หลวงปู่เจี๊ยะ...พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 ตุลาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การดูลม

    การดูลมหรือที่เรียกว่าอานาปานสตินี่ ต้องเหมือนคนเป็นเศรษฐี ต้องมีทรัพย์สินข้าวของเงินทองกินไม่หมดแล้ว จึงดูลมได้ นั่นบุคคลนั้นเป็นเศรษฐีแล้ว รวยแล้ว ถ้าพูดถึงสมมุติ ต้องเป็นอริยะเจ้าขั้นสูงแล้ว เป็นพระขีณาสพ นั่นจึงดูลม ถ้าผู้ไม่เป็นพระขีณาสพไปดูลมไม่ได้ สมาธิยังไม่พอ ปัญญายังไม่พอ ยังไม่สิ้นอาสวะ ตัวนี้ตัวสำคัญ มีคนมาถามกันแยะนะ ถ้าใครไม่เชื่อก็ให้กลับไป คุยกันไม่รู้เรื่อง

    มีผู้หญิงมาถาม เราก็นั่งหลับตาคุยด้วย มันเอาตำรามาเปิด ทีหลังมันถามเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน เอ๊ะ!... เปิดตำรา ดูตำรา เลยบอกโยมกลับเถอะ เราไม่เป็น...ไม่เป็นแล้ว ไล่กลับไปเลย
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เกือบเป็นวิปัสสนู

    เราเกือบจะเป็นวิปัสสนู มันฟุ้งซ่าน เห็นคนพอใจสงบปั๊บ ไปมองดูคน เขามาอยู่ในโลกทำไม มันได้อะไร ใจจะออกไปสอนเขาท่าเดียวนะ ทีหลังไปเปิดตำรา อ๋อ! ที่เรียกว่าอุธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มันเป็นสมาธิเหมือนกัน แต่มันเป็นวิปัสสนูแล้ว มันเอาไม่อยู่หรอก เอายากอย่างที่พระอาจารย์กงมาท่านบอก มีเด็กมาอยู่ที่นี่ด้วยเป็นวิปัสสนู ก็บอกให้เอาไปขังอย่าให้ออกไปพูด ถ้าคนไปคุยยิ่งไปกันใหญ่ ฟุ้งซ่านตัวสั่น กำลังเป็นวิปัสสนูคนนี้ คนแก้ไม่เป็น ยิ่งไปคุยล่ะ ฟุ้งตายเลย มีก๋งสอน (ก๋งชื่อว่าสอน) กำลังภาวนาดี คนแก่อายุ ๘๐ ปี มีพระไปอยู่ด้วยองค์หนึ่งเป็นมหานิกาย ไปคุยกับแกทุกวัน ยิ่งคุยธรรมะนั่นแหละยิ่งฟุ้งใหญ่ จะเหาะเดินเหินฟ้าอยู่เรื่อย ๆ เราจึงบอกว่า มาหามาคุยกับก๋งไม่ได้นะ ก๋งกำลังเป็นวิปัสสนู จะเสีย แกก็ไม่ฟังเพราะเป็นมหานิกาย ถ้าไม่เป็นมหานิกายจะถูกเตะ เล่นจนก๋งสอนเสียคนเลย ก๋งท่องทั้งวันว่า “ฉันอยู่ในห้อง ฉันไม่ต้องกลัวใครๆ ” สุดท้ายเป็นบ้าเลย ทีหลังต้องล่ามโซไว้

    ทีแรกเรานึกว่า “ยันตระ” มันเป็นแบบนี้ เอ! ทำไมยันตระไม่ไปหาหลวงตาบัวนี่ อ้าว! ทีหลังมีคนไปฟังเทศน์ เทศน์เป็นเสียเมื่อไรล่ะ ก็เทศน์แต่ศีล ๕ กลับไปศีล ๕ ก็เทศน์อยู่อย่างนั้น แล้วมันศีล ๕ อยู่ยังไงทั้งวันทั้งคืน ถ้าเทศน์เฉพาะศีล ๕ วนไปวนมาอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเป็นวิปัสสนู วิปัสสนูคือการหลงในองค์วิปัสสนา เทศน์อย่างนี้เรียกว่า โรคจิต โรคประสาท เราก็ถามเขาคนที่ไปหาว่ายันตระมันสอนภาวนายังไง เขาบอกว่า ไม่ได้ไปภาวนาหรอก ไปดูรูปหล่อ “โอ้โฮ! ไอ้มนุษย์เรานี่ มันถึงขนาดนั้นเลยรึ ว่า “ยันตระรูปหล่อ” เราดูไม่เห็นหล่อห่าอะไรเลย ตัวสูงก็ว่ารูปหล่อ... เชอะ!....พวกบ้า”
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เตือนตน

    เมื่อทำวัตรสวดมนต์เสร็จ พระอาจารย์กงมาท่านจะเทศน์ธรรมะทุกๆ วัน พวกเราก็เข้าที่นั่งสมาธิ บางคนนั่งภาวนาไม่ได้ ไม่รู้เป็นอะไร เป็นอย่างนั้นจริงๆ พอนั่งเดี๋ยวเดียวของขึ้น ศาลากระพือหมดเลย ทำไมไม่รู้ นั่งไม่ได้ กระโดดขึ้นมาเลย พระอาจารย์กงมาว่า “นั้นๆ เอาแล้ว เป็นอีกแล้ว” แปลก!... นั่งสมาธิไม่ได้ มันขึ้น (บางคน)

    ตอนที่ภาวนาพรรษาที่ ๓ ที่ทรายงามนั้น มีตาก๋งริ อายุ ๗๐-๘๐ ปี นั่งภาวนาทั้งคืนยันสว่าง มองดูเหมือนหลับคอตกอยู่อย่างนี้ แต่แกไม่หลับนะ สมาธิแกดี พวกพระเณรสู้แกไม่ได้ เราก็มาคิดว่า“เอ๊ะ!...ทำไมเราทำไม่ได้อย่างนั้น แกแก่จะตายห่าอยู่แล้วแกยังทำได้ เราเป็นหนุ่มฟ้อแท้ ๆ ทำไมทำไม่ได้ ไม่ละอายคนแก่บ้างหรือ?”

    ตอนแรกเราก็นั่งภาวนาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลาน พอพระอาจารย์กงมาเผลอ ทำท่านั่งไปแป๊บ หลบมานอนแล้ว พอย่างเข้าพรรษาที่ ๓ ทำให้ได้คิดถึงตัวเจ้าของ “กูนี่... บวชมากินข้าวชาวบ้านนะ แจวเรือก็เก่ง แบกข้าวก็ได้ทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง แล้วทำไมจึงมาขี้เกียจขี้คร้าน”เข้าไปตั้งสัจจะกราบพระพุทธรูป เอาพระองค์เป็นเครื่องเตือนสติย้ำอีกว่า

    [​IMG]
    กุฏิหลวงปู่เจี๊ยะที่วัดทรายงาม

    “ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะภาวนาตลอดคืนยันรุ่ง ถ้าข้าพเจ้าไม่มีสัจจะ ให้ฟ้าผ่า แผ่นดินสูบ น้ำท่วมตาย ไฟไหม้ตายซะ”

    ที่เราต้องอธิษฐานย้ำเช่นนี้ เพราะว่าเราต้องการมัดจิตใจเราให้แข็งแกร่ง เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นพยาน ถ้าเราทำตามคำอธิษฐานไม่ได้เราก็วิบัติ ในบางครั้งถึงจะแพ้หรือจะชนะก็ตาม ที่สำคัญต้องไม่ถอย ไม่ให้จิตดวงนี้แบ่งปันไปให้กับสิ่งอื่นได้แม้นิด ถือเอาอำนาจพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นกำลังใจ เราเชื่อท่านแล้ว ท่านคงไม่นำพาเราไปสู่ที่ต่ำแน่นอน จากนั้นก็กำหนดพุทโธๆ โธ ๆ ๆ ๆ ให้เร็ว ๆ ๆ ๆ พอหมดลมปั๊บก็หยุด บริกรรมให้เร็ว ว่าให้เร็ว ที่เร็วนั้นเพื่อป้องกัน ไม่ให้มันคิด เมื่อบริกรรมเร็วๆ ตอนแรกก็พุทโธๆ ๆ ๆ ตอนหลังเมื่อเร็วเข้ามากๆ จะเหลือแต่ โธๆ ๆ ๆ อย่างนี้ ว่าเร็ว ๆ อย่าให้จิตมันคิดไปอื่นได้

    ถ้าหายใจเข้า...พุท หายใจออก...โธ จิตมันยังมีที่ออกคิดไปโน่นนี่ได้ทั่วไปหมด เพราะธรรมชาติของจิต จิตมันออกรู้เร็วอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดต้องว่าให้เร็วเข้าไว้ เร็วจนมันหายกลายเป็นความสงบขึ้นมา แม้นมันจะหลับก็อย่าให้มันหลับ มันกินข้าวมากก็จะหลับ อย่าให้มันหลับ พอจิตเกิดความสงบขึ้นมาเราก็จะรู้ การภาวนาต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้ตัวอยู่ไม่มีคำว่าหลับหรอก พอจิตมันนิ่งเราก็หยุดพุทโธ อันนี้มันจะรู้อยู่ในตัวของมันเอง

    พอจิตมันสงบเต็มที่ถึงฐานของมัน ถ้ารู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ท่านก็เรียกว่า “ญาณ” คือการหยั่งรู้ ถ้าจิตออกรู้แล้วก็จะมีสิ่งมาปรากฏให้เราเห็น
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ธรรมปีติ

    [​IMG]


    เมื่อนั่งภาวนาหลายๆ ชั่วโมง จิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เข้าทางจงกรม เดินจงกรม กำหนดตั้งจิตภาวนาต่อไม่หยุด เดินจงกรมยาวประมาณจากกุฏินี่ถึงหน้าประตู (ท่านชี้บอกระยะทางที่ให้เดินประมาณ ๓๐ ก้าว) แผ่นดินแหลกหมด เดินทั้งคืนยันสว่าง เดินพิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งคืนจนกระทั่งสว่าง เดินมากเข้าๆ แทนที่จะเหน็ดเหนื่อย กลับกระปรี้กระเปร่า กายเบาจิตเบา กายอ่อนจิตอ่อน โอ้โฮ...เบาปีติมันขึ้น...เบา ขาทำท่าจะลอยขึ้นจากพื้นดิน ลอยซิ ลอย ลอย ไม่ขึ้นสักที (หัวเราะ) ขานี่เบาโล่งหมด ความรู้เด่นดวง อันนี้เป็นปีติในธรรม การปฏิบัตินั้นถ้าจริตเราถูกกับแบบไหน ก็ต้องทำซ้ำไปซ้ำมา ไม่ใช่เปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จะไม่ได้ผล

    เมื่อจิตสงบมีตัวรู้ เกิดวิจารคือการยกจิตขึ้นมาพิจารณาด้วยปัญญา เกิดปีติ สุข เอกัคคตา มันรวมเป็นอัปปนาสมาธิ บาลีท่านว่า “วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ สงัดจากกิเลสกามทั้งหลาย หรือว่า จากอกุศลทั้งปวง” จิตเกิดความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ เป็นรสชาติภายในกายและจิต มีลักษณะซาบซ่าน ฟูขึ้นเป็นรสชาติ ปีติมีหลายอย่าง

    เริ่มตั้งแต่ปีติเล็กน้อย มีอาการขนลุกชูชันในร่างกาย

    ปีติเกิดขึ้นชั่วขณะ แวบๆ เข้าภายในเหมือนฟ้าแลบแปล๊บๆ

    ปีติเป็นพักๆ ปีติที่ลงสู่กายแล้วหายไปๆ ดุจคลื่นซัดฝั่งมหาสมุทรแล้วแตกกระจายเป็นฟองฝอย

    ปีติที่เกิดขึ้นอย่างแรงในขณะภาวนาหรือพิจารณาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงขนาดทำกายให้ลอยขึ้นๆ โลดไปในอากาศได้ ปีติแบบนี้หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านทำได้

    อันสุดท้าย ปีติซาบซ่านเอิบอาบไปทั่วร่างกาย เหมือนเหวสูง ๆ ที่น้ำป่าหลากมาพัดเข้าไปเต็มๆ เกิดความสงบระงับกิเลสทางกายทางจิต ขจัดอาพาธทางกายและจิตได้ ธรรมชาติที่จิตสัมผัสเช่นนี้ได้เรียกว่า “สุขในธรรม” หรือ “ธรรมปีติ” ก็ได้เหมือนกัน ปีติแบบนี้เราเป็นอยู่บ่อย ๆ

    บางทีกายเบาจิตเบา บางทีก็จะรู้ว่าร่างกายมันใหญ่ขึ้นๆ อย่าไปกลัว ก็ให้จิตรู้อยู่ที่ตัวรู้นั่นแหละ

    เวลาจิตที่มันรวมดี เกิดปีติมากๆ ถึงขนาดน้ำตานี้มันไหลพราก จิตเกิดความสลดสังเวชเกี่ยวกับการเกิดตาย ที่ต้องหมุนวนอยู่ในวัฎฎสงสารอันหาที่ยุติไม่ได้ สำหรับเหล่าสัตว์ผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้ ทำให้เกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้าพระธรรมที่พระองค์บรรลุนำมาสั่งสอน และพระอริยสงฆ์ที่ผ่านห้วงกิเลสที่หนาแน่นนักหนาในหัวใจสัตว์แต่ละดวง เกิดความอัศจรรย์และความสลดสังเวชไปพร้อมๆ กัน เพราะเราก็เป็นมาเช่นนี้ เดินทางมาไกล...ไกลจนไม่รู้ว่าจุดหมายมันอยู่ตรงไหน เพราะจิตนี้เป็นนักเดินทาง เดินทางไกลจนหาที่ยุติไม่ได้ แล้วยังไม่แล้ว ยังต้องเดินไปดวงเดียว มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงคนที่รักมากเท่าใด เมื่อตายแล้วเขาก็ไม่ไปกับเรา มีแต่เพียงเราลำพังเท่านั้น เดินทางอยู่คนเดียวไม่มีเพื่อนสอง เมื่อมาเกิดเปินมนุษย์ ก็มาสถิตอยู่ท่ามกลางอกภายในหทัยของสัตว์ทุกตัวตน แต่เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่ทราบที่ไปที่มา ทราบเพียงแต่ว่าเกิด-ตาย เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นไม่มีทางทราบได้ ในที่สุดก็ปฏิเสธบุญและความดีทั้งมวล แต่กลับมาเห็นสิ่งที่เป็นบาปเป็นของสูงค่าไป

    ในขณะที่เดินจงกรมบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่นั้น จิตได้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตเช่นนี้ และการท่องเที่ยวของจิตที่หาที่สุดยุติไม่ได้ แต่มาเวลานี้ได้มาพบทางอันเป็นที่สงบระงับจากการหมุนวนในสิ่งทั้งปวง เหมือนผู้หลงทางมาช้านาน กลับเข้ามาสู่ทาง เพื่อเดินเข้าสู่ที่หมายอันปลอดภัย เมื่อถึงที่หมายอันปลอดภัยแล้ว คงไม่ต้องแสวงหาสิ่งใดแล้ว เพราะที่นั่นเป็นที่พร้อมมูลในบรรดาสิ่งทั้งปวง

    คำบริกรรม “พุทโธ” ที่ใช้บริกรรมอยู่ในขณะนั้น ได้กลายกลืนไปภายในจิตว่า “มรณัง มรณัง ตาย ตาย ๆ ๆ ” เมื่อถอนจิตออกมาจากสมาธิก็จวนจะรุ่งสางแล้ว ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเหมือนที่คนทั้งหลายหลับนอนเป็นปกติ ทั้งที่ตลอดทั้งคืนไม่ได้นอน และไม่นอนติดต่อวันมาเป็นเวลา ๑๖ วันแล้ว ปลงธรรมสังเวชในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นดั่งฝันร้ายในการเกิดมาเป็นสัตว์โลก รู้เห็นเหตุให้ เกิด-ตาย อย่างเด่นชัด และทราบว่าอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด

    ในที่สุดก็ได้นำเรื่องจิตนี้เข้ากราบเรียนถวายท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์กงมาท่านแก้จิตให้ว่า

    “ท่านเจี๊ยะ จิตที่ท่านเป็นอยู่เวลานี้เป็นเพียงปีติ ที่เกิดขึ้นภายในจิตอย่างแรงกล้า ขอให้ท่านกลับไปภาวนาพุทโธต่อใหม่ ถ้าท่านปฏิบัติตามนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นภายในจิตท่านก็จะหายไปเอง หลังจากนั้นให้ท่านพยายามพิจารณากายโดยการตีให้แตกด้วยอริยสัจจ์”

    เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์กงมา ปีติก็หายไปตามที่ท่านบอกจริงๆ ยิ่งมาพิจารณากายนี้แล้ว ยิ่งมารู้เห็นสิ่งที่ไม่เคยคาดนึกมาก่อน

    การพิจารณากาย ฮิ... ให้พิจารณาอย่างนี้ ให้ตาขวาหลุด ตาซ้ายหลุด จมูกขวาหลุด จมูกซ้ายหลุด หูหลุด แก้มหลุด แก้มซ้าย-ขวาหลุด ริมฝีปากบนหลุด ริมฝีปากล่างหลุด ฟันบนหลุด ฟันล่างหลุด ก็ให้นึกไปอย่างนั้น ให้จิตมันพิจารณา นั่นแหละอย่างนี้ท่านเรียกว่าปัญญาแต่คนเขาไม่ค่อยรู้กัน

    ตอนที่อยู่วัดทรายงาม ก็พิจารณากายมามากแล้ว จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็พิจารณาอย่างนี้ไปตลอด หลวงตาบัวท่านว่า ทำแบบนี้เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

    การปฏิบัติโดยใช้ปัญญาใคร่ครวญพินิจพิจารณา จนจิตเป็นสมาธินั้น จิตประเภทที่ได้รับการฝึกปฏิบัติแบบนี้ ถ้ารวมจะรวมใหญ่กว่าจิตที่ฝึกปฏิบัติแบบธรรมดา
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การพิจารณากายเพื่อลิ้มรสพระธรรม

    [​IMG]


    เมื่อเราปฏิบัติอยู่ที่วัดทรายงาม ถึงสมาธิเราจะดีขึ้นจนแน่น แต่เราก็เตือนตนเสมอวา “อย่าได้นอนใจ” เพราะค้นคว้าพินิจพิจารณาในกายนี้ก็เป็นของดี พิจารณาแล้วมันจะเกิดความหน่ายคลายความกำหนัดของหัวใจที่เคยติดหลัง ว่าตัวเรา ว่าตัวเขา ตัวมึง ตัวกู อันนี้มันจะถอดถอนไป เพราะเมื่อพิจารณามากเข้า ๆ มันเกิดความเบื่อหน่าย อย่างในอนัตตลักขณสูตร ท่านแสดงว่าความเบื่อหน่าย ในสังขารร่างกายของเรา เมื่อใจที่จดจ่อค้นคว้า พินิจพิจารณาอยู่ในอารมณ์อันหนึ่งของร่างกายอย่างนั้นแล้ว มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันก็เกิดความเบื่อหน่าย หน่ายอย่างที่ในชีวิตของเราไม่เคยเจอ มันก็หน่ายลงไป หน่ายจนบางครั้งบางคราว น้ำหูน้ำตาไหลลงมา เกิดความสังเวช สลดใจ ในชีวิตเราไม่เคยเป็นอย่างนั้น มันก็เกิดขึ้นมา จึงว่า

    “ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เมื่อบุคคลใดได้ลิ้มรสเข้าไปแล้ว มันติดคุณค่าราคาธรรม เรื่องโลกมีเงิน เป็นร้อย เป็นสิบ เป็นพันล้าน มันก็ไม่มีคุณค่าราคาเทียบเท่าธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านั้นเป็นของนอกกาย เราไม่ได้เอาไปเลย ไม่ได้ติดตัวเราไปจนแดงเดียว เก๊เดียว แม้แต่เสื้อผ้า ผ้าผ่อน ตายแล้ว โลงเขาทำมาอย่างดี สวยๆ งามๆ ก็ต้องเผาไฟหมดไป”

    เมื่อได้พิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว ใจมันถอด ใจมันถอน ใจมันเกิดความสังเวชสลดใจ พบประโยชน์มหัศจรรย์ของการบรรพชา ในชีวิตของเราได้พบพลอยเม็ดใหญ่ อย่างมีค่าหาประมาณที่จะเทียบไม่ได้ นี่อันนี้ประเสริฐที่สุด

    เพราะฉะนั้น เมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปแล้ว เออ...เห็นอะไรที่ประจักษ์ ฟังให้ดี ๆ ตรงนี้ฟังให้เข้าใจ แล้วทดลอง ลองกำหนดใจดู ใจที่ตั้งปกติ กับใจที่คิดมันต่างกันอย่างไร เออ...ฟังนะ แล้วก็ทำลงไป กำหนดดูซิ ใจที่ตั้งเป็นปกติกับใจที่คิดอยู่ อันใดจริงอันใดไม่จริง นี่มองดูเดี๋ยวนี้ ทำเดี๋ยวนี้ ให้มันประจักษ์ขึ้นมา

    เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วยังมีวิมุตติอีกอันหนึ่ง คือการหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง ปัญญาแต่ยังมีวิมุตติหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง แน่ะ...ฟังให้เข้าใจ ความคิดนึกปรุงแต่งที่พิจารณา ตัวนั้นเรียกว่าปัญญา เรียกว่า เป็นมรรค ยังไม่ถึงผล ผลคือตัววิมุตติหลุดพ้น เมื่อจิตพิจารณาแยกเห็นแจ้งชัดลงไปแล้ว ก็วางการค้นคว้าพินิจพิจารณา หรือเรียกว่าดับไปเองอย่างนั้น จิตนั้นแยกออกมาเป็นเอกเทศ ไม่มีสิ่งใดเจือปน ความคิดนึกปรุงแต่งก็ดับหมด

    ในขณะนั้น จิตเป็นเอกเทศ จิตเป็นเอก ไม่มีสิ่งใดจะมาเกี่ยวเกาะพัวพันของตัวที่รู้อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเห็นโทษอันใด เมื่อพิจารณาอย่างนั้น ก็เห็นโทษความคิดนึก ความปรุงแต่งของใจนั้นเอง ไม่ได้เห็นที่อื่นนอกไปจากตัวเรา จากใจของเรา ที่ดิ้นรนกระวนกระวาย ก็เห็นตัวเรา ใจที่เห็นอย่างนั้นก็แยกออกมาอยู่ชัดจำเพาะใจอันเดียวเป็นปกติ ยืน เดิน นั่ง นอน ไปที่ไหน ก็อยู่อย่างนั้นไม่มีกาลไม่มีเวลา เออ...ใจอย่างนั้นจึงเรียกว่า ใจเป็นธรรม ใจเป็นมรรค ใจเป็นผล

    สมาธิเกิดขึ้นกับเรา แล้วผลกำไรก็ได้กับเรา เมื่อมีกำไรแล้ว เข้ามาอยู่วัดอยู่วา ได้กำไรในการบำเพ็ญสมาธิเจริญศีล

    ออกพรรษากลับไปบ้าน เรามีกำไรที่จะสอนโยมพ่อโยมแม่แล้ว เหมือนกับการค้าขายได้กำไรทั้งหลายสิบชั่ง หลายร้อยชั่ง มีลูกมีหลาน กลับไปก็ได้แจกเขา คนละชั่ง สองชั่ง คนละห้าชั่ง หกชั่ง สิบชั่ง อย่างนี้เขาก็ชื่นอกชื่นใจเมื่อกลับไป มาค้ามาขายในวัด ขาดทุนไม่ได้เลย สมาธิไม่ได้สักที กลับไปก็ได้มีอะไรมาแจกเขา เขาก็เสียอกเสียใจ

    เพราะฉะนั้นการที่เราต้องตั้งอกตั้งใจบากบั่นสู้อดสู้ทนทำให้มันเห็นจริงเห็นจังเกิดขึ้นกับเรานี่เป็นบุญอย่างมหาศาล อย่างเฒ่าแก่โบราณจึงว่าไว้ว่า เพียงใจสงบเท่างูแลบลิ้น ควายกระดิกหู ช้างกระดิกหู ก็มีอานิสงส์เหนือจะพรรณนา ยิ่งเราทำใจให้ได้ความสงบเป็นชั่วโมง ๆ อย่างนั้นแหละ ยิ่งได้อานิสงส์ใหญ่ ยิ่งเห็นว่าการพิจารณาสังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เกิดความสังเวชใจนั้นยิ่งมีอานิสงส์แรงขึ้นไปอีก ยิ่งเรียกว่าค้าขายได้กำไรเยอะแยะ ๆ
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จิตรวมใหญ่ใต้ต้นกระบก

    [​IMG]
    ท่านพ่อลี ธมฺมธโร


    จนในที่สุดเมื่อภาวนาอยู่ไม่รู้จักคำว่า “หยุดถอย” อยู่มาวันหนึ่งในพรรษาที่ ๓ มานั่งภาวนาอยู่ที่ใต้ต้นกระบกที่วัดทรายงาม

    “จิตรวมใหญ่ด้วยการหยั่งสติปัญญา ลงในกายานุปัสสนา แยกแยะส่วนต่าง ๆ ของธาตุขันธ์ออก พิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ คือยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนาคือทุกข์ภายใน ทั้งส่วนสัญญาที่หมายกายส่วนต่างๆ ว่าเป็นทุกข์ ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่า ส่วนนี้เป็นทุกข์ ส่วนนั้นเป็นทุกข์ ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณาของสติปัญญาผู้ดำเนินงาน ทำการขุดค้น คลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์จนรู้แจ้งตลอดทั่วถึง ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณา พิจารณากายครั้งนี้ละเอียดลออไปทุกชิ้น ทุกส่วน ทุกอัน ไม่มีตกหล่น จนได้สภาวะของใจอันละเอียดสุดนั้น จิตลงสู่ความจริงประจักษ์ใจ โลกทั้งหลายไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ขาดสูญไปหมด มีอยู่จำเพาะใจดวงเดียวไม่มีสิ่งใดเจือปน”

    การพิจารณากายครั้งนี้ ปรากฏประหนึ่งว่า “แผ่นดิน แผ่นฟ้าละลายหมด กายกับใจนี้มันขาดออกจากกัน เหมือนว่าโลกนี้ขาดพรึบลงไป ไม่มีอะไรเหลือเลย แม้แต่ร่างกายก็สูญหายไปหมด เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจอันเที่ยงแท้ทีเดียว”

    เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้แปลกประหลาดอัศจรรย์และพิสดารอย่างลึกล้ำ ถึงกับได้อุทานภายในใจว่า “นี่แหละชีวิตอันประเสริฐ เราได้พานพบแล้ว”

    คืนนั้นจึงเป็นคืนที่น่าจดจำอย่างไม่มีวันลืมธรรมชาติของจิตนี้มันแปลกกว่าที่คาดอยู่มาก มากขนาดว่าก่อนจิตรวมกับหลังจิตรวมนี้มันเหมือนคนละคน ทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกัน อันนี้พูดในด้านธรรมะนะ ไม่ได้โอ้อวด พอจิตนี้รวมถึงที่สุดแล้ว ถอนจิตออกจากสมาธิแล้ว จิตนี้มันอาจหาญ ไม่กลัวใคร คำไม่กลัว ไม่ได้หมายว่าเราเป็นนักเลง คือไม่กลัว ต่อความจริง อันไหนเป็นความจริงเราอาจหาญที่จะต่อสู้และพิจารณา เรียกว่า “ธรรมทำให้กล้าหาญ”

    เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใดๆ ในโลกที่เขานิยมว่ามีค่ามาก จะเอามากองให้เท่าภูเขาเลากา ไม่ได้มีความหมายเลย ธรรมสมบัติที่ปรากฏเมื่อคืนนี้ เป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นที่ยิ่ง จิตไม่เกี่ยวเกาะด้วยกามคุณเลย ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญากับคนรักไว้ก่อนบวชว่า “บวชเพียงหนึ่งพรรษา ก็จะสึกออกมาแต่งงานกัน” เมื่อจิตมิได้เยื่อใยในโลกเช่นนั้นอยู่มาวันหนึ่งเดินออกบิณฑบาต เจอคนที่เราเคยรักมาใส่บาตร เราจึงบอกสาวคนที่เรารักนั้นไปว่า “แป้งเอ๊ย...ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่สึกแล้วนะ”

    เมื่อเป็นสันทิฏฐิกธรรม คือรู้เองเห็นเองเฉพาะตนแล้ว จึงไม่นำไปพูดกับใครและปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ จึงนึกถึงแต่กิตติศัพท์และกิตติคุณของท่านพระอาจารย์ (...เมื่อเรานำเรื่องนี้ไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาภายหลังท่านเทศน์ให้หมู่เพื่อนฟังว่า “บุญกุศลนี้ต่างกันโว้ย มีหมู่ปฏิบัติมา ๓-๔ ปี มันลงเหมือนเราที่นครนายก” เราจึงรู้ว่ามันลงเหมือนกัน เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก (อ่อนพรรษา)

    ทีหลังท่านเรียกเราว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ท่านว่าให้หลวงตาบัวฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้ ท่านเรียก “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” เหมือนกัน (หัวเราะ)....)
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    กราบลาพระอาจารย์กงมา

    [​IMG]


    หลังจากออกพรรษาประมาณเดือนธันวาคม ๒๔๘๒ จึงตัดสินใจเข้าไปกราบลาพระอาจารย์กงมา เพื่อเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่

    สาเหตุที่ต้องเดินทางไปหาท่านนั้น ในใจจริงๆ แล้ว เราคิดว่าเราภาวนาดีพอตัว ถ้าจะพูดหรือสนทนากับใคร คิดว่าในเรื่องจิตนี้คงไม่จบลงโดยง่าย อาจจะมีข้อขัดแย้งกันอีกนานาประการ เราเอาท่านเป็นเกณฑ์เลย เพราะองค์อื่นๆ ที่มาสอนธรรมะอยู่ ณ เวลานี้ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้น ดังนั้นเราไปหาจุดใหญ่เลย จะต้องดีกว่าแน่นอน เมื่อแน่ใจในตนเอง โดยไม่ปริปากบอกใคร เพราะถ้าบอก เขาก็จะพากันห้ามปราม กลัวเราจะอยู่กับท่านไม่ได้

    แม้แต่พระอาจารย์กงมา เราก็ไม่ได้บอกเรื่องภายในจิตนี้ เราคิดว่า ถ้าบอกเล่าถวายท่าน ท่านก็คงไม่เชื่อ เพราะเราบวชยังไม่นาน อีกทั้งสมัยนั้นมันดื้อมาก ดื้อมากขนาดไม่มีใครจะเชื่อว่า เราภาวนาดีได้ จึงตั้งใจไว้ว่า

    “จะมาเล่าให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ตั้งแต่วันที่ภาวนาจนจิตรวมครั้งใหญ่แล้ว”

    เมื่อพระอาจารย์กงมาท่านทราบว่า เราจะกราบลาไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ถามว่า

    “ท่านเจี๊ยะ...พระอย่างท่านจะไปอยู่กับหลวงปู่มั่นได้ยังไง”

    พระอาจารย์กงมา ท่านพูดแบบเป็นจริงเป็นจัง ไอ้เรามันก็แบบอย่างว่านั่นแหละ อันไหนเป็นความจริงแล้วไม่ถอย ก็เรียนตอบท่านทันทีว่า

    “ครูอาจารย์ (กงมา) หลวงปู่มั่นเป็นคน ผมก็เป็นคน ทำไมผมจะไปอยู่กับปู่มั่นไม่ได้ ถ้าท่านเป็นพระดี ผมไปหาของดีมันจะผิดตรงไหน ก็คนไม่ดีนั่นแหละต้องให้คนดี ๆ สอน ถ้าคนอยู่กับคนไม่ได้แล้ว คนจะอยู่กับใคร

    ครูอาจารย์ที่นั่นก็ดี ผมไม่ได้ประมาณในคุณธรรมแม้นิด แต่ที่นี่มันใกล้บ้าน ใกล้พ่อแม่ญาติพี่น้อง มีอะไรก็เรียกหา เรียกใช้ได้ง่าย ๆ มันสะดวกเกี่ยวกับเรื่องทางโลก แต่ไม่สะดวกในทางการประพฤติธรรม แม้แต่โยมแม่ทราบว่าจะไป เหตุเพียงแค่นี้ก็ร้องห่มร้องไห้กันแล้ว ภาระกังวลนี่แหละ มันจึงเป็นเหมือนนิวรณ์คอยกางกั้น การไปไกล ๆ จากบ้าน ถ้าเกิดความลำบากอย่างน้อยธรรมชาติมันคงช่วยดัดนิสัยผมได้บ้าง ผมก็คิดอย่างนี้”

    เมื่อเราพูดขึ้นอย่างนั้น พระอาจารย์กงมาจึงพูดขึ้นว่า

    “ท่านเจี้ยะ...ถ้าท่านได้อะไรดี ๆ ก็นำมาสอนผู้เฒ่าบ้างเน้อ”

    เมื่อท่านอาจารย์พูดแบบนั้น เราก็ เอ๊ะ!...ทำไมผู้เฒ่าพูดอย่างนี้น้อ...ยิ่งทำให้อยากไปใหญ่ จึงกราบเรียนท่านอย่างนี้ว่า

    “ ถึงใคร ๆ จะไม่ให้ไป ผมก็จะไป ท่านพระอาจารย์มั่นจะเป็นคนตัดสินเองว่า จะอยู่กับท่านได้หรือไม่ได้”

    ตอนนั้นเรามั่นใจในตนเต็มที่เหมือนกัน

    หลังจากกราบลาท่านอาจารย์แล้ว จึงไปบอกลาโยมพ่อโยมแม่และพี่สาวตลอดจนญาติๆ พ่อแม่ร้องไห้โฮกันใหญ่ ก็เราอยู่บ้านไม่เคยลำบาก...ฮิ... พ่อแม่ไม่เคยบังคับให้ทำงาน งานทั้งหมดเรายินดีทำเอง โยมแม่ก็พูดขึ้นว่า

    “กินก็เป็นคนกินยากจะไปได้ยังไง? ลูก” โยมแม่พูดขึ้นพร้อมทั้งน้ำตา เพราะในบรรดาลูกๆ พ่อแม่รักเราที่สุด

    "ไข่มันกินยากฮิ... จึงต้องไป ไปแก้ให้มันกินง่ายๆ โอ๊ย!..ไม่ต้องเป็นห่วง อาตมาไม่ตายหรอกนะโยม"

    เราพูดปลอบๆ ให้ท่านทั้งสองสบายใจ กลัวท่านจะคิดมาก

    ก่อนวันออกเดินทาง ก็เข้าไปกราบลาท่านพ่อลี เมื่อกราบเรียนท่านว่าจะไปหาท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นแหละ ท่านพ่อท่านพูดเสียงดังลั่นเลยว่า

    “มันต้องอย่างนี้สิ...มันต้องอย่างนี้สิ..ลูกศิษย์ตถาคต”

    แล้วท่านพ่อก็ให้โอวาทว่า

    “การไปหาครูบาอาจารย์ต้องปฏิบัติตัวให้ดี และเอาให้ถึงธรรมให้ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพระแท้ พระจริง เราต้องทำตัวเราให้ถึงความจริงทั้งที่ท่านสอน ถ้าเราไม่จริง เราจะไปปลอมปนอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะของจริงกับของปลอมมันแยกแยะออกได้ ของสะอาดกับของสกปรก เราจะเอามาปนกันไม่ได้ ความสะอาดก็คือความสะอาด ความสกปรกก็คือความสกปรก เราไปหาท่าน เราต้องเป็นแบบท่าน และพยายามทำให้ถึงธรรมอย่างที่ท่านเห็น แล้วเราก็จะกลมกลืนในสายทางแห่งธรรมอันเดียวกัน การอยู่กับท่านก็จะได้ผลที่สุดเป็นที่หมาย”

    การได้ฟังโอวาทท่านพ่อเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ใจมันไขว่คว้าในเป้าหมายคือ “ท่านพระอาจารย์มั่น” ยังไงต้องถึงท่านที่เป็นพระอรหันต์ให้ได้ ในใจลึกๆ มันคิดอย่างนั้น

    เมื่อฟังท่านพ่อสอนอย่างนั้น ใจมันก็ได้กำลังใจเป็นอย่างมาก แล้วท่านพ่อจึงพูดขึ้นว่า

    “ท่านเจี๊ยะ...ให้ท่านเอาท่านเฟื่องไปเป็นเพื่อนด้วยนะ เวลามีอะไรขัดข้องจะได้ช่วยเหลือกัน”

    แล้วท่านก็กำหนดวันออกเดินทางให้ไปพร้อมกับท่าน เพราะท่านจะเดินทางไปอินเดีย ต้องเข้ากรุงเทพฯ เหมือนกัน

    พอถึงวันออกเดินทาง มาขึ้นเรือนิภาที่ท่าแฉลบ พร้อมกับท่านเฟื่องและท่านพ่อลี ท่านพ่อลีท่านไปอินเดีย ไม่ได้นั่งเครื่องบินไปนะ ท่านเดินเที่ยวธุดงค์ออกไปทางจังหวัดตากแล้วเข้าไปทางพม่า

    บทเวลาจะไป โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้องร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ จะไม่ยอมให้เดินทาง ไม่ยอมให้ขึ้นเรือ พูดอ้อนวอน เพื่อจะไม่ให้ไปด้วยอุบายต่าง ๆ นานา พี่สาวมันพูดขึ้นว่า

    “พระไม่มีเงิน ถือเดินจับเงินเองไม่ได้ หาเงินเองไม่ได้ หากินเองไม่ได้จะไปได้อย่างไรกัน?”

    เราก็ตอบมันไปว่า “พระทั่วประเทศเขาไปยังไง อยู่ยังไง กินยังไง กูก็จะไปยังงั้น อยู่ยังงั้น กินยังงั้น พระพุทธเจ้าสละราชบัลลังก์ออกบวชไม่เห็นจะมีปัญหามากขนาดนี้... โว้ย...”

    เมื่อเราพูดเด็ด ๆ อย่างนั้น พี่สาวเขาจึงยึดกลดเอาไปซ่อนไว้เลย ไม่ยอมให้ แม้กระทั่งใกล้เวลาที่เรือจะออกแล้ว ก็ไม่ยอมให้กลด เราก็ไม่รู้จะทำยังไงจึงพูดขึ้นว่า

    “ถ้ามึงไม่ให้ กูก็ต้องนอนตากยุง คนยังห้ามกูไม่ได้ กลดหรือมันจะมาห้ามกูได้?”

    เมื่อพี่สาวเห็นความตั้งใจอันแน่วแน่ จากนั้นมาเขาก็คืนกลดให้
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เดินทางสู่เชียงใหม่

    ..พักอยู่ที่กรุงเทพฯประมาณ ๒๐ วัน ขึ้นรถไฟเดินทางไปที่เชียงใหม่ ถึงเชียงใหม่แล้วนั่งสามล้อต่อไปที่วัดเจดีย์หลวง พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงประมาณ ๔ วัน

    ตอนออกเดินทางมาจากกรุงเทพฯ มีปัจจัยอยู่เพียง ๗ บาท จ่ายค่ารถ จ่ายค่าสามล้อหมดพอดี ไปพักอยู่วัดเจดีย์หลวง ได้พบกับพระมหาเสงี่ยม สนทนากันแบบเพื่อนผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ พูดจาถูกคอกัน ท่านเห็นว่าเราไม่มีเงินค่ารถ จึงชักชวนให้อยู่ก่อน ท่านนิมนต์ให้อยู่ถึงวันพระก่อน เพราะวันพระที่จะถึงนี้ท่านจะเป็นองค์แสดงธรรม ญาติโยมคงจะถวายกัณฑ์เทศน์ โดยตามปกติแล้ว ในวันพระทุกวันพระ พระที่เทศน์จะได้ปัจจัยที่โยมถวาย ๘๐ สตางค์ พอท่านได้ปัจจัย ท่านก็นำมาถวายเป็นค่ารถในการเดินทาง

    ในวันที่ไปถึงเชียงใหม่ ก็เดินทางเข้าไปพักที่วัดเจดีย์หลวง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ตอนนั้นท่านยังเป็นพระราชกวี (พิมพ์) ตอนนั้นท่านยังหนุ่ม ยังไม่รู้จักกันกับท่าน ท่านก็ให้เราเข้าไปนอนในเจดีย์ใต้เจดีย์หลวง มีทางลอดเข้าไปแคบ ๆ พอนอนได้ ภายใต้เจดีย์นั้นผีดุมาก พอเอนกายนอนลงเท่านั้น มีผีเปรตตัวใหญ่ดำมะเมี่ยม มายืนคร่อมเราอยู่ เราว่าคาถาภาวนามันก็หายไป

    [​IMG]
    เจดีย์วัดเจดีย์หลวงที่หลวงปู่เจี๊ยะเข้าไปพักในคืนแรกที่ไปถึงเชียงใหม่

    พอตอนเช้า พวกพระเขาก็พูดกันว่า ใครๆ เข้าไปนอน เป็นต้องหนีตายออกมากลางคืน มีเรานี่แหละอยู่ได้จนสว่าง เขาพูดกันว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเรื่องผีเปรตที่เคยหลอกหลอนคนและพระก็เงียบสงบไป ผีเปรตตัวนี้กับเรามันคงเคยสร้างบุญสร้างกรรมกับเรา พอเราแผ่เมตตา สวดคาถาภาวนามันก็หายไป ในสมัยนั้นภายใต้เจดีย์นั้นไม่มีใครกล้าเข้าไปนอนเลย

    มันก็แพ้คุณธรรมของเรา มันดุ เรากำลังทำสมาธิ มันก็เข้ามา มันก็มาตัวดำๆ ทะมึนทึง เราไม่กลัว เราก็ว่าคาถาภาวนา สักประเดี๋ยวมันก็หายไป

    แต่ก่อนสถานที่นั้นเป็นของวัดพระฝ่ายมหานิกายมาก่อน แต่ต่อมาเป็นของพระธรรมยุต พระเข้าไปนอนไม่ได้เลย มันรังแก

    ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราถึงได้รู้จักกันกับท่านพระมหาพิมพ์ ต่อมาท่านก็เป็นเจ้าคุณฯ และเป็นสมเด็จฯ ตามลำดับ


    [​IMG]
    พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก
    สหธรรมิกหลวงปู่เจี๊ยะ ที่เดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมกัน


    พอตกกลางคืนก่อนวันออกเดินทาง ภาวนาเกิดนิมิต นิมิตนี้เป็นนิมิตธรรมดาแต่ก็แปลกดีเหมือนก่น พอภาวนาสงบเกิดนิมิตเห็นไก่ ๒ ตัว เห็นถึงสองครั้งสองคราในนิมิต ก็กำหนดรู้ ไม่ได้ใส่ใจอะไร ถือว่าเป็นสิ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จากนั้นก็จำวัด พอถึงรุ่งเช้า มีโยมเอาไข่ต้มเข้ามาถวาย ๒ ฟอง ไปที่ไหนเขาก็ไม่ไป เดินตรงดิ่งเข้ามาถวายเรา ไข่ต้ม ๒ ฟอง แบ่งกับท่านเฟื่องคนละฟอง ฉันกับข้าวเหนียวนึ่ง มันติดคอเพราะเราไม่เคยกิน พอฉันเสร็จก็ออกเดินทางเลย....

    ...พักที่วัดเจดีย์หลวงพอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางไปเชียงดาว แล้วธุดงค์ต่อไปทางปางแดงอันเป็นป่าอยู่ในกลางหุบเขา พักที่ปางแดงพอสมควรแล้วก็ออกเดินทางไปตามหุบผาป่าเขา อันสลับซับซ้อน ทะลุถึงอำเภอพร้าว พักอยู่ตามป่าที่อำเภอพร้าว เพื่อสอบถามว่า ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่ไหน คุยภาษาเหนือกับคนทางเหนือไม่รู้เรื่อง มันก็ถามเราว่า

    “ตุ๊...แอ่วหยังก๋า”

    ไอ้เราก็ไม่รู้เรื่อง ถามกันเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง เราจึงบอกมันไปว่า

    “ตุ๊...แม่มึง”

    แหม...ถ้ามันฟังรู้เรื่องมันคงโกรธเราตาย

    ในระหว่างเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นด้วยความยากลำบาก เพราะความเหน็ดเหนื่อยนั้น เรียกได้ว่า ทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตการเดินทาง เพราะไม่เคยเดินเท้าเปล่าข้ามป่าเขาลำเนาไพร จุดหมายอยู่ที่ใดก็ไม่แน่นอน อาศัยใจเท่านั้น ส่วนร่างกายนี้อ่อนแรงเต็มที เราได้รำพึงรำพันนึกถึงท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้งว่า

    “หลวงปู่มั่นอยู่ไหนช่วยหน่อย หลวงปู่มั่นช่วยหน่อย เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ใคร ๆ เขาก็พูดว่า หลวงปู่มั่นรู้วาระจิตคนหมด ตอนนี้ผมพระเจี้ยะเดินทางมาหา เหนื่อยยากลำบากจะตายอยู่แล้ว ทางก็ไม่รู้จะไปไหน มาทางไหน หลวงปู่มั่นอยู่ที่ไหน ถ้ารู้ได้ด้วยใจ ด้วยญาณก็ส่งคนมารับหน่อย เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว”

    เรานึกอยู่อย่างนี้เป็นพันๆ หมื่นๆ ครั้ง หรืออาจจะเกินกว่านั้น ทั้งนึก ทั้งบ่น ทั้งพูด ทั้งคิดแต่ดีอย่างหนึ่ง มันไม่ถอย ใจดวงนี้ไม่มีวันถอย แต่อย่างไรเสียก็ต้องตามหาท่านพระอาจารย์มั่นให้เจอ อยากเล่าสิ่งที่ใจมันเป็นให้ท่านทราบ แล้วท่านจะว่าอย่างไร ถึงตามท่านไม่เจอที่นั่น ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ก็จะตามไปถามจนเจอ ถ้าไม่ตายจากกันก่อน ยังคงต้องตามท่านจนเจอ ใจมันมุ่งมั่นอย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับว่ามีเครื่องดึงดูดให้ไป ให้แสวงหาสิ่งนั้นอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนบวชนี้เรื่องศาสนาไม่เคยสนใจแม้แต่น้อย ถ้ามีพระแสดงธรรมพระเทศน์ต้องชิงหนี แต่ตอนนี้เดี๋ยวนี้จิตมันไม่เป็นอย่างนั้น มันกระหายผู้รู้ผู้เห็นธรรม มาเป็นสักขีพยานว่าเราไม่ได้บ้า เป็นธรรมที่ชาวโลกที่หมกมุ่นไปด้วยกิเลสตัณหาเอื้อมไม่ถึง แต่เป็นธรรมที่พระอริยเจ้ารับรอง โดยความเป็นธรรมสมควรแก่ธรรม และทรงธรรมนั้นไว้ด้วยความสง่างาม ปานประหนึ่งว่าทรัพย์สมบัติในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกไม่เทียมเท่า ไม่อาจแม้จะเทียบเท่าได้ด้วยอุปมาอุปไมยใดๆ

    ถ้าเราพูดว่า เราไม่สนใจในทรัพย์สมบัติเหล่านั้น เพราะสมบัติเหล่านั้นด้อยค่ากว่าธรรมสมบัติที่เราเห็น แม้สมบัติล้ำค่าเช่นนั้น จะมากองเท่ากับภูเขาเลากา แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกับธรรมที่เรารู้ได้ เราก็ไม่เอา การพูดว่าไม่เอา คนทั้งหลายในโลกที่มักจะละโมบโลภมาก ต้องไม่เชื่ออย่างแน่นอน เราต้องพูดกับคนที่รู้เห็นอย่างเดียวกัน คือพุทธสาวกที่รู้ธรรมเห็นธรรมอย่างเดียวกัน ฉะนั้นองค์ท่านพระอาจารย์มั่นน่าจะเป็นสักขีพยานแห่งธรรมได้เป็นอย่างดี เมื่อพูดเมื่อคิดเช่นนี้จึงเร่งฝีเท้าต่อไป

    เมื่อเดินทางถึงบ้านแม่กอย ถามคน เขาบอกว่า ท่านพักอยู่ที่วัดร้างป่าแดงนั้น ก็รีบเร่งเดินทางเข้าไป กระหายใคร่เห็น ใคร่สนทนา มากกว่าการกระหายน้ำ ลืมความเหน็ดเหนื่อย มุ่งตรงเข้าไปยังวัดร้างป่าแดง มีกระท่อมน้อยๆ มุงหญ้าคา ฝาขัดแตะและใบไม้ พื้นไม้ไผ่ ดูๆ ในสถานที่น่าจะมีพระอยู่กันหลายองค์ เพราะสะอาดสะอ้านเหลือประมาณ บ้านเราอยู่เป็นสิบคน ที่แคบๆ ยังไม่สะอาดเท่านี้ นี้น่าจะมีพระอยู่จำนวนไม่น้อย
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    กราบท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดร้างป่าแดง

    [​IMG]


    เมื่อเราเดินเข้าไปตรงกระท่อม หลังที่มองเห็นก่อนหน้านั้น มีพระรูปหนึ่งรูปร่างเล็กๆ ลักษณะองอาจ เป็นเถระรูปร่างสันทัด ผิวดำแดง นั่งห่มจีวรเปิดไหล่ แสดงอาการให้เห็นว่ารอใครบางคนอย่างเห็นได้ชัด อยู่บนแคร่น้อยๆ ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ เอาหญ้าคามุงกั้นฝาเป็นฟาก หันหน้ามาทางที่จะเดินเข้าไป แสดงว่าสนใจในคนที่มา แต่ไม่แสดงออกทางคำพูด แต่เป็นกริยาที่รับกัน

    ใจในขณะนั้น น้อมนึกขึ้นมาทันทีว่า “นี่แหละหลวงปู่มั่น”

    นึกต่อไปอีกว่า “ท่านคงรู้วาระจิตของเราเป็นแน่แท้ จึงมานั่งรอ พระเถระรูปที่นั่งอยู่นี้ ต้องเป็นท่านพระอาจารย์มั่น จะเป็นองค์อื่นไปไม่ได้”

    จึงตรงดิ่งเข้าไปกราบท่าน ที่เรากระหายใคร่อยากจะพบเห็น

    ในขณะที่เราเข้าไปหาท่านนั้น เข้าไปแบบจู่โจม ต้องไม่ใช่ใครที่ไหน ที่สามารถรู้เหตุการณ์ในอนาคต ได้ว่าใครจะไป-จะมา ต้องเป็นท่านพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน

    เราหมอบเข้าไปกราบ ท่านจึงถามขึ้นว่า “มาจากไหน”

    “มาจากจันทบุรี อยู่กับท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์ลี” เรากราบเรียนท่าน

    “ท่านลี ท่านกงมา อ้อ! นั่นลูกศิษย์เรา” ท่านพูดแบบอุทานเหมือนว่า รู้และเข้าใจในวิถีความเป็นมาเป็นไปของเรา

    จากนั้นเมื่อได้โอกาสอันควร จึงกราบเรียนเรื่องเล่าเรื่องที่ภาวนา ที่จิตเป็นไปให้ท่านฟังสั้นๆ เป็นใจความว่า...

    “ครูบาอาจารย์ กระผมพิจารณากาย จนใจนี้มันขาดไปเลย”

    องค์ท่านนิ่งฟังเฉย นิ่งเงียบไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่คำเดียว กราบเรียนท่านต่อไปอีกว่า

    “ครูบาอาจารย์...จะให้ผมทำอย่างไรต่อ”

    “ให้ทำอย่างเดิมนั่นแหละ ดีแล้ว” ท่านตอบสั้นๆ แต่เป็นที่พอใจตรงใจ

    [​IMG]
    อนุสรณ์สถานพระอาจารย์มั่น เดิมเป็นที่ตั้งกุฏิและทางเดินจงกรมของท่านในวัดร้างป่าแดง หรือวัดป่าพระอาจารย์มั่น

    เพราะฉะนั้น อย่างท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงเป็นคณาจารย์ หรือเรียกว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่สมควรแก่สานุศิษย์ เมื่อผู้ใดเข้าไปศึกษาสิ่งหนึ่งประการใดอย่างนี้ ก็ขอให้ไปเสนอเถอะ เราได้ค้นคว้า พินิจพิจารณาร่างกาย จนละเอียดลออไปทุกส่วน ทุกชิ้นทุกอัน จนได้สภาวะของใจ ได้ลงถึงความจริงประจักษ์ใจ โลกทั้งหลายนี้ไม่มีปรากฏขึ้นกับใจขาดสูญไปหมด อยู่จำเพาะใจนั้นอันเดียว ไม่มีสิ่งใดเจือปน ไม่มีเจือปนอยู่ในใจนั้น แล้วเรานั้นก็ได้เอาสิ่งเหล่านี้ไปนมัสการครูบาอาจารย์ท่าน ไปเล่าถวายความเป็นไปให้ท่านฟัง ตั้งแต่เบื้องต้นในการค้นคว้า พินิจพิจารณาลงไปอย่างนั้น จนกระทั่งถึงที่สุดของการค้นคว้าพิจารณาอย่างนั้นลงไปแล้ว ในสภาวะของใจลำดับนั้น มันขาดพึ่บลงไป โดยที่คล้ายๆ ขาดสติ แต่ไม่ใช่ขาดสติ มันก็ปรากฏโลกทั้งหลายขาดลงไป ไม่มีอันใดเลย แม้แต่ร่างกายของเราอย่างนี้ ก็สูญหายไปหมด เหลือความบริสุทธิ์ของใจ อันเที่ยงแท้ อันเดียว ก็เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วเข้าไปเรียนถาม ท่านก็บอกว่า “เออ! เอาอย่างนั้นแล ให้พิจารณาอย่างนั้น ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ” นี่! ท่านไม่มีการคัดค้าน ไม่มีการโต้เถียง หรือไม่มีการที่จะกระโตกกระตากอะไรทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น คติอันนี้จึงเป็นคติอันดีเยี่ยม

    เพราะฉะนั้นจึงว่าบรรยายธรรม ศาสนธรรม คำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “จิตตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” บุคคลผู้ฝึกจิตใจที่ได้ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ของหัวใจ เพราะเมื่อผู้ฝึกหัดอบรมจิตใจ จนได้รับความเยือกเย็น จนเข้าสู่แดนของปัญญาอันแท้จริงอย่างนั้นแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเจือปนหัวใจ ให้มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งยืน เดินนั่ง นอน ตลอดเวลาอย่างนั้น ใจที่แสนจะสบาย ปลอดโปร่งอยู่ตลอดเวล่ำเวลาอยู่อย่างนี้ นั่นเรียกว่า ธรรมอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า

    องค์สมเด็จพระศาสดาของเรา เมื่อท่านได้ถึงธรรมอย่างแท้จริงอย่างนี้แล้ว ท่านจึงได้มาพิจารณาสัตว์โลก ว่าเต็มไปด้วยความหมกมุ่น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แสนที่จะกังวลนานาประการต่างๆ เมื่อมองอย่างนั้นแล้ว ทำไมสัตว์ทั้งหลายจะสามารถ ประพฤติปฏิบัติธรรมได้หนอ ครองบ้านครองเรือน เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขัดข้องนานาประการอย่างนี้ เมื่อน้อมใจพิจารณาอีกทีหนึ่ง ก็มาพิจารณาดูว่าสัตว์ทั้งหลาย คงมีอุปนิสัยปัจจัย ที่สามารถจะบรรลุคุณธรรมของเราคงมีบ้าง ผู้มีกิเลสน้อยก็พอมีอยู่ ด้วยความอนุเคราะห์พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรม

    ก่อนที่จะเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่น มันคิดในใจลึกๆ อยู่เหมือนกันว่า ถ้าท่านคัดค้าน เราก็จะต่อสู้ด้วยเหตุผลเต็มที่เช่นกัน จะไม่ยอมถอยง่ายๆ เพราะในใจนี้ มันแน่ใจในสิ่งที่รู้เห็นมาก เมื่อมันรู้มันเห็นกระจ่างชัดเช่นนี้ ใครค้านก็ต้องเถียง แต่ท่านรู้ท่านไม่ค้าน เพียงแต่บอกว่าดีแล้ว ทำอย่างนั้นดีแล้ว หมายความว่า ทำถูกแล้วให้ดำเนินต่อไป

    เมื่อเราเข้ามาหาครูบาอาจารย์แล้ว หวังความศึกษาในท่าน ก็ควรเอาใจใส่อุปัฏฐากท่านในกิจทุกอย่าง ถวายน้ำล้างหน้า น้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความประพฤติอันเสื่อมเสียที่จักมีแก่ท่าน รักษาน้ำใจท่าน ไม่คบคนนอกให้เป็นเหตุแหนง เคารพในท่าน แสดงการเดินไม่ชิดนัก ไม่ห่างนัว และไม่พูดสอดในขณะที่ท่านกำลังพูด ท่านพูดผิดไม่ค้านจัง ๆ พูดอ้อมพอให้ท่านรู้สึกตัว ไม่เที่ยวเตร่ตามอำเภอใจ จะไปข้างไหนให้ลาท่านก่อน เมื่อท่านอาพาธเอาใจใส่พยาบาล ไม่ไปข้างไหนเสีย จนกว่าท่านจะหายเจ็บหรือมรณะ นี่แหละวัตรบางส่วนที่เธอผู้ฝ่าน้ำทะเลมาต้องศึกษาและปฏิบัติ
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพระอาจารย์มั่นรู้วาระจิต

    [​IMG]


    เมื่อรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นด้วยความซาบซึ้งแล้ว ต่างก็เข้าสู่ที่พักด้วยใจที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยอากาศที่หนาวเหน็บเข้าไปภายในนั้น ทำให้เนื้อตัวสั่นเทา มีแต่เพียงจีวรบางๆ เป็นที่ห่อหุ้มร่างกาย เมื่อตกดึกๆ นอนไม่หลับ จึงเดินเข้าไปหาท่านเฟื่อง แล้วกระซิบท่านเบาๆ อันเป็นการหยั่งเชิงดูหมู่เพื่อน ว่าจะเป็นไปอย่างไร คิดอย่างไร ว่า

    “เฟื่องเว้ย... หนาวเว้ย...กลับบ้านดีกว่า...”

    ท่านเฟื่องก็นิ่งเฉย ไม่ตอบแต่อย่างใด ส่วนภายในใจของเรานั้น ก็ไม่ได้ถอยแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน

    พอรุ่งเช้าวันใหม่ มองเห็นลายมือพอรู้ มองดูชายหญิงพอออกว่าเป็นชายหรือหญิง มองต้นไม้ออกว่าเป็นต้นไม้อะไร ก็ออกจากที่พักอันเป็นเพิงเล็ก ๆ มุงด้วยใบตอง มีหลังคาพอกันน้ำค้าง ที่นอนก็เป็นแคร่ไม้ไผ่โยกเยก ๆ เดินมากระท่อมน้อยอันเป็นศาลาหอฉัน

    พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นหน้าเท่านั้นแหละ เหมือนดั่งว่าสายฟ้าฟาดลงบนกระหม่อมทันที

    “คนทะลงทะเลไม่มีความอดทน ไป...ไป ไม่มีใครอาราธนามาที่นี่”

    ท่านพูดเสียงดุดัง นัยตาก็กราดกร้าวเหมือนพญาเสือโคร่งใหญ่ เป็นกิริยาที่หมู่แมวๆ อย่างพวกเราต้องหมอบคลาน ก้าวขาก็ไม่ออก เรื่องวาระจิตนี่ ท่านรู้ทุกอย่าง จะพูดจะคิดอะไรอยู่กับท่านต้องระวัง ประมาทไม่ได้เป็นบาปใหญ่ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ เมื่อตั้งสติไว้ กำหนดไว้ได้แล้วค่อยก้าวเท้าเดินต่อไปด้วยความนอบน้อม

    คำพูดของท่านเพียงเท่านั้นล่ะ มันวนเวียนอยู่ในใจ จะคิดอะไร จะพูดอะไร เหมือนถูกคนสะกดบังคับให้ต้องเป็นไปตามแบบของท่าน ก็ได้แต่เพียงเตือนตนไว้ในใจว่า

    “เอาละนะ เจอของจริงแล้ว ระวังตัวให้ดี”

    จากนั้นมา ท่านก็เมตตาใช้ทำนั่นทำนี่ ดูแลอุปัฏฐากใกล้ชิดท่าน จิตใจก็ค่อยคุ้นๆ กับท่าน สบายใจขึ้นบ้าง

    จึงย้อนนึกถึงคำพูดท่านพ่อลี ก่อนที่จะมาว่า

    “ท่านจะอยู่กับหลวงปู่มั่นได้หรือ? ทุกขณะจิตของท่านองค์หลวงปู่ใหญ่ ท่านจะทราบหมด ถ้าจะไปอยู่กับท่าน อย่าให้เสียชื่อเรานะ”

    การที่ได้อยู่กับพระที่สมบูรณ์ทั้งความรู้ภายใน และความประพฤติ นับว่าเป็นโชคอย่างมหาศาล การอยู่การฉัน ก็นับว่าลำบากมากในสายตาของชาวโลก แต่ถ้าเป็นนักธรรม ถือว่าสมบูรณ์พอดีๆ

    วัดมันเป็นป่ากลางทุ่ง มีชาวบ้านอยู่ ๖ หลังคาเรือน บ้านห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร กุฏิครูบาจารย์ท่านมุงด้วยใบตองตึง พื้นเป็นฟากไม้ไผ่ รูปลักษณ์เป็นทรงพื้นเมืองทางเหนือ ส่างน้องแม่วิสาข์ เป็นคนมาทำกุฏิถวายท่าน (ส่าง หมายถึง ผู้เคยบวชเป็นเณร เป็นภาษาไทยใหญ่)

    เมื่ออยู่นานเข้า ด้วยบุญบารมีของท่าน ก็เริ่มมีคนรู้จักและนับถือมากขึ้นเรื่อย ๆ ปากต่อปากร่ำลือถึงกิตติศัพท์เกียรติคุณ ทำให้ผู้คนอยากพบเห็น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านไม่อยู่ที่นี่นานนัก

    ท่านเป็นพระทรงธรรม ทรงวินัย เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ไม่ปลีกแวะเป็นอย่างอื่น ท่านถือหลักธรรมเป็นทางเดิน มีพระวินัยเป็นกรอบเส้นถนน ที่ไม่ควรลืมเนื้อลืมตัว

    อยู่มาวันหนึ่งโยมแม่วิสาข์ซึ่งเป็นอุปัฏฐายิกาประจำวัด เป็นผู้คอยจัดแจงอาหารมาถวายท่านเป็นประจำทุกๆ เช้า ได้หอบหิ้วเอาต้นผลไม้ คือต้นมะม่วงประมาณ ๒-๓ ต้น เข้ามาปลูกภายในวัด ในบริเวณใกล้ ๆ กับกุฏิที่ท่านพำนัก ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจึงทักขึ้นว่า

    “ฮื้อ...ทำอะไรหรือโยม”

    “ฉันเอาต้นไม้มะม่วงมาปลูก... มีลูกมีผลจะได้เอาไว้กิน ถวายพระ ไม่ต้องซื้อหา...เจ้าค่ะ”

    ท่านพระอาจารย์จึงดุว่า

    “นี่...เห็นเราเป็นอย่างนี้แล้วหรือ เรามาอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม ห่างไกลจากโลกภายนอก ไม่เกี่ยวข้องด้วยปัจจัยทั้งหลาย อันเป็นเครื่องพันพักผูกมัด ไม่ได้มาหาอยู่หากิน หาต้นมะม่วง มะเขือ นี่จะมาหาเรื่องให้เราแล้วนะเนี่ย ต่อแต่นี้ไปเราก็จะกลายเป็นหลวงตาเฝ้าสวนมะม่วงแล้วหรือนี่”

    อันนี้ก็เป็นมูลเหตุอันหนึ่ง ที่ท่านไม่ต้องการจะอยู่ที่แห่งนั้น ท่านปฏิบัติธรรมปฏิบัติจริงๆ ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องของโลกโดยประการทั้งปวง แม้เราทั้งหลายมองเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วมองผ่านไป สำหรับองค์ท่านเองพินิจพิจารณาใคร่ครวญโดยตลอด ไม่ให้เรื่องโลกๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับองค์ท่านเองได้ พระจึงมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยอาศัยผู้อื่นแล้ว ควรจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ควรแย่งหน้าที่ของชาวโลกมาทำเอง

    เรื่องธรรมเรื่องวินัยท่านละเอียดเป็นที่สุด แม้แต่ต้นไม้ประดับประดา ปลูกให้มีดอกออกผลสวยงาม ท่านไม่ให้ปลูกภายในวัด ถ้าเป็นพระ ท่านว่าเป็นพระเจ้าชู้ พระขุนนาง ชอบสวยงาม ชอบสะดวกสบาย แต่ภายในหัวใจไม่มีอรรถธรรมแม้แต่น้อย ต้นไม้งามเท่าไหร่ ใจมันก็เสื่อมจากทางจงกรม นั่งสมาธิเท่านั้น

    ในขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มาพักพำนักปฎิบัติธรรม ณ วัดร้างป่าแดงแห่งนี้ ได้มีลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระกรรมฐาน เดินทางตามมารับการอบรมทางด้านจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด เช่น

    พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ฯลฯ

    (ขณะที่พูดถึงท่านพระอาจารย์มั่นทีไร หลวงปู่เจี๊ยะจะแสดงอาการซาบซึ้งตื้นตันใจทุกครั้ง ด้วยความรักและเลื่อมใสท่านพระอาจารย์มั่นมาก บางทีถึงขนาดน้ำตาไหลก็มี เพราะท่านถึงใจกับท่านพระอาจารย์มั่นมากที่สุดในชีวิต)

    หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า “เรารักเลื่อมใสท่าน เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีแท้”

    ท่านตัวเล็กๆ บางๆ เดินเร็ว เดินนี้ โอ๊ย! ปึ้ด ๆ ปึ้ด ๆ ท่านจะอบรมพระตอนหัวค่ำหน่อย แล้วก็เลิก คือพอได้เวลา ๔ ทุ่ม ก็เข้าจำวัด ให้ทำข้อวัตรเป็นอย่างนั้น อบรมประมาณชั่วโมง สองชั่วโมง ส่วนมากไม่ค่อยได้อบรม ภาวนาของใครของมัน ท่านพระอาจารย์ท่านจะเดินจงกรมก่อนนอนเป็นประจำไม่ขาด

    การบิณฑบาตตอนอยู่กับท่าน บางทีก็แยกกันไปคนละสาย โดยมากเราไม่ค่อยกิน มือเขาสกปรก (หัวเราะ) แล้วมากำข้าวเหนียว ดำๆ ว้าย! แล้วมาโดนที่อุบลฯ ที่เป็นขี้ฑูตนะ มือมันกุดน้ำเหลืองไหล มันใส่มา พอเราออกมาได้หน่อย ก็จับโยนทิ้งเลยข้าวเหนียว มือมันกุด น้ำเหลืองมันหยดใส่บาตร ข้าวมันติดน้ำเหลือง เราก็โยนทิ้งเลย (หัวเราะ)
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ฟันท่านพระอาจารย์มั่นหลุด

    [​IMG] [​IMG]
    พระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่นที่มอบให้หลวงปู่เจี๊ยะ ที่เสนาสนะป่าวัดร้างป่าแดง


    อยู่ต่อมาอีก ๓-๔ วัน ได้นำน้ำล้างหน้าใส่ขันไปถวายท่านประมาณ ๖ โมงเช้า ท่านใช้ไม้ชำระฟัน พอดีฟันข้างๆ ท่าน (หลวงปู่มั่น) หลุด ท่านเอาให้เรา “เอ้า!...ท่านเจี๊ยะ เอาไป” แล้วท่านก็ยื่นให้ การที่ท่านมอบฟันให้ ท่านคงรู้ได้ด้วยอนาคตังสญานว่า เราจะมีวาสนาสร้างเจดีย์บรรจุทันตธาตุถวายท่านเป็นแน่แท้

    อยู่ที่วัดร้างป่าแดงมาระยะหนึ่ง อากาศหนาวจัดขึ้นเรื่อยๆ แผ่นดินไหว ดินโยกๆ นึกว่าผีหลอก สั่นอยู่นาน ๑๐-๒๐ นาที ตื่นขึ้นมาถามครูทองปาน ท่านบอกแผ่นดินไหว บิณฑบาตที่นี้ไกลมาก บ้านคนไม่ค่อยมี ท่านพระอาจารย์ท่านจะเดินจงกรมก่อนนอนเป็นประจำไม่ขาด
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายเรื่องหลวงตามหาบัว

    [​IMG]


    มีอยู่คราวหนึ่ง ตอนที่อยู่ที่เชียงใหม่ก่อนกลับภาคอีสาน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดว่า

    “มีพระอยู่องค์หนึ่งนะ จะทำประโยชน์ใหญ่ให้หมู่คณะ ลักษณะคล้ายๆ ท่านเจี๊ยะ แต่ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ ตอนนี้อยู่เชียงใหม่ เขาอยากมาหาเรา แต่ยังไม่เข้ามาหาเรา องค์นี้ต่อไปจะสำคัญอยู่นะ (พอดีหลวงตามหาบัวเป็นพระหนุ่ม กำลังเรียนบาลีอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ตอนนั้น) เขายังไม่มาหาเรา แต่อีกไม่นานก็จะเข้ามา”

    เมื่อท่านพูดอย่างนั้น เราก็จับจ้องรอดูอยู่ ไม่ว่าใครจะไปจะมาคอยสังเกตอยู่ตลอด เพราะคำพูดท่านสำคัญนัก พูดอย่างไงต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เราจึงเก็บไว้แล้วคอยสังเกตตลอดมา เพราะผู้ที่จะมาสืบต่อท่านต้องเป็นผู้มีบุญใหญ่ ในที่สุดพระอาจารย์มหาบัว ก็มาหาท่านที่เสนาสนะป่าบ้านโคก จังหวัดสกลนคร เราเห็นลักษณะถามความเป็นมาเป็นไป จึงแน่ใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นมาท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่พูดเรื่องนี้อีกเลย (เรื่องคำทำนายของท่านพระอาจารย์มั่นเกี่ยวกับหลวงตามหาบัวนั้น เป็นเรื่องจริงดังที่พวกเราชาวพุทธได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน)
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ตีวัวกระทบคราด

    [​IMG]


    อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น เรานี้โดนตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ หัวเราชิงรับศอกของท่านโดยตลอด (หัวเราะ) บางทีไม่มีเรื่องราวอะไรเล้ย บางทีไม่เกี่ยวข้องแต่ก็ต้องโดนท่านดุเอาบ่อยๆ บางทีน้ำตาไหลก็ต้องอดทนเอา อย่างบางครั้งพวกพระเข้ามาศึกษากับท่าน พวกพระที่มาท่านก็ไม่กล้าว่าเขา หรืออาจเกรงใจเขา หรืออะไรอย่างอื่นที่เหนือสิ่งนั้น ที่ท่านรู้แต่เราไม่รู้ ท่านก็เอาเรานี่แหละเป็นกระโถนท้องพระโรง เอาเรานี่แหละไปไล่ด่าแหลก ด่าจนแหลกไปเลย

    วันนั้นที่แม่กอย วัดร้างป่าแดงนั้นแหละ โอ้โฮ้!... เราเข้าไปกวาดทางไปส้วม กวาดจนดีหมดแล้ว จนไม่มีที่ให้กวาด ยังเหลือตรงที่บ่อมันลึกๆ ก็เอาไม้กวาดโกยไม่ขึ้น

    ท่านเดินไปดู ดูตรงนั้น ดูตรงนี้ คือหาดูจนหมดทุกที่ คงไม่มีที่ให้ท่านดุ ท่านหาดูเสร็จแล้ว เดินมาหาเรื่องใส่เรานะ อันนี้เรารู้ว่าท่านตีวัวกระทบคราด เพราะตอนนั้นมี พระมาอยู่ใหม่ๆ นั่งคุยกันทั้งคืนๆ ท่านเดินมาเห็นเราเข้า เดินดิ่งปราดเข้ามาหาเลย ถามขึ้นอย่างดังว่า

    “เจี๊ยะโว้ย!...นี่!...นี่ใครเอาเทียนตรงนี้ไปหมด แล้วไอ้ที่ตรงคลองน้ำข้างทางไปส้วม ใครฮึ...ใครกวาด...ฮึ”

    ท่านก็รู้แล้วว่ามีพระใหม่ๆ มากัน ๓-๔ องค์ เอาเทียนไปจุดนั่งคุยกันจนเกือบสว่าง มาถึงคุยกันตลอดเกือบสว่าง ไม่ภาวนาแต่ขยันคุยกัน พระห่า...นั้นก็ดี

    ทีนี้ด่าคนอื่นไม่ได้ ต้องด่าเรา เอาอีกแล้วนึกในใจ พอเรากราบเรียนบอก

    “ในร่องผมกวาดหมดแล้วนะครูบาจารย์”

    “แหม! ทีนี้ก็ด่าเรา ด่าเอา ยังไม่ทันได้ตั้งตัวรับ”

    “ข้ามหัวท่านกงมา (พระอาจารย์กงมา) ข้ามหัวท่านลีมา (พระอาจารย์ลี) มาแล้วก็ต้องทำให้ดี ถ้าทำไม่ดี ก็อย่าอยู่นะ ไป๊!... ไป๊!...” เอาใหญ่เลย เสียงดัง พวกพระเหล่านั้นก็ตกอกตกใจ มองหน้ากันเลิกลั่กแตกหนีกันใหญ่

    “โอ้!...ท่านเจี๊ยะโดนอีกแล้ว” ก็แตกฮือกันหนี

    ที่แท้ท่านตีวัวกระทบคราด ให้พระเหล่านั้นสำนึก ยังไม่มีใครรู้อีก หยาบหนาเหลือเกิน ยังมาโทษหัวเราะเราอีก ไม่เห็นโทษของตัวเองเห็นแต่โทษคนอื่น

    ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านดุเราอย่างนี้บ่อยๆ เราก็เสียใจเหมือนกัน บางทีก็คิดน้อยใจ “เอ๊ะ! ทำไมด่าเราอย่างนี้น้อ..” แต่เมื่อพินิจพิจารณาด้วยเหตุผล ก็ลงท่าน เพราะเรารักท่าน

    ส่วนไอ้พวกพระที่มาใหม่ยังไม่รู้เรื่องอีก พากันขโมยเอาเทียนไปจุดกันทั้งคืน ตี ๓ ถึงตี ๔ ยังไม่พอ ยังมาพากัน “โอโฮ้! ๆ” ...ตำหนิแต่เรา ไม่รู้จักน้อมเข้ามาใส่ตน

    นี่แหละท่านพระอาจารย์มั่น ท่านตีคนอื่นไม่ได้ ท่านก็ต้องตีลูกศิษย์ สอนลูกศิษย์อย่าให้เป็นอย่างนั้น อย่าทำตนอย่างพระพวกนั้น พระพวกนั้นก็ดี อุตส่าห์มาหาท่าน ท่านสอนแล้วยังไม่รู้ว่าท่านสอน ไม่รู้จักคิด ไม่รู้ว่ามาหาธรรมะแบบไหน อย่างนี้แหละ ท่านตีคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องตีลูกศิษย์คือตีเราแทน เราต้องคอยเอาหัวชิงรับศอกท่านเป็นประจำ

    ได้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดร้างป่าแดง บ้านแม่กอย ตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ในระยะ ๒ เดือนแรก ใกล้จวนจะถึงวันมาฆบูชา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ตอนนั้นเป็นเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์) วัดเจดีย์หลวง ได้มีหนังสือไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น ให้ลงมาทำพิธีมาฆะร่วมกับสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น สุจิตฺโต) แต่ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ (มั่น) ได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างแรง แพทย์ไม่รับรองในอาการ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมีหนังสือให้เราลงไปทำหน้าที่แทน ท่านสั่งว่า

    “ท่านเจี๊ยะ...ไปร่วมพิธีแทนหน่อย และกราบทูลสมเด็จฯ ถึงความเป็นไปต่างๆ ด้วย”
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    รักท่านพระอาจารย์มั่น

    [​IMG]


    เราก็รับด้วยเกล้า ไปทำพร้อมทั้งน้ำตา เดินทางไปก็เป็นกังวลใจอยู่ตลอด กลัวผู้ปฏิบัติใกล้ชิดจะไม่รู้จริตนิสัยของท่าน เราทำทุกอย่างเพื่อท่านด้วยชีวิต ไม่มีเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจ ทะนุถนอมระวังรักษาประคับประคอง เอาใจใส่ดูแลท่านทุกอย่าง กิจวัตรทุกอย่างต้องพร้อม และตั้งใจทำทุกขณะกายจิต อุทิศชีวิตเพื่อท่านเสมอมา แม้บิดามารดาเรายังไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน อาบน้ำอาบท่าให้ นวดแขนนวดขา ซักผ้า ต้มน้ำ เช็ดถูบริขารเครื่องใช้ให้สะอาดสดใสดูดีตลอด ไม่ให้ทุกอย่างรอดจากการปฏิบัติเพื่อขัดธรรมภายใน อุทิศด้วยใจขณะทำอย่างซาบซึ้ง พึงระวังไม่ประมาทหรือคลาดเคลื่อน ไม่เคยมีระแคะระคายเหนื่อยหน่ายใจว่า ทุกข์ยากลำบากแค้น นึกๆ ไปมันก็แปลกอยู่เหมือนกัน เมื่อเราไปทำหน้าที่เสร็จ ตามคำสั่งท่าน เราจึงรีบกลับไปปฏิบัติรับใช้ท่านทันที

    เราคงมีบุญมีกรรมกับท่าน ถึงเราจะทะเล่อทะล่า ท่านก็ไม่เอือมระอา อีกทั้งยังมีเมตตาเสมอมา ไม่ให้เป็นที่ละอายใคร นึกกริยาน้ำใจ ที่อยู่กับท่านเมื่อไหร่ มันเตือนใจข้างในลึก ให้ตื้นตัน ตื้นใจ บางทีน้ำตาไหลไม่รู้ตัว ยิ่งเพ่งพิศในกริยากิจที่พร่ำสอน ไม่รู้จักหน่ายเหนื่อย ยิ่งนึกก็ยิ่งพิจารณาว่า ผู้มีบุญใหญ่อย่างเช่นท่านนี้ ไม่มีเลย ที่จะเคยแสวงหา ความสุขอันเจือด้วยโลกามิสเพื่อตน ลำบากที่สุด ทุกข์ยากที่สุด คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นอาจารย์ของเรา

    พระกรรมฐานสมัยทุกวันนี้ อาศัยบุญบารมีของท่าน เป็นเวทีหากินสบาย แต่ธรรมภายในนั้น อย่าสนทนากันเลยเพราะหาไม่เจอ ในชีวิตของเรามีบุญมากที่สุดคือ ได้เจอพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นบุคลาธิษฐานเรื่องศาสนธรรมของพระศาสดา ได้เป็นอย่างดี เทวบุตร ภูต ผี สัมภเวสี ท้าวสักกะ มาสักการะท่านเสมอ เราเคยเจอและเรียนถาม...
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมีเงินหนึ่งบาท

    เมื่อเรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) มาพักปฏิบัติท่านอยู่นั้น มีโยมอุปัฏฐากเก่าแก่ของท่านคือ โยมเขียว เอาปัจจัยมาถวายท่านหนึ่งบาท พอตกตอนกลางคืน เราก็เข้าไปถวายการรับใช้ท่าน

    เข้าไปกำปลายเท้านวดถวาย กราบเรียนท่านว่า

    “ขอโอกาสครูบาจารย์จะสมควรหรือไม่ ถ้าพรุ่งนี้จะนำเอาปัจจัยที่โยมเขียวนำมาถวาย ไปแลกเปลี่ยนเป็นนม ให้ครูบาจารย์ฉันในตอนเช้า จะได้มีกำลัง แล้วแต่ครูบาจารย์จะพิจารณา”

    กราบเรียนแล้วก็นั่งฟังอยู่ ขณะนั้นมีแต่นมข้นหวานตรามะลิ ราคากระป๋องละ ๕ สตางค์เท่านั้น

    ท่านนิ่ง ไม่ตอบว่าประการใด ท่านคงพิจารณา เพราะการอันใดก็ตาม ต้องประกอบด้วยธรรมเท่านั้น ท่านไม่เห็นแก่ปากท้องยิ่งไปกว่าธรรม เรื่องเล็กเรื่องน้อยเรื่องใหญ่ ทุกๆ เรื่องต้องเป็นธรรม ท่านบอกว่า เราเป็นสมณะมาประพฤติธรรม ทุกกริยาอาการที่แสดงออกต้องเป็นธรรม แม้กริยาอาการบางอย่างโลกไม่นิยมชมชื่น แต่ถ้าประมวลลงแล้วว่าเป็นธรรม เราก็ต้องดำเนินการตามนั้น ธรรมแท้นั้นไม่ได้เอามติที่ประชุมเห็นชอบ แต่เอาใจที่บริสุทธิ์เห็นธรรม คนหมู่มากถ้ากิเลสหนาปัญญาหยาบ มีมากเท่าใดก็จะออกกฎอันเป็นไปเพื่อกิเลส เพื่อพวกพ้องตน ฉะนั้น เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ปลอดภัยกว่า การเอาตนเป็นใหญ่ ปลอดภัยกว่าการเอาคนหมู่มากเป็นใหญ่

    เมื่อเป็นดังนั้น จึงกราบเรียนท่านอีกว่า

    “คนแก่ต้องฉันนมบำรุงบ้าง ร่างกายจะได้มีเรี่ยวแรง อาการไข้จะได้ฟื้นขึ้น กระผมขอนิมนต์ให้ลองฉันนมดูบ้าง”

    เมื่อกราบเรียนแล้วท่านแสดงอาการนิ่ง อาการนิ่งของท่านนั่นแหละ เป็นคำตอบได้อย่างดี

    พอรุ่งเช้าขึ้นมา เราจึงให้หนานแดงเอาเงิน ๑ บาท ที่โยมเขาถวาย ไปพิจารณานมข้นมากระป๋องหนึ่ง เพื่อชงถวายท่านในตอนเช้า

    “ถ้าฉันนมแล้ว มันมักจะถ่ายท้อง...” ท่านปฏิเสธเสียงแข็งๆ

    “กระผมคิดว่า ควรจะลองดูหน่อย ถ้าถ่ายท้องกระผมจะเช็ด จะเก็บทำความสะอาดเอง ครูบาจารย์ไม่ต้องเป็นห่วง” กราบเรียนท่านอย่างหนักแน่น

    เมื่อท่านฉันแล้ว ในที่สุดร่างกายจึงกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อปัจจัยซื้อนมหมด หนานแดง ก็ได้จัดมาถวายต่อ จนอาการท่านดีขึ้นจึงหยุดฉัน ท่านฉันเพื่อเป็นสิ่งเยียวยารักษาธาตุขันธ์ ไม่ได้ฉันเพื่อมัวเมาในรส
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เสียงเพลงเสียงธรรม

    อยู่มาวันหนึ่ง เราปลีกออกมาเดินจงกรมอยู่ในป่าที่ป่าเปอะ ในขณะที่เดินจงกรม มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาเดินไปทำไร่ เดินร้องเพลงไป เพลงที่เขาขับร้องนั้น เป็นสำเนียงทางอีสาน ผ่านมาใกล้ๆ ทางจงกรมที่เราเดินอยู่ คาดคะเนว่าน่าจะเป็นคนทางภาคอีสานมาอยู่ทางเหนือ เนื้อเพลงนี้มาสะดุดจิตในขณะที่ภาวนา โอปนยิโก คือน้อมมาใส่ตัวเรา มันร้องเสียงเพราะน่าฟังนะ ร้องเพลงขับอันประกอบด้วยอรรถรสแห่งธรรม ประสานกลมกลืนกับธรรมที่กำลังสัมผัสเพ่งพิศพินิจพิจารณาอยู่ ภาษาธรรมที่เขาร้องเอื้อนด้วยความไม่มีสตินั้น กลับย้อนเข้ามาสู่ดวงใจที่กำลังเพ่งพิศธรรมนั้นอยู่ จิตนั้นก็รวมลงสู่ฐานของจิตโดยฉับพลัน เพลงขับนั้นเขาร้องเป็นทำนองอีสานว่า

    “ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้า โฮมลงมาขันธ์สี่ ทุกข์อยู่ในผ้าอ้อมป้อมผ้าฮ้าย โฮม อ้ายอยู่ผู้เดียว ทุกข์อยู่ในโลกนี้มีแต่สิทน ทุกข์อยู่ในเมืองคน มีแต่ตนเดียวอ้าย... ทุกข์ในขันธ์ห้า โฮมลงมาขันธ์สี่ทุกข์ในโลกนี้ลงข้อยผู้เดียว”

    เขาร้องเป็นทำนองไพเราะมาก

    พอได้ฟังเท่านั้นแหละจิตนี้รวมลงทันที เป็นการรวมที่อัศจรรย์ นี้แหละธรรมะเป็นสมบัติกลางที่ผู้ประพฤติปฏิบัติน้อมมาพินิจพิจารณา ก็จะก่อให้เกิดธรรมขึ้นมายในใจตน ถ้ารู้จักน้อมมาสอนตนเสียงร้องเหล่านี้เป็นเสียงธรรมได้ทั้งนั้น

    สมัยนั้นก็ยังหนุ่มอยู่ แต่ว่ามันก็ไม่รู้ยังไง ฟังบทขับร้องแล้วชอบกลอยู่ เขาร้องอย่างนี้ “ทุกข์ในขันธ์ห้า... โฮมลงมาขันธ์สี่ ทุกข์ในโลกนี้ลงข้อยผู้เดียว” คนอีสานเขามาอยู่ทางเหนือ เขาขับร้องเพราะมาก มีเสียงเอื้อนตามแบบของคนอีสาน

    ทุกข์ในขันธ์ห้า มีเมียก็ต้องเลี้ยงเมีย หากเมื่อมีลูกขึ้นมาหนึ่ง ก็ต้องเลี้ยงหนึ่ง เลี้ยงสอง เลี้ยงสามฯลฯ เมียสองก็ต้องเลี้ยงสี่ เลี้ยงห้า เอาเข้าไปแล้ว เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่สารพัด เลี้ยงกันมาจนกระทั่งถึงเรา นี่มันเป็นอย่างนั้น นี่ทุกข์ที่สุด เราก็มีพ่อมีแม่ พ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวาฮิ นึกแล้วน่าสงสาร แต่ดึงเท่าไหร่ก็ไม่ยอมขึ้น เราหลุดออกมานี่มีชีวิตอันประเสริฐที่สุด ใครสามารถพินิจพิจารณาได้แล้ว รอดลงไปได้แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นบ่วงลึกที่สุด ท่านอาจารย์ฝั้นท่านว่า..เรื่องการครองเรือน เรื่องความหลง ท่านพูดยิ่งเด็ดขาด... แต่เราพูดออกมาอย่างท่านไม่ได้

    เพราะฉะนั้นอันนี้เอง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญา เมื่อเราน้อมนำมา พินิจพิจารณาใจของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องขัดเกลา เหมือนแฟ้บที่ซักเสื้อผ้า หรือเหมือนสบู่ที่ขัดเหงื่อไหลของเรา ขัดขี้เหงื่อคราบไคลของเราให้ออกไป เปรียบอย่างนั้นมันเหมาะดี ธรรมะบทใดบทหนึ่ง เมื่อเราน้อมเข้ามาพินิจพิจารณาให้เกิดความสังเวชสลดใจได้แล้ว นั่นมีคุณค่าจะหาราคาอันใดมาเปรียบมิได้เลยนั่นท่านเรียกว่าเป็นปัญญา ส่วนที่ความรู้สึกในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น จนเกิดความสังเวชสลดใจ เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ใจนั้นก็มีความสงบ เมื่อความสงบปรากฏอย่างนั้น ใจนั้นก็เป็นใจที่ปกติ เมื่อใจเป็นปกตินั่นเอง มีความรู้ตัวอยู่อย่างนั้น ใจไม่วอกแวกไปไหน นี่แหละท่านเรียกว่า “ญาณทัสสนะ”
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บทเพลงพระอรหันต์

    [​IMG]


    แม้ในสมัยพุทธกาล บทเพลงของพระอรหันต์ก็มีเช่นเดียวกัน เท่าที่ทราบท่านนิยมสวดเป็น ทำนองสรภัญญะ ในสมัยพุทธกาลมีเล่าไว้ว่า พระโสณะกุฏิกัณณะสวดสรภัญญะ ถวายพระพุทธเจ้า และได้รับคำชมจากพระพุทธองค์ว่า เธอสวดเสียงไพเราะดี

    ปัจจุบันเราก็นิยมสวดสรภัญญะกัน แม้เราเองก็ชอบฟังสวดสรภัญญะ บทพระสหัสสนัย ที่ท่านบรรยายเกี่ยวกับการปฏิบัติยากง่ายของแต่ละดวงจิต สวดสรภัญญะก็คือ ร้องเพลงแบบหนึ่งนั้นเอง เรื่องนี้มีมูลเหตุอยู่ว่า ปัณจสิขะเทพบุตรขณะรอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์อยู่หน้าถ้ำแห่งหนึ่ง หยิบพิณขึ้นมาดีดขับเพลงรักของตนที่มีต่อคนรัก เปรียบความรักของเขากับความรักโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ ก็ได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน

    ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุบางรูปยืนฟังนางทาสีขณะตักน้ำร้องเพลงด้วยความเพลิดเพลินใจ พิจารณาความตามเนื้อเพลงได้บรรลุพระอรหัตก็มี การสวดการร้องบ่อยๆ เสียงที่สวดอันเป็นบทกรรมที่ไพเราะ จะดึงให้จิตจดจ่อเฉพาะเสียง ลืมโลกภายนอกหมดสิ้น จิตเกิดดิ่งเป็นสมาธิ พลังสมาธิเช่นนี้ใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

    สำหรับผู้รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ก็ไม่ต้องสวดหรือร้อง เพียงแต่ฟังเฉยๆ หรือพิจารณาสิ่งที่ได้ยินเข้าตามเนื้อเพลง น้อมเข้ามาใส่ตนให้เป็นธรรม ถ้าบทเพลงนั้นมีคติเตือนใจ บทเพลงวิมุตติหรือเรียกอีกอย่างว่าบทเพลงพระอรหันต์ เพราะพระภิกษุ ภิกษุณี ท่านได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เปล่งวาจาเป็นภาษากวี บรรยายความสุขใจที่ได้รับหลังการบรรลุธรรม

    มีบทเพลงที่ท่านพระสิริมัณฑเถระ ได้เปล่งเป็นบทกวีไว้ เดิมพระเถระรูปนี้เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งเมืองสุงสุมารคิรี ท่านบวชมาแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด ขณะฟังพระปาฏิโมกข์แล้วพิจารณาว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้ว ถ้าไม่เปิดเผย (ปกปิดความชั่วไว้) ย่อมเศร้าหมอง แต่ว่าไม่ปกปิด (บอกความจริงแล้วปลงอาบัติเสีย) ก็จะบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในที่สุด พระศาสนาของพระพุทธองค์ช่างบริสุทธิ์จริง ๆ ท่านคิดพิจารณาดังนี้ ด้วยความที่จิตฝึกมาดี ก็ได้บรรลุอรหัตผล หลังการบรรลุธรรมจึงได้เปล่งคาถาเป็นบทเพลงกวีว่าไว้ว่า

    “สัตว์โลกถูกมฤตยูดักฆ่า ถูกชราไล่ต้อน

    ยิงด้วยลูกศรคือความทะเยอทะยาน

    เผาให้เป็นเถ้าถ่านด้วยความปรารถนา มฤตยู พยาธิ ชรา ทั้งสาม

    คือกองไฟลามลุกไหม้ แรงจะต้านใดก็ไม่มี จะบึ่งหนีก็ไม่พ้น

    ไม่ควรปล่อยวันเวลาล่วงไปเปล่า ไม่ว่ามากหรือน้อย

    กี่วันผันผ่าน ชีวิตกาลยิ่งใกล้ความตาย เดินหรือยืน นั่งหรือนอน

    วาระสุดท้ายอาจมาถึง จึงไม่ควรประมาท”

    และบทเพลงกวีของพระเชนตะ ท่านเป็นคนช่างคิด คิดว่าครองเพศฆราวาสก็ยาก หาเงินทองมาเลี้ยงครอบครัวก็ลำบาก บวชก็ลำบาก จะเลือกทางดำเนินชีวิตแบบไหนดี ในที่สุดก็ตัดสินใจไปบวช ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็กล่าวโศลกเตือนใจเพื่อนมนุษย์ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวงเป็นบทเพลงว่า

    “ครองเพศบรรพชิตนั้นแสนลำบาก

    ฆราวาสวิสัยก็ยากเย็นเช่นเดียวกัน

    พระธรรมอันคัมภีรภาพนั้นยากเข้าใจ

    โภคทรัพย์กว่าจะหามาได้ก็เหน็ดเหนื่อย

    มีชีวิตเรื่อยๆ อย่างสันโดษก็ยากเย็น

    ฉะนี้น่าจะเห็น น่าจะคิด อนิจจังฯ”
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ถามนิมิตกับท่านพระอาจารย์มั่น

    [​IMG]


    บางคราวเราสงสัยเรื่องนิมิตที่เกิดกับจิต จึงนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า

    “ครูบาจารย์ ถ้านิมิตเกิดขึ้นในขณะภาวนา จะให้ทำอย่างไร”

    “ให้รำพึงถามไปว่าอะไร? หมายถึงอย่างไร? แล้วนิมิตก็จะอธิบายออกมาเอง”

    จึงกราบเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า

    “ครูบาจารย์ ก็สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้น มันไม่ใช่ของจริงนี่ครับ”

    “ก็มันเป็นเพียงของใช้ ของใช้ก็สำหรับใช้ ไม่ใช่จริง” ท่านพระอาจารย์มั่นตอบ แล้วยิ้มเปิดโลกด้วยความเมตตา

    บางทีเริ่มภาวนาก็เกิดความสงบ บางคืนมีนิมิต นี้ไม่ใช่อวด เพราะเป็นถึงความจริง ก็กล่าวถึงความจริงที่มันเกิด

    บางทีเราทำภาวนา หลับตาลงเห็นเป็นเหวลึกๆ อย่างหน้าหวาดเสียว วู้บบ!! ลงไปในเหวนั้นลึก ลึก จนสุดๆ โห!...นี่ ถ้าตกลงไปตายนะนี่ เอ้า!...ตายก็ตายซี่ เพ่งพิศดูรู้อยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวก็หายไป

    บางทีตัวนี้ใหญ่ ใหญ่เท่าตุ่มโตๆ ขนาดนี้ (แสดงมือประกอบ) ตัวเรานี้เป็นตุ่ม ตัวเท่าตุ่ม นี้เรียกว่าอุคคหนิมิตที่มันเกิดขึ้น เอ๊ะ!...ทำไมจิตจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นต่างๆ แต่ทีนี้อบรมจิตเข้า อบรมจิตเข้า จิตก็สงบเข้าไป

    เมื่อภาวนา จิตมักเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ก็นำข้อสงสัยนี้ไปกราบเรียนถามท่านว่า

    “ครูบาจารย์...กระผมภาวนา จิตเกิดนิมิตปรากฏเป็นอย่างนี้ จะให้พิจารณาอย่างไร?”

    ท่านก็บอกว่า “ให้พิจารณากายนะ”

    เมื่อท่านให้เงื่อนอย่างนั้น เราก็มาคิดพิจารณา ด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิเอง พอใจเราสงบดี ก็คิดถึงเล็บหัวแม่มือ เล็บนิ้วชี้ เล็บนิ้วกลาง เล็บนิ้วนาง เล็บนิ้วก้อย ข้อนิ้วหัวแม่มือมีกี่ข้อก็นึกกำหนดตัด นิ้วนาง นิ้วก้อยกำหนดตัดให้หมด ตัดเสร็จแล้วก็มาตัดรวบห้านิ้ว ตัดห้านิ้วแล้วก็มาตัดข้อตานกเอี้ยง ขึ้นมาตรงกลางศอก แล้วก็มาถึงข้อศอก แล้วก็มาตัดหัวไหล่ ตัดหัวไหล่เสร็จก็มาตัดแขนซ้าย เดินจิตอย่างนี้จนหมดทั้งสรรพางค์ร่างกาย เมื่อกำหนดตัดทั้งหมดแล้วก็มาเจาะตา นึกให้ตาขวาหลุด ตาซ้ายหลุด จมูกขวาหลุด จมูกซ้ายหลุด ริมฝีปากบนหลุด ริมฝีปากล่างหลุด ใบหูหลุด แก้มหลุด ทีนี้เอาล่ะ เอ้า!...เอาให้หมดทั้งหัว หัวเสร็จ ก็กำหนดตัดคอ ผ่าเอาออกไปวางเหมือนผ่ากบเขียดวางอยู่บนเขียง พิจารณายกขึ้นด้วยอำนาจไตรลักษณ์แล้ว วิจารด้วยภาวนามยปัญญามี่ฝึกมาดี พอพิจารณายกขึ้นถึงที่สุด จิตได้อบรมด้วยปัญญาอันยิ่งก็สงลงไปเป็นอัปปนาสมาธิอย่างน่าอัศจรรย์แต่ลักษณะอย่างนี้มันทำยากมาก อันนี้ทีหลังไปดูในแบบแผนตำรับตำราซึ่งไม่เคยเรียนเคยดูมาก่อน มันก็มีอยู่ในตำรา เราก็ภูมิใจ

    อยู่กับท่าน นับถือท่านเหมือนพ่อเหมือนแม่ จะทำจะคิดอะไร อันเป็นการส่งจิตไปโดยไม่มีขอบเขตแห่งธรรมเป็นเครื่องประคับประคองต้องระวังเดี๋ยวจะบาป ต้องกตัญญูกตเวทีต่อท่าน ท่านก็คงเห็นเราเป็นเหมือนลูก เพราะอยู่ลำบากด้วยกันกับท่าน และแล้วเมื่อถามปัญหาท่านเสร็จ ท่านก็เทศนาธรรมให้ฟังต่อไปเลยว่า

    “ฟังให้ดีนะท่านเจี๊ยะ... ปฏิภาคนิมิตนั้น อาศัยผู้ที่มีวาสนา จึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคคหนิมิตนั้นเป็นของไม่ถาวร ต้องพิจารณาให้ชำนาญแล้วเป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อชำนาญทางปฏิภาค ทวนกระแสเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา

    สำหรับอุปจารสมาธิ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ สามารถแก้นิวรณ์ได้ แต่โมหะคลุมจิต ถ้าเจริญวิปัสสนาถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จะต้องทำความรู้ให้เต็มเสียก่อนจิตจึงจะไม่หวั่นไหว

    การที่จะสอนการดำเนินสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะเพียงอย่างใด อย่างหนึ่งนั้นมิได้ เพราะว่าจริตของคนมันต่างกัน แล้วแต่ความฉลาดไหวพริบของใคร เพราะการดำเนินจิตมีหลายแง่หลายมุมแล้วแต่ความสะดวก

    นิมิตทั้งหลาย เกิดด้วยปีติสมาธิอย่างเดียว ที่แสดงตามนิมิตออกมาทั้งหลายนั้น กรุณาท่านอย่าหลงตามนิมิต ให้พยายามทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม เพราะนิมิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง หลงเชื่อนิมิตประเดี๋ยวก็เป็นบ้า การที่จะแก้บ้านิมิตนั้น ต้องทวนกระแสจิตเข้าสู่จิตเดิม ถ้าทำอย่างนั้นได้ อย่างบางทีเรานั่งภาวนาอยู่ตามป่าเขา มีเสือมานั่งเฝ้าเราผู้บำเพ็ญพรตอยู่กลางป่าเพียงลำพัง เสือนั้นเป็นเทพนิมิตเสียโดยมาก ถ้าเป็นเสือจริงมันเอาเราไปกินแล้ว”

    ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาพูดธรรมะให้ฟังเพียงสั้นๆ เท่านี้ก็ก่อเกิดความกินใจเป็นอย่างยิ่ง นึกถึงธรรมะคำสอนและองค์ท่านเมื่อไหร่ น้ำตามันจะปริ่มไหลเพราะความถึงใจทุกที น้ำตานี้จึงเป็นน้ำตาที่มีคุณค่ามากนะ
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ถามเรื่องเทวดากับท่านพระอาจารย์มั่น

    [​IMG]


    อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนี้ ได้รู้เรื่องราวความวิเศษของพุทธศาสนาเรื่องเทพ เทวดา ภูต ผี ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านเห็นประหนึ่งว่าเป็นหลักธรรมชาติทั่วๆ ไป แต่สำหรับพวกเราเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น น่าหวาดเสียวตื่นตูม อยากรู้อยากเห็น เป็นเรื่องใหม่ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีประจำโลกมานมนาน ท่านเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเป็นจอมปราชญ์อย่างแท้จริง เมื่อเราทราบว่าท่านรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ อันเหตุสุดวิสัยของมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่จะรู้ได้ ก็อดที่จะกราบเรียนถามท่านไม่ได้ ทั้งที่มีความกลัว มากกว่าความกล้าเป็นเท่าทวีคูณ แต่ก็ต้องจำยอมอดทนบากหน้าถาม เพื่อสนองความอยากรู้และความสงสัยแห่งตน เมื่อได้โอกาสถามก็เข้าไปใกล้ๆ อันเป็นเวลาทำวัตรปฏิบัติ กำตามแข้งตามขา ยังไม่ได้ทันถามเลย เพียงแต่คิดไว้ภายใน ท่านกลับถามเราขึ้นก่อนว่า

    “เจี๊ยะ...มีอะไรจะถามก็ถามมา ท่านนี่ยุ่งไม่เข้าเรื่อง” ท่านเปรยขึ้นเท่านั้นเราก็ปอดแหกแล้ว

    “ครูบาจารย์ เทวดาหน้าตามันเป็นอย่างไง อยากเห็นบ้าง?” เราก็เสือกถามท่านทั้งที่กลัวจะตาย

    “ฮื้อ!...มันไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา เราจะรู้ไปทำไม ท่านนี่ชอบถามซอกแซกกวนใจ ทำความดีให้มันถึงสิ ปัญหามันอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่กับเทวบุตรเทวดาที่ไหน ดูหน้าตาเรา ดูหนังเราให้มันเห็นชัด ด้วยปัญญานั่นสิ พระพุทธเจ้าเห็นพระองค์เองก่อน ตรัสรู้เรื่องตน ละตัวตนก่อน ค่อยมาสอนคนอื่น หรือสอนเทวดาทีหลัง ยังไม่ทันไร ยังไม่ไปไหนมาไหน อยากเห็นนั่นเห็นนี่ มันไม่ถูก ทั้งที่ตาบอดแต่อยากเห็นนั่นเห็นนี่ เดี๋ยวก็เดินชนตอ ลูกกระตาแตกหรอก” ท่านตอบด้วยวาทะแห่งบุคคลผู้ที่ชาญฉลาด

    “ก็ผมอยากรู้นิ...ครูบาจารย์ ก็ผมไม่เคยเห็น ก็อยากเห็น อยากรู้บ้าง”

    เรานิ่งเงียบไปพักหนึ่ง แล้วท่านก็พูดขึ้นต่อไปตามอัธยาศัยว่า

    “ศาสนานี้เรียนให้ดีลึกล้ำที่สุด ผมไปเที่ยวภาวนาอยู่ในป่า มีสหธรรมิกของผมรูปหนึ่งอยู่ในป่าโน่นน่ะ โอ๊ย!...เจี๊ยะเอ้ย...แม้รูเท่านิ้วก้อย นี่ท่านยังมุดเข้าไปได้ หายตัวไปเลย ทะลุฟ้า ทะลุดิน แผ่นดิน แผ่นน้ำ ทะลุได้หมด จะไปไหนเพียงแค่ลัดเดียว ตอนนี้ท่านตายอยู่ในป่าไปแล้ว”

    “โอ้!...ขนาดนั้นหรือครูบาจารย์...ถ้าไปอยู่ในเมืองหลวง เมืองไทย ป่านนี้ดังระเบิดเถิดเทิงไปแล้ว เสียดายไม่น่าตายไปเปล่าๆ อยากเห็นบ้างแบบนี้” กราบเรียนท่านด้วยความตื่นเต้น

    “ก็มีแต่อย่างนี่แหละ.. พวกตาบอด... เจี๊ยะเอ้ย!..ใครไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นเสียชาติเกิดทีเดียว” ถามท่านเรื่องนี้โดนท่านดุทุกที (หัวเราะ)

    จากนั้นท่านก็เล่าเรื่องไปถึงมูเซอ มีเทวดามาฟังเทศน์กันเยอะ มาเป็น พันๆ หมื่นๆ พวกเทวดาเยอมันก็มาฟัง ทีนี้พวกมูเซอมันเห็นแสงสว่างบนภูเขาทั้งลูก อยู่ดีๆ สว่างเข้ามาเรื่อย แสงสว่างเต็มไปหมด มันก็ว่าตอนกลางคืนท่านนั่งภาวนาอยู่ แสงสวางจ้าหมดบนเขา

    ตอนเช้าท่านไปบิณฑบาต พวกมูเซอมันก็ถาม

    “ตุ๊เจ้า... ตุ๊เจ้าจุดตะเกียงเจ้าพายุรึ เมื่อคืนนี้สว่างหมดทั้งเขา ตุ๊เจ้า... ใช้ตะเกียงเจ้าพายุรุ่นไหน สว่างคักแท้”

    “ไอ้ห่า... กูมีตะเกียงเจ้าพายุซะที่ไหน”

    “ทำไมที่บนเขามันสว่างขาวเกลี้ยงหมดทั้งลูกล่ะ... ตุ๊หลวง”

    “ไม่รู้โว๊ย...”

    ท่านปิดไม่บอก แล้วทีหลังท่านมาพูดให้เราฟังว่า

    “เทวดามาเป็นแสนๆ นะ มาฟังเทศน์ที่ดอยมูเซอ เทวดาจากเยอมันก็มี ทำบุญดีตายไปได้ขึ้นสวรรค์ ครูบาอาจารย์องค์ไหนมีญาณดีๆ เมื่อเราตายไปแล้ว กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็จะได้เป็นลูกศิษย์ท่าน เป็นมนุษย์มันมีแต่ห่วงบ้าน เดี๋ยวตายไปเป็นเปรต ฟังซิ ต้องถือเป็นคติพระ อย่าไปห่วงมันเยอะข้าวของเงินทอง ตายแล้วเอาไปไม่ได้หรอก ไปหัดภาวนาให้เป็น ไม่ต้องเอาอะไรมาก เพียงแต่ให้ใจ “พุทโธ” อันเดียวก็พอแล้ว ใจอยู่กับพุทโธ โธ ๆ ๆ ๆ เราก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ไปสู่สุคติใจสบาย

    ท่านพระอาจารย์ท่านเทศน์สอนเสมอๆ ว่า

    “อันนี้ได้เป็นสมบัติ ของเราแท้ๆ เพราะเมื่อใจสงบ ใจไม่กังวล ใจเป็นสมาธิ ตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ เพราะใจโปร่ง ใจใส ใจสวรรค์ ใจคิด ใจวุ่น ใจวาย ใจตกนรก ทำให้มันผ่องใส ทำให้มันสะอาด ใจมันหมดจดแล้วได้ไปสู่สุคติ ท่านเทศน์อย่างนี้บ่อยๆ ท่านเล่าว่า ถ้าทำสมาธิได้ดีเปรียบเหมือนนั่งเจดีย์ เทวดามีเรือนอยู่บนนี้ มีมาเกาะอยู่บนต้นไม้ ต้นไม้แดง ๒ ต้นนั่น ใครไปถูกไม่ได้นะ อันตรายทันที แต่เวลาท่านอยู่ไม่เป็นไร เวลากลางคืนเขาเข้ามากราบ แต่บางพวกท่านบอกว่าเขาทำบุญเหมือนกัน แต่เป็นเทวดาที่อยู่ตามพื้นดิน บางทีก็มีปราสาท บางทีไม่มีปราสาท อยู่บนต้นไม้ อาศัยต้นไม้”

    ท่านเล่าให้ฟัง ตอนที่อยู่แม่กอยเชียงใหม่ เราก็เสือกถามท่านเรื่องเทวดาทีไร ท่านก็ดุทุกที

    เราอุปัฏฐากทำวัตรปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่นที่ป่าเปอะ ตำบลท่าวังช้างนี้ ๖ เดือน ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม) เจ้าคณะมณฑลอุดรฯ ได้มีหนังสือมานิมนต์ให้ท่านกลับไปอุดรฯ ประกอบกับองค์ท่านเองก็มีความประสงค์จะกลับทางภาคอีสาน อยู่แล้วเพราะอยู่ทางเหนือมานานเป็นเวลา ๑๒ ปี ท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า

    “เจี้ยะเว้ย!...กลับบ้านเราเถอะ มาอยู่ทางเชียงใหม่ไม่ค่อยได้หมู่คณะ ลงไปทางอีสานบ้านเราจะได้หมู่คณะแยะกว่า กลับทางเราดีกว่า”

    เมื่อท่านพูดอย่างนั้น เราก็ยินดีเป็นที่ยิ่ง ที่จะได้กลับทางภาคอีสานซึ่งไม่เคยไปมาก่อน ถึงไปก็แค่ครึ่งเดียว ที่วัดบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา วัดท่านอาจารย์กงมาไปสร้างไปเพียงเดี๋ยวเดียว ๒-๓ คืน ไปกินข้าวเหนียวขี้ไม่ออก ขี้แข็ง โอ๊ย! เกือบแย่ เพราะไม่เคยกิน มาอีสานครั้งเดียว ตอนอยู่ที่วัดทรายงามกับท่านอาจารย์กงมา ถึงมาก็ไม่รู้ว่าไปทางไหนมาทางไหน
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    รุกขเทวดาวิงวอนให้อยู่ต่อ

    เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เราติดตามท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางเข้าเชียงใหม่ อันเป็นกำหนดเวลามารับของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เข้ามาพักที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ก่อน ท่านเล่าว่า

    “ในขณะที่พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนี้ พวกรุกขเทวดาจำนวนมากพากันมาอาราธนาวิงวอน ขอให้ท่านพักอยู่ที่นั่นต่อไป ยังไม่อยากให้หนีไปไหน เพราะเวลาอยู่ที่นั้นพวกเทวดาทุกชั้นทุกภูมิได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน เพราะอำนาจเมตตาธรรมแผ่ครอบคลุมทั่วทุกทิศทุกทางทั้งกลางวันกลางคืน เทวดาทั้งหลายมีความสุขมากและเคารพรักมาก ไม่อยากให้จากไป เมื่อจากไปแล้วความสุขที่จะพึงได้รับก็จะลดลง แม้การปกครองกันเองในหมู่เทพก็จะไม่สะดวกเหมือนที่ท่านยังอยู่”

    [​IMG]
    หมู่บ้านชาวมูเซอกลางหุบเขา (ภาพปัจจุบัน)

    ท่านได้บอกกับเทวดาทั้งหลายว่า

    “เป็นความจำเป็นที่จะต้องจากไป เพราะได้รับคำนิมนต์ไว้แล้ว จำต้องไปตามความสัตย์ความจริง จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คำพูดของพระไม่เหมือนกับคำพูดของโลกทั่วๆ ไป พระเป็นผู้มีศีล ต้องมีสัตย์ ถ้าขาดคำสัตย์ ศีลก็กลายเป็นสูญไปทันที ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในองค์พระ ฉะนั้นพระต้องรักษาสัตย์ศีล”

    ท่านมาพักอยู่วัดเจดีย์หลวงราว ๖-๗ คืน มีคณะศรัทธาชาวเชียงใหม่ที่มีความเลื่อมใสในองค์ท่าน ได้พร้อมใจกันมาอาราธนานิมนต์ให้ท่านพักอยู่ที่นั้นนานๆ เพื่อโปรดเมตตาชาวเชียงใหม่ต่อไป แต่องค์ท่านรับนิมนต์ไม่ได้ ทำนองเดียวกับเทวดามาอาราธนา เพราะได้รับนิมนต์ก่อนหน้านี้เสียแล้ว

    ก่อนที่ท่านจะจากเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์) และคณะศรัทธาเชียงใหม่ อาราธนาท่านขึ้นแสดงธรรมในวันวิสาขะบูชา เป็นกัณฑ์ต้น เพื่อไว้อาลัยสำหรับศรัทธาทั้งหลาย ท่านแสดงธรรม ๓ ชั่วโมงพอดีถึงจบกัณฑ์ เราก็นั่งฟังธรรมด้วยความตั้งใจในธรรมรส ตอนนั้นท่านอาจารย์มหาบัวท่านก็อยู่ที่นั่นท่านยังศึกษาพระปริยัติอยู่

    พอรถไฟถึงกรุงเทพฯ เข้าพักวัดบรมนิวาสตามคำสั่งทางโทรเลขของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ที่บอกไปว่า นิมนต์ให้ท่านไปพักวัดบรมฯ เราก็จัดแจงที่พัก จัดน้ำใช้ น้ำฉัน น้ำสรงให้สมควรและถูกตามอัธยาศัยของท่าน

    ในระยะที่พักที่นั้นปรากฏว่ามีคนมาถามปัญหากับท่านมาก
     

แชร์หน้านี้

Loading...