ แทน เพื่อดูแลอุปัฏฐากในอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์ และกราบเรียนตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งมา

    เราจึงออกเดินทางโดยรถยนต์ยังจังหวัดอุบลราชธานีและเดินเท้าไปพบกับท่านหลวงปู่เสาร์ ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

    ก่อนหน้าที่เราจะมาถึงวัดดอนธาตุนั้น มีอยู่วันหนึ่ง ตอนบ่ายหลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งได้บินโฉบไปโฉบมาเพื่อหาเหยื่อ จะด้วยกรรมแต่ปางใดของท่านไม่อาจทราบได้ เหยี่ยวได้บินมาโฉบเอารังผึ้ง ซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่พอดิบพอดี รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาด้านข้างๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รวมกันต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลดพวกมันจึงพากันหนีไป.

    จากเหตุการณ์ที่ผึ้งต่อยนั้นมา ทำให้หลวงปู่เสาร์ป่วยกระออดกระแอดมาโดยตลอด

    เมื่อ (หลวงปู่เจึ๊ยะ) ถึงวัดดอนธาตุได้ ๒
    -๓ วัน หลวงปู่เสาร์ท่านอาการหนักขึ้นโดยลำดับ เราอยู่ปฏิบัติท่านจนกระทั่งหายเป็นปกติดีแล้ว”

    ในหนังสือของอาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติ เขียนถึงเหตุการณ์เดียวกัน ดังนี้ : -

    “...สาเหตุเพราะเหยี่ยวตัวหนึ่ง ได้บินโฉบเอารวงผึ้งรังใหญ่ที่ทำรังสูงใต้กิ่งต้นยางใหญ่ ข้างศาลาด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กิ่งนี้อยู่สูง ทอดกิ่งชี้ไปทางทิศใต้ ทำให้รังผึ้งนี้อยู่แนวเหนือใต้ เรียกว่าผึ้งขวางตะวัน

    พอเหยี่ยวบินโฉบมาครั้งที่สอง รวงผึ้งทั้งรังก็หล่นเป๊ะลงมา !

    ผึ้งฝูงใหญ่ บินจู่โจมมารุมต่อยองค์หลวงปู่ที่เดินจงกรมอยู่แถวนั้นพอดี

    พระอาจารย์เหลี่ยม ตะโกนขึ้นว่า ผึ้งต่อยพระอาจารย์

    พระ เณร ลูกศิษย์ วิ่งฝ่าฝูงผึ้งไปนำเอาองค์ท่านเข้าอยู่ในมุ้งกลดบนกุฏิ ที่โดนผึ้งรุมต่อยก็แยกย้ายกันหลบหนี กระโดดลงน้ำมูลหนีรอดไปได้

    องค์ท่านโดนพิษเหล็กไนทั่วตัวจนจับไข้อยู่สองวันจึงหาย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์ท่านมักเจ็บไข้ได้ป่วยมาตั้งแต่ครั้งนี้นั่นเอง

    ข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือ
    “พระปรมาจารย์สายพระกัมมัฏฐาน ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ” มีว่า :-

    “ท่านพระอาจารย์เสาร์บอกว่า บุพกรรมข้อยตอนเป็นฆราวาสได้ไปหาปลาตอนน้ำลงที่บ้านข่าโคม และไปฟันปลา แล้วร้อยปลาเป็นพวงๆ บุพกรรมที่ทำลายชีวิตปลา ฆ่าปลา กรรมนี้จึงมาโดนกับข้อย”

    ท่านเคยบอกกับญาติโยมก่อนหน้าจะถูกผึ้งต่อยว่า
    “ข้อยสิตายจากเพราะผึ้ง” ญาติโยมที่นำน้ำผึ้งมาถวายท่านก็เลยไม่นำน้ำผึ้งมาถวายท่านอีกเลยตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต่อมาท่านก็โดนผึ้งต่อยจริงๆ นับแต่นั้นมาองค์ท่านก็มีอาการเจ็บไข้ไม่สบายเรื่อยมา ประกอบกับความชราของท่านจึงได้มีอาการเจ็บป่วยของธาตุขันธ์อยู่เสมอ”

    <TABLE id=table69 border=0><TBODY><TR><TD align=middle>
    [​IMG]
    </TD></TR><TR><TD align=middle>ต้นยางใหญ่ข้างศาลา ที่ผึ้งขวางตะวันทำรังอยู่
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ทำให้ดู มันก็ยังไม่ดู


    หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ได้พูดถึงวัดดอนธาตุ และเรื่องราวที่ท่านไปอุปัฎฐาก หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ดังนี้

    วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ราวๆ ๑๓๐ ไร่ มีแม่น้ำมูลล้อมรอบเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ เป็นวัดที่ท่านหลวงปู่เสาร์มาสร้างเป็นองค์แรก

    แต่ก่อน บางส่วนในบริเวณที่เป็นวัดเป็นทุ่งนาชาวบ้าน เมื่อหลวงปู่เสาร์ท่านมาภาวนา ญาติโยมเกิดความเลื่อมใส จึงถวายเป็นที่วัดบริเวณเกาะกลางแม่น้ำมูลนี้เป็นวัดทั้งหมด

    เดิมเขาเรียกกันว่า ดอนทาก เพราะมีตัวทากเยอะ เป็นป่าดิบชื้นชาวบ้านเข้ามาหาของป่า ถูกตัวทากกัด มีตัวทากยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ชาวบ้านเรียกเพี้ยนจากดอนทาก กลายเป็นดอนธาตุ อาจเป็นเพราะหลวงปู่เสาร์ท่านเข้ามาอยู่ด้วย เขาจึงเรียกว่าดอนธาตุ

    (จากในตอนต้นๆ หลวงปู่ใหญ่ท่านว่าเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุฝุ่น หรือพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า แต่ถูกน้ำพัดพังหายไป ท่านจึงให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นมาแทน-ปฐม)

    <TABLE id=table70 border=0 align=left><TBODY><TR><TD align=middle>
    [​IMG]
    </TD></TR><TR><TD align=middle>พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    หลวงปู่เจี๊ยะ พูดถึงอุปนิสัยของหลวงปู่ใหญ่ ว่า.:-

    ตอนที่เรา พระเจี๊ยะ มาหาหลวงปู่ใหญ่ ท่านอยู่ที่นี่ ท่านไม่ค่อยเทศน์นักหรอก มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเข้าไปหาท่าน ดูแลท่านเรื่องอาพาธเมื่อท่านหายป่วย ร่างกายมีเรี่ยวแรง ญาติโยมขอฟังเทศน์ท่าน ว่า

    “หลวงปู่ เทศน์ให้ฟังหน่อย พวกขะน้อยอยากฟังธรรม” โยมที่มาถวายภัตตาหารเช้าเข้านิมนต์ให้เทศน์ หลังจากท่านฉันเช้าเสร็จ

    “ทำให้ดูมันยังไม่ดู ปฏิบัติให้ดูอยู่ทุกวัน มันยังไม่ปฏิบัติตามเทศน์ให้ฟังมันจะฟังคือพวกเจ้า? ข้อยเฮ็ดให้เบิ่งยังบ่เบิ่ง เทศน์ให้พวกหมู่เจ้าฟัง หมู่เจ้าสิฟังหรือ?”

    เมื่อหลวงปู่เสาร์พูดเสร็จ ท่านก็จะสั่งให้ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ผู้เป็นลูกศิษย์ที่นั่งเป็นลำดับต่อจากท่านไปเป็นองค์เทศน์

    ท่านมีปกติเป็นพระพูดน้อย ต่อยมาก ส่วนมากท่านทำให้ดูเพราะท่านมีคติว่า
    “เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ด หลายกว่าคำเว้าที่เฮาสอน” (เขาจะเชื่อในความดีที่เราทำ มากกว่าจะเชื่อในคำที่เราพูด
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การักหลวงปู่ใหญ่


    เรื่องนี้ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ก็เป็นผู้เล่าให้ฟัง : -

    ก่อนที่หลวงปู่เสาร์ ท่านจะมาอยู่ดอนธาตุนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเดินธุดงค์มาเรื่อยๆ พักตามบ้านนอกชนบทท้องนา ตามทุ่งลอมฟางโรงนาโคนไม้ ฯลฯ ค่ำที่ไหนก็หาที่พักปักกลดที่นั่นบางทีก็มีพระติดตามรูปสองรูป

    ก่อนที่จะเข้ามาดอนธาตุ ท่านได้เข้าไปวิเวกพักที่บ้านดอนพันชาติ บริเวณต้นค้อใหญ่ใบดกหนาให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี พระติดตามก็ปักกลดในบริเวณใกล้ๆ

    ต้นค้อใหญ่นี้อยู่ระหว่างบ้านดอนพันชาติ กับโรงสีพงษ์พานิชย์ อยู่กลางทุ่งนา

    เมื่อท่านมาพักอยู่ที่นั่น ญาติโยมก็ทำกระท่อมน้อยๆ ให้ท่านพัก ตอนเช้าๆ ท่านก็จะออกเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านดอนพันชาติ พวกเจ๊กพวกจีนที่ทำมาค้าขายเป็นลูกจ้างอยู่แถวโรงสี ก็จะเข้ามาทำบุญในตอนเช้า

    ท่านเล่าว่ามีเรื่องน่าแปลก คือ กา

    อีกานี่มันแปลก ท่านเล่า ในบริเวณต้นค้อใหญ่จะมีอีกาอยู่ฝูงใหญ่ๆ ร้องกาๆ อยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านเขาไม่กล้าไปทำอะไรมันหรอกเพราะกลัว บางคนกว่าเป็น กาตาปู่ ที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นค้อใหญ่ เป็นเจ้าที่ ใครไปฆ่าไม่ได้ ต้องเป็นไปต่างๆ นานา

    เมื่อหลวงปู่เสาร์ท่านเข้ามาพักที่นั้นแล้ว อยู่ ณ ที่นั้นได้ ๒-๓ วันบิณฑบาตฉันเช้าเสร็จ เศษอาหารที่เหลือก้นบาตร ท่านนำมาเลี้ยงกา กาที่นั่นติดท่าน รักท่านมาก

    เวลาออกบิณฑบาต ท่านก็จะเรียกว่า
    “กาหลงเอ๋ย...ไปเถอะเราไปบิณฑบาตกัน ไปโปรดสัตว์ผู้มีทุกข์กัน ชาติสังขารนี้มันเป็นทุกข์ทั้งคนและสัตว์”

    กามันก็จะบินตามไปเป็นขบวน ท่านเดิน ส่วนกาบิน ดูสวยงามมาก ชาวบ้านต่างก็รู้ว่าท่านออกบิณฑบาต เพราะกาบินนำหน้าและส่งเสียงร้องลั่น ร้องดัง กาๆ เป็นระยะๆ

    คนถิ่นแถวนั้นอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างนิยมชมชื่นเคารพเลื่อมใสท่านมาก แต่ก่อนชาวบ้านแถวนั้นนับถือกาตาปู่ ตอนหลังได้คลายความเชื่อ มาพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ แม้แต่ลูกเล็กเด็กแสดงก็ออกมากราบไหว้เป็นทิวแถวในเวลาท่านไปบิณฑบาตโปรดสัตว์ในหมู่บ้าน

    หลวงปู่เสาร์ ท่านมีเมตตามาก ดุใครไม่เป็น มีอุบายสอนคนแยบคายหลายอย่าง

    ในระหว่างที่ท่านพักกรรมฐานอยู่ดอนพันชาติ ท่านเป็นที่พึ่งของเทวดา และมนุษย์ ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย เมตตาธรรมค้ำจุนโลกไม่มีประมาณ

    ท่านเล่าให้ฟังน่าฟังมาก จำไม่ได้หมดมันนานมาแล้ว
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปรารภไปเมืองลาว


    ในปี พ ศ ๒๔๘๓ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พำนักอยู่ที่วัดเกาะแก้ว ดอนธาตุ เป็นพรรษาที่สอง

    ท่านปรารภเรื่องที่จะข้ามไปฝั่งลาว ไปทำบุญอุทิศถวายแด่พระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ ท่านพระครูทา โชติปาโล หรือพระครูสีทันดรคณาจารย์ อดีตเจ้าคณะใหญ่แห่งศรีทันดร เขตเมืองไทย แขวงนครจำปาศักดิ์

    ท่านพระครูสีทันดรคณาจารย์ ได้มรณภาพไปนานแล้วที่วัดดอนฮีธาตุ เมืองโขงโน้น ซึ่งหลวงปู่ใหญ่ท่านมีความปรารถนาที่จะไปทำบุญอุทิศกุศลตั้งแต่เมื่อ ๑๒ ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเที่ยวธุดงค์เผยแพร่ธรรมอยู่แถบจังหวัดสกลนคร นครพนม แต่ด้วยความที่ยังไม่พร้อม ท่านจึงได้รั้งรอเรื่อยมา

    บัดนี้หลวงปู่ใหญ่ท่านชราภาพมากแล้ว จะต้องหาทางไปทำบุญอุทิศถวายครูอาจารย์ของท่านให้ได้ ท่านจึงเร่งเร้าให้คณะศิษย์หาทางให้ท่านได้ไปเมืองลาวตามความประสงค์โดยรีบด่วน

    หลวงปู่ใหญ่ได้ปรึกษาแผนการเดินทางกับคณะศิษย์โดยกำหนดลงเรือจากวัดดอนธาตุไปตามลำน้ำมูล จนถึงบ้านด่านปากมูล แล้วล่องเรือไปตามน้ำโขง จนถึงเมืองโขง เป้าหมายสุดท้ายในฝั่งประเทศลาว

    ถ้าดูตามเส้นทางที่ว่า พวกเราคงจะจินตนาการว่าแล่นเรือเรื่อยๆ ไปตามลำแม่น้ำ ดูช่างน่าสะดวกสบาย แถมยังได้ชื่นชมกับความงามของธรรมชาติสองฟากฝั่ง เป็นการเปิดหูเปิดตาของบรรดาพระเณรอีกด้วย

    แต่ผิดคาด ! บรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิดและญาติโยมต่างพากันตระหนกตกใจ และคัดค้านท่านแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน พร้อมกับขอร้องไม่ให้องค์ท่านไป เพราะมันอันตรายเกินที่จะเสี่ยง

    ทั้งนี้เพราะการเดินทางไปตามลำน้ำโขง ด้วยเรือแจว เรือพายที่มีในสมัยนั้น ต้องเสี่ยงอันตรายมาก ด้วยสภาพท้องน้ำเต็มไปด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ มีทั้งน้ำเชี่ยว น้ำวนน้ำเป็นพุเป็นขัน หากใครไม่มีความชำนาญในน่านน้ำแถบนี้โดยเฉพาะแล้ว ก็ยากที่จะไปรอดปลอดภัยได้

    ชาวบ้านสมัยนั้นกล่าวกันว่า “ถ้าใครเดินทางโดยเรือแจว เรือพายไปแถวนั้นแล้ว เมียที่รออยู่ทางบ้านให้เตรียมตัวเป็นหม้ายได้เลย”

    หลวงปู่ใหญ่ท่านยังคงยืนยันต้องไปให้ได้ ก่อนที่ท่านจะละสังขาร และท่านยังกล่าวด้วยว่า
    “มันสิเป็นอิหยัง ยังบ่ถึงคราว”

    ในครั้งนั้นยังหาผู้ชำนาญทางน้ำไม่ได้ การเดินทางของหลวงปู่ใหญ่จึงต้องชะลอไปก่อน

    ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อพระอาจารย์ที่หลวงปู่ใหญ่ประสงค์จะไปทำบุญอุทิศให้จากแหล่งต่างๆ ไม่ตรงกัน บางแหล่งบอกว่าเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านที่ชื่อ พระครูทา โชติปาโล ส่วนบันทึกของหลวงพ่อโชติ กับหนังสือประวัติพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ชื่อหนังสือ
    “มณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์” จัดพิมพ์โดยวัดหนองป่าพง ได้ระบุชัดเจนว่า ญาคูสีทา ชยเสโน โดยเขียนภายใต้หัวข้อว่า “หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ทำบุญอุทิศให้พระกรรมวาจาจารย์” โดยมีเนื้อเรื่องดังนี้.:-

    “ในระหว่างจำพรรษา ๒๔๗๙-๒๔๘๓ อยู่ที่วัดป่าหนองอ้อ บ้านข่าโคมนั้น หลวงปู่เสาร์ได้นิมิตเห็น ญาคูสีทา ชยเสโน พระกรรมวาจาจารย์ของท่าน สมัยอยู่ที่วัดบูรพาในตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งพื้นเพท่านอยู่เมืองสีพันดอน แขวงจำปาศักดิ์ ท่านไปเรียนที่กรุงเทพฯ และได้มาเป็นอุปัชฌาย์อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นได้ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่มาตุภูมิ ไปอยู่วัดดอนฮี (วัดเกาะรี) เมืองโขง แขวงจำปาศักดิ์ และได้มรณภาพลงที่นั่น ไปเกิดเป็นเปรตรบกวนลูกหลานทำให้ลูกหลานเดือดร้อน จึงคิดจะไปทำบุญอุทิศให้พระกรรมวาจาจารย์.. ”

    เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลัง ก็เพียงแต่รับทราบว่า หลวงปู่ใหญ่ไปทำบุญอุทิศให้ ครูอาจารย์ ของท่านองค์หนึ่งก็แล้วกัน เรื่องชื่อ เรื่องเวลา เรื่องสถานที่ มีคลาดเคลื่อน-แตกต่างกันไปบ้าง ก็คงต้องปล่อยให้ผู้รู้ท่านตรวจสอบก็แล้วกัน ในชั้นนี้เราคงทำได้เพียงรับรู้เรื่องราวไปเท่านั้น ส่วนที่ยังสงสัย ถ้ายังติดใจอยู่ก็หาทางสอบถามไปนะครับ
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สบโอกาสเหมาะ


    ในช่วงเวลานั้น นายฮกเที่ยง (นายวิโรจน์ โกศัลวิตร) เศรษฐีใหญ่แห่งเมืองอุบลฯ ซึ่งเป็นพี่ชายของ นายฮกต่าย (นายวิชิต โกศัลวิตร) ได้ถึงแก่กรรม

    ทางเจ้าภาพคือ คุณหญิงตุ่น ได้มากราบนิมนต์หลวงปู่ใหญ่พร้อมกับพระลูกศิษย์อีก ๓ รูป พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส และ พระอาจารย์กงแก้ว ขนติโก รวมเป็น ๔ รูปขึ้นไปเมืองอุบลฯ เพื่อทำบุญอุทิศให้กับผู้ตาย

    ในงานนี้ เจ้าภาพได้ปวารณาถวายปัจจัยรูปละ ๑๐ บาท รวมพระ ๔ รูป เป็นเงิน ๔๐ บาท

    ถ้าเทียบค่าของเงินในสมัยนั้นมีมูลค่าไม่น้อยเลย เพราะการซื้อขายข้าวของในสมัยนั้นยังนับเป็นสตางค์กันอยู่ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ - ๑๐ สตางค์เป็นอย่างมาก ถ้าเทียบเงิน ๑๐ บาท ก็มากกว่า ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ บาทในสมัยนี้เสียอีก

    เมื่อกลับถึงวัดบูรพาราม เมืองอุบลฯ แล้ว หลวงปู่ใหญ่ก็บอกกับศิษย์ทั้งสามว่า
    “เราจะไปเมืองโขงทำบุญอุทิศถวายพระอุปัชฌาย์ ปัจจัยจำนวนนี้เราขอนะ”

    พระอาจารย์ทั้งสาม กราบเรียนว่า
    “ปัจจัยทั้งหมดนี้มอบให้พ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยความเต็มใจ พ่อแม่ครูอาจารย์จะนำไปทำอะไรก็สุดแท้แต่ท่านเถิด”

    เป็นอันว่าปัญหาเรื่องปัจจัยที่จะไปทำบุญได้ผ่านพ้นไปแล้วแก้ปัญหาไปได้หนึ่งเปลาะ

    ปัญหาใหญ่ที่เหลือได้แก่เรื่องพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง

    ความดำริของหลวงปู่ใหญ่ ทราบไปถึง แม่ชีผุย (มารดาของนายฮกเที่ยง นายฮกต่าย หรือ นายวิโรจน์ และนายวิชิต โกศัลวิตร เศรษฐีใหญ่เมืองอุบลฯ)

    คุณแม่ชีผุยได้ปวารณา ขอเอารถยนต์ไปส่งคณะหลวงปู่ใหญ่จนถึงที่หมาย แทนการเดินทางด้วยเรือแจว เรือพาย ที่เสี่ยงอันตรายเกินไป

    เป็นอันว่าแผนการเดินทางของหลวงปู่ใหญ่ที่จะไปทำบุญอุทิศแด่ครูอาจารย์ของท่านก็สำเร็จดังใจหมาย

    สาธุ
    ! สาธุ ! สาธุ !

    <TABLE id=table71 border=0><TBODY><TR><TD align=middle>
    [​IMG]
    </TD></TR><TR><TD align=middle>ศาลาวัดดอนธาตุ
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การแบ่งการเดินทางเป็น ๓ คณะ


    การเดินทางไกลครั้งสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโลถูกกำหนดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

    คณะแรก หลวงปู่ใหญ่ ได้มอบหมายให้เดินทางล่วงหน้าไปก่อน มีพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์บุญมาก และพระอาจารย์กิ ธมมุตฺตโม เดินทางด้วยเท้า เดินธุดงค์บำเพ็ญเพียรไปด้วย ให้เดินทางไปรอท่านอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ ไปพักรออยู่ที่วัดภูจำปาศักดิ์

    คณะที่สอง
    เป็นคณะใหญ่ของหลวงปู่ใหญ่ ศิษย์ผู้ร่วมเดินทางมี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์กงแก้ว ขนติโก, พระอาจารย์สอ, พระอาจารย์บัวพา ปญญาภาโส พร้อมด้วยพระเณรและลูกศิษย์ติดตามอีกมาก

    ข้อมูลในหนังสืออาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติ ซึ่งได้จากการบอกเล่าของ ท่านหลวงตาพวง สุขินฺทริโย บอกว่า ตอนนั้น ท่านหลวงตาเองยังเป็น สังฆาการี (ศิษย์วัด) อยู่ ชื่อ พวง ลุล่วง อายุ ๑๔ ปี จากบ้านสีฐาน อ ป่าติ้ว ยโสธร เพื่อนฆราวาสที่ไปด้วยเท่าที่จำได้ มีชื่อ กร อายุ ๑๘ ปี ตัวโตกว่าเพื่อน, ชื่อบุญมี ไทรงาม อายุ ๑๕ ปี จากบ้านสีฐาน ชื่ออำนวย (พระครูโอภาสธรรมภาณ) และอีกคนชื่อ เจริญ จากบ้านท่าฆ้องเหล็ก เป็นศิษย์คอยอุปัฎฐากและผู้เก็บรักษาสะพายบาตรของหลวงปู่ใหญ่

    ออกเดินทางประมาณเดือนธันวาคม จากวัดบูรพาราม มีคณะแม่ชีผุย ร่วมเดินทางไปส่ง

    เมื่อรถวิ่งไปถึงบ้านเมืองเก่า หลวงปู่ใหญ่บอกให้พระอาจารย์ทอง อโสโก ลงที่นั่น บอกว่า
    “ท่านทอง อยู่จุดนี้ให้เป็นด่านหน้า คอยส่งข่าวฟังข่าวต่างๆ เมื่อเราไปอยู่ที่ใดก็จะส่งข่าวมาบอก”

    หลวงปู่ใหญ่ มอบมีดโต้ให้พระอาจารย์ทอง ๑ เล่ม และพระอาจารย์กงแก้ว มอบสามเณรให้คอยติดตามและอุปัฏฐากด้วย ๑ รูป

    จากนี้คณะของหลวงปู่ใหญ่ ก็ออกเดินทางต่อไปจนถึงนครจำปาศักดิ์ ไปพักที่วัดอำมาตยาราม

    หลวงพ่อโชติ ท่านเขียนไว้ว่า วัดอำมาตยาราม เป็นวัดที่ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) สมัยเป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะแขวง เคยมาจำพรรษาอยู่ที่นี่มาก่อน

    ในหนังสือของอาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติ บรรยายไว้ดังนี้ : -

    “วัดอำมาตยาราม เป็นวัดเก่าตั้งอยู่บ้านอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ มีเนื้อที่ ๑๐ กว่าไร่ สร้างในสมัยที่ท่านเทวธมมี (ม้าว) เป็นอุปัชฌาย์แห่งเมืองอุบลฯ ตรงกับรัชกาลที่ ๕

    ต่อมาพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) และ เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ พร้อมด้วย ท้าวเพี้ย กรมการเมือง ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะขึ้น สำหรับเป็นวัดธรรมยุตวัดแรกของแขวงจำปาศักดิ์ และได้เปิดเป็นสำนักเรียนมีชื่อว่า โรงเรียนบูรพาสยามเขต ในยุคที่ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มาปกครองคณะสงฆ์จำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์ นครจำปาศักดิ์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดอำมาตย์นี้

    วัดอำมาตยาราม นี้ มีพระอุโบสถอยู่ตรงกลางวัด ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขง มีหน้ากว้าง ๘ วา ยาว ๑๑ วา (๑๖๒๒) เมตร) ลักษณะเป็นผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และได้รับพระราชทานที่วิสุงคามสีมาเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

    นอกกำแพงวัดด้านหน้า กับข้างวัดด้านใน เป็นถนน ด้านหลังวัดเป็นที่สวนและทุ่งนา ข้างวัดด้านเหนือเป็นตึกรามบ้านพักอาศัยของชาวบ้าน ที่ตรงข้ามหน้าวัดเป็นสวนริมโขง ถัดจากสวนก็เป็นแม่น้ำโขง มีท่าน้ำตรงกับประตูหน้าวัด ที่ตรงดิ่งไปสู่ประตูอุโบสถ เรียกชื่อท่าน้ำนี้ว่าท่าอำมาตย์ ตรงข้างวัดทางทิศใต้เป็นท่าน้ำอีกเรียกว่า ท่าศาลา หรือ ท่าโรงหมอ เพราะในซอยข้างวัดเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาล (โรงหมอ) นั่นเอง

    คณะที่สาม
    เดินทางตามไปภายหลัง เป็นคณะของท่านพระอาจารย์เนียม สุวโจ ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท ทั้งสองท่านเป็นพระอาคันตุกะที่ท่านพระอาจารย์มั่นส่งมาจากสกลนคร เพื่อกราบเยี่ยมพระอาจารย์ผู้เฒ่า จึงต้องมีผู้นำทางไปคือ พระอาจารย์บุญเพ็ง นารโท หลานของหลวงปู่ใหญ่ และยังมีพระอาจารย์แก้ว (หลวงปู่เจี๊ยะเรียกว่าครูบาแก้ว ครูบาเนียม) พร้อมสามเณรกับผ้าขาวผู้ติดตามอีกด้วย

    คณะที่สามนี้เดินทางด้วยเท้า เราลองมาอ่านคำเล่าบอกของหลวงปู่เจี๊ยะโดยตรงในตอนต่อไปครับ
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คณะที่สาม คณะของหลวงปู่เจี๊ยะ


    เราลองมาดูการเดินทางของคณะที่สามก่อน เป็นคำบอกเล่าของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท โดยตรง ดังนี้

    หลังจากหลวงปู่เสาร์ท่านหายจากอาพาธแล้ว ธาตุขันธ์กระปรี้กระเปร่า ท่านจึงเดินทางไปทำบุญอุทิศให้ท่านแดดัง ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของท่านซึ่งอยู่ที่ หลี่ผี ประเทศลาว (ตามปกติหลวงปู่เสาร์จะชอบออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปากเซ ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุ เป็นประจำทุกปี)

    หลวงปู่เสาร์ เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาวก่อนเรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) จึงเดินธุดงค์ติดตามไปทีหลัง ความจริงแล้วเราจะไม่ธุดงค์ติดตามท่านไปจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ตั้งใจว่าจะกลับสกลนครไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ที่บ้านโคกสี (จ.สกลนคร) ก่อนเลยก็ได้

    แต่เมื่อมานึกถึงคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่น ก็ให้หวนรู้สึกประหวัดๆ อยู่ในใจว่า “เจี๊ยะเอ้ย ! ดูแลหลวงปู่เสาร์แทนผมให้ดีนะ ถึงการป่วยอาพาธของท่านจะหายก็อย่าได้ไว้วางใจเป็นอันขาด”

    เมื่อเป็นดังนี้ เราจึงจำเป็นต้องเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปประเทศลาว เพราะมีความมั่นใจในความรู้พิเศษของท่านพระอาจารย์มั่นว่า
    “ท่านต้องทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน จึงกำชับให้เราดูแลหลวงปู่เสาร์เป็นอย่างดี”

    ท่าน (หลวงปู่มั่น
    ) เน้นว่า “อย่าได้ไว้วางใจ” เหมือนกับท่านบอกเป็นนัยๆ แต่ท่านไม่พูดตรงๆ จะเป็นการทำนายครูบาอาจารย์ ท่านอาจารย์มั่น ท่านเคารพรักหลวงปู่เสาร์มาก

    ขณะหลวงปู่เสาร์ เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาว นครจำปาศักดิ์ก่อนแล้ว ทางฝ่ายเราพระเจี๊ยะ และพระเพ็ง ผู้เป็นหลานของท่านครูบาแก้ว ครูบาเนียม และเณรกับผ้าขาว ก็ออกเดินทางด้วยเท้าจากดอนธาตุ มุ่งไปยัง เขตสุวรรณคีรี ริมแม่น้ำโขง ซึ่งใกล้กับปากน้ำมูลเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง

    เราได้พาหมู่คณะพักค้างคืนที่บนภูเขาที่เขตสุวรรณคีรี ต่อมาได้มีผู้มานิมนต์ให้ไปพักอยู่ที่ใกล้ๆ กับแม่น้ำโขง เป็นที่มีป่าใหญ่มาก มีสัตว์นานาชนิด เช่น ช้าง เสือ หมี และในน้ำยังมีปลาโลมาน้ำจืด เสียงร้องดังเหมือนเสียงวัว อีกทั้งสถานที่นั้นยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเกรงกลัวมาก เพราะใครจะไปตัดไม้ไม่ได้ หากตัดต้นไม้ก็มีอันเป็นไป คือเจ็บไข้ได้ป่วย

    ในป่านั้นมีไม้ยางใหญ่ๆ เขาทำเป็นตะท้าวดักเสือ เมื่อเสือผ่านลอดเข้ามา ตะท้าวก็จะหล่นมาทุบเสือตาย เราไม่รู้ไปยกเอาไม้ออก ต้นไม้ก็มาแทงเอาขา ต้องเอาน้ำมันมาทา เดินไม่ได้ตั้งนาน เจ็บปวดมาก ไม่รู้ว่าเขาทำดักเสือ

    เราพาหมู่คณะปฏิบัติพักอยู่ที่ป่าดงใหญ่นี้ไม่นานนักได้นำคณะธุดงค์ไปยังนครจำปาศักดิ์ตามคำนิมนต์ของโยมคำตัน

    ในระหว่างนั่งเรือไปนครจำปาศักดิ์ แล้วมุ่งตรงไปทางปากเซ ปากซัน ปีนั้นน้ำเยอะเชี่ยวกรากมาก ล่องเรือไปตามกระแสน้ำ เรือมันจึงแล่นเร็ว พอไปถึงตรงสะดือน้ำใหญ่ บังคับเรือไว้ไม่อยู่ เรือหมุนติ้วๆ บึ้ดๆ ๆ งี้ ทีนี้เรือมันเล็กมันหมุนตั้ง ๒๐ รอบมั้ง วื้อๆ ๆ

    ถ้าเป็นเรือใหญ่มันก็หมุนสักเดี๋ยวก็ไปได้ แต่เราไปเรือพายเล็กๆ ถึงตรงสะดือน้ำก็หมุนเคว้งคว้าง เราก็ตะโกนบอกสั่งให้พวกฝีพายช่วยกันงัดเรือออกไปอีกด้าน เราต้องใช้ไม้พายช่วยงัด จึงหลุดออกมาได้ ไม่งั้นตาย

    คนตายแยะตรงนี้ มันดูดลงไปตาย ถ้าเกิดล่มขึ้นมาเราอาจจะไม่ตาย เพราะเราว่ายน้ำเก่ง แต่มันต้องเอาจีวรออก ถ้าเอาออกไม่ทันก็ตายเหมือนกัน มันเป็นสะดือน้ำ หมุนวนน่ากลัว

    (หลวงปู่เจี๊ยะ เป็นคนจันทบุรี ลูกน้ำเค็ม ท่านว่ายน้ำเก่ง)

    เดินทางถึงวัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์

    เมื่อเรือเลียบฝั่ง เราได้พาพระเณรทั้งหมดไปพักยังวัดอำมาตย์
    (วัดอำมาตยาราม) นครจำปาศักดิ์ มุ่งเพื่อจะไปให้ทันหลวงปู่เสาร์ แต่คลาดกัน หลวงปู่เสาร์ได้ธุดงค์ไปที่หลี่ผีก่อน

    พักที่วัดอำมาตย์ พอสมควรแล้ว ต่อจากนั้นได้ธุดงค์ต่อไปที่ห้วยสาหัว เขตนครจำปาศักดิ์ ห่างตัวเมือง ๑๐ กว่ากิโลเมตร พักอยู่ที่นี่ราว ๔ เดือน เป็นหมู่บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยราว ๑๘ หลังคาเรือน

    ในการธุดงค์ครั้งนี้ เราพักอยู่กับพระเพ็งสององค์เพียงเท่านั้น

    ในขณะที่เข้าไปพักอยู่ที่บ้านห้วยสาหัว อาหารการฉันก็เป็นอาหารพื้นบ้าน เรามาเพื่อธรรม สิ่งเหล่านี้จึงไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

    เราไปกินปูนา เขาเอามาต้ม ตัวเล็กๆ กินกับข้าวเหนียว รสมันหื่น กินไม่ลง ติดคอ

    อยู่ที่นั้น มีมันหัวใหญ่ๆ เท่าต้นเสากุฏิเรานี่ (ทำมือประกอบ) เวลาจะเอา ต้องเอาน้ำรดให้ชุ่ม โน้มลำต้นไผ่ลงมาคล้อง แล้วดึง (เถามัน) ขึ้นมาทั้งต้น ต้องมัดหัวจุกมันแล้วดึงขึ้นมา ต้องค่อยๆ ไม่งั้นหักหมด มันยาว

    เวลารดน้ำ ดินมันก็อ่อน ค่อยๆ ดึงขึ้นมา ไม่งั้นหักหมด เราขุดธรรมดาไม่ได้ เพราะมันลึกหลายเมตรเลย ต้องใช้ต้นไม้ขนาดพอดีโน้มปลายลงมาแล้วค่อยๆ เอาเชือกผูกที่หัวมัน ด้วยแรงของไม้โน้มและดินที่อ่อนด้วยการรดน้ำให้ชุ่ม หัวมันก็จะค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนสุด

    บางหัวนี่ยาวหลายเมตร มันขาวอร่อย กินเปล่าๆ ไม่มีน้ำตาลน้ำอ้อยจิ้ม ถ้ามีกะทิก็ยิ่งดีใหญ่ แต่สมัยนี้ไม่มี

    ปลาใหญ่ก็มีเยอะแยะ ร้องโอ้กๆ มันเล่นกันในน้ำตอนกลางคืน เขาเรียกปลาโลมาน้ำจืด มันร้องเหมือนเสียงควายเลย ร้องโอ้กๆ ๆ

    เราลงไปเล่นในน้ำ อาบน้ำ โดนปลิงดูด เราไม่กลัวปลิง มันกัดก็จับปลดออก

    นั่งเรือไปค้างกลางทาง ๑ คืน เพราะเรือไม่มีใบ ขากลับเดินไปเที่ยว เจอเสือกับช้างป่า เราอยู่ในร่องลึกมันอยู่ข้างบน เราถามอะไร เขาบอกช้าง เราไม่รู้ ไม่งั้นเราจะไปดู

    เค้าจับช้างตัวเล็กๆ มา มันซน เราก็ไปแหย่ มันก็ไล่ขวิด เอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนให้มันกิน มันเอางวงรับเข้าปาก หมดปึ้บ ขอเราอีก ทีหลังเราลุกไปไหนมันเดินตามเลย มันอดอยากมาก

    ไปมานานมากแล้ว ห้าสิบปีแล้ว
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    นัดศิษย์มารวมกัน ทำพิธีมาฆบูชา


    กลับไปติดตามคณะของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล กันต่อนะครับ

    เมื่อคณะของหลวงปู่ใหญ่ เดินทางไปถึงนครจำปาศักดิ์ ได้เข้าพักที่วัดอำมาตยาราม

    ลูกศิษย์คณะที่หนึ่ง ที่เดินทางไปล่วงหน้า คือ พระอาจารย์ทองรัตน์ พระอาจารย์บุญมาก และ พระอาจารย์กิ ซึ่งไปพักบำเพ็ญสมณธรรมรออยู่ที่วัดภูจำปาศักดิ์ ทราบข่าวการเดินทางมาถึงของหลวงปู่ใหญ่ จึงพากันมากราบทำวัตรและถวายการอุปัฏฐากตามธรรมเนียมของพระสายกรรมฐาน

    หลวงปู่ใหญ่ ได้นัดหมายให้ส่งข่าวลูกศิษย์ทั้งหมด ให้มารวมกัน ทำพิธีมาฆบูชาซึ่งเป็นการนัดรวมลูกศิษย์เป็นประจำทุกปีที่วัดภูจำปาศักดิ์ ก็อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ คณะศิษย์ต่างแยกย้ายไปบำเพ็ญสมณธรรมตามอัธยาศัยของตน

    เมื่อนัดแนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ขณะนั้นเป็นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔) หลวงปู่ใหญ่ จึงได้พาคณะศิษย์ติดตามเดินหางต่อไปยังเมืองโขง-ดอนฮีธาตุ ซึ่งยังอยู่อีกไกล เพื่อทำบุญอุทิศถวายครูบาอาจารย์ของท่านตามที่ตั้งใจ

    หลวงปู่ใหญ่ ยังได้กำชับคณะศิษย์ที่อยู่ที่นครจำปาศักดิ์ คอยสดับตรับฟังข่าวขององค์ท่านอย่าให้คลาด !

    รวมทั้งให้พระอาจารย์บุญมากจัดทำประทุนเรือแจวไปคอยรับท่านในตอนขากลับด้วย

    คณะของหลวงปู่ใหญ่ ออกเดินทางไปเมืองโขง-ดอนฮีธาตุ ด้วยการโดยสารเรือกลไฟ ล่องใต้ลงไป พักค้างคืนที่วัดกลาง เมืองมุลปาโมกข์ หรือมีชื่อทางการของไทยว่า อำเภอวรรณไวทยากร (ดินแดนส่วนนั้นยังเป็นของประเทศไทยในสมัยนั้น)

    เมืองมุลปาโมกข์ หรืออำเภอวรรณไวทยากรนั้น อยู่ใกล้จะถึงเมืองโขง เป้าหมายปลายทางแล้ว ทางคณะออกเดินทางด้วยเรือพายเรือแจว ต่อไปยังเมืองโขง ดอนฮีธาตุ บ้านเกิดและที่ประดิษฐานสถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระครูสีทันดรคณาจารย์ หรือ ท่านพระครูสีทา โชติปาโล พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ใหญ่

    นับเป็นการเดินทางที่ยาวไกลและทรหดอดทนอย่างยิ่งสำหรับหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ที่ชราภาพอายุเลย ๘๐ ปีแล้ว และแสดงถึงความเด็ดเดี่ยว มุ่งจุดหมายหนึ่งเดียวอย่างแน่วแน่ไม่แปรผัน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ ก่อนที่ท่านเองจะลาขันธ์
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วงศ์ธรรมยุตสีทันดร ดอนโขง


    ขออนุญาตหยุดพักเรื่องของหลวงปู่ใหญ่ ไว้สักประเดี๋ยว ขอนำท่านไปรับทราบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ธรรมยุต แขวงจำปาศักดิ์ หรือ วงศ์ธรรมยุตสีทันดร พอเป็นพื้นฐานสักเล็กน้อย

    ทั้งหมดนี้เป็นผลการค้นคว้าของ อาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติอีกนั่นแหละ แล้วผมก็บรรจงคัดลอกมาเสนอ (เอาหน้า) ด้วยความภาคภูมิใจ

    <TABLE id=table76 border=0 width=122 align=left><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD align=middle> ภาพถ่ายทางอากาศ แม่น้ำโขงช่วงที่เป็น สี่พันดอน
    ซ้ายมือคือน้ำตกคอนพะเพ็ง
    ภาพจาก
    www.tourdoi.com

    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ขอเริ่มตรงบริเวณแม่น้ำโขง ส่วนล่างสุดของประเทศลาวเรียกว่า สีทันดร มากจากคำว่า สี่พันดอน

    ดอน ในที่นี้หมายถึง เกาะ

    ที่เรียกว่า สีทันดร หรือ สี่พันดอน ก็เพราะแม่น้ำโขงบริเวณนี้มีเกาะแก่งน้อยใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก จนว่ากันว่า สุดคณานับ (คงไม่มีใครไปลอยคอนับได้หมด)

    เกาะที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณนี้ ชื่อ ดอนโขง (เกาะโขง) ตั้งอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นที่ตั้งของหลายหมู่บ้าน หลายตาแสง (ตำบล) จนรวมกันกลายเป็นเมือง เรียกว่าเมืองโขง มีภูเขา ๗ ลูก มีสนามบินแห่งสุดท้ายใต้สุดของชาติลาวตั้งอยู่ที่เมืองนี้ ถ้าจะเทียบก็คล้ายกับเกาะภูเก็ตของไทยเรา น่าจะเทียบกันได้

    พอนึกภาพออกนะครับ

    ทีนี้มาพูดเรื่องพระสายธรรมยุตของลาว ก็ขอเริ่มมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ยังทรงผนวชเป็นวชิรญาโณภิกขุอยู่ ก็ได้มีชาวสีทันดรท่านหนึ่งชื่อว่า ก่ำ ได้มีจิตเลื่อมใสบวชเรียน เป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของพระเจ้าอยู่หัว วชิรญาโณภิกขุ

    ตามประวัติ ท่านก่ำ เป็นหนึ่งในบรรดาชาวพื้นเมืองที่ถูกเกณฑ์ลงมาส่งช้างเผือกที่กรุงเทพฯ แล้วท่านก็สนใจบวชเรียน ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ชำนาญในอักษรสมัยและพระสูตร รอบรู้ในธรรมจนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัยของท่าน วชิรญาโณ พระอาจารย์ของท่าน

    หลังจากท่านวชิรญาโณ ขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แล้ว ท่านพระภิกษุก่ำ รำลึกถึงเมืองโขง สีทันดร บ้านเกิดเมืองนอนท่าน และใคร่จะเห็นวงศ์ธรรมยุติก่อตั้งขึ้นในถิ่นนั้น

    เมื่อได้โอกาสกราบทูล พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงอยากให้คณะธรรมยุติกาตั้งมั่น แผ่ไพศาลรุ่งเรืองทั่วพระราชอาณาจักร

    เวลานั้นเมืองโขง สีทันดร นครจำปาศักดิ์ ยังเป็นขอบขัณฑสีมาอาณาจักรสยามประเทศอยู่

    เมื่อถึงกำหนดวันเดินทาง พระเถราจารย์เจ้าก่ำ คุณสมฺปนฺโนก็เข้าเฝ้ารับพระโอวาททูลลา นำวงศ์ธรรมยุติกาไปสู่เมืองโขง สีทันดร

    นัยว่า ในโอกาสเดียวกันนี้ พระเถราจารย์เจ้าพันธุละ (ดี) ก็นำเอาวงศ์ธรรมยุติกาไปสู่เมืองอุบลราชธานี (โปรดไปอ่านทบทวนตั้งแต่ตอนแรกๆ นะครับ)

    และ พระเถราจารย์เจ้า ธัมมปาละ ก็นำเอาวงศ์ธรรมยุติกาไปกรุงพนมเปญ กัมพูชา พร้อมๆ กัน

    ดังนั้น วงศ์ธรรมยุติกาสีทันดร อุบลราชธานี และ กรุงพนมเปญจึงออกไปประดิษฐานเผยแพร่พร้อมกัน มีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่บัดนั้นแล

    เมื่อพระเถราจารย์เจ้าท่านก่ำ คุณสมปนโน นำเอาวงศ์ธรรมยุติกาไปถึงเมืองโขง สีทันดร แล้ว กิตติศัพท์ด้านคุณธรรมความดีงามของท่านก็แพร่ออกไปกว้างไกล ประชาชนตลอดจนท่านเจ้าเมือง คือพระอภัยราชวงศา ต่างเลื่อมใสศรัทธาเป็นเหตุให้มีการสร้างวัดธรรมยุตขึ้นมาหลายแห่ง

    วัดภูเขาแก้วมณีวรรณ ตั้งเป็นวัดแรก ต่อมาก็มีวัดสุทัศน์มาลาราม บ้านนา, วัดสุวรรณเจดีย์ บ้านเวินทอง, วัดพระธาตุศรีบุญเรือง บ้านดง, วัดโพนแก้ววิชัย ที่ส้างไพโพนแสง, วัดดอนกระสัง และวัดดอนเหล็กไฟตามลำดับ

    เมื่อมีการสมโภชพระประธานฉลองพระอุโบสถ วัดภูเขาแก้วมณีวรรณ มีการแห่พระทางชลมารค รอบเกาะโขง เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์คือ เจ้ายุติธรรมธร ก็เสด็จลงไปร่วมงาน นับว่าวงศธรรมยุติกาสีทันดรได้รับความอุปถัมภ์จากเจ้านายเชื้อพระวงศ์มาแต่เริ่มแรก ทำให้การเผยแพร่พระพุทธศาสนาสายนี้เป็นไปโดยสะดวก และเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ

    พระเถราจารย์เจ้า ท่านก่ำ ต้นวงศ์ธรรมยุตสีทันดร ได้ดับขันธ์มรณภาพด้วยโรคชรา ที่วัดโพนแก้ววิชัย ดอนส้างไพโพนแสง อัฐิธาตุของท่านได้บรรจุในพระเจดีย์สูง ๑๕ วา กว้าง ๓ วา อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดนั้นเอง

    บรรดาลูกศิษย์อาวุโส มีพระครูธรรมสัง (วา) เป็นต้น ก็พาหมูคณะสืบศาสนทายาทวงศ์ธรรมยุตต่อมาโดยลำดับ ได้ส่งพระภิกษุสามเณรผู้หนักต่อทางศึกษาไปเล่าเรียนพระธรรมวินัย ที่สำนัก ท่านเทวธัมมี (ม้าว) ที่วัดศรีทอง และวัดสุปัฏนาราม ในเมืองอุบลราชธานี

    ในสมัยต่อมา เมื่อท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้รับอาราธนาให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอำมาตยาราม และเจ้าคณะแขวงจำปาศักดิ์ ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรจากเมืองโขง สีทันดร มาอาศัยเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง มาบวชที่นั่นบ้าง และท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ เองก็ได้เดินทางลงไปตรวจตราสั่งสอนหมู่คณะทางสีทันดร เป็นประจำ

    ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรวงศ์ธรรมยุตสายสีทันดร นครจำปาศักดิ์ จึงมีความเกี่ยวพันกับสายอุบลฯ อย่างแน่นแฟ้น และเป็นเหตุสืบเนื่องให้ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ด้วยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะมาพักอาศัยที่วัดบรมนิวาส และที่วัดปทุมวนาราม ที่ได้รับสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณ เป็นพระครู และที่เป็นมหาเปรียญ ก็มีหลายองค์

    ครูบาอาจารย์วงศ์ธรรมยุตสายสีทันดรที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ได้แก่เจ้าอาวาสลำดับที่ ๒-๓-๔ คือ พระครูปทุมธาดา
    (สิงห์ อคฺคธมฺโม) พระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) และพระวิสุทธิสารเถร (ผิว)

    สำหรับเจ้าอาวาสลำดับที่ ๕ คือ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร
    (หนู ฐิตปญฺโญ) ผู้เป็นสหธรรมิกของ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ก็เป็นอีกองค์หนึ่งที่สืบสายสีทันดรมาเช่นกัน

    ท่านพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่เสาร์ ที่ท่านเดินทางมาทำบุญอุทิศถวาย คือ ท่านพระครูสีทันดรคณาจารย์ (พระครูสีทา โชติปาโล) ก็เป็นเชื้อสายวงศ์ธรรมยุตสีทันดร ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่แห่งสีทันดร ซึ่งท่านมรณภาพที่ดอนฮีธาตุ เมืองโขง ที่ตั้งอยู่บนเกาะดอนโขง แห่งนี้เอง

    <TABLE id=table72 border=0><TBODY><TR><TD align=middle>
    [​IMG]
    </TD><TD align=middle>ปราสาทวัดภู
    นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว
    </TD></TR><TR><TD align=middle>[​IMG]</TD><TD align=middle>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ทำบุญถวายกุศลพระอุปัชฌาย์


    พระอุปัชฌาย์ที่หลวงปู่ใหญ่เดินทางมาถวายกุศลอุทิศคือ ท่านพระครูทา โชติปาโล ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูสีทันดรคณาจารย์ เจ้าคณะใหญ่แห่งสีทันดร

    ท่านพระครูทา ท่านเป็นชาวเมืองโขง แขวงจำปาศักดิ์ ได้ไปบวชเรียนที่จังหวัดอุบลราชธานี จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และในบั้นปลายชีวิตท่านได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ได้นำความเจริญทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน จนได้เกิดวัดธรรมยุตบนเกาะดอนโขงมากกว่า ๒๐ วัดสืบต่อมาจนปัจจุบันนี้

    ท่านพระครูทา โชติปาโล หรือ พระครูสีทันดรคณาจารย์ ได้มรณภาพที่ดอนฮีธาตุ เมืองโขง บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมได้พร้อมใจกันให้ก่อสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านณ สถานที่แห่งนี้

    <TABLE id=table74 border=0 width=122 align=left><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD align=middle>พระประธานเดิมในอุโบสถ
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ในวันทำบุญอุทิศถวายพระอุปัชฌาย์นั้น หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้บอกให้ลูกศิษย์ลูกหาของพระอุปัชฌาย์พร้อมทั้งญาติโยมที่ศรัทธาในองค์ท่านได้ทราบ แล้วได้นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมพิธีในครั้งนั้นจำนวน๔๐ รูป ได้ถวายปัจจัยรูปละ ๑ บาท ครบจำนวน ๔๐ บาท ที่ท่านได้รับถวายจากงานศพของเศรษฐี ในเมืองอุบลฯ เมื่อคราวที่แล้ว

    ญาติโยมชาวเมืองโขง-ดอนฮีธาตุ ได้จัดเตรียมภัตตาหารถวายบิณฑบาตพระเณรที่มาร่วมงาน

    การจัดบำเพ็ญกุศลครั้งนี้เสร็จสิ้นด้วยดี หลวงปู่ใหญ่ได้บำเพ็ญกุศลถวายพระอุปัชฌาย์ท่านสมดังความตั้งใจ ที่ท่านมีมาก่อนนี้ถึง ๒๐ ปี นับว่าท่านมีความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว แม้การเดินทางจะเต็มไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงอันตราย กอปรกับท่านเข้าสู่วัยชราภาพมากแล้ว ท่านก็ไม่ย่นย่อท้อถอย นับเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลี่ผี และคอนพระเพ็ง


    หลังจากการจัดงานถวายกุศลอุทิศแด่พระอุปัชฌาย์เสร็จแล้ว หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านประสงค์จะธุดงค์ลงไปทางใต้รวมทั้งไปชมเกาะแก่งน้อยใหญ่บริเวณสีทันดรในบั้นปลายชีวิตของท่าน

    หลวงปู่ใหญ่ และคณะศิษย์ ใช้เวลาหลายสิบวันเดินทางด้วยเท้าไปชมเกาะแก่งต่างๆ ไปจนถึง หลี่ผี และ คอนพระเพ็ง

    หลี่ผี เป็นชื่อของน้ำตกในลำน้ำโขง ที่แผ่นดินมีระดับสูงต่ำแตกต่างกันหลายเมตร มีโขดเขาซอกผาเป็นเสมือนเขื่อนกั้นลำน้ำโขงไว้ทำให้น้ำจากแม่น้ำโขงทั้งสายไหลมาเอ่อล้นบริเวณแห่งนี้ แล้วไหลตกตามซอกผาหินลดระดับกัน กลายเป็นน้ำตกใหญ่ที่สายน้ำซ่านกระเซ็นเป็นฝอยฟอง เสียงดังกึกก้องไปไกล

    การที่มีหินผาคล้ายเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งนี้ ได้ช่วยไม่ให้สายน้ำไหลลงทะเลไปเร็ว จึงคล้ายเขื่อนกักน้ำตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีเขื่อนแห่งนี้กล่าวกันว่า น้ำในแม่น้ำโขงทั้งสายจะไหลลงทะเลเร็วมาก อาจเหือดแห้งไปในหน้าแล้งก็ได้

    คำว่า หลี่ หรือ ลี่ เป็นชื่ออุปกรณ์ดักปลา คล้ายๆ กับไซ หรือลอบที่เรียกว่า หลี่ผี เพราะกระแสน้ำแถวนั้นไหลเชี่ยว และอันตรายมาก ถ้ามีคนตกลงไปจะไม่รอด และศพจะถูกพัดไปตามกระแสน้ำ มักไปติดอยู่ที่หลี่ ที่ชาวบ้านดักไว้ จึงเรียกหลี่ผี

    คอนพระเพ็ง เป็นน้ำตกยิ่งใหญ่แห่งสุดท้ายในลำน้ำโขงอยู่ใต้หลี่ผีลงไป มีความสวยงามมาก ได้รับการขนานนามว่าเป็น ไนแอการาแห่งเอเซีย ว่ากันว่าน้ำตกคอนพระเพ็ง สวยงามและยิ่งใหญ่กว่าน้ำตกหลี่ผีเสียอีก

    หลวงพ่อโชติ อาภคฺโคได้เขียนบรรยายถึงน้ำตกทั้งสองแห่ง ดังนี้

    “น้ำตกหลี่ผี เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ตอนใต้สุดของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นชายแดนของประเทศลาวติดต่อกับประเทศกัมพูชา อยู่ในเขตเมืองขี้นาก

    น้ำตกแห่งนี้เกิดจากภูเขาเป็นเหมือนเขื่อนผาหินกั้นน้ำในลำน้ำโขงกลายเป็นน้ำตกที่สูงชัน หากไม่มีเขาลูกนี้เป็นคูเขื่อนกั้นไว้ น้ำในลำโขงตอนเหนือขึ้นไปคงจะต้องเหือดแห้งลงได้

    เสียงน้ำตกได้ยินกระหึ่มออกไปไกล เมื่อเข้าไปใกล้เสียงน่าสะพรึงกลัว มาก

    ผู้เขียน (หลวงพ่อโชติ) เคยไปดูมาหลายครั้ง และคุ้นเคยพอสมควร ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ที่แก่งหลี่ผี และคอนพระเพ็ง นี้เมื่อมีอะไรพลัดตกลงไป แม้แต่ขอนซุงต้นใหญ่ๆ ก็จะแตกกระจายไม่มีเหลือ เพราะเป็นน้ำตกที่สูงชันเป็นหลายชั้น

    บรรดาปลาน้อยใหญ่ไม่สามารถขึ้นมาข้างบนน้ำตกได้ จึงพากันอยู่ใต้น้ำตกเป็นจำนวนมาก พวกคนหาปลาจึงได้จับปลากันอย่างสนุกสนาน เพียงใช้ตาข่ายช้อนก็ได้ปลามากมาย

    (คอนพระเพ็ง) ในฤดูแล้ง ช่วงน้ำลด จะมองเห็นเกาะอยู่เกาะหนึ่ง กระแสน้ำไหลแยกออกสองข้างเกาะ เห็นละอองไอน้ำเป็นหมอกควันที่เกาะนั้นมองเห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งใหญ่อยู่ ๓ กิ่ง ชี้ไปทางทิศใต้กิ่งหนึ่ง ชี้ไปทางทิศเหนือกิ่งหนึ่ง และใช้ไปทางทิศตะวันออกกิ่งหนึ่ง ที่ยอดกลับไม่มีกิ่ง เขาเรียกกันว่า มณีโคตร ถ้ามองแต่ไกลจะเห็นลักษณะคล้ายต้นงิ้วป่า แต่งิ้วป่ามักจะมีเพียงกิ่งยอดเท่านั้น แต่ต้นมณีโคตรนี้ไม่มีกิ่งยอด มีเพียงสามกิ่งชี้ไปกิ่งละทิศ

    ทางฝั่งลาวเล่ากันว่า ไม่มีใครเคยเข้าไปดูต้นไม้ต้นนี้ได้ มีเพียงอาชญาท่านสำเร็จลุน พระอภิญญาของลาวในอดีต เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถเดินบนน้ำเข้าไปดูต้นไม้ต้นนี้ได้

    ผู้เขียนได้ฟังมาอย่างนี้ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้รู้เถิด

    <TABLE id=table75 border=0><TBODY><TR><TD align=middle>
    [​IMG]
    </TD><TD align=middle>หลี่ผี (ซ้าย)

    </TD></TR><TR><TD align=middle>น้ำตกคอนพะเพ็ง (ขวา)
    นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

    </TD><TD align=middle>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่ใหญ่อาพาธ


    หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และคณะศิษย์ได้เดินทางเที่ยวชมเกาะแก่งต่างๆ หลายวัน แล้วกลับมาพักที่ท่าเปือย หรือ คำปงเสลา และกำหนดจะทำพิธีมาฆบูชาในวันเพ็ญเดือนสาม ที่บ้านท่านาดี

    หลวงปู่ใหญ่ ท่านเริ่มป่วยเป็นไข้หวัดขณะที่เที่ยวชมเกาะแก่งต่างๆ เพราะท่านถูกฝนซึ่งตกหนักในระยะนั้น ขณะที่พักอยู่บ้านหัวดอนหลี่ผี ศิษย์ผู้ใหญ่คือ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้อาราธนาท่านกลับมาพักที่บ้านท่านาดี เพราะใกล้จะถึงวันมาฆบูชา ตามที่ท่านนัดหมายแล้ว

    พระสมัยซึ่งเป็นหลานชายของหลวงปู่ใหญ่ได้สวดพระปาฏิโมกข์ถวาย อาการไข้หวัดของท่านยังไม่ทุเลาแต่กลับเป็นมากขึ้น อาการของท่านดูทรุดหนัก

    หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส ศิษย์ผู้อุปัฏฐากเห็นว่าอาการของหลวงปู่ใหญ่ดูน่าวิตก จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบเรียนปรึกษากับพระอาจารย์ดี ซึ่งเป็นพระเถระในที่นั้น

    “ครูบาจารย์... ครูบาจารย์ใหญ่จักเพิ่นเป็นจังได๋ ผิดปกติต่างเก่าต่างหลัง ข้าน้อย”

    เมื่อพระอาจารย์ดีได้รับคำบอกเล่าจากหลวงปู่บัวพาอย่างนั้น จึงรีบเข้าไปเยี่ยมดูแลอาการของหลวงปู่ใหญ่ทันที และเห็นว่าอาการของท่านทรุดหนักจริง

    ต่อไปนี้เป็นคำสนทนา ตามการบันทึกของหลวงพ่อโชติ ดังนี้

    พระอาจารย์ดี : “ครูบาจารย์ เป็นจังได๋เดี๋ยวนี้ ฮั่นว่า บ่ซำบาย?

    หลวงปู่ใหญ่ :
    “หือ ! มันสิเป็นอีหยัง บ่เป็นหยังดอก”

    พระอาจารย์ดี :
    “บ่เป็นจังได๋ สุขภาพครูบาจารย์ทรุดลงเรื่อยๆ คั่นว่าซั่น ข้าน้อยขอนิมนต์ครูบาจารย์กลับไปรักษาตัวก่อน ข้าน้อย”

    หลวงปู่ใหญ่ :
    “กลับจังได๋ สิพาเขาทำบุญมาฆะอยู่”

    พระอาจารย์ดี :
    “เรื่องทำบุญนั้น พวกข้าน้อยขอรับรองทุกอย่างขออย่าให้ครูบาจารย์เป็นห่วง ข้าน้อย”

    หลวงปู่ใหญ่ :
    “หือ ! อยู่มันกะสิเป็นหยัง ตายใสทะแล่วตั๋ว ฟืนอยู่นี่สิอึด (หายาก) ซำบอ เผาช้างเป็นโต (ทั้งตัว) กะไหม้ตั๋ว”

    พระอาจารย์ดี :
    “ครูบาจารย์เว้าจังซั่นกะแม่นอยู่ ข้าน้อยแต่ว่ากระดูกครูบาจารย์นั่นมีค่ามีคุณหลาย คั่นครูบาจารย์มรณภาพอยู่นี่ พวกญาติโยมกะสิมาติเตียนพวกข้าน้อย ว่าพาครูบาจารย์มากวงมาไกล”

    หลวงปู่ใหญ่ :
    “เออ ! คั่นจังซั่น กะลงอุโบสถก่อน”

    เป็นอันว่า พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ก็ต้องอับจนอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถจะกล่าวรบเร้านิมนต์ท่านต่อไปอีกได้ เพราะการลงอุโบสถในวันอุโบสถนั้น เป็นเรื่องจำเป็นของพระสงฆ์ที่ยึดพระธรรมวินัย จึงต้องยอมตามความต้องการของหลวงปู่ใหญ่
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อาราธนา นิมนต์ให้โปถึงวัดอำมาตย์ฯ


    เมื่อพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ไม่สามารถอาราธนานิมนต์ให้ หลวงปู่ใหญ่กลับไปพักรักษาตัวได้โดยองค์ท่านกล่าวตัดบทว่า “ให้ลงพระอุโบสถเสร็จก่อน”

    พระอาจารย์ดี มีความกังวลเรื่องสุขภาพของหลวงปู่ใหญ่ในตอนนั้นเป็นอย่างมาก เกรงท่านจะเป็นอะไรอย่างปุบปับในเวลานั้น จึงได้อาราธนานิมนต์ว่า

    “ขอโอกาส ข้าน้อย คั่นครูบาจารย์ว่าจังซั่น พวกข้าน้อยกะบ่ขัดเจตนารมณ์ แต่ว่าเป็นจังได๋กะดี พวกข้าน้อยขออาราธนานิมนต์ให้ครูบาจารย์ไปถึงวัดอำมาตย์ก่อน ข้าน้อย”

    หมายความว่า จะอย่างไรก็ตาม ขออาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่ใหญ่ได้เดินทางไปถึงวัดอำมาตย์ฯ ซึ่งเป็นวัดใหญ่เสียก่อน

    หลวงปู่ใหญ่ ท่านสงบนิ่ง ไม่พูดว่าอะไรเลย แสดงว่าท่านรับคำอาราธนานิมนต์

    หลวงปู่ใหญ่ท่านพักนิ่งอยู่ คณะศิษย์จึงได้ปล่อยให้ท่านนอนพักผ่อน ต่างองค์ต่างมีความกระวนกระวายใจในอาการป่วยของครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะต่างองค์ต่างก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ต่างองค์จึงต่างนิ่งเฉย เพียงเฝ้าคอยดูอาการของหลวงปู่ใหญ่ท่านเท่านั้น

    เมื่อได้เวลากราบเรียนถึงอาการของท่านครั้งไร หลวงปู่ใหญ่ก็บอกว่า
    “บ่เป็นหยัง” คือท่านจะบอกว่า ไม่เป็นไร คณะศิษย์ต่างก็เฝ้าดูอาการของท่านจนกระทั่งเสร็จการลงอุโบสถกรรม และเสร็จงานบุญมาฆบูชา

    คณะศิษย์ได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ใหญ่เดินทางไปยังเมืองมุลปาโมกข์ (อำเภอวรรณไวทยากร) พักที่วัดกลาง ซึ่งมี ท่านญาคูบุปผา เจ้าอาวาส ให้การต้อนรับ

    หลวงปู่ใหญ่และคณะศิษย์พักที่วัดกลาง เมืองมุลปาโมกข์ เพื่อรอเรือกลไฟเดินทางกลับนครจำปาศักดิ์ต่อไป ซึ่งไม่มีกำหนดการแน่นอนว่าจะออกเดินทางเมื่อใด
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ยังพูดเย้าแหย่ลูกศิษย์


    เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ที่พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ศิษย์อาวุโสได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ใหญ่ไว้ว่า ขออย่าให้ท่านเป็นอะไรไปก่อนเดินทางถึงวัดอำมาตยาราม อาการป่วยของท่านดูยังคงที่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้น่าวิตกไปมากกว่านั้น หนำซ้ำดูท่านยังสงบเย็น อารมณ์ดีเป็นปกติ แถมยังพูดจาเย้าแหย่หลวงปู่บัวพา อยู่เลย

    เหตุการณ์มีอยู่ว่า วันหนึ่ง ญาติโยมได้มาทำบุญถวายสังฆทานได้นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงพระเณร ซึ่งปกติอาหารหลักที่ขาดไม่ได้ก็คือ ข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน นั่นเอง

    วันนั้นชาวบ้านได้นำขนมจีนมาเลี้ยงพระเป็นจำนวนมากใส่มาเป็นกระบุงๆ

    หลังจากชาวบ้านกล่าวพิธีถวายอาหารเป็นสังฆทานแล้วพระท่านทำพิธีอปโลกนกรรมแล้ว...

    (ขออนุญาตอธิบายเรื่อง อปโลกนกรรม หรือพูดสั้นๆ ว่า พิธีอปโลกน์ สำหรับท่านที่ยังใหม่ในเรื่องวัดพอเข้าใจ กล่าวคือเวลาถวายสังฆทาน ซึ่งหมายถึงถวายให้แก่สงฆ์เป็นส่วนรวมไม่ได้เจาะจงถวายแก่องค์ใดองค์หนึ่ง

    สังฆทาน ที่ญาติโยมถวายจึงเป็นสมบัติกลางของสงฆ์ ดังนั้นก่อนจะเอาไปบริโภคหรือใช้สอย พระท่านจึงทำพิธีอปโลกน์ คือประกาศให้รู้ว่าของนี้เป็นของสงฆ์ เป็นของส่วนรวม อนุญาตให้พระเณรแต่ละองค์ได้แบ่งไปใช้สอยได้ตามความจำเป็น หมายถึงสงฆ์อนุญาตแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเป็นการบาปฐานลักขโมย ยักยอกของสงฆ์)

    หลังจากญาติโยมประเคนของ และพระได้ทำพิธีอปโลกน์แล้วจัดแจงแบ่งปันอาหารถวายครูอาจารย์และพระเณรเสร็จ ขนมจีนที่เหลือเป็นกระบุงๆ ก็นำมาตั้งไว้ข้างที่นั่งของหลวงปู่บัวพา ซึ่งท่านคิดไว้ไนใจว่าวันนี้เราจะฉันขนมจีนให้เต็มอิ่มจุใจสักวัน เพราะมันมีมากมายเหลือเกิน จึงได้ลำเลียงทั้งกระบุงมาไว้ข้างๆ ท่าน

    ปกติหลวงปู่บัวพาจะฉันทีหลังพระเณรองค์อื่นเสมอ เพราะต้องคอยอุปัฏฐากให้ครูอาจารย์ฉันเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วท่านเองจึงได้ลงมือฉัน

    ในวันนั้น หลวงปู่ตัวพาฉันพร้อมกับคณะ โดยท่านฉันข้าวเพียงนิดเดียว ส่วนขนมจีนท่านเติมแล้วเติมอีกตามความตั้งใจแต่แรกด้วยว่าจะฉลองศรัทธาญาติโยมอย่างเต็มที่ สมกับที่เขาทำมามาก

    หลวงปู่ใหญ่เห็นเช่นนั้น ท่านก็เลยหัวเราะ หึ หึ หึ แล้วก็พูดกับพระที่นั่งถัดๆ ไปว่า “เบิงพุ่นนา ท่านบัวพานั่งฉันข้าวปุ้นสิเหมิดกระบุงแล้วพุ้น”

    พระเณรต่างพากันเหลียวมองมาทางหลวงปู่บัวพา เห็นกระบุงขนมจีนตั้งอยู่ข้างท่านหลายใบ ต่างก็ยิ้มและหัวเราะเพราะเห็นเป็นเรื่องขัน สร้างบรรยากาศแก่พระเณรและผู้ร่วมทำบุญในวันนั้น

    ครั้งนี้นับเป็นการหัวเราะเป็นครั้งสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ละวางหมดทุกอย่าง


    ในตอนเย็น ปกติพระลูกศิษย์จะพากันเข้าอุปัฏฐากสรงน้ำ ถูเหงื่อไคลถวายท่าน แต่วันนั้น หลวงปู่ใหญ่บอกว่า จะลงสรงน้ำในแม่น้ำโขงด้วยองค์ท่านเอง ลูกศิษย์ลูกหาก็ดูแลประคองท่านลงไปสรงน้ำจนเสร็จเรียบร้อย ดูสุขภาพของท่านก็ยังแข็งแรงดีอยู่ ไม่น่าห่วงใยประการใด

    เช้าวันรุ่งขึ้น หลวงปู่บัวพา ได้เข้าไปอุปัฏฐากรับใช้ตามปกติ หลวงปู่ใหญ่ได้พูดขึ้นว่า : -

    “ฟ่าวเก็บของสา สิเอาหยังก็เอาสาตี้ ข่อยบ่เอาอีหยังอีก” (ให้รีบเก็บของได้แล้ว ต้องการอะไรก็เอาไปได้ เราไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว)

    เมื่อได้ยินดังนั้น หลวงปู่บัวพาก็รีบเก็บเครื่องบริขารของหลวงปู่ใหญ่โดยที่ไม่ได้นึกเฉลียวใจว่า “คำพูดของพระอาจารย์ใหญ่นั้นคือคำเทศนา คำสั่งเสียที่มีความหมายลึกซึ้ง บอกให้เห็นถึงการปล่อยวางความว่าง ไม่มีอะไรต้องยึดถืออยู่ในโลกธาตุ นับเป็นคำสอนที่แสดงถึงความสุดยอดของคำสอนทั้งปวง”

    นี้เป็นคำบันทึกของ หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค

    หลังจากนั้นแล้วหลวงปู่ใหญ่ก็สงบนิ่ง ไม่พูดจาอะไรอีกต่อไป

    เช้าวันนั้นมีญาติโยมมาทำบุญเป็นจำนวนมาก หากแต่หลวงปู่ใหญ่ท่านไม่ยอมฉันอะไรเลย สร้างความวิตกกังวลให้กับศิษย์ผู้ติดตามเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อท่านไม่ยอมฉันอะไร ก็หมายความว่า อาการของท่านที่ดูอ่อนแรงอยู่แล้วก็จะต้องทรุดหนักลงไปอีกอย่างแน่นอน

    พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ในฐานะศิษย์ที่มีอาวุโสสูงสุด ณ ที่นั้นได้พยายามอ้อนวอนให้ท่านฉันอาหาร โดยยกเหตุผลต่างๆ นานา แต่หลวงปู่ใหญ่กลับนิ่งเฉยเสีย ไม่ยอมฉัน

    เมื่อพระอาจารย์ดี รบเร้าไปสักพัก ท่านจึงตัดความรำคาญโดยลุกขึ้นนั่ง จัดท่าทางนั่งตามปกติ ลูกศิษย์ลูกหาต่างดีอกดีใจ ยกสำรับกับข้าวมาตั้ง ถวายน้ำล้างมือท่าน

    พระอาจารย์ดี ได้ตักข้าวต้มที่เตรียมมาอย่างดีสำหรับองค์ท่านโดยเฉพาะป้อนถวายไปที่ปาก หลวงปู่ใหญ่อ้าปากรับข้าวต้ม แล้วอมไว้สักประเดี๋ยว ต่อจากนั้นท่านก็คายทิ้งลงกระโถนไป และไม่ยอมรับอะไรต่อไปอีก เป็นอันว่าหมดปัญญาที่คณะศิษย์จะรบเร้าให้ท่านฉันอะไรลงท้องได้อีกเลย

    หลวงปู่ใหญ่ไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น ปล่อยวางหมดทุกอย่างตามที่ท่านบอกหลวงปู่บัวพา เมื่อตอนเช้ามืดของวันนั้น

    <TABLE id=table24 border=0 width=122><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ลงเรือสู่นครจำปาศักดิ์


    เป็นอันว่าตั้งแต่วันนั้นหลวงปู่ใหญ่ไม่ยอมรับอะไรเลยทั้งอาหารและน้ำ ท่านปล่อยวางหมดทุกอย่างตามที่ลั่นวาจาไว้

    ปัญหาหนักใจของคณะศิษย์คือการเคลื่อนย้ายองค์หลวงปู่ใหญ่จากเมืองมุลปาโมกข์ไปยังนครจำปาศักดิ์ สมัยนั้นมีแต่เรือพาย เรือแจวเท่านั้น ระยะทางก็อยู่ไกลและทุรกันดาร ถ้าไปเรือแจวก็ต้องใช้เวลาหลายวัน

    มีทางเดียวที่จะไปได้ คือต้องรอเรือกลไฟของทางราชการ ที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่อาจคาดคะเนได้ว่าเมื่อไรจะมีเรือแล่นไปยังนครจำปาศักดิ์

    สิ่งที่ทำได้ในขณะนั้น คือ รอ เพียงอย่างเดียว

    <TABLE id=table77 border=0 width=122 align=left><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    พระเทพสังวรญาณ
    (พระอาจารย์พวง สุขินทริโย
    )
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    จะด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร หรือเทพบันดาลประการใดก็ไม่อาจทราบได้ ในวันนั้น นายอำเภอเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ให้คนมาบอกพระว่า ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายเตรียมตัวลงเรือแต่เช้ามืด เพราะเรือจะออกไปยังนครจำปาศักดิ์ ด้วยมีงานเร่งด่วน

    เช้ามืดวันรุ่งขึ้น คณะของหลวงปู่ใหญ่จึงพร้อมออกเดินทางแต่การเดินทางโดยเรือกลไฟจะมีเสียงดังมาก ควันคละคลุ้ง เกรงหลวงปู่จะได้รับความกระทบกระเทือน จึงนิมนต์ท่านลงเรือเล็กที่มีประทุน เอาเชือกล่ามติดกับเรือกลไฟไปอีกต่อหนึ่ง พอจะบรรเทาเสียงดังลงไปได้ และความกระเทือนก็น้อยลง

    หลวงปู่ใหญ่นอนบนแคร่ไม้ไผ่ ในเรือประทุน ศิษย์ผู้ติดตามอุปัฏฐากบนเรือเล็กมี หลวงปู่บัวพา พระอาจารย์กงแก้ว และเด็กชายเจริญ ที่เหลือนอกนั้น ซึ่งมี พระอาจารย์ดี พระอาจารย์กอง พระอาจารย์สอ สามเณรสุบรรณ สามเณรพวง (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย) สามเณรอำนวย และเด็กชายมี ขึ้นโดยสารเรือกลไฟ

    เมื่อได้เวลาออกเดินทาง เรือก็เปิด
    “โหวด” สัญญาณฟืนที่บรรจุเป็นเชื้อเพลิงก็ลุกโชน เสียงเครื่องเรือดังสนั่นหวั่นไหว สะเทือนไปทั่วทั้งลำ ควันจากท่อไอเสียก็พ่นเขม่าสีดำคละคลุ้งไปทั่วลำน้ำโขง

    เรือกลไฟได้แล่นออกจากท่าน้ำเมืองมุลปาโมกข์ แล่นทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือ ท่ามกลางแสงแดดที่แผดกล้าทั้งวัน แล่นผ่านเกาะแก่งน้อยใหญ่ของแม่น้ำโขง เป้าหมายปลายทางอยู่ที่นครจำปาศักดิ์

    หลวงปู่ใหญ่ นอนสงบนิ่งในเรือประทุนลำเล็กที่ผูกล่ามอยู่กับเรือกลไฟลำนั้น ท่านไม่ได้พูดอะไรกับใครเหมือนกับท่านอยู่ในสมาธิหรือเข้าฌานตลอดการเดินทาง
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เรือถึงปลายทาง


    ตลอดการเดินทางทั้งวัน คณะศิษย์สังเกตเห็นว่า อาการของหลวงปู่ใหญ่เพียบลงอย่างมาก น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

    หลวงปู่ใหญ่นอนหลับตานิ่ง หายใจอ่อนๆ แสดงอาการสงบเย็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับตัวท่าน เสียงบ่นเสียงครวญครางแม้ลอดออกจากไรฟันแต่เพียงเล็กน้อยก็ไม่มีให้ใครได้ยิน ราวกับว่าองค์ท่านยอมรับสภาพความแตกสลายของกาย ย่อมเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่จิตของท่านไม่รับรู้กับความทุกข์เหล่านั้น ไม่มีอาการยื้อยุดไว้แต่ประการใด ๆ ทั้งสิ้น

    <TABLE id=table78 border=0 width=122 align=right><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    ดอนโขงหรือเมืองโขงเป็นเกาะใหญ่ที่สุดแถบสี่พันดอน
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ความกระวนกระวายใจทั้งหลายกลับบังเกิดในหมู่ศิษย์ ทั้งนี้เพราะความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ท่าน ไม่อยากให้ท่านจากไป แม้จะรับรู้ถึงความไม่เที่ยงของชีวิตอยู่เต็มอก แต่เมื่อต้องมาเผชิญกับความสูญเสียของครูบาอาจารย์ที่ตนรักและเคารพศรัทธาเป็นที่สุด ก็อดที่จะทุกข์ร้อนไปกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาไปไม่ได้

    ในช่วงสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่ ท่านจะพูดน้อยที่สุด แม้เวลาญาติโยมกราบอาราธนาให้ท่านเทศน์ ท่านก็จะเทศน์แต่เพียงสั้นๆ ถึงกฎสามัญญลักษณะ หรือ ความเป็นทุกข์ ความเป็นของไม่เที่ยงและความไม์ใช่ตัวตนเราเขา

    ท่านสอนไม่ให้เข้าไปยึดถือในสิ่งทั้งปวง ให้ละให้วาง แล้วท่านก็ทำตัวอย่างให้เห็นประจักษ์แก่ตาของศิษย์ทุกคนด้วย เพราะคำพูดแต่ละคำที่ออกจากปากท่านนั้น ไม่เคยพูดอย่างพล่อยๆ ท่านจะพูดแต่สัจธรรม คือของที่เป็นจริงทั้งนั้น ท่านรู้จริง เห็นจริง และก็ทำได้จริงด้วย

    “แม้ร่างกายของท่านต้องเผชิญกับความแตกดับสูญสลาย แต่ทุกขเวทนาแม้น้อยนิดก็ไม่สามารถครอบงำจิตใจของท่านได้”

    ตกเย็น แสงแดดที่แผดกล้ามาทั้งวันก็เริ่มบดแสงลง ความร้อนระอุเริ่มถูกแทนที่ด้วยไอเย็นของลำน้ำโขงที่พัดมาด้วยกระแสลมอ่อนๆ นำความชุ่มชื่นหายเหนื่อยให้กับผู้เดินทางได้ไม่น้อย

    ประมาณ ๕ โมงเย็น ดูฝูงนกเริ่มโผผินบ่ายหน้ากลับสู่รวงรัง เจ้าเรือกลไฟที่เดินเครื่องมาทั้งวันคงจะเหน็ดเหนื่อย ได้เวลาพักพอดีก็เบนหัวเรือเข้าหาฝั่ง สู่ท่าน้ำวังหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์ เสียงเครื่องเรือลดระดับลง จนเรือทั้งลำเข้าจอดเทียบท่าเป็นการเรียบร้อย

    สิ้นสุดการเดินทางที่ยาวไกล และทนทรหดมาทั้งวัน
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ลาขันธ์ต่อหน้าพระประธาน

    <TABLE id=table82 border=0 width=122 align=left><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    ท่าน้ำหน้าวัดอำมาตยาราม ที่หลวงปู่เสาร์มาขึ้นฝั่ง (แม่น้ำโขง)
    ภาพจาก หนั
    งสือมณีรัตน์
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    เมื่อเรือจอดเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว “ลูกศิษย์ลูกหาต่างกุลีกุจอหามแคร่ไม้ไผ่ลงไปท่าน้ำ เพื่อรับท่านพระอาจารย์มาบนบก ทั้งพระทั้งเณรฆราวาสญาติโยมพากันเตรียมพร้อม เพราะต่างรู้การมาของพระอาจาร9เป็นการล่วงหน้าแล้ว

    คณะผู้ติดตามพร้อมคณะที่รอรับ รีบอุ้มพระอาจารย์ขึ้นนอนบนแคร่ไม้ไผ่ แล้วหามท่านขึ้นจากเรือ มุ่งหน้าเข้าวัดอำมาตยารามตรงไปที่โบสถ์ตามที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้รับท่าน

    พอไปถึงพระอุโบสถ ก็วางแคร่ลงบนพื้นเบื้องหน้าพระประธาน

    หลวงปู่ใหญ่ นอนสงบนิ่งเฉยเหมือนอยู่ในสมาธิหรือเข้าฌาน ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ท่านอยู่ในอาการนี้ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง ดูประหนึ่งว่าอดทนรอเพื่อให้ถึงวัดอำมาตยาราม ตามที่พระอาจารย์ดี ได้อาราธนาไว้

    เมื่อศิษย์พาหลวงปู่ใหญ่เข้าพักภายในโบสถ์เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่บัวพาจึงได้กราบเรียนที่ข้างหูว่า

    “ครูบาจารย์ ถึงแล้วจำปาศักดิ์ อยู่ในโบสถ์วัดอำมาตย์แล้ว”

    หลวงปู่ใหญ่คงไม่ได้ยินชัดเจน แล้วถามกลับว่า
    “หือ ! วัดอำมาตย์บ้อ?” (วัดอำมาตย์หรือ?)

    หลวงปู่บัวพา ตอบว่า
    “โดย ข้าน้อย” (ครับ กระผม)

    มหัศจรรย์อย่างเหลือเชื่อ หลวงปู่ใหญ่ ลุกขึ้นนั่งด้วยองค์ท่านเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ลูกศิษย์จะต้องช่วยประคองทุกครั้งเวลาจะนั่งหรือนอน แต่ครั้งนี้ท่านลุกขึ้นนั่งเหมือนกับไม่ได้เจ็บป่วยเลย

    <TABLE id=table83 border=0 width=122 align=right><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    โบสถ์ไม้เดิม วัดอำมาตยาราม ซึ่งหลวงปู่เสาร์เข้าไป
    กราบพระประธานก่อนมรณภาพ
    ภาพจาก หนั
    งสือมณีรัตน์
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    หลวงปู่ใหญ่นั่งพับเพียบ ลำตัวโน้มไปข้างหน้า ใช้มือยันกับพื้น มือข้างหนึ่งอยู่ระหว่างเข่าทั้งสองข้าง อีกมือยันออกไปด้านข้างเล็กน้อย สายตามองไปที่องค์พระประธาน

    หลวงปู่ใหญ่ เรียกหาผ้าสังฆาฏิมาพาดบ่า แล้วจึงก้มหน้าลงแสดงท่ากราบพระประธาน ดูท่านจะไม่มีเรี่ยวแรง หลวงปู่บัวพา พระอาจารย์กงแก้ว จึงเข้าไปช่วยพยุง

    หลวงปู่ใหญ่คงอ่อนเพลียมาก ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ เพียงแสดงอาการก้มลงไปข้างหน้า ๓ ครั้ง

    เมื่อกราบครั้งที่สาม ร่างท่านก็แน่นิ่งอยู่อย่างนั้นไม่ไหวติง

    หลวงปู่บัวพา มีความคิดว่าถ้าประคององค์ท่านให้นอนลงท่านคงจะอยู่ในอิริยาบถที่สบายมากกว่า จึงได้ขอความเห็นจากพระเณรที่อยู่ ณ ที่นั้น

    พระเณรต่างก็เห็นด้วย พระอาจารย์ดี พระอาจารย์สอ พระอาจารย์กงแก้ว พระอาจารย์บุญเพ็ง และพระอาจารย์บัวพา รวม ๕ องค์ ได้เข้าพยุงกายหลวงปู่ใหญ่ เพื่อจะโน้มให้ท่านลงนอน

    แต่แล้ว ทุกองค์ต่างเลิกล้มความตั้งใจ เพราะไม่สามารถทำให้ร่างท่านขยับเขยื้อนได้ องค์ท่านไม่ไหวติงและหนักราวกับก้อนหินใหญ่

    หลวงปู่บัวพา ได้สติก่อน จึงพูดว่า
    “พอแล้วๆ ไม่ต้องเอาท่านลงนอน ท่านคงต้องการจะไปในท่านี้”

    ศิษย์ทุกองค์จึงลงนั่งรอบองค์ท่าน เปิดช่องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

    หลวงปู่ใหญ่นั่งอยู่ในท่าก้มไปข้างหน้าอย่างนั้นประมาณ ๒๐ นาที มีเหงื่อผุดตามตัวท่านจนผ้าจีวรเปียก แต่ไม่มีใครกล้าไปแตะต้ององค์ท่าน มีเพียงพระอาจารย์กงแก้ว คอยระวังอยู่ด้านหลัง เพราะกลัวท่านจะล้ม

    พระอาจารย์ดี รีบเอาน้ำพ่นให้เป็นละอองฝอยรอบองค์ท่านเพื่อจะให้ชุ่มชื้นขึ้นหลวงปู่ใหญ่ ยังคงนั่งในท่านั้นไม่ไหวติง ต่อมามีอาการหายใจเฮือกใหญ่ ๓ ครั้ง จนมองเห็นไหล่ทั้งสองยกขึ้น แล้วร่างท่านก็แน่นิ่งสงบไปเหมือนเดิม

    ลูกศิษย์ลูกหาเพ่งสังเกตไปที่จมูกของท่านจนแน่ชัดว่าท่านหมดลมปราณเสียแล้ว จึงได้ประคองตัวท่านให้นอนลง คราวนี้ปรากฏว่าร่างท่านอ่อน เพียงโน้มองค์ท่านลงนิดเดียวท่านก็นอนลงอย่างง่ายดาย ผิดกับเมื่อตอนแรกที่หนักเหมือนก้อนหินไม่สามารถทำให้ขยับเขยื้อนได้

    ท่านอาจารย์กงแก้ว ท่านอาจารย์สอนซึ่งยังเป็นพระหนุ่ม อายุพรรษายังน้อย สุดจะกลั้นความรู้สึกได้ถึงกับปล่อยโฮออกมาอย่างแรง รู้สึกสลดสังเวชในการสูญเสียครูอาจารย์ที่ท่านเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง

    <TABLE id=table79 border=0 width=122 align=left><TBODY><TR><TD>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    วันนี้เป็นวัน ๓ <SUP></SUP><SUB></SUB> ๓ ค่ำ ปีมะเมีย

    คือ วันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๓ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕

    สิริรวมอายุของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล หรือ พระครูวิเวกพุทธกิจ ได้ ๘๒ ปี อายุพรรษา ๖๒

    หมายเหตุ แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ของไทยจะถือเอาเดือนเมษายน เป็นการเริ่มต้น ซึ่งถือตามจันทรคติ

    ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนการเริ่มต้นปีให้เป็นไปตามอย่างสากลคือ เริ่มต้นวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงมีเพียง ๙ เดือน คือ เมษายน-ธันวาคม พอถึง มกราคม ก็เปลี่ยนเป็น พ.ศ. ๒๔๘๕ และถือกันมาจนปัจจุบัน
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่


    ข่าวการมรณภาพของพระครูวิเวกพุทธกิจ หรือหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว

    บริเวณวัดอำมาตยาราม แห่งนครจำปาศักดิ์คับคั่งไปด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้หลั่งไหลมากราบคารวะศพของท่านอย่างไม่ขาดสาย

    ท่านพระครูนาคบุรี ศรีคณาภิบาล (ม้าว) และเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ได้เป็นผู้นำในการจัดบำเพ็ญกุศล

    ท่านอาจารย์กงแก้ว ได้ส่งโทรเลขไปยังเมืองอุบลฯ แจ้งข่าวให้ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และญาติโยมได้ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่ และให้เตรียมไปรับศพท่านกลับเมืองไทยต่อไป

    กล่าวถึงคณะของ ท่านอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ท่านอาจารย์บุญมาก ฐิตปญฺโญ และท่านอาจารย์กิ ธมฺมุตฺตโม ที่รอหลวงปู่ใหญ่อยู่ที่ภูจำปาศักดิ์ ได้ใช้เรือแจวลงไปรับหลวงปู่ใหญ่ที่เมืองมุลปาโมกข์ ในช่วงที่เรือแล่นสวนทางกัน คงจะเป็นจังหวะที่ต้องอ้อมเกาะคนละฟากกัน จึงทำให้คลาดกันไป ทางคณะจึงได้เดินทางไปถึงเมืองมุลปาโมกข์ เมื่อทราบว่าหลวงปู่ใหญ่ลงเรือมานครจำปาศักดิ์แล้ว จึงเร่งรีบตามมา

    ในระหว่างทางกลับ ได้สวนทางกับเรือกลไฟที่กลับจากไปส่งคณะหลวงปู่ใหญ่ที่นครจำปาศักดิ์ เจ้าหน้าที่บนเรือตะโกนบอกให้ทราบว่าหลวงปู่ใหญ่ได้มรณภาพแล้วที่วัดอำมาตยาราม เมื่อเย็นวานนี้ ทางคณะพระอาจารย์ทองรัตน์ จึงได้รีบเร่งเดินทางมาที่นครจำปาศักดิ์ เพื่อสักการะศพของหลวงปู่ใหญ่ และจัดการสรงน้ำศพท่าน รอคณะจากทางจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางมารับศพไปบำเพ็ญกุศลต่อไป
     

แชร์หน้านี้

Loading...