-
ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง ลุกมีความสงสัยอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่า การที่เราปล่อยปลาจะเป็น ปลาดุกก็ดี ปลาหมอ ปลาไหลก็ดี หรือปลาชนิดต่างๆ ก็ดี มีคนข้างบ้านเขาบอกว่า โบราณถือนักถือหนาว่า ปลาตัวไหนปล่อยไปแล้วจะเอามารับประทานไม่ได้ ปล่อยปลาไหลห้ามทานปลาไหล ปล่อยปลาดุกห้ามทานปลาดุก ลูกเป็นคนธัมมะธัมโม ก็ต้องพึ่งหลวงพ่อช่วยชี้แจงด้วยว่า จะเชื่อใครดีเจ้าคะ
หลวงพ่อ : ฉันเห็นด้วยกับโบราณท่านนะ ปลาไหลตัวไหนที่ปล่อยไปแล้ว ห้ามกินตัวนั่น (หัวเราะ) อย่าเอามากินนะ บาปนะ ปลาดุกเหมือนกันนะ ปล่อยปลาตัวไหน ตัวนั้นห้ามจับมากิน แต่ตัวอื่นกินได้
ผู้ถาม : ความจริงไม่เกี่ยวกันเลยนะครับ
หลวงพ่อ : ไม่เกี่ยวกัน มันเป็น อภัยทาน ปล่อยให้เขารอดชีวิตใช่ไหม ปลาที่ควรปล่อยก็คือปลาที่เรารู้ว่ามันจะต้องตายแน่ๆ
เช่น ปลาตามแอ่งน้ำเวลาฝนตกมันขัง ถ้าน้ำแห้งตายแน่ๆ
หรือ ปลาที่เขาขายในตลาดยังไงๆ ก็ตายแน่ๆ
แต่ประเภทปลาที่ใส่ถุงเร่ขายตามหน้าวัด ปลาพวกนี้ถูกจับมาขาย อันนี้ก็ต้องคิด
ผู้ถาม : ครับ
ที่มา: หนังสือธรรมธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ 368 หน้าที่ 76-77
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง