หลวงปู่เสาร์ทิพยจักษุ กรรมฐานนี่ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญหมู่นี้ไม่มี

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 20 กรกฎาคม 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,489
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    มีผู้บอกว่าเคยได้ฟังมาว่าหลวงปู่ฝั้นดูหมอเก่ง หลวงพ่อแก้ว่า...ไม่มีน้า...ไม่เคยหรอก เหมือน ๆ กับมีพระองค์หนึ่งว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั้น ไปตัดเหล็กไหลที่ถ้ำสระบัว ภูเขาควาย มันไม่ตรงกับความจริง เลยแม้แต่นิดหนึ่ง พระองค์นั้นชื่อพระอาจารย์จันทร์ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ เขาบอกว่าตั้งแต่เขาเป็นเณรโน่น ทีนี้เหล็กไหลมันเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ท่านผู้เคร่งต่อพระธรรมวินัยท่านจะไปทำได้อย่างไร

    ขนาดหลวงพ่อเอาสีผึ้งใส่มาในย่ามนี่ท่านยังว่าเอา ๆ ยังงงยังกะไก่ตาแตกเลย... โอ๊ย! หลวงปู่นี่มาค้นดูย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร ตลับสีผึ้งนี่ มีโยมเขาทำให้ตั้งแต่เป็นเณรอยู่บ้านนอก เขาบอกว่าอันนี้จะไปเรียนหนังสือ มันเรียนหนังสือดี ก็เลยเอามา... หลวงปู่เสาร์ดุ จะมาภาวนาเอามรรคผลนิพพาน ยังเอาตลับสีผึ้งใส่ย่ามมาด้วยมันจะไปได้อย่างไร...

    ว้าหลวงปู่นี่มาค้นย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร พอตื่นเช้ามาก็เอามัดติดกับก้อนอิฐ ปาลงแม่น้ำมูลเลย... ไม่มีหรอกกรรมฐานนี่ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญ หมู่นี้ไม่มี

    คัดลอกมาจาก
    ปฏิปทาและธรรมของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
    วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_sao/lp-sao-03.htm
     
  2. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,489
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ปฏิปทาและธรรมของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

    โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
    วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

    เนื้อความ :

    หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย

    เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ

    เวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่าง ๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ กวนใจ เหมือนท่านพระอาจารย์มั่น

    เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า "ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์"

    และ "เราเกิดเป็นมนุษย์มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ" แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก

    ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒ - ๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น

    หลวงปู่เสาร์สอนทำอะไรให้เป็นเวลา ให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓

    ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในสำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรกต้องทำให้ได้ก่อน

    บางทีก็ลองเรียนถามท่าน หลวงปู่ทำไม สอนอย่างนี้ การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำเข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ ทีนี้นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้ทำอย่างนี้ แม้แต่นักสะกดจิต เขาก็ยังยึดหลักอันนี้

    มันมีอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อไม่เคยลืมหลักปฏิบัติที่เวลาไปปฏิบัติท่าน ท่านจะพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า "เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด" ก็ถามว่า "จิตมันฟุ้งซ่านหรือไงอาจารย์" "ถ้าให้มันหยุดนิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า" กว่าจะเข้าใจความหมายของท่านก็ใช้เวลาหลายปี

    ท่านหมายความว่า เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันหยุดนิ่งก็ปล่อยให้มันหยุดนิ่งไป อย่าไปรบกวนมัน ถ้าเวลามันจะคิดก็ให้มันคิดไป เราเอาสติตัวเดียว เป็นตัวตั้งเป็นตัวตี

    ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนตฺสีโล

    ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานโดยถ่ายเดียว

    หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงคกรรมฐานปักกลดอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสาน คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่า ท่านออกมาบวชในพระศาสนา ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว

    ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู)เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติ ท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง

    เดินจงกรมแข่งหลวงปู่เสาร์

    สมัยที่หลวงพ่อเป็นเณรอยู่ใกล้ ๆ ท่าน ถ้าวันไหนเราคิดว่าจะเดินจงกรมแข่งกับท่านอาจารย์ใหญ่ วันนั้นท่านจะเดินจงกรมไม่หยุด จนกว่าเราหยุดนั่นแหละท่านจึงหยุด ท่านจะไม่ยอมให้เราชนะท่าน เวลาท่านสอน สอนสมาธิ ถ้ามีใครถามว่า ส่วนใหญ่คนอีสานก็ถามแบบภาษาอีสาน

    "อยากปฏิบัติสมาธิ เฮ็ดจั๋งได๋ญ่าท่าน" "พุทโธสิ" "ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา" "อย่าถาม" "พุทโธแปลว่าจั๋งได๋" "ถามไปหาสิแตกอีหยัง ยั้งว่าใหภาวนา พุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้" แล้วก็ไม่มีคำอธิบาย

    ถ้าหากว่าใครเชื่อตามคำแนะนำของท่าน ไปตั้งใจภาวนาพุทโธ จริง ๆ ไม่เฉพาะแต่เวลาเราจะมานั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ ใจนึกพุทโธไว้ให้ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกว่าเวลานี้เราจะภาวนาพุทโธ เวลานี้เราจะไม่ภาวนาพุทโธ ท่านสอนให้ภาวนาทุกลมหายใจ

    แม้เข้าห้องน้ำก็ต้องภาวนา ไม่บาป ธรรมะ เป็นอกาลิโก

    บางคนก็จะไปข้องใจว่า ภาวนาพุทโธ ในห้องน้ำห้องส้วม มันจะไม่บาปหรือ ไม่บาป ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาล เลือกเวลา พระองค์เทศน์สอนไว้แล้ว ถ้ายิ่งเข้าในห้องน้ำ ห้องส้วมน่ะ ยิ่งภาวนาดี เพราะมันมีสิ่งประกอบ สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก มันก็แสดงออกมาให้เราเห็น แล้วเราภาวนา พุทโธ พุทโธ แปลว่ารู้ รู้ในสิ่งที่เราทำอะไรอยู่ในขณะนั้น

    ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเชื่อในคำแนะนำของหลวงปู่ท่าน ไปภาวนาพุทโธอย่างเอาจริงเอาจัง ส่วนใหญ่จะไม่เกิน ๗ วัน บางคนเพียงครั้งเดียวจิตสงบ สว่าง รู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา ทีนี้เมื่อภาวนาจิตเป็นสมาธิเวลามาถามท่าน ภาวนาพุทโธแล้ว จิตของฉันนี่ตอนแรก ๆ มันมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับจะง่วงนอน ทีนี้มันสะลึมสะลือ เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น

    พอเผลอ ๆ จิตมันวูบลงไปสว่างตูมขึ้นมา เหมือนกับมันมองเห็นทั่วหมดในห้อง จนตกใจว่า แสงอะไรมันมาสว่างไสว พอตกใจแล้ว สมาธิถอน ลืมตาแล้วความมืดมันก็มาแทนที่ อันนี้เป็นจุดสำคัญ คือถ้าจิตของเราได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ มันจะเกิดความตื่นตกใจหรือเกิดเอะใจขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเราไม่เกิดการตื่นใจหรือเกิดตกใจเกิดเอะใจ จิตของเราสามารถมีสติประคับประคองรู้อยู่โดยธรรมชาติจิตมันก็สงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข

    เล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่เสาร์ฟัง ท่านบอกว่า เร่งเข้า ๆ ๆ


    เมื่อหลวงพ่อไปเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านฟัง ถ้าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ท่านบอกว่า เร่งเข้า ๆๆ แล้วจะไม่อธิบาย แต่ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น อย่างใครทำสมาธิภาวนามาแล้วมันคล้าย ๆ กับว่า พอจิตสว่างรู้ เห็นนิมิตขึ้นมาแล้วก็น้อมเอานิมิตเข้ามา พอนิมิตเข้ามาถึงตัวถึงใจแล้ว มันรู้สึกอึดอัดใจเหมือนหัวใจถูกบีบแล้ว สมาธิที่สว่างก็มืดไปเลย

    อันนี้ท่านบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าหากว่าไปเล่าให้อาจารย์องค์ใดฟัง ถ้าท่านแนะนำว่าให้น้อมให้เอานิมิตนั้นเข้ามาหาตัว อันนี้เป็นการสอนผิด แต่ถ้าว่าท่านผู้ใดพอไปบอกว่า ภาวนาเห็นนิมิตท่านแนะนำให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่

    คล้ายๆ กับว่าไม่สนใจกับนิมิตนั้น แล้วนิมิตนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในแง่ต่าง ๆ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี มีสมาธิมั่นคง เราจะอาศัยความเปลี่ยนแปลงของมโนภาพอันเป็นของนิมิตนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    นิมิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นปฏิภาคนิมิต ถ้าหากว่านิมิตที่ปรากฏแล้วมันหยุดนิ่งไม่ไหวติง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ บางทีสมาธิของเรามันแน่วแน่ ความทรงจำมันฝังลึกลงไปในส่วนลึกของจิตไปถึงจิตใต้สำนึก เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว เราไม่ได้นึกถึงเหมือนกับคล้ายๆ มองเห็นนิมิตนั้นอยู่ นึกถึงมันก็เห็น ไม่นึกถึงมันก็เห็น มันติดตาติดใจอยู่อย่างนั้น อันนี้เรีกยว่า อุคคหนิมิต

    ว่ากันง่าย ๆ ถ้าจิตของเรามองเพ่งอยู่ที่ภาพนิ่ง เป็นอุคคหนิมิต ถ้าจิตเพ่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของนิมิตนั้น เป็นปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิต เป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน แต่ปฏิภาคนิมิตนั้น เป็นสมาธิขั้นวิปัสสนา เพราะจิตกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลง อันนี้ถ้าหากว่าใครภาวนาได้นิมิตอย่างนี้ ไปเล่าให้ท่านอาจารย์เสาร์ฟัง ท่านจะบอกว่า เอ้อ! ดีแล้ว เร่งเข้าๆๆ

    แต่ถ้าใครไปบอกว่า ในเมื่อเห็นนิมิตแล้ว ผมหรือดิฉันน้อมเข้ามาในจิตในใจ แต่ทำไมเรื่องนิมิตเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว จิตที่สว่างไสวปลอดโปร่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มันมืดมิดลงไปแล้วเหมือนกับหัวใจถูกบีบ หลังจากนั้น จิตของเราไม่เป็นตัวของตัวคล้าย ๆ กับว่าอำนาจสิ่งที่เข้ามานั้นมันครอบไปหมด ถ้าไปเล่าให้ฟังอย่างนี้ ท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง

    เมื่อเห็นนิมิตแล้วกำหนดให้รู้เฉยๆ อย่าน้อมเข้ามา ถ้าน้อมเข้ามาแล้ว นิมิตเข้ามาในตัว มันจะกลายเป็นการทรงวิญญาณ อันนี้เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมาแนะนำเราว่า ทำสมาธิแล้วให้น้อมจิตไปรับเอาอำนาจเบื้องบน หรือเห็นนิมิตแล้วให้น้อมเข้ามาในตัว อันนี้อย่าไปเอา มันไม่ถูกต้อง ในสายหลวงปู่เสาร์นี่ ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ

    ทำไมหลวงปู่เสาร์สอนภาวนาพุทโธ เพราะพุทโธเป็นกิริยาของใจ

    หลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่าทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่าที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นหนังสือเราจะเขียน พ-พาน-สระ อุ-ท-ทหาร สะกด สระ โอ ตัว ธ-ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่งสว่างรู้ตื่นเบิกบาน

    พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ มันแถมมีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก

    อันนี้มันเป็น พุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต มันใกล้กับความจริง แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น ที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธนั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ

    ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนี้ เราก็ต้องท่องพุทโธๆๆๆ เหมือนกับว่าเราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขาหรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกซ้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา

    ทีนี้ในทำนองเดียวกันในเมื่อเรียก พุทโธๆๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้าควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน

    ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไปจิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคอบจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียดๆๆ ลงไป

    ในช่วงเหตุกราณ์ต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาใน จะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบ ๆ จนกว่าจิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียว ร่างกายตัวตนหายหมด

    ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ขึ้นอึด เน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป

    สมาธิในอริยมรรคอริยผล สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม

    ทีนี้ถ้าหากว่า จิตย้อนมามองรู้เห็นอย่างนี้ จิตของผู้นั้นเดินทางถูกต้องตามแนวทางอริยมรรค อริยผล ถ้าหากว่า สงบ สว่าง นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน ร่างกายตัวตนหาย แล้วก็สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม อันนี้เรียกว่า สมาธิขั้นฌานสมาบัติ ไปแบบฤาษีชีไพร

    ถ้าหากจิตของผู้ปฏิบัติไปติดอยู่ในสมาธิแบบฌานสมาบัติ มันก็เดินฌานสมาบัติ ทีนี้ฌานสมาบัตินี้มันเจริญง่ายแล้วก็เสื่อมง่าย ในเมื่อมันเสื่อมไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรเหลือ แต่ถ้าหากสมาธิแบบอริยมรรค อริยผลนี้ ในเมื่อเราได้สมาธิซึ่งเกิดภูมิความรู้ความเห็น เช่น เห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปแล้ว

    ภายหลังจิตของเราก็จะบอกว่าร่างกายเน่าเปื่อยเป็นของปฏิกูลก็ได้ อสุภกรรมฐาน เนื้อหนังพังลงไปแล้วยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็ได้ อัฐิกรรมฐาน ทีนี้เมื่อโครงกระดูกสลายตัวแหลกไปในผืนแผ่นดิน จิตก็สามารถกำหนดรู้ ได้ ธาตุกรรมฐาน

    แต่เมื่อในช่วงที่จิตเป็นไปนี่ จิตจะไม่มีความคิด ต่อเมื่อถอนจากสมาธิมาแล้วสิ่งรู้หายไปหมด พอรู้ว่ามันมาสัมพันธ์กับกายเท่านั้นเอง จิตตรงนี้จะอธิบายให้ตัวเองฟังว่านี่คือ การตาย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก

    ในเมื่อเนื้อหนังพังไปหมดแล้วก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ทีนี้โครงกระดูกมันก็แหลกละเอียดหายจมลงไปในผืนแผ่นดิน ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าร่างกายของคนเรานี้มันมีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน

    ถ้าจิตมันเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ภาวนาในขณะเดียว ความเป็นไปของจิตที่รู้เห็นไปอย่างนี้ได้ทั้งอสุภกรรมฐาน อัฐิกรรมฐาน ธาตุกรรมฐานประโยคสุดท้าย ไหนเล่าสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขามีที่ไหน จิตรู้อนัตตา เรียกว่า อนัตตานุปัสสนาญาณ ภาวนาทีเดียวได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา

    ความเกี่ยวเนื่องแห่งมรรคและผล เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีวิปัสสนา

    การกำหนดหมายสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด หรือกำหนดหมายรู้โครงกระดูก แล้วก็กำหนดหมายรู้ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสมถกรรมฐาน ส่วนความรู้ที่ว่าสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน เป็นวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย สมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน เป็นคุณธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน

    เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีฌาน ไม่มีวิปัสสนา เมื่อไม่มีวิปัสสนาก็ไม่มีวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงจิตไม่ปล่อยวาง ก็ไม่เกิดวิมุตติความหลุดพ้น สายสัมพันธ์ มันก็ไปกันอย่างนี้ อันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติกรรมฐาน ในสายของหลวงปู่เสาร์

    เพราะฉะนั้น เราอาจจะเคยได้ฟังว่า ภาวนาพุทโธ แล้วจิตได้แต่สมถกรรมฐาน ไม่ถึงวิปัสสนาอนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ อุปสมานุสติ ภาวนาแล้วจิตสงบหรือบริกรรม ภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วถึงแค่สมถกรรมฐาน เพราะว่าภาวนาไปแล้ว มันทิ้งคำภาวนา

    เพราะฉะนั้น คำว่า พุทโธ ๆๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แต่สงบนิ่งแต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ ถ้าตามหลักวิชาการ ท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอก ไปเห็นภาพนิมิต

    ถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกาย รู้อาการ ๓๒ รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้วมันตายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะคือกายกับจิตมันก็เป็นวิปัสสนา กรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ

    แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเคยได้ยินได้ฟังว่า สมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะ เพราะสมาธิขั้นสมถะนี่มันเป็นสมาธิที่อยู่ในฌาน สมาธิที่อยู่ในฌานมันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง

    แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไรสักแต่ว่ารู้สักแต่ว่า เห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้ว มันก็ไม่ว่าในขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้ว ยังเหลือแต่ความทรงจำ จิตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจ ทีหลังเรียกว่า เจริญวิปัสสนา

    หลวงปู่เสาร์ทิพยจักษุ กรรมฐานนี่ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญหมู่นี้ไม่มี

    มีผู้บอกว่าเคยได้ฟังมาว่าหลวงปู่ฝั้นดูหมอเก่ง หลวงพ่อแก้ว่า...ไม่มีน้า...ไม่เคยหรอก เหมือน ๆ กับมีพระองค์หนึ่งว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั้น ไปตัดเหล็กไหลที่ถ้ำสระบัว ภูเขาควาย มันไม่ตรงกับความจริง เลยแม้แต่นิดหนึ่ง พระองค์นั้นชื่อพระอาจารย์จันทร์ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ เขาบอกว่าตั้งแต่เขาเป็นเณรโน่น ทีนี้เหล็กไหลมันเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ท่านผู้เคร่งต่อพระธรรมวินัยท่านจะไปทำได้อย่างไร

    ขนาดหลวงพ่อเอาสีผึ้งใส่มาในย่ามนี่ท่านยังว่าเอา ๆ ยังงงยังกะไก่ตาแตกเลย... โอ๊ย! หลวงปู่นี่มาค้นดูย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร ตลับสีผึ้งนี่ มีโยมเขาทำให้ตั้งแต่เป็นเณรอยู่บ้านนอก เขาบอกว่าอันนี้จะไปเรียนหนังสือ มันเรียนหนังสือดี ก็เลยเอามา... หลวงปู่เสาร์ดุ จะมาภาวนาเอามรรคผลนิพพาน ยังเอาตลับสีผึ้งใส่ย่ามมาด้วยมันจะไปได้อย่างไร...

    ว้าหลวงปู่นี่มาค้นย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร พอตื่นเช้ามาก็เอามัดติดกับก้อนอิฐ ปาลงแม่น้ำมูลเลย... ไม่มีหรอกกรรมฐานนี่ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญ หมู่นี้ไม่มี

    อุปัฏฐานหลวงปู่เสาร์ ปรนนิบัติท่าน ไม่ได้ติดสอยห้อยตาม

    ได้พบท่านเวลาท่านมาพักวัดบูรพาฯ ก็ได้ปรนนิบัติท่าน ไม่ได้ติดสอยห้อยตาม ผู้ติดสอยห้อยตามที่ยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งหลวงปู่ท่านสิ้นนี่ยังเหลือ หลวงปู่บัวพาองค์เดียว จากกันไป ๓๐ ปี พอท่านเห็นก็วิ่งมากอด "โอ๊ย...บักห่า...กูนึกว่ามึงตายไปแล้ว" ท่านว่า "ที่อยู่ใกล้ชิด ครูบาอาจารย์เสาร์นี่มีแต่เฮาสองคนเด๊เหลืออยู่"

    งานที่ทำถวายท่าน ก็อุปัฏฐากนวดเฟ้น ซักสบงจีวรแล้วก็ปัดกวาด ที่นอน เทกระโถน อะไรทำนองนั้น เวลาแขกมาหาท่าน ก็คอยดูแล รับแขก

    หลวงปู่เสาร์นี่เพียงแต่เวลาท่านไปมาพักนี่เราก็ได้อุปัฐากท่านเท่านั้นเอง แต่ก็ครูบาอาจารย์ในสายนี้เขาถือว่าใครที่เป็นหัวหน้าใหญ่ เขาถือว่าเขาเป็นลูกศิษย์องค์นั้นแหละ รอง ๆ ลงมาอาจารย์เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ใหญ่ เราก็มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รองลงมา แต่ศูนย์รวมจิตใจมันอยู่ที่อาจารย์ใหญ่

    หลักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้ อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง

    พระบูรพาจารย์ของเรา เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรกและเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง และท่านอาจารย์มั่นก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์

    หลวงพ่อสิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์สิงห์เปรียบเหมือนหนึ่งว่าเป็นเสนาธิการใหญ่ของ กองทัพธรรม ได้นำหมู่คณะออกเดินธุดงค์ไปตามราวป่าตามเขา อยู่อัพโภกาส อยู่ตามโคนต้นไม้ อาศัยอยู่ตามถ้ำ พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร

    การธุดงค์ของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์จะไม่นิยมที่จะไปปักกลดอยู่ตามละแวกบ้าน ตามสนามหญ้า หรือตามบริเวณโรงเรียน หรือใกล้ ๆ กับถนนหนทางในที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ท่านจะออกแสวงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริง ๆ

    บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้าน เพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี อันนี้คือหลักการปฏิบัติของพระธุดงคกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ซึ่งบางทีอาจจะผิดแผกจาก พระธุดงค์ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งไปปักกลดอยู่ตามสนามหญ้า หรือตามสถานีรถไฟ ตามบริเวณโรงเรียนหรือศาลเจ้าต่าง ๆ

    พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไม่นิยมทำเช่นนั้น ไปธุดงค์ก็ต้องไปป่ากันจริง ๆ ที่ใดซึ่งมีอันตราย ท่านก็ยิ่งไปเพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของตัวเอง และเป็นการฝึกฝนลูกศิษย์ลูกหาให้มีความกล้าหาญเผชิญต่อภัยของชีวิต ตะล่อมจิตให้ยึดมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่แน่

    เมื่อไปในสถานที่ ที่คิดว่ามีอันตราย ไปอยู่ในที่ห่างไกลพี่น้อง เพื่อนฝูงสหธรรมิกก็ไปอยู่บริเวณที่ห่าง ๆ กัน ในเมื่อจิตใจเกิดความหวาดกลัวภัยขึ้นมา จิตใจก็วิ่งเข้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอย่างเหนียวแน่น เพราะในขณะนั้นไม่มีใครอีกแล้วที่จะเป็นเพื่อนตาย

    ดังนั้น ท่านจึงมีอุบายให้ไปฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกฝนอบรมบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ผู้ติดตาม ในสถานที่วิเวกห่างไกลเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหามีความกล้าหาญชาญชัย ในการที่จะเสียสละเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง การฝึกฝนอบรมหรือการอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ดังกล่าวนั้น ท่านยึดหลักที่จะพึงให้ลูกศิษย์ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันดังนี้

    ท่านจะสอนให้พวกเราประกอบความเพียรดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่งเวลา ๔ ทุ่ม พอถึง ๔ ทุ่มแล้วก็จำวัดพักผ่อนตามอัธยาศัย พอถึงตี ๓ ท่านก็เตือนให้ลุกขึ้นมาบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาหรือทำวัตรสวดมนต์ก็ตามแต่ที่ถนัด แต่หลักที่ท่านยึดเป็นหลักที่แน่นอนที่สุดก็คือว่าในเบื้องต้นท่านจะสอนให้ ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓

    ในขณะที่ยังไม่ได้นอนหรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านก็จะสอนให้ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ท่านจะรีบเร่งอบรมสั่งสอนและฝึกลูกศิษย์ให้ทำให้ได้ ถ้าหากยังทำไม่ได้ท่านก็ยังไม่อบรมสั่งสอนธรรมะส่วนละเอียดขึ้นไป เพราะอันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ

    นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อฉันในบาตร ฉันหนเดียว อันนี้ท่านยึดเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติกรรมฐานเลยทีเดียว

    หลักสมถวิปัสสนาของหลวงปู่เสาร์ พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    หลักการสอนท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน

    ให้พิจารณาแยกกายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือ เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตาทั้งนั้น

    จะว่ามีตัวมีตน ในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิ จิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

    อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วน ใหญ่

    ที่ท่านย้ำ ๆ ให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้ เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณากายคตาสติ แยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ออกเป็นส่วน ๆ เราจะมองเห็นว่าในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นเพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเท่านั้น

    ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าผม ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา นอกจากนั้นก็จะมองเห็นอสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกน่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นอัตตาตัวตน

    แล้วพิจารณาบ่อย ๆ พิจารณาเนือง ๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วน ๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ

    เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้น การเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

    และอีกอันหนึ่งอานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติ การกำหนดพิจารณากำหนดลมหายใจนั้น จะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดีในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ

    จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น วิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ

    เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียด ๆ ลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจก็หายขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไป กายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย

    จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้าย เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้ว จิตจะรู้ทั่วกายหมด ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง รู้สว่างอยู่ในกาย วิตก วิจารณ์ คือจิตรู้ อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย

    ในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน

    อันนี้เป็นปฏิปทาย่อ ๆ ของครูบาอาจารย์ที่นำมาเล่าเพื่อจะเป็นประโยชน์แก่สหธรรมมิก ทีนี้หลักบริกรรมภาวนาพุทโธ เมื่อบริกรรมภาวนาพุทธโธทำจิตให้เป็นสมาธิคล่องตัวจนชำนิชำนาญพอสมควรแล้ว เพื่อจะให้จิตมีสติปัญญาก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

    อันดับที่ ๒ ท่านให้พิจารณากายคตาสติ ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ให้มองเห็นเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก การพิจารณากายคตาสติท่านถือคติเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งพิจารณาไปโดยอนุโลม ไปตามลำดับจนครบอาการ ๓๒ และอีกอย่างหนึ่งท่านให้พิจารณาเพียงอย่างเดียว คือ ให้กำหนดจดจ้องมองดูที่บริเวณหน้าอกแล้วกำหนดจิตลอกหนังออกลอกเนื้อออก มองให้มันถึงกระดูก

    พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนจิตเชื่อมั่นว่ามีกระดูกอยู่ที่ตรงนี้ในอันดับต่อไปท่านก็ให้บริกรรมภาวนา อัฐิ ๆๆ แล้วก็จ้องความรู้สึกของจิตลงไปในบริเวณหน้าอก พยายามทำบ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ในที่สุดเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จะได้นิมิตมองเห็นโครงกระดูก

    บริเวณหน้าอกหรือโดยทั่วตัวในเมื่อเห็นโครงกระดูกขึ้นมาแล้ว ก็เพ่งจ้องมองดูที่โครงกระดูก จนกระทั่งโครงกระดูกมันแหลกละเอียดสลายตัวไปหรือได้อสุภกรรมฐาน ในเมื่อพิจารณาอสุภกรรมฐานรู้จริงห็นจริงเป็นอุบายระงับราคะ ความกำหนัดยินดีไม่ให้เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ เพื่อจะได้มีโอกาสบำเพ็ญเพียรภาวนาในขั้นต่อไป

    เสร็จแล้วพระอาจารย์เสาร์ท่านสอนให้พิจารณาร่างกายให้มองเห็นด้วยความเป็น ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือแยกออกไปว่า ร่างกายนี้มีแต่ดิน แต่น้ำ แต่ลม แต่ไฟ เมื่อแยกออกไปแล้วก็ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา พิจารณาให้มองเห็นเป็นนิมิตว่าร่างกายนี้มีแต่ดิน น้ำ ลม ไฟ กันแท้จริง

    จนกระทั่งจิตยอมรับว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ในดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีความเป็นคนเป็นสัตว์ เพราะอาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ ยังคุมกันอยู่ มีปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองโดยความเป็นเจ้าของ เพราะอาศัยกิเลสตัณหา อุปทาน กรรม จึงทำให้เราเกิดยึดมั่นถือมั่นว่า อัตตาตัวตน ยึดว่าของเราของเขา ร่างกายของเราของเขา

    ในเมื่อเห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของผู้ภาวนาก็ได้อนัตตานุปัสสนาญาณ เห็นว่าร่างกายเป็นอนัตตาหมดทั้งสิ้น ภูมิจิตภูมิใจก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมเองโดยอัตโนมัติ อันนี้เป็นปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น ที่เคยได้ยินได้ฟังมาเพียงเล็กๆ น้อยๆ นำมาเล่า เพื่ออาจจะเกิดประโยชน์แก่วงการนักปฏิบัติบ้าง

    ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน...

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านอาจารย์สอนมา

    หลวงพ่อพุทธ:โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ

    การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่งพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕

    การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ ปีติ และความสุข ก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนา ย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่ อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้ เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

    ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ถ้าจะเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔

    จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

    เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

    เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะของความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

    เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิต เห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริง ๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน

    เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

    เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

    เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

    ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน

    และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

    ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

    เมื่อผู้ปฏิบัติมาฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้ด้วยอุบายต่าง ๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา

    ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิยัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมา จิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิความรู้ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ก็มีดังนี้

    ศิษย์องค์สุดท้ายของหลวงปู่เสาร์ เจ้าคุณชินวงศจารย์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์

    อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมาแสดงธรรมให้ฟัง เช่น หลวงปู่สิม หลวงปู่แว่น หรือท่านพระอาจารย์เหรียญ ท่านพระอาจารย์บัวพา เคยผ่านสำนักของครูบาอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ต้นของท่านพระอาจารย์เสาร์ที่ยังเหลือค้างอยู่ เวลานี้ ก็คือท่านอาจารย์บัวพาเพียงองค์เดียว

    นอกนั้นก็สึกหาลาเพศล้มหายตายจากไป ถ้าจะนับอีกองค์ที่ ๒ ก็คือเจ้าคุณชินวงศาจารย์ ท่านอาจารย์บัวพาก็ไม่ค่อยเทศน์ ไม่ค่อยพูด เพราะติดนิสัยท่านอาจารย์เสาร์แต่ที่แหวกแนวก็คือ เจ้าคุณชินวงศาจารย์ (พุท ฐานิโย) ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์ (หลวงพ่อพูดถึงท่านเอง)

    หลวงปู่มั่นเทศน์งานศพหลวงปู่เสาร์ ลูกศิษย์พระอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติ อย่างพระอาจารย์มั่นปฏิบัติ

    จำได้ว่างานศพหลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่ง อยู่วัดสระปทุม ใครต่อใครเขาก็ไปกัน แต่พระอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง

    เจ้าคุณปัญญาพิศาลเถรกับหลวงปู่เสาร์นี่ท่านให้คำมั่นสัญญากัน ถ้าใครตายก่อนให้ไปทำศพ หลวงปู่เสาร์ตายก่อนจึงทำที่วัดบูรพาฯ

    และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลงแล้วก็ได้ฌาปนกิจคือ ถวายพระเพลิงเผาศพของท่านอาจารย์เสาร์ ในงานนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ไปร่วมในงานด้วยในฐานะที่ท่านก็เป็นอันเตวาสิก ของท่านอาจารยเสาร์ ซึ่งอยู่ในระดับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง

    ในขณะที่ท่านแสดงธรรม ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมว่า "เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราพระอาจารย์มั่น จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่าน อาจารย์มั่น

    ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้ อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคืออาจารย์มั่นตายไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้"

    ท่านเทศน์ไว้อย่างนี้จำไว้นะ ไม่ทราบว่าสหธรรมิกซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นจะจำได้หรือเปล่า ถ้าหากจำได้ก็ขออภัยด้วย ถ้าหากจำไม่ได้ก็ลองเอาไปคิดเป็นการบ้านดูซิว่า ปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น ท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเราควรจะดำเนินตามแนวทางของท่านอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น

    ท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่า สมัยที่ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์ยังอยู่ บางสิ่งบางอย่างที่เราอนุโลมตามความต้องการของชาวโลกแทบจะไม่ปรกฏ แม้แต่การทำบุญมหาชาติ การจัดงานวัดมีมหรสพต่าง ๆ เราไม่เคยมี มาสมัยปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ก็เป็นนักธุรกิจไปกันเสียไม่ได้หยุดจากเหนือ ไปใต้ จากใต้ไปเหนือไปเที่ยวโปรดญาติโยม

    แต่ไม่แน่นักว่าไปเที่ยวให้ญาติโยมโปรด หรือไปโปรดญาติโยมกันแน่ก็ไม่ทราบ อันนี้ก็คือของฝากให้ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ได้นำไปพิจารณาเป็นการบ้าน

    คัดจากหนังสือ ฐานิยตฺเถรวตฺถุ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

    ----------------------------------------------------------

    คัดลอกจาก: ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระปรมาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...