หลวงปู่เจี๊ยะ...พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 ตุลาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    กรุงเทพฯ สู่นครราชสีมา

    เราเป็นพระติดตามอุปัฏฐาก ท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านนำเดินทางมาพักอยู่กรุงเทพฯ มีผู้มาอาราธนานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านเสมอแต่ท่านขอผ่านเพราะไม่สะดวกต่อการปฏิบัติต่อสรีระกิจประจำวันหลังจากฉันเสร็จ แล้ว

    [​IMG]
    เจ้าคุณธรรมเจดีย์
    (จูม พนธุโล)
    วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี


    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
    (อ้วน ติสโส)
    วัดบรมนิวาส กรุงเทพ ฯ


    พักอยู่กรุงเทพฯ พอสมควรแก่กาลแล้วท่านเริ่มพาออกเดินทางมาพักโคราช ตามคำอาราธนาของคณะศรัทธาชาวนครราชสีมา พักที่วัดป่าสาลวัน ขณะพักอยู่นั้นก็มีท่านผู้สนใจมาถามปัญหาหลายราย มีผู้คนเลื่อมใสท่านมาก ท่านเป็นผู้มีธรรมะเป็นวิหารธรรม ช่างสังเกตพินิจพิจารณา อย่างบางทีปลอดผู้คนตอนพลบค่ำ ท่านเข้าไปทำวัตรปฏิบัติ เมื่อเห็นอะไรก็จะแสดงออกมาสอนเราในแง่แห่งธรรมเสมอ เราก็เซ่อซ่า ๆ ซุ่มซ่ามอยู่แล้ว จึงถูกท่านดัดอยู่เป็นประจำ

    ทุกวันท่านต้องมีเรื่องดุเรา เพราะท่านเป็นนักปราชญ์ ส่วนเราเป็นผู้ไปศึกษากับท่านผู้เป็นปราชญ์ใหญ่ จึงถูกท่านโขกสับขับไล่อยู่เรื่อยๆ สำหรับปัญหาธรรมนั้นไม่ว่าท่านไปพักที่ไหน คนมาเรียนถามมิได้ขาด แต่มิได้จดจำได้ทุกบททุกบาท

    ท่านพักนครราชสีมาพอสมควรแล้วก็พาเราออกเดินทางต่อไปจังหวัดอุดรธานี มาถึงขอนแก่น มีพี่น้องชาวขอนแก่นไปรับท่านที่สถานีคับคั่ง และพร้อมกันอาราธนาท่านให้ลงแวะพักเมตตาที่ขอนแก่นก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไปอุดรฯ แต่ท่านไม่อาจแวะตามคำนิมนต์ได้ จึงพากันพลาดหวังไปบ้างในโอกาสที่ควรจะได้นั้น

    [​IMG]
    วัดป่าสาลวัน ในสมัยนั้น เป็นศูนย์รวมพระกรรมฐาน
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ

    พรรษาที่ ๔-๕ (พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔)

    จำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ (วัดป่าโนนนิเวศน์)

    อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี



    หลวงปู่เจี้ยะเล่าประวัติต่อไปอีกว่า...

    เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นและเราเดินทางจากโคราชมาขอนแก่น ถึงอุดรเข้าพักที่วัดโพธิสมภรณ์ ตามคำนิมนต์ของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อยู่ที่วัดโพธิฯพอสมควรแก่กาลแล้ว ท่านก็ปรารภจะพักอยู่ตามป่าช้า ซึ่งเป็นอุปนิสัยของท่าน

    ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เห็นว่าป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ ชื่อว่า โนนนิเวศน์ เป็นป่าสงบสงัด ผู้คนไม่กล้าเข้ารบกวน จึงนิมนต์ท่านให้เข้าไปพักภาวนาที่นั่น ท่านจึงออกจากวัดโพธิสมภรณ์ ได้เข้าพักที่ป่าช้าโนนนิเวศน์และจำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าโนนนิเวศน์

    สมัยนั้นเป็นป่าช้าไม่ได้อยู่กลางเมืองอย่างนี้ เป็นที่ทิ้งศพโจรผู้ร้ายที่ถูกทางการฆ่าตาย เรา (พระเจี๊ยะ) อยู่จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นที่เสนาสนะป่าโนนนิเวศน์เป็นพรรษาที่ ๒ รวมอยู่กับท่านมา ๒ ปี ๓ แล้ง ขณะนั้นเราบวชได้ ๕ พรรษา ทุก ๆ วันมีประชาชนผู้เลื่อมใสเข้ามากราบไหว้ไม่ขาดสาย ตอนเย็นท่านเมตตาแสดงธรรมภาคปฏิบัติให้แก่พระเณรฟัง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เองท่านเดินทางมาฟังธรรมโดยสม่ำเสมอ
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ถามปัญหาท่านพระอาจารย์มั่น

    ที่พักของเรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) กับท่านพระอาจารย์มั่นไม่ห่างกันมากนัก ท่านอายุ ๗๐ แล้ว ต้องคอยดูแลท่าน ท่านจะเรียกใช้อะไรจะได้ยินได้ง่าย ในตอนเย็นๆ หลังจากทำข้อวัตรปฏิบัติเสร็จ มีปัญหาธรรมอันใดขัดข้อง จะนำไปถามท่านเสมอ เราเคยเข้าไปที่พักท่านที่โนนนิเวศน์ ไปถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอันหนึ่ง ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง

    สมัยอยู่กับท่าน ถามว่า “ครูบาจารย์...ครับ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านพ้นจากอาสวะกิเลสไปแล้วอย่างนั้น เข้าสมาธิทีเดียวจะได้หรือไม่”

    ท่านตอบว่า “เออ... ดูแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้น เวลาก่อนที่จะเข้านิพพานอย่างนี้ ก็ต้องเข้าตั้งแต่ปฐมฌาน ตั้งแต่รูปฌาน จนถึงอรูปฌาน เข้าไปโดยลำดับ”
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณาธรรม

    “ทำไมท่านว่าอย่างนั้นหนอ” เราก็นำมาพิจารณา เนี่ยก็น่าคิด น่าตรึกตรอง เพราะขั้นต้นของหัวใจของคนเรานั้น มันต้องมีอารมณ์เป็นสิ่งเกื้อกูลอุดหนุน ให้กระสับกระส่ายไปในบางสิ่งบางอย่าง กระทบทางหู ทางตา ทางใจ เข้ามารบกวนอยู่ เพราะฉะนั้น ขั้นต้นก็จำเป็นที่สุด จำเป็นจะต้องชำระให้ใจนั้นเข้าไปอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ให้ถึงจุดอันนั้นแล้ว ใจมันก็เกิดความสงบ นิวรณ์ทั้งหลายก็ดับไปจากใจเรา ใจนั้นก็เป็นปกติ เป็นหนึ่งอยู่จำเพาะอย่างนั้นเบื้องต้น

    อันนี้เองเป็นต้นเหตุให้เข้าใจของการบำเพ็ญสมาธิ ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องเน้นแนวทางให้ถูกทาง จึงเรียกว่าสมกับเป็นนักกรรมฐาน

    ถ้าเราไม่เน้นทางให้ถูก สักแต่ว่ากระทำไปโดยไม่ตรึกตรอง ไม่พินิจพิจารณา ใคร่ครวญ สิ้นไปวันหนึ่งคืนหนึ่ง หลาย ๆ วัน หลาย ๆ เดือน หลาย ๆ ปีอย่างนี้ สิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ การบำเพ็ญนั้นไม่ค่อยได้เกิดประโยชน์กับเรา กับชีวิตของเรา ที่ทุ่มเทเสียสละมา จากกิจการบ้านเรือน สละโลก และสงสารมาอย่างนี้ แล้วควรจะทุ่มเทชีวิตด้านจิตใจ ให้เป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตของเรา สมกับความมุ่งมาดปรารถนา เราเข้ามาเพื่อต้องการขจัดทุกข์ของหัวใจให้ออกไปจากใจของเรา

    [​IMG]
    กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าโนนนิเวศน์
    (ปรับปรุงใหม่)


    เพราะฉะนั้น การเมื่อความดำริอย่างนั้นแล้ว สิ่งอันใดที่เรากระทำไม่เกิดความสงบ เราก็จำเป็นที่จะศึกษาไต่ถาม หรือเพียรพยายามด้วยตัวเองอย่างใดอย่างหนึ่ง มันขัดข้องประการใด อย่างนี้มีครูบาอาจารย์ก็ศึกษาจากท่านเหล่านี้ เป็นต้น

    เพราะฉะนั้น การทำใจเข้าสู่ความสงบนี้ก็ประการหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ความสงบอย่างนั้น จิตใจที่ปราศจากนิวรณธรรมทั้งหมดแล้วอย่างนั้น ใจนั้นจะเยือกเย็น ใจนั้นจะสุขุม ไม่มีความนึกคิดปรุงแต่งไปในอดีต ถึงอนาคต

    แม้ปัจจุบันที่บริกรรมอยู่ก็วางโดยปกติอย่างนั้น ใจปราศจากสิ่งทั้งปวง เต็มไปด้วยความสว่างไสวของใจอย่างนั้น เรียกว่า จัดว่าเป็นสมาธิ เมื่อเราฝึกอย่างนี้จนชำนิชำนาญแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้การค้นคว้า พินิจพิจารณา นี่เป็นมาตรฐานสำคัญของผู้ปฏิบัติ จำเป็นที่ต้องค้นคว้า

    อย่างเราก็เคยอธิบายบอกให้ค้นคว้าร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงว่า ถ้าไม่ค้นคว้าพิจารณาร่างกาย ก็เรียกว่าพิจารณาเวทนา เมื่อพิจารณาเวทนา ไม่พิจารณาเวทนา ก็พิจารณาจิต เมื่อไม่พิจารณาจิต ก็พิจารณาธรรม ท่านว่าอย่างนั้น แต่ถ้าการค้นกาย เป็นการที่ถอนรากเหง้า ของสักกายทิฎฐิอันสำคัญอันหนึ่ง

    เวลาน้อมนึกตั้งแต่เบื้องบน คือตั้งแต่หัวลงถึงปลายตีนอย่างนี้ ถ้านึกให้ละเอียดลออลงไปแล้วอย่างนั้นก็ต้องกินเวลาตั้งเป็นเกือบชั่วโมง ก็ต้องเอาอย่างนั้น เมื่อลงไปตั้งถึงที่สุดถึงนิ้วก้อย เบื้องซ้าย เบื้องขวาที่สุดลงไปแล้ว ก็ต้องทวนกลับขึ้นมา อย่างนั้นตลอด นิ้วก้อยเบื้องซ้าย จนมาถึงนิ้วหัวตลอดถึงเท้าเบื้องเอว แล้วก็ลงไปเท้าขวา ขึ้นมาอย่างนั้นอีก ตลอดเวลาก็ขึ้นมาตามส่วนอวัยวะของหน้าอก ขั้นเอวนี่ถึงสันหลัง ถึงซี่โครง หน้าอก ถึงกะโหลกศีรษะขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลม ปฏิโลม ถอยเข้าถอยออกของใจ สภาวะบางชนิดของจิตของผู้ที่เป็นใหม่อย่างนั้น

    เมื่อน้อมพินิจพิจารณาอย่างนั้น บางทีจะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสังเวชสลดใจอย่างนั้น ให้น้ำหูน้ำตาไหล เกิดความสังเวชสลดใจ ว่าเรานี้ก็จะต้องแตกตาย โดยไม่มีข้อสงสัยประการใดทั้งปวง ใจในสภาวะอย่างนั้น มันเกิดความสงบแล้ว เมื่อนึกไปแล้วมันก็เป็นเช่นนั้น เป็นธรรมดาของการประพฤติปฏิบัติ แต่ท่านเรียกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ปีติ แต่ลักษณะของปีติอย่างนี้ ก็เป็นปีติไปเพื่อที่จะคลายซึ่งความเพลิดเพลินของใจนั่นเอง เมื่อใจนั้นสงบเข้าอย่างนั้นแล้ว ก็จำเป็นต้องเกิดปีติ เกิดในสิ่งที่ไม่เคยเป็น มันก็ต้องเป็นขึ้นกับชีวิตอย่างนั้น

    เมื่อพิจารณามากเข้ามากเข้า บางทีระลึกถึงส่วนใดอย่างนี้ ให้หลุดออกไป มันก็หลุด ฝึกให้ลูกตาหลุด ลูกตาก็เห็นหลุดออกไป แล้วก็เพ่งอยู่อย่างนั้น ก็กำหนดเข้ามาใส่ มันก็ใส่ได้อย่างเก่า กำหนดตาช้ายออกไป ตาซ้ายก็ออก กำหนดเอาเข้ามาก็เข้า นี่ต้องพิจารณาให้ละเอียด แม้แต่ฟันมีกี่ซี่ ฟันล่าง ฟันบน มีกี่ซี่ นึกให้ละเอียดลออลงไป อย่าได้ละเว้น

    ยิ่งเกิดปฏิภาคเท่าไร มากเท่าไรแล้ว ก็ยิ่งต้องกำหนดให้ละเอียดลงไป แต่เมื่อเป็นปฏิภาคอย่างนั้น เมื่อเราค้นคว้ามากเข้ามากเข้า ปฏิภาคนั้นย่อมจะจางลง ความที่ปฏิภาคจางเช่นนั้น เราอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม ลักษณะของปฏิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนั้น เมื่อพิจารณาให้มากให้ละเอียดลออลงไปแล้ว ใจจะอยู่กับลำดับที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อย่างนี้อย่าเข้าใจว่าปฏิภาคเสื่อม ปฏิภาคนั้น เสื่อมไปจริง หายไปจริง เพราะมันเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาอย่างนั้น ละเอียดลออมากเข้ามากเข้า ปฏิภาคนั้นก็จางไปไม่ปรากฏ ผู้ที่เป็นอย่างนั้นอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม

    ถ้าเราสังเกต ดูให้เที่ยงแท้ของใจที่พิจารณาอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นหนึ่ง ไม่วิ่งไปในที่ใดทั้งหมดเลย อยู่เฉพาะกาย อันนี้อันเดียวตลอดเวลาที่เรานึกอย่างนั้น อย่างนี้ เพิ่งเข้าใจว่าเป็นแนวสมาธิอันที่จะหนีจากทุกข์ แนวทางเรียกว่ามัคโค ที่จะออกจากทุกข์ของใจ ใจในขณะนั้นไม่มีอารมณ์เข้ามากวัดแกว่ง มาแก่งแย่งกับใจที่พิจารณาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เมื่อพิจารณามากเข้าเมื่อเห็นเหนื่อยพอสมควร เป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง อย่างนี้เราก็ถอยจิตเข้ามาพัก พอสมควรก็ถอยจิตกลับมาพิจารณาอีกอย่างนั้น

    เมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังดีแล้ว ก็ค้นลงไปให้ตลอดเวลา บางทีนั่งอย่างนั้นให้ตลอดทั้งคืนก็นั่งได้ ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กำลังของใจที่ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมด หรือเรียกว่า อารมณ์ทั้งหมดนั้น มันประกอบไปด้วยความเพลิดเพลินในขณะพินิจพิจารณาอย่างนั้น เรียกว่าปัญญาอันแท้จริง ที่จะเกิดกับใจของผู้ที่ปฏิบัติอันนั้น อย่าเข้าใจว่าสมาธิ หรือเรียกว่า ปฏิภาคนั้นเสื่อม นี่ต้องเข้าใจอย่างนั้น

    ความที่เป็นเช่นนั้น เพราะใจที่ดำเนินไปพิจารณาอย่างนั้น ท่านเรียกว่า เป็นลักษณะของปัญญากับสติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ค้นนึกถึงส่วนต่างๆ อยู่อย่างนั้นใจไม่พะวักพะวนไปกับสิ่งใดทั้งหมด นึกตั้งแต่เบื้องบน ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตลอดร่างกายไปจนถึงปลายเท้าขึ้นมาตลอดเวลาอยู่อย่างนั้น แล้วก็ทวนขึ้นมาอีก มาถึงเบื้องบน ลงจากเบื้องบนไปหาเบื้องล่าง เอาอยู่อย่างนี้นั่ง ๓-๔ ชั่วโมง ไม่มีการเหน็ดการเหนื่อย เมื่อยล้า สบายที่สุดของชีวิตที่เราเข้ามาบำเพ็ญพรหมจรรย์

    เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งใจอย่าไปเพลิดเพลินกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว อย่าคุยมาก อย่าไปอวดมาก แต่อันนี้จะมีทิฐิมานะอันแฝงเจือเข้ามาอยู่ในหัวใจของบุคคลผู้เป็นเช่นนั้น สำคัญว่าตัวฉันดี ตัวฉันประเสริฐ ตัวฉันไม่มีใครสู้ได้ อันนี้ต้องระวังไว้ อย่าเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสภาวะอย่างนี้ ความคิดเมื่อพิจารณาอย่างนั้นแล้ว ความคิดเห็นในบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ต้องระมัดระวัง เมื่อในบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นเช่นนั้น ต้องพยายามเข้าไปค้นกาย พิจารณากายของตัวอย่างเดิม อย่าไปยุ่งอย่างอื่น อย่าไปคิดเรื่องโลก เรื่องสงสาร เพลิดเพลินในการเทศน์ การวาทะอะไรทั้งหมด ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น ต้องหวนกลับเข้าไป ค้นคว้าอย่างเดิมอย่างนั้น

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดโนนนิเวศน์ปัจจุบัน สมัยนั้นยังไม่มี

    อันนี้เป็นหลักสำคัญ มันมีสิ่งแว่วๆ เข้ามาในหู เพราะฉะนั้นต้องเตือนสักหน่อย เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจให้เต็มที่ลงไป ในระดับของใจกำลังดีอย่างนี้แล้ว ขอให้ตั้งใจเต็มที่ลงไปเถิด ผลที่จะได้รับคือ ความสงบของใจ เมื่อค้นคว้าพินิจพิจารณาใจลงไปกายลงไปเท่าไร ใจนั้นยิ่งเกิดความสงบทุกทุกนาที ทั้งวันทั้งคืน ยืนเดินนั่งนอน จะเกิดแต่ความสงบของใจอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้นอกรีตนอกรอยไปเล่นพิธีต่าง ๆ นานา ให้พิจารณาร่างกายของเรา ให้ตัดส่วนหยาบส่วนละเอียดของกายออกให้มาก เมื่อจะเห็นหรือไม่เห็น ไม่ต้องวิตก เมื่อส่วนปัญญาที่ละเอียดมากเข้าเท่าไรแล้วอย่างนั้น ปฏิภาคนั้นจะดับไปทันที แต่อย่าวิตกว่าสมาธิเสื่อม การพินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้นเอง เป็นเหตุให้เจริญขององค์ปัญญาวิปัสสนานั่น

    การปฏิบัติของเราจากป่าช้าโนนนิเวศน์จนถึงหนองน้ำเค็มบรรลุถึงผลอันน่าพึงใจ ไม่เสียดายอาลัยทุกสิ่งในโลก คำสอนของพระศาสดาประจักษ์ใจ หายสงสัย ลังเลเคลือบแคลงในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซาบซึ้งในพระคุณของท่านพระอาจารย์มั่นที่สั่งสอนอบรมมา

    การที่เราได้อยู่ปฏิบัติพระผู้ทรงคุณเช่นนี้ เป็นความโชคดีเหลือหลาย เราจะได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ละวันจะมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับท่านทั้งด้านภายนอกและภายในมาก ตาต้องดูท่านตลอดอย่าให้คลาดเคลื่อน หูต้องฟังท่านตลอด ไม่ว่าท่านจะพูดค่อยหรือแรง ใจต้องคิดตลอด ปัญญาอย่าอยู่นิ่งเฉย ถ้าไม่รวดเร็วดังนี้ก็จะไม่สามารถอยู่กับท่านได้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ธุดงค์จากอุดรถึงสกลนคร

    ท่านพักจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๒ พรรษา นับแต่จังหวัดเชียงใหม่มา พอออกพรรษาปีที่ ๒ แล้ว คณะศรัทธาทางจังหวัดสกลนครมี คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เป็นต้น ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน พร้อมกันมาอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปโปรดทางจังหวัดสกลนครซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อน ท่านยินดีรับอาราธนา คณะศรัทธาทั้งหลายต่างมีความยินดี พร้อมกันเอารถมารับท่านไปที่จังหวัดสกลนคร

    ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เราได้เดินทางติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนครด้วย ฉะนั้นในระยะ ๓ ปีนี้เราเป็นพระอุปัฏฐากประจำ

    เมื่อเดินทางถึงสกลนครและพักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสได้ ๒-๓ วัน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลก็มีจดหมายมานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น เนื่องจากหลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมอบหมายให้เราเดินทางไปอุบลฯ แทน เพื่อดูแลอุปัฏฐากในอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์และกราบเรียนตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งมา เราจึงออกเดินทางโดยรถยนต์ยังจังหวัดอุบลราชธานี และเดินเท้าไปพบกับหลวงปู่เสาร์ ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์

    [​IMG]

    ก่อนหน้าที่เราจะมาถึงวัดดอนธาตุนั้น มีอยู่วันหนึ่งตอนบ่ายหลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้น มีเหยี่ยวตัวหนึ่ง ได้บินโฉบไปโฉบมาเพื่อหาเหยื่อ จะด้วยกรรมแต่ปางใดของท่านไม่อาจทราบได้ เหยี่ยวได้บินมาโฉบเอารังผึ้ง ซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่พอดิบพอดี รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาด้านข้างๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รุมกันต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลด พวกมันจึงพากันหนีไป จากเหตุการณ์ที่ผึ้งต่อยนั้นมา ทำให้หลวงปู่เสาร์ป่วยกระออดกระแอดมาโดยตลอด

    เมื่อมาถึงวัดดอนธาตุได้ ๒-๓ วัน หลวงปู่เสาร์ท่านอาการหนักขึ้นโดยลำดับ เราอยู่ปฏิบัติท่านจนกระทั่งหายเป็นปกติดีแล้ว

    วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ราวๆ ๑๓๐ ไร่ มีแม่น้ำมูลล้อมรอบ เป็นเกาะอยู่กลางน้ำ เป็นวัดที่ท่านหลวงปู่เสาร์มาสร้างเป็นองค์แรก แต่ก่อนบางส่วนในบริเวณที่วัดเป็นทุ่งนาชาวบ้าน เมื่อหลวงปู่เสาร์ท่านมาภาวนา ญาติโยมเกิดความเลื่อมใสจึงถวายเป็นที่วัด บริเวณเกาะกลางแม่น้ำมูลนี้จึงเป็นที่วัดทั้งหมด

    เดิมทีเขาเรียกกันว่า ดอนทาก เพราะมีตัวทากเยอะ เป็นป่าดิบชื้น ชาวบ้านเข้ามาหาของป่าถูกตัวทากกัด มีตัวทากยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ชาวบ้านจึงเรียกเพี้ยนจากดอนทากกลายเป็นดอนธาตุ อาจจะเป็นเพราะหลวงปู่เสาร์ท่านเข้ามาอยู่ด้วย เขาจึงเรียกว่าดอนธาตุ

    ตอนที่เรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) มาหาหลวงปู่เสาร์ ท่านอยู่ที่นี่ท่านไม่ค่อยเทศน์นักหรอก มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าหาท่าน ดูแลท่านเรื่องอาพาธ เมื่อท่านหายป่วยร่างกายมีเรี่ยวแรง ญาติโยมขอฟังเทศน์ท่านว่า

    “หลวงปู่เทศน์ให้ฟังหน่อยพวกขะน้อย (ฉัน) อยากฟังธรรม”

    โยมที่มาถวายภัตตาหารเช้า เขานิมนต์ให้เทศน์ หลังจากท่านฉันเช้าเสร็จ

    “ทำให้ดู มันยังไม่ดู ปฏิบัติให้ดูอยู่ทุกวัน มันยังไม่ปฏิบัติตาม เทศน์ให้ฟังมันจะฟังหรือ? พวกเจ้าข้อยเฮ็ดให้เบิ่งยังบ่อเบิ่ง เทศน์ให้พวกหมู่เจ้าฟัง หมู่เจ้าสิฟังฤๅ”

    เมื่อหลวงปู่เสาร์พูดเสร็จ ท่านก็สั่งให้พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ผู้เป็นลูกศิษย์ที่นั่งเป็นลำดับต่อจากท่านไปเป็นองค์เทศน์ ท่านมีปกติเป็นพระพูดน้อย ต่อยมาก ส่วนมากท่านทำให้ดู เพราะท่านมีคติว่า “เขาสิเชื่อความดีที่เฮาเฮ็ดหลายกว่าคำเว้าที่เฮาสอน” (เขาจะเชื่อในสิ่งที่เราทำมากกว่าจะเชื่อในสิ่งที่เราพูด)
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ธุดงค์ประเทศลาว

    หลังจากหลวงปู่เสาร์ท่านหายจากอาพาธแล้ว ธาตุขันธ์กระปรี้กระเปร่า ท่านจึงเดินทางไปทำบุญอุทิศให้ท่านแดดัง ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของท่านซึ่งอยู่ที่หลี่ผี ประเทศลาว (ตามปกติหลวงปู่เสาร์จะชอบออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปากเซ ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุเป็นประจำทุกปี)

    หลวงปู่เสาร์เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาวก่อน เราจึงเดินธุดงค์ติดตามไปทีหลัง ความจริงแล้วเราจะไม่ธุดงค์ติดตามท่านไปจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ตั้งใจว่าจะกลับสกลนครไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านโคกก่อนเลยก็ได้ แต่เมื่อมานึกถึงคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้หวนรู้สึกประหวัด ๆ อยู่ในใจว่า

    “เจื้ยะเอ้ย... ดูแลหลวงปู่เสาร์แทนผมให้ดีนะ ถึงการป่วยอาพาธของท่านจะหายก็อย่าได้ไว้วางใจเป็นอันขาด”

    เมื่อเป็นดังนี้เราจึงจำเป็นต้องเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปประเทศลาว เพราะมีความมั่นใจในความรู้พิเศษของท่านพระอาจารย์มั่นว่า

    “ท่านต้องทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน จึงกำชับให้เราดูแลหลวงปู่เสาร์เป็นอย่างดี”

    ท่านเน้นว่า “อย่าได้ไว้วางใจ” เหมือนกับท่านบอกเป็นนัย ๆ แต่ท่านไม่พูดตรง ๆ จะเป็นการทำนายครูบาอาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเคารพรักหลวงปู่เสาร์มาก

    ขณะหลวงปู่เสาร์เดินทางล่วงหน้าไปประเทศลาว นครจำปาศักดิ์ก่อนแล้ว ทางฝ่ายเรา (พระเจี๊ยะ) และพระเพ็งผู้เป็นหลานของท่าน ครูบาแก้ว ครูบาเนียม และเณร กับผ้าขาวก็ออกเดินทางด้วยเท้า จากดอนธาตุ มุ่งไปยังเขตสุวรรณคีรี ริมแม่น้ำโขง ซึ่งใกล้กับปากแม่น้ำมูล ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง

    [​IMG]
    หลี่ผีที่ประเทศลาว

    เราได้พาหมู่คณะพักค้างคืนที่บนภูเขาที่เขตสุวรรณคีรี ต่อมาได้มีผู้มานิมนต์ให้ไปพักอยู่ที่ใกล้ๆ กับแม่น้ำโขง เป็นที่มีป่าใหญ่มาก มีสัตว์นานาชนิด เช่น ช้าง เสือ หมี และในน้ำยังมีปลาโลมาน้ำจืดเสียงร้องดังเหมือนเสียงวัว อีกทั้งสถานที่นั้นยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเกรงกลัวมาก เพราะใครจะไปตัดไม้ไม่ได้ หากตัดต้นไม้ก็จะมีอันเป็นไปคือเจ็บไข้ได้ป่วย

    ในป่านั้นมีไม้ยางใหญ่ๆ เขาทำเป็นตะท้าวดักเสือ เมื่อเสือผ่านลอดเข้ามา ตะท้าวก็จะหล่นมาทุบเสือตาย เราไม่รู้ไปยกเอาไม้ออก ต้นไม้ก็มาแทงเอาขาต้องเอาน้ำมันมาทา เดินไม่ได้ตั้งนาน เจ็บปวดมากไม่รู้ว่าเขาทำดักเสือ

    เราพาหมู่คณะปฏิบัติพักอยู่ที่ป่าดงใหญ่นี้ได้ไม่นานนัก ได้นำคณะธุดงค์ไปยังนครจำปาศักดิ์ตามคำนิมนต์ของโยมคำตันในระหว่างนั่งเรือไปนครจำปาศักดิ์แล้วมุ่งตรงไปทางปากเซ-ปากซัน ปีนั้นน้ำเยอะเชี่ยวกรากมาก ล่องเรือไปตามกระแสน้ำ เรือมันจึงแล่นเร็วพอไปถึงตรงสะดือน้ำใหญ่ บังคับเรือไว้ไม่อยู่ เรือหมุนติ้วๆ บึ้ดๆ ๆ งี้ มันหมุนตั้งยี่สิบรอบมั้ง วื้อๆ ๆ ถ้าเป็นเรือใหญ่มันก็หมุนสักเดี๋ยวก็ไปได้ แต่เราไปเรือพายเล็กๆ ถึงตรงสะดือน้ำก็หมุนเคว้งคว้าง เราก็ตะโกนบอกสั่งให้พวกฝีพายช่วยกันงัดเรือออกไปอีกด้านเราต้องใช้ไม้พายช่วยงัด จึงหลุดออกมาได้ ไม่งั้นตาย คนตายแยะตรงนี้ มันดูดลงไปตาย ถ้าเกิดล่มขึ้นมาเราอาจจะไม่ตาย เพราะเราว่ายน้ำเก่ง แต่มันต้องเอาจีวรออก ถ้าเอาออกไม่ทันก็ตายเหมือนกัน มันเป็นสะดือน้ำ หมุนวนน่ากลัว
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่เสาร์มรณภาพ

    ในกาลต่อมา พระครูเม้า วัดอำมาตย์ ให้คนถือจดหมายมาบอกให้ทราบว่าหลวงปู่เสาร์ป่วยหนักและท่านกำลังจะเดินทางมาโดยทางเรือ มาถึงนครจำปาศักดิ์ ประมาณ ๕ โมงเย็น ให้เรากับพระเพ็งผู้เป็นหลานของหลวงปู่เสาร์ มารอรับท่านหลวงปู่เสาร์ เรือของท่านหลวงปู่เสาร์จะมาถึงนครจำปาศักดิ์ ประมาณ ๕ โมงเย็น

    [​IMG]
    ท่าน้ำทางขึ้นวัดอำมาตย์

    [​IMG]
    โบสถ์ไม้ (เดิม) วัดอำมาตย์ ซึ่งหลวงปู่เสาร์กราบก่อนมรณภาพ ปัจจุบันรื้อแล้วและก่อสร้างหลังใหม่

    [​IMG]
    พระพุทธรูปในโบสถ์ที่หลวงปู่เสาร์กราบก่อนมรณภาพ

    เมื่อเรือของหลวงปู่เสาร์มาถึง เราพร้อมกับพระเพ็งก็ลงไปรับท่านในเรือ พบว่าหลวงปู่เสาร์ท่านมีอาการหนักมาก จึงจัดเปลหามเข้าไปในวัดอำมาตย์ พาท่านเข้าไปในอุโบสถที่ทำด้วยไม้ ท่านก็ทำกิริยาให้ประคองท่านขึ้นกราบพระ เราทั้งสองก็ประคองท่านขึ้นเพื่อกราบพระ

    เมื่อกราบลงครั้งที่สาม สังเกตเห็นท่านกราบนานผิดปกติจึงจับชีพจรดูจึงรู้ว่าชีพจรไม่ทำงาน พระทั้งหลายที่อยู่ในพระอุโบสถก็ว่า

    “หลวงปู่เสาร์มรณภาพแล้ว ๆ ” เราจึงตะโกนพูดขึ้นว่า

    “ปู่ยังไม่มรณภาพ ตอนนี้ปู่เข้าสมาธิอยู่ ใครไม่รู้เรื่องอย่าเข้ามายุ่ง”

    [​IMG]
    โฉนดวัดอำมาตย์ ที่นครจำปาศักดิ์ ออกในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม

    จึงพยุงท่านจากอิริยาบถนั่งเป็นอิริยาบถนอน แต่ทำได้ยาก เพราะท่านมีอาการจะดับขันธ์อยู่แล้วขณะที่พยุงให้ท่านนอนลงนั้น สังเกตเห็นมีพระเณรนั่งร้องไห้อยู่หลายรูป เราจึงไล่พระเณรเหล่านั้นออกไป เมื่อหลวงปู่เสาร์เข้าสู่อิริยาบถนอน ท่านก็หายใจยาวๆ ๓ ครั้งนี้แล้วท่านก็ถึงแก่กาลกิริยาโดยสงบ เมื่อเวลา ๑๗.๓๐น. วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ (สิริอายุรวม ๘๓ ปี)

    เราจึงได้จัดเรื่องงานศพทุกอย่างสุดความสามารถ ให้สมกับหน้าที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นไว้ใจและมอบหมาย จัดแจงทุกอย่างที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ ส่งโทรเลขไปบอกคุณวิชิตที่จังหวัดอุบลราชธานี และหาครกใหญ่ ๆ มารองตำถ่าน เราถอดอังสะเหน็บเตี่ยว หาไม้ใหญ่ ๆ มา ยกตำๆ ตัวนี่ดำหมด ตำถ่านใส่โลงท่าน เราตำเองทั้งหมด ถ่านนี้ใส่รองพื้นโลงเพื่อดูดน้ำเหลืองไม่ให้เหม็น วางถ่านรองพื้นโลงเสร็จแล้ว เอาผ้าขาวปูทับอีกทีหนึ่ง ถ่านต้องเลือก อย่าเอาที่แตกๆ เวลาปูลงที่พื้นโลงให้ถ่านสูงประมาณ ๑ คืบ ใช้ถ่านประมาณ ๒ กระสอบก็เพียงพอ

    [​IMG]
    พระอาจารย์ทอง อโสโก

    เมื่อตำถ่านเสร็จแล้วตัวดำหมดเลย เราลงโดดน้ำโขงตูม...ตูม... เราเป็นคนแข็งแรง ทำอะไรคนอื่นทำไม่ทัน เมื่อเอาถ่านรอง ผ้าขาวปู ก็เอาศพท่านวางให้เรียบร้อย แล้วขอขมา ตั้งศพไว้ระยะหนึ่งให้ชาวจำปาศักดิ์มาสักการะบูชา เมื่อเห็นสมควรจึงนำศพท่านลงเรือกลับอุบลฯ ข้ามฝั่งโขงแล้ว ต่อมาคุณวิชิต โกศัลวิตร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านกับพระเถระมีพระอาจารย์ทอง เป็นต้น และญาติโยมชาวจังหวัดอุบลฯ จึงได้จัดขบวนรถยนต์ไปรับศพท่านกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี

    ส่วนเราเมื่อนำศพหลวงปู่เสาร์ลงเรือกลับอุบลฯ แล้ว เราจึงเดินธุดงค์จากประเทศลาวเข้าทางจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มาพักที่วัดพระอาจารย์ทอง อโสโก ศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่เสาร์ เดินต่อมาทางนครพนม สกลนคร เพื่อร่วมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น และกราบเรียนเรื่องการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ให้ท่านพระอาจารย์มั่นทราบ
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    กลับจากประเทศลาวมุ่งสู่สกลนคร

    พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๘๘)

    จำพรรษาที่วัดบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ

    จังหวัดสกลนคร



    ในระหว่างที่เรา (พระเจี๊ยะ) ได้รับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปดูแลอาการอาพาธของหลวงปู่เสาร์ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลฯ นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นได้พาหมู่คณะเดินทางออกจากวัดป่าสุทธาวาส มาพักที่บ้านนาสีนวลและบ้านนามนชั่วระยะกาลหนึ่ง แล้วจึงเข้ามาพักที่เสนาสนะป่าบ้านโคกด้วยความผาสุกทั้งกายและจิตใจ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ทุกข์

    ดังนั้นขณะที่เรากำลังเดินทางกลับจากแขวงนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ก็ได้ทราบข่าวว่า ท่านจะพักอยู่จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก เราจึงรีบเร่งฝีเท้าออกเดินทางจากอำนาจเจริญ จาริกรอนแรมตามหมู่บ้าน ตำบลมาเรื่อยๆ พักตามป่าช้า ท้องทุ่ง ลอมฟาง เขาป่า ภูผาหิน เดินเท้า ค่ำที่ไหนก็นอนมันที่นั่น เพราะอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาเกือบสามปี ได้ประสบการณ์ในการอยู่ตามป่ามาบ้างพอสมควรกินก็เริ่มกินง่าย ถึงจะตายก็คิดว่าสะดวก

    การเดินธุดงค์ในระยะนี้ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พิจารณาธรรมเต็มความสามารถ เพราะไม่มีสิ่งใดก่อกวน พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมะเกี่ยวกับการอยู่ป่าไว้มาก เพราะพระองค์ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในป่า ในอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนเมื่อเราบวช ก็สอนให้ไปอยู่ป่า อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้

    ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ฤดูแล้งแล้วอากาศร้อนอบอ้าว หาพักตามร่มไม้ชายเขา ร่มยางใหญ่ มีทางลมพัดผ่าน ก็พอไล่อากาศร้อนอบอ้าวหนีไปได้บ้าง การออกมาจากท่าน อาจจะว้าเหว่อยู่บ้าง แต่การออกมาปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งของท่าน ก็เป็นความอุ่นใจภายใต้ร่มบารมี จะเดิน จะทำ จะพูด จะคิดอะไร มีเสียงเตือนของท่านแว่วมาทางโสตประสาทเสมอ เหมือนเราเดินวนเวียนอยู่ใต้ร่มไม้ร่มใหญ่ใบดกหนา อีกทั้งใต้พุ่มไม้นั้น ก็มีน้ำให้อาบดื่มกิน นำพาความรำพึงหวังให้สดชื่นแก่จิตใจได้ไม่น้อย

    ชีวิตพระป่าถ้าทำให้มันพะรุงพะรังนัก มันหนักตนเอง “มันถ่วงหัวทุบหาง” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าอย่างนี้ หนักปัจจัยสี่ ไปที่ไหนรกรุงรัง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนอย่างนี้เสมอ ลาภสักการะย่อมฆ่าคนโง่ที่หลงงมงายได้ ว่าตัวได้ตัวดีกว่าคนอื่นเขา อันนี้เราจำเอาจนขึ้นใจ

    ท่านสอนว่า “ถ่วงหัว ทุบหาง” เหมือนกับเวลาเขาดักสัตว์ในป่า เขาเอาก้อนหินเทินกันไว้แบบหมิ่นเหม่เอาไม้ค้ำไว้ ใส่เหยื่อเข้าไปวางไว้ กระรอก กระแต ลิง ค่าง อะไรพวกนี้เห็นอาหารนั้นก็รีบวิ่งปรี่เข้าไปเอาเหยื่อด้วยความอยาก เมื่อเข้าไปกินเหยื่อจะวิ่งชนไม้ที่ค้ำก้อนหินที่วางดักนั้นก้อนหินนั้นก็จะหล่นลงมาทุบหัวตาย ในที่สุดสัตว์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของมนุษย์ผู้ซึ่งฉลาดกว่า ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า“ดักอีทุบ” สัตว์ตัวไหนหลงเข้าไปในกลลวงที่เขาหลอก ก็มีแต่ตายอย่างทรมานเท่านั้น

    สมณะที่ออกเจริญสมณธรรมตามป่าตามเขาก็เช่นเดียวกัน ไปเจอเสียงเยินยอสรรเสริญว่าขลังอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มีลาภสักการะ มีคนนับถือมากเข้าแล้วลืมตน ลืมพระธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์ จิตใจไพล่ไปยินดีในปัจจัยสี่เหล่านั้น ก็จะถูกสิ่งเหล่านั้นทับหัวใจ ทุบหัวใจ ให้กลายเป็นผู้ไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย พิจารณาอะไร นั่งภาวนาอย่างไรก็ยกจิตไม่ขึ้น จิตนั้นถูกกดทับด้วยกิเลสอย่างหยาบ เมื่อพิจารณาถึงคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่แว่วมาอยู่เรื่อยๆ จึงไม่เกี่ยวยุ่งด้วยผู้คน นำธรรมะที่ท่านสอนมาพิจารณาตีให้แตกด้วยอริยสัจสี่ คลี่คลายไม่ลดละ จิตตอนนั้นปราดเปรียวหมุนโดยอัตโนมัติ

    เมื่อรอนแรมภาวนาตามป่าทางอุบลฯ นครพนม มุกดาหาร แก่กาลพอสมควร จึงเดินตัดเข้าสกลนคร ในระหว่างทางนั้นผ่านป่าดงทึบ ต้นไม้ใหญ่โอบไม่รอบป่ายังคงเป็นป่า สัตว์เสือยังมีมาก แบกกลดเข้าป่าออกป่า ขึ้นภู ลงเขา เดินไปนานๆ จะพบหมู่บ้านสักหลัง ส่วนมากเป็นชาวไร่ ขุดดินทำไร่ในป่าลึกๆ เดินเหนื่อยยากลำบากเหลือเกินนะ บางทีนั่งพักใต้ร่มไม้อากาศร้อน ๆ ในตอนกลางวันกระหายน้ำ น้าหมดก็อดทนเอา เดินไปสักเดี๋ยวก็เจอชาวบ้านป่า เมื่อเห็นพระก็กุลีกุจอนำน้ำมาถวายด้วยศรัทธา โดยที่เราไม่ต้องบอก บางแห่งก็ผ่านทุ่งกว้างมีแต่ฝูงวัวฝูงควาย พวกเด็กเลี้ยงควายหยอกล้อหัวเราะร่าร้องเพลงกันลั่นตามทุ่งนา

    เมื่อพิจารณาไปหลายๆ อย่างด้วยปัญญาสามัญธรรมดานี่แหละ

    “โอ !... เขาหาอยู่หากินตัวเป็นเกลียว อดอยากลำบากแค้น แสนทุกข์แสนทน... เราก็มาหาธรรมลำบากก็ต้องทนเพื่อลดทุกข์ ปลดเปลื้องใจ เขาหากิน เราหาธรรม เขาแสวงเรื่องโลก เราแสวงธรรม”

    ตกพลบค่ำก็นั่งภาวนา ถ้ามีทางพอเดิน ก็เดินจงกรม เผื่อว่าจะได้ไม่เก้อเขินเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นทักถามเรื่องธรรมปฏิบัติ คือกลัวท่านดุเอา ว่าออกไปไม่ตั้งใจปฏิบัติ

    เมื่อเดินทางมาถึงสกลนคร ก็ตรงดิ่งเข้าไปที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ บ้านโคก ตรงไปยังป่าช้าบ้านโคก เป็นที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนัก เมื่อถึงแล้วก็รีบเข้าไปกราบเรียนความเป็นไปทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เข้าจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก

    [​IMG]
    เสนาสนะท่านพระอาจารย์มั่น
    ที่วัดป่าบ้านโคก
    อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร



    ก่อนเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีพวกญาติโยม มาร่วมสร้างเสนาสนะเพื่อภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้มอบให้เราไปควบคุมการก่อสร้างเสนาสนะจนแล้วเสร็จ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นในปีนั้น และพระอาจารย์มหาบัวก็ได้มาร่วมจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นในปีนั้นด้วย
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ฉายา “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”

    ในระหว่างพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นชอบเรียกเราว่า “เฒ่าขาเป๋” หรือบางทีท่านก็เรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ตามแต่ท่านจะพูดและสอนเพื่อเป็นคติ ตอนหลังท่านอาจารย์มหาบัวท่านก็เมตตาเรียกเหมือนกัน

    อยู่มาวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดถึงหลวงปู่ขาวว่า “หมู่เอ๊ย!... ให้รู้จักท่านขาวไว้นะ ท่านขาวนี่เธอได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว” หลังจากท่านกล่าวชมหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็หันมาพูดเรื่องเราว่า

    “เออหมู่เอ๊ย!... มีหมู่มาเล่าเรื่องการภาวนาให้เราฟังที่เชียงใหม่เว้ย... เธอปฏิบัติของเธอสามสี่ปีเหมือนเราลงที่นครนายก ‘มันลงเหมือนกันเลย’ ท่านย้ำว่าอย่างนั้น ท่านองค์นี้ภาวนา ๓ ปี เท่ากับเราภาวนา ๒๒ ปี อันนี้เกี่ยวเนื่องกับนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”

    การที่เรานำสิ่งที่ครูบาอาจารย์ชมมาเล่า ไม่ได้หมายยกตนเทียมท่าน แต่การที่ฝึกปฏิบัติเร็วช้านี้ แล้วแต่บุญกรรมและความเพียรของใครของมัน ที่พูดให้ฟังนี้ไม่ได้เทียบกับท่าน แต่นำสิ่งที่ท่านพูดมาพูดให้ฟัง จะได้รู้ว่าเบื้องหลังเราปฏิบัติมายังไง

    การภาวนา การปฏิบัติ และชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน มันเกี่ยวเนื่องกับกรรมดีกรรมชั่วในอดีตและปัจจุบัน แล้วก็มาส่งผลให้เป็นไปในอนาคต คำว่าอนาคตก็คือ ปัจจุบันไปถึงเข้าแล้วก็ประสบชะตาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่การคาดเดาเอาว่าตอนนั้นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

    แต่การประสบกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตนั้นแหละ คือการรวมประมวลเอากรรมในอดีตปัจจุบันและอนาคตมาไว้ด้วยกัน เหมือนอย่างบางคนประสบชะตากรรมในทางร้ายในชีวิต หมดหวังสิ้นแรงใจ ระทมทุกข์ไม่มีทางออก ทั้งที่ปัจจุบันพากเพียรทำสัมมาชีพ แล้วในที่สุดเขาก็ปลิดชีพตัวเอง พร้อมทั้งฆ่าลูกและภรรยา เพราะเขาเหนื่อยหน่ายการที่จะอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี แต่เขาไม่ทราบว่าความจริงในอดีตชาติเขาได้ทำให้คนอื่นย่อยยับไม่รู้กี่ครั้งกี่หน พอเกิดมาเป็นมนุษย์ทำอะไรก็หลงทะนงตนไม่เชื่อบาปกรรม เชื่อมั่นว่าตนบัญชาการได้หมด ปฏิเสธหลักธรรมที่จะนำมาประกอบใจ เมื่อประสบชะตากรรมที่โหดร้าย แล้วก็นำพาความน้อยอกน้อยใจ เสียอกเสียใจมาเป็นเครื่องครอบงำจิต ในที่สุดก็ทำสิ่งที่เสียหายแก่ตนและคนอื่นเพราะคิดว่า วิธีนี้เป็นหนทางที่ฉลาดที่สุด และเป็นทางออกที่ดีเยี่ยม

    [​IMG]
    ศาลาการเปรียญวัดบ้านโคกที่ท่านพระอาจารย์มั่นใช้แสดงธรรมอบรมพระเณร

    คำว่า ประสบชะตากรรมที่โหดร้าย เพราะการประมวลมาของกรรมนั้นก็คือ ในอดีตเขาเคยทำความชั่วเสียหายไว้มาก กรรมนั้นก็ย้อนมาให้ผลในปัจจุบัน ปัจจุบันนั้นแหละเป็นปัจจุบันของอนาคตในอดีต กรรมนั้นจึงประมวลมาให้ผลเป็นครั้งไป แล้วแต่ผลเสวยและความรุนแรงของความดีชั่ว ถ้าความดีมากๆ ความดีนั้นก็จะให้ผลถึงที่สุด การดำเนินชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม อันเป็นวัฏจักรที่พาหมุนวนนี้ การเดินทางของจิตมันจึงยืดยาวแทบจะหาที่ยุติไม่ได้ เพราะกิเลสเป็นเหตุให้สัตว์ทำกรรมดี-ชั่วปะปนกันไป แล้วก็พากันเสวยผลแห่งกรรมนั้น โดยไม่มีสิทธิพิเศษปฏิเสธการกระทำนั้นๆ ว่าไม่ได้ทำไม่ได้ สิ่งใดที่ทำสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ทำ ไม่เป็นอื่น ทำดีที่สุด แม้จะปฏิเสธว่าข้าพเจ้าไม่ได้ทำดีความดีนั้นก็ต้องให้ผล แม้แต่บุคคลนั้นจะปฏิเสธ ความชั่วก็เหมือนกัน

    ตัวอย่างเช่นพระองคุลีมาล ท่านฆ่าคนมามากทำไมท่านสำเร็จอรหันต์ได้ การที่ท่านฆ่าคนมามาก พระพุทธเจ้าจะมาช่วยให้ท่านเป็นคนดีนั้น รู้สึกว่าจะไม่ยุติธรรม เหมือนๆ กับว่าพระองค์จะทรงลำเอียงไม่ช่วยสาวกองค์อื่นๆ ที่ไม่ได้ฆ่าคนให้พ้นทุกข์ให้หมดไปบ้าง ความจริงพระพุทธองค์พิจารณาเห็นจิตของพระองคุลีมาลนี้ ได้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร สร้างสมแต่ความดีมามาก มากกว่าด้านชั่ว คือในหมื่นๆ ชาติ ล้วนแต่เป็นคนดีมีศีลธรรม ความดีในอดีตของท่านมันมากกว่าความชั่วในปัจจุบันเป็นไหนๆ นั่นแหละเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าฉุดลากเธอขึ้นมา จากความชั่วนั้นได้ แล้วก็บรรลุอริยธรรม เหมือนกับตาชั่งที่ใช้ชั่งสิ่งของ ของชิ้นไหนสิ่งใดมันหนักกว่า มันก็กดตาชั่งนั้นลงไปได้มาก ตามความหนักเบา กรรมดี-ชั่วก็เหมือนกัน ความดีมันมากๆ มันก็กดความชั่วให้จมดินไปได้ ยิ่งความดีมากขึ้นเรื่อยๆ ความชั่วก็ค่อยหายไปๆ จางไปๆ
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เจ็บป่วยด้วยโรคปวดเส้นเอ็น

    เมื่อเราจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคกกับท่านพระอาจารย์มั่น เราได้เกิดเป็นโรคชนิดหนึ่งคือโรคเส้นเอ็น รู้สึกปวดเส้นอย่างแรงคล้ายถูกงูรัด เป็นจากเอวลงมา อาการปวดขยายออกไปทั้งตัวเดินไม่ได้ ครูบาทองปาน ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่เคยอยู่เชียงใหม่กับหลวงปู่มั่นด้วยกัน ได้ทำยาขึ้นขนานหนึ่ง โดยเอาข้าวสารแช่น้ำและตำเป็นน้ำแป้งขาวๆ ประมาณ ๔-๕ ขวดเหล้า แล้วเอาบอระเพ็ดกำใหญ่มาตำ แล้วเอาน้ำใส่ กรองได้น้ำบอระเพ็ดพอประมาณ ๔-๕ ขวดเหล้าเหมือนกัน เสร็จแล้วเอาน้ำแป้งและน้ำบอระเพ็ดที่ตำนั้นผสมกัน แล้วเอาไปฝังทั้งขวดไว้ที่ใต้บันไดบ้านสามคืน จึงขุดเอามาฉันเวลาฝังให้จุกขวดโผล่จากดินประมาณ ๑ นิ้วฟุต ตามพระวินัยน้ำแป้งข้าวนั้นพระจะฉันนอกเวลาไม่ได้ จึงต้องฉันระหว่างเช้าถึงเที่ยง ยานี้ฉันประมาณ ๓ วัน โรคที่เจ็บปวดตามเส้นนั้นก็หายไป ตำรายานี้ท่านว่าเป็นตำรายาของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม มีคุณสมบัติแก้ไข้มาลาเรียได้ด้วย ขนาดของยาที่ฉันนี้ ให้ฉันวันละ ๑ ขวดเหล้า จนยาหมด

    ระหว่างที่เราป่วยอยู่นี้ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเมตตาจัดอาหารมาให้ฉัน แต่เราไม่ฉัน กราบเรียนท่านกลับไปว่า “ครูบาจารย์ ถ้าจะตายก็ให้มันตายไปเถอะ” แต่ก็ไม่เป็นอะไร ต่อมาอีก ๒ วันก็หายเป็นปกติ
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่มั่นเรียกเฒ่าขาเป๋

    หลวงตามหาบัวเล่าเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะกับท่านพระอาจารย์มั่น (ที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) เรา (หลวงตา) เห็นเถียงกันตาดำตาแดง แต่เถียงท่านทีไรอาจารย์เจี๊ยะหน้าผากแตก หลวงปู่มั่นท่านใส่หน้าผากแตก แต่ก็แปลกอันหนึ่งนะ พอยอมทันทีท่านก็หมอบทันทีเลย ใส่บ๊งเบ๊งๆ เอากันกับท่านนะ พอใส่ถูกสนับ ทางนี้พับหมอบเลย ท่านรักกันเหมือนพ่อกับลูก อาจารย์เจี๊ยะกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี่นะ เราไปสังเกตดู อู้!...แปลกอยู่นะ ท่านไม่เรียกว่า ท่านเจี๊ยะล่ะ ท่านเรียกว่า “เฒ่าขาเป๋”

    คือขาของท่านข้างหนึ่งมันเป็นอะไรไม่รู้นะ ปวดหัวเข่า ต้องได้ฉีดยาแอสไพรินอยู่เรื่อยๆ พอบรรเทาๆ แต่ไม่หายขาด เดินโขยกเขยกๆ ท่านจึงเรียก “เฒ่าขาเป๋” ท่านเรียกอย่างนั้น ท่านเรียกด้วยความรักความเมตตา มันซึ้งนะ ท่านว่าอะไรก็ดี ท่านดุอะไรก็ดี มันซึ้งแปลกนะ

    อย่างท่านอาจารย์เจี๊ยะกับหลวงปู่มั่นโต้กันอย่างนี้ใส่กันเปรี้ยงๆ อาจารย์เจี๊ยะก็ไม่ถอยง่ายๆ นะ ใส่เปรี้ยงๆ จนกระทั่งพอถึงที่สนับ (หมายความว่าสนับมือที่ใช้ตี คำว่าสลบหมายถึงเข้าใจ) ใส่นี้ปั๊บ สลบหมอบเลย ทุกทีเลย เราสังเกตดูนะ เปรี้ยงปร้างๆ ไม่กี่ประโยค สักเดี๋ยวหมอบเลย แล้วก็พูดกันธรรมดา พอเสร็จจากทะเลาะกันแล้ว ก็คุยกันธรรมดาๆ เหมือนไม่เคยมีอะไรต่อกัน เราก็เป็นคนสังเกตนะ เราไปอยู่ทีแรกดูก็แปลกนะ ลักษณะของหลวงปู่มั่นกับอาจารย์เจี๊ยะนี่เหมือนพ่อแม่กับลูกแท้ๆ ไม่ได้ผิดอะไรกันเลย ท่านสนิทกันขนาดนั้น สนิทกันด้วยความเมตตาของท่านองค์นี้แหละ องค์รักษาบริขารของท่าน

    [​IMG]
    หลวงปู่เจี๊ยะกำลังเดินจงกรมขณะไปรักษาอาการอาพาธที่จังหวัดราชบุรี

    ท่านอาจารย์เจี๊ยะ ตอนท่านอยู่ที่นั่นท่านละเอียดลออมาก กริยาภายนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่เวลาท่านเอาความละเอียดความสะอาด โถ!... ใครจะสู้ท่านได้วะ มีดนี้ท่านฝนเลื่อมวับๆ อะไรไปแตะนิดหนึ่งไม่ได้นะ มีดนี้สำหรับหั่นผักอะไรๆ ถวายหลวงปู่มั่นเรา ท่านเป็นคนเก็บรักษาเอง ใครไปแตะของท่านไม่ได้นะ พอเสร็จแล้วท่านจะไปลับหิน ทุกอย่างมองดูแผล็บๆ อะไรไปถูกนิดหนึ่งรู้ทันที พอเวลาท่านมาศาลาปั๊บ ท่านจะจับมีดมาดู ถ้าพอเห็นรอย “ใคร! ๆ มาจับมีดเรานี่ ใคร! ๆ” ท่านไล่เบี้ยเลยเชียว (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจึงละเอียดขนาดนั้น ไม่ว่าสบง จีวรอะไร เรื่องความสะอาดนี่ยกให้ท่านนะ ท่านละเอียดลออที่สุด ดูรักษาบาตรนี่ก็เหมือนกัน ใครไปแตะบาตรหลวงปู่มั่นไม่ได้ ท่านจริงจังรักษาขนาดนั้นล่ะ ท่านละเอียดมากทีเดียว แต่กิริยาที่ท่านแสดงนั้นมันอยู่ภายนอกไม่น่าดู เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะพูดอะไรต้องระวัง ถ้าจะพูดเกี่ยวกับอาจารย์เจี๊ยะนี่นะ บางคนเขาจะยกโทษกระทั่งเรานี่ มันบ้าต่อบ้าเอาอะไรมาพูดให้เขาฟังกันนี่ เอาเรื่องอาจารย์เจี๊ยะบ้ามาพูด หลวงตาองค์นี้ก็บ้าอีกแหละ เลยเป็นบ้า สอง สาม ไปเลย ผู้ฟังก็เลยพลอยจะเป็นบ้าไปด้วยกัน สามบ้าเข้าใจมั้ย

    เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ค่อยพูดนะ ถ้าเป็นวงภายในลูกศิษย์ลูกหา ให้รู้เรื่องของท่านนะ เราพูดยันได้เลย อาจารย์เจี๊ยะนี่ “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ก็เคยอยู่ด้วยกันมาสักเท่าไร ภายนอกภายในฟัดกันซะพอแล้ว เข้าใจหรือเปล่าล่ะ ไม่ลงตรงนั้นจะลงตรงไหนมนุษย์เราน่ะ สาวกลงพระพุทธเจ้าก็ลงตรงนั้น พุทธบริษัททั้งหลายลงพระพุทธเจ้า ลงถึงขีดก็ลงแบบเดียวกัน ไม่ใช่ลงเพียงคำบอกเล่าเฉยๆ ลงเพราะเหตุผลด้วย ต่างอันต่างรู้ ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างเห็นด้วยกัน ทีนี้ต่างองค์ต่างเห็นด้วยกันแล้วยันกันได้ อันนี้ก็เค็มเป็นยังไง เค็ม... หรือว่าอันนี้หวาน ไหนพอใส่เข้าลิ้นปั๊บ อ้อ!... ใช่แล้วนั่น ก็เครื่องรับมีเหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนรสชาติต่างๆ นะ ลิ้นนี่มันเป็นเครื่องรับ เป็นเครื่องยืนยัน อันนั้นจะเผ็ด จะเค็มอะไรก็เป็นหลักธรรมชาติของอันนั้น อันนี้ไปสัมผัสเข้าปั๊บ อ้อ!...เค็ม อ้าว!...ลองดูซี เค็ม... อ้อ!...ใช่แล้ว โอ้!...อันนี้หวาน อ้าว...ลองดู อ้าว...หวาน นั่นมันรับกันอย่างนั้น

    นั่นแหละธรรมพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ด้วยกันเห็นด้วยกันแล้ว เหมือนกับรสชาติต่างๆ ที่สัมผัสด้วยลิ้นด้วยปากของเรานี่แหละ แล้วอาจารย์เจี๊ยะก็ โห!...ตั้ง ๔๐ กว่าปีวะ หือ...ไม่ใช่ ๔๐ กว่าปีนะ ตั้งแต่ท่านหลวงปู่มั่นล่วงไปตั้ง ๔๐ กว่าปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่นู้น... แล้วก็เรื่อยเข้าออก เข้าออก พบกันเรื่อย ท่านเป็นคนจริงจังมาก ท่านไม่ค่อยเรียนมากแหละ

    ถ้าเป็นลูกศิษย์ลูกหาเราก็พูดให้ฟังกันอย่างนี้ ใครมองท่านอย่าไปมองแต่กิริยาภายนอกอันนั้น อันนี้มันเป็นนิสัยอันหนึ่ง คือนิสัยอันนี้มันละไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงรับสั่งไว้แล้ว นี่แสดงไว้แล้ว นิสัยวาสนา มันเป็นของละไม่ได้ เป็นของประจำนิสัยของตนเอง ประจำตัวของตัวเอง เป็นแกนของนิสัย อันหนึ่งๆ แต่ละบุคคลๆ ละได้เฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น นั่นท่านก็บอก ทางดีท่านก็บอก ทางชั่วท่านก็บอก เป็นความเคยชินมา อย่างที่เคยพูดให้ฟังว่า

    สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต

    วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ อุปฺสนฺโตติ วุจฺจตีติ

    ใช่ไหมท่านมหา (ท่านหันมาพูดกับพระมหาองค์หนึ่ง) มันก็มาจากธรรมบทนั่น ผมนานแล้ว ผมเรียนผ่านไปตั้งแต่ท่านยังไม่เกิดนี่ จะให้ผมไม่ลืมได้อย่างไร (หัวเราะ) ผมก็ต้องลืมได้ละสิ (หัวเราะ) นี่แหละที่จะยกภาษิตขึ้นมานี้ เพราะมีภิกษุรูปหนึ่ง แต่ก่อนท่านเป็นปุถุชน กริยาท่านเรียบตลอดเวลาดุจผ้าพับไว้ด้วยดี ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดบรรดาพระทั้งหลาย คาดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น จนกระทั่งเข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ท่านเป็นยังไงองค์นี้ ท่านราบเรียบนักหนา ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใด เป็นอิริยาบถใด กริยาท่าทางนี่เหมือนผ้าพับไว้ สวยงามเหลือเกิน พระพุทธองค์ตรัสว่ายังไม่สิ้น

    พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ท่านรูปนี้มีอุปนิสัยเดิมมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ท่านเคยเกิดเป็นราชสีห์ เกิดเป็นราชสีห์ติดต่อกันมาหลายชาติ จนกระทั่งได้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้มาบวชนี้แหละ ท่านจึงมีกริยาท่าทางดี กริยาของท่านจึงเรียบไปเลยอย่างนี้ แล้วเวลานั้นพอพูดอย่างนี้ก็ยกภาษิตนี้ขึ้น

    พระพุทธองค์จึงนำเรื่องนี้เทศนาว่าการสั่งสอนพระ พระทั้งหลายได้บรรลุมรรคผลนิพพานน้อยเมื่อไหร่ในวันนั้น ทั้งพระสันตกายด้วย เมื่อแปลออกมาก็ได้ความว่า ผู้มีกายอันสงบ ผู้มีวาจาอันสงบ คือสงบจากบาปนะ ไม่ใช่สงบแบบคนตาย เข้าใจรึเปล่า คนตายทิ้งไว้ในโลง มันก็อยู่อย่างนั้น เฉย... มันตายมันก็สงบละสิ สงบแบบนั้น แต่ว่าผู้มีกาย วาจา ใจ อันสงบนี่ หมายถึงว่า สงบจากบาป กาย ไม่คึกไม่คะนองไปทางบาป ก่อไฟเผาตัวเอง วาจาก็ไม่ทำร้ายป้ายสีผู้หนึ่งผู้ใด ไพเราะเพราะพริ้ง ด้วยเหตุด้วยผล ใจก็มีแต่ความสงบร่มเย็น นั่น เป็นผู้ปล่อยวางโลกามิสเสียได้ นั่นแหละเรียกว่า ผู้สงบ
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงตาเล่าเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะไล่เด็ก

    วันหนึ่งก็มีน้ำหลากมาจากภูเขา เขาทำคลองมาจากภูเขา ลงมาใส่นาเขานี่นะ ทีนี้มันผ่านหน้าวัด เราก็เดินจงกรมอยู่ที่ริมคลองทางนี้ ท่านก็เดินอยู่ทางนั้น มันมองเห็นกันอยู่ ทีนี้พวกเด็กมันก็เล่นน้ำละซิ อึกทึกครึกโครมอยู่ ที่หัวจงกรมท่าน ท่านก็กระทืบเท้านี่ ปึงปังๆ ฮะแฮ่มๆ เด็กก็แตกฮือวิ่งเข้าป่าหมด ออกจากนั้นก็โน่น เข้าบ้านเลย

    พอตกเย็นมาหลวงปู่มั่นก็ว่า “ท่านเจี๊ยะ ท่านไปทำอะไรเด็ก”

    “ก็มันมาอึกทึกก็ไล่ซิ” ท่านพูดอย่างนั้นล่ะ พูดอย่างสบายเลยนะ (หัวเราะ)

    “วันหลังอย่าไปทำนะ ทำอย่างนั้นไม่ดี” อาจารย์เจี๊ยะก็นิ่งนะ เราสังเกตดูท่านก็นิ่ง

    [​IMG]
    หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

    พอวันหลังก็มาอีก จะเป็นเด็กพวกใหม่หรือพวกเก่าก็ไม่รู้แหละ มาอีก เพราะมันเป็นทำเลดี น่าเล่น เด็กก็มาเล่น ท่านก็เดินจงกรมอยู่ เราก็เดินอยู่ ทีนี้เด็กกำลังเล่นอึกทึกครึกโครม ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเขามาจากทุ่งนานั่น เขามาเห็นเด็กเล่นอึกทึก ผู้ชายคนนี้เขาก็เป็นคนของวัด เขารู้เรื่องของวัดนะ เขาก็คงว่าเด็กพวกนี้มาทำอะไรอึกทึก ท่านภาวนา ท่านเดินจงกรม เขาคงคิดว่าอย่างนั้น เขาก็มาทำแบบคล้ายๆ อาจารย์เจี๊ยะนั่นแหละ มาก็มาทำฮะแฮ่มๆ ใส่ ทำท่าปุ๊บปั๊บๆ เด็กก็แตกฮืออีกล่ะ กูตาย... ฮื่อ...วันนี้ท่านอาจารย์ใหญ่คงจะเอาใหญ่อีกแหละ เรานึกในใจนะ เพราะทำที่เก่าด้วย พอตกเย็นขึ้นไป อาจารย์เจี๊ยะยังไม่ได้นั่งเลยนะ

    “ท่านเจี๊ยะ ก็เมื่อวานนี้พูดกันแล้ว ว่ายังไง บอกไม่ให้ไปทำกิริยาอย่างนั้นกับเด็ก แล้ววันนี้เสียงแตกฮืออีกล่ะ”

    “ก็มันไม่ใช่ผมนี่น่ะ” อาจารย์เจี๊ยะว่า ท่านพูดอย่างนี้นะ พูดตรง ๆ อย่างนี้

    “ไม่ใช่ท่านแล้วเป็นใครวะ” ท่านว่า

    อาจารย์เจี๊ยะก็บอกว่า ก็เป็นโยมเขามาจากทางโน้น ทางนี้ท่าน (หลวงปู่มั่น) ก็ยังไม่เชื่อนะ ท่านยังจะดุท่านอาจารย์เจี๊ยะอีกนะ เราก็เลยช่วย ใช่แล้ว คือมีผู้ชายคนหนึ่งเขามาจากนั่น ชื่อว่า...อย่างนั้น เราบอกเลย แล้วเขามาไล่เด็ก เขาคงเห็นเด็กนี่มาทำอึกทึกครึกโครมที่นั่น เขาเลยไล่ ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ เพราะตอนนั้นท่านห้าพรรษานี่ เราแปดพรรษา ท่านก็เลยนิ่งเงียบไปเลย โอ้.!.. มันเป็นอย่างนั้น
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่เจี๊ยะเย็บผ้าผิด

    หลังจากนั้นต่อมาอีก ทีนี้เย็บผ้า เย็บผ้าผิด เราเดินจงกรมในป่านี่ ศาลากับป่ามันก็ไม่ห่างกัน ฟังเสียงบ๊งเบ๊ง ๆ มันอะไรนา ไอ้เรามันตัวสั่นอยู่ในป่านั่น เราไปใหม่ๆ นี่ เพราะเสียงไม่ใช่เสียงธรรมดานะ เสียงลั่น พอเงียบเสียง เราก็มาเห็นท่านคุยกัน ธรรมดาธรรมดาเรานี่

    “เอ๊ะ !่ ตะกี้ท่านดุใครน่ะ” พอดีเราขึ้นไป ท่านเย็บผ้าเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์เจี๊ยะก็ลงมา

    เราถาม “เอ๊ะ ! ตะกี้ท่านดุใคร ?”

    “ก็ดุผมน่ะสิ” อาจารย์เจี๊ยะตอบอย่างขึงขัง

    “แล้วท่านดุทำไม?”

    “ก็ผมเย็บผ้าผิด จะไม่ให้ท่านดุได้ยังไง”

    ว่าอย่างนี้ คือท่านเย็บผ้าผิด อาจารย์เจี๊ยะเย็บผ้าผิด หลวงปู่มั่นดุ ท่านพูดอย่างมีเหตุผลนะ ก็ผมเย็บผ้าผิด จะไม่ให้ท่านดุได้ยังไง ธรรมด๊า ธรรมดา
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    กิจประจำวันของท่านพระอาจารย์มั่น

    ตอนเช้าออกจากที่ภาวนา แล้วลงเดินจงกรมก่อนบิณฑบาต พอได้เวลาแล้วก็ออกบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จ จากนั้นเข้าทางจงกรม เดินจงกรมจนถึงเที่ยงเข้าที่พัก พักจำวัดบ้างเล็กน้อย ลุกขึ้นภาวนา แล้วลงเดินจงกรม

    บ่าย ๔ โมงเย็นปัดกวาดลานวัดหรือเข้าที่พัก สรงน้ำแล้วเข้าทางจงกรมอีกเป็นเวลาหลายชั่วโมง คืนหนึ่ง ๆ ท่านพักจำวัดราว ๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมากในเวลาปกติ ถ้าเป็นเวลาพิเศษก็นั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่ง ไม่พักจำวัดเลย

    ในวัยหนุ่มท่านทำความเพียรเก่งมาก ยากจะมีผู้เสมอได้ แม้ในวัยแก่ยังไม่ทิ้งลวดลาย เป็นแต่ผ่อนลงบ้าง ตามวิบากที่ทรุดโทรมลงทุกวันเวลา ที่ผิดกับพวกเราอยู่มาก คือจิตใจท่านไม่แสดงอาการอ่อนแอไปตามวิบากธาตุขันธ์
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ความอดอยากขาดแคลน

    [​IMG]


    หลวงปู่เจี๊ยะเล่าเรื่องความอดอยากขาดแคลนว่า

    ท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อเราไปอยู่กับท่านสี่แล้งกับสามปีเศษ ๆ กาแฟนี่..มาสังเกตดูในระยะ ๓-๔ ปีที่ไปอยู่ สมัยนั้นก็ยังพอมีบ้าง น้ำตาล กาแฟ อย่างนี้เป็นปีๆ ไม่เคยได้กินเลย ฉันข้าวแล้วก็น้ำเป็นปัจจัยสำคัญเท่านั้นเอง ต่างกันกับพวกเราสมัยนี้ อยากเวลาไหนก็กินได้เวลานั้น

    เพราะฉะนั้นมันต่างกัน ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจะต้องการสิ่งใด จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ทั้งนั้นแต่ไม่เอา ท่านต้องการเข้าไปอยู่ในที่กันดาร ขณะหนึ่งที่ปีสุดท้าย ก่อนที่เราจะกลับไปอยู่ที่บ้านนาสีนวล ทางเหนือจังหวัดสกลฯ ทางเข้าไปหมู่บ้านราว ๓๐ กิโลเมตร หมู่บ้านนั้นยากจนทำไร่ทำสวนพอประมาณ ไร่นาก็มีนิดๆ หน่อยๆ เพราะเป็นภูเขา ไปบิณฑบาตมาอย่างนี้ ก็ไม่ค่อยมีกับข้าวที่จะฉัน ถ้ามาสมัยนี้ จ้างให้เราไปอยู่ แถมให้ค่าจ้างวันละ ๕๐๐ บาท ยังไม่เอาเลย นึกแล้วปลงสังเวชสลดใจ ท่านก็อาพาธ ก็เพิ่งจะค่อยดีๆ ขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น เข้าไปอยู่ในที่นั้น อยู่กับท่านอดอยากและลำบากมาด้วยกัน เมื่อมานึกถึงทุกวันนี้แล้วน้ำตาเกือบจะไหลออกมาทุกที นึกถึงท่าน ท่านมีคุณธรรมอันประเสริฐเป็นที่น่ากราบไหว้

    สมัยนั้นเรายังเป็นพระเด็กๆ บวชอายุได้ ๖ ปี ยังไม่ค่อยดูธรรมวินัยเท่าไหร่ เมื่อครั้นกลับมาจากนั้นแล้ว ได้เอาบุพพสิกขาฯ กับมหาขันธ์มาตรวจตามหลักพระวินัยแล้ว จะหาสิ่งที่ไปติความบกพร่องในด้านพระวินัยของท่านนี้ ดูเหมือนมันจะไม่มีเอาเลยว่าอย่างนั้นเถอะ เพียบพร้อมไปด้วยนานาประการต่างๆ เป็นผู้ที่ตั้งใจสอนกุลบุตรจริงๆ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้องความเหนื่อยยากอย่างไรอย่างนี้สู้อดทน เป็นผู้ที่มีแววตาอันฉลาดแหลมคมทุกชนิด สมกับว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ น่ากราบน่าไหว้ น่ารักน่าใคร่ ว่าถึงความรักแล้วรักยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ของเรา

    ในขณะที่อยู่กับท่าน บางวันไปนั่งน้ำตาน้ำหูไหล นึกถึงบุญคุณท่าน บางทีฟังเทศน์ท่านแล้วอย่างนี้ ให้หวนคิดว่า “เราจะเป็นคนอกตัญญูไม่ได้” เกือบๆ จะนับครั้งนับหนได้ที่เราถูเนื้อถูตัวให้บิดามารดา นี้เกือบจะไม่มีเลย มีบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ดังนั้นจึงจำไว้ในใจว่า วันหนึ่งเราต้องไปทดแทนบุญคุณบิดามารดาให้ได้

    ส่วนที่เราไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้นต้องไปอาบน้ำ ถูเนื้อถูตัว ถูแข้งถูขา ซักผ้าให้นานาประการต่างๆ ท่านเป็นผู้มีความมัจฉริยะหน่อย แต่มัจฉริยะในทางที่ดี คือเป็นผู้ที่รู้จักใช้ในอัฐบริขาร อย่างผ้าขาดอย่างนี้มิใช่จะทิ้ง ต้องปะแล้วปะเล่า เป็นผู้ที่ปะมีความชำนิชำนาญ นี่ประวัติของท่าน เป็นผู้มีความสันโดษ ทีเหลือคณานับในด้านการอัฐบริขาร ว่าถึงการปฏิบัติก็มีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ น่าเป็นครูบาอาจารย์โดยแท้จริง
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ในรัศมีท่านพระอาจารย์มั่น

    พรรษาที่ ๗-๑๐ (พ.ศ. ๒๔๘๖-พ.ศ. ๒๔๘๙)

    จำพรรษาที่ เสนาสนะป่าบ้านนาสีนวล บ้านนาสีนวล ตำบลตองโขบ

    อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร



    หลังจากได้อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ ปี ๔ แล้งแล้ว ผ่านฤดูแล้งปี ๘๖ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านปรารภจะไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน เราเห็นว่า ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นแล้ว ท่านอาจารย์มหาบัวก็เป็นที่ตายใจ ท่านเก่งฉลาด เป็นที่ตายใจในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เรื่องข้อวัตรปฏิบัติที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานสมควรกับท่านอาจารย์มหา เพราะท่านมีวิชาความรู้ กล้าสู้หน้าไม่อายใคร และจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่หมูคณะต่อไปในอนาคต เหมือนดั่งนิมิตที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายไว้ที่ดอยคำ บ้านแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ว่า

    “ท่านองค์นี้ ลักษณะเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่มิใช่ท่านเจี๊ยะ จะทำประโยชน์ให้แก่หมู่คณะ ท่านนิมิตเห็นพระหนุ่ม ๒ รูป นั่งช้าง ๒ เชือก ติดตามท่านซึ่งนั่งสง่างามบนช้างตัวขาวปลอดจ่าโขลงเป็นช้างใหญ่ พระหนุ่มสองรูปนี้จะสำเร็จก่อนและหลังท่านนิพพานไม่นานนัก และจะทำประโยชน์ใหญ่ให้พระศาสนา”

    เมื่อเราเห็นท่านอาจารย์มหาบัวเข้ามา ก็ตรงตามลักษณะที่ท่านทำนายไว้ก็เบาใจเป็นที่ยิ่ง ถึงได้กับอุทานภายในใจว่า

    “นี่แหละ องค์นี้แหละต้องเป็นองค์ที่ท่านทำนายไว้อย่างแน่นอน เจอแล้ว ทีนี้”

    เมื่อท่านอาจารย์มหาบัวเข้ามา รู้สึกว่าท่านเมตตาเป็นพิเศษ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรท่านตั้งใจปฏิบัติรักษาสุดความสามารถ สุดชีวิตเหมือนดังที่เราเคยทำ ความเพียรท่านก็แรงกล้า มีสติปัญญาไวเป็นเลิศ สมเป็นผู้มีบุญมาเกิด ประเสริฐด้วยความดี อย่างนี้อีกไม่นานต้องพบพานธรรมอันเลิศ บุญเขตอันประเสริฐจะบังเกิดในวงพุทธศาสน์ เป็นปราชญ์ทางธรรม ค้ำชูพระศาสนาเหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายเอาไว้อย่างแน่นอน

    เมื่อคิดดังนี้จึงดำริว่า สมควรที่หมู่ผู้ที่ไม่เคยมาจะได้ช่องเข้าศึกษาปฏิบัติ ในขณะนั้นพระเณรที่ติดตามและลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นมีมากขึ้นโดยลำดับ ชื่อเสียงเรื่องคุณธรรมของท่านเป็นที่เลื่องลือขจรไปทั่วทุกทิศ เราจึงเข้าไปกราบลาท่านและปลีกตัวอยู่องค์เดียว เร่งความเพียร พยายามสืบเสาะหาว่า ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน เพราะท่านเป็นพระที่ท่านพระอาจารย์มั่นรับรองว่า เป็นพระถึงที่สุดแห่งธรรมแล้ว ได้ทำไว้ในใจว่า ถ้าทราบข่าวว่า ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน เราจะดั้นด้นเข้าไปกราบให้จงได้


    [​IMG]
    วัดบ้านนาสีนวล และ เสนาสนะพระอาจารย์มั่น ที่วัดบ้านนาสีนวล
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ขาว

    [​IMG]


    เมื่อเราออกจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็เพียรค้นหาท่าน (พระอาจารย์ขาว) จนเจอ แล้วก็มาได้ศึกษาคุยสนทนาธรรมกับท่านในเรื่องการปฏิบัติได้ถามเรื่องต่างๆ นานา เพราะท่านเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มีความชำนิชำนาญ เราสมัยยังเป็นเด็กอยู่ก็ต้องศึกษากับครูบาอาจารย์ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วก็ได้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าจึงเป็นหลักสำคัญมาก ค้นลงไป ค้นให้มาก ค้นเข้าไปพิจารณาไปเพื่อให้เห็นความจริง

    เวลาไปเจอะปู่ขาว กี่ที ๆ ท่านก็ถามว่า “เจี๊ยะเป็นไงเอ๊ย ค้นบ่ ค้นบ่?” ท่านถามเราบ่อย ๆ

    “ค้นครับ” เราก็ตอบท่านอย่างนั้น

    “เออ! เอาอย่างนั้นสิ” ท่านพูดให้กำลังใจ ว่าที่ทำนั้นถูกต้องไม่ผิด

    ตอนหลัง ๆ เมื่อเจอะคุยกันกับท่าน ท่านก็ถามอย่างเดิม เราก็ตอบท่านอย่างเดิมว่า

    “ค้นครับครูบาจารย์ ค้นครับ ค้นแยะ”

    “เอ้อ!...อย่างนั้นสิ มันถึงจะดี” ท่านว่าอย่างนั้น

    ออกจากท่านแล้วก็เดินทางไปพักอยู่บริเวณป่าช้าบ้านนาสีนวล จำพรรษาที่บ้านนาสีนวล วนเวียนอยู่ในรัศมีของท่าน บ้านนาสีนวล ห่างจากบ้านนามนไม่มากนัก เดินทางไปมาได้สะดวก วันอุโบสถก็เดินทางมาร่วมทำอุโบสถกับท่าน รับโอวาทเทศนาธรรมที่ท่านแสดงไม่ว่าจะไปที่ไหน ประหนึ่งว่าท่านดูเราอยู่ตลอดเวลา

    การภาวนาในระยะนี้เดินทางปัญญาโดยตลอดไม่หยุดยั้ง ออกพรรษาเที่ยวแสวงหาที่วิเวกเสมอมิได้ขาด ได้โอกาสเป็นภาวนาชำระจิตอย่างเดียว ไปง่าย อยู่ง่าย กินง่าย อย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นสอน เราก็ไม่ได้กังวลอะไร มีธรรมตุนไว้เป็นที่เพียงพอ พอเป็นพอไป พออยู่พอตาย ไม่เสียชาติที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่มีอะไร ศึกษาที่ใจเป็นสำคัญ จดจำคำสอนบ้างไม่ถึงกับห่างตำรา ถึงเวลาจำเป็นจะได้นำมาใช้

    เราออกจากท่านพระอาจารย์มั่น โอ๊ย!...เที่ยวไปอยู่ตามป่า ลำบากอยู่กับท่าน อาศัยบารมีท่านสบาย ออกจากท่านลำบากหน่อย คิดถึงท่าน บางทีน้ำตาไหล ท่านโอบอุ้มใจเราได้หมด บางทีก็ไปหาท่านอาจารย์ฝั้น ท่านอาจารย์พรหม ท่านอาจารย์ขาว ท่านอาจารย์กว่า ท่านอาจารย์กู่ ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ท่านอาจารย์กงมา ที่วัดดอยฯ เหล่านี้เรารู้จัก เราเป็นเด็ก ท่านเป็นพระผู้ใหญ่กันแล้วแต่กับอาจารย์หลุยคุ้นกับท่านเป็นพิเศษ ท่านทำเสนาสนะถวายท่านพระอาจารย์มั่น เราไปช่วยท่านบ่อย ๆ ถึงจะไปเที่ยวกรรมฐานในที่ไกล ๆ แค่ไหนก็ตาม แต่เวลาใกล้เข้าพรรษาก็วนเวียนอยู่ในรัศมีท่านพระอาจารย์มั่น ไม่ให้ห่างไกลท่านนัก

    บางคราวก็ขึ้นไปภาวนาที่ดอยธรรมเจดีย์ กลับไปทางหนองน้ำเค็ม อุดรฯ ที่หนองน้ำเค็มนี้ท่านพระอาจารย์มั่นเคยส่งให้เราไปอยู่ ท่านบอก

    “เจี๊ยะเว้ย...ไปอยู่หนองน้ำเค็ม”

    “ผมไม่ไปหรอก ผมจะอยู่ใกล้ ๆ กับครูบาจารย์”

    “เฮ้ย...บอกยาก”

    “ก็ผมมาเพื่อครูบาจารย์อย่างเดียว ผมไม่ไปอยู่ที่อื่นหรอก”

    แต่เมื่อออกจากท่านมาแล้วก็ไปอยู่บ้างอย่างที่ท่านสั่ง ออกพรรษาก็เดินเที่ยวไปเรื่อย ๆ ป่าเขาทางภาคอีสานไปเกือบหมด บางทีก็เที่ยววิเวกไปตามเทือกเขาภูพาน หรือบางครั้งก็ข้ามไปฝั่งลาว ชั่วระยะกาลที่สะดวกตามปกตินิสัยที่เป็นคนชอบอิสระ แต่จะไปที่ใดก็ตาม มักจะวนเวียนเข้ามากราบท่านพระอาจารย์มั่น เพราะระลึกเสมอว่า ท่านเป็นเจ้าชีวิตและเป็นผู้ให้ประทีปธรรมเสมอมา... ไปหลายที่จำไม่ได้หมด ไปหาธรรม ไม่ได้ไปหาจำฮิ...
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เหตุที่สนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

    [​IMG]
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น)


    เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น) ท่านเสด็จมาสอบสวนเรื่องต่างๆ ที่มีคนเข้าไปกราบบังคมทูลฟ้องที่วัดทรายงาม ท่านมาพักที่วัดทรายงามเป็นเวลานานๆ โยมพ่อโยมแม่เรามีความเลื่อมใสท่านยิ่งนัก หรือแม้แต่ผู้คนในถิ่นแถวนั้นที่ทราบข่าว ต่างก็ทยอยมากราบเข้าเฝ้า ท่านเป็นพระไม่ติดในลาภยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมไม่สามารถครอบงำท่านได้ น้อยนักที่ในชีวิตหนึ่งๆ จะมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าออกธุดงค์

    เมื่อพระองค์มาประทับที่วัดทรายงาม เราได้ไปปฏิบัติท่านสม่ำเสมอ จัดน้ำให้ท่านสรง อยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านโดยตลอด จึงสนิทกับพระองค์ท่านตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    ในภายหลังที่ท่านเสด็จกลับวัดบวรฯ แล้วก็ตาม เมื่อมีโอกาสจึงได้นำสามเณรไปฝากเรียนหนังสือที่วัดบวร กับพระองค์ท่าน พระองค์ก็ทรงเมตตารับไว้เสมอๆ เพราะพระองค์ชอบให้เด็กๆ บวชเณร อยากได้เณรเยอะๆ

    ในฤดูผลไม้มาก ออกลูกออกผล โยมพ่อโยมแม่ก็นำผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาล นั้นๆ เข้าไปถวายท่านทีละมากๆ พระองค์เมื่อเห็นโยมของเรามักจะทักอย่างสนิทกัน มักเรียกว่า “โยมแฟ.. อย่างนั้นอย่างนี้เสมอ”

    ต่อมาในระยะหลังเมื่อเรากลับจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว เราก็จะแวะพัก ที่วัดบวรฯ เสมอ สมเด็จท่านจัดให้พักกุฏิลออ ก่อนจาก ท่านก็เมตตาบอกเสมอว่า “มีโอกาส...เข้ามาพักด้วยกันใหม่นะ”

    เมื่อเรามาพักที่วัดบวรฯ บ่อยๆ จึงรู้จักมักคุ้นกับพระเถระที่วัดบวรฯ หลายรูป สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันนี้ก็คุ้นกับท่านมาก ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม) นี่ถือว่าเป็นสหธรรมิกกันเลย สนิทกับท่านมาก งานศพโยมพ่อโยมแม่ท่านไปแสดงธรรม ไปช่วยเหลือตลอด ที่คุ้นกับพระเถระผู้ใหญ่เหล่านี้ ส่วนมากสาเหตุเบื้องต้นเริ่มจากการคุยสนทนาธรรมะทางภาคปฏิบัติกัน ท่านชอบสอบถามพระป่า เกี่ยวกับเรื่องจิตตภาวนา เพื่อตรวจสอบความรู้ที่ท่านเรียนมาและในเรื่องที่เราปฏิบัติมาว่าความจริงแห่งธรรมที่เราปฏิบัติกับที่ท่านเล่าเรียน มันไปในทิวแถวแนวทางเดียวกันมั้ย
     

แชร์หน้านี้

Loading...