หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ อำเภอเมือง ปทุมธานี

ในห้อง 'กระทู้เก่า' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 21 มกราคม 2006.

แท็ก:
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG]หลวงปู่เทียนทำพระผง
    หลวงปู่เทียน เริ่มทำพระผงตั้งแต่ ปี พ.ศ.2506 เป็นต้นมา โดยหลวงปู่ได้เขียนผงอิทธิเจ และผงปถมัง ด้วยตัวของท่านเอง ตามสูตรการเขียนผงอยู่หลายปี นอกจากนี้หลวงปู่ยังได้เก็บสะสมผงอื่นๆ จากพระอาจารย์ดังๆ รวมทั้งว่านหลายชนิด เช่น นางกวัก ว่านเพชรน้อย เพชรใหญ่ เพชรกลับ พร้อมกันนี้ก็ได้นำเศษพระชำรุดจากพระผงสมเด็จกรุวัดใหม่อมตรส วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ผงวัดระฆังฯ ผงจากหลวงปู่หิน หลวงปู่นาค วัดระฆังฯ ผงจากวัดสามปลื้ม ผงจากวัดสุทัศน์ฯ
    ในครั้งแรก หลวงปู่ท่านทดลองพิมพ์พระเอง ปรากฏว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เนื้อพระเปาะ แตก และหัก พิมพ์ออกมาแล้วไม่สวยบ้าง
    หลวงปู่ได้แก้ไขและทดลองพิมพ์มาอีกหลายครั้ง ใช้น้ำมนต์และน้ำมันตั้งอิ้วเป็นตัวประสานผง จนประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจ
    ผลปรากฏต่อมาว่าพระผงหลวงปู่เทียน เนื้อดี เป็นมันแกร่ง คล้ายพระกรุวัดใหม่อมตรส และที่สำคัญเป็นที่เลื่องลือมากในพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ลูกศิษย์ลูกหาประชาชนทั่วไปต่างก็สนใจ เก็บสะสมกันยกใหญ่
    ในเวลาต่อมาไม่นานภายหลังที่หลวงปู่มรณภาพ พระผงหลวงปู่เทียนปลอมกันออกมาเป็นว่าเล่นอีกเช่นเดียวกับวัตถุมงคลประเภทเหรียญ และก็ปลอมได้ไม่เหมือน ดูง่ายสำหรับผู้ที่เคยเห็นของจริงมาแล้วก็สามารถจะดูออกว่าองค์ไหนแท้องค์ไหนปลอม
    พระผงที่หลวงปู่สร้างพอสรุปรวบรวมได้ดังนี้
    1. พระผงสมเด็จรุ่นพิเศษ
    พระสมเด็จเนื้อผงรุ่นพิเศษนี้ นับว่าเป็นพระที่ดังที่สุดเป็นที่เสาะหากันมากที่สุด และปลอมกันมากที่สุดเช่นกัน
    ลักษณะเป็นพระผงสมเด็จ 3 ชั้น ขนาดองค์พระกว้าง 3.5 ซม. สูง 5.6 ซม. เนื้อผงเป็นสีขาวอมเหลือง ด้านหลังตรง กลางองค์พระเป็นรูปหลวงปู่ประทับนั่งในท่าสมาธิ บนฐานภายในซุ้มลายกนก ด้านล่างมีข้อความเป็นภาษาไทยว่า "พระครูวรธรรมกิจ ๒๕๐๖" ฝังตะกรุดสาริกาเมตตามหานิยม 1 คู่
    พระสมเด็จรุ่นนี้ สร้างขึ้นในงานกวนข้าวทิพย์ หล่อรูปหลวงปู่ และฉลองพัดยศเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอกเมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม พ.ศ.2506 โดยมี นายจรัส ธีราสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (สมัยนั้น) เป็นประธานจัดสร้าง
    ข้อสังเกต สำหรับดูว่าองค์ไหนแท้ องค์ไหนปลอม มีจุดสังเกตง่ายๆ ดังนี้
    1) เนื้อพระของแท้จะดูแล้วมีมวลสารมาก สีพระออกขาวอมเหลือง ของปลอม เนื้อออกสีเทา ไม่มีมวลสาร
    2) ทรงพิมพ์ ของแท้จะสวย และดูองค์พระใหญ่ ฐานจะหนา ของปลอมไม่สวย องค์พระเล็กผอม ฐานเล็กบางอย่างเห็นชัดเจน
    3) ขนาด ของแท้ จะเล็กกว่า คือประมาณ 3.5x5.6 ซม. ของปลอม จะใหญ่กว่า คือประมาณ 4x6 ซม.
    4) รูปของหลวงปู่ด้านหลัง ตลอดจนซุ้มลายกนกอักษรที่เขียนอยู่ด้านล่างว่า "พระครูบวรธรรมกิจ ๒๕๐๖" มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนโดยสิ้นเชิงกล่าวคือ ของแท้จะดูละเอียดและสวยกว่าของปลอมมาก (โปรดดูภาพประกอบ) ของปลอม ฝีมือการปลอมจะหยาบมาก
    นอกจากนี้หลวงปู่ยังได้สร้างพระผงอื่นๆ อีกกว่า 20 ชนิด อาทิ
    - พระผงสมเด็จ 9 ชั้น ขนาด 2.5x3.5 ซม.
    - พระผงสมเด็จ 3 ชั้น ขนาด 2.5x3.5 ซม.
    - พระผงสมเด็จ 3 ชั้น หลังยันต์
    - พระนางพญา เนื้อผง
    - พระขุนแผน เนื้อผง
    - พระรอด เนื้อผง
    - พระทุ่งเศรษฐี เนื้อผง
    - พระรูปเหมือนหลวงปู่ เนื้อผง ขนาด 1.6x2.2 ซม.
    2. พระสมเด็จเกศบัวตูม (สมเด็จไตรมาส) พ.ศ. 2507
    ลักษณะเป็นพระผงสมเด็จ 3 ชั้น ด้านหลังเป็นรูปหลวงปู่ประทับนั่งบนฐานในท่าสมาธิมีอักษรไทยใต้รูปหลวงปู่ว่า "บวรธรรมกิจ (เทียน)" ไม่มีซุ้มเหมือนพิมพ์พิเศษฝังตะกรุดสาริกา 2 ดอก จำนวนการสร้าง 2507 องค์เท่าปี พ.ศ. ที่สร้าง
    ส่วนผสม หรือมวลสารมีผงอิทธิเจ ผงปถมัง ว่าน 108 ปูนขาว อาหารที่ฉันเหลือ น้ำมันตั้งอิ้ว ผงเก่าจากการทำพระผงพิมพ์พิเศษ 2506 ปัจจุบันค่อนข้างหายาก สนนราคาเช่าหาอยู่ในหลักร้อยถึงพันบาท

    3. พระสมเด็จ รุ่น พ.ศ. 2508
    ลักษณะเป็นพระผงสมเด็จฐาน 3 ชั้น เหมือนพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ทั่วไป ด้านหลังเป็นรูปหลวงปู่ในท่าสมาธิ ประทับบนฐาน ครองจีวรลดไหล่ พาดสังฆฏิ ไม่มีซุ้มเหมือนรุ่น 2506 ใต้รูปหลวงปู่มีข้อความว่า "หลวงปู่เทียน ๒๕๐๘" ขนาดองค์พระเท่ากับรุ่น 2506 เนื้อพระ มวลสาร สีสัน คล้ายรุ่น 2506 เช่นกัน ใต้ฐานบรรจุตะกรุด 2 ดอก
    4. พระสมเด็จคะแนน
    สร้างด้วยเนื้อผงอิทธิเจ ผงปถมัง ที่หลวงปู่เขียน ผสมกับผงสมเด็จวัดระฆังฯ วัดใหม่อมตรส เส้นผมของหลวงปู่จำนวนการสร้าง 84,000 องค์
    5. พระสมเด็จ 108
    สร้างก่อนหลวงปู่มรณภาพ เพียง 3 เดือน ในปี พ.ศ. 2509 ด้านหน้าเป็นพระทรงพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์พระประธาน ด้านหลังเป็นรูปหลวงปู่ในซุ้มกนกเหมือนรุ่น พ.ศ. 2506
    พระสมเด็จ 108 สร้างเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งฝังตะกรุดสาริกาคู่ กับอีกชนิดหนึ่ง ไม่ฝังตะกรุดสาริกา สร้างชนิดละ 108 องค์ เท่านั้น
    หลวงปู่เทียน ทูลเกล้าถวายพระสมเด็จ
    หลวงปู่เทียน ได้นำพระผงสมเด็จขึ้นทูลเกล้าถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2509 ก่อนหลวงปู่มรณภาพเพียงเดือนเศษ
    พระสมเด็จที่หลวงปู่เทียนนำขึ้นทูลเกล้าฯ มี 3 ชนิด คือ พระสมเด็จเกศบัวตูม (สมเด็จไตรมาส) พระสมเด็จคะแนนและพระผงสมเด็จ 108
    หลวงปู่เทียนมรณภาพ
    หลวงปู่เทียนเป็นพระเถระทรงไว้ด้วยวิทยาคุณ เมตตาและอยู่ในพรหมวิหาร สมถะมักน้อย ถือสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์ใดๆ มีแต่การสร้างสรรเพื่อความเจริญของพระพุทธศาสนา และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ชีวิตของหลวงปู่เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งคือ การเจ็บป่วยมีน้อยมาก
    แต่การละซึ่งสังขาร เป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีใครหลีกพ้น ไม่มีอัศจรรย์ ต้องเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ หลวงปู่เทียนได้ถึงกาลมรณภาพละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปี มะเมีย พ.ศ.2509 ตรงกับวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2509 เวลา ตี 2 สิริอายุรวม 90 ปี พรรษา 70
    นับว่าชาวเมืองปทุมธานี และผู้อยู่ในวงการพระเครื่องได้สูญเสียพระคณาจารย์ยุคเก่าไปอีก 1 องค์
    ทางวัดโบสถ์ กรรมการวัดศิษยานุศิษย์ ประชาชน ชาวบ้าน ได้สร้างรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงของหลวงปู่ ประดิษฐานอยู่ในวิหารเล็กด้านข้างของอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาต่อไป ซึ่งปัจจุบันประชาชนไปสักการะบูชาวันละมาก เคยมีปรากฏว่า ผู้ที่ไปบูชา แล้วเสี่ยงทายด้วยการเขย่าติ้วใบเซียมซี แล้วนำเลขไปแทงล็อตเตอรี่ ถูกรางวัลได้เงินเป็นแสน จนกลับมาจัดงานฉลองให้หลวงปู่ มีภาพยนตร์ฉายตลอดรุ่ง
    ประวัติพระสมุห์ราตรี ถาวโร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ปัจจุบัน
    พระสมุห์ราตรี ถาวโร เดิมชื่อ ราตรี นามสกุล ถี่ถ้วน เกิดที่บ้านตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน พ.ศ.2466 ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2466 บิดาชื่อ นายจำปี ถี่ถ้วน มารดาชื่อ นางทองเย็น (ฉิ่งเพราะ) ถี่ถ้วน ประกอบอาชีพค้าขาย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน คือ
    1. เป็นชาย (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก)
    2. พระสมุห์ราตรี ถาวโร (ราตรี ถี่ถ้วน)
    3. เด็กชายสายหยุด ถี่ถ้วน (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก)
    4. นางมาลี มณีแย้ม
    5. เป็นหญิง (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก)
    พระสมุห์ราตรี ถาวโร สมัยเป็นเด็กเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนประชาบาลวัดโบสถ์จบ ป.4 และช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพค้าขายเรื่อยมาจนอายุได้ 23 ปี บิดา-มารดาได้จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมา วัดหงส์ปทุมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี อยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กับวัดโบสถ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2489 โดยมี หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปทุมวรคุณ (หลวงปู่เอี่ยม ) วัดหงส์ปทุมาวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทองอ่อน โกวิโท วัดบางโพธิ์ใน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เป็นอนุสาวนาจารย์
    ได้รับฉายาว่า "ถาวโร"
    เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหงส์ปทุมาวาสนานถึง 22 พรรษา ก่อนย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ต่อจากพระอาจารย์หลวงปู่เทียนซึ่งมรณภาพไป
    การศึกษาทางพระปริยัติธรรม
    เมื่ออุปสมบทแล้วพระสมุห์ราตรี ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมกับหลวงปู่เอี่ยม และสอบได้นักธรรม ดังนี้
    พ.ศ. 2489 ปีแรกที่อุปสมบท สอบได้นักธรรมตรี
    พ.ศ. 2490 สอบได้นักธรรมโท
    พ.ศ. 2491 สอบนักธรรมโทอีกครั้ง
    พ.ศ. 2493 สอบได้นักธรรมเอก
    หน้าที่ทางการศึกษา การปกครองและสมณศักดิ์
    1. เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดหงส์ปทุมาวาส
    2. เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดมะขาม อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี (พุทธศาสนาวันอาทิตย์)
    3. เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดบางโพธิ์ ในอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
    4. พ.ศ. 2511 รักษาการเจ้าอาวาสวัดโบสถ์
    5. พ.ศ. 2513 เป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์
    6. พ.ศ. 2516 เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านกลาง (และได้ลาออกเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2529)
    7. เป็นเลขาเจ้าคณะอำเภอเมือง
    8. เป็นพระครูสมุห์ราตรีถาวโร ฐานานุกรมของเจ้าคณะอำเภอเมือง เจ้าอาวาสวัดบางโพธิ์ใน จนปัจจุบัน
    งานพัฒนาวัดโบสถ์
    ตลอดระยะเวลาที่เป็นเจ้าอาวาส พระสมุห์ราตรี ได้พัฒนาวัดโบสถ์มาพอสมควรอาทิ ปฏิสังขรณ์อุโบสถ สร้างกุฏิสงฆ์ กุฏิเจ้าอาวาส สร้างฌาปนสถาน (เมรุ) ทำถนนภายในวัด ซ่อมศาลาท่าน้ำ ซ่อมศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ และอื่นๆ ตลอดมา พระสมุห์ราตรี สร้างเหรียญหลวงปู่เทียน พ.ศ.2514 งานหล่อพระประธานหลัง ภ.ป.ร.
    หลังจากที่มารักษาการและเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์อย่างเป็นทางการ รวม 3 ปีเศษในปี พ.ศ.2514 พระสมุห์ราตรีได้จัดงานหล่อพระประธานขึ้นและในการนี้ก็ได้ออกเหรียญหลวงปู่เทียน เป็นครั้งแรกภายหลังที่หลวงปู่มรณภาพไปแล้วประมาณ 5 ปีเศษ
    ลักษณะของเหรียญเป็นรูปอาร์ม วัดที่ส่วนกว้างที่สุดได้ 3 ซม. วัดความสูงถึงรูใส่ห่วงได้ 4 ซม. เป็นเหรียญทองแดงหูในตัว ด้านหน้าตรงกลางเหรียญเป็นรูปหลวงปู่เทียนประทับนั่งบนอาสนะในท่าสมาธิเพชร ครองจีวรลดไหล่พาดสังฆาฏิ สวมสายประคำแบบพระเกจิอาจารย์ทางเมืองเหนือ ด้านบนลงอักขระหัวใจพระเจ้า 5 พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ
    ด้านล่างใต้รูปหลวงปู่มีข้อความเป็นภาษาไทยว่า "พระครูบวรธรรมกิจหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ จ.ปทุมธานี" ข้างเหรียญยกขอบเป็น 2 เส้น เส้นในเล็กเส้นนอกใหญ่
    ด้านหลัง ข้างเหรียญยกเป็นขอบเส้นหนา ตรงกลางเป็นเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ด้านล่างมีข้อความเป็นภาษาไทยว่า "ที่ระลึกในงานหล่อพระประธาน 30 เม.ย. ๑๔"
    เหรียญรุ่นนี้ แม้ว่าจะเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นภายหลังจากหลวงปู่เทียนมรณภาพแล้วก็ตาม แต่เป็นเหรียญที่ออกแบบได้สวยงามมาก และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากสำนักพระราชวัง ให้ใช้เครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. และที่สำคัญทางวัดได้จัดพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ในงานหล่อพระประธาน มีพระคณาจารย์ดังๆ มาร่วมนั่งปรกปลุกเสกมากมายหลายรูป อาทิเช่น หลวงปู่เส็ง วัดบางนา ปทุมธานี (ศิษย์หลวงปู่เทียน), หลวงปู่เอี่ยม วัดหงส์ปทุมาวาส ปทุมธานี (ศิษย์หลวงปู่เทียน), พระครูสาทรพัฒนกิจ (หลวงพ่อลมูล) วัดเสด็จ ปทุมธานี (ศิษย์หลวงปู่เทียน), หลวงปู่วงศ์ วัดมะขาม ปทุมธานี (ศิษย์หลวงปู่เทียน), พระมหาประสิทธิ์ ปญฺญพโล เจ้าอาวาสวัดมะขาม (ปัจจุบัน) ศิษย์หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร, หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์ โก่งธนู ลพบุรี, หลวงพ่อถิรวัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยานมิตร กรุงเทพมหานคร
    นอกจากนี้พระสมุห์ราตรียังได้นำเหรียญรุ่นนี้เก็บไว้ในโบสถ์เพื่อปลุกเสกเดี่ยวต่ออีก 9 คืน จึงนำออกแจกเป็นที่ระลึกในงานหล่อพระประธานวัดโบสถ์ ปี พ.ศ.2514 ดังกล่าว
    สำหรับจำนวนการสร้าง สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวน 8,000 เหรียญ ปัจจุบันหายาก เพราะได้รับความสนใจและนิยมจากประชาชนชาวบ้านมาก และอาจเป็นเพราะว่าไม่สามารถหาเหรียญสมัยที่หลวงปู่สร้างได้ จึงทำให้เหรียญชุดนี้หมดไปในปี 2514 นั่นเอง
    พระสมุห์ราตรี สร้างเหรียญหลวงปู่เทียน รุ่น พ.ศ. 2529
    ก่อนวันเข้าพรรษาของปี พ.ศ. 2529 พระสมุห์ราตรีถาวโรได้สร้างเหรียญหลวงปู่เทียนขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง มี 2 ชนิด คือ เนื้อเงิน จำนวน 45 เหรียญ เนื้อทองแดง จำนวน 5,000 เหรียญ เหรียญรุ่นล่าสุดนี้ปลุกเสกโดย พระครูปทุมวรคุณ (หลวงปู่เอี่ยม) อายุ 80 ปี เจ้าอาวาสวัดหงส์ปทุมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่เทียน ที่อาวุโสที่สุดในปัจจุบัน
    ในตอนแรกพระสมุห์ราตรีขอนิมนต์ให้ปลุกเสกสัก 7 วันแต่หลวงปู่เอี่ยม ท่านบอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นเหรียญรูปเหมือนของครูบาอาจารย์ จะต้องทำให้ดีและแน่นอนสักหน่อย ดังนั้นเหรียญหลวงปู่เทียนรุ่นนี้จึงปลุกเสกเดี่ยวโดยหลวงปู่เอี่ยมเป็นเวลา 1 ไตรมาสของปี พ.ศ. 2529
    ลักษณะของเหรียญ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกับเหรียญรุ่น พ.ศ.2506 ขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 3 ซม. ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เทียนครึ่งองค์ ครองจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ มีข้อความว่า "หลวงปู่เทียน" ข้างเหรียญยกขอบเป็นเส้นหนารอบเหรียญ
    ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน 7 ชั้นในซุ้มเรือนแก้ว ข้างเหรียญยกขอบเป็นเส้นหนา ด้านล่างมีข้อความว่า "หลวงปู่เทียน" ด้านหลังเป็นยันต์พระเจ้า 5 พระองค์ปลุกเสกโดย หลวงปู่เอี่ยม เช่นกัน
    วัตถุมงคลหลวงปู่เทียนวันโบสถ์ รุ่น พ.ศ.2534
    ปี พ.ศ.2534 ทางวัดโบสถ์ได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2534 มีพระเกจิอาจารย์มาร่วมนั่งปรกปลุกเสกหลายรูป คือ
    หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จังหวัดสิงห์บุรี, หลวงพ่ออุตมะวัดวังก์วิเวการาม จังหวัดกาญจนบุรี, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม จังหวัดสิงห์บุรี, หลวงพ่อมูล วัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี, หลวงพ่อสอน วัดศาลเจ้า จังหวัดปทุมธานี, หลวงพ่ออำภา วัดน้ำวน จังหวัดปทุมธานี, หลวงพ่อราตรี วัดโบสถ์ จังหวัดปทุมธานี
    วัตถุมงคลที่สร้าง ได้แก่ รูปเหมือนขนาด 5 นิ้ว 1 นิ้ว เหรียญพระผงสมเด็จ พระปิดตา
    สำหรับวัตถุมงคลหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ รุ่น พ.ศ.2534 ขณะนี้ยังมีเหลือที่วัด คือ รูปหล่อลอยองค์ 1 นิ้ว ราคาบูชาองค์ละ 100 บาท พระผงสมเด็จเหรียญหลวงปู่เทียนเนื้อทองแดง และ พระผงปิดตา บูชาองค์ละ 50 บาท ขอเชิญบูชาได้ที่วัดโบสถ์ หรือ ธนาณัติสั่งจ่ายในนาม พระสมุห์ราตรี ถาวโร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 สั่งจ่าย ปท.เทศปทุม ค่าส่ง 10 บาท
    รายได้เพื่อซ่อมอุโบสถและศาลาการเปรียญ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก หากสงสัยประการใด หรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดโทร.ไปได้ที่เบอร์ 5816679 กุฏิเจ้าอาวาส หลวงพ่อท่านอยู่ทุกวันครับ
    พระผงสมเด็จหลวงปู่เทียนให้ลาภ
    พระผงสมเด็จหลวงปู่เทียนรุ่นพิเศษ 2506 องค์ที่ถ่ายภาพมาให้ชมกันนี้ เป็นของ คุณพิชิต เจริญพรสวัสดิ์ และพิมพ์พิเศษ พ.ศ.2508 ของคุณเนี้ยว รังสิต
    ทั้งคุณพิชิต และคุณเนี้ยวบอกว่าตั้งแต่ได้มาถูกล็อตเตอรี่มาหลายครั้งติดต่อกันบ้าง เว้นบ้าง เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ถูกเป็นประจำ ไม่ถึงกับทำให้ร่ำรวยหรอกครับ เพราะผมซื้อไม่มาก ซื้อบ้าง เว้นบ้าง แล้วแต่โอกาส แต่ก่อนแต่ไรผมเองไม่เคยมีโชคทางนี้ แต่พอได้ท่านมา ผมก็ถูก และถูกบ่อยผมเองศรัทธาหลวงปู่มานานนมแล้วครับ ทุกวันนี้ยังต้องไปกราบรูปหล่อท่านที่วัดโบสถ์อยู่เสมอ เคยมีคนมาขอซื้อพระสมเด็จองค์นี้หลายพันผมเองก็จนใจ มีองค์เดียว แต่ถึงมีหลายองค์ ผมก็ขายหลวงปู่ไม่ได้หรอกครับ และทุกวันนี้ทั้ง 2 ท่าน ยังพกติดตัวอยู่เป็นประจำไม่เคยขาด
    บทสรุป
    พระครูบวรธรรมกิจ หรือ หลวงปู่เทียน อดีตเจ้าอาวาสโบสถ์ อำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี นับว่าเป็นพระเถระยุคเก่าของเมืองปทุมธานี ในอดีตรูปหนึ่ง ที่คนทั้งหลายรู้จักท่านว่าเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด วัตถุมงคลทุกอย่างของหลวงปู่นั้นศักดิ์สิทธิ์ เลื่องลือมาช้านานไม่ว่าจะเป็นตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้าประเจียด เหรียญ พรดะผงทุกรุ่น มีผู้ที่เคยได้รับไปแล้วเกิดประสบการณ์เป็นที่อัศจรรย์ทุกด้าน
    ตั้งแต่เมตตามหานิยม แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างจะหายาก และราคาเช่าหาบูชากันแพงริ่ว และนับวันจะยิ่งแพงเพิ่มขึ้นไปอีก แม้เหรียญเพียง 2 รุ่นที่พระสมุห์ราตรีถาวโร เจ้าอาวาสปัจจุบัน สร้างขึ้นมาใน พ.ศ. 2514 และ 2529 ภายหลังที่หลวงปู่ มรณภาพไปแล้ว ยังดัง ยังมีผู้นิยม และอยากได้ไว้ใช้ เรียกว่าสร้างเมื่อใดก็หมดเมื่อนั้น
    ครับ ! หลวงปู่เทียนท่านดังมาแต่อดีต แม้ปัจจุบันก็ดัง อนาคตก็จะต้องดัง และดังเป็นอมตุตลอกไป
    * พระสมเด็จเนื้อผง รุ่นแรก พ.ศ. 2506 ผสมผงวัดระฆังฯ วัดใหม่อมตรส เมตาแคล้วคลาดเป็นที่โจษขาน*
     
  2. niwatdokputh

    niwatdokputh เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 มกราคม 2006
    โพสต์:
    26
    ค่าพลัง:
    +173
    ประวัติเสริมหน่อยครับ พ่อผมเป็นเพื่อนซี้กับหลานหลวงปู่น่ะ หน้าคล้ายหลวงปู่มากเลยครับ
    ข้อ1.นะครับ หลวงปู่สร้างสมเด็จตั้งแต่ปี2466แล้วครับ เป็นพิม9ชั้น หลังสมเด็จจะมีพิมรูปหลวงปู่ในลักษณะเนื้อผงจะนูนขึ้นมาครับ
    ข้อ.2 สมเด็จหลวงปู่นะครับที่ดังมากก็รุ่น2506ครับที่หลังเป็นรูปหลวงปู่นั่งโต๊ะคล้ายโต๊ะหมู่น่ะ แล้วก็จะมีเหรียญ รุ่น2506เนี่ยแหละครับที่ดังเพราะว่าสร้างจำนวนมากครับ แล้วก็เป็นรู่นที่ปลอมมากที่สุดด้วยครับ พระรุ่น2506เนี่ย
    ข้อ.3พระที่ถวายในหลวงนั้น จะมีพระปิดตานกกระจาบด้ายครับ สร้างไม่กี่องครับ ถวายในหลวงเสร็จที่เหลือแจกญาติๆครับ
    ข้อ.4 เหรียญรุ่นแรก2490ครับออกที่วัดบ่อเงินครับ หลวงปู่สร้างวัดบ่อเงินด้วยเลยออกที่นั้นครับ
    ข้อ.5ส่วนรุ่นแรกที่ออกที่วัดโบสก็มีรุ่น2491ครับ แต่เขาจะนิยมกันรุ่นที่ออกวัดบ่อเงินมากกว่าครับ
    ข้อ.5ผ้ายันนั้น ใครอยากเห็นของจริงก็คุยกับผมได้ครับ หายากมากๆเลยครับรุ่นหลังนี้จะมีให้เห็นรู้จักกันหรือเปล่าไม่รู้ครับ
    ข้อ.6วัดถุมงคลหลัง2509นั้นหลวงปู่ไม่ได้ปลุกเสกครับ ไม่นิยมเหมือนรุ่นแรกๆที่หลวงปู่อยู่ครับ ขอบคุณครับผมรู้มาก็คล่าวๆนะครับพ่อผมเล่าให้ฟัง
    ถ้ามีปัญหาอะไรก็คุยด้วยกะผมได้นะครับ อย่าถือสานะครับ
     
  3. chatsiri

    chatsiri เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    88
    ค่าพลัง:
    +195
    ใช่..ผมมีด้วยแหละรุ่น ๒๔๖๖ พิมพฺ ๙ ชั้น ด้านหลังเป็นรูปหลวงปู่นูนขึ้นมาในกรอบกระจก เสริมนิดฐานมีตะกรุดคู่ด้วย เนื้อจะแกร่งแบบสมเด็จวัดระฆังเลยไงงั้น
     
  4. thaiput

    thaiput เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    9,528
    ค่าพลัง:
    +27,656
    ได้ความรู้เยอะเลยครับ..ขอโมทนาสาธุด้วยนะครับ..สาธุๆๆๆ
     
  5. พอชูเดช

    พอชูเดช เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    1,285
    ค่าพลัง:
    +4,339
    -เข้ามาชมพระงามๆน่าสนใจ ครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 พฤศจิกายน 2010
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...