หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย นวกะ36, 2 สิงหาคม 2010.

  1. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต​




    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑)

    คำถาม :

    หลวงปู่เจ้าค่ะ ขอเรียนถามข้อสงสัยในสมาธิ พอจิตดิฉันเข้าสู่ภวังค์จะเหมือนร่างกายหล่นจากที่สูงๆ มากลึกสุดประมาณ แต่มิได้เป็นบ่อยนะเจ้าค่ะ นานๆถึงจะเป็นทำให้ดิฉันสงสัยว่าคืออะไร กราบขอหลวงปู่ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผู้ด้อยความรู้ด้วยเจ้าค่ะ

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    เรื่องการภาวนานั้นเป็นของดีแล้ว เพราะมีความปิติและพอใจในธรรมที่ปรากฏ เป็นอย่างนั้นด้วยอำนาจของปิติธรรม นักภาวนาก็ต้องเจออย่างนั้น บางทีปรากฏว่าเหาะเหินเดินอากาศหรือเดินจงกรมในอากาศ หรือขัดสมาธิในอากาศหรือพลิกคว่ำพลิกหงายในอากาศ เป็นการแสดงปาฎิหาริย์ไปในตัวก็มีสารพัดจะเป็นไป แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา เมื่อถอนออกมาแล้วจงพิจารณาว่า ธรรมอันละเอียดถึงเพียงนี้ก็ยังอยู่ใต้อนิจจังความไม่เที่ยง ขอให้น้อมลงอย่างนั้นอย่าสำคัญว่าเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อไม่สำคัญในส่วนนี้จิตก็สูงขึ้นไปกว่าเดิมอีกในตัวแล้ว

    จงพยายามทำบ่อยๆ เทอญ และอีกประการหนึ่งให้พิจารณาเห็น อนิจจังพร้อมกับลมหายใจออกเข้า พร้อมทั้งเห็นทุกข์เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนกลมกลืนกันในขณะเดียว ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง พร้อมกับลมออกเข้า แม้ศีล สมาธิ ปัญญาที่เรียกว่าไตรสิขา ก็รวมพลุกันอยู่ ณ ที่นั้นเอง จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเอง เมื่อเห็นชัดในส่วนนี้พร้อมทั้งชำนาญและเห็นเนืองๆ อยู่ ความระอาในวัฎฎะสงสารที่เคยหลงมาแล้วก็จะรู้ตามเป็นจริง จะได้ไม่ทะยานอยากในโลกทั้งปวง

    เพราะโลกทั้งปวงมีแต่เกิดขึ้นและแปรดับ และมีทุกข์ไม่ใช่ตัวตนดังที่ว่ามาแล้วนั้น จะได้สิ้นความสงสัยในปัญหาของเจ้าตัวที่เคยสร้างขึ้นจะแก้ไม่ยาก โลกคืออะไร.... วัตถุภายนอกคืออะไร..... ที่สร้างขึ้นด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลมก็ดี หรือความนึกคิดแห่งสุข ทุกข์ อุเบกขาก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนและดับไปเสมอกันทั้งนั้น เมื่อลูกไม้ของโลกมีเพียงเท่านี้แล้วนั้น เราก็ไม่มีหนทางจะไปสงสัยอะไรอีก มีแต่รู้ตามเป็นจริง ปฎิบัติตามเป็นจริงพ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงเท่านั้น ความดีใจเสียใจในโลกทั้งปวงก็ห้ามเบรคลง ปัญญาก็เกิดขึ้นเหนือความหลงของตนไปซะ เรียกว่ารู้เท่าทุกข์รู้เท่าสังขารแล้ว จิตก็โอนไปเอนไปโน้มไปในพระนิพพาน คืนกลับความหลงของเจ้าตัวแบบเย็นๆ เท่านั้นเอง

    ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย จงรู้ตามความเป็นจริงในสังขารทั้งปวง พร้อมกับลมออกเข้าในปัจจุบันยิ่งๆ ขึ้นไป หลุดพ้นจากความหลงในปัจจุบันตามเป็นจริงอยู่ทุกเมื่อเทอญ ปัญหาของธรรมแท้ไม่มาก ที่มันมากวนเวียนก็เพราะกิเลสของเราทรงอำนาจ เมื่อปัญญาทรงอำนาจแล้วความสงสัยของเราก็หายไปไม่ขบถคืนเลย จะว่ารู้แจ้งโลกก็ได้ จะว่ารู้แจ้งสังขารก็ได้ จะว่ารู้ทันความหลงของเจ้าตัวก็ได้
     
  2. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๒)

    คำถาม :

    หลวงปู่ค่ะดิฉันต้องปฎิบัติเช่นไรค่ะ จึงจะได้เกิดมาในภพภูมิของศาสนาพุทธ เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์อีก แต่ดิฉันก็คิดว่า การไม่ขอเกิดมาอีกน่ะดีเยี่ยมที่สุดนะเจ้าค่ะ แต่บุญบารมีของดิฉันจะมีมากพอที่จะทำให้ดิฉันไม่ต้องเกิดอีกหรือไม่ แต่ดิฉันจะเร่งเพียรพยามยามเร่งสะสมบุญนะเจ้าค่ะ เพราะถึงอย่างไรในภพนี้ดิฉันก็ได้เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์แล้วก็อย่าได้เสียชาติเกิด ต้องเร่งสะสมบุญไปเรื่อยๆ เร่งทำความเพียรเจริญสติตลอดเวลา เวลาที่ดิฉันต้องออกไปธุรกิจ หรือต้องขึ้นรถลงเรือไปไหนๆ ดิฉันมักจะคิดว่าถ้าดิฉันเกิดตายไปตอนนี้ดิฉันได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ดิฉันก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเออ....นี่เรายังไม่ได้ทำอะไรกับเขาเท่าไหร่เลย จะต้องมาตายซะแล้ว เพราะความตายเกิดได้ทุกขณะ ดิฉันนึกถึงความตายอย่างนี้ตลอดเวลา จะเรียกได้ว่า ดิฉันได้เจริญมรณานุสติ ใช่ไหมเจ้าค่ะ

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    เมื่อหลานๆ เห็นภัยในวัฎฎสงสารอย่างเต็มที่แล้ว มันก็เป็นผู้มีวาสนาอยู่ในตัว สามารถทำตัวให้พ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติได้โดยแท้ เพราะคนเราเมื่อเห็นทุกข์เป็นหลักของหัวใจแล้ว นั่นก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง เมื่อเห็นอยู่เนืองๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ก็เรียกว่าภาวนาอยู่ไม่ขาดสาย เป็นข้อวัตรของจิตใจที่ชอบด้วย หนักเข้าก็เบื่อหน่ายคลายเมาในวัฎฏสงสารแบบเย็นๆ รอบครอบเรียกว่าปัญญาชอบในวิปัสสนา

    อนึ่ง บุคคลที่จะเกิดเป็นมนุษย์อีกติดกันในชาติต่อไป เป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะโหรเอกพระบรมศาสดาองค์ท่านทายว่า บุคคลผู้ถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นสรณะแล้วมีคติเป็นสอง ไม่มนุษย์ก็เทวดา มันเป็นของไม่ยากของผู้ศรัทธา แต่ก็ตรงกันข้ามเป็นของยากผู้ที่ไม่ศรัทธา ความดีคนดีทำได้ง่าย ความชั่วคนดีทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก สิ่งเหล่านี้เป็นของจริงมาแต่ดึกดำบรรพ์

    และการเกิดในศาสนาพุทธนั้น เมื่อเราได้ถึงไตรสรณคมน์แล้ว มันก็มีพืชไว้แล้วถึงแม้มีภพมีชาติอีก มันก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนานั่นเองไม่ต้องสงสัยเลยนา การเกิดเป็นเทวดาเทวบุตรและพรหมมีทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ก็จริงอยู่แล้ว แต่เมื่อมันอยู่ใต้อำนาจความไม่เที่ยงแล้ว ก็จัดว่าเป็นทุกข์เสมอกันในด้านปรมัตถ์ และก็มรรคผลก็มีในชั้นเทวโลก และพรหมโลกเหมือนกัน บางท่านก็ภาวนาติดต่อกันในภพนั้นๆ สร้างบารมีอยู่ในภพนั้นๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้เหมือนมนุษย์เรานี่เอง มันก็ล่าช้าอยู่แต่สัตว์เดรัจฉาน เปรตทุกจำพวก และสัตว์นรกทุกจำพวกเท่านั้น

    ?จะอย่างไรก็ตาม เราไม่ตีตนตายก่อนไข้ เราจะไม่หวังภพต่อไปในอนาคตอีก เราจองขาดผูกขาดเพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวงในชาติปัจจุบัน เพื่อจะตัดปัญหาความมุ่งหวังหลายทาง ให้เหลือแต่ทางเดียวปัญหามันจะน้อยลง ความประสงค์ก็ไม่มีมาก แม้เราจะภาวนาเห็นกองทุกข์ขณะจิตเดียวหรือพุทโธคำเดียว ก็มีคุณค่ามากกว่าที่ปรารถนาในภพต่อไป การปรารถนาในภพต่อๆ ไปตั้งล้านๆ ขณะจิต ก็ไม่เท่าขณะจิตเดียวที่หวังพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ?

    การจองคิว การสมาทาน เจตนา ความประสงค์ ความต้องการ และการอธิษฐานทั้งหลายเหล่านี้เรียกชื่อต่างกัน แต่ก็มีความหมายอันเดียวกัน ฉะนั้นความต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ เป็นสติปัญญา ศีล สมาธิมีพลังมาก แต่เราบัญญัติไม่เป็นก็กล่าวตู่ว่าศีลไม่มีในเจตนา ที่แท้นั้น เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ เจตนาไปทางดีนั่นเองเป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียว เหมือนเชือกสามเกลียวที่เราเรียกว่า ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกล จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็ไม่เป็นปัญหา ขอให้ภาวนาติดต่อกันอยู่ไม่ขาดสายให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเป้าหมายอันเดียวพร้อมกับลมหายใจออก-เข้า นิวรณ์ทั้งหลายมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอก

    ?ผู้รักใคร่ภาวนาอยู่เป็นนิจเรียกว่าผู้นั้นบารมีแก่กล้าแล้ว ท่านผู้ใดขี้เกียจก็ให้ทราบเถิดว่าบารมียังอ่อนมาก? จะอย่างไรก็ตามขอให้แบ่งเวลาภาวนาอย่าให้เสียวันเสียคืน จิตใจจะสูงขึ้นเองไม่ต้องบ่นหา จะชนะความหลงของตนแน่แท้
     
  3. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]
    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๓)

    คำถาม :

    ดิฉันอยากจะขอเรียนถามหลวงปู่ ถึงเรื่องการควบคุมจิตใจให้มีความสงบอยู่นานๆ และขออุบายหรือวิธีการในการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบเร็วขึ้นด้วย
    ค่ะ

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    การภาวนาอยากจะให้จิตจดจ่ออยู่นานๆ ก็ต้องตัดความละโมบในอารมณ์อื่นที่มาเกยมาพาด ต้องตั้งสติไว้กับอาจารย์เดิม (คือกรรมฐานเดิมที่ตั้งไว้) ยินดีในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น อย่าไปยินดีในกรรมฐานอื่นที่ยังไม่ตั้ง นึกหรือบริกรรม กรรมฐานอันเดิมนั่นแหละ ตั้งสัจจะไว้ในที่นั้น ตั้งอธิษฐานไว้ในที่นั้น ถ้ามันลืมไปก็ดึงมาอย่าได้เสียใจ เพราะความสำเร็จอยู่กับความอดทนและความเพียร เพราะเอากรรมฐานเดิมเป็นที่ตั้งเป็นตัวประกัน ยอมเป็นยอมตายกับกรรมฐานเดิมนั้น

    คำว่า ?ศีล? แปลทับศัพท์ก็ตัดสินลงในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น แม้สมาธิก็ตั้งมั่นในกรรมฐานที่ตั้งมั่นไว้นั้น คำว่า ?ปัญญา? ก็รอบรู้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น อย่าไปวอกแวกเคลื่อนที่ไปทางอื่น เพราะเรารวมคำสอนของพระองค์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาไว้ที่เป้ากรรมฐานที่เราตั้งไว้แล้วนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งหมดก็มีความหมายอันเดียวกัน เราเอามารวมไว้ที่เป้าหมายอันเดียวกันนั่นแล้ว เราไม่สงสัยส่งส่ายไปหาอันอื่นเลย ถ้าไม่ขนาบทิฎฐิของตนอย่างนั้นมันก็ไปคว้าอันนั้นอันนี้อยู่ จิตของเราก็ไม่รวม ความเห็นชอบของเราก็ไม่รวมอยู่ที่แห่งเดียว

    ที่มันไม่ยอมอยู่ที่แห่งเดียวเพราะอุบายของเราไม่ทันกับกิเลสของเรา เพราะกิเลสของเรามันหลุกหลิกๆ อยู่เหมือนลิงกระโดดนั่นกระโดดนี่ กระโดดถูกกิ่งไม้ผุก็ตกตูมตาย เหตุนั้นจึงให้สันโดษยินดีในกรรมฐานเดิมที่ตั้งไว้ เปรียบเหมือนทิศเหนือ เมื่อทิศเหนือก็มีอำนาจในแม่เหล็ก เข็มทิศใดๆ ย่อมชี้ไปทางทิศเหนือทั้งนั้น เป็นเมืองขึ้นทิศเหนือก็ว่าได้ ฉันใดก็ดีเมื่อเราตั้งมั่นไว้ในกรรมฐานใดๆ เป็นหลักแล้ว กรรมฐานอื่นๆ มีตั้งหมื่นตั้งแสนย่อมเป็นเมืองขึ้นของกรรมฐานที่เราตั้งไว้

    จะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่เกี่ยวกับปัญญาก็ดี หรือสมถะกรรมฐาน กรรมฐานที่เกี่ยวกับจิตใจก็ดี ก็มารวมพลกันอยู่กับเป้าเดิมที่เราตั้งไว้ไม่ส่งส่ายนั่นเอง แม้มรรค ผล นิพพานก็อยู่ในที่นั้นด้วย แม้เราจะกระจายออกจากเป้าเดิมที่นั้นเราก็ไม่สงสัยอีก ให้ถือว่ามันแตกออกจากเป้าเดิม ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา อันเก่านั่นเอง ให้เข้าใจว่าสมาธินี้เหมือนเชือกเส้นยาวๆ ที่เราขึงไปทั่วไตรโลกธาตุ แต่เราสาวเข้ามาให้มันรวมเป็นกองเดียว จะโตเท่าฟ้าเท่าแผ่นดินก็ตาม หรือจะเล็กลงเท่าปลายเข็มก็ตาม ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง
     
  4. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๔)

    คำถาม :

    การปฎิบัติธรรมแบบฝึกหัดเริ่มต้น หากเรานั่งกำหนดจิตอยู่ที่ ?พุทโธ? และลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่หูก็ยังได้ยินสิ่งที่มากระทบจากภายนอกอยู่บ้าง อันนี้ถือว่าจิตลงถึงความสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และตอนช่วงระยะที่นั่งฝึกไปนั้นลมหายใจที่เรากำหนดอยู่ได้เริ่มเบาไปทุกทีๆ กระทั่งแทบจะไม่มี นั้นถึงจุดนี้ถือว่าจิตสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และหากถึงตรงจุดนี้เราควรทำอย่างไรต่อไปครับ


    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    การที่เราภาวนาลมละเอียดเข้าไป แต่ได้ยินเสียงอยู่ แต่ไม่ได้ทิ้งกรรมฐานเดิม คือลมหายใจเข้าออกก็รู้ชัด พร้อมกันกับเสียงที่มากระทบอันนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อละเอียดเข้าไปเบาเข้าไป อันนั้นละเอียดกว่าอุปจารสมาธิอีก จิตในชั้นนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ไม่ให้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมออก-เข้า ละเอียดลงไปขนาดไหนก็ไม่ทิ้ง จนวูบลงหรือวับลงไปไม่ปรากฏลมเสียเลย แล้วก็มีแต่ผู้รู้เบาหวิวอยู่อันนั้นเรียกว่า ?ปฐมฌาน? (อัปนาสมาธิ)

    แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา เมื่อถอนออกมาก็เห็นลมออก-เข้า เบาๆ อยู่ ถ้าปล่อยจิตฟุ้งซ่านไปทางอื่นก็เป็นเรื่องกรรมฐานแตกไป แต่ถ้าทวนดูว่า เอ๊ะ..... จิตขนาดนี้ก็ยังถอนออกมาอยู่แล้ว พิจารณาลงสู่อนิจจังให้เห็นพร้อมกับลมออก-เข้าต่อไป ก็แปลว่ามีวิปัสสนาควบกับสมถะด้วย วิปัสสนาก็คือปัญญานั่นเองเพราะเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก เมื่อเห็นอนิจจังชัดแล้วจะเห็นทุกข์สัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียด จะเห็นสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาสัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียดอีกคล้ายๆ กับเชือกสามเกลียว ซึ่งกลมกลืนกันอยู่ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังพร้อมกับลมออก-เข้าด้วย อันนี้เรียกว่าสติสัมปชัญญะแก่กล้าในไตรลักษณญาณคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลมกลืนกันอยู่นั่นเอง ก็ต้องพิจารณาอยู่อย่างนั้นติดต่อกันอยู่เสมอ เมื่อถอนออกมาก็จับเข้าไปในที่นั้นให้จนได้เพราะรู้รสชาติมันแล้ว รู้ลูกไม้ของมันอีกด้วย รู้วิธีจะเข้าไปจับมันอีกด้วย

    ยกอุทาหรณ์เช่น ลมหายใจเข้าครั้งหนึ่ง ก็เห็นทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลมกลืนกันอยู่ด้วย ไม่ใช่อยู่คนละเป้า ไม่ใช่อยู่คนละขณะอีกด้วย เมื่อเห็นชัดอยู่อย่างนั้นแล้วกิเลสทั้งปวงที่เคยยึดมั่นว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนก็สลายไปในตัวอยู่ ณ ที่นั้นเอง ทางนี้เป็นทางพ้นทุกข์ง่ายดีกว่าจะเอานิมิตต่างๆ ไปอวดกัน

    คำว่า นิมิตก็แปลว่า ?เครื่องหมาย? หมายในรูปก็เรียกรูปนิมิต หมายในนามก็เรียกว่านามนิมิต รูปก็ดี นามก็ดีเป็นเมืองขึ้นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ในปัจจุบันนั้นแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีท่านผู้ใดจะพ้นความสงสัยของตนไปได้ และก็ไม่มีท่านผู้ใดจะข้ามความหลงของตนไปได้อีก ซ้ำเข้าไปอีกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นคืออะไร ก็คือโลกทั้งปวง ก็คือสังขารทั้งปวง ก็คือกองทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง

    เมื่อเวลาเห็นอยู่อย่างนั้นก็คือไตรสิกขานั่นเอง ก็คือศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียวนั่นเอง (คือขณะที่เราปฏิบัติธรรมภาวนาอยู่นั้น เราอยู่ในศีลด้วยอาการสงบอยู่ในสมาธิ และ เกิดปัญญาขึ้นเมื่อเราพิจารณาเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก เช่นเมื่อมีลมหายใจเข้าแล้ว ก็ต้องมีลมหายใจออก จะมีแต่ลมเข้าแล้วไม่มีลมออกเป็นไปไม่ได้ หรือจะมีแต่ลมออกแล้วไม่มีลมเข้าก็เป็นไปไม่ได้ นั่นก็หมายถึงคนตายแล้ว) ก็คือผู้รู้ปัจจุบันนั่นเอง เป็นผู้รู้ตามเป็นจริงของปัจจุบัน และตามเป็นจริงของอดีต ของอนาคตด้วย เพราะเอาปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมอยู่ในตัวแล้ว ก็ข้ามพ้นความสงสัยในโลกทั้งปวงไปแล้ว ปัญหาอะไรจะเกิดมาก็เป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์ทั้งนั้น รู้ชัดในกรรมฐานที่ตั้งไว้ สันทิฏฐิโกเห็นเองได้ เหมือนได้ชิมเกลือเองรู้ว่าเค็มไม่ต้องสงสัยว่ารสเค็มเป็นอย่างไร จะมีผู้อื่นมาบอกว่ารสเกลือหวานทั้งหมดโลก เราก็ไม่เชื่อดังนี้
     
  5. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๕)

    คำถาม :

    นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและกรรมฐาน เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติได้หรือทำสำเร็จแล้ว และผลของการปฎิบัติทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวเป็นอย่างไร

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนาและนั่งกรรมฐาน ก็มีความหมายอันเดียวกัน

    - คำว่าสมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่ที่กรรมฐานที่เราสมมติตั้งไว้

    - คำว่าวิปัสสนา ก็หมายความว่า เรามีปัญญารอบคอบในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั่นเอง

    - และนั่งกรรมฐานเล่า คำว่านั่งวิปัสสนา ก็หมายความว่า เรามีปัญญารอบคอบในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั่นเอง แต่ใส่ชื่อลือนามหลายอย่างเฉยๆ

    คำว่า ?กรรมฐาน? เอาตัว ร ๒ ตัว , เอาตัวไม้หันอากาศก็ถูก (ภาษาบาลี หรือมคธ) แต่เอาภาษาไทยใช้ตัว ร ๒ ตัว

    ก็มีคำถามต่อไปว่า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราปฏิบัติได้หรือทำให้สำเร็จแล้ว เรารู้ได้อย่างนี้คือ สิ่งที่มีโลภ โกรธ หลงจัดมาแต่เดิม ถึงแม้มันมีอยู่มันก็เบากว่าแต่ก่อน สมมติว่าแต่ก่อนเราฆ่าสัตว์ได้อย่างไม่อาลัย แล้วเราไม่ทำเหมือนแต่ก่อนเสียแล้วเพราะนึกละอายตนเอง

    ข้อต่อไปอีก เราไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดเสียเลย เพราะเห็นดิ่งลงไปแล้วว่ามันเป็นเวรสนองเวรจริงๆ ส่วนจะมาช้าหรือเร็วตามส่วนนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับผลของกรรมนั่นเอง เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ไม่มีปัญหา ผลของกรรมต้องตามมาไม่ต้องสงสัย เราเชื่อดิ่งลงไปอย่างนี้แล้วแม้สิ่งอื่นๆก็โดยนัยเดียวกัน

    ที่ปรารภมานี้ก็พอที่จะทำให้เข้าใจได้บ้างแล้ว จะอย่างไรก็ตามธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ต้องปฏิบัติเป็นคู่กับอารมณ์ของเรา ดีกว่าปล่อยอารมณ์ไปทางอื่น

    ยกอุทาหรณ์อีก จะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตามแต่ก็ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง ถ้าไม่อาบน้ำก็จะยิ่งไปใหญ่เข้าสังคมใดๆ ไม่ได้ ฉันใดก็ดีถ้าไม่ประพฤติศีลธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวใจให้สะอาดได้ และก็ให้เข้าใจว่า ความสำเร็จอยู่กับความพยายาม ไม่ว่าจะทางดีหรือทางชั่ว แต่ให้ผลต่างกันเท่านั้น ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ?เพียรละความชั่วประพฤติความดี? เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
     
  6. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๖)

    คำถาม :

    เมฆหมอกที่มาบดบังจิตหรืออาการของจิตหรือเจตสิก หรืออุปกิเลสหรืออนุสัย ย่อมมีอุบายในการละการทำลายเพื่อข้ามทะเลทุกข์ ทะเลหลงเหล่านี้หลวงปู่มีอุบายอย่างไรในการถอดถอนครับ

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    เมฆก็ตามหมอกก็ตาม จิตก็ตาม อาการของจิตก็ตาม เจตสิกก็ตาม จะใส่ชื่อลือนามสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเราไม่มีในที่นั้นๆ ของเราก็ไม่มีในที่นั้นๆ พิษสงก็ไม่มีในที่นั้นเอง เหตุนั้นการพิจารณาว่าเราไม่มีในที่นั้น เราไม่มีในที่ใดๆ ทั้งนั้น ของเราก็ไม่มีในที่ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เรื่องก็จบกัน ณ ที่นั้นไป ทำท่าทำทางวางเป็นอันผิดทั้งนั้น เพราะมันเป็นกริยาเป็นเหตุ เป็นกรรม เป็นวิบากในตัว

    ยกอุทาหรณ์สมมติหยาบๆ คือ เราก็ตาดีมองไปที่สว่าง เราไม่ได้สมมติให้ความมืดหนีไป ณ ที่นั้นเอง เมื่อเราไม่มีในที่ใดๆ แล้ว ก็ไม่ควรมีอะไรมาสร้างปัญหาขึ้นให้หนักใจ หนักธรรม ชาวโลกเขาพูดอะไรก็พูดไปตามเขาซะ ไม่ควรเอาสมมติมาเป็นสงครามกับปรมัตถ์ ไม่ควรเอาสังขารคือผู้รู้ไปเป็นสงครามกับพระนิพพาน ใครเป็นผู้รู้พระนิพพานก็พระนิพพานนั่นเอง ทรงอยู่ซึ่งพระนิพพานสังขารและผู้รู้จะไปทรงมิได้ จงให้เข้าใจว่า ผู้รู้นั้นเองเป็นสังขารอันละเอียด มีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของก็เป็นเหตุเป็นกรรมเป็นวิบาก เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน อวิชชา ตัณหา สารพัดจะบัญญัติใส่ชื่อลือนาม และก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นพระนิพพานด้วย จึงเรียกว่าพระนิพพานทรงไว้ซึ่งพระนิพพาน

    ธรรมอันนี้เป็นธรรมอันละเอียดและ เป็นธรรมสันทิฏฐิโกสุดท้ายของพระพุทธศาสนาละเอียดมาก จะเอาโลกและสังขารไปเทียบย่อมไม่ได้ ก็มอบไว้แก่เจ้าตัวแต่ละรายจะรู้ตามเป็นจริง พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่า เรารู้พระนิพพานตามเป็นจริงของพระนิพพาน แต่เราไม่ติดอยู่ในพระนิพพาน เรารู้สังขารตามเป็นจริงของสังขารแต่เราไม่ติดอยู่ในสังขาร (ถ้าเราติดอยู่ในสังขารก็ดีติดอยู่ในพระนิพพานก็ดี ก็เท่ากับว่าเราไม่รู้สังขารไม่รู้พระนิพพาน นกบินในอากาศวันยังค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่ มีดเฉือนน้ำในที่ใดๆ วันยังค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่)

    ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย (คำว่า ?เรา? ตามสมมติ) อย่าได้มาท่องเที่ยวทะเลหลงนี้อีกเลย ทะเลหลงย่นมาในปัจจุบันแล้ว ข้ามก้าวเดียวสั้นๆ ก็พอเป็นบุคคลาธิษฐาน ถ้าสำคัญว่าตัวข้ามก็ผิดอีก ความสำคัญตัวนี่เอง มันเป็นมหากิเลสพร้อมทั้งกองพลด้วย เหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงผลักทิฎฐิของพระโมฆราช ไม่ให้ถามปัญหาก่อนเพื่อนให้ถามทีหลังหมู่ เพราะเหตุว่ามานพ ๑๖ คนไปถามปัญหาพระโมฆราช สำคัญตัวว่าฉลาดกว่าเพื่อน มันเป็นมหาอุปาทานสำคัญตัว ท่านจึงให้ถามครั้งที่สาม และจึงให้ถามหลังเพื่อนๆ ทั้งหลายด้วย พระบรมศาสดาก็เทศน์อนัตตาเพื่อให้พระโมฆราชไม่สำคัญตัวในอัตตาและอนัตตา

    สำคัญว่าตนเป็นอัตตา อัตตาเป็นตนก็ไม่ถูก สำคัญว่าอนัตตาเป็นตน ตนเป็นอนัตตาก็ไม่ถูกอีก เพราะมันยังมีอุปาทานอันละเอียดอยู่ เหตุฉะนี้พระอนาคามีติดอยู่ในมานะ ๙ มานะ ๙ ข้อนั้นก็คือสำคัญตัวอันละเอียด นั่นเอง
     
  7. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๗)

    คำถาม :

    มีอยู่ครั้งหนึ่ง กระผมไปวัดถ้ำผึ้ง จ.เชียงใหม่ ได้นั่งสมาธิที่เรือนพัก ก็พยายามภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ สักพักเกิดความกลัวขึ้นมาเฉยๆ เพราะวังเวงมาก ก็เลยหยุดพุทโธแต่สวดพระคาถาชินบัญชร ๙ จบแทน เอาจิตไปจับอยู่ที่พระคาถาชินบัญชรก็รู้สึกดีขึ้นมากหายกลัวไปได้ ก็สวดผ่านมาเรื่อยๆ จนถึงเที่ยวที่ ๙ (เที่ยวสุดท้าย) ก็เกิดติดขัดสวดไม่ออกย้อนไปมาอยู่เรื่อยเหมือนมีอะไรมาดึงไว้ไม่ให้สวดครบ ๙ จบ สักพักกระผมพยายามสวดทบทวนใหม่ก็ยังติดขัดอีก ก็ลองใหม่ปรากฏว่าจิตรับรู้ว่าได้ฉุดรั้งกับแม่ชีคนหนึ่งที่กระผมรู้จัก คือแม่ชีไม่ยอมให้สวดจนจบ กระผมพยายามสวดให้จบให้ได้ ฉุดรั้งอยู่สักพักกระผมก็ออกจากการฉุดรั้งไว้ได้ ก็รีบสวดจนครบจบที่ ๙ ที่ตั้งใจไว้ก็ออกจากสมาธิ เลยถามเพื่อนที่นั่งภาวนาอยู่เหมือนกัน แต่ห่างกันพอสมควรเขาบอกว่าก่อนที่ผมจะออกจากสมาธิได้สักพักราว ๕ นาที มีแม่ชี (คนที่ฉุดรั้งกับกระผม) เดินผ่านตรงที่กระผมนั่งสมาธิอยู่ แล้วหยุดมองกระผมสักพักก็เดินผ่านไปเฉยๆ

    เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทราบว่า จิตนั้นถ้าอยู่ในอาการสงบแล้วจะสามารถรับวาระจิต (คลื่นจิต) ของผู้อื่นที่ส่งมายังผู้รับใช่ไหมครับ และถ้าเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เล่าให้หลวงปู่ฟังแล้วนั้น กระผมควรจะแก้ไขและปฏิบัติตนอย่างไรบ้างครับ

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    ที่ปรากฏว่ามีแม่ชีมาขวางนั้น จิตเมื่อมีอาการสงบสามารถรับวาระจิตของผู้อื่นได้นั้นเป็นการถูกต้องแล้ว และถามต่อไปว่าแล้วต่อไปจะปฏิบัติอย่างไรบ้างครับ ตอบว่าจะอย่างไรก็ไม่ต้องกังวล ต้องเอาเข้าหากรรมฐานเดิมที่เราตั้งไว้ ถ้าเรามัวไปกับเรื่องอื่น ทิ้งกรรมฐานเดิม เรียกว่าทัพแตก หรือเรียกว่าหลุมเพาะแตก ต้องเหนี่ยวรั้งกรรมฐานเดิมให้ติดอยู่อย่างนั้น นิมิตอะไรเกิดมาก็ตามอย่าหนีออกจากกรรมฐานเดิม
     
  8. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๘)

    คำถาม :

    อาการวาระที่จิตสงบนั้นเป็นอย่างไร ?

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    การสงบนั้นมีอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งมันสงบพั๊บเข้าไป ร่างกายและจิตก็เบาหวิวไม่เห็นนิมิตอะไร คล้ายกับตัวลอยอยู่ในอากาศ แต่ไม่ปรากฏว่าเคลื่อนที่มีแต่ผู้รู้เฉยๆ นี่แบบหนึ่ง แต่ถ้าหมดกำลังก็ถอนออกมา เวลาเข้าพั๊บก็ถอนออกพั๊บเหมือนกัน

    วิธีรวมอีกแบบหนึ่ง เมื่อจิตเข้าไปก็สว่างโร่เหมือนแสงอาทิตย์ก็มี แสงพระจันทร์ก็มี แสงเหมือนตะเกียงเจ้าพายุก็มี เหมือนกลางวันก็มี บางทีก็เห็นดอกบัวหลวง และกงจักรตลอดถึงเทวบุตรเทวดาและบุคคลสารพัดจะนับคณา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หากเกิดให้เราเห็นอยู่ซึ่งหน้า (คำว่าหน้าคือหน้าสติหน้าปัญญา) แล้วก็ดับอยู่ที่นั้น ถ้าเราเพ่งต่อที่มันดับอยู่ มันก็เกิดอีกตะพืด แต่ไม่เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องใหม่ แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องเก่า (คำว่าเก่าคือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป)

    ถ้าจิตของเราเพลินไปก็ลืมกรรมฐานเดิม คล้ายๆ กับโบราณท่านกล่าวว่า ?หมาตาเหลืองเมื่อเห็นไฟที่ไหนเรืองก็แล่นเข้าไปหา? และขอให้เข้าใจว่านิมิตที่เราตั้งไว้เดิมก็ดี (และให้เข้าใจคำว่า นิมิตแปลเป็นไทยว่าเครื่องหมายที่ผูกให้ใจติดอยู่) นิมิตเดิมก็ดีนิมิตใหม่ก็ดีที่มาเกยพาดก็ดับเป็น จะมีกี่ล้านๆ ก็ตาม หรือจนนับไม่ไหวก็เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น เราก็ได้ตัวพยานแล้ว เพราะมันเป็นอันเดียวกันกับนิมิตเดิม ที่เราจับนิมิตเดิมไว้ก็เพื่อจะเป็นตัวประกันให้เป็นพยาน หรือจะเรียกนิมิตเดิมเป็นกระจกเงา นิมิตผ่านเป็นเป็นนิมิตแขก แต่ก็เกิดดับเป็นเสมอกันนั่นเอง

    ถ้าจะเอาด้านปัญญามาตัดสิน ก็ตอบตนว่านิมิตเดิมก็ดีไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มีอภินิหารให้เห็นเพียงเกิดดับเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่จะถือว่าได้ถือว่าเสีย ต้องลงเอยแบบนี้ รู้ตามเป็นจริงแบบนี้จึงเป็นตัวปัญญา มิฉะนั้นแล้วคล้ายๆ กับหยอกเงาตนเอง เมื่อตนเหนื่อยเงาก็เหนื่อย
     
  9. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๙)

    เรื่องนี้ผู้พิมพ์คิดพิจารณาอยู่ว่าสมควรจะมาลงให้อ่านดีหรือไม่ แต่พิจารณาดูว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติบางท่าน เผื่อจะเจออะไรแปลกๆ แบบเรื่องนี้ จะช่วยทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าควรทำอย่างไร

    คำถาม :

    ขณะอยู่ในกรรมฐานได้สัมผัสวิญญาณวัวดำตาสีเขียวเดินมาเป็นแถวยาวเหยียดเข้ามาหาดิฉัน เขาเหล่านั้นยังไม่ได้ส่งความรู้สึกอะไรมาที่ดิฉัน แต่ดิฉันแผ่เมตตาให้ไปก่อน ปรากฏว่ามีแสงรัศมีสีขาวออกมาจากตัวดิฉันแล้วรวมตัวพุ่งเป็นลำไปที่วิญญาณเหล่านั้นด้วยความนุ่มนวลและอ่อนโยนมาก และแสงไปถึงไหนวิญญาณเหล่านั้นก็ถอยไปตามลำแสงนั้นไปไกลมากค่ะ

    ดิฉันมีข้อสงสัยเยอะแยะ แต่คงจะถามหัวข้อหลักๆ เอาไว้ก่อน ถามมากเดี๋ยวฟุ้งค่ะ แต่ขอตัดสินใจถามข้อสำคัญจะดีกว่าเพราะมันหนักใจไม่กล้าถามแล้วเก็บเอาไว้ คือว่า

    ตอนที่กำลังฝึกภาวะรูปอยู่ในกรรมฐาน เครื่องหมายพิเศษหญิงปรากฏขึ้นมาตรงหน้า พร้อมกลิ่นด้วย เช่นนี้จะพิจารณาให้สอดคล้องกันในทางธรรมว่าอย่างไรค่ะ หวังว่าหลวงปู่คงเมตตาตอบให้เป็นแนวทางปฏิบัติได้ก้าวหน้าต่อไปอีกเช่นเคยนะคะ

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    มันแสดงไปกี่ล้านๆ นัยก็ตาม มันก็ลงไปเข้าคอกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง เราจงจับคอกตัวนี้ไว้ให้ดี เพ่งตาข่ายตัวนี้ให้ดีๆ มันพ้นตาข่ายตัวนี้ไปไม่ได้ เรียกว่ารู้ตามเป็นจริง ไม่หลงในลูกไม้ใดๆ เลย ถึงแม้จะชมก็ชมแบบไม่หลง เพราะไตรลักษณ์เป็นแว่นส่องทางอยู่แล้ว คล้ายๆ กับทิศเหนือ เข็มทิศย่อมเป็นเมืองขึ้นอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน

    เหตุนั้นผู้เบื่อหน่ายในนิมิตทั้งหลายจึงยืนยัน พิจารณาว่าเป็นแต่สักว่ารู้เห็นพร้อมกับขณะจิต หรือลมหายใจเข้าออกติดต่ออยู่ไม่ขาดสายเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทานอยู่ในตัว อวิชชาคือความโง่ ตัณหาคือความทะเยอทะยานอยากในความโง่ อุปาทานคือยึดถือความโง่ เมื่อเห็นชัดในไตรลักษณ์อันกลมกลืนกันอยู่ในขณะเดียว ไม่ใช่ว่าอนิจจังอยู่เป้าหนึ่ง ทุกขังอยู่เป้าหนึ่ง อนัตตาอยู่เป้าหนึ่ง อันนั้นเป็นเรื่องเห็นไม่ชัด เมื่อเห็นชัดแล้วมันอยู่เป้าเดียวกัน จนไม่มีที่หมาย เมื่อไม่มีที่หมายแล้ววิญญาณปฏิสนธิก็ไม่สามารถ จะยืนยันว่าไปตั้งอยู่ในที่นั่นที่นี่ ?เอส วันโต ทุกขัสสะ? เป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ก็บัญญัติได้เท่านั้น

    ที่มีเรื่องสงสัยเยอะแยะก็เพราะโวหารของตนมาก เป็นเหตุที่ตนไม่ได้หารลงมาใส่ไตรลักษณ์ กองทัพของความสงสัยจึงไม่แตกกระเจิง มักจะขบถคืน และตอนที่ฝึกภาวะรูปอยู่ในกรรมฐาน เครื่องหมายเพศหญิงปรากฏขึ้นมาอยู่ตรงหน้าพร้อมกลิ่นด้วยเช่นนี้ จะพิจารณาทางธรรมให้สอดคล้องกันอย่างไร

    ตอบว่า....พิจารณาได้หลายแง่ แง่หนึ่งพิจารณาว่าถ้าเรายังหลงหนังอยู่ตราบใด เราก็ยังจะมาหลงอวัยวะเพศอยู่อย่างนี้ อวัยวะเพศมันมาลองพญามารราคะ ถ้าเราไม่หลงหนังแล้วก็ไม่หลงดินเหมือนกัน เพราะหนังจัดเป็นธาตุดินและมันก็บอกตรงตัวอยู่แล้วพร้อมทั้งกลิ่นของมัน ส่อแสดงให้เห็นชัดว่าพระธรรมมาแสดงอสุภสัญญาให้เห็น แปลว่าของไม่สวยไม่งามและเปลือยเน่าทั้งกลิ่นและสีและสัณฐานที่ตั้ง

    ถ้าว่าให้ละเอียดแล้วผู้พิจารณาเห็นธรรมะมาแสดงต่างๆ นานา ขนาดนี้ก็เป็นของหาได้ยากในสมัยโลกจรวดโลกดาวเทียม คนใช้ปัญญามากก็ต้องเห็นไปต่างๆ นานา แต่ก็ชักลงสู่ไตรลักษณ์เหมือนกัน จะว่าสังขารก็ไม่ผิด มรรคปัญญาเกิดขึ้นเพื่อให้หน่ายในสกลกายก็ถูก แต่พญามารที่ตามรังควานอยู่ทุกขณะจิตนั้น ถ้ามรรคแก่กล้าพร้อมสติปัญญาก็ทำให้หน่ายได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เพิ่มความกำหนัดในราคะขึ้นอีก เพราะจะสมมติไปในกามารมณ์ต่างๆ นานา มายาของกิเลสมันแสดงท่าทีมาต่างๆ

    ถ้าเราพิจารณาถูกก็กลายเป็นธรรมะในฝ่ายปฏิบัติคือธรรมขาว มิฉะนั้นแล้วกลายเป็นธรรมดำไปในตัว ส่งเสริมราคะ เมื่อส่งเสริมราคะไม่ได้สมประสงค์โทสะก็เกิดขึ้นระหว่างนั้น

    ส่วนโมหะเป็นของละเอียดมาก พระอรหันต์ทรงปัญญาแก่กล้าจึงจะข้ามทะเลโมหะได้ เมื่อข้ามทะเลโมหะได้โดยสิ้นเชิง ทะเลราคะ ทะเลโทสะก็ข้ามไปในตัวอยู่ ณ ที่นั้นเอง

    ตอบกันมาแบบยืดยาวก็ขอจบเพียงนี้ก่อน ด้วยเดชพระพุทธศาสนาปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมอันใดที่รวมลงแล้วรู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริง หลุดพ้นตามจริง ไม่เหลือต้องปรากฏแก่โยวาคจรผู้ปฏิบัติโดยไม่ถอยหลังแล
     
  10. นวกะ36

    นวกะ36 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    222
    ค่าพลัง:
    +2,997
    [​IMG]

    ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม (เรื่องที่ ๑๐)

    คำถาม :

    ดิฉันขอรบกวนหลวงปู่ช่วยอธิบายให้ลูกหลานมีอุบายในการพิจารณาขันธ์ ๕ เพื่อการปฏิบัติธรรมจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไปค่ะ พวกดิฉันเปรียบเหมือนกับบัวใต้น้ำ หลวงปู่โปรดเมตตาสงเคราะห์ด้วยเจ้าค่ะ ใจก็อยากจะพ้นทุกข์ในวัฎฎสงสารเป็นที่สุด แต่ก็ยังตะเกียกตะกายไม่พ้นสักที

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :

    แม้ขันธ์ทั้ง ๕ มีรูปขันธ์ ที่มี ดิน น้ำ ไฟ ลมประชุมกันเรียกรูปขันธ์นั่นเอง ส่วนนามขันธ์ ๔ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ก็มีความหมายอันเดียวกันกับที่ว่ามาแล้วนั้น คือเกิดขึ้นแปรปรวนและดับไป หาระหว่างมิได้ด้วย

    การที่เราไปหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น หรือเป็นของเราเป็นของบุคคล เป็นของสัตว์นั้น เราควรหมดปัญหาที่จะไปสำคัญอย่างนั้น ไม่ต้องไปสมมติวางมันหรอก มันไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลแล้วเราจะไปสมมติเอาทำไม

    เราจะไปสมมติวางทำไม ถ้าเราไม่สมมติว่าได้ว่าเสีย ความสมมติก็จบลง เพียงนั้นความดีใจเสียใจจะเกิดจากประตูใดอีก เหตุที่ดีใจเสียใจก็เพราะยืนยันว่านั่นเรา นั่นผู้อื่น นั่นของผู้อื่น เรื่องจึงไม่มีการจบคล้ายๆ กับหยอกเงา เมื่อเราหยอกเงา เงาก็หยอกเรา ถ้าไม่มีเราอยู่ในนั้นเงาของเราก็ไม่ต้องมีดังนี้แหละ เป็นสติ-ปัญญาชั้นสูง มีทั้งศีล สมาธิ และญาณปัญญาเป็นทัพธรรมรวมอยู่ขณะเดียวด้วย

    พูดต่อไปอีกให้ชัดว่าเมื่อเราไม่ยืนยันเอาขันธ์ ๕ ไม่ยืนยันว่าขันธ์ ๕ เป็นเราก็รู้เท่าเราแล้วมิใช่หรือ และก็รู้สิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เราแล้วไม่ใช่หรือ

    ท้ายนี้ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย จงหลุดพ้นจากความหลงตนที่เคยหลงว่าขันธ์ ๕ เป็นตน ตนเป็นขันธ์ ๕ จงจบลงกันเพียงแค่นี้เทอญ เมื่อสิ้นลมปราณไปแล้วก็ไม่มีหนทางจะไปยืนยันเอาขันธ์ ๕ อีกแล้ว พระพุทธศาสนาจบลงเพียงแค่นี้......


    คัดลอกมาจาก:เวบบอร์ดวัดป่าโนนวิเวก - แสดงกระทู้ - หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม
     
  11. ป่ากุง

    ป่ากุง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มกราคม 2010
    โพสต์:
    416
    ค่าพลัง:
    +784
    ตรงประเด็นชัดเจนทุกคำถาม น้อมกราบพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลก เอาองคืท่านเป็นที่ยึดเหนี่ยวหัวใจตลอดอนันตกาล
     

แชร์หน้านี้

Loading...