หลวงพ่อสอนเรื่องมิตรแท้มิตรเทียม

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 17 สิงหาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    [​IMG]
    บรรดาท่านภิกษุสามเณรทั้งหลาย และบรรดาท่านอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย วันนี้เราก็มาคุยกันถึงเรื่อง คิหิปฎิบัติ คำว่า คิหิปฎิบัติ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำสำหรับฆราวาส ปฎิบัติกัน เป็นธรรมเบา ๆ ที่เหมาะสมกับความเป็นผู้ครองเรือน


    เมื่อวันที่แล้ว กล่าวมาถึงลักษณะของ มิตรเทียม คือไม่ใช่มิตรแท้ มีลักษณะ 4 คือ



    คนปอกลอก หนึ่ง
    คนดีแต่พูด หนึ่ง
    คนหัวประจบ หนึ่ง
    คนชักชวนไปในทางฉิบหาย หนึ่ง


    ลักษณะอาการ 4 อย่างนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นลักษะของคนที่เราไม่ควรจะคบ เพราะถ้าคบ เราก็ฉิบหายแน่ ในระดับนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางลักษณะของคนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ คนชักชวนไปในทางฉิบหาย ไว้ดังนี้คือ

    ลักษณะของคนปอกลอก เขามีความคิดว่า


    อยากจะได้แต่ฝ่ายเดียว คนอยากได้ฝ่ายเดียวไม่จ่ายนี่ ก็ควรจะโยนไปเสียได้แล้ว ไม่ต้องคบกัน จะไม่ขออธิบายมาก เพราะว่าเป็นลักษณะที่ฟังง่าย ๆ คือเรียกว่า เขาเป็นคนเอาเปรียบแต่ฝ่ายเดียว เอาแต่ได้แต่จ่ายไม่จ่าย อย่างนี้ก็เลิกคบกันได้ เป็นลักษณะของคนปอกลอก

    บางที เอาของน้อย ๆ มาล่อ แต่เวลาได้จากเราได้มาก ถ้าลักษณะนี้ถ้าเขาไม่มี จริง ๆ ก็น่าคิด แต่เวลาการที่เขามี มีอยู่ แต่เขาไม่ยอมจ่ายให้มาก ลักษณะอยางนี้ก็ควรหลีกไป เป็นลักษณะของคนปอกลอกเหมือนกัน

    เมื่อมีภัยจะมาถึงตัว จึงจะช่วยกิจการของบุคคลอื่นของเพื่อน ถ้าขณะใดไม่มีภัยมาถึงตัว เพื่อนจะมีทุกข์ประการใดก็ตาม ฉันไม่ช่วย ลักษณะอย่างนี้ก็เป็นลักษณะของคนปอกลอก เราก็ไม่ควรคบ

    คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว หมายความว่าการที่เขาจะมาคบเรานี่ เขาต้องการอย่างเดียวคือผลประโยชน์ของเขา


    เป็นอันว่า ลักษณะ 4 ประการนี่ เป็นลักษณะของคนปอกลอก คือ หนึ่งคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว สองเสียให้น้อย แต่คิดเอามาก สามเมื่อจะมีภัยถึงตัวจึงจะช่วยกิจกรรมเพื่อน ถ้าไม่มีอันตรายมาถึงตัว มีความสุขไม่สนใจกับเพื่อน สี่คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ถ้าไม่ได้ประโยชน์เขาก็เลิกคบ คนประเภทนี้ต้องยกเลิก อย่าไปคบหาสมาคม ความฉิบหายจะเกิดขึ้น

    และในอาการที่สอง ท่านก็บอกว่า คนที่ดีแต่พูด ก็มีลักษณะแบบนี้


    เก็บเอาของที่ล่วงมาแล้วมาปราศรัย เล่าประวัติเก่า ๆ อยากจะสืบประวัติว่าฉันเคยช่วยไอ้นั่นนิด เคยดีนี่ บิดามารดาเคยเป็นเพื่อนกันมา เคยเป็นที่เคารพนับถือ ก็ว่า เรื่อยไป เป็นอันว่านั่นเขาดีแต่พูดนะ ดูท่านว่ายังไงต่อไป ว่าหนึ่งเก็บเอาแต่ของที่ล่วงมาแล้วมาพูด

    อ้างเอาสิ่งที่ยังไม่มีมาพูดอีก สิ่งที่ยังไม่เขัามาถึงนี่เอามาพูดอีก

    สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์ไม่ได้ การจะยื่นจะโยนให้แก่เรา อะไรก็ตาม ไอ้สิ่งนั้นมันใช้ไม่ได้แล้วจึงจะให้ และก็

    เวลาที่เราจะออกปากพึ่งนี่ไม่มีทางจะได้ แกมีธุระแกมีความขัดข้องอยู่เสมอ คนประเภทนี้องค์สมเด็จพระชินศรีบอกว่า อย่าคบเลย


    เอากันง่าย ๆ นะ ขอทวนอีกนิดหนึ่ง ว่าคนดีแต่พูดก็คือ หนึ่งเก็บเอาเรื่องที่ล่วงแล้วมาปราศรัย สองอ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย คือมาพูด สามสงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ สี่ออกปากพึ่งไม่ได้เลย ถ้าเขาจะพึ่งเราเขาเอา เราจะพึ่งเขา เขาไม่ยอม

    และต่อไป ลักษณะของคนหัวประจบ ก็มีลักษณะ 4 อย่างเหมือนกันคือ


    จะทำชั่วก็คล้อยตาม นี่พวกประจบนะ พวกประจบนี่ทำให้พวกผู้ใหญ่พังมาเยอะแยะแล้ว ดีไม่ดีก็นั่ง ๆ อยู่เฉย ๆ เห็นรัศมีออกจากกาย ลุกขึ้นกราบไหว้เพื่อหวังจะเอาดีเพื่อตัว จะทำชั่วทำเลวอย่างไรก็ตาม ขอให้ฉันได้ก็แล้วกัน มีผลต้องการอย่างเดียวคือฉันได้ หนึ่งทำชั่วก็คล้อยตาม

    ทำดีก็คล้อยตาม

    ต่อหน้าสรรเสริญ

    ลับหลังนินทา ลับหลังนินทาเพราะอะไร ถ้าไปเจอะคนที่เขาติ คนที่เรากำลังประจบเข้า เขาก็พลอยประจบกับคนคนนั้น ว่าไม่ดีอย่างนี้ คือเขาประจบเราแล้ว เมื่อเขาไปเจอคนอื่น เขาก็ประจบไป เป็นอันว่าลักษณะคนประเภทนี้ องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า ไม่ควรจะคบ


    อันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่แต่ฆราวาสอย่างเดียว แม้แต่พวกห่มผ้าเหลืองก็เหมือนกัน พวกห่มผ้าเหลืองนี่ไว้ใจอะไรไม่ค่อยจะได้นัก ไอ้สักแต่ว่าห่มนี่มันเยอะ หลอกชาวบ้านเขา ทีนี้มีอีกคนที่ชักชวนไปในทางฉิบหาย เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก ถ้าขืนทำตามเขาเมื่อไหร่ฉิบหายแน่นอน คนหัวประจบนี่เราก็พังเหมือนกันนะ เป็นลักษณะของคนไม่ดีทั้งหมด ไม่ใช่มิตรแท้

    ทีนี้คนที่จะชักชวนไปทางฉิบหาย มีลักษณะ 4 คือ


    ชวนดื่มน้ำเมา
    ชวนเที่ยวกลางคืน
    ชวนให้มัวเมาในการเล่น
    ชวนเล่นการพนัน นี่เห็นจะไม่ต้องอธิบายแล้ว พัง


    ท่านมหาธนเศรษฐีบุตร เป็นมหาเศรษฐีใหญ่ ถูกพวกขี้เมาชวนกินเหล้า ไม่ช้าพังหมด ถึงกับเป็นขอทาน เห็นจะไม่ต้องอธิบายกัน ไอ้ที่ดื่มน้ำเมานี่มันก็ระยำอยู่แล้ว ไม่ใช่ของดี ทรัพย์สินที่มีอยู่ ควรจะทำให้เป็นประโยชน์ สร้างความสุข ไปดื่มน้ำเมามันก็ไม่อิ่ม ดีไม่ดีก็ถูกเขาตีมั่ง ถูกเขาทำร้ายเอามั่ง เดี๋ยวไปทำร้ายเขาเข้าตะรางไป ไอ้เที่ยวกลางคืนนี่จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ทรัพย์สินทางบ้านจะ ฉิบหายวายป่วง ถูกไฟไหม้ โจรปล้นเมื่อไหร่ก็ยังได้ ไอ้ชักชวนให้มัวเมาในการเล่นหมายความถึงว่า เล่นตระกร้อเล่นอะไรก็ตามเป็นเล่น ไม่สนใจต่อการงาน และไอ้การเล่นการพนันนี่ไม่เห็นใครมันรวยจริง ๆ สักราย

    เป็นอันว่าคนประเภทนี้ องค์สมเด็จพระชินศรีกล่าวว่า เป็นมิตรเทียมไม่ใช่มิตรแท้ อย่าคบ อย่าไปสนใจ เลิกคบไปเลย ถ้าเรารักดีล่ะก็ เลิก


    ทีนี้ต่อไปองค์สมเด็จพระชินศรีทรงแนะนำว่า มิตรที่แท้ จริง ๆ น่ะมีอยู่ 4 จำพวกเหมือนกันคือ


    มิตรที่มีอุปการะ
    มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
    มิตรแนะนำประโยชน์
    มิตรที่มีความรักใคร่


    สำหรับมิตร 4 อย่างนี่ พระพุทธเจ้าท่านอธิบายไว้ชัด ผมก็จะไม่อธิบายต่อละ จำไว้ละกันว่า มิตรที่ดีที่แท้น่ะมี 4 จำพวก คือมิตรที่มีอุปการะ มิตรที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะนำประโยชน์ มิตรที่มีความรักใคร่

    ท่านอธิบายไว้เลยว่า มิตรที่มีอุปการะ น่ะมีลักษณะ 4 อย่างคือ


    ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว หมายความว่า เขาเห็นว่าเราจะเพลี่งพล้ำ หรือ ขาดทุนพลาดท่าในลักษณะได้ก็ตาม เขาเห็นท่าไม่ดี เขาพยายามตักเตือนป้องกันทุกอย่าง หรือใครจะเข้ามาประหัตประหารทำร้าย เขาจะป้องกันเราด้วยชีวิต ถ้าเรายากจนเข็ญใจ จะพลาดพลั้งไปประการใดเขาจะเข้าประคับประคองนี่เป็นมิตรดี

    ป้องกันทรัพย์สินสมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว นั่นป้องกันตัวนะนี่ป้องกันทรัพย์ เวลานอนหลับ ขโมยขโจรจะเข้ามาปล้นจะเข้ามาลัก ถ้าเขาทราบเขาจะ ป้องกันทันที

    เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ หมายความภัยอะไรจะมีเข้ามาก็ตาม เขาจะยอมพลีตัวเขาทุกอย่าง เพื่อเรา

    เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก หมายความว่าถึงขาดเงินอยู่บาท เจ้าหนี้เขาจะมาทวง ถ้าเขามีมาก เอาไปเพื่อนเอาไปสิบบาทก็แล้วกันนะ ไอ้หนึ่งบาทที่เอาไปใช้หนี้ อีกเก้าบาทเอาไปซื้อกินซื้อใช้ จนกว่าจะหามาได้แล้วค่อยเอามาให้กัน หรือว่าไม่มีก็ไม่เป็นไร ของเท่านี้เราช่วยกันได้ แม้แต่ชีวิตเรายังสละได้ นี่อาการอย่างนี้เขาเรียกว่ามิตรผู้มีอุปการะ


    มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านบอกว่ามีลักษณะ 4 คือ


    ขยายความลับของตนแก่เพื่อน หมายความว่าเขาเป็นมิตรจริง ๆ นี่แม้อะไรจะเป็นความเร้นลับอยู่ไม่มีการปิดบัง บอกกันตรงไปตรงมาเสมอ

    ปกปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพรายไป หมายความว่าสิ่งใดที่เพื่อนมีความลับไม่ควรจะเปิดเผย เขาจะปกปิด ใครจะมาถามจะมาจ้าง จะมาวานจะมาเข่นจะมาฆ่า เขาจะไม่ยอมเปิด เรื่องนี้ถ้าเราถอยหลังไปถึงประวัติศาสตร์เราจะทราบชัด ว่าคนไทยสมัยก่อน ๆ นี้ ที่ทรงชาติได้ดี เพราะลักษณะอย่างนี้เป็นสำคัญ

    ไม่ละทิ้งกันในยามวิบัติ หมายความว่า ถ้าเราเกิดความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อย่างมีอุทกภัยน้ำท่วม วาตภัยลมพัด บ้านพังสมบัติพังไป ไฟไหม้บ้าน โจรปล้น ความวิบัติเกิดขึ้น ทรัพย์สินมันไม่มี เขายอมพลีเสียสละช่วยเหลือเสมอ

    แม้ชีวิตก็อาจจะสละแทนได้ เขาอาจจะยอมตายแทนเราเมื่อภัยใหญ่มาถึง


    มิตรอย่างนี้เรียกว่า มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ควรจะหาคบไว้ เรามีน้อยก็ยังดีกว่ามีเพื่อนที่ไม่ใช่มิตร เรามีมิตรแท้คนเดียวดีกว่ามีมิตรเทียมหลายแสนคน ไอ้มิตรเทียม ๆ หลายแสนคนน่ะ แต่ละคนก็ให้ความทุกข์ มีสิบคนก็ให้ความทุกข์สิบคน มีร้อยคนมันก็ให้ความทุกข์ร้อยคน ถ้าเรามีมิตรที่ดีหนึ่งคน เราจะมีความสุขตลอดชีวิต ฉะนั้นจงเลือกคบแต่มิตรที่ดี

    มิตรที่แนะนำประโยชน์ ท่านบอกมีลักษณะ 4 คือ


    ห้ามทำความชั่ว ความชั่วนี่เราก็รู้อยู่แล้วว่าอะไรมันคือความชั่ว

    แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

    ให้ฟังสิ่งที่ไม่เคยได้ฟัง

    บอกทางสวรรค์ คือทางของความสุขให้ ทางสวรรค์หมายความว่าทางใดที่เป็นปัจจัยของความสุขคือความร่ำรวย ความปลอดภัย ความเป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย เราเรียกกันว่า ทางสวรรค์


    นี่มิตรที่แนะนำประโยชน์อย่างนี้ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ทรงกล่าวว่า ควรหาคบเข้าไว้อย่าละอย่าทิ้ง แล้ว

    ท่านบอกว่า มิตรที่มีความรักใคร่ เขาก็มีลักษณะ 4 เหมือนกันคือ


    เวลานี้ เราทุกข์เขาก็ยอมจะทุกข์ด้วย คือไม่ทิ้งเรา

    ถึงเวลา เรามีความสุข เขาก็สุขด้วย หมายความว่ารื่นเริงหรรษาเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

    โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน หมายความว่า ถ้าเราถูกใครเขาติเตียนไม่ตรงต่อความเป็นจริง เขาจะโต้ตอบทันที

    รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน นี่หมายความว่าถ้ามิตรที่ดีเขาจะป้องกันเราไว้เสมอ


    เป็นอันว่ามิตร 4 ประการนี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงแนะนำว่าต้องคบควรจะแสวงหาไว้ ถ้าหากว่าเขาถามว่าถ้าเราจะเลือกคนดีประเภทนี้ไม่ได้ เราจะทำอย่างไร ก็ควรจะตัดสินใจว่าไม่คบใครเสียเลยจะดีกว่า ถ้าไปพบคนชั่ว แกก็สร้างความทุกข์ให้เรา ถ้าหากคบคนดี ก็มีความสุข ถ้าหาคนดีไม่ได้ มีแต่คนชั่ว เราไม่คบเสียเลย อยู่ตัวคนเดียวดีกว่า เมื่อมันจะทุกข์ก็ทุกข์เฉพาะตัวของเราเอง ไม่ใช่คนอื่นมาสร้างความทุกข์ให้


    ทีนี้ คิหิปฎิบัติ หมวดต่อไป สังคหวัตถุ 4 สังคหวัตถุ นี่ขอพูดว่าเป็นคาถามหาเสน่ห์ คาถามหาเสน่ห์ นี่มีอยู่ 4 คำด้วยกันคือ


    ทาน
    ปิยวาจา
    อัตถจริยา
    สมานัตตตา



    ท่องไว้นะ ถ้าท่องไว้แบบเป็นนกแก้วนกขุนทอง ก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน คาถา 4 ประการนี้ต้องแปลเป็นไทย แล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วยคือ

    ทาน การให้สิ่งของของตนแก่บุคคลที่ควรให้ปัน อย่าลืมนะลักษณะของฆราวาส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสอนไว้แค่พอเหมาะพอดี ไอ้การให้ต้องให้แก่คนที่ควรให้ เมื่อให้แล้วไม่แว้งกัดภายหลังนี่ให้ได้ แต่ถ้าบังเอิญเราไม่รู้มาก่อน เราให้ไปก่อน แต่คนนั้นกลับเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน เราก็เลิกให้เสียได้ คนใดที่ควรให้เราจึงให้ ถ้าไม่ควรให้ อย่าให้

    เห็นจะต้องไปดูตัวอย่าง พ่อของนางวิสาขา สอนไว้สมัยที่นางวิสาขาจะแต่งงานว่า ถ้าเขาให้เราจึงให้ ถ้าเขาไม่ให้เราจงอย่าให้ คือหมายความว่า ถ้าเราให้เขาไปแล้ว เขาให้ตอบ เราก็ให้ ถ้าเขาไม่ให้เรา เราให้เขาไปแล้ว ให้ยืมของเขาไปแล้ว เขาไม่ส่งคืน เราจงอย่าให้ อย่างนี้เป็นต้น การให้นี่เป็นปัจจัยปลูกความรัก ขอท่านทั้งหลายจงคิดกันให้ดี ว่าสมมติว่าคนอย่างเรา คนอย่างเรานี่ถ้าเรา ขาดแคลนอะไรบ้าง มีข้าวแต่ไม่มีกับข้าวจะกิน เพียงใครเขาให้น้ำปลาสักหน่อยหนึ่ง เกลือสักเม็ดหนึ่ง ปลาสักชิ้นหนึ่ง อาหารสักหน่อยหนึ่ง เราก็พอใจ เรายังรักเขาฉันใด การให้เป็นปัจจัยสร้างความรัก สร้างความผูกพันซึ่งกันและกัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าเราไหว้ ปูชโก ลภเต ปูชัง วันทโก ปฎิวันทนัง ถ้าเราบูชาเขา เขาก็บูชาตอบ ถ้าเราไหว้เขา เขาก็ไหว้ตอบ เป็นอันว่าการให้นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เป็นการจูงใจเพื่อให้สร้างความรัก แต่ต้องเลือกคนสำหรับจะให้ และอีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้ากล่าวว่าการให้ เป็นการล้อมรั้วด้วยเขี้ยว ด้วยงา ถ้าเรารู้จักการปันของที่เรามีอยู่ให้แก่เพื่อนบ้านหรือคนที่ยากไร้ ที่เขามีสันดานดี คนประเภทนี้จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่เรา

    ข้อที่สององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่าใช้ ปิยวาจา คือวาจาที่อ่อนหวาน วาจาประเภทนี้ ใครก็รัก เราก็รัก เราชอบวาจาอ่อนหวานจากคนอื่นฉันใด ถ้าเราใช้วาจา อ่อนหวานกับเขา เขาก็รักเรา ถ้าต่างคนต่างรัก มันจะมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ ก็ช่วยกันคิดดู ต่างคนต่างช่วยกันชื่นชม มันจะมีความสุขหรือมีความทุกข์ก็คิดดูก็แล้วกัน

    อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น หมายความว่าถ้าเราจะเกื้อกูลเขา คบหาสมาคมซึ่งกันและกัน จงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ไร้โทษให้แก่เพื่อน ถ้าจะทำให้แก่กันซึ่งกันและกันแล้ว จงทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ อันนี้เพื่อนจะรักเรา เราก็จะมีความสุข

    สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว หมายความว่า คนที่เราคบกับเขา เขาจะมีฐานะเช่นไร มีตระกูลแบบไหน มีวิชาความรู้ขนาดไหน ไม่มีความสำคัญ ถือว่าเขากับเรานั้นเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน โดยเฉพาะถือว่าเขาเป็นไท เราเป็นไท หรือว่าเขาเป็นคน เราเป็นคน เขารักสุข เกลียดทุกข์ฉันใด เราก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น เขาเกิดแก่เจ็บตาย ฉันใด เราก็เกิดแก่เจ็บตายได้ฉันนั้น ไม่ถือตัวไม่ถือตน ทำตนเป็นมิตรอยู่เสมอ ถ้าเรามีตระกูลสูงกว่า เขามีฐานะดีกว่า เขามีความรู้ดีกว่าเรา เราถ่อมตัวไปหาเขา นี่จะเป็นที่รักของเขาอย่างยิ่ง หากว่าถ้าเรามีตระกูลต่ำกว่าเขา เรามีวิชาความรู้ต่ำกว่าเขา เรามีฐานะต่ำกว่าเขา เราก็แสดงความถ่อมตัว ไม่รังเกียจว่าเขาใหญ่เกินไป ดีเกินไป อย่างนี้ย่อมเป็นปัจจัยของความรัก เป็นตัวเสน่ห์

    เป็นอันว่าคาถามหาเสน่ห์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ อันนี้เป็นปัจจัยให้เกิดความสุขแก่คนทุกคน อย่าลืมนะว่าคาถามหาเสน่ห์คือ ทาน การให้ ปิยวาจา วาจาอ่อนหวาน อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สมานัตตตา ความเป็นคนมีตัวเสมอไม่ถือเนื้อถือตัว อาการสี่อย่างนี่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจซึ่งกันและกัน ให้เกิดความรักไม่คลาย ก็น่าคิดนะ เขาบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เทศน์จะให้ไปสวรรค์ไปนิพพานอย่างเดียว แต่ความจริงไม่ใช่ ท่านรู้ว่าคนที่เป็นฆราวาสน่ะภาระหนัก ท่านก็สอนให้มีอารมณ์เบา ๆ ใช้ให้เกิดประโยขน์ในปัจจุบัน


    คิหิปฎิบัติ หมวดต่อไปอีกสื่งหนึ่ง ท่านว่า ความสุขของคฤหัสถ์ คือ ฆราวาสชาวบ้านนี่จะมีความสุขต้องอาศัยเหตุ 4 ประการ คือ


    สุขแต่ความมีทรัพย์
    สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์บริโภค ตามสมควร ไม่มากไม่น้อยเกินไป
    สุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้
    สุขจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ


    อันนี้ก็ต้องคิดเหมือนกัน สุขเกิดจากการมีทรัพย์ ฆราวาสนี่ ถ้าปราศจากทรัพย์ก็แย่ เขาเรียกว่ามีคติอยู่อันหนึ่งว่า ฆราวาสถ้าไม่สะสมทรัพย์ก็ฉิบหาย แต่ทว่าพระภิกษุสามเณรสะสมทรัพย์ก็ฉิบหายเหมือนกัน อันนี้ผมขอพูดกับพระและขอพูดกับญาติโยมทั้งหลายด้วยว่าฆราวาสนี่เพราะเขาต้องเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว จำเป็นต้องสะสมทรัพย์ แต่ว่าไอ้การสะสมทรัพย์นี่จงหามาได้ด้วยสัมมาอาชีวะ จะเป็นมิจฉาอาชีวะ ไม่ได้ คือหามาได้โดยความชอบธรรม โดยการค้าขาย โดยการสุจริต ค้าขายต้องมีกำไร การเป็นลูกจ้างประกอบการอาชีพในการเกษตร อะไรก็ตาม ทำให้มันมีทรัพย์ขึ้นมาโดยที่ไม่คด ไม่โกงเขา เป็นสัมมาอาชีวะ ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ตามพระบาลีบทหนึ่งมีว่า วายเมเถวะ ปุริโส กล่าวว่า ถ้าเป็นผู้ชายนี่ควรพยายามร่ำไป หมายความว่า เพียรหาทรัพย์สินเข้ามาในบ้านเพื่อให้มันมีใช้ มีสอย มันจึงจะมีความสุข ฆราวาสมีทรัพย์มากเพียงใด ก็มีความสุขมาก เพราะจำเป็นในการจับจ่ายใช้สอย ถ้าพระเณรสั่งสมทรัพย์มากก็ฉิบหาย คือจิตใจไม่ใช่พระไม่ใช่เณร มันจะกลายเป็นโจรปล้น พระศาสนาไป กลายเป็นความโลภ นี่ต้องแบ่งไว้คนละซีกนะ

    สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์บริโภค อันนี้เงินดาวเงินเดือนที่ขอขึ้นกันอยู่เสมอ ๆ ความจริง เงินเดือนที่ให้นี่พอเงินเดือนได้ไป จากภาษีอากรของคนที่ยากจนกว่า ข้าราชการมีเงินเดือนพันสองพัน บอกว่าไม่พอกินไม่พอใช้ แต่เงินจากคนที่เขาให้ไปเสียภาษีอากร เดือนหนึ่ง บางทีก็หาไม่ได้สองร้อย ไม่ได้ห้าร้อย เขาหามาเกือบตาย สายตัวจะขาด เขายังเสียภาษีอากรให้ได้ แต่คนที่รับเงินจากบุคคลที่หาได้ ด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน กลับบอกว่าไม่พอใช้เพราะอะไร ถ้าจะกินจะใช้จริง ๆ ที่บ้านน่ะมันไม่เท่าไหร่หรอก สังเกตุดูดี ๆ ก็แล้วกัน คนที่มีเงินเดือนนี่ บางทีเงินเดือนไม่มากไม่มาย แต่อยากจะจ่ายให้มันมาก ต้องไปกินของนอกบ้านโน่น ไปหาความรื่นเริงพิเศษ แล้วก็มาร้องบอกว่าเงินเดือนไม่พอ ถ้าแกจะกินจะใช้ในบ้าน อย่างกับเจ้าของทรัพย์สินที่เขาเสียภาษีอากรมานี่ มันก็เหลือกินเหลือใช้ เพียงแค่เงินเดือนหนึ่ง เดือนละพัน หรือพันห้าร้อยบาท เหลือแล้ว ไปถามชาวบ้านดูเถอะ ชาวบ้านบ้านไหน ชาวบ้านที่จน ๆ นี่ เขาจ่ายถึงเดือนละพันไหม บางทีห้าหกคน เขาจ่ายเดือนหนึ่ง ไม่ถึงพัน เขากินเขาใช้เขาพอได้ เขาทำการทำงานไหว แต่คนรับเงินเดือนบอกไม่ไหว ขอขึ้นกันอยู่ เรื่อย ๆ นี่เพราะว่าการจ่ายทรัพย์ไม่พอดีกับการที่หามาได้ แสดงอาการเดือดร้อน ถ้ารู้จักจับจ่ายใช้สอย ได้กินนี่อะไรมันก็กินได้ กินเพื่อชีวิตให้ทรงตัวอยู่

    สุขเกิดแต่การไม่ต้องมีหนี้ ถ้ารู้จักใช้สอยว่าฐานะอยู่เพียงไรใช้เพียงนั้น มันก็ไม่ต้องมีหนี้ เว้นไว้แต่ความจำเป็นมันเกิดขึ้น ถ้าบังเอิญมีจริง ๆ มันเกิดเจ็บไข้ไม่สบาย เกิดการเจ็บตายกันขึ้น อันนี้มีหนี้ไม่เป็นไร เพราะความจำเป็นมันเกิดขึ้น แต่ทางที่ดีแล้วไม่ควรจะหาหนี้มา เมื่อเวลาจะตายหรือจะป่วยไข้ ถ้าป่วยไข้ไม่สบายนี่หลีกไม่ได้ จำเป็นจะต้องรักษา ถ้าเป็นหนี้เพราะเหตุนี้ ไม่มาตำหนิ แต่เป็นหนี้เพราะไม่รู้จักประมาณตนนี่ น่าคิด

    สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ หมายความว่าไอ้การงานที่มีหน้าที่จะ พึงทำ ทำให้มันสมบูรณ์บริบูรณ์ อย่าให้งานมันคั่งค้าง และมีการประกอบการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ถ้าอยู่กับเจ้ากับนาย นายจ้างก็ดี ผู้บังคับบัญชาก็ดี ทำให้ถูกตามระเบียบด้วยและก็ทำให้ถูกตาม อารมณ์ของเจ้านายด้วย หมายความถูกใจเจ้านายด้วยแล้วก็ถูกระเบียบด้วย ไม่มีใครเขาเกลียด

    เวลานี้ท่านทั้งหลาย มองดูเวลาเห็นว่าหมดเวลาพอดี ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์ พูนผลจงมีแต่ท่านสาธุชน ผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี

    ที่มา คิหิปฏิบัติ และ http://thaisquare.com/Dhamma/book/kihi/content.html#
     

แชร์หน้านี้

Loading...